ศูนย์ส่งเสริมผ้าไหมบ้านเขว้า


ที่อยู่:
เทศบาลตำบลบ้านเขว้า ต.บ้านเขว้า อ.บ้านเขว้า จ.ชัยภูมิ 36170
โทรศัพท์:
044-891-097 (เทศบาลตำบลบ้านเขว้า)
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน เวลา 08.30 – 16.30 น. (หากต้องการให้มีการสาธิตการทำไหม และต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะ กรุณาติดต่อขอเข้าชมล่วงหน้า)
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2548
ของเด่น:
ตัวอย่างผ้าไหมทอลวดลายแบบต่างๆ ที่โดดเด่นของจังหวัดชัยภูมิ และมีการทอกันในอำเภอบ้านเขว้า ลายผ้าที่ส่งเข้าประกวด ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมแปรรูปเป็นเสื้อผ้า กระเป๋าถือ และของที่ระลึกแบบต่างๆ และแบบจำลองเครื่องมือที่ใช้ในการทอผ้าในทุกกระบวนการ
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 02 เมษายน 2557

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของศูนย์ส่งเสริมผ้าไหมบ้านเขว้า

ประวัติศูนย์ส่งเสริมผ้าไหมบ้านเขว้า จ.ชัยภูมิ
อาคารแห่งนี้ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนเพื่อกระจายการผลิตและการจ้างงานไปสู่ภูมิภาค (กจภ.) ใน พ.ศ. 2548 การก่อสร้างอาคารแล้วเสร็จและเปิดใช้ได้เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2548 และอยู่ภายใต้การดูแลของเทศบาลตำบลบ้านเขว้ามาโดยตลอด
 
ตามประวัติการทอผ้าไหมของบ้านเขว้านั้นมักจะมีเรื่องเล่าที่สืบย้อนไปถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหน้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) กล่าวถึง นายแล และนางบุญมี ข้าราชการจากเวียงจันทร์ในเขตปกครองของเจ้าอนุวงศ์ ว่าได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเขตบ้านเขว้า และนางบุญมีซึ่งเป็นภรรยาก็ได้ริเริ่มการทอผ้าทั้งไหมและฝ้าย โดยใช้ความรู้ที่ได้รับการสั่งสอนมาจากบรรพบุรุษชาวเวียงจันทร์ สอนให้ชาวบ้านที่อพยพมาพร้อมกันรู้จักวิธีทอผ้าตามแบบต่างๆ จนกลายเป็นสินค้าและเครื่องบรรณาการของเมืองชัยภูมิ ต่อมาเมื่อเจ้าอนุวงศ์เกิดคิดการกบฏ นายแล ซึ่งในขณะนั้นได้เป็นเจ้าเมืองชัยภูมิและได้รับบรรดาศักดิ์เป็นขุนภักดีชุมพล ได้เข้าร่วมศึกในการต้านศึกเจ้าอนุวงศ์จนการศึกได้ชัยชนะ พระมหากษัตริย์ไทยจึงได้พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็นพระยาภักดีชุมพล (แล) หรือที่ชาวบ้านเรียกกันในปัจจุบันว่า “เจ้าพ่อพระยาแล”
 
ใน พ.ศ.2516 ด้วยการสนับสนุนของนายอำเภอบ้านเขว้า (นายอำเภอสมคิด จาปะเกษตร) และนายทองคำ อยู่วิเศษ ผู้ช่วยศึกษาธิการอำเภอบ้านเขว้า ได้ติดต่อไปทางเจ้าหน้าที่ของสำนักพระราชวังเพื่อขอนำผลิตภัณฑ์ผ้าไหมของชาวบ้านไปขายกับสำนักพระราชวัง ซึ่งก็ได้รับการตอบรับมาจนกระทั่งสามารถจัดตั้งเป็นกลุ่มทอผ้าไหมอำเภอบ้านเขว้า เพื่อทอผ้าส่งไปจำหน่ายให้กับสำนักพระราชวังได้อย่างต่อเนื่อง ใน พ.ศ.2523 ก็ได้นำเข้าไปขายยังศูนย์ศิลปาชีพ  สวนจิตรลดา ซึ่งมีผู้สนใจสั่งทอจำนวนมาก กระทั่งใน พ.ศ.2530 ได้มีการส่งผ้าไหมบ้านเขว้าเข้าประกวดที่โครงการศิลปาชีพ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จ.สกลนคร ก็ได้รับรางวัลชนะเลิศ แม้แต่ในปีต่อๆ มา ที่ส่งเข้าประกวดผ้าไหมบ้านเขว้าก็ได้รับรางวัลชนะเลิศอยู่เกือบทุกปีเช่นกัน ทำให้เทศบาลตำบลบ้านเขว้ามีนโยบายที่จะส่งเสริมให้บ้านเขว้าเป็นแหล่งผลิตและจำหน่ายผ้าไหมของภาคอีสาน โดยการสนับสนุนของอำเภอบ้านเขว้า และผู้ว่าราชการจังหวัด จัดสรรงบประมาณในการก่อสร้างศูนย์ส่งเสริมผ้าไหม ตามที่กล่าวมาข้างต้นใน พ.ศ.2548 มีจุดประสงค์ให้เป็นศูนย์กลางข้อมูลข่าวสาร จัดแสดงสินค้า และถ่ายทอดความรู้ในการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าไหมของอำเภอบ้านเขว้า        
 
วัตถุและเนื้อหาจัดแสดง
ช่วงเวลาที่เข้าชมทางศูนย์ไม่ได้มีการจัดสาธิตการทอผ้า และเป็นช่วงที่ไม่ได้มีกิจกรรมหรือการแสดงสินค้าหัตถกรรมท้องถิ่น บรรยากาศทั่วไปจึงดูเงียบเหงา วัตถุที่จัดแสดงในห้องประกอบด้วย 1) ผลิตภัณฑ์จากผ้าไหมอำเภอบ้านเขว้า 2) ของที่ระลึกที่ทางเทศบาลได้รับทั้งจากการดูงานและผู้ที่มาดูงาน 3) ตัวอย่างผ้าไหมทอลวดลายแบบต่างๆ 4) ผ้าไหมทอลายที่ส่งเข้าประกวดในโครงการของศิลปาชีพ 5) เครื่องมือเครื่องใช้ในการทอผ้าไหมทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเลี้ยงไหม การสาวไหม การกวักไหม การกรอไหม การมัดหมี่ การทอ (แสดงกี่ทอผ้า) 6) ตัวอย่างของเส้นไหมและสีต่างๆ ที่ใช้ในการทอ ทั้งนี้ลายผ้าที่จัดแสดงไว้ในศูนย์ฯ แห่งนี้ มีทั้งสิ้น 18 ลาย มีรายชื่อ ดังนี้
1.ลายม้าน้ำ       
2.ลายขอสลับสร้อย      
3.ลายขอกะหรี่ (หรือลายขอนารี)      
4.ลายโซ่สลับสร้อย
5.ลายขอไถขั้น    
6.ลายสร้อยพร้าว          
7.มัดหมี่ลายสี่ลำเงาะ            
8.ลายหางปลา
9.ลายแมงมุมใหญ่
10.ลายขอวงขั้น           
11.ลายขอสนับ                    
12.ลายขอแง้น
13.ลายคมห้าเจาะรูขั้น  
14.ลายขออุ้มหน่วย      
15.ลายคมเจ็ดสาย               
16.ลายหอน้อย
17.ลายกุญแจดอกผักแว่น      
18.ลายหมี่คั่นขอนารี
 
ลายผ้าที่โดดเด่นและถูกแสดงแยกไว้คือ ผ้า 3 ลายสุดท้าย ว่า 2 ลายแรกเป็นผ้าที่ทอเพื่อประกวดและคัดสรรค์ (ในการประกวดของศูนย์ศิลปาชีพ) ส่วนลายสุดท้ายนั้นเป็นลายดั้งเดิมที่เชื่อว่ามีอายุกว่า 200 ปี เป็นลายที่ตกทอดมาจากแม่บุญมี ภรรยาของพระยาภักดีชุมพล หรือเจ้าพ่อพระยาแล ลายนี้แต่เดิมชื่อลายขอกะหรี่ แต่ในปี พ.ศ.2515 มีผู้นำผ้าลายนี้ถวายให้กับสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงพอพระทัยในลวดลายมากจึงมีดำริให้อนุรักษ์ลายผ้านี้ไว้และ พระราชทานชื่อใหม่ว่าเป็นลายขอนารี
 
การบริหารจัดการและกิจกรรม
บริหารและจัดการโดยเทศบาลตำบลบ้านเขว้า ตั้งแต่การจัดหาทุนในการก่อสร้างและการจัดจ้างเจ้าหน้าที่ดูแล การบริหารงานทุกอย่าง กิจกรรมสำคัญของศูนย์แห่งนี้ คือการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ของกลุ่มช่างทอผ้าในเขตตำบลบ้านเขว้า แล้วยังมีกิจกรรมสาธิตการทำผ้าไหมตั้งแต่ขั้นตอนเลี้ยวไหมจนถึงขั้นตอนการทอ ผู้เข้าชมศูนย์ฯ แห่งนี้ ประกอบไปด้วย 1) หน่วยงานด้านการศึกษา คือ โรงเรียน สถาบันอุดมศึกษา 2) กลุ่มแม่บ้าน ทั้งที่เป็นกลุ่มทอผ้าจากจังหวัดอื่นๆ โดยเฉพาะในเขตภาคอีสานที่มาดูงานเทคนิคการทอ และผลิตภัณฑ์ 3) หน่วยงานราชการ จากจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ 4) นักท่องเที่ยวทั่วไปที่สนใจด้านการทอผ้า และสนใจที่จะซื้อผ้าไหม
 
ในการจัดกิจกรรมสาธิตทางศูนย์ฯ จะติดต่อกลุ่มแม่บ้านให้มาจัดการสาธิตตั้งแต่การเลี้ยงหนอนไหม การปั่นเส้นไหม การมัดย้อม และการทอ โดยใช้พื้นที่ของศูนย์ทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์ของหมู่บ้านมาจัดแสดงร่วมด้วยเผื่อว่าผู้เข้าชมต้องการซื้อกลับไปใช้งานหรือเป็นที่ระลึก
 
การเดินทาง
เดินทางด้วยรถยนต์จากกรุงเทพไปตามถนนพหลโยธิน มุ่งขึ้นเหนือไปทางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อถึงช่วงรังสิตเลือกช่องทางสู่ถนนพหลโยธิน วิ่งตรงไปเรื่อยๆ ผ่านอำเภอวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตรเมื่อเข้าสู่เขตตัวเมืองสระบุรี จะมีทางเบี่ยงขวาเข้าสู่ถนนมิตรภาพ (ทางหลวงหมายเลข 2) ผ่านสระบุรี อำเภอแก่งคอย อำเภอปากช่อง และเมื่อเข้าเขตอำเภอสีคิ้วก่อนเข้าอำเภอเมืองโคราช ระยะทางประมาณ 103 กิโลเมตร จะพบทางแยก ชิดซ้ายเพื่อเลี้ยวเข้าสู่ถนนหมายเลข 201 ไปจังหวัดชัยภูมิ จากเส้นทางนี้ตรงไปเรื่อยๆ ประมาณ 122 กิโลเมตร จะเข้าเขตอำเภอเมืองชัยภูมิ จะพบกับห้าแยกมีไฟแดง ชื่อห้าแยกโนนไฮ เลี้ยวซ้ายที่เป็นการเลี้ยวแบบหักศอกเข้าสู่ถนนหมายเลข 225  มีป้ายบอกทางไป อ.บ้านเขว้า หลังจากเลี้ยวแล้วขับตรงไปประมาณ 12 กิโลเมตร สังเกตทางซ้ายมือมีป้ายบอกทางเข้าบ้านเขว้า และศูนย์ส่งเสริมผ้าไหมบ้านเขว้า เลี้ยวซ้ายขับตรงไปประมาณ 2.3 กิโลเมตร จะพบกับสี่แยกที่ด้านขวามือเป็นลานจอดรถขนาดใหญ่ และซ้ายมือเป็นอาคารสำนักงานเทศบาลบ้านเขว้า และที่อาคารติดกันจะพบป้ายศูนย์ส่งเสริมผ้าไหมบ้านเขว้า
 
พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ / เขียน
สำรวจภาคสนาม เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2556
 
อ้างอิง
สัมภาษณ์  คุณณริศรา สิทธิวงศ์ อายุ 26 ปี , เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ วันที่ 15 กันยายน 2556
ชื่อผู้แต่ง:
-