พิพิธภัณฑ์ชุมชนศรีสัชนาลัย


ที่อยู่:
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุราชวรวิหาร (วัดพระปรางค์) หมู่ที่ 6 ตำบลศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย
โทรศัพท์:
055-679-198-9
โทรสาร:
055-679-180
เว็บไซต์:
ปีที่ก่อตั้ง:
2556
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์ชุมชนศรีสัชนาลัย ศูนย์รวมความรู้ที่คนศรีสัชภูมิใจ

ชื่อผู้แต่ง: สุริยา ด้วงมา | ปีที่พิมพ์: 19 มกราคม 2557;19-01-2014

ที่มา: หนังสือพิมพบ้านเมือง

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 10 มีนาคม 2557


ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์ชุมชนศรีสัชนาลัย: เมื่อเทศบาลจัดการองค์ความรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมชุมชนด้วยตนเอง

หากพูดถึงชื่อเมืองศรีสัชนาลัยแล้ว  เชื่อว่าคนไทยน้อยคนนักที่จะไม่เคยได้ยิน  เพราะศรีสัชนาลัยเป็นเมืองโบราณสำคัญในสมัยสุโขทัย ปัจจุบันได้รับการบูรณะและพัฒนาให้เป็นอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย  และยังได้รับการประกาศให้เป็น “มรดกโลก”  จากองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม หรือองค์การ UNESCO ร่วมกับอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร เมื่อ พ.ศ. 2534 
 
ชื่อศรีสัชนาลัย มักทำให้เราเข้าใจและเห็นภาพโบราณสถานที่เป็นซากอิฐปูน ซากศิลาแลง  มากกว่าเห็นความเป็นชุมชนที่มีผู้คนอยู่อาศัยในปัจจุบัน  การจัดการของหน่วยงานภาครัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรมศิลปากร  กระทรวงวัฒนธรรม  ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่โดยตรงเกี่ยวกับการพัฒนา ศึกษาและบริหารจัดการอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย  ก็ศึกษาและนำเสนอเฉพาะภาพพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของเมืองศรีสัชนาลัย  ที่เป็นเรื่องเก่าแก่เนิ่นนานไม่เกี่ยวข้องกับชุมชนหรือชาวบ้านปัจจุบัน  และเป็นเรื่องของโบราณวัตถุสถานเป็นสำคัญ 
 
ทำให้ชุมชนศรีสัชนาลัยที่มีอยู่ในปัจจุบันแทบจะไม่ปรากฏบทบาทหรือมีพื้นที่ในหน้ากระดาษ  ทั้งที่ชุมชนศรีสัชนาลัยก็มีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมประเพณีเป็นของตนเอง  ที่เป็นข้อมูลความรู้คนละเรื่อง คนละยุคสมัย กับเรื่องราวของโบราณวัตถุสถานทั้งหลายในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย  จึงส่งผลให้ชุมชนต้องลุกขึ้นมาจัดการกับองค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมประเพณีของตนเองด้วยตนเอง  โดยมีเทศบาลตำบลศรีสัชนาลัยซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการบริการส่วนท้องถิ่นเป็นเจ้าภาพในการดำเนินการ 
 
นายวิเชียร  พรมพิราม  นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลศรีสัชนาลัยกล่าวว่า  “ชุมชนศรีสัชนาลัยเป็นพื้นที่ที่มีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญทั้งด้านประวัติศาสตร์ความเป็นมาของหลักฐานทางประวัติศาสตร์ การเข้ามาอยู่อาศัยของชุมชนซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมประเพณีวิถีการดำรงชีวิต ความเป็นเอกลักษณ์และสุนทรียภาพของภาษาถิ่น ภูมิปัญญา วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น และความสวยงามทางธรรมชาติที่ถูกรังสรรค์ให้คงอยู่คู่ชุมชนชาวศรีสัชนาลัย  ซึ่งนับวันความเป็นเอกลักษณ์ต่างๆ เหล่านี้จะถูกกลืนหายไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคโลกาภิวัตน์ จากองค์ประกอบเหล่านี้มีส่วนในการสร้างสรรค์และสืบทอดวัฒนธรรมให้แก่ชุมชนของตน จึงมีความจำเป็นที่ต้องมีการจัดเก็บ จัดแสดงข้อมูลเรื่องราวเหตุการณ์ และวิถีชีวิตที่มีความสำคัญ สะท้อนให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของชุมชนศรีสัชนาลัย เพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ที่สร้างความรู้ความเข้าใจ อีกทั้งยังเป็นการสร้างความภูมิใจในความเป็นมาของตน และเป็นแหล่งท่องเที่ยวให้กับประชาชนในชุมชน รวมถึงนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ
 
ด้วยเหตุนี้  เทศบาลตำบลศรีสัชนาลัยจึงอนุมัติงบประมาณกว่า 200,000 บาท  ในการศึกษาและจัดตั้ง “พิพิธภัณฑ์ชุมชนศรีสัชนาลัย” ขึ้น นอกจากจะเป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งท่องเที่ยวแล้ว  ยังถือว่าเป็นการรองรับแผนพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดสุโขทัย พ.ศ. 2555-2556  ยุทธศาสตร์ที่ 2ยุทธศาสตร์การสร้างมูลค่าการท่องเที่ยวตามวิถีสุโขทัย ด้านพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว (ส่งเสริมและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่) อีกด้วย
 
ในการจัดตั้ง  ออกแบบ  การนำเสนอข้อมูลองค์ความรู้ รวมทั้งการจัดรูปแบบพิพิธภัณฑ์ชุมชนศรีสัชนาลัย  เทศบาลได้รับความร่วมมือ คำแนะนำ และคำปรึกษาจากคณาจารย์และนักศึกษาสาขาวิชาการจัดการวัฒนธรรม  บัณฑิตวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทั้งนี้สืบเนื่องจากนางสาวสุภาวดี พรมพิราม เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบส่วนงานส่งเสริมการท่องเที่ยว เทศบาลตำบลศรีสัชนาลัย  ได้ศึกษาต่อระดับปริญญาโทในหลักสูตรนี้  และยังเคยศึกษาในสาขาวิชาประวัติศาสตร์ ระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยนเรศวรด้วย 
 
เมื่อคนในท้องถิ่น หรือบุคลากรของเทศบาลเป็นผู้มีความรู้ความสามารถเฉพาะด้านและเป็นกำลังหลักในการศึกษารวบรวมข้อมูลของท้องถิ่น  ก็ย่อมมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวิถีชีวิตของชุมชนศรีสัชนาลัย มากกว่าการที่คนภายนอกเข้ามาศึกษาและบริหารจัดการ  จึงกล่าวได้ว่า  พิพิธภัณฑ์ชุมชนศรีสัชนาลัยเกิดขึ้นมาจากการจัดการความรู้ด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชุมชนด้วยชุมชนเอง
 
พิพิธภัณฑ์ชุมชนศรีสัชนาลัย  ตั้งอยู่ภายในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุราชวรวิหาร หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า วัดพระปรางค์  หมู่ที่ 6ตำบลศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย  มีการปรับปรุงมาจากอาคารกุฏิหลังเดิมของหลวงพ่อท่านเจ้าคุณพระสุนทรธรรมาภรณ์  เจ้าอาวาสวัดพระศรีรัตนมหาธาตุฯ ที่เล็งเห็นความสำคัญของการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ชุมชน จึงเมตตามอบกุฏิหลังนี้ให้ทางเทศบาลเข้ามาบริหารและปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชนศรีสัชนาลัยต่อไป
       
ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์ชุมชนศรีสัชนาลัยมีการจัดแสดงและนำเสนอข้อมูล  2 ชั้น  ตามสภาพของอาคาร 

พื้นที่ชั้นล่าง  แบ่งการนำเสนอออกเป็น 4 ส่วน  พื้นที่ด้านทิศตะวันออกเป็นการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของเมืองศรีสัชนาลัย และชุมชนศรีสัชนาลัยในปัจจุบัน  พื้นที่ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือจำลองเป็นห้องครัวของชาวชุมชนศรีสัชนาลัย  จัดแสดงเครื่องครัวและข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ   พื้นที่ด้านทิศตะวันตกซึ่งเป็นส่วนใต้บันไดจำลองบรรยากาศของตลาดชุมชน  ส่วนพื้นที่ตรงกลางอาคารมีการอัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อครั้งเสด็จทอดพระเนตรโบราณสถานวัดพระศรีรัตนมหาธาตุฯ และโบราณสถานอื่นๆ  ในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยเมื่อ พ.ศ.2501 มาจัดเป็นนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ

ส่วนพื้นที่ชั้นบน แบ่งการนำเสนอออกเป็น 4 ส่วน  พื้นที่ด้านตะวันออกเป็นห้องนำเสนอข้อมูลการทำทองคำรูปพรรณลายโบราณศรีสัชนาลัย  พื้นที่ด้านทิศเหนือเป็นห้องจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ต่าง เช่น ตุ่ม ไห โม่ และเครื่องจักสาน  พื้นที่ด้านทิศตะวันตกนำเสนอข้อมูลและสิ่งของหรืออุปกรณ์เกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณีของชุมชน  เช่น  ประเพณีตักบาตรเทโวที่มีหุ่นรูปเปรตเป็นสัญลักษณ์ของงานบุญ  สังเค็ดที่ใช้แห่ผ้ากฐินทางเรือ  เครื่องคาวหวานจำลองในงานสลากภัต  เตียบจำลองที่ใช้ในประเพณีกินสี่ถ้วย  เป็นต้น  พื้นที่ผนังส่วนกลางอาคาร นำเสนอข้อมูล สิ่งของและภาพถ่ายเก่าเกี่ยวกับวิถีชีวิตริมฝั่งแม่น้ำยมของชาวชุมชนศรีสัชนาลัย  ซึ่งล้วนแต่มีความน่าสนใจ
 
นอกจากนี้  วัดพระศรีรัตนมหาธาตุฯ ยังถือเป็นปูชนียสถานและแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดสุโขทัย  ภายในวัดมีโบราณสถานสำคัญ  ได้แก่  ปรางค์ประธาน แต่เดิมเป็นเจดีย์ทรงดอกบัวตูมสมัยสุโขทัย ภายหลัง (ในสมัยอยุธยา)  มีการก่อพระปรางค์ครอบทับ วิหารหลวง  เป็นวิหารขนาดใหญ่  อยู่ด้านหน้าของปรางค์ประธาน  พระธาตุ  มุเตา  อยู่ด้านหลังปรางค์ประธาน  ก่อด้วยศิลาแลงส่วนยอดเจดีย์พังทลาย  มณฑปพระอัฎฐารศ  อยู่ด้านหลังพระธาตุ    มุเตา  เป็นมณฑปพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่  เดิมเชื่อว่าเป็นมณฑปพระสี่อิริยาบถ  วิหารสองพี่น้อง  ก่อด้วยศิลาแลง  มีพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย 2 องค์อยู่บนแท่นพระ  พระอุโบสถ  อยู่ด้านหน้าวิหารหลวงนอกเขตกำแพงแก้ว  ปัจจุบันทางวัดได้บูรณปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งหลัง  โดยสร้างทับโบราณสถานเดิม  และ กุฏิพระร่วง พระลือ  เป็นมณฑปฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส  ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปพระร่วง พระลือ (จำลอง)
 
ด้วยการที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุฯ มีโบราณสถานมากมาย  จึงทำให้มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเดินทางมาเที่ยวชมอย่างไม่ขาดสาย  การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ชุมชนศรีสัชนาลัยขึ้นภายในวัดจึงมีความเหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง  สำหรับการพัฒนาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับชุมชนศรีสัชนาลัยให้เป็นที่รู้จักแก่ผู้สนใจและบุคคลทั่วไป
 
พิพิธภัณฑ์ชุมชนศรีสัชนาลัยจะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมอย่างเป็นทางการในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2556 นี้  และในอนาคตอันใกล้  ทางเทศบาลตำบลศรีสัชนาลัยจะร่วมกับทีมงานนิสิตกลุ่มประวัติศาสตร์สองข้างทาง ภาควิชาประวัติศาสตร์  คณะสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยนเรศวร  จะจัดอบรมยุวมัคคุเทศก์ เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้นำชมพิพิธภัณฑ์  ต้อนรับและให้บริการด้านต่างๆ แก่นักท่องเที่ยว  และจะมีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับหน่วยวิทยบริการวิทยาลัยสงฆ์นครสวรรค์ ณ วัดพระบรมธาตุ จังหวัดกำแพงเพชร  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร กำแพงเพชร)  โดยท่านเจ้าคุณพระราชวชิรเมธี, ดร. ผู้อำนวยการหน่วยวิทยบริการฯ  เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ บุคลากรและความร่วมมือทางวิชาการด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและการท่องเที่ยวระหว่างกัน  อันจะนำมาซึ่งการพัฒนาและต่อยอดองค์ความรู้ของชุมชนให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
 
ถ้าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งเล็งเห็นความสำคัญของชุมชน และหันมาสนใจจัดการองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของตนเองเช่นนี้บ้าง  ผู้เขียนเชื่อว่า คำว่า “ท้องถิ่นวัฒนา”น่าจะเกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรมในชุมชนท้องถิ่นไทย
 
ที่มา: ธีระวัฒน์ แสนคำ "พิพิธภัณฑ์ชุมชนศรีสัชนาลัย : เมื่อเทศบาลจัดการองค์ความรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมชุมชนด้วยตนเอง " จุลสารก้าวไปด้วยกัน ปีที่ 10 ตุลาคม 2556 – กุมภาพันธ์ 2557 หน้า 14 - 20.
ชื่อผู้แต่ง:
-