พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านโรงเรียนบางบาล


ที่อยู่:
โรงเรียนบางบาล 86 ม.1 ต.บางบาล อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา
โทรศัพท์:
035-286-479
วันและเวลาทำการ:
จันทร์-ศุกร์ เวลาราชการ 08.30–16.30 น. (กรุณาติดต่อขอเข้าชมล่วงหน้า)
ปีที่ก่อตั้ง:
2550
ของเด่น:
ประวัติท้องถิ่นอำเภอบางบาล, หัตถกรรมท้องถิ่น, ภาพถ่ายชุดเหตุการณ์เสด็จพระราชดำเนินเยือนอำเภอบางบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวใน พ.ศ.2519 และ 2520
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 16 มกราคม 2557

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านโรงเรียนบางบาล

อำเภอบางบาลเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยตำแหน่งอยู่ช่วงกลางค่อนไปทางตะวันตกของจังหวัด ด้านทิศเหนือติดกับจังหวัดอ่างทอง ลักษณะเป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองบางบาลเป็นลำน้ำสายหลัก อาชีพส่วนใหญ่จึงเป็นการทำเกษตรกรรม (ทำนา) 
 
พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านโรงเรียนบางบาล
วัตถุจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีการรวบรวมโดย อ.ถาวร เนคมานุรักษ์ อาจารย์ผู้สอนวิชาสังคมศึกษา เนื่องจากอาจารย์เป็นคนในท้องที่เอง จึงได้เรี่ยไรรับบริจาคจากนักเรียน และผู้ปกครองเรื่อยมา บางครั้งก็ไปสืบค้นหามาเองจากการสำรวจโบราณสถานในบริเวณอำเภอบางบาล หรือการงมขึ้นมาจากคลองบางบาล จนกระทั่งได้ก่อตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์อย่างเป็นทางการในปี พ.ศ.2550 แต่ก็ถูกน้ำท่วมมาหลายครั้งทำให้วัตถุหลายชิ้นจมน้ำเสียหายไป ในประมาณ พ.ศ.2551-2552 ทางโรงเรียนได้รับความช่วยเหลือและประสานงานกับทางกรมศิลปากร โดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา มีการจัดจำแนกวัตถุออกเป็นหมวดหมู่และทำทะเบียนอย่างเป็นระบบ อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาหลังจากทำทะเบียนได้ไม่นาน อ.ถาวร ได้เกษียณอายุราชการออกไป ทำให้พิพิธภัณฑ์ขาดการดูแล ถูกน้ำท่วมเสียหาย เนื่องจากเดิมอยู่บริเวณชั้น 1 และโรงเรียนถูกน้ำท่วมอยู่ทุกปี ทำให้กิจกรรมของพิพิธภัณฑ์ซบเซาอยู่ช่วงหนึ่ง กระทั่ง อ.วันธนา อยู่ประเสริฐ ย้ายเข้ามารับช่วงดูและ และได้รับเงินสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สปฐ.) ให้ปรับปรุงเป็นศูนย์การเรียนประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ที่ได้รับเขตละ 1 โรงเรียน จำนวนเงิน 10,000 บาท จึงได้ย้ายวัตถุจัดแสดงขึ้นมาจัดแสดงที่ชั้น 2 คือห้องปัจจุบัน ในปี พ.ศ.2552
 
อย่างไรก็ตามหลัง พ.ศ.2552 การขอรับบริจาคสิ่งของจัดแสดงที่เคยดำเนินมาก็ต้องยุติลงเพราะผู้ปกครองหรือชาวบ้านส่วนใหญ่มักจะเก็บของดังกล่าวไว้เองหรือไม่ก็ขายให้กับผู้ชื่นชอบสะสมวัตถุเก่าๆ ทาง อ.วันธนา จึงได้หันมาให้ความสำคัญกับการสร้างประวัติศาสตร์ท้องถิ่นผ่านวัตถุจัดแสดง มากกว่าที่จะเน้นการจัดแสดงวัตถุ เหตุผลส่วนหนึ่งเพราะ อ.วันธนา จบการศึกษามาทางด้านประวัติศาสตร์โดยตรง จึงสนใจเรื่องราวประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเป็นพิเศษ
 
การจัดแสดงและการบริหารจัดการ
การจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไม่ได้เน้นการจัดแสดงวัตถุทั้งหมดที่มีอยู่ แต่มีห้องจัดเก็บ (หรืออาจจะเรียกว่าคลัง) สำหรับวัตถุที่ยังไม่ต้องการแสดงไว้ต่างหาก ส่วนในห้องจัดแสดงนั้นจริงๆ แล้วคือห้องเรียนในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ภายในห้องจึงจัดแสดงวัตถุใว้ตามริมผนังห้อง ส่วนกลางห้องเป็นโต๊ะเรียนแบบนั่งกับพื้น เพื่อให้นักเรียนสามารถเข้ามาทำกิจกรรมการเรียนการสอนได้สะดวก และเนื้อหาที่จัดแสดงนั้น อ.วันธนา ได้อธิบายว่าจะหมุนเวียนไปเรื่อยๆ ขึ้นอยู่กับว่าครูในหมวดสาระการเรียนรู้ด้านสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม จะกำหนดในแต่ละช่วงเวลา ขณะที่เข้าเก็บข้อมูลนี้มีเนื้อหาหลัก ๆ อยู่ 3 ส่วน คือ
 
ส่วนแรก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเป็นบอร์ดจัดแสดงภาพถ่ายและเนื้อหาเกี่ยวกับเหตุการณ์การเสด็จประพาสต้น ของ รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสอำเภอบางบาล และแวะพักที่บ้านคหบดีคนสำคัญคนหนึ่งคือ บ้านของนายช้างและอำแดงพลับ โดยมีภาพถ่ายเป็นหลักฐาน นอกจากนี้ยังมีภาพการเสด็จพระราชดำเนินมาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ใน พ.ศ. 2519 – 2520 ถึง 2 ครั้ง โดยเล่ากันว่าเมื่อครั้งเสด็จมานั้นมาอย่างเงียบๆ และทรงขับรถมาเอง ดังนั้น ในช่วงเวลาดังกล่าวจึงได้มีบ่อปลาพระราชทานอยู่ด้วย
 
ส่วนที่สอง ความเป็นบางบาลหรือวิถีชีวิตของชาวบางบาล ที่แสดงออกผ่านข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ที่เป็นเครื่องมือเกษตรกรรม ประเภท คันไถ และสีฝัด (สังคมเกษตรกรรม) เครื่องมือจับสัตว์น้ำ เนื่องจากอำเภอบางบาลเป็นเมืองน้ำ อยู่กับน้ำทำให้ชาวบ้านดำรงชีวิตอยู่กับการจับสัตว์น้ำ (มีเครื่องมือที่จัดแสดงคือ ลอบ และชนางดักกุ้ง) ของใช้พวกภาชนะดินเผา ประเภทหม้อตาล (หม้อใส่น้ำตาลตามที่คนโบราณเรียก เพราะใช้ใส่น้ำตาลในการซื้อขาย) เครื่องใช้สังคโลก และเครื่องถ้วย/เครื่องลายครามจีน เนื่องจากเป็นวัตถุที่พบมากในเขตเมืองอยุธยา อันแสดงให้เห็นถึงประวัติศาสตร์การอยู่อาศัยของผู้คนที่ยาวนาน นอกจากนี้ยังมีตำรายาที่เป็นสมุดไทยดำ และสมุดข่อย ที่มีทั้งอักษรไทย และอักษรขอมเก็บรักษาไว้ด้วย โดยอ.วันธนา กล่าวว่าได้รับบริจาคมาจากวัดใน อ.บางบาล
 
ส่วนที่สามอาชีพหลักของชาวบางบาล อาชีพหลักที่ถูกเลือกมานำเสนอในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ คือ อาชีพการทำอิฐ และการทำก้านธูป วัตถุที่เห็นได้เด่นชัดคือ ตัวแบบสำหรับทำให้ มีลักษณะเป็นกรอบที่ทำด้วยไม้แบ่งเป็นช่องสี่เหลี่ยมเท่ากัน จำนวน 6ช่องเรียงกัน เพื่ออัดดินลงไปให้ได้ขนาดของอิฐที่ต้องการ และเครื่องไสอิฐ เป็นเครื่องที่ใช้ใส่ก้อนอิฐที่ได้ขนาดตามต้องการและตากแห้งแล้วใส่ลงไป แล้วใช้มีดปาดให้ได้อิฐที่มีผิวเสมอ หรือได้รูปทรงที่ต้องการมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีภาพวาดและคำบรรยาย จำลองการทำอิฐประกอบด้วย แต่ในส่วนของการทำก้านธูปนั้นไม่มีเครื่องมือที่นำมาจัดแสดงประกอบ
 
ในแง่ของการบริหารจัดการปัจจุบันกิจกรรมที่เข้ามาเสริมเพื่อให้พิพิธภัณฑ์มีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลานั้นมักจะอยู่ที่การเรียนการสอน สิ่งที่อาจจะเรียกว่าเป็นปัญหาได้คือการจัดทำทะเบียนวัตถุ แม้ว่าในช่วงก่อตั้งสมัยของ        อ.ถาวร จะเคยจัดทำไปแล้วแต่เมื่อน้ำท่วม และย้ายพิพิธภัณฑ์ขึ้นมาที่ชั้น 2นี้ ก็ทำให้วัตถุหลายชิ้นสูญหาย สมุดทะเบียนเดิมก็ไม่สามารถนำมาใช้งานได้จริง เพราะป้ายทะเบียนของวัตถุก็สูญหายไปด้วย ทางผู้ดูแลก็ทำได้เพียงการถ่ายรูปของวัตถุที่มีอยู่ได้เพียงอย่างเดียว และจัดจำแนกหมวดหมู่ใหม่ตามความเข้าใจและการค้นคว้าของผู้ดูแล
 
การเดินทาง
การเดินทางโดยรถยนต์จากกรุงเทพใช้ถนนกาญจนาภิเษก หมายเลข 9 (วงแหวนตะวันตก) แล้วจึงแยกเข้าสู่ถนนสาย 347 มุ่งหน้าสู่เส้นทางที่จะไปศูนย์ศิลปาชีพบางไทร หรือเส้นทางที่ป้ายบอกว่าไปสู่ อ.บางปะหัน เมื่อผ่านสี่แยกวรเชฐ ที่เป็นทางแยกเข้าสู่อ.เมือง จ.พระนครศรีอยุธยาไปประมาณ 1.5 กิโลเมตร จะพบทางเบี่ยงซ้ายเข้าสู่ถนนสาย 3412 เบี่ยงสู่ทางเบี่ยงเพื่อจะเลี้ยวซ้ายเข้าไปสู่ อ.บางบาล วิ่งไปประมาณ 5.6 กิโลเมตร จะพบโค้งขนาดใหญ่เมื่อพ้นโค้งจะมีทางเลี้ยวขวาเพื่อข้ามสะพานข้ามคลอง เมื่อข้ามคลองจะพบทางแยกที่บอกทางไปวัดไผ่ล้อม วิ่งไปตามเส้นทางดังกล่าวเรื่อยๆ ประมาณ 7 กิโลเมตร ให้คอยสังเกตป้ายบอกทางด้านขวามือที่จะเป็นทางแยกเลี้ยวเข้าสู่วัดโบสถ์ เลี้ยวขวาเข้าสู่ทางดังกล่าวจะพบสามแยกขนาดเล็ก เลี้ยวซ้ายเลาะไปทางวัดโบสถ์ (วัดอยู่ทางขวามือเมื่อเลี้ยวแล้ว) ที่ฝั่งซ้ายมือจะพบแนวกำแพงของโรงเรียนบางบาล เข้าไปในโรงเรียนมีจุดสังเกตเป็นโรงเรือนขนาดใหญ่มีหลังคาโค้งคลุม อาคารพิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ติดกับอาคารดังกล่าว
 
อุดมลักษณ์ ฮุ่นตระกูล/ เขียน
ข้อมูลจาก สำรวจภาคสนาม วันที่ 6 กันยายน 2556
 
อ้างอิง
สัมภาษณ์ อาจารย์วันธนา อยู่ประเสริฐ อายุ 56 ปี อาจารย์ประจำโรงเรียนบางบาลและเป็นผู้ดูแลหลัก
 
ชื่อผู้แต่ง:
-