พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านมหาราช สุวรรณโสรัตรังสรรค์


ที่อยู่:
วัดสุวรรณเจดีย์ อ.มหาราช จ.พระนครศรีอยุธยา
โทรศัพท์:
086-892-1549
วันและเวลาทำการ:
ทุกวัน กรุณาติดต่อก่อนเข้าชม
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2546
ของเด่น:
เรือพื้นบ้าน (เรือขุด) เครื่องสังคโลก ของใช้พื้นบ้านที่เกี่ยวกับสังคมเกษตรกรรม (สีฝัด เกวียน และเรือขุด)
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 16 ธันวาคม 2556

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านมหาราช สุวรรณโสรัตรังสรรค์

     เขาว่ากันว่าวัดแห่งนี้สร้างมาตั้งแต่ พ.ศ.2300 กว่าๆ แต่ระบุปีที่สร้างได้ไม่แน่ชัด เดิมชื่อว่าวัดขวางเหนือว่ากันว่าวัดแห่งนี้น่าจะเป็นวัดแบบของชาวมอญ เมื่อย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 20 ปี ที่แล้วผู้ให้ข้อมูลยังพอจำได้ว่าในช่วงวันพระใหญ่จะมีชาวมอญล่องเรือจากทางเหนือมาทำบุญที่วัด แต่หลังจากที่มีการสร้างเขื่อนก็ทำให้ไม่เห็นชาวมอญเหล่านั้นอีกเลย อย่างไรก็ตามก่อนหน้าเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันวัดแห่งเคยถูกทิ้งร้างไปในช่วงเวลาหนึ่ง พระชิษณุพงศ์ผู้ให้ข้อมูลกล่าวว่าเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันนับเป็นรูปที่ 9 ของวัดแห่งนี้ และคาดว่าวัดน่าจะถูกทิ้งร้างไปเมื่อราวๆ เจ้าอาวาสรูปที่ 6 หรือ 7 ก็ไม่แน่ชัด เมื่อเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันเดินทางมาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสครั้งแรกนั้นมีอายุได้เพียง 23 ปี (ปัจจุบันอายุ 88 ปี ก็หมายความว่าเป็นเจ้าอาวาสมาแล้ว 65 ปี) โดยหลวงพ่อใหญ่วัดรุ้งเป็นผู้ส่งมา เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันเชื่อว่าที่วัดแห่งนี้มีพระทองคำจึงเปลี่ยนชื่อวัดนี้ใหม่ว่า วัดสุวรรณเจดีย์  ให้คล้องกัน ครั้งมาอยู่แรกๆ ชาวบ้านยังรู้สึกต่อต้านเพราะเห็นว่าเจ้าอาวาสยังอ่อนอาวุโสอยู่มาก จึงไม่ค่อยได้ให้ความนับถือนัก แต่เนื่องจากหลวงพ่อเป็นคนมีความสามารถในที่สุดชาวบ้านก็ยอมรับ ในปัจจุบันมีลูกศิษย์ลูกหาที่มาปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่อด้วยเป็นจำนวนมาก (รวมไปถึงลูกศิษย์ที่นิยมในเครื่องรางของขลังด้วย)  แต่เดิมด้านหน้าวัดนั้นจะอยู่ค่อนไปทางด้านลำคลองที่อยู่ด้านหลังวัดในปัจจุบัน แต่หลวงพ่อเห็นว่าอยู่ประชิดติดกับชุมชนมากเกินไปทำให้พลุกพล่านและอาจเกิดปัญหาได้ จึงได้ย้ายให้ค่อนมาทางด้านหลังวัด ซึ่งก็กลายมาเป็นด้านที่ติดกับถนนในปัจจุบัน
 
ประวัติ
        ห้องจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์อยู่บริเวณใต้ถุนของศาลาการเปรียญที่สร้างมาประมาณ 45 ปีแล้ว ในส่วนของใต้ถุนอาคารได้นำเสาไม้จากอุโบสถหลังเดิมมาใช้ ซึ่งไม้แต่ละต้นนั้นอายุไม่ต่ำกว่า 100 ปี หากนับตามอายุของโบสถ์หลังเก่าปัจจุบันอาคารหลังนี้ถูกงดใช้เป็นการชั่วคราวอันเนื่องมาจากอยู่ในระหว่างการซ่อมแซมจากความเสียหายของเหตุอุทกภัยเมื่อ พ.ศ.2554 ส่วนของพิพิธภัณฑ์ที่อยู่ชั้นล่างก็ได้รับความเสียหายอย่างหนักเช่นกัน ในขณะที่ทำการสำรวจก็ยังไม่สามารถซ่อมแซมให้กลับคืนมาได้ทั้งหมด มีเพียงการเก็บรวบรวมวัตถุไว้รวมกันและทำความสะอาดเบื้องต้น อีกทั้งในขณะนี้ทางวัดกำลังทยอยซ่อมแซมอาคารต่างๆ ภายในวัด จึงต้องจัดลำดับความสำคัญของการซ่อมแซมตามกำลังเงิน ปัจจุบันกำลังซ่อมศาลาการเปรียญที่อยู่ชั้นบนของพิพิธภัณฑ์อยู่ ดังนั้น ลำดับต่อไปจึงอาจจะค่อยๆ ขยับขยายลงมาซ่อมแซมชั้นล่าง และสามารถจัดแสดงวัตถุใหม่อีกครั้งให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
 
     ชื่อของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ตั้งตามราชทินนามของเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน ในชื่อ พระครูสุวรรณโสรัต แต่ปัจจุบันท่านได้รับราชทินนามใหม่เป็น พระสุวรรณศีลาจารย์ ท่านเจ้าอาวาสเริ่มการสะสมวัตถุมาตั้งแต่ พ.ศ.2544 เกิดจากมื่อมีการบูรณะอุโบสถหลังเก่ามีการขุดพบโบราณวัตถุจำนวนมาก โดยเฉพาะพวกถ้วยชามสังคโลก ท่านเจ้าอาวาสจึงเริ่มจัดเข้าตู้จัดแสดง ในภายหลังเมื่อชาวบ้านทราบข่าวว่าเจ้าอาวาสสนใจจึงนำข้าวของมาร่วมบริจาคจำนวนมาก โดยเฉพาะเครื่องมือทางการเกษตร เช่น เครื่องสีฝัด และเกวียน เพราะสังคมมีการเปลี่ยนแปลง เครื่องจักรเข้ามาแทนที่ของใช้พื้นบ้านมากขึ้น ทำให้ในขณะนี้ทางวัดมีเครื่องสีฝัดอยู่เป็นจำนวนมาก (ประมาณ 10 เครื่อง)
 
      พิพิธภัณฑ์เริ่มจัดแสดงและมีการทำทะเบียนอย่างเป็นระบบในประมาณ พ.ศ.2546 – 2547 ในช่วงดังกล่าวมีลูกศิษย์ลูกหาของหลวงพ่อหลายคนที่ได้ดิบได้ดีไปแล้วกลับมาช่วยในการจัดพิพิธภัณฑ์ (เช่น สรพงษ์ ชาตรี นักแสดงชื่อดัง) ในช่วงหลังๆ มานี้หลวงพ่อเจ้าอาวาสหันไปให้ความสนใจกับการปฏิบัติกรรมฐานมากยิ่งขึ้น ทำให้ไม่ค่อยได้ดูแลพิพิธภัณฑ์ หรือหาวัตถุมาจัดแสดงเพิ่มเติม และละวางให้เป็นธุระของพระลูกวัด (คือพระชิษณุพงศ์)  เป็นหลัก ประกอบกับน้ำท่วมใหญ่เมื่อ พ.ศ.2554 ทำให้พิพิธภัณฑ์เสียหายอย่างหนัก วัตถุหลายชิ้นเสียหายและสูญหายไป
 
เนื้อหา/วัตถุในการจัดแสดง
        วัตถุเด่นของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เมื่อแรกเดินเข้าไปในห้องจัดแสดงคือเครื่องสีฝัดจำนวนมาก ที่วางเรียงกันอยู่ที่มุมห้องด้านหนึ่ง ตามที่ผู้ดูแลเล่าให้ฟังข้างต้นไปแล้วว่าเกิดจากศรัทธาที่ชาวบ้านมีต่อหลวงพ่อและทราบว่าท่านมีใจรักในการสะสม ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงในสังคมเกษตรกรรมที่เข้ามาแทนที่เครื่องสีฝัดหรือเครื่องแยกข้าวแบบดั้งเดิม เข้ามาสู่ระบบโรงสี นอกจานี้ยังมีเรือขุด และเรือพายอีกหลากหลายแบบ เรือขุดนี้ทางวัดมีอยู่ประมาณ 10 ลำเป็นของชาวบ้าน หลายต้นทำจากไม้ตะเคียน พระชิษณุพงศ์เล่าว่าในอดีตช่วงเวลาปกติเรือเหล่านี้เป็นเรือสำหรับพระลูกวัดนำออกไปบิณฑบาต แต่ช่วงฤดูน้ำหลากหรือประมาณกลางเดือน 12 (ช่วงลอยกระทง) ชาวบ้านจะมาขอยืมเรือไปใช้แข่งขันเรือพายกันในท้องถิ่น นอกจากเรือขุดแล้วยังมีเรือกระแชง (ใช้บรรทุกข้าว) และ เรือพายมาศ
 
วัตถุที่พบวางแทรกอยู่ทั่วไปในห้องคือเครื่องใช้พื้นบ้าน อาทิ คันฉายที่ทำจากไม้ไผ่ (ใช้สำเกี่ยวฟางออกจากลานนวดข้าวเวลาใช้ควายในการเหยียบ) หอกพร้อมด้าม ฉมวกแทงปลา โม่แป้งหิน เกวียนบรรทุก และเกวียนเก็บของ ส่วนวัตถุเด่นที่พระชิษณุพงศ์บอกว่าแต่เดิมมีอยู่มากแต่สูญหายไปจากช่วงน้ำท่วมคือ เครื่องใช้ประเภทเครื่องเคลือบจากจีน  เครื่องถ้วยสังคโลก และพระพุทธรูป ที่จัดแสดงไว้ในตู้กระจกขนาดใหญ่ตั้งอยู่ชิดผนังด้านหนึ่ง ยังมีรอยคราบน้ำท่วมปรากฏอยู่สูงประมาณ 1 เมตรกว่าๆ ภายในตู้มีเครื่องใช้หลายชนิดทั้งภาชนะดินเผา ตะเกียงโบราณ สิงห์ที่ระลึกจากการเดินทางของเจ้าอาวาส และถังตวงข้าว เป็นต้น
 
     ปัญหาใหญ่ของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ในปัจจุบันคือความเสียหายจากน้ำท่วม ทำให้ทะเบียนที่เคยจัดทำไว้สูญหายไป วัตถุที่เคยจัดหมวดหมู่ไว้ก็กระจัดกระจาย และพระผู้ดูแลมีกิจอื่นต่างๆ ภายในวัดที่ต้องดูแล ทำให้ไม่สามารถจัดการดูแลพิพิธภัณฑ์ได้เต็มที่นัก
 
การเดินทาง
        ออกจากกรุงเทพฯ โดยรถยนต์ ใช้ถนนสายพหลโยธินมุ่งหน้าไปทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิตช่วงที่จะตัดกับถนนกาญจนาภิเษก (หมายเลข 9) ใช้ช่องทางเบี่ยงที่มุ่งทางออกถนนกาญจนาภิเษก/บางปะอิน/อยุธยา ตัดเข้าสู่ช่องทางหลวงหมายเลข 1 (เอเชีย) มุ่งหน้าไปอำเภอบางปะอิน ผ่านอำเภอบางปะอิน และอำเภอบางปะหัน จนไปพบกับทางต่างระดับที่เป็นถนนเอเชียหมายเลข 1ตัดกับถนนสาย อ่างทอง-ท่าเรือ ชิดซ้ายเพื่อขึ้นสะพานเลี้ยวขวามุ่งหน้าไป อ.ท่าเรือ วิ่งตรงไประมาณ 2 กิโลเมตร จะพบกับวัดสุววณเจดีย์ที่อยู่ทางด้านซ้ายมือ จากถนนทางเข้าสู่วัดตรงไปจะพบลานจอดรถด้านขวามือ ส่วนของอาคารพิพิธภัณฑ์จะอยู่ตรงพอดีกับถนนจากหน้าวัด
 
อุดมลักษณ์ ฮุ่นตระกูล / เขียน
ข้อมูลจาก การสำรวจภาคสนาม วันที่ 6 กันยายน 2556
 
อ้างอิง
พระชิษณุพงศ์ วัดสุวรรณเจดีย์ พระผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ อายุ 24 ปี , วันที่ 6 กันยายน 2556
 
 
ชื่อผู้แต่ง:
-