พิพิธภัณฑ์โบราณ ภูมิปัญญาพื้นบ้านเนินขาม


ที่อยู่:
วัดเนินขาม เลขที่ 69 หมู่ที่ 1 ต.เนินขาม อ.เนินขาม จังหวัดชัยนาท
โทรศัพท์:
081-962-8131 ติดต่อ อาจารย์แดน พุ่มจำปา
วันและเวลาทำการ:
กรุณาติดต่อล่วงหน้า
อีเมล:
d-dan12342011@hotmail.com
ของเด่น:
ผ้าทอลาวเวียง,เกวียน,ของใช้พื้นบ้าน
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 04 มิถุนายน 2556

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์โบราณ ภูมิปัญญาพื้นบ้านเนินขาม

ลาวเนินขามหรือคนลาวเวียง เป็นกลุ่มคนที่กระจายตั้งถิ่นฐานอยู่ในจังหวัดสุพรรณบุรี ชัยนาท อุทัยธานี นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก กำแพงเพชร มีภาษาพูดที่คล้ายกัน แต่ประเพณีจะแตกต่างกันออกไป อาจารย์แดน พุ่มจำปา ครูโรงเรียนประถมของบ้านเนินขาม เล่าถึงการโยกย้ายครัวเรือนมาจากทางสุพรรณบุรีและมาตั้งถิ่นฐานในบริเวณที่มีเนินต้นมะขาม และมีการเรียกเพี้ยนว่า “เนินขาม” ในรายงานเรื่อง วัฒนธรรมไทเวียง ผ้าทอเนินขาม ที่อาจารย์แดน พุ่มจำปา เขียนร่วมกับนางวันทา เผือกผ่อง กล่าวถึงผู้คนที่เคลื่อนย้ายมาจากหลวงพระบาง นครเวียงจันทร์ ประเทศลาว  โดยเมื่อเข้ามาอยู่ในประเทศไทย ได้อพยพมาอยู่บ้านโค่งบ้านขาม อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ต่อมาอพยพมาอยู่ที่บ้านหนองแห้ว ตั้งถิ่นฐานได้ไม่นาน เกิดไฟไหม้วัด จึงย้ายมาตั้งที่ใหม่ใกล้เคียงกัน เป็นที่สูงน้ำไม่ท่วมจะมีต้นมะขามใหญ่ จึงตั้งชื่อว่า “บ้านเนินขาม” มาจนถึงปัจจุบัน
 
ในอีกเรื่องเล่าหนึ่งจากเว็ปไซต์ของห้องสมุดประชาชน ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน อำเภอเนินขามกล่าวว่าชาวบ้านอพยพมายัง “หนองแห้ว” และ “ปลูกบ้านถางที่ลุ่มที่พอจะทำนาข้าวได้ซึ่งอยู่ล้อมรอบของเนินที่ปลูกบ้านและอยู่อาศัยและมีวัด พระเข้ามาจำพรรษาเป็นจำนวนมากทำให้ เนินหนองแห้วมีพื้นที่ไม่พออยู่อาศัย จึงมีประชากรแยกออกมาอยู่ดอนขามติดกับลำห้วยมีต้นมะขามใหญ่โคนต้นประมาณ 3 เมตร จึงได้ย้ายวัดหนองแห้วมาอยู่เนินขาม พลเมืองหนาแน่นจึงเกิดเป็นตำบลเนินขามซึ่งอยู่ใกล้กับตำบลบ้านเชี่ยน บรรพบุรุษครั้งที่เกิดรุ่นนั้นได้ล้มหายตายจากไปหมดเหลือเพียงลูกหลานได้เกิดจากชาวตำบลเนินขาม”
 
อาจารย์แดน พุ่มจำปา กล่าวถึงการรวบรวมข้าวที่เป็นโครงการริเริ่มโดยอาจารย์จากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน อาจารย์รัชฎา สุขแสงสุวรรณ (ปัจจุบันเป็นข้าราชการบำนาญอยู่ที่ตัวเมืองชัยนาท) อาจารย์ได้ขอข้าวของจากชาวบ้าน เช่นอุปกรณ์ไถ่นา เครื่องครัว ถ้วยโถโอชาม และผ้า “เมื่อก่อนนั้น มีข้าวของมากกว่านี้ แต่ในระยะหนึ่ง กลับกลายเป็นห้องที่เก็บข้าวใช้ของของวัด แต่ก่อนนั้นมีการทำบัญชีเอาไว้ว่า วัตถุนั้นได้รับของจากใครอย่างไร อาจารย์รัชฎาเองยังแต่งหนังสือเกี่ยวกับผ้าลาวเวียง แต่เมื่อมอบให้กับวัดเป็นผู้ดูแล การดูแลเป็นไปอย่างจำกัด กระทั่งเมื่อสองปีที่แล้ว ได้งบประมาณมาบูรณะใหม่ เกวียนที่เห็นในพิพิธภัณฑ์นี้ แต่เดิมอยู่ด้านนอก พระท่านเห็นเกวียนจะผุ เลยเปลี่ยนมาเก็บไว้ข้างใน” 
 
อาจารย์แดนกล่าวเสริมว่า “เด็กๆ มีโอกาสมาศึกษานอกสถานที่ เช่น ผมบอกเล่าเรื่องราวของเกวียน จะบรรยายตั้งแต่วิธีการทำ และส่วนประกอบ แล้วเขาใช้อุปกรณ์อะไรทำบ้าง โดยไม่ได้ใช้อุปกรณ์สมัยใหม่ เช่น กึงดุม แล้วก็ใช้ขวานถากกันมา แล้วต่อมาก็เล่าเรื่องใช้ประโยชน์เกวียน เราเคยขี่เกวียนสมัยเด็กๆ เข็นข้าว เข็นต้นไม้มาทำศาลา โดยมาเป็นเกวียนลักษณะนี้ของบ้านเนินขาม”นอกจากนี้ พิพิธภัณฑ์ยังจัดแสดงเครื่องมือทางการเกษตร ผ้าทอที่จัดเก็บไว้ในตู้กระจก ผ้าเป็นวัตถุทางวัฒนธรรมอีกประเภทหนึ่งที่มีความสำคัญและบอกเล่าถึงความเป็นลาวเวียงหรือ “ลาวใต้”เพราะยังคงมีขนบของการถ่ายทอดความรู้ดังกล่าวภายในครอบครัว อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันลูกหลานที่ได้รับการศึกษาในระบบ และทำงานในโรงงานหรือนอกชุมชน ไม่มีโอกาสที่จะเรียนรู้งานฝีมือดังกล่าวมากนัก และจะกลายเป็นประเด็นเกี่ยวกับการสืบทอดวัฒนธรรมดังกล่าวภายในชุมชน
 
ข้าวของที่จัดเก็บในพิพิธภัณฑ์ยังประกอบด้วยเครื่องใช้ภายในวัด เครื่องกระเบื้อง และอุปกรณ์ไฟฟ้าที่เคยใช้ในครัวเรือน ทั้งหมดนี้ได้รับการจัดแบ่งหมวดหมู่เอาไว้อย่างชัดเจน อย่างไรก็ดี อาจารย์แดนแสดงความเห็นถึงข้อจำกัดในการดูแล เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านไป พิพิธภัณฑ์ไม่ค่อยได้รับความใส่ใจมากนัก และมีคนเข้ามาใช้ประโยชน์บ้าง มีเพียงโรงเรียนอนุบาลเนินขามที่อยู่ใกล้เคียง หรือผู้ที่เคยบริจาคก็แวะเวียนมาดูข้าวของที่ตนเองเคยบริจาคให้กับพิพิธภัณฑ์เป็นครั้งคราว
 
ก่อนที่ผู้สำรวจจะเดินทางกลับ ได้เห็น “ไม้ยอ” ที่ตอกอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ใกล้กับพิพิธภัณฑ์ อาจารย์แดนบอกเล่าความสำคัญเกี่ยวกับไม้ดังกล่าว “ไม้ยอนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการต่อชะตา ที่จะต้องมีการดูหมอ และต้องให้หมอขวัญนั้นบอกถึงวิธีการที่จะให้บุคคลนั้นพ้นจากเคราะห์กรรม พิธีดังกล่าวประกอบด้วยกระทง ในกระทงนั้นมีข้าวแกง ดินที่ปั้นเป็นรูปสัตว์ รูปคน ในตอนท้ายของพิธี มีการตวงข้าวสาร หากไม่พอดี เหลือ หรือขาดจะต้องทำพิธี จากนั้นมีการเสี่ยงไม้และเอาผ้าขาวมาผูกไว้ที่ต้นไม้ใหญ่ หากกรรมหนักหน่อยจะต้องมาตอกไม้ยอใต้ต้นโพธิ์ หรือเรียกว่า การตอกหลักปี เพื่อเสริมบารมี หากเคราะห์กรรมยังหนักอีก จะต้องมีการค้ำหลักปี เอาไม้ง่ามมาค้ำต้นไม้ใหญ่ ทั้งหมดนี้เป็นพิธีแบบลาวใต้ ผู้จะทำการสะเดาะเคราะห์จะการประกอบพิธีทำที่บ้าน แล้วมาตอกที่วัด ส่วนคนที่ประกอบพิธีเป็นคนเก่าๆ มีประมาณสี่ห้าคนในหมู่บ้าน เรียกว่า หมอทำขวัญ หมอเสียเคราะห์ต่อชะตา” นอกจากนี้ ชาวบ้านยังประกอบพิธีในวันสำคัญต่างๆ เช่น วันสงกรานต์ หรือโอกาสพิเศษอย่างพิธีการบวชนาค ที่จะมีการใช้หุ่นฟางที่เป็นรูปช้างหรือม้าเพื่อให้นาคใช้เป็นพาหนะในการแห่นาคจากบ้านจนมาถึงวัดเนินขาม
 
ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ / เขียน
สำรวจภาคสนาม วันที่ 9 มีนาคม 2556
 
ชื่อผู้แต่ง:
-