ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนบ้านหนองจิก


ที่อยู่:
บ้านหนองจิก ตำบลหนองปรง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี
โทรศัพท์:
087-0106877 สมพร หอมกลิ่น
วันและเวลาทำการ:
ทุกวัน
ปีที่ก่อตั้ง:
2553
ของเด่น:
เรือนลาวโซ่ง, ผ้าทอลายแตงโม
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 31 มกราคม 2556

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของศูนย์การเรียนรู้ชุมชนบ้านหนองจิก

ศูนย์เรียนรู้บ้านหนองจิกแห่งนี้ตั้งอยู่ในหมู่ 2 บ้านหนองจิก โดยเป็นพื้นที่สาธารณะ เดิมทีบริเวณดังกล่าวใช้สำหรับประกอบทำพิธีกรรม “ป่าแฮ่ว” เพื่อส่งวิญญาณผู้เสียชีวิต แต่ในปัจจุบัน บริเวณดังกล่าว  ได้รับการพัฒนาเป็น “ศูนย์เรียนรู้ชุมชน” การก่อตัวของศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ดูจะเป็นการเริ่มต้นจากโครงการของรัฐในระดับท้องถิ่นอย่างชัดเจน ผู้เขียนหาข้อมูลบางส่วนจากเอกสารออนไลน์
 
“ปี  2551  จังหวัดเพชรบุรี ได้มีนโยบายในการดำเนินงาน "หมู่บ้านต้นแบบแห่งการเรียนรู้" โดยการสนับสนุนของ นายสยุมพร  ลิ่มไทย  ผู้ว่าราชการจังหวัดในขณะนั้น ซึ่งการดำเนินงานหมู่บ้านต้นแบบแห่งการเรียนรู้มีวัตถุประสงค์เพื่อ
1. เป็นหมู่บ้านที่เป็นศูนย์เรียนรู้ระดับอำเภอในภาพรวมของหมู่บ้าน  ที่บ่งบอกตำแหน่งหรือศักยภาพของอำเภอนั้น โดยศึกษาได้จากข้อมูลและการนำเสนอภายในศูนย์เรียนรู้ (Indoor)  เชื่อมโยงไปสู่กิจกรรมภายนอกศูนย์เรียนรู้ (Outdoor) ซึ่งอาจอยู่ในหรือนอกตำบล หมู่บ้านที่ตั้งของศูนย์เรียนรู้  และเป็นกิจกรรมการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ในการพัฒนา จังหวัด  วิสัยทัศน์ในการพัฒนาอำเภอหรือตำแหน่งในการพัฒนาอำเภอ รวมทั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ในระดับตำบลและระดับหมู่บ้าน
2.  เป็นหมู่บ้านในการศึกษาดูงานกระบวนการบริหารจัดการตนเองของหมู่บ้านจนสามารถนำไปสู่ "ชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน" โดยมีศูนย์เรียนรู้ชุมชน  เป็นแกนกลางในการดำเนินงาน” (ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนหนองจิก, เอกสารออนไลน์)
 
จากข้อมูลเบื้องต้นนี้ ชี้ให้เห็นว่า ศูนย์การเรียนรู้ดังกล่าวพัฒนาจากโครงการที่ “เล่นล้อ” กับนโยบายการพัฒนาของรัฐ โดยแสดงให้เห็นถึงผลสำเร็จในการพัฒนาศักยภาพของท้องถิ่น การนำเสนอข้อมูลศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ จะใช้เปรียบเทียบกับศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ บ้านหัวเขาจีน เนื่องจากทั้งสองแห่งได้เกิดขึ้นและพัฒนาพร้อมกับเงินสนับสนุนจากหน่วยงานราชการ
 
จาก “โอท็อป แชมเปี้ยน วิลเลจ” สู่ศูนย์เรียนรู้ชุมชน
 
ผู้ใหญ่สมพร หอมกลิ่น เท้าความให้ผู้เขียนเข้าใจถึงที่มาที่ไปของศูนย์การเรียนรู้ชุมชน “ก่อนที่จะมาเป็นศูนย์ที่นี่ ‘พัฒนาชุมชน’ ของจังหวัด [เจ้าหน้าที่ของรัฐในระดับจังหวัด - ผู้เขียน] ส่งเราเข้าการประกวดหมู่บ้าน เมื่อทางราชการมีโครงการอะไร เช่นโครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง หมู่บ้าน ‘อยู่เย็นเป็นสุข’ ‘โอท็อป’ ในหมู่บ้านเรามีความพร้อม เช่น กลุ่มกลึงไม้ตาลโอท็อปในระดับประเทศอยู่ที่หมู่ 1 หนองจิกนี้ ในโครงการประกวดตรงนี้ เราเป็นศูนย์ด้านประเพณีวัฒนธรรม หมู่บ้านเราติดหนึ่งในแปดของการเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เมื่อปี 52 ทุกปีเราได้รางวัลระดับประเทศ เราได้รับรางวัลตั้งแต่ปี 49
 
“แต่เดิมบริเวณเป็นป่าช้าเก่า ในตอนนั้น ดิฉันเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่ในสมัยที่ยังมีการบริหารแบบสภาตำบล ยังไม่ได้เป็น อบต.  ประธานสภาตำบล มาถากถางตรงติดถนนเป็นตลาด ประมาณปี 47 48 49 ต่อมา ดิฉันมาเป็นผู้ใหญ่ปี 51 ก็มีโครงการ SML ปีแรก มาสร้างห้องประชุมเป็นศาลากลางหมู่บ้าน มีพื้นมีหลังคาโล่ง ต่อมาได้งบฯ ยุทธศาสตร์จังหวัดจากการประกวดหมู่บ้าน ‘สมาร์ทวิลเลจ’ เมื่อปี 49 ‘อยู่ดีกินดี อยู่ดีมีสุข’ ‘วิถีชีวิตแบบพอเพียง’ ปีนั้นเราติดระดับจังหวัด แล้วก็ติด 1 ใน 8 ในระดับประเทศ ได้งบฯ มาหนึ่งล้านบาท มาปรับปรุงเป็นห้องประชุมติดแอร์ติดผ้าม่าน ได้มาปี 51 แล้วปี 52 ไม่ได้
“แล้วมาปี 53 สมัยท่านผู้ว่าฯ สยุมพร ลิ่มไทย ก็ได้งบฯ จังหวัด ท่านสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ปีนั้นได้งบประมาณหนึ่งล้านเก้าแสนห้าหมื่นบาท ในปี 53 ได้งบฯ ยุทธศาสตร์จังหวัด ก็มาสร้างเรือนไทดำหลังนี้ งบหนึ่งล้านเก้าแสนห้าหมื่นบาท เป็นทั้งเรือน สื่อวีดิทัศน์ เป็นโต๊ะเก้าอี้ มาจัดงานเปิดตัวเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว แต่ที่เห็นๆ ป้ายบอกทางเรือนลาวหลังนี้ แล้วถมดินไปห้าแสนสี่ห้าแสนเจ็ด เรือนไทดำงบฯ สามแสนห้าหมื่นเก้าพัน แล้วได้งบฯ จาก อบต. หลังนี้หมดไปประมาณเจ็ดแสนกว่าบาท ต่อมามีหน่วยงานศึกษาดูงาน” (สมพร หอมกลิ่น, สัมภาษณ์)
 
ผู้ใหญ่สมพรขยายความเกี่ยวกับ “ศูนย์เรียนรู้ชุมชน” ดังนี้ “ทางอำเภอเขาตั้งให้ที่นี่เป็นศูนย์เรียนรู้ฯ ระดับอำเภอ ก็คำว่าประกวดอีกแหละ ทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล ซึ่งจะเป็นหมู่บ้านตัวอย่าง หมู่บ้านต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง แล้วอำเภอคัดเลือกที่นี่ คือทุกตำบลจะมีศูนย์เรียนรู้ แต่ว่าของหมู่ 1 ตำบลหนองปรง เป็นศูนย์เรียนรู้ฯ ระดับอำเภอ” ผู้เขียนตั้งคำถามต่อเนื่องไปว่า แล้วพิพิธภัณฑ์ปานถนอม ซึ่งมีการจัดแสดงเนื้อหาวัฒนธรรมไทยทรงดำ มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร
 
“เรากิจกรรมทำร่วมกันอยู่แล้ว เวลามีแขกเข้ามาศึกษาดูงาน มีการบรรยายสรุปที่นี่ หากแขกจะมาทานอาหารว่าง ทานอาหารกลางวัน ที่นี่ จะไปดูงานด้านพิพิธภัณฑ์ ก็ไปดูบ้านอาจารย์ถนอม หากเขา [คณะดูงาน – ผู้เขียน] ไม่สะดวก เพราะรถบัสมักจะเข้าไม่ได้ ป้าถนอมจะนำทีมมาจัดแสดงวิถีชีวิตไทยดำที่นี่ ให้แขกมาเยี่ยมชมศูนย์ฯ ของเรา นั่นคือ จะการแสดงวิถีชีวิต ตั้งแต่การเกิด การออกครอบครัว การแต่งงานกัน การตาย ตั้งแต่การเกิด เขาเลี้ยงลูกอย่างไร ประเพณีการแต่งงานเป็นอย่างไร การแต่งตัว ทรงผม หนุ่มสาว แก่ เป็นอย่างไร ม่ายเป็นอย่างไร แล้วพิธีเผาเป็นอย่างไร” (สมพร หอมกลิ่น, สัมภาษณ์)
 
แต่นอกจากการให้บริการความรู้สำหรับคณะที่เดินทางมาศึกษาดูงานแล้ว ชาวบ้านยังจัดอาหารต้อนรับ แม้ในส่วนนี้จะมีค่าใช้จ่าย แต่ผู้ใหญ่สมพรแสดงความเห็นแกมติติงว่า “ถ้าถามว่า ที่ทำกันมามีกำไรไหม? น้อยนักที่เราจะมีกำไร เพราะเวลาบอกว่า ทำอาหารสามอย่าง เราก็ไปทำเขาห้าอย่าง ไม่กำไร เหลือเฉพาะเป็นค่าแรงที่มาช่วยกันทำ ทั้งวัน สองร้อย ก็ถือว่าไม่เยอะ
“ถ้าเขามาศึกษาดูงาน มาทานเบรค 25 บาท มา 50 คน เท่าไร พันกว่าบาท แล้วก็เป็นค่าวิทยากรก็พันหนึ่ง บางคณะบอกไม่มีงบประมาณเลย แต่ขอเข้ามาศึกษาดูงาน เพราะมันเป็นศูนย์ฯ ของราชการ พอผ่านหน่วยงานเข้ามา มีค่าวิทยากรกับค่าสถานที่มาพันเดียว มาถึงเรา เราจะใจดำ แบบน้ำสักแก้ว เราจะไม่ให้เขาดื่ม เป็นไปไม่ได้ ตรงนั้น เราก็ต้องออกอีกแล้ว... แต่ตั้งแต่เปิดเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เราก็รับพักค้าง รับคณะทัวร์ด้วย พักค้างไม่ได้แยกยอดไว้ แต่มีการเก็บสถิติ ปีที่ผ่านมา ประมาณสามพันกว่า สามพันสองร้อยกว่าคน ทั้งเข้ามาศึกษาดูงานและพักค้าง ปีก่อนโน้นสองพันเจ็ด คือเพิ่มขึ้น ปีแรกก็สองพันสอง สองพันสาม
 
“เราต้องมีสถิติ จากการเข้ามาศึกษาดูงาน เขาต้องทำหนังสือผ่านทางจังหวัด ‘พัฒนาอำเภอ’ ‘พัฒนาจังหวัด’ แล้วการจะของบประมาณจังหวัด เราก็ต้องเอาอันนี้ [สถิติ – ผู้เขียน] เข้าไปขอด้วย ว่าศูนย์ฯ ของเรามีการบริหารจัดการ มีศักยภาพ มีคนเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้น เช่นปีนี้ เราได้งบฯ เพิ่มขึ้นเป็น ในปี 56 เราจะทำศาลาอเนกประสงค์ไว้รับนักท่องเที่ยว บางหมู่คณะเข้ามาสามร้อย ในห้องนั้น รับได้แปดเก้าสิบ ไอ้ที่นั่งในเต้นท์ก็นั่ง นั่งในห้องแอร์ก็นั่ง
 
“คราวนี้จะสร้างตรงนี้ให้เต็ม แล้วก็จะสร้างห้องน้ำใหม่ หกห้อง ชายหก หญิงหก สิบสองห้อง เรื่องไฟฟ้า บริเวณงานเปลี่ยน เวลามีงาน เวลาเปิดแอร์สามสี่ตัว ไฟตัด แล้วจัดงานอะไรพวกนี้ เฉพาะค่าไฟสามหมื่น เฉพาะค่าเวทีดนตรี ก็ห้าหมื่นบาท เวลามีคนมาดูงาน มีการแสดงก็ต้องใช้ไฟ ต้องไปจ้างเขามาติดตั้ง ต่อครั้งต่อคืนก็ห้าพันบาท หากเราไม่ได้ไปจ่ายตรงนั้น รายได้เข้าสู่ชุมชนได้มากกว่านั้น” ผู้ใหญ่สมพร กล่าวถึงความเจริญก้าวหน้าของศูนย์การเรียนรู้ชุมชน ที่มีทั้งความภาคภูมิใจที่หมู่บ้านจะได้ต้อนรับคณะดูงานจากจังหวัดต่างๆ แต่ยังคงกังวลกับการบริหารจัดการงบประมาณในแต่ละปี
 
อย่างไรก็ดี เมื่อผู้เขียนฟังข้อมูลข้างต้น กลับเกิดความสงสัยถึงวัตถุประสงค์แท้จริงของศูนย์เรียนรู้ชุมชน เพราะดูๆ ไป กลายเป็นองค์กรที่ตอบสนองการทำงานของรัฐในระดับท้องถิ่น มากกว่าจะเกิดจากความต้องการของคนในชุมชน หรือใช้องค์กรดังกล่าวเพื่อการอนุรักษ์วัฒนธรรม ผู้เขียนตั้งคำถามในประเด็น ผู้ใหญ่สมพรพยายามอธิบายให้เห็นว่า เมื่อมีผู้คนมาดูงานและชาวบ้านได้ร่วมแสดงหรือสาธิตวัฒนธรรมให้กับบุคคลภายนอกชม ตรงนี้ สามารถกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้เอกลักษณ์วัฒนธรรมได้เช่นกัน
 
“เพราะเราต้องการให้ลูกหลานรักษาประเพณีวัฒนธรรมที่มีอยู่ดั้งเดิม เราต้องการให้ลูกหลานรู้จักวิถีชีวิตดั้งเดิม คำว่าพอเพียง ได้เป็นส่วนหนึ่งของการแสดง ได้เห็นวิถีชีวิต ที่เราปฏิบัติ อย่างน้อยเราเป็นผู้นำ เราต้องอนุรักษ์ ภูมิใจ แต่ก่อนบอกว่า “คนลาว” แต่คนลาวก็มีตำแหน่งหน้าที่ที่ดี เราก็เปรียบเทียบให้คนนั้น เป็นอาจารย์ เราก็เปรียบเทียบ บอกเขาเรียนจบ ดร. เหมือนแต่ก่อนจะอาย รุ่นๆ เดียวกัน เราพูดลาว เขาพูดไทย จะมีความรู้สึกว่าเขาอายที่จะเป็นคนไทดำ
 
“แต่เดี๋ยวนี้ หน่วยงานก็ต้องเอาไทดำเป็นตัวโชว์ทุกงาน งานอำเภอ ก็ต้องเอาหนองจิกเป็นตัวโชว์ งานจังหวัด สั่งอำเภอ ก็ต้องเอาหนองจิกไปเป็นตัวโชว์ เพราะฉะนั้น เวลามีงานประชุมประจำเดือน เราบอกว่า เราไม่ต้องอายเป็นไทดำ เราถือสัญชาติไทย” (สมพร หอมกลิ่น, สัมภาษณ์) ในเบื้องต้นนี้ ผู้เขียนต้องการเสนอให้เห็นเค้าโครงของการสร้างศูนย์การเรียนรู้ และประโยชน์ของการสร้างศูนย์ฯ นั่นคือ เน้นการเป็นสถานที่ดูงานเพื่อแสดงศักยภาพของชุมชน แต่การดูงานดังกล่าวก็เป็นเวทีให้ผู้คนในกลุ่มชาติพันธุ์แสดงเอกลักษณ์ของตนเองสู่สาธารณชน ในทำนองว่า “แม้จะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เล็กๆ แต่ก็สามารถพัฒนาตนเอง พัฒนาชุมชนให้ทัดเทียมกับท้องถิ่นอื่น”
 
ลักษณะของเรือนไทดำที่ปรับแปรรูปลักษณ์ เพื่อเป็น “ศูนย์เรียนรู้ชุมชน”
 
ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วเบื้องต้น ศูนย์เรียนรู้ชุมชนหนองจิก เป็นอาณาบริเวณกลางแจ้งที่มีอาคารหอประชุมและเรือนไทดำ ทั้งนี้ บริเวณเปิดโล่งนั้นใช้ประโยชน์สำหรับการต้องรับหมู่คณะที่มาเป็นจำนวนมาก รวมทั้งการจัดงานสืบสานประเพณีไทดำ (สำหรับงานประเพณี ผู้เขียนจะกล่าวในลำดับถัดไป) ในที่นี้ ผู้เขียนจะกล่าวถึงเรือนไทดำ โดยข้อมูลในส่วนนี้มาจากการพูดคุยกับนายก อบต. พนัส ล้วนเมือง ผู้ออกแบบเรือนดังกล่าว
 
ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตไว้เบื้องต้นตั้งแต่การเริ่มต้นสนทนา รูปลักษณ์ของเรือนไทดำนี้ ดูแตกต่างจากที่อื่นๆ ถึงแม้จะมีหลังคาเรือนเป็นทรงกระดองเต่า กระนั้นก็ดีองค์ประกอบหลักอื่นๆ ของเรือนกลับพบลักษณะการผสมวัสดุสมัยใหม่ในหลายตำแหน่ง เช่น ชานเรือน ที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติและทำจากคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาดของประตูที่กว้างกว่าปกติ คือเป็นประตูขนาดสองบาน และมีเสาซีเมนต์โผล่ทางด้านข้างของเรือน และจุดที่ผู้เขียนเห็นว่า “งามกว่าปกติ” คือ การตีไม้กระดานบนเรือนและการสารผนังเรือนด้วยไม้ไผ่ที่มีความประณีตอย่างยิ่ง
 
นายกฯ พนัส เริ่มต้นอธิบายถึงลักษณะของความแตกต่างของเรือนไทดำของศูนย์เรียนรู้ชุมชนหนองจิก ดังนี้ “จริงๆ แล้ว เป็นรูปลักษณ์ของบ้านลาวเดิมๆ แต่บ้านเดิมๆ จริง พื้นต้องเป็นไม้ไผ่ที่สับเอา บันไดที่ใช้ก็ต้องเป็นไม้ต้องเป็นไม้ลวกเป็นลำ แต่การที่เราต้องเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เราก็ต้องรับแขก เพื่อความมั่นคงแข็งแรง ก็ต้องกลายเป็นแบบนี้ แต่จริงๆ นอกชาน ก็เป็นไม้กระดานวางห่างๆ หากฝนตก แดดออก ก็ตากแดด น้ำก็รอดลงใต้ถุน ไม่ใช่ลักษณะอย่างนี้ แต่ก็มีบ้างที่เป็นไม้กระดานอย่างที่เห็น หากเป็นครอบครัวที่มีอันจะกินหน่อย
 
“บ้านที่เคยไปเห็น ถ้าให้ผมบอกว่าถูกไหม บอกได้ว่าถูกบางส่วน ส่วนบ้านหลังนี้ โครงสร้างภายใน ก็ถูกบางส่วน เหมือนกัน ถูกทั้งหมดคือจากพื้น [เรือน – ผู้เขียน] ขึ้นไป และถูกบางส่วนเลย คือจากพื้น [เรือน – ผู้เขียน] ลงมา คือบ้านที่ปลูกตามหลักของคนไทดำเมื่อก่อนนี้ เขาจะปลูกบ้าน โดยเตรียมเครื่องมือและอุปกรณ์ไว้ให้ครบเสร็จ แล้วสร้างในวันเดียว
 
“แต่บ้านหลังนี้ สร้างหลายวัน สร้างเป็นเดือน ที่บอกถึงเรื่องความแตกต่าง บ้านเดิมเขาจะไปตัดไม้ที่เป็นง่าม พวกเสาที่เป็นง่าม ทีนี้ไม้ง่าม จะวางสำหรับวางคาน ลักษณะเสาเป็นอย่างนี้ ง่ามของต้นไม้เพื่อที่จะให้วางคานใส่เข้าไปตรงนี้ นี่คือยุคแรก นี้สร้างวันเดียวได้... แต่ผมอยู่กับผู้เฒ่าผู้แก่ มาทันยุคที่เขาสร้างบ้านอย่างนี้
 
“ผมสร้างโมเดล เวลาสร้างเอามาวัดได้เลย แล้วส่วนตรงนี้เรียก “กว่างตุ๊ก” [องค์ประกอบส่วนโค้งของหลังคา] ตุ๊ก หมายถึง โค้งมน กว่าง หมายถึง วง อย่างจักรยาน เรียกว่า “แซกว่าง” แซ เป็นภาษาเวียดนาม แปลว่า ยานพาหนะ วงสำหรับปั่นไหม เรียกว่า “กงกว่าง” นอกชานจะมีแค่นี้ แต่สำหรับอันนี้ คนสามารถนั่งกินข้าวได้ ยกพื้นประมาณสามสิบเซนฯ ต่างระดับกันเห็นชัด แล้วด้านหลังเตี้ยกว่า
 
“ส่วนนี่ (บันได) สามารถชักหรือพลิกได้หากเป็นบันได้ไม้ไผ่ นี่เป็นบันไดอยู่ในร่ม สำหรับใช้ปกติ อันนี้เป็นไม้ไผ่ทั้งลำ อันนี้เป็นไม้ลวก อันนี้ กลมก็ไห้แบนก็ได้ (ขั้นบันได) “ข่มหัวสินยัว” ตรงนี้ รัดตรงนี้ไว้ แล้วที่ไม่ให้โยกคือมัดด้วยหวาย เป็นพันจุด ไม่ให้โยก (อธิบายส่วนโครงหลังคา) บางบ้าน สมัยก่อนมีเสาลงมาถึงดิน เป็นขื่อยาว เสาริมนี้ไม่มีก็ได้ แล้วก็ปล่อยให้ย้อยลงมา
 
“ส่วนด้านบนนี้ เรียก ขอกุด ความหมายเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตไทดำ ไทดำส่วนใหญ่ทำกินเกษตรกรรม ทำนา แล้ว ทำไร่ ก็หมายถึงปลูกผักไว้กิน ทำนาใช้ควาย การชักลากเกวียน ผูกพันกับคน ขี้ควายทากะล่อมข้าว ควายมีบุญคุณ เวลาตาย เอามาแขวนไว้บนนี้ สัญลักษณ์แทนเขาควาย สัตว์คู่บุญ ซื่อสัตย์ อดทน ให้ความผาสุก ไม่ได้เป็นกาแล บางแห่งมีสองสามหยักทำให้สวยงาม” (พนัส ล้วนเมือง, สัมภาษณ์)
 
 
 
นายกฯ พยายามอธิบายถึงลักษณะของเรือนในสมัยเก่า ที่ไม่ได้มีส่วนผิดเพี้ยนจากเรือนไทดำของศูนย์เรียนรู้บ้านหนองจิก จากการอธิบายองค์ประกอบภายนอก นายกฯ อธิบายถึงโครงสร้างภายในเรือน และการใช้พื้นที่ในเรือน “ตรงนี้มี “ส่า” เหนือเตาไฟ ข้างบนนี้ใช้ไม้ไผ่บนขื่อ ไว้สักครึ่งหนึ่ง เอาภาชนะที่ไม่ได้ใช้วางข้างบน กล่องใส่ผ้าไหม เรียก ขมุก ตรงนี้เรียก ถ่านแคะ ที่อยู่สูงสุดไม่ได้แตะต้อง นี่เรียก อกไก่ อันนี้เรียกว่า สินยัว (จันทัน) อันนี้เรียกว่า อาว (แป) นี่เรียก กอน ขื่อล็อค (จันทันตัวยาว) อันนี้เรียกเสาคาง ตรงนี้ เรียก ข่าม ตง ลอด ตรงนี้ ไม่มี หากจะพาด ใส่เสาไปด้วย...”
 
จึงนำมาสู่ข้อสรุปที่ว่า การปรับเปลี่ยนโครงสร้างของเรือนบางส่วน เป็นไปเพื่อเสริมความแข็งแรงในบางบริเวณสำหรับใช้ประโยชน์ในการต้อนรับคนเป็นจำนวนมาก “อย่างศูนย์ฯ จึงกลายเป็นเรือนค่อนข้างถาวร แต่ก็เป็นแบบผสม ส่วนนอกชานตรงนั้น จริงๆ ทำให้เป็นไม้ก็ได้ ไม่มีเงิน คงไปเคยเห็นมาหลายที่ ทำปูนให้เหมือนไม้ ผมไปร้านอาหารที่เชียงใหม่ นั่งรอบนไม้ รอยแตก รอยขวานเหมือน หากบ้านหลังนี้ผมเป็นเจ้าของ ไม่ออกมารูปนี้ ต้องเป็นไม้ ไม่เป็นเหลี่ยมอย่างนั้น ไม่ใหญ่อย่างนั้น โครงสร้างต้องเป็นเหล็กดี แต่เงินน้อย ผู้ใหญ่เป็นคนก่อสร้าง ถูกบ้างไม่ถูกบ้าง เราต้องจำยอม” (พนัส ล้วนเมือง, สัมภาษณ์)
 
อย่างไรก็ดี แม้องค์ประกอบหลักของเฮือนไทดำแห่งนี้ จะสอดคล้องกับเรือนที่เป็นแบบแผนดังที่นายก อบต. พนัส อธิบาย แต่ผู้กลับพบลักษณะที่ต่างจากที่อื่นๆ อย่างสิ้นเชิง เช่น การปรากฏเสาปูนซึเมนต์ อยู่กลางเรือน ผู้เขียนเห็นว่าในส่วนนี้ น่าจะเป็นเพราะลักษณะของเรือนที่จะต้องการความแข็งแรง จึงเสริมเสาดังกล่าว ซึ่งหากจะนำไปเป็นใช้ประโยชน์ในการอยู่อาศัยตามขนบเดิมแล้วคงจะเป็นเรื่องยาก เพราะคงขวางตำแหน่งการนอนของผู้อาศัย
 
ทั้งนี้ ผู้เขียนได้ตั้งข้อสังเกตส่วนนี้ มิใช่เพื่อลดทอนคุณค่าของคำอธิบายที่รับรู้มาจากนายกฯ พนัส หากแต่ต้องการแสดงให้เห็นว่า ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่มาจากการสร้างเรือนประเพณีในเวลาร่วมสมัย เป็นสิ่งที่เป็นปกติ เพราะวิธีคิดเกี่ยวกับเรือนนั้น ทั้งความมั่นคง ความงดงาม ย่อมเปลี่ยนแปลงได้ แต่จะอย่างไร ผู้อธิบายวัฒนธรรม ในกรณีนี้ นายกฯ พนัส กลับยังคงใช้ “เรื่องเล่าขนบในอดีต” มาสร้างความชอบธรรมให้กับการออกแบบของตนเอง จุดนี้ชี้ให้เห็นว่า ลักษณะหนึ่งของการสร้างสำนึกชาติพันธุ์ คือการใช้อดีตมายืนยันสภาวการณ์ของความเป็นชาติพันธุ์ในปัจจุบัน
 
อนึ่ง ภาพของเรือนไทดำของศูนย์การเรียนรู้ชุมชนหนองจิกคงดูแห้งแล้ง หากผู้เขียนไม่ได้มีโอกาสร่วมใน “งานสืบสานวัฒนธรรมไทดำ” เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2555 งานดังกล่าวจัดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกับงานที่จัดขึ้นที่ตำบลทับคาง แต่สีสันของการจัด “งานสืบสานไทดำ” แตกต่างจาก “งานประเพณีไทยทรงดำ ทับคาง” ไม่น้อย นี่เป็นประเด็นที่ผู้เขียนจะกล่าวถึงในหัวข้อถัดไป
 
 “งานสืบสานวัฒนธรรมไทดำ” เวทีของการแสดงลักษณะชาติพันธุ์กับความเป็นทางการ
 
การจัดงานสืบสานวัฒนธรรมไทดำ จัดขึ้นในบริเวณศูนย์การเรียนรู้ชุมชน หนองจิก บนชานเรือน ใช้เป็นที่เลี้ยงอาหารสำหรับ “แขกผู้ใหญ่” หรือผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรีและคณะ ใต้ถุนเรือนไปที่ขาย “สินค้าชาติพันธุ์” ประเภทเสื้อไท ซิ่นลายแตงโม เครื่องเงิน กระเป๋าคาดเอว ฯลฯ ส่วนบริเวณที่เป็นสนามหญ้าด้านหลังอาคารหอประชุม หรือด้านข้างเรือนไทดำ เป็นที่ตั้งโด๊ะกลมจำนวน 20 โต๊ะโดยประมาณ บริเวณข้างสนามมีซุ้มอาหารให้บริการแก่ผู้ที่มาร่วมงาน บริเวณโดยรอบมีการประดับด้วยไฟฟูออเลสเซนสี จัดเรียงในลักษณะเหมือนดาวแฉกเหนือเสา คล้ายพลุที่กระจายออก ติดตั้งอยู่ทั่วบริเวณ นอกจากนี้ ยังมีร้านค้าจากภายนอกที่มาขายเครื่องดื่ม ขนม และอาหารให้แก่ผู้ที่มาร่วมงาน
 
ผู้ใหญ่สมพรกล่าวถึงธรรเนียมเกี่ยวกับงานสืบสานวัฒนธรรมไทดำ “เราไปเขา เขาก็มาเรา สุพรรณบุรี นครปฐม ราชบุรี ชุมพร คนต่างจังหวัดก็มา 20 กว่าหมู่บ้านจะมาร่วม บ้านดอน บ้านยาง บ้านดอนมะเกลือ บ้านบางกุ้ง จากสุพรรณ แล้วก็มีบ้านที่เราไปมาแล้ว จากนครปฐม ก็หลายบ้าน ดอนตูม บางเลน ถ้าทางชุมพร ดอนรวก คอเตี้ย ตาลเจ็ดยอดกุยบุรี หมู่บ้านดอนคังจากราชบุรี กลายเป็นงานพบญาติ” จากคำอธิบายเช่นนี้ ผู้เขียนตระหนักถึงความสำคัญของานอยู่ไม่น้อยกับความสำคัญของงานสืบสานประเพณี ที่ เชื้อเชิญให้ “ลูกหลานไทยทรงดำหรือลาวโซ่ง” ได้มาพบปะกันจากทั่วสารทิศ
 
นอกจากการจัดเลี้ยง การขายของ เป็นกิจกรรมที่มีขึ้นในงานแล้ว สถานที่อีกแห่งหนึ่งที่เป็นหัวใจของงานคือเวทีการแสดงดนตรี และลานด้านหน้าที่ใช้ในการสาธิตการละเล่น เช่น ทอดมะกอน (โยนลูกช่วง) หรือการสาธิตการเลือกคู่สนทนาของชายหญิง ผู้หญิงใช้ผ้าคล้องคอปิดหน้า และให้ฝ่ายเดินเข้ามาหา หากหญิงผู้นั้นเลือกชายคนดังกล่าว จะเปิดหน้า เผื่อจะไปสนทนากันที่อื่น การสาธิตการละเล่นจัดขึ้นในช่วงเวลาพลบค่ำ ก่อนเริ่มพิธิการต่างๆ บนเวที ในเวลานั้น ผู้คนเริ่มทยอยเข้ามาในงาน ส่วนใหญ่แต่งกายตามแบบประเพณี คือผู้ชายใส่เสื้อไท บ้างใส่กางเกงยีนส์ บ้างใส่กางเกงผ้าสีดำ ส่วนผู้หญิงใส่เสื้อก่อม หรือผ้าเปียว ทั้งชายหรือหญิง อาจมีกระเป๋าคาดเอวที่ลายดอกหน้าหมอน บ้างใส่เครื่องประดับเงิน
 
กล่าวเฉพาะการตบแต่งเวที ธีม (theme) หรือเค้าโครงของเรื่องที่ปรากฏในการจัดเวที เป็นไปในทิศทางเดียวกับการนำเสนอภาพของวิถีชีวิตในอดีตของไทดำด้วย “เฮือนลาว” คือการใช้วัตถุที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต เป็นหลักในการอ้างอิงเอกลักษณ์ทางชาติพันธุ์ ตรงกลางเวทีเป็นกะเหล็บใหญ่ที่ใช้เคยใช้ในขบวนแห่ในงานพระนครคีรีเมื่อต้นปี 2555 ใช้ฟางประกอบด้านหน้าเวที และวัตถุวัฒนธรรมอื่นๆ ในเรื่องนี้ นายกฯ พนัส เล่าถึงแรงบันดาลใจและความหมายขององค์ประกอบส่วนต่างๆ
 
“เสาหน้า ตรงนี้ เป็นลายดอกสำหรับปิดหน้าหมอนเหลี่ยมๆ สิ่งเหล่านี้ติดตัวเรามา เป็นสิ่งที่เรา นึกถึงไทดำ จะนึกถึงปัจจุบันนี้ ผมเลยให้เขาออกแบบ แล้วศูนย์เรียนรู้ฯ ยังไม่มีโลโก้ เลยเอาโลโก้ของ อบต. ใส่เข้าไป แล้วเขียนว่าศูนย์เรียนรู้ฯ ซีกนี้ โลโก้ ศูนย์เรียนรู้ฯ แล้วก็ซีกนี้ โลโก้ อบต. ส่วนด้านข้างๆ มีสองสเตปด้วยกัน มิติหนึ่งมาจากการทำกิน ทำนา ไถคราด พลั่ว แล้วก็มีแอกควาย แล้วอีกซีก หาอาหารประเภทสุ่มไซสวิงแห เป็นองค์ประกอบของชีวิตเรา แล้วเขียนไว้ว่า วิถีชีวิตไทดำ เมื่อวันวาน เขียนเอาไว้สองด้าน ไม่รู้ว่า มองแล้วเข้าใจไหม เวทีพวกนี้ หากให้โอกาสเราทำ ในสมองที่เราคิดมีมากกว่านี้ ภาษาไทดำ ยังไม่ได้ใส่เข้าไป” (พนัส ล้วนเมือง, สัมภาษณ์)
 
พิธีกรเริ่มบรรยายถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงาน การบอกกำหนดการที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นประธานในพิธี สลับการเล่นดนตรี ในราย 18.00น. งานนั้นเริ่มอย่างเป็นทางการเมื่อประธานในพิธีเดินทางมาถึงราว 19.00 น. ผู้จัดงานได้เตรียมทีมงานต้อนรับประกอบด้วยผู้ที่มีตำแหน่งในการบริหารท้องถิ่น ผู้ใหญ่บ้านหมู่ต่างๆ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดหนองปรง เป็นต้น และยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่รำต้อนรับ เมื่อผู้ว่าฯ และคู่สมรส ซึ่งแต่งกายในชุดประเพณีลงจากรถยนต์ วงดนตรีแคนเล่นเพลง และนางรำรำรอบๆ แขกที่เพิ่งมาถึงในบริเวณงาน และรำประกบจนกระทั่งประธานและคู่สมรสนั่งที่โต๊ะรับรองที่ทางหมู่บ้านได้จัดเตรียมไว้ให้
 
จากนั้น เป็นการกล่าวรายงานและเชิญให้ผู้บริหารส่วนท้องถิ่น และบุคคลสำคัญของชุมชนขึ้นบนเวที เพื่อให้ประธานกล่าวเปิดงาน เมื่อประธานกล่าวจบ เป็นการเปิดวงฟ้อนแคนผู้คนจำนวนมากทยอยร่วมในวงรำ และวงค่อยๆ ก่อรูปเป็นวงกลม ประธานและคู่สมรสรำร่วมกับกลุ่มผู้ร่วมงานประมาณยี่สิบนาที จากนั้น นายก อบต. เชิญให้ประธานและคู่สมรสร่วมรับประทานอาหารเย็นที่ได้จัดเตรียมไว้บนชานเรือน ผู้เขียนยังคงสังเกตการณ์อยู่โดยรอบ ชาวบ้านทั้งที่มาจากในหมู่บ้านและต่างหมู่บ้าน ยังคงรำอย่างครึกครื้นสนุกสนาน พร้อมกับเสียงดนตรีแคนที่ดังไม่ขาดสาย
 
จากที่กล่าวมานี้ ผู้เขียนพิจาณางานสืบสานวัฒนธรรมไทดำในสองสามลักษณะ ประการแรก การจัดงานเป็นเวทีสำคัญของการแสดงเอกลักษณ์ชาติพันธุ์ ที่แม้อาจจะไม่สามารถกล่าวได้อย่างเต็มที่ ว่าเป็นการตอกย้ำถึงความเป็นปึกแผ่นของสังคมอย่างเช่นในอดีต แต่เป็นเวทีที่ตอกย้ำสำนึกชาติพันธุ์ ประการต่อมา ด้วยลักษณะการจัดงาน ที่มิใช่งานรื่นเริงที่จัดขึ้นเฉพาะในระดับหมู่บ้าน แต่เป็นงานที่อาศัยงบประมาณสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งหน้าที่หนึ่งที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมในท้องถิ่น เวทีของการจัดงานสืบสานวัฒนธรรมไทดำ จึงเป็นช่องทางการสื่อสารทางการเมืองให้เห็นถึงความสามารถในการบรรลุบทบาทที่ได้กำหนดไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาการเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดมาเป็นประธานในพิธี ผู้ว่าฯ ทำหน้าทีเสมือนพยานรับรู้ความสำเร็จดังกล่าวของผู้จัดงาน
 
ประการสุดท้าย ซึ่งผู้เขียนวางข้อสังเกตดังกล่าวไว้เป็นคำถาม นั่นคือ สายสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างชาวบ้านที่มาจากต่างจังหวัด และมา “เอาแรง” หรือ “ช่วยแรง” เกิดขึ้นผ่านสายสัมพันธ์ประเภทไหนบ้าง ความเป็นเครือญาติ? ความรู้สึกผูกพันในการแลกเปลี่ยน “แรงงาน” (ในความหมายของจำนวนของผู้เข้าร่วมงาน หรือเงินช่วยเหลือที่มอบให้แก่กัน)? เหล่านี้คงเป็นคำถามที่จะต้องอาศัยการทำงานหาคำตอบต่อไปในอนาคต และยากที่ผู้เขียนจะตอบได้ในการทำงานภาคสนามในระยะเวลาอันสั้น
 
ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ /เขียน
สำรวจภาคสนาม วันที่ 21 เมษายน 2555
 
ชื่อผู้แต่ง:
-