ศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ ทับคาง


ที่อยู่:
ตำบลทับคาง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี (หน้าสำนักงานการศึกษานอกโรงเรียน อำเภอเขาย้อย)
โทรศัพท์:
032-561-2000
วันและเวลาทำการ:
ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 8.30‐16.30 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2538
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 02 กรกฎาคม 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

ศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ ทับคาง

เรื่องราวเกี่ยวศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ ตำบลทับคาง ยังคงเป็นปริศนาสำหรับผู้เขียนอยู่ไม่น้อย ด้วยเหตุที่ระยะเวลาในการเก็บข้อมูลภาคสนาม ผู้เขียนยังไม่สามารถ “เข้าถึง” หรือพบผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการสร้าง “เฮือนโซ่ง” ข้อมูลต่างๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นประวัติของการก่อสร้าง อาศัยข้อมูลจากผู้ให้ข้อมูลในแหล่งอื่นๆ ที่พาดพิงถึงเรือนไทยทรงดำ ทับคาง นอกจากนี้ ยังอาศัยการสังเกตการณ์และเยี่ยมชมศูนย์วัฒนธรรมฯ ด้วยตนเอง และการร่วมงานวันไทยทรงดำ ตำบลทับคางที่จัดขึ้นในวันที่ 18 เมษายน 2555

อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน ผู้เขียนกลับพบว่า อนุสาวรีย์สมัย อ่อนวงศ์ ศิลปินแคนและเพลงลูกทุ่ง ผู้ที่เกิดที่ตำบลทับคาง กลับแสดงลักษณะของสถานที่ ที่เป็น “ศูนย์รวม” ของผู้คนในตำบลทับคาง ได้มากกว่าเรือนไทยทรงดำ เพราะกิจกรรมหลายอย่างที่จัดขึ้นเนื่องในโอกาสวันไทยทรงดำ หรือการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับกิจกรรมทางวัฒนธรรม กลับอาศัยอนุสาวรีย์เป็นศูนย์กลางในการอ้างอิง มากกว่าเฮือนโซ่ง ด้วยเหตุนี้ การนำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ ตำบลทับคาง ประกอบด้วยข้อมูล 2 ชุด ได้แก่ พัฒนาการและภาพอดีตของเฮือนโซ่ง ทับคาง และงานวันไทยทรงดำและงานรำลึกถึงศิลปินสมัย อ่อนวงศ์


1.      ภาพที่พร่ามัวของ “เฮือนโซ่ง”

ภาพพัฒนาการของเรือนไทยทรงดำแห่งนี้เป็นไปอย่างกระท่อนกระแท่น ข้อมูลที่จะนำมาประกอบให้เห็นภาพความเป็นมาของเรือนในฐานะของศูนย์วัฒนธรรมแห่งนี้ มาจากการพูดคุยกับผู้ดูแลศูนย์วัฒนธรรมแห่งอื่นๆ ในอำเภอเขาย้อย “เฮือนลาว” แห่งนี้ น่าจะสร้างขึ้นเป็นลำดับหลังจากการสร้างเฮือนลาวที่วัดหนองปรง เจ้าอาวาสวัดหนองปรงองค์ปัจจุบัน พระอธิการบุญมา อ้างถึงครั้งเมื่อชาวบ้านทับคางได้มาขอเครื่องจักสานและเครื่องมือทำกินบางส่วนจากเรือนไทยทรงดำของวัดหนองปรง เพื่อใช้ประกอบการนำเสนอเรื่องราวทางวัฒนธรรมของตัวเรือน

ในระหว่างที่ผู้เขียนสัมภาษณ์อดีตกำนันประนอม สืบอ่ำ ตำบลเขาย้อย เกี่ยวกับศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำเขาย้อย ท่านได้หยิบภาพในอัลบั้มรูปส่วนบุคคลให้ผู้เขียนดู พร้อมเล่าถึงอธิบายถึงประวัติและความหมายของแต่ละภาพ หลายภาพเกี่ยวข้องกับเรือนไทยทรงดำเดิมที่มอดไหม้กับกองเพลิงเมื่อกว่าสิบปีที่แล้ว แต่มีภาพจำนวนหนึ่งที่อดีตกำนันประนอมเล่าถึงกิจกรรมของการจัดงานแสดงหรือการต้อนรับแขกที่มาเยือนชาวบ้านไทยทรงดำเขาย้อย
 
ชีวสิทธิ์:   อันนี้เป็นตัวเรือนลาว? [ภาพที่มีป้ายว่าเรือนโซ่ง] ที่บอกว่าอยู่ข้างเรือนอเนกประสงค์
ประนอม: ไม่ใช่ นี่เป็นภาพที่ ต.ทับคาง
ชีวสิทธิ์:   ที่ตอนนี้ ดูโทรมๆ ที่อยู่ริมถนน
ประนอม: นี่แหละ ตอนนั้น ผมยังไม่มีอาคารที่นี่ เวลาถ่ายทำก็ไปอาศัยที่นั่น 
ชีวสิทธิ์:   แปลว่าทางโน้นเขาทำก่อน แล้วนี่ [อีกภาพหนึ่ง] ก็ที่ทับคาง
ประนอม: ที่นั่นแหละ
ชีวสิทธิ์:   ทำไมเดี๋ยวนี้มันโทรม
ประนอม: ขาดงบประมาณดูแล
ชีวสิทธิ์:   ตอนนั้น ที่ทับคาง ทำไมถึงเกิดขึ้นมาได้ 
ประนอม: เกิดจากที่ผู้เฒ่าผู้แก่ ต้องการอนุรักษ์ไว้ ตอนนั้น ผมทำพิธีเสนอะไรก็ไปทำที่นั่น เพราะตอนนั้น ยังไม่มีที่นี่ ก็ไปยืมเขาใช้ ก็อ้างว่าเป็นของเขาย้อย ตอนนี้น่าจะเก่ามาก เพราะเขาไม่ได้ดูแลซ่อมแซม เพราะต้องใช้เงินงบประมาณ
 
จากคำบอกเล่าของเจ้าอาวาสที่วัดหนองปรงและภาพเก่าของอดีตกำนันประนอม ชวนให้ผู้เขียนนึกถึงเครือข่ายหรือความสัมพันธ์ระหว่างบ้านหรือชุมชนไทยทรงดำ นั่นคือ เมื่อต้องการสร้างเรือนและตกแต่งเรือนด้วยอุปกรณ์และวัสดุที่สามารถบอกเล่าการทำกิน คนในหมู่บ้านหนึ่งสามารถ “ขอ” ข้าวของจากอีกที่หนึ่ง เพื่อนำมาใช้ในการนำเสนอเรื่องราวทางวัฒนธรรมได้เช่นกัน แต่ในอีกทางหนึ่ง ผู้เขียนกลับเกิดคำถามขึ้นในใจว่า หากเป็นเช่นที่พระอธิการบุญมาได้ให้ข้อมูลไว้จริง เหตุใดคนในบ้านทับคางจึงไม่สร้างวัสดุและเครื่องมือทำกิน เพื่อใช้เป็นวัตถุจัดแสดงในศูนย์วัฒนธรรมเอง ในส่วนนี้ ผู้เขียนคงต้องเก็บเป็นคำถามสำหรับการศึกษาต่อไปในอนาคต

ในปัจจุบัน “เฮือนโซ่ง” อยู่ในสภาพที่ล่วงโรยเต็มที ผู้เขียนออกจะเสี่ยงอยู่ไม่น้อยกับการพยายามขึ้นไปบนเฮือน เพื่อตรวจสอบว่าภายในเรือนประกอบด้วยสิ่งใด หรือมีฉากที่ต้องการเล่าเรื่องใดบ้าง แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องความมั่นคงของตัวเรือน ผู้เขียนจึงไม่สามารถขึ้นไปบนเรือนได้ อาศัยเพียงการใช้กล้องจับภาพในระยะที่คิดว่าปลอดภัยแก่ตัวผู้เขียนมากที่สุด ลักษณะโดยทั่วไปแล้ว คล้ายกับเฮือนลาวในแหล่งอื่นๆ นั่นคือ การรักษารูปลักษณ์ของหลังคาเรือนที่เรียกว่า กระดองเต่า ตัวเรือนประกอบด้วยวัสดุไม้ไผ่และมุงหลังคาด้วยหญ้าแฝก พื้นเรือนประกอบขึ้นจากไม้รวกเป็นพื้นชั้นแรก และใช้ไม้ไผ่ที่ตีแผ่เป็นแผ่นวางขัดตาอยู่ชั้นบน ส่วนจั่วของเรือนมีลักษณะเป็น “ขอกุด” ใต้ถุนปรากฏกองล้อเกวียนและสีฟัด ลักษณะที่ผู้เขียนเห็นแตกต่างไปคือ ทางชานเรือน มีการทำร้านแยกออกมาจากตัวเรือน เพราะเท่าที่ผู้เขียนสำรวจเรือนที่พบในแห่งอื่น ชานเรือนจะมีลักษณะที่เปิดโล่ง


2. “สมัย อ่อนวงศ์” กับงานวันไทยทรงดำ ทับคาง

สำหรับเรื่องราวเกี่ยวกับ “การละเล่นอิ่นก๋อนฟ้อนแคน” ซึ่งในปัจจุบันปรากฏในลักษณะของงานไทยทรงดำที่จัดอย่างเป็นทางการ เพื่อการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และสืบทอดศิลปวัฒนธรรม ในงานวิจัยของ พรพิมล ขันแสง (2541)  เรื่อง “อิ่นก๋อน :ประเพณีการละเล่นของลาวโซ่ง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี” เธอได้ศึกษาขนบธรรมเนียมของการละเล่น คำร้อง และทางดนตรี ที่แสดงให้เห็นว่าการละเล่นดังกล่าวเคยทำหน้าที่หลายประการ ได้แก่ การตอบสนองความบันเทิงและโอกาสในการเกี้ยวพาราสีระหว่างชายหนุ่มหญิงสาว การควบคุมและขัดเกลาทางสังคม เพราะเนื้อหาของเพลงที่ใช้ในการขับร้องได้กำกับให้หนุ่มสาวอยู่ในกรอบของประเพณี (พรพิมล ขันแสง 2541:86-90)

อย่างไรก็ดี พรพิมล ขันแสง ได้บันทึกการสังเกตการณ์ในงานประเพณีไทยทรงดำ ณ ศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ ตำบลทับคาง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี เมื่อ พ.ศ. 2540 และฉายให้เห็นภาพของงานที่มีลักษณะเป็นทางการ โดยสรุปวัตถุประสงค์ในการจัดงานดังกล่าวว่า “(1) เพื่อส่งเสริมและฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านให้คงอยู่ต่อไป (2) เพื่อส่งเสริมปีการท่องเที่ยวจังหวัดเพชรบุรี (3) เพื่อให้เกิดความรักความสามัคคี” ส่วนรูปแบบการจัดงาน ภาพของงานที่พรพิมลบันทึกไว้แสดงให้เห็นความยิ่งใหญ่ของงาน ที่มีทั้งความบันเทิง การเผยแพร่ความรู้ด้านการเกษตร การจัดนิทรรศการเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของลาวโซ่ง ภาพยนตร์กลางแปลง วัวลาน กิจกรรมการแสดง บนเวที และการประกวดธิดาไทยทรงดำ พิธีกรในงานจะใช้ภาษาไทยกลางสลับกับภาษาลาวโซ่งอยู่ตลอดเวลา (พรพิมล ขันแสง 2541:97)

โดยการจัดกิจกรรมวิชาการและการเกษตรเป็นกิจกรรมที่โรงเรียนเขาย้อยวิทยาและสำนักงานเกษตรอำเภอเขาย้อยในรูปแบบของนิทรรศการ ส่วนบริเวณเฮือนลาวจำลองด้านหน้าศูนย์วัฒนธรรม มีการโยนลูกช่วงหรือเล่นทอดคอนกัน โดยผู้เล่นประกอบด้วยชายและหญิงสูงอายุ ส่วนบริเวณโดยรอบงาน มีซุ้มอาหารที่สมาชิกของหมู่บ้านทับคางจัดเตรียมไว้เลี้ยงแขก มีจำนวนถึง ๓๖ ซุ้ม แคนที่เคยเป็นเครื่องดนตรีหลักในการเล่นอิ่นก๋อน ก็มีเครื่องดนตรีประเภทอื่นๆ กลอง ฉิ่ง กรับ และเครื่องขยายเสียงที่ให้ความบันเทิง (พรพิมล ขันแสง 2541: 99-105)

ข้อสรุปประการหนึ่ง เธอพยายามชี้ให้เห็นว่า “อิ่นก๋อนเป็นการละเล่นที่ประด้วยการต๊อดมะก๋อน การขับร้อง การฟ้อนรำ และดนตรี ซึ่งมีบทบาทต่อการสนองตอบความต้องการของมนุษย์ในระดับสังคมและระดับปัจเจกบุคคล [การละเล่นในปัจจุบัน – ผู้เขียน] มีความแตกต่างกับอดีตในด้านการลดบทบาทหน้าที่ลงไป แต่ยังมีกระบวนการละเล่นในลักษณะเดิม” (พรพิมล ขันแสง 2541:110) 

พรพิมล สรุปไว้ถึงความหมายของการละเล่นที่เปลี่ยนแปลงไปตามบริบททางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เช่น ระบบการศึกษาผ่านโรงเรียนทำหน้าที่แทนครอบครัว การเดินทางเข้าโรงงานอุตสาหกรรมของคนรุ่นใหม่ เป็นต้น อย่างไรก็ดี เธอได้บันทึกไว้ว่า ราว พ.ศ. 2528 เกิดกระแสของการอนุรักษ์ประเพณีลาวโซ่ง แล้วเรียกงานที่มีการจัดการละเล่นอิ่นก๋อนว่า “งานฟื้นฟูประเพณีไทยทรงดำ” โดยมีการจัดงานตามตำบลต่างๆ เช่นสนามโรงเรียนบ้านวัง ตำบลเขาย้อย, บริเวณวัดหนองปรง ตำบลหนองปรง, สนามโรงเรียนวัดเทพกุญชร ตำบลห้วยท่าช้าง, โรงเรียนบ้านหนองชุมพล ตำบลหนงอชุมพล ส่วนในตำบลทับคาง พรพิมลได้กล่าวการจัดงาเมื่อ พ.ศ. 2540 ที่เธอเข้าร่วมในงานดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น (พรพิมล ขันแสง 2541:96)

จากภาพที่พรพิมลบันทึกไว้เมื่อ พ.ศ. 2540 จนกระทั่งถึงช่วงเวลาที่ผู้เขียนเข้าไปศึกษาเป็นเวลากว่า 15 ปี การจัดงานวันไทยทรงดำที่ตำบลทับคางในปีนี้ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2555 ในบริเวณหลังสำนักงานการศึกษานอกโรงเรียน อำเภอเขาย้อย ซึ่งเป็นลานโล่งขนาดประมาณสนามฟุตบอล สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนสังเกตเห็นคือ การจัดงานไทยทรงดำในปีนี้มิได้เชื่อมโยงเฉพาะความเป็นไทยทรงดำหรือลาวโซ่ง แต่ยังเกี่ยวข้องกับการเชิดชูศิลปิน สมัย อ่อนวงศ์ ดังจะเห็นได้จากการบวงสรวงอนุสาวรีย์ สมัย อ่อนวงศ์ และทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ศิลปินในช่วงเช้า ส่วนในช่วงเย็น ฉากบนเวทียังกล่าวถึงการรำลึกถึงศิลปิน “หงำฮอด สมัย อ่อนวงศ์”
 
ก่อนจะกล่าวถึงงานประเพณีไทยทรงดำในช่วงค่ำ ผู้เขียนจะกล่าวถึงศิลปินสมัย อ่อนวงศ์ ตามที่ปรากฏในการสร้างอนุสาวรีย์ ตามข้อมูลที่ได้จาก โอ เค เนชั่น กล่าวถึงพิธีเปิดอนุสาวรีย์ สมัย อ่อนวงศ์ ขุนแคนแดนสยาม เมื่อ ฑ.ศ. 2550 “เพื่อเป็นเกียรติกับขุนแคนคนดังผู้ล่วงลับโดยอนุสาวรีย์ดังกล่าวเป็นรูปเหมือนเท่าตัวจริง หล่อด้วยโลหะทองเหลือง ผสมทองแดง ความสูง 170 เซนติเมตร จัดตั้งในลักษณะท่ายืนก้าวเท้าขวาเล็กน้อย หันหน้าไปทางทิศเหนือ สวมชุดผ้าลายแตงโม ซึ่งเป็นผ้าทอมือพื้นบ้านชาวไทยทรงดำ มือซ้ายถือแคน แนบอก มือขวาถือโล่รางวัลแผ่นเสียงทองคำ อนุสาวรีย์ตั้งอยู่พื้นฐานทำด้วยหินแกรนิต ยกสูง ประมาณ 2 เมตร จารึกประวัติ และผลงานสดุดี ที่ 4 มุมฐาน ประดับไฟช่อ บริเวณรอบฐาน ด้านล่างปรับภูมิทัศน์สวยงาม

“นางอรอนงค์ ศิริชัย นายกเทศมนตรีตำบลเขาย้อย เปิดเผยว่า เทศบาลตำบลเขาย้อย ร่วมกับครอบครัวและญาติมิตรของนายสมัย อ่อนวงศ์ และ ชาวบ้านตำบลทับคาง อ.เขาย้อย กำหนดจัดงาน หงำฮอด – สมัย อ่อนวงศ์ (รำลึกถึงสมัย อ่อนวงศ์) เป็นครั้งแรก ณ ศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ เพื่อรำลึกถึง “ขุนพลแคนแดนสยาม สมัย อ่อนวงศ์ และจัดงานอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นอำเภอเขาย้อย และเป็นวันรวมชนเชื้อสายไทยทรงดำทั่วประเทศ ซึ่งจัดมาเป็นประจำทุกปี

นางอรอนงค์ กล่าวต่อไปว่า นายสมัย อ่อนวงศ์ เป็นชาวไทยทรงดำ ตำบลทับคาง อำเภอเขาย้อย ที่มีความเชี่ยวชาญด้านดนตรีเพลงแคนพื้นบ้าน เป็นนักร้องลูกทุ่งประกอบการเป่าแคน จนมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วประเทศและยังเคยได้รับเชิญให้ไปโชว์เพลงแคนในหลายประเทศทั่วโลก สร้างชื่อเสียงให้กับชาวอำเภอเขาย้อยเป็นอย่างมาก เพื่อเป็นการสดุดี และเชิดชูเกียรตินายสมัยซึ่งล่วงลับไปหลายปีแล้ว เทศบาลเขาย้อยได้ร่วมกับครอบครับ-ญาติมิตรของนายสมัย และประชาชนชาวอำเภอเขาย้อยได้จัดสร้าง ‘อนุสาวรีย์ สมัย อ่อนวงศ์’ ขึ้นที่บริเวณด้านหน้าศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำเขาย้อย โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณ จากเทศบาลตำบลเขาย้อย เป็นเงิน 250,000 บาท และครอบครัวสมัย อ่อนวงศ์ และประชาชนร่วมบริจาค อีกจำนวนหนึ่งรวมมูลค่าการก่อสร้างประมาณกว่า 600,000 บาท” (โอ เค เนชั่น, เอกสารออนไลน์)

ฉะนั้น หากพิจารณาตามข้อมูลดังกล่าว อนุสาวรีย์ สมัย อ่อนวงศ์ เริ่มเข้ามามีความหมายเพิ่มหรือเสริมกับการจัดงานไทยทรงดำเมื่อมีการสร้างอนุสาวรีย์ หรือประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา (นับถึงปี 2555 ที่ผู้เขียนศึกษาเรื่องศูนย์วัฒนธรรม) “เฮือนโซ่ง” อาจไม่ใช่พื้นที่กลางหรือ “หลัก” ที่รวบรวมคนในตำบลทับคางเช่นในอดีต ดังจะเห็นได้ว่า เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2555 มีการตั้งเครื่องเซ่นที่หน้าอนุสาวรีย์สมัย อ่อนวงศ์ โดยมิได้มีการปรับปรุง สถานที่โดยรอบอื่นๆ รวมทั้งเฮือนโซ่งที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง

ข้อมูลอีกส่วนหนึ่งที่ผู้เขียนได้จากการสัมภาษณ์ คุณศิริพร พูลสวัสดิ์ เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวเทศบาลตำบลเข้าย้อย ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบกิจกรรมในตำบลทับคาง ซึ่งอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของเทศบาลเขาย้อยด้วยเช่นกัน คุณศิริพร ได้ให้ข้อมูลว่า ในช่วงที่ผู้เขียนทำงานภาคสนามนั้น อยู่ในระหว่างการเลือกตั้งนายกเทศมนตรี เทศบาลเขาย้อย ชาวบ้านในตำบลทับคางได้งบประมาณบางส่วนในการสนับสนุนการจัดงาน แต่ไม่สามารถที่จะมีผู้นำในระดับท้องถิ่นให้การสนับสนุนได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากอาจถูกโจมตีว่าผิดกฎหมายการเลือกตั้ง และด้วยเหตุนี้เอง มีการจัดงานประเพณีไทยทรงดำ ของตำบลทับคาง ในปี 2555 ดูจะไม่คึกคักเท่ากับภาพที่ผู้เขียนได้อ่านจากบันทึกของพรพิมล ขันแสง
 
ในงานช่วงเย็นวันที่ 18 เมษายน 2555 โดยทั่วไปแล้ว มีลักษณะที่คล้ายคลึงกับที่พรพิมลได้บันทึกไว้เมื่อ พ.ศ. 2540 นั่นคือ มีการจัดบริการซุ้มอาหารที่มีผู้สนับสนุนนำอาหารมาร่วมงาน และให้บริการแก่ทุกคนที่เข้าร่วมงาน ส่วนใหญ่เป็นอาหารจานเดียว เช่น ก๋วยเตี๋ยว ข้าวและกับข้าว แต่เห็นที่หลายๆ คนพยายามบอกให้ผู้เขียนลองทานคือ แกงหน่อส้ม ที่ชาวบ้านพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า หากมาบ้านโซ่งแล้วก็ต้องได้ชิมแกงหน่อส้ม นอกจากนี้ ยังมีซุ้มขายเครื่องดื่ม ทั้งน้ำเย็น น้ำอัดลมและเครื่องดื่มของมึนเมาอีกหลายเจ้า บ้างมีการเปิดร้านเกม เช่น การปาลูกดอกเพื่อชิงรางวัล หรือกระทั่งการเปิดเต็นท์ขายรถกระบะ ที่ได้นำอาหารมาร่วมไว้ซุ้มหนึ่งในการบริการอาหารแก่ผู้ร่วมงานด้วยเช่นกัน

ผู้เขียนสังเกตเวทีซึ่งองค์ประธานของบริเวณงาน ประกอบด้วยใช้ผ้าลายแตงโมแต่งไว้ที่ด้านหน้าเวที ตรงกลางเป็นพื้นที่ของวงดนตรี ศิลปิน ในการแสดงดนตรีและการขับร้อง รวมทั้งพิธีกรใช้ประชาสัมพันธ์งานเป็นระยะๆ ภาษาที่ใช้ในการประกาศมีทั้งภาษาไทยกลางและภาษาโซ่งสลับกันไป พื้นหลังมีการตกแต่งด้วยการจำลองแคนคู่ขนาดใหญ่ และการใช้ใบจากประดับไว้เป็นส่วนหนึ่ง มีการติดอักษรที่ทำด้วยโฟมว่า “หงำฮอดสมัย อ่อนวงศ์ 18 เมษายน 2555” เหนือขึ้นไปเป็นตัวอักษรโฟมที่ตัดเป็นอักษรคล้ายอักษรไทดำ มีความหมายเหมือนกับประโยคที่อยู่เหนือสุดของพื้นหลังเวทีคือ “ประเพณีไทยทรงดำ ตำบลทับคาง” อักษรโฟมดังกล่าว ประดับอยู่ส่วนบนสุดที่มีลักษณะคล้ายหลังคามุงแฝกของเรือนไทยทรงดำ

หากพิจารณาจากการจัดแสดงบนเวที จะเห็นองค์ประกอบที่เชื่อมโยงกับการแสดงเอกลักษณ์ชาติพันธุ์ “ผ้าลายแตงโม” “แคน” “หลังคาหญ้าแฝก” และการใช้ “อักษรคล้ายอักษรไทดำในเวียดนาม” เป็นแกนของการเล่าเรื่อง การเชื่อมโยงลักษณะทางชาติพันธุ์กับองค์ประกอบของวัฒนธรรมวัตถุที่จับต้องได้นี้ มีรูปแบบที่สอดคล้องกับศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำอีกหลายแห่งที่จะได้กล่าวต่อไป และที่สำคัญมีลักษณะคล้ายคลึงกับประติมานของรูปบุคคลสมัย อ่อนวงศ์ ที่ใส่เสื้อลายแตงโมและถือแคน สำหรับผู้เขียน ในปัจจุบัน การแสดงออกถึงเอกลักษณ์ชาติพันธุ์ของตำบลทับคาง กลับเน้นหนักกับเครื่องดนตรีแคนเป็นสำคัญ มีความเป็นไปได้อย่างยิ่งว่า เครื่องดนตรีดังกล่าวเกี่ยวข้องกับศิลปิน สมัย อ่อนวงศ์ โดยการอ้างอิงถึงถิ่นเกิด “เกิดบ้านเลขที่ 23/4 หมู่ที่ 4 ตำบลทับคาง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2474...”

นอกจากนี้ ยังเชื่อมโยงความสำเร็จที่เขากับภูมิลำเนาหรือบ้านเกิดที่ทับคาง เขาสามารถนำ “ความเป็นพื้นบ้าน” ไปสู่ความรู้จักในระดับประเทศหรือนานาชาติ จากสายตาของชาวบ้าน ถึงขนาดที่มีการจารึกเกียรติคุณไว้ที่ฐานของอนุสาวรีย์ ลำดับของเนื้อหาในจารึกแสดงให้เห็นช่วงเวลาต่างๆ ที่เขาใช้เวลาคิดค้นประยุกต์ดนตรีพื้นบ้านกับดนตรีสมัยใหม่ และการร่วมงานของเขาในเวทีในระดับประเทศและต่างประเทศ อย่างไรก็ดี มีแผ่นจารึกหนึ่งที่แสดงไว้เฉพาะกล่าวถึงรางวัลเกียรติยศที่ได้รับพระราชทานแผ่นเสียงทองคำ โล่พระราชทาน และรางวัล “ฉัตรมงคล” การนำเสนอในส่วนนี้ น่าเชื่อมโยงกับการสร้างประติมานของรูปบุคคล ที่ถือโล่พระราชทานในมือ

ผู้เขียนคิดว่า หากสรุปในเบื้องต้นว่า เฮือนโซ่ง ลดบทบาทในการแสดงลักษณะเฉพาะทางชาติพันธุ์แล้ว อนุสาวรีย์ สมัย อ่อนวงศ์ และการจัดงานประเพณีไทยทรงดำ ทำหน้าที่แสดงออกทางวัฒนธรรมสู่สาธารณะ ทั้งในส่วนของการหยิบยกองค์ประกอบวัฒนธรรมวัตถุเป็นหลักหมายในการจำแนกตัวตน และทั้งในส่วนของการใช้ชื่อเสียง ซึ่งอาจตีความได้ว่าเป็น “การยอมรับ” จากสังคมในระดับที่กว้างกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การได้รับรางวัลพระราชทานต่างๆ จากสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สำคัญของสังคมไทย

ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ /เขียน
สำรวจภาคสนามเมื่อวันที่  3  มิถุนายน 2555

ชื่อผู้แต่ง:
-