ศูนย์อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยทรงดำ ดอนคลัง


ที่อยู่:
โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการดอนคลัง 188 หมู่ 2 ต.ดอนคลัง อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี 70130
โทรศัพท์:
032-322786 , 032-322862 คุณโกศล แย้มกาญจนวัฒน์
วันและเวลาทำการ:
กรุณาติดต่อล่วงหน้า
เว็บไซต์:
ปีที่ก่อตั้ง:
2541
ของเด่น:
เฮือนลาวโซ่ง แบบจำลองวิถีชีวิตลาวโซ่ง
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 16 มิถุนายน 2555

ไม่มีข้อมูล

ไทยทรงดำดอนคลังกับพิธีกรรมและสำเนียงภาษาถิ่น

ชื่อผู้แต่ง: โกศล แย้มกาญจนวัฒน์ | ปีที่พิมพ์: มปพ.;มปพ.

ที่มา: มปท.

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 16 กรกฎาคม 2557


ไม่มีข้อมูล

รีวิวของศูนย์อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยทรงดำ ดอนคลัง


ศูนย์อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยทรงดำดอนคลังแห่งนี้ มีประวัติการก่อตั้งที่ใกล้เคียงกับศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำในอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี และในอำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี อาจารย์โกศล แย้มกาญจนวัฒน์ เท้าความถึงเหตุการณ์สำคัญในช่วงปลายทศวรรษ 2530 ที่ชุมชนชาวลาวโซ่ง หรือไทยทรงดำ เริ่มฟื้นฟูประเพณี อิ๋นก่อน หรืองานรื่นเริงตามหมู่บ้านต่างๆ “พี่ลำไย กลีบฟัก เขาเป็นประธานศูนย์ฯ แล้วมีวงแคน แต่ได้เสียชีวิตไปแล้ว ซึ่งมักจะได้รับเชิญจากทางเพชรบุรี ให้ไปช่วยอยู่บ่อยๆ เอาวงแคนไปช่วย ไปร่วมงาน ที่นี้พี่ลำไยเองก็คิดว่า ดอนคลัง เป็นลาวโซ่งเช่นกัน เรามีวงแคนอยู่แล้ว ชาวบ้านก็พร้อมอยู่แล้ว ในปี 2538 พี่ลำไยเลยขอล็อควันที่ 25 เมษาฯ หลังจากที่ไปช่วยหมู่บ้านอื่นเขามาแล้ว ได้รับการตอบรับดีมาก คนมาร่วมงานสี่ห้าพันคน เต็มโรงเรียนไปหมด ลาวโซ่งนี่ดำไปหมด รวมทั้งคนไทยที่อยู่ละแวกใกล้เคียงก็มาร่วมงาน” เมื่อทำงานเทศกาลมาได้ระยะหนึ่ง คณะกรรมการและชาวบ้านก็เสนอให้มีการตั้งบ้านไทยทรงดำ

“พอทำมาได้ 3 ปี ตอนนั้นคิดว่า ‘ขาขึ้น’คณะกรรมการ 5 คนคุยกันว่าจะทำอะไรต่อ ก่อนหน้านั้น มีการรวมบุญข้าวเปลือกบริจาค เพื่อใช้ในการตั้งบ้านลาวเฉยๆ แล้วเงินฝากที่โรงสี มีดอกเบี้ยเกิดขึ้น กรรมการก็ถามกันว่า เราเอาเงินก้อนนั้นกลับมาปลูกบ้านลาวสักหลังได้ไหม ...ความโหยหาของผู้เฒ่าผู้แก่สมัยก่อนเป็นสำคัญ เขาเคยเห็นมาตั้งแต่เด็ก แล้วหายไป เมื่อกลับเข้ามานั่งในนี้ [ในเฮือนลาว]รู้สึกเหมือนกับสมัยก่อน สังคมเปลี่ยนไป”อาจารย์โกศลกล่าวเสริมถึงสาเหตุที่เฮือนลาวพื้นบ้านหายไป “การทำบ้านลาวต้องอาศัยหวายและไม้ไผ่เป็นหลัก แต่ชุมชนที่นี่ไม่ใช่เขตที่ใกล้ป่าเขาอะไร ไม่เหมือนอย่างเพชรบุรี ซึ่งพอที่จะหาหวายหาอะไรมาทำได้ แต่ที่นี่ไม่มี เลยเลิกจากบ้านไม้ไผ่ไป ปลูกเป็นแบบบ้านไทยๆ อยู่ปกติทั่วไป เมื่อเขาเริ่มมีเงิน ก็พยายามปลูกเป็นทรงปั้นหยา”

ด้วยเหตุนี้ ในช่วงประมาณ 2540 เมื่อกรรมการและชาวบ้านเห็นพ้องกัน “อยากให้มีตรงนี้ขึ้นมา แล้วก็มีการขอทำบุญ ขอไม้จากยุ้งเก่าบ้าง ชาวบ้านอยากเห็นบรรยากาศเก่าๆ เหมือนสมัยเล็ก อยากเห็นบ้านทรงกระดองเต่า บ้านกว้างตุ๊บ อยากเห็นอุปกรณ์ เล็กๆ น้อยๆ ตั้งแต่ใช้มาในสมัยเด็กๆ เป็นการโหยหาของเขามากกว่า ...ทั้งหลังนี่หมดไปแสนกว่าบาท แสนหกหรือแสนแปด เสาเราก็ได้ยุ้งข้าวเก่า คือเขาถือว่า ยุ้งข้าวเก่า เราไม่ได้เอามาสร้างเป็นบ้านที่เราอยู่แล้ว อีกส่วนหนึ่ง เราไปขอที่วัด เพราะมีการรื้อกุฏิ ส่วนกระดานซื้อ เพราะว่ากระดานเดิมใช้ไม่ได้แล้ว ผุหมด มอดมันกินหมด มันกินตั้งแต่สมัยเป็นยุ้งข้าว”

นอกจากการสร้างเฮือนลาวจะเป็นไปเพื่อการระลึกถึงวันคืนในอดีตของชาวไทยทรงดำ การสร้างเฮือนยังสัมพันธ์กับการจัดงานสำคัญ “แรกๆ มีวัตถุประสงค์เดียวคือการจัดงานไทยทรงดำ วันที่ 25 เมษายน (ชาวบ้าน) มาใช้ปีละครั้ง ในขณะนั้น พี่ลำไย กลีบฟัก ตกลงกันว่าให้ตั้งชื่อเป็นศูนย์อนุรักษ์วัฒนธรรมไทยทรงดำ แล้วก็ให้พี่ลำไย เป็นประธาน เพราะมีความพร้อมเรื่องอาชีพ มีทรัพย์สินพอทีจะทำตรงนี้ได้ มีวงดนตรีแคน เป็นตัวซัพพอร์ตอย่างดีในการจัดงาน เลยให้เป็นประธาน... ผมเสนอให้ทำตรงนี้ให้เป็นศูนย์กิจกรรมจะดีกว่า แต่ถ้าทำปีละครั้งก็ไม่เห็นด้วยเสียดาย ผมเลยจัดพิธี ‘ปาดต๊งข่าวเหมา’ คือการนำข้าวในฤดูกาลใหม่มาเลี้ยงผีเรือน โดยปกติ ปาดต๊ง คือการเลี้ยงผีประจำอยู่แล้ว ส่วน ข่าวเหมา คือข้าวใหม่”

หลังจากที่ชาวบ้านรวมตัวกันสร้างเฮือนลาวแล้วเสร็จ และเฮือนลาวกลายเป็นสถานที่สำหรับการจัดงานพิธี ชาวบ้านจำนวนหนึ่งเริ่มทยอยนำข้าวของที่เคยใช้ในชีวิตประจำวันมาให้กับศูนย์อนุรักษ์ฯ และมีการจัดนิทรรศการเพื่อจำลองรูปแบบการใช้ชีวิต อาจารย์โกศลกล่าวว่าตนเอง “ไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องของการจัดวางพิพิธภัณฑ์เลย อาศัยถามจากคนแก่ ถามว่าจริงๆ ในชีวิตประจำวัน เขาใช้ประโยชน์อะไรตรงไหนบ้าง ผมก็จัดวางตามนั้น เหมือนครัวกลางบ้าน เขาบอกว่าจะต้องมีก้อนเส้า มีแม่เตาไฟ ครัวกลางบ้าน เขาทำหิ้งข้างบน ปลาแห้ง อาศัยเขาบอกเล่า จะต้องไม่มีตู้ เดิมทีเคยซื้อตู้มาใส่ จะได้ไม่ถูกฝุ่น จริงๆ แล้วเขามีขะมุก หาไม้มาพาดแล้วก็ใส่ไว้ข้างบน คือทำบ้านหลังนี้ ทำตามที่คนเฒ่าคนแก่บอก เท่านั้นเอง จนช่วงหลัง มีการวางที่นอนมุ้ง ผมบอกชาวบ้านและนักเรียนว่า เลอะก็ช่างมัน ขอให้มีร่องรอยว่า เดิมทีใช้กันอย่างไร ห้องผีเรือนเป็นอย่างไร ช่วงหลังมานี้ ก็ปรับเปลี่ยน เพราะได้งบฯ มาแสนกว่าบาท ได้มาจากกระทรวงฯ ผมเลยบอกอาจารย์ทางทัศนศิลป์ บอกว่าให้ทำโมเดลบ้านลาวสักหลัง ทำบอร์ด เพราะเวลาเราไปเผยแพร่ความรู้ข้างนอก ก็เอาไปใช้ได้ พอดีบ้านเรามีไม้อัดลายไม้ไผ่สาน ทำบอร์ดพับได้ เราเอาเอกลักษณ์ไทยทรงดำใส่ไป ทำเป็นบุนวม คิดเองเรื่อยๆ ตามประสา ไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับพวกนี้”

การอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยทรงดำยังปรากฏในการเรียนการสอนของโรงเรียนเตรียมอุดมพัฒนาการดอนคลังด้วย เพราะมีการเปิดหลักสูตรงานช่าง โดยแบ่งเป็นงานช่างสำหรับนักเรียนชายและนักเรียนหญิง “สำหรับหลักสูตรท้องถิ่น เรามาจับเรื่องไทยทรงดำ ผมเองเปิดเหมือนกัน แต่เป็นการทำเครื่องประกอบพิธีศพในวิชางานประดิษฐ์ แฟนผม [อาจารย์พัชรา แย้มกาญจนวัฒน์]เป็นครูสอนคหกรรม เขาก็เอาลายหน้าหมอนมาสอน แล้วประยุกต์เป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อให้พ่อแม่ได้เห็นแล้วยึดเป็นอาชีพได้บ้าง เดิมทีคนสอน มีแม่ [ของอาจารย์โกศล]มีคนรู้จัก ชวนเขามาเป็นวิทยากร แฟนผมเรียนรู้ไปด้วย แฟนผมเป็นคนสตูล ไม่ใช่คนพื้นที่ แต่มาเรียน ในขณะที่เราควบคุมชั้นเรียน ระหว่างอยู่กับเด็ก เราก็เรียนรู้ โดยไม่ต้องอาศัยคนแก่สอน พอดีเวลากลับจากโรงเรียน ก็ให้แม่ผมเป็นเทรนเนอร์ให้ดู อยากรู้อะไรก็สอนให้ อย่างผมเองที่เปิดหลักสูตรการทำเครื่องประกอบพิธีศพ หรือเฮ็ดแฮ้ว คล้ายเครื่องกงเต็ก ผมก็เชิญคนแก่ ที่เคยถามข้อมูล มาให้ความรู้ แฟนผมเรียนรู้เกี่ยวกับงานเย็บปักถักร้อย แล้วส่วนผู้ชายที่ทำเครื่องจักสาน ผมก็มาเรียนรู้จากเขา”

เงื่อนไขสำคัญที่ไม่อำนวยให้โรงเรียนฯ จัดกิจกรรมถ่ายทอดความรู้ภูมิปัญญา เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ เพราะการเชิญผู้เฒ่าผู้แก่มาเป็นวิทยากร จำเป็นที่จะต้องมีการตอบแทน ดังนั้น หากไม่มีงบประมาณดังกล่าว ครูผู้สอนก็ต้องพัฒนาตนเองขึ้นมาเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ อย่างไรก็ตาม อาจารย์โกศลกล่าวว่า “หากมีงบประมาณเข้ามา เราจะบอกครูเก่าให้เข้ามาสอน เราอยากให้ค่าตอบแทนตรงนี้บ้าง บางที เราก็ต้องยกเขาเป็นผู้มีความสำคัญอยู่แล้ว ถ้ามีงบประมาณเข้ามา ให้เขามาสอน บางทีให้เด็กไปเรียนที่บ้านก็มี เป็นงบประมาณที่จัดสรรเพื่อวิทยากรภายนอก”อย่างไรก็ดี โรงเรียนเองไม่สามารถแสดงบทบาทในการอนุรักษ์วัฒนธรรมได้อย่างเต็มที่ เพราะจำนวนครูและปริมาณงานที่แต่ละคนต้องรับผิดชอบ ไม่ค่อยสมดุลเท่าไร งานที่จะต้องรับผิดชอบนั้นมีมาก แต่จำนวนครูมีไม่กี่สิบคน นอกจากนี้ ครูจำนวนหนึ่งไม่ใช่คนที่มีพื้นเพในบ้านดอนคลัง

ภาพของศูนย์อนุรักษ์ฯ จะมีชีวิตชีวาอยู่เป็นระยะ นั่นคือขึ้นอยู่กับงบประมาณ ความพร้อมของบุคลากร และความร่วมมือระหว่างสมาชิกของชุมชน อาจารย์โกศลยังตัวอย่างการรวมตัวของชาวบ้านในระยะหลังเฮือนลาวเปิดใช้งาน “ชาวบ้านอาวุโสพยายามรวมตัวกัน เขาก็มาทอผ้า [ที่เป็นแบบฉบับลาวโซ่ง] ที่นี่ คนบางคนทอหัวซิ่น ตัวซิ่น ตีนซิ่น เขามีความสุข คนแก่ห้าหกคนมาทอ เขาเอาสามีมาช่วยทำกี่ ทำอะไรต่างๆ นานา มีความสุข สนุกสนาน แต่ที่หายไป เพราะพอกองทุน SIF ที่ให้มา ก็เพื่อสนับสนุนการผู้เฒ่าคนแก่ให้ได้ทำกิจกรรม แต่คนที่ได้รับมอบหมายในการดำเนินกิจกรรม กลับไม่ซื้อผ้าของคนแก่ แต่ไปซื้อของคนอื่น”

ในบทสัมภาษณ์ อาจารย์โกศล แย้มกาญจนวัฒน์ สะท้อนให้เห็นประวัติการก่อตั้ง วัตถุประสงค์ รูปแบบของกิจกรรมต่างๆ และอุปสรรค์ในการดำเนินการ ผู้เขียนใช้โอกาสในการสัมภาษณ์ในการเยี่ยมชมบริเวณต่างๆ ของศูนย์อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยทรงดำดอนคลัง ศูนย์อนุรักษ์ฯ เป็นอาคารรูปแบบเรือนลาวของไทยทรงดำ คือเป็นอาคารหลังคาทรงกระดองเต่าเป็นอาคารหลัก และมีอาคารไม่มีผนังอยู่ด้านข้าง บนเรือนอาคารหลัก จำลองวิถีชีวิตพื้นบ้าน ด้วยการจัดแสดงเครื่องใช้และเครื่องมือทำกินในบริเวณชานเรือน “กกชาน”จากนั้นเมื่อเข้าสู่ภายในเรือนทางซ้ายมือจะเป็นโต๊ะที่วางสื่อต่างๆ ในรูปแบบของวีดิโอและหนังสือที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทยทรงดำ จากนั้น เป็นมุมแสดงเรื่องก้อนเส้าเตาไฟและส่าเหนือเตาที่ใช้ในการรมควันเครื่องจักสานและของแห้ง ทางด้านขวาภายในเรือนหรือ “กวงเฮือน” เป็นบริเวณที่แสดงรูปแบบการเก็บผ้า และบริเวณสำหรับนอน ส่วนในสุดของเรือน หรือ “กว้าน” เป็นบริเวณที่จัดเป็นส่วนกะล้อห่อง หรือห้องผีบรรพบุรุษ และเครื่องประกอบพิธีศพ หุ่นแสดงเครื่องแต่งกายทั้งชายและหญิง รวมทั้งป้ายนิทรรศการที่บรรยายเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องของผีและขวัญ และพิธีกรรมในช่วงชีวิตต่างๆ ของชาวไทยทรงดำ


ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ /เขียน
สำรวจภาคสนาม วันที่ 24 มิถุนายน 2555


 
ชื่อผู้แต่ง:
-