พิพิธภัณฑ์มณฑปพระครูสถาพรพุทธมนต์ (หลวงพ่อสำเนียง อยู่สถาพร)


พิพิธภัณฑ์มณฑปพระครูสถาพรพุทธมนต์ หลวงพ่อสำเนียง อยู่สถาพร ตั้งอยู่ที่วัดเวฬุวนาราม อ.บางเลน จ.นครปฐม เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงวัตถุมงคลและเครื่องรางของขลังที่หลวงพ่อสำเนียงเก็บไว้ทั้งหมด หลวงพ่อสำเนียง อยู่สถาพร(พระครูสถาพรพุทธมนต์) เป็นพระที่มีชื่อเสียงทั้งทางด้านพุทธคุณ และทางไสย มีความเมตตาใช้พลังจิตรักษาโรคให้กับญาติโยมที่เจ็บป่วยหายจากโรคมากมาย จนมีลูกศิษย์เคารพนับถือท่านเป็นจำนวนมาก ท่านมรณะภาพเมื่อ 4 สิงหาคม 2531 ลูกศิษย์โดยเฉพาะกลุ่มนายทหารในกองทัพเรือจึงได้ช่วยกันสร้างพิพิธภัณฑ์มณฑปแห่งนี้ขึ้น เพื่อรำลึกถึงคุณความดีและผลงานของท่าน ภายในพิพิธภัณฑ์ส่วนหน้าเป็นตู้เก็บร่างของหลวงพ่อสำเนียงไว้ในโลงสีทอง ด้านหน้าโลงสีทอง มีหุ่นขี้ผึ้งขนาดเท่าองค์จริงของหลวงพ่อ มีตู้กระจกบรรจุพระพุทธรูปขนาดเล็กของสะสมของหลวงพ่อ ด้านข้างมีภาพถ่ายของท่านสมัยรับราชการทหาร ภาพตอนบวชเป็นพระแล้ว อีกด้านเป็นมุมข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวของท่าน อัฐบริขารต่าง ๆ และตู้เก็บไม้เท้าของหลวงพ่อสำเนียง

ที่อยู่:
วัดเวฬุวนาราม อ.บางเลน จ.นครปฐม
โทรศัพท์:
081-433-5187 (เจ้าอาวาส)
วันและเวลาทำการ:
ทุกวัน 08.00-19.00 ติดต่อทางวัดก่อนเข้าชม
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2540
ของเด่น:
วัตถุมงคล,เครื่องอัฐบริขาร หลวงพ่อสำเนียง
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 26 มีนาคม 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์มณฑปพระครูสถาพรพุทธมนต์ หลวงพ่อสำเนียง อยู่สถาพร


พิพิธภัณฑ์มณฑปพระครูสถาพรพุทธมนต์ หลวงพ่อสำเนียง อยู่สถาพร ตั้งอยู่ที่วัดเวฬุวนาราม อ.บางเลน จ.นครปฐม เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงวัตถุมงคลและเครื่องรางของขลังที่หลวงพ่อสำเนียงเก็บไว้ทั้งหมด หลวงพ่อสำเนียง อยู่สถาพร(พระครูสถาพรพุทธมนต์) เป็นพระที่มีชื่อเสียงทั้งทางด้านพุทธคุณ และทางไสย มีความเมตตาใช้พลังจิตรักษาโรคให้กับญาติโยมที่เจ็บป่วยหายจากโรคมากมาย จนมีลูกศิษย์เคารพนับถือท่านเป็นจำนวนมาก ท่านมรณะภาพเมื่อ 4 สิงหาคม 2531 ลูกศิษย์โดยเฉพาะกลุ่มนายทหารในกองทัพเรือจึงได้ช่วยกันสร้างพิพิธภัณฑ์มณฑปแห่งนี้ขึ้น เพื่อรำลึกถึงคุณความดีและผลงานของท่าน

ประวัติของหลวงพ่อสำเนียงอยู่สภาพร ท่านเกิดวันที่ 5 ตุลาคม 2460 ตรงกับวันศุกร์ปีมะเส็ง แรม 4  ค่ำ เป็นบุตรของพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ และหม่อมทองหุ่น เมื่อตั้งครรภ์ได้ 2 เดือน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ฯ ได้รับพระราชโองการจากรัชกาลที่6 ให้ไปซื้อเรือพระร่วงที่ประเทศอังกฤษ จึงนำหม่อมทองหุ่น ไปฝากหลวงปู่สุขวัดมะขามเฒ่า เมื่อคลอดเกิดเหตุการณ์มหัศจรรย์ มีงูรัดรอบพระอู่(เปล) หลวงปู่สุข จึงตั้งนามว่า “สำเนียง” แปลว่าเสียง โดยมี “ง” สะกดไว้ เมื่อเสด็จพ่อทรงทราบจึงพระราชทานนามว่า “หม่อมเจ้าสถาพร อาภากร” ประสูติได้ 7 วัน หม่อมทองหุ่นสิ้นชีพพิตักษัย จนมีพระชนม์ได้ 6 พรรษา เสด็จพ่อก็สิ้นพระชนม์ ในวังเริ่มระส่ำระสาย นายเอมพระสหายของเสด็จพ่อนำไปฝากไว้พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอรองค์อรรคยุพา พระขนิษฐาของเสด็จพ่อ ได้ส่งให้ไปศึกษาที่โรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก จบมัธยมปีที่ 8 ต่อมาศึกษาโรงเรียนนายร้อย จ.ป.ร. เข้ารับราชการทหารที่กรมสื่อสารทหารบก ยศร้อยเอกดำรงตำแหน่งผู้บังคับกองต่างประเทศในหน้าที่แปลข่าวสารต่างประเทศ และได้ร่วมรบในสงครามอินโดจีน สงครามมหาเอเชียบูรพา ต่อมาสงครามนั้นเป็นโมฆะหลวงพ่อสำเนียงได้ทูลลาในหลวงรัชกาลที่ 8 ว่าจะบวช 15 วันที่วัดกัลยาปากคลองบางหลวง ฝั่งธนบุรี บวชได้ 3 วัน ทราบข่าว รัชกาลที่ 8 สิ้นพระชนม์ จึงได้คิดว่า การเป็นฆราวาสเหมือน “ไม้นั่งร้านสร้างตึก เมื่อตึกเสร็จเขาก็รื้อไม้นั่งร้านทิ้ง ยังไม่มีที่จะเก็บกองเพราะหมดความสำคัญ” จึงเกิดความเบื่อหน่าย และเห็นว่าทางบรรพชิตเป็นทางสายที่แท้จริง และนึกถึงผู้ยากจนจึงมุ่งสู่ชนบท ก่อนมาได้เห็นปราสาทลอยตามทิศทางที่มองเห็น ได้เห็นวัดแหลมชะอุย คือวัดเวฬุวนารามในปัจจุบัน ตามศิลาจารึกชื่อว่า “ธรรมานคร”(ข้อความจากแผ่นพับของวัดเวฬุวนาราม)

ชื่อเสียงของท่านอีกด้านคือการรักษาโรค ที่ท่านสามารถใช้พลังจิตรักษาโรคเช่น คนถูกพิษงูเห่า โดนต่อต่อย หรือคนเป็นโรคจิต ประสาทให้ฟื้นคืนสติ หรือเหยียบเหล็กร้อนแล้วมาเหยียบคนรักษาโรค นอกจากทางด้านอภินิหารย์ แล้วท่านยังเป็นพระนักพัฒนา ได้พัฒนาวัดเวฬุวนาราม และสร้างโรงเรียนสถาพรวิทยา ให้เด็กๆ ในชุมชนได้มีโรงเรียนศึกษา ตั้งมูลนิธิช่วยเหลือเด็กๆกำพร้าจนในปี 2523 รับโล่ห์ “ทำคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติดีเด่นเป็นพิเศษ” ของมูลนิธิสรรพวรรณิต จากพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ปี 2527 รับโล่ห์สดุดี “นักสังคมสงเคราะห์ดีเด่นประจำปี” จากมูลนิธิศาสตราจารย์ ปกรณ์ อังศุสิงห์ ปี 2528 สำนักนายกรัฐมนตรีประกาศสดุดีให้พระครูสถาพรพุทธมนต์ เป็น พระดีเด่นประจำชาติ และปูชนียบุคคลที่นั่งอยู่ในหัวใจคนทั้งชาติ

ภายในพิพิธภัณฑ์มณฑปฯ นั้นส่วนหน้าเป็นตู้เก็บร่างของหลวงพ่อสำเนียงไว้ในโลงสีทองแม้ท่านจะมรณะภาพมานานแล้วแต่ทางวัดยังคงเก็บร่างของท่านไว้ให้ลูกศิษย์ที่ต้องการมากราบนมัสการท่าน ด้านหน้าโลงสีทอง มีหุ่นขี้ผึ้งขนาดเท่าองค์จริงของหลวงพ่อ นั่งบนงูเห่าแผ่แม่เบี้ย ด้านข้างห้องตลอดแนวผนังไปจนถึงเพดานมณฑป เป็นตู้กระจกบรรจุพระพุทธรูปขนาดเล็กของสะสมของหลวงพ่อสำเนียง ด้านข้างมีภาพถ่ายของท่านสมัยรับราชการทหาร ภาพตอนบวชเป็นพระแล้ว และภาพร่วมกับลูกศิษย์อีกหลายท่าน

อีกด้านเป็นมุมข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวของท่าน อัฐบริขารต่างๆ และตู้เก็บไม้เท้าของหลวงพ่อสำเนียง ตู้จัดแสดงที่คนสนใจมาชมกันมากก็คือมีดหมอลงอักขระของหลวงพ่อ ที่เซียนมีดหมอหลายท่านแวะเวียนกันมาดูบ่อยๆ เพราะเป็นของหายาก

ด้านหลังเหนือขอบประตูเป็นดาบยาวและมีดหมอเช่นกันด้านล่างมีภาพถ่ายลูกศิษย์และการทำงานของท่าน ที่น่าสนใจคือเสื้อของพระบิดา พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ถัดมาอีกด้านเป็นภาพตอนท่านรับรางวัลจากองค์กรต่างๆ เช่น ภาพถ่ายตอนรับโล่ห์คุณประโยชน์ต่อประเทศชาติดีเด่นเป็นพิเศษ” ของมูลนิธิสรรพวรรณิต จากพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และใบประกาศ พระสงฆ์ดีเด่นประจำชาติ เป็นต้น และมีตู้จำหน่ายเครื่องรางของขลังที่หลวงพ่อเคยปลุกเสกไว้ให้เช่าบูชาด้วย

อัตชีวประวัติของหลวงพ่อสำเนียง และเรื่องราวชีวิตท่านมีความน่าสนใจมาก แต่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไม่ได้เล่าเรื่องราวให้ผู้มาชมมากนัก อาจจะเป็นเพราะลูกศิษย์ของท่านซึ่งทราบเรื่องราวของท่านดีอยู่แล้วเป็นคนสร้างขึ้นมา จึงไม่เห็นความจำเป็นในเรื่องการติดป้ายอธิบาย ผู้ที่เข้าชมที่ไม่มีความรู้แทบจะไม่ได้อะไรจากการเข้าชม นอกจากได้สักการะบูชาร่างของหลวงพ่อเท่านั้น ทางวัดควรจัดหาคนที่ทราบข้อมูลและพร้อมที่จะอธิบายเรื่องราวให้ผู้เข้าชมด้วย

มัณฑนา ชอุ่มผล /เขียน
ข้อมูลจาก: สำรวจภาคสนาม วันที่ 6 กันยายน 2554

ชื่อผู้แต่ง:
-