บ้านเหมืองแร่


พิพิธภัณฑ์บ้านเหมืองแร่ เป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนบุคคลที่ก่อตั้งโดยนายไชยยุทธ ปิ่นประดับ(เสียชีวิตแล้ว) ปราชญ์ท้องถิ่นของจังหวัดภูเก็ต ปัจจุบันคุณสุชาดา ปิ่นประดับ บุตรสาว รับหน้าที่ดูแลพิพิธภัณฑ์ต่อมา บ้านเหมืองแร่ตั้งอยู่ในเขตอำเภอกะทู้ ซึ่งเป็นพื้นที่ทำเหมืองแร่มาก่อน พื้นที่บริเวณนี้เป็นที่ราบต่ำเหมาะกับการทำเหมืองหาบ ด้านหลังบ้านมีลำธารน้ำไหลผ่าน เมื่อฤดูน้ำจะพัดพาดินโคลนทรายหยาบ และทรายละเอียด เอ่อล้นลำราง ทำให้ดินโคลนทรายไหลลงทับถมพื้นที่ตั้งบ้านเหมืองแร่จนเต็มพื้นที่ และต่อมาชาวบ้านสามารถปลูกสร้างบ้านเรือน และปลูกพืชผลไม้ได้ ตระกูลของนางสุลี ปิ่นประดับ ภรรยาคุณไชยยุทธเกี่ยวข้องกับการทำเหมือนแร่เมื่อกว่า 100 ปีมาแล้ว โดยย้อนไปสมัยทวด ชื่อนายอู๋ ก้ามเหี้ยม เป็นทวดของภรรยามาจากประเทศจีน มณฑลฮกเกี้ยน เข้ามาทำเหมืองแล่น เหมืองครา รุ่นต่อมาคือนายอู่ ยกโป้ บุตร ขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ ที่ตำบลบ้านไม้เรียบ และเปิดรับซื้อแร่ดีบุกที่กะทู้ รุ่นที่สาม นายจู้บุ๋น เสงี่ยม หลาน เป็นครูสอนภาษาจีน ทำการค้าขาย เป็นเสมือนฝ่ายการเงิน ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการเหมืองแร่ บริษัทเหมืองแร่ลำแพะ เป็นบิดาของนางสุลี ปิ่นประดับ ภรรยาของนายไชยยุทธ ปิ่นประดับ ข้าวของที่จัดแสดงในบ้านอาทิ ตัวอย่างแร่ดีบุกสมัยโบราณที่ใส่เบ้ามาแล้ว ลักษณะที่ผ่านการหลอมแล้วนำมาใส่เบ้าให้เป็นรูปแบบที่ง่ายต่อการส่งออก แร่ตะกรันเป็นแร่ที่ได้จากเศษที่เหลือจากการทลุงแร่ดีบุก สมัยก่อนชาวบ้านนิยมนำไปถมถนน สมุดบัญชีจีน ใช้ในการบันทึกประจำวันของกิจการเหมืองแร่ กิจการโรงคลึง หรือฝ่ายช่างต่างๆ ในเหมืองแร่

ที่อยู่:
35 หมู่ 2 ถนนวิชิตสงคราม ต.กะทู้ อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต 83120
โทรศัพท์:
076-321246, 086-685-4223, 081-956-4744
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน กรุณาติดต่อล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
ปีที่ก่อตั้ง:
2550
ของเด่น:
ตัวอย่างแร่ดีบุก, แร่ตะกรัน
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

บ้านเหมืองแร่

พิพิธภัณฑ์บ้านเหมืองแร่ เป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนบุคคลที่ก่อตั้งโดยนายไชยยุทธ ปิ่นประดับ(ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) ปราชญ์ท้องถิ่นของจังหวัดภูเก็ต เมื่อคุณไชยยุทธ เสียชีวิต  คุณสุชาดา ปิ่นประดับ บุตรสาว รับหน้าที่ดูแลพิพิธภัณฑ์ต่อมา บ้านเหมืองแร่ตั้งอยู่ในเขตอำเภอกะทู้ ซึ่งเป็นพื้นที่ทำเหมืองแร่มาก่อน พื้นที่บริเวณนี้เป็นที่ราบต่ำเหมาะกับการทำเหมืองหาบ ด้านหลังบ้านมีลำธารน้ำไหลผ่าน เมื่อฤดูน้ำจะพัดพาดินโคลนทรายหยาบ และทรายละเอียดเอ่อล้นลำราง ทำให้ดินโคลนทรายไหลลงทับถมพื้นที่ตั้งบ้านเหมืองแร่จนเต็มพื้นที่ และต่อมาชาวบ้านสามารถปลูกสร้างบ้านเรือน และปลูกพืชผลไม้ได้

ตระกูลของนางสุลี ปิ่นประดับ ภรรยาคุณไชยยุทธเกี่ยวข้องกับการทำเหมือนแร่เมื่อกว่า 100 ปีมาแล้ว โดยย้อนไปสมัยทวด ชื่อนายอู๋ ก้ามเหี้ยม เป็นทวดของภรรยามาจากประเทศจีน มณฑลฮกเกี้ยน เข้ามาทำเหมืองแล่น เหมืองครา รุ่นต่อมาคือนายอู่ ยกโป้ บุตร ขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ ที่ตำบลบ้านไม้เรียบ และเปิดรับซื้อแร่ดีบุกที่กะทู้ รุ่นที่สาม นายจู้บุ๋น เสงี่ยม หลาน เป็นครูสอนภาษาจีน ทำการค้าขาย เป็นเสมือนฝ่ายการเงิน ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการเหมืองแร่ บริษัทเหมืองแร่ลำแพะ เป็นบิดาของนางสุลี ปิ่นประดับ ภรรยาของนายไชยยุทธ ปิ่นประดับ

ข้าวของที่จัดแสดงภายในบ้าน อาทิ

ตัวอย่างแร่ดีบุกสมัยโบราณที่ใส่เบ้ามาแล้ว ลักษณะที่ผ่านการหลอมแล้วนำมาใส่เบ้าให้เป็นรูปแบบที่ง่ายต่อการส่งออก มีลักษณะเป็นของแข็ง มีความอ่อนตัวสูง มีจุดหลอมเหลวต่ำ สามารถผสม และเกาะติดกับโลหะอื่นได้ดี จึงนิยมนำดีบุกมาเคลือบผิวหรือผสมกับโลหะอื่นเพื่อเพิ่มความแข็งแรง ทนต่อการกัดกร่อน และป้องกันการเกิดสนิม

ตะกรัน หรือสะแหลกดีบุก เป็นแร่ที่ได้จากเศษที่เหลือจากการทลุงแร่ดีบุก สมัยก่อนชาวบ้านนิยมนำไปถมถนน ต่อมาปี 2525 เป็นต้นมา แร่ดีบุกเริ่มมีความสำคัญ สามารถนำมาใช้เป็นส่วนผสมของหัวจรวดขี้ตะกรัน หรือสะแหลกดีบุก เกิดจากน้ำแร่และกากแร่ธาตุต่างๆ ที่ยังถลุงแยกออกไปไม่หมด เนื่องจากแร่ธาตุเหล่านั้น ไม่อาจหลอมละลายภายใต้อุณหภูมิเดียวกับดีบุก จึงถูกคัดทิ้งเมื่อเย็นลงจึงจับตัวแข็งเกาะกันเป็นก้อน มีรูปทรงสีสันต่างๆ กัน

สมุดบัญชีจีน ใช้ในการบันทึกประจำวันของกิจการเหมืองแร่ กิจการโรงคลึง หรือฝ่ายช่างต่างๆในเหมืองแร่ โดยบันทึกในเรื่องของจำนวนคนมาทำงาน ค่าใช้จ่าย ค่าแรงงาน ต่างๆ เหมือนสมุดบัญชีในปัจจุบัน โดยใช้เป็นภาษาจีนล้วนทั้งเล่มจากลายมือของเสมียน

ก่อนหน้านี้ คุณไชยยุทธ ปิ่นประดับ เคยเล่าถึงประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ในคราที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จประพาสภาคใต้เป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.2502 โดยอ้างอิงข้อมูลจากการบันทึกของกรมทรัพยากรธรณี ดังมีข้อความว่า พ.ศ. 2502 เป็นปีประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่สุดของกรมที่กรมได้รับแรงบันดาลใจ ให้พัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่ของประเทศให้ครบระบบ โครงการตั้งโรงถลุงแร่ดีบุกเชิงพาณิชย์ก็เป็นผลส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ด้วย เดือนมีนาคมปีนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถได้เสด็จพระราชดำเนินประพาสภาคใต้ นับเป็นการประกอบพระราชภารกิจตามโบราณราชประเพณี ที่มีสืบกันมาว่า หลังจากที่ได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้ว พระมหากษัตริย์ต้องเสด็จเยี่ยมราษฎรในภาคต่างๆ ของประเท

หมายกำหนดการครั้งนั้นมีว่า มีพระราชประสงค์จะเสด็จพระราชดำเนินชมการทำเหมืองแร่ดีบุก อันเป็นอาชีพหลักของภาคใต้ ทางกรมโลหกิจได้จัดแผนให้ได้เสด็จทอดพระเนตรการทำเหมืองแร่ดีบุกด้วยเรือขุดของบริษัทไซมีสทีน ที่ต.บางนอน อ.เมือง จ.ระนอง ในวันที่ 8 มีนาคม เพราะเป็นเรือขุดลำเดียวที่กำลังขุดอยู่ใกล้ทางหลวงที่ขบวนจะผ่าน

ในวันที่ 9 มีนาคม ได้ทอดพระเนตรการทำเหมืองสูบของเหมืองเจ้าฟ้าที่อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต การเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้เป็นการเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งเลียบฝั่งตะวันตกของประเทศ ตั้งแต่ระนองถึงภูเก็ต ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเห็นภูมิประเทศอันเป็นแหล่งกำเนิดแร่ดีบุก ทั้งภูเขาและลานแร่ ทรงองค์ทรงเข้าพระทัยได้ดีถึงความยากลำบากและวิริยะอุตสาหะของผู้ทำเหมืองแร่ ไม่ว่าบริษัทใหญ่ของเศรษฐี หรือชาวบ้านที่ร่อนแร่ในท้องห้วยหรือท้ายรางผู้หาเช้ากินค่ำ

ที่เหมืองเจ้าฟ้าของคุณหลวงอนุภาษภูเก็ตการ เจ้าของเหมืองได้จัดการปราบเนินดินด้านหนึ่งของหุบเขากะทู้ สร้างศาลาที่ประทับชั่วคราวบนเนินนั้น สำหรับเป็นที่ประทับทอดพระเนตรชมการฉีดดินในขุมเหมืองด้วยแรงน้ำ ทรงเห็นทรายและแร่ไหลไปตามร่องน้ำจนถูกสูบขึ้นไปบนรางล้างแร่ คุณหลวงอนุภาษฯ เจ้าของเหมืองเฝ้ากราบบังคมทูลกิจการโดยใกล้ชิดทำให้บรรดาราษฎรที่รายล้อมอยู่ห่างๆ ชื่นชมโสมนัสในพระราชจริยวัตร ได้เห็นว่าพระเจ้าแผ่นดินทรงซักถามอยู่ตลอดเวลา ทรงถามผู้ที่เข้าเฝ้าถึงปัญหาที่ว่าทำไมจึงทำแต่เหมืองแร่ดีบุกในภาคใต้เท่านั้น ในเมื่อภูเขาชนิดเดียวกันก็มีในภาคอื่น เช่น ภาคเหนือ ทำไมเราต้องส่งแร่ไปขายโรงถลุงที่ปีนัง ทำไมไม่ถลุงเป็นโลหะใช้เสียเองในประเทศ หรือทำแผ่นเหล็กชุบดีบุกใช้เป็นกระป๋องบรรจุอาหาร ที่ฝรั่งเขาทำมาขายเรา จะได้มีโรงงานเกิดขึ้นในประเทศ ราษฎรจะได้มีงานทำมากขึ้น แล้วถ่านหินน้ำมันเล่า จะได้มีโรงงานเกิดขึ้นในประเทศเราบ้างเชียวหรือ ฯลฯ พระราชปุจฉาเหล่านี้หมายถึงพระราชปณิธานที่จะได้เห็นประเทศไทยนั้นพัฒนาอุตสาหกรรมแร่ให้กว้างขวาง และเจริญเติบโตขึ้น

ต่อมาบริษัทสหรัฐฯ ได้เข้ามาตั้งบริษัทดำเนินการถลุงแร่ดีบุก โดยใช้ชื่อว่า Thailand Smelting and Refining Co., Ltd หรือ Thaisaco และตั้งโรงถลุงอยู่ที่ภูเก็ต ในพ.ศ.2506 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปชมกิจการเมื่อ พ.ศ.2511

พิพิธภัณฑ์อาศัยบ้านพักส่วนบุคคลในการจัดแสดง  การเข้าชมต้องทำการนัดหมายล่วงหน้า เพื่อเจ้าของบ้านจะได้เตรียมพื้นที่และเตรียมพร้อมในการนำชม

ข้อมูลจาก:

รายงานฉบับสมบูรณ์โครงการจัดทำข้อมูลพิพิธภัณฑ์ภาคใต้ เครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคใต้ สนับสนุนโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน) 2564.

https://www.sac.or.th/exhibition/lmf2017/?p=50

ชื่อผู้แต่ง:
ปณิตา สระวาสี