พิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติ หกรอบ ร.9 วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม


วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์ ตั้งอยู่ข้างพระบรมมหาราชวัง เป็นวัดประจำของรัชกาลที่หนึ่ง มีพระมหาเจดีย์สี่รัชกาลสีสันสวยงาม พิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติ หกรอบ ร.9 อยู่ชั้นใต้ดินของอาคารหอสมุดสมเด็จ ว.ผ.ต. สถานที่เก็บรวบรวมความงดงามและความศรัทธาที่พระเจ้าอยู่หัวหลายรัชกาลมีต่อพระพุทธศาสนา รวมทั้งสิ่งของที่พระสงฆ์ได้รับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ ได้แก่ เครื่องลายคราม เครื่องลายสังคโลก เครื่องถ้วยเบญจรงค์ เครื่องแก้วเจียระไน เครื่องประดับมุกและงาช้าง เป็นต้น

ที่อยู่:
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม(วัดโพธิ์)ถ.สนามไชย แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200
โทรศัพท์:
02-2260335,02-2259595,02-2219449
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน 8.00 – 17.00 น. (ทำหนังสือแจ้งให้ทราบล่วงหน้า)
ค่าเข้าชม:
ชาวต่างชาติจะต้องซื้อบัตรเข้าชมคนละ  50  บาท(สำหรับนักท่องเที่ยวต้องแต่งกายสุภาพ สุภาพสตรีห้ามสวมกางเกงขาสั้นเหนือเข่าเข้าไปเที่ยวชม
เว็บไซต์:
อีเมล:
watphrachetuphon@gmail.com
ปีที่ก่อตั้ง:
2545
ของเด่น:
ฝาบาตรและเชิงบาตรประดับมุก เครื่องลายคราม เครื่องเบญจรงค์ ของใช้พระสงฆ์ที่พระมหากษัติรย์ถวาย
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

โดย:

วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2555

ไม่มีข้อมูล

การศึกษาวิเคราะห็เครื่องถ้วยในพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติหกรอบ รัชกาลที่ 9 วัดพระเชตุพลวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร

ชื่อผู้แต่ง: สกุลตา เลิศวัฒนานุวัฒน์ | ปีที่พิมพ์: 2548

ที่มา: ศิลปศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

แหล่งค้นคว้า: มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555

หอสมุดสมเด็จ ว.ผ.ต. วัดพระเชตุพน

ชื่อผู้แต่ง: | ปีที่พิมพ์: 2545

ที่มา: กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555


ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติ หกรอบ ร.9 วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

วัดโพธิ์ ตั้งอยู่ข้างพระบรมมหาราชวัง เป็นวัดประจำของรัชกาลที่หนึ่ง มีพระมหาเจดีย์สี่รัชกาลสีสันสวยงาม เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย มีโรงเรียนแพทย์แผนโบราณและนวดแผนโบราณ มีรูปปั้นยักษ์วัดโพธิ์ วัดโพธิ์มีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยว นั่นเป็นเพียงบางส่วนที่คนรู้จักวัดโพธิ์

พิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติ หกรอบ ร.9 อยู่ชั้นใต้ดินของอาคารหอสมุดสมเด็จ ว.ผ.ต. สถานที่เก็บรวบรวมความงดงามและความศรัทธาที่พระเจ้าอยู่หัวหลายรัชกาลมีต่อพระพุทธศาสนา ที่นี่คือพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมสำบัติล้ำค่าของวัด รวมทั้งสิ่งของที่พระสงฆ์ได้รับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ ได้แก่ เครื่องลายคราม เครื่องลายสังคโลก เครื่องถ้วยเบญจรงค์ เครื่องแก้วเจียระไน เครื่องประดับมุกและงาช้าง นอกจากนี้ยังมีพวกตลับเงินหน้ากระเบื้อง ตลับถมเงิน ชุดเครื่องบูชา (เครื่องทองน้อย) ทองเหลือง พานถมทอง ภาชนะเงินกาไหล่ทอง ครอบน้ำมนต์หรือขันน้ำมนต์ทองเหลือง

อาคารพิพิธภัณฑ์หลังนี้คือ หลังใหม่ที่สร้างแทนอาคารหลังเดิมซึ่งชำรุดทรุดโทรม มีพิธีเปิดในวันศุกร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2545 เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่เจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต (เผื่อน ติสฺสทตฺโต ป. 9) อดีตเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพน องค์ที่ 10 อาคารนี้มี 3 ชั้น ชั้นบนเป็นห้องประชุม มีรูปหล่อสมเด็จพระวันรัต ประดิษฐานอยู่ในซุ้มหน้าห้อง ชั้นกลางเป็นห้องสมุด ส่วนชั้นใต้ดินเป็นพิพิธภัณฑ์

หอสมุด ว.ผ.ต. เป็นห้องสมุดที่มีหนังสือที่น่าสนใจ ส่วนมากจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับศาสนา โบราณคดี ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับวัดโพธิ์ เช่น หนังสือเรื่องโบสถ์วัดโพธิ์ ที่มูลนิธิ “ทุนพระพุทธยอดฟ้า” ในพระบรมราชูปถัมภ์และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามจัดพิมพ์ ในเล่มจะเป็นสมุดภาพเกี่ยวกับพระอุโบสถ ซึ่งมีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่งดงาม เป็นภาพจิตรกรรมฝาผนัง สมัยรัตนโกสินทร์

การเข้าชมที่นี่หากมีเวลามาก ผู้เข้าชมจะได้ความรู้เกี่ยวกับศิลปะและลวดลายของถ้วยโถภาชนะเหล่านี้เป็นอย่างมาก อย่างเครื่องลายคราม ส่วนใหญ่เป็นศิลปะจีนสมัยราชวงศ์ชิง ช่วงพุทธศตวรรษที่ 24-25 มีคนโทลายคราม เขียนลายบุคคลในภูมิประเทศ ลายอัษฏทรัพย์และร้อยโบราณวัตถุ ขวดทรงน้ำเต้าลายครามเขียนลายสิ่งของวิเศษของแปดเซียน เหยือกลายครามเขียนลายมังกรดั้นเมฆในช่องกระจก ตะกร้าดอกไม้ลายคราม มีฉลุลาย กระถางเผาเครื่องหอมลายครามเขียนลายมังกรดั้นเมฆกับไข่มุกไฟ บาตรลายคราม(ไม่มีฝา)เขียนลายหงส์ท่ามกลางพันธุ์พฤกษา ชุดชาลายครามเขียนลายปลาทอง จัดแบบชุดจีโบ ชุดชาลายครามเขียนลายอักษรจีนประดิษฐ์ จัดแบบชุดจีโบ ชุดชาลายครามเขียนลายอักษรพระนาม ก้นถ้วยมี จปร สยาม ศิลปะจีนสมัยราชวงศ์ชิง พ.ศ.2431 (จ.ศ.1250) เชิงเทียนลายครามพร้อมฝาครอบเขียนลายภาพเล่าเรื่องในวรรณกรรมจีน ในกลุ่มของกระโถนมีกระโถนปากแตรลายครามเขียนลายอักษรจีนประดิษฐ์ ลายสามสหายคิมหันต์ ได้แก่ ต้นสน ต้นไผ่ และต้นเหม่ย กระโถนลายครามเขียนลายมังกรดั้นเมฆกับไข่มุกไฟ กระโถนค่อมลายครามเขียนลายภูมิประเทศ ส่วนที่เป็นเครื่องถ้วยเคลือบสีขาวลายสังคโลก จะเป็นของสมเด็จพระวันรัต(ติสฺสทตฺต) ใช้ตั้งเป็นเครื่องโต๊ะในเวลารับเสด็จกฐิน

ส่วนเครื่องมุก กล่าวว่าเป็นงานประณีตศิลป์ที่เกิดจากความคิดในการตกแต่งวัสดุให้สวยงามของคนไทยมาแต่โบราณ โดยใช้เปลือกหอยมุก ซึ่งมีทั้งหอยมุกทะเลและหอยมุกน้ำจืด นำมาฉลุเป็นลวดลายชิ้นเล็กๆ ประดับลงไปบนภาชนะ บานประตู หน้าต่าง ฯลฯ โดยใช้รักสีดำเป็นตัวเชื่อมให้ชิ้นมุกเกาะติดฝังลงไปบนภาชนะหรือวัสดุ สีขาวแกมชมพู และความแวววับของหอยมุกจะตัดกับสีดำของรัก ทำให้ภาชนะหรือวัสดุชิ้นนั้นๆมีลวดลายประดับสวยงาม ชิ้นงานที่โดดเด่นคือ ฝาบาตรและเชิงบาตรประดับมุก ฝีมือช่างสมัยรัตนโกสินทร์ (พ.ศ.2416) รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าให้ทำขึ้นเพื่อพระราชทานแก่พระราชาคณะ ในคราวพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จุลศักราช 1235 (พ.ศ.2416) ด้านบนเป็นรูปพานรองพระเกี้ยว และฉัตรสองข้าง อยู่เหนือรูปอาร์มไอยราพต สองข้างมีราชสีห์และคชสีห์ มีแถบตัวหนังสือบอกงานและปี ขอบฝาบาตรเป็นตราประจำกระทรวง 14 กระทรวงในรัชกาลที่ 5 และยังมีฝาบาตรฝังมุกเป็นตราจักรี พระเกี้ยว และเลข 5 ซึ่งรัชกาลที่ 5 พระราชทานแก่อธิบดีสงฆ์วัดพระเชตุพน เครื่องมุกอื่นๆ ได้แก่ พานแว่นฟ้าประดับมุก ใช้สำหรับวางผ้าไตรในงานอุปสมบทหรือถวายผ้าพระกฐิน ชุดเครื่องเขียนประดับมุก ติดตราไอราพต บนหลังช้างมีตราวชิราวุธอยู่ภายในกูบช้าง รัชกาลที่ 6 พระราชทานแก่พระอารามหลวงสำคัญในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ร.ศ.130 (พ.ศ.2454) กระบะมุก ตะลุ่มประดับมุก กล่องประดับมุก กี๋ญวนประดับมุกพร้อมที่ครอบ 

เครื่องถ้วยเบญจรงค์ เป็นเครื่องถ้วยที่ผลิตในประเทศจีน โดยผลิตขึ้นสำหรับประเทศไทยโดยเฉพาะ รูปทรงสีสันและลวดลายเป็นแบบไทย โดยช่างไทยเป็นคนออกแบบลายให้ช่างจีนเขียนและตกแต่ง เครื่องถ้วยเหล่านี้เป็นของใช้ในราชสำนักสำหรับพระมหากษัตริย์ เจ้านายชั้นสูง ขุนนาง และพระภิกษุสงฆ์ มีภาชนะหลายประเภทได้แก่ กาน้ำเบญจรงค์ ช้อนเบญจรงค์ ชามฝาเบญจรงค์ เขียนลายเทพนมกับลายนรสิงห์ในช่องกระจก ชามเบญจรงค์ เขียนลายก้านต่อดอกในกรอบช่องกระจกรูปกลีบบัว โถเบญจรงค์เขียนลายเทพนมในกรอบช่องกระจก

สำหรับเครื่องแก้วเจียระไน ส่วนจัดแสดงที่นี่มีมากมายสวยงามละลานตาทั้งที่เป็นแก้วใสและมีสี ได้แก่ แจกันแก้วเจียระไนลายเหลี่ยมเพชร แจกันแก้วเจียระไนลายดอกจัน เชิงเทียนแก้วเจียระไน ชุดเครื่องบูชา(เครื่องทองน้อย) แก้วเจียระไน พานแก้วเจียระไน ชามแก้วเจียระไนรูปรี โถแก้วเจียระไน พานแก้วเจียระไนสำหรับวางผลไม้ ชุดเครื่องแก้วเจียระไนลายเสมาหนามขนุน แว่นเวียนเทียน เครื่องแก้วเจียระไนสีชมพู สีแดง สีน้ำเงิน โถแก้วลายเขียนสีพร้อมจอกสำหรับใช้ในพิธีสงฆ์ ตะเกียงแก้วเจียระไน

พระราชเวที รองเจ้าอาวาสฯ กล่าวว่า วัดโพธิ์ยังมีสมบัติล้ำค่าอีกมากมาย เนื่องมาจากข้อจำกัดด้านสถานที่ จึงมีการจัดวางอยู่หลายจุด การเปิดให้เข้าชมพิพิธภัณฑ์นี้ยังไม่เต็มที่ มีการคัดกรองกลุ่มผู้เข้าชมตามวัตถุประสงค์ของการเยี่ยมชม สิ่งของจัดแสดงส่วนใหญ่เป็นของใช้สำหรับพระสงฆ์ของอดีตเจ้าอาวาสที่ได้รับพระราชทานจากพระเจ้าอยู่หัว ร.4- ร.5 สำหรับตั้งบูชาเวลารับเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน บางอย่างก็ยังไม่ได้ใช้ ทางพิพิธภัณฑ์ได้รวบรวมไว้ ก่อนหน้านี้กระจัดกระจายอยู่ตามกุฏิ ในสมัยก่อนท่านเจ้าอาวาสเคยเล่าให้พระราชเวทีฟังว่า พวกกระโถนลายครามนั้นราคาเพียง 8-9 บาท เมื่อก่อนเป็นของใช้ในชีวิตประจำวัน แต่ปัจจุบันเป็นของหายาก

ขณะนี้ทางพิพิธภัณฑ์กำลังจัดเตรียมสถานที่จัดแสดงเพิ่มเติม เนื่องจากยังมีสิ่งของจัดแสดงอีกมากมาย ลักษณะพื้นที่ของวัดโพธิ์จะไม่มีส่วนจัดแสดงที่กว้างขวาง เพราะว่ามีสิ่งก่อสร้างเต็มไปหมด จากการที่พระราชเวทีท่านเป็นผู้ดูแลทางด้านศิลปกรรมของวัด ท่านมีความคิดว่าอยากจะรวบรวมพระพุทธรูปที่กระจายอยู่ตามระเบียงอยู่นับพันองค์มาจัดไว้ในที่เดียวกัน โดยจะทำเป็นพิพิธภัณฑ์ ให้รายละเอียดของศิลปะและยุคสมัยเพื่อให้คนเข้าชมได้มาศึกษาหาความรู้

อีกส่วนหนึ่งที่มีการจัดแสดงพวกเครื่องลายคราม พัดยศ แผ่นหนังรูปหนุมาน ตู้ไม้จากดัทช์ คือ ตำหนักวาสุกรี ที่แห่งนี้เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ท่านทรงเป็นรัตนกวีของชาติ กลอนบทหนึ่งที่คนไทยจดจำได้ดีคือ พฤษภกาษร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา 

พระราชเวทียังอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับยักษ์วัดโพธิ์ว่าหลายคนเข้าใจผิดคิดว่าตุ๊กตาจีนคือยักษ์วัดโพธิ์ ยักษ์วัดโพธิ์นี้แต่เดิมมีมาตั้งแต่รัชกาลที่ 1 เป็นปูนปั้น อยู่ที่กำแพงใหญ่อยู่ 4 ประตูหลัก ต่อมาชำรุด มาจนถึงสมัยร.3 จึงนำตุ๊กตาจีนมาไว้แทน ส่วนยักษ์จะเป็นยักษ์ไทยที่มีมาตั้งแต่ ร.1 ได้มีนำเอาไปไว้รอบพระมณฑปซุ้มประตู 4 ซุ้ม มี 8 ตน ตอนหลังสมัยร. 4 ได้รื้อไป 2 ซุ้มสร้างพระเจดีย์ ร.4 เนื่องจากพื้นที่ไม่พอ ปัจจุบันจึงมีเพียง 2 ซุ้ม ยักษ์ที่เหลือเป็นยักษ์ตัวเล็กๆสูงประมาณ 170-180 เซ็นติเมตร หล่อด้วยสังกะสีดีบุก ลักษณะเป็นยักษ์แบบเรื่องรามเกียรติ์ อยู่ในช่องซุ้มประตูสองข้างซุ้มเล็กที่พระมณฑป 

การเข้ามาเยี่ยมชมวัดโพธิ์ เปรียบเสมือนการได้มาซึมซับความงดงามรุ่งเรือง นับจากอดีตต่อเนื่องมา เราได้เห็นความศรัทธาที่พระเจ้าอยู่หัวหลายรัชกาลมีต่อพุทธศาสนา ที่นี่เป็นสถานที่เก็บผลงานของช่างฝีมือเอก งานศิลปกรรมที่โดดเด่น งานจิตรกรรมอันทรงคุณค่า สรรพความรู้ของการแพทย์แผนโบราณ จึงไม่แปลกใจว่าในแต่ละปีมีคนเข้ามาเยี่ยมชมหลายล้านคน

สาวิตรี ตลับแป้น /ผู้เขียน /ถ่ายภาพ

ข้อมูลจาก : 

สำรวจภาคสนามเมื่อวันที่ 27 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2554

หอสมุดสมเด็จ ว.ผ.ต. วัดพระเชตุพน. กรุงเทพฯ : อมรินทรพริ้นติ้งแอนพับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน),2545.

http://www.thai-travel.biz/detail_main.php?region=2&province_id=0&class=3&id=2352[Accessed 14/04/2011]

http://www.watpho.com/th/news/newsdetail.php?myDataID=6&myModuleKey=whatnews [Accessed 14/04/2011]

http://sadoodta.com-content/[Accessed 14/04/2011]

การเดินทาง: รถโดยสารประจำทางที่ผ่านมีสาย รถประจำทางธรรมดา สาย 1, 3, 6, 9, 12, 25, 32, 43, 44, 47, 48, 51, 53, 82, 103, ปอ1, ปอ6, ปอ7, ปอ8, ปอ12 และ ปอ44

การเดินทางโดยเรือด่วนเจ้าพระยา สามารถขึ้นฝั่งที่ท่าเรือท่าช้าง, ท่าเรือท่าเตียน, ท่าเรือปากคลองตลาด แล้วเดินเข้าประตูทางถนนท้ายวังได้
ชื่อผู้แต่ง:
-