พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตราษฎร์บูรณะ ตั้งอยู่ในบริเวณวัดประเสริฐสุทธาวาส ภายในจัดแสดงนิทรรศการและมีตัวอย่างของจัดแสดงต่าง ๆ รวมทั้งโบราณวัตถุที่ขุดค้นพบในบริเวณวัด แบ่งเป็นเรื่องความเป็นมาของเขตราษฎร์บูรณะ สภาพภูมิศาสตร์ของเขตราษฎร์บูรณะ วิถีชาวสวนหมากในเขตราษฎร์บูรณะ และเขตราฎร์บูรณะกับความเปลี่ยนแปลง
โดย: -
วันที่: 12 มีนาคม 2555
โดย: -
วันที่: 12 มีนาคม 2555
ชื่อผู้แต่ง: กองการท่องเที่ยว สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร | ปีที่พิมพ์: มปป.
ที่มา: กรุงเทพฯ:กองการท่องเที่ยว สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร
แหล่งค้นคว้า: ศมส.
โดย: ศมส.
วันที่: 13 มีนาคม 2555
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยทีมงานและสมาชิก
รีวิวของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตราษฎร์บูรณะ
อดีตสวนผลไม้ของชาวกรุง ความรุ่งเรืองของคลังสินค้าริมฝั่งเจ้าพระยา ศิลปกรรมล้ำค่ากรุงเก่า คนที่มาเยี่ยมชมที่นี่จะได้ทราบว่าในอดีตของชาวเขตราษฎร์บูรณะมีสวนหมาก พร้อมทั้งได้เห็นสิ่งของโบราณล้ำค่ามากมายในแต่ละยุคสมัยสถานที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตราษฎร์บูรณะ อยู่ในโรงเรียนวัดประเสริฐสุทธาวาส ท้องที่เขตราษฎร์บูรณะเดิมเป็นส่วนหนึ่งของกรุงธนบุรี ในครั้งที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี
การจัดแสดงสิ่งของในพิพิธภัณฑ์ของเขตนี้แสดงเอกลักษณ์ของพื้นที่ได้อย่างครบถ้วน และข้อดีอีกประการหนึ่งของการตั้งพิพิธภัณฑ์ในโรงเรียน จากการพูดคุยกับผู้อำนวยการโรงเรียนวัดประเสริฐสุทธาวาส อาจารย์ศักดิ์ชัย ไชยศร การที่พิพิธภัณฑ์อยู่ที่นี่ ทำให้โรงเรียนได้ร่วมดูแล อีกทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของเด็กนักเรียน ในการต้อนรับผู้เข้ามาเยี่ยมชม ทางโรงเรียนได้จัดมัคคุเทศก์น้อยในความดูแลของอาจารย์รัศมี ณ นคร เด็กๆ เรียนอยู่ชั้นป.5 และยังมีที่เล็กกว่านั้นคือเด็กอนุบาล 2 เด็กๆ ที่เตรียมตัวมาอย่างดีกล่าวต้อนรับ แล้วผลัดกันนำชมพิพิธภัณฑ์ในภาพกว้าง
ในส่วนของรายละเอียด คุณกานต์วรี บุษราคัมกุล อาสาสมัครพิพิธภัณฑ์ เป็นผู้นำชมและอธิบายเพิ่มเติม เมื่อเดินเข้าไปในพิพิธภัณฑ์สิ่งที่สะดุดตาเป็นอันดับแรกคือ เทวรูปโบราณทำด้วยหินทราย ศิลปะสมัยลพบุรี เจ้าอาวาสวัดประเสริฐสุทธาวาสบอกว่าพบอยู่ในวิหารของวัด
ถัดเข้าไปจะพบสิ่งที่ดึงดูดสายตา ด้วยวิธีการนำเสนอที่น่าสนใจมาก ทำให้ต้องเดินเข้าไปดูใกล้ๆ ผู้ชายคนหนึ่งกำลังปีนต้นหมากอยู่ในสวนหมากจำลอง ตรงส่วนข้อเท้ารัดเชือกกล้วยเพื่อสะดวกในการปีน ในส่วนนี้คือวิถีชาวสวนหมาก มีตั้งแต่การปลูกหมาก อุปกรณ์ต่างๆในการปีนต้นหมาก คำอธิบายผลหมากระยะต่างๆ ได้แก่ หมากดิบ หมากกะเตอะ หมากสง หมากยับ
คุณกานต์วรีอธิบายว่า เชือกกล้วยจะต้องมีการนำมาแช่น้ำก่อนเพื่อให้นิ่มมัดรวมกันได้ง่าย ทุกวันนี้ยังพอมีต้นหมากเหลืออยู่บ้างสวนละต้นสองต้น เพราะคนไม่นิยมกินกันแล้ว สำหรับหมากที่อร่อยจะเป็นหมากหน้าแดงเสี้ยนน้อย ปัจจุบันบรรดาสวนผลไม้ในพื้นที่ยังคงมีหลงเหลืออยู่ประมาณ 20 % ส่วนจัดแสดงตรงนี้เราจะเห็นเรือจำลองสองลำ ลำหนึ่งคือเรือสำปั่น เป็นเรือต่อเสริมกราบ ใช้พายบรรทุกของจากสวนไปขายที่ตลาด และเรือจู๊ด เป็นเรือรูปร่างเพรียวยาว ใช้พายไปมาหาสู่กันและค้าขายผลไม้
ไม่เพียงความอุดมสมบูรณ์ของผืนดินในการทำสวน ด้านการค้าของเขตราษฎร์บูรณะจัดว่ามีความรุ่งเรือง เป็นเพราะมีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน เรือกระแชงคือเอกลักษณ์อีกอย่างของการขนส่งสินค้า คุณกานต์วรีชวนให้ดูเรือกระแชงจำลอง ทั้งที่เป็นของจำลองแต่มีขนาดใหญ่พอควร ซึ่งของจริงนั้นใหญ่กว่านี้มาก เรือนี้ใช้บรรทุกข้าวเปลือกไปโรงสีและบรรทุกข้าวสารไปจำหน่าย
การค้าข้าวในสมัยนั้นมีความรุ่งเรือง เรามองเห็นตรงนี้จากสิ่งของในตู้จัดแสดง ในการค้าข้าวต้องมีการว่าจ้างกุลีเป็นจำนวนมาก กุลีเหล่านั้นส่วนใหญ่เป็นชาวจีน ในจำนวนนั้นมีบางคนสูบฝิ่น ซึ่งเราจะเห็นหมอนหนุนสูบฝิ่นของจริง ส่วนอุปกรณ์ที่ใช้ในกิจการค้าข้าวได้แก่ ติ้ว ลังใส่ติ้ว กระสอบข้าว ตะกาว (ตะขอสำหรับเกี่ยวกระสอบ) กระบุงปากบานสำหรับใส่ข้าวเปลือกไปโรงสี นอกจากนี้ยังมีสิ่งของที่ชาวบ้านนำมาให้พิพิธภัณฑ์คือเครื่องดนตรีได้แก่ ระนาด กลอง
ในประวัติย้อนไปเรื่องการค้าข้าว เริ่มจากเหตุการณ์หลังจากรัฐบาลไทยทำสนธิสัญญาบาวริ่ง ทำให้ตลาดข้าวไทยขยายตัวกว้างขวาง เกิดโรงสีข้าวเป็นจำนวนมาก นับตั้งแต่ปลายรัชกาลที่4 เป็นต้นมา ตลาดสองฝั่งลำน้ำเจ้าพระยาทางด้านใต้ของพระนคร ซึ่งเป็นย่านอยู่อาศัยของชาวต่างชาติ จึงคับคั่งไปด้วยโรงสี และยังกระจายเข้าไปตั้งริมคลองใหญ่ๆ ที่ข้าวสารสามารถขนส่งสะดวก กิจการโรงสีข้าวระยะแรกเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ ดำเนินการโดยชาวตะวันตก แต่ในเวลาไม่นานนักก็มาตกอยู่ในมือพ่อค้าชาวจีน ซึ่งสะสมทุนจากการเป็นเจ้าภาษีนายอากรมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ในเดือนมีนาคม พ.ศ.2462 สมัยรัชกาลที่ 6 มีโรงสีในกรุงเทพมหานครทั้งหมด 57 โรง ในจำนวนนี้อยู่ทางฝั่งธนบุรีถึง 31โรง ส่วนใหญ่เป็นคหบดีชาวจีน โรงสีตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่คลองสานเรื่อยลงไปถึงย่านราษฎร์บูรณะ
สิ่งของจัดแสดงที่น่าสนใจอีกกลุ่มในพิพิธภัณฑ์คือ วัตถุโบราณของวัดประเสริฐสุทธาวาส ได้แก่ พระพุทธรูปเก่าแก่ ลวดลายปูนปั้นที่แกะออกมาจากพระอุโบสถเดิมก่อนการบูรณะวัด และที่เด่นสะดุดตาคือการจำลองหน้าบันของพระอุโบสถของวัดเข้ามาไว้ข้างในห้องใกล้กับทางออก คุณกานต์วรีอธิบายว่าพระอุโบสถของวัดนี้เป็นศิลปะแบบจีน วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ได้รับการบูรณะในสมัยรัชกาลที่3 โดยเล่ากันว่ามีชาวจีนซึ่งเลี้ยงหมูในแถบนั้นไปเก็บผักมาเลี้ยงหมูได้ไปพบเงินเข้า 3 ตุ่ม จึงนำเงินนั้นมาบูรณปฏิสังขรณ์วัด ตามจารึกในพระอุโบสถเมื่อปี 2381 สันนิษฐานว่าชาวจีนผู้นั้นน่าจะเป็นพระประเสริฐวานิช ซึ่งคงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เมื่อคราวที่สร้างวัดเสร็จแล้วนำไปน้อมเกล้าฯ ถวาย
วัดสำคัญอื่นๆ ที่อยู่ในเขตนี้ได้แก่ วัดบางปะกอก วัดนี้มีเจดีย์แบบศิลปะมอญและศิลปะเขมร วัดแจงร้อน ประดิษฐาน “หลวงพ่อวิหารแดง” บริเวณกรอบหน้าบันพระวิหารด้านนอกเป็นกรอบเกลี้ยง ไม่มีลวดลาย เป็นศิลปะสมัยรัชกาลที่3 ลายปูนปั้นบนซุ้มประตูหน้าต่างพระอุโบสถ เป็นลายปูนปั้นรูปผลไม้ เช่น ทับทิม น้อยหน่า มะม่วง สับปะรด ลายสัตว์น้ำ เช่น กบ ปลาทอง ปลาหมึก ปลาตีน ปู และลายสัตว์อื่นๆ เช่น กระต่าย ค้างคาว ช้างสามเศียร แพะ หมาจู
ยังมีสถานที่สำคัญอื่นๆ ที่อยู่ในเขตนี้ได้แก่ บ้านครูน้อย และบ้านดนตรีไทยในสวน คุณกานต์วรีเล่าว่า ครูน้อยเริ่มต้นจากการนำเด็กลูกกรรมกรใกล้บ้านที่ไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ ให้เด็กเหล่านี้ได้รู้หนังสือ โดยใช้บ้านมาเป็นสถานที่สอน เด็กเหล่านี้บางคนพิการทางสมอง พวกเขาถูกพ่อแม่ทอดทิ้ง ทุกวันนี้บ้านครูน้อยได้ทำเป็นกองทุนบ้านครูน้อย เพื่อให้สังคมได้ช่วยกันดูแล ที่โรงเรียนนี้มีเด็กของบ้านครูน้อยมาเรียนด้วย เวลาที่บ้านครูน้อยจัดกิจกรรม ครูน้อยจะเอารถมารับเด็กไปร่วมกิจกรรม
ส่วนบ้านดนตรีไทยในสวน ครูสิทธิ์ สมนาค หลังเกษียนท่านได้ทุ่มเทการสอนดนตรีไทยให้กับเยาวชนผู้สนใจท่ามกลางบรรยากาศอันร่มรื่น
เมื่อนำชมภายในพิพิธภัณฑ์แล้ว คุณกานต์วรีได้พาออกไปชมพระอุโบสถที่เป็นสถาปัตยกรรมแบบจีน อุโบสถนี้ไม่มีช่อฟ้าใบระกา สำหรับผู้ที่ต้องการเข้าชมควรติดต่อขออนุญาตจากเจ้าอาวาส เนื่องจากภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องสามก๊กของวัดนี้ถือเป็นสิ่งล้ำค่า เมื่อมองเห็นพระอุโบสถหลังนี้เราจะเห็นว่ามีความงดงามไปอีกแบบ เวลาแหงนมองที่หน้าบันจะเห็นลายปูนปั้นทำเป็นลวดลายประดับกระเบื้องมีสีสรรสวยงาม ในส่วนของจิตรกรรมฝาผนังโดยรอบทั้ง 4 ด้านนั้นดูสวยงามเป็นเอกลักษณ์ และเราไม่เคยเห็นจากที่ไหนมาก่อน กล่าวกันว่าเป็นฝีมือช่างสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ด้านหลังพระพุทธรูปองค์ประธาน มีการบันทึกความเป็นมาโดยมีแผ่นจารึกบอกเล่า แต่ตัวอักษรเลือนลางอ่านยาก
การได้มาเยี่ยมชมที่นี่แม้เราจะไม่เคยรู้รสชาติของการกินหมาก ไม่เคยมีวิถีชีวิตอยู่ริมแม่น้ำ ไม่เคยพายเรือ ไม่เคยเห็นภาพอดีตอันรุ่งเรือง แต่วัตถุสิ่งของกับฉากจำลองในพิพิธภัณฑ์ฯ ได้ทำให้เราเกิดจินตนาการในภาพเหล่านั้น พร้อมทั้งซึมซับว่าบรรพบุรุษของเราครั้งหนึ่งในอดีตเคยมีความเป็นอยู่และมีความเป็นมาอย่างไร
สาวิตรี ตลับแป้น / ผู้เขียน/ ถ่ายภาพ
ข้อมูลจาก : สำรวจภาคสนาม 8 สิงหาคม 2551
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสื่อออนไลน์
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยบล็อก
แนะนำพิพิธภัณฑ์โดยสารานุกรมไทย
วิถีชีวิตท้องถิ่นและภูมิปัญญา เครื่องดนตรี เรือ โรงเรียนวัดประเสริฐสุทธาวาส การทำสวน การค้าขาย สถานที่สำคัญ
พระราชวังพญาไท
จ. กรุงเทพมหานคร
อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
จ. กรุงเทพมหานคร
พิพิธภัณฑ์โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย
จ. กรุงเทพมหานคร