ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านกือเม็ง


พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านกือเม็ง ก่อตั้งโดยคุณสมาน ดอซอมิ และคนในชุมชนบ้านกือเม็ง ที่เห็นคุณค่าและความสำคัญของข้าวของเครื่องใช้ในอดีต และโบราณวัตถุที่พบในท้องถิ่น ซึ่งสะท้อนประวัติศาสตร์ของผู้คนในท้องถิ่น การติดต่อค้าขาย ด้วยความที่คุณสมานสนใจของเก่าของโบราณ และศิลปวัฒนธรรมมลายู ในพิพิธภัณฑ์นำเสนอเรื่องราววิถีชีวิต-วัฒนธรรมของคนมลายู ผ่านสิ่งของและศิลปะการละเล่น สิ่งของที่ใช้ในพิธีกรรม การแสดง รวมถึงเป็นของใช้ในชีวิตประจำวันของคนสมัยก่อน อาทิ กริช เครื่องทองเหลือ เครื่องใช้ในพิธีกรรมมะโย่ง นอกเหนือจากสิ่งของที่จัดแสดง ยังมีการฝึกอบรมงานหัตถกรรมท้องถิ่น การแสดงทางวัฒนธรรม รวมทั้งการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์เคลื่อนที่

ชื่อเรียกอื่น:
พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านกือเม็ง
ที่อยู่:
56 ม.1 ต.อาซ่อง อ.รามัน จ.ยะลา
โทรศัพท์:
087-8224354 ติดต่อคุณสมาน โดซอมิ
วันและเวลาทำการ:
ทุกวัน เว้นวันศุกร์ 8.00-16.00 น. (กรุณาติดต่อล่วงหน้า)
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าเข้าชม
ปีที่ก่อตั้ง:
2553
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านกือเม็ง เรื่องเล่าจากข้าวของพื้นบ้านมลายู

ชื่อผู้แต่ง: อัครวิทย์ ชูเกียรติศิริชัย | ปีที่พิมพ์: 7 มี.ค. 2555;07-03-2012

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ

แหล่งค้นคว้า: ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

โดย: ศมส.

วันที่: 25 กุมภาพันธ์ 2557


ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านกือเม็ง

          บ้านกือเม็ง ตั้งอยู่ใน อำเภอรามัน จังหวัดยะลา เดิมรามันเคยเป็นเมืองที่ผลิตกริชและอาวุธสงครามส่งให้กองทัพปัตตานี  รามันและหมู่บ้านที่อยู่บริเวณใกล้เคียงมักพบกริชหลายตระกูลของแหลมมลายู   ชุมชนจึงมีความคิดเห็นในการทำพิพิธภัณฑ์เรื่องกริช  และเรื่องเล่าข้าวของมลายูในพิธีกรรมต่างๆ โดยใช้ชื่อว่า “พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านกือเม็ง”

          “พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านกือเม็ง” เกิดขึ้นจากของในบ้านและของสะสมของคุณสมาน โดซอมิ และครอบครัว รวมถึงคนในชุมชนที่เห็นคุณค่าและความสำคัญของเครื่องใช้เก่า และโบราณวัตถุที่พบในท้องถิ่น ซึ่งสะท้อนประวัติศาสตร์ของผู้คนในท้องถิ่น การติดต่อค้าขาย เป็นทุนทางสังคมและวัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์เล็กๆ ในบ้านจึงเป็นศูนย์บูรณาการวัฒนธรรมพื้นบ้านในชุมชน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2538     โดยการ  มีส่วนร่วมของชุมชน  และเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ชุมชน และเอกชนในท้องถิ่น จัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้และเผยแพร่วัฒนธรรมวิถีชีวิตชุมชน เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่พึ่งพาภูมิปัญญาท้องถิ่นของตน และนำองค์ความรู้ในชุมชนที่ได้จากปราชญ์ชาวบ้าน  และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในชุมชน มาวิเคราะห์ สังเคราะห์ และมาบูรณาการให้เกิดการพัฒนา

            พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านกือเม็ง ได้นำเสนอเรื่องราววิถีชีวิต - วัฒนธรรมของคนมลายูผ่านสิ่งของและศิลปะการละเล่น สิ่งของหลายชิ้นใช้ในพิธีกรรม การแสดง รวมถึงเป็นของใช้ประจำวันของคนสมัยก่อนที่สะท้อนเรื่องราวความสัมพันธ์ของผู้คนในด้านต่างๆ

          พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านกือเม็ง ได้จัดแสดงเป็นเรื่องเล่าข้าวของพื้นบ้านมลายูจากประสบการณ์จริง คำบอกเล่าของปู่ย่าตายาย - คนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้าน และหมู่บ้านอื่นๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อค้นคว้าหาความรู้เกี่ยวกับวัตถุสิ่งของที่ใช้ในพิธีการบางอย่างทั้งในด้านประวัติความเป็นมา วิถีชีวิตความเป็นอยู่

            วัตถุชิ้นสำคัญได้แก่

            รือบับ หรือฆือบับ ซอสามสายพื้นบ้านไทยมุสลิม เป็นซอสามสายพื้นบ้านไทยมุสลิม ที่ใช้กันอยู่ในวงดนตรีพื้นบ้านที่เรียกว่า มะโย่ง และตือรี พบมากบริเวณจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส  เป็นเครื่องดนตรีประเภทสี มีลักษณะหน้าตาคล้ายกับซอสามสายของดนตรีไทย ที่ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วน คือ

            1. บาลอ คือ บริเวณทวนบน หรือ โขน มีลักษณะเหมือนมงกุฎหรือชฎา มียอดแหลมงดงาม แกะสลักและประดับประดาคล้ายดอกข่า ส่วนนี้มีรู 3 รู สำหรับใส่ ตือรีงอ (ลูกบิด) ซึ่งมี 3 ลูก มีช่องสำหรับใส่สายพาดลงมาเหมือนอย่างซอสามสายของไทย 

            2. บาแด คือ บริเวณคันทวน เป็นไม้ทรงกระบอกกลม ส่วนนี้เป็นที่ผูกดาลิกาแม (รัดอก) และเป็นที่สำหรับวางนิ้วลงบนสายในการเล่น

            3. บูกง คำว่า บูกงนั้นแปลว่า กะลา หมายถึงส่วนกะโหลกของซอ ส่วนนี้ทำด้วยไม้ขนุน ขุดให้รูปร่างคล้ายชามอ่าง ทรงสี่เหลี่ยมคางหมู ในส่วนนี้จะมีส่วนประกอบอื่นๆ อีก คือ

                        3.1 กากี (เท้าซอ) เป็นไม้ขนาดเล็กใช้สำหรับวางรือบับเวลาสี

                        3.2 กามุ หรือ ราโม๊ะ เป็นไหมพรมยาว ๆ คลุมอยู่ด้านหลังของบูกงเหมือนผมคน

                        3.3 บาจะ (หย่อง) คำว่า บาจะ แปลว่า “ทาก”

                        3.4 ซูซู คือ ส่วนหน้าของรือบับ ใช้รังของแมงลาโล๊ะปั้นเป็นก้อนเท่าหัวแม่มือปิดมุมบนขวาของหน้ารือบับ ช่วยให้เสียงชัดเจนก้องกังวานไพเราะ

                        3.5 กูและดอเมาะ (หน้าของรือบับ) หุ้มด้วยหนังแพะหรือหนังลูกวัว

            เครื่องแต่งกายตัวพระมะโย่ง  ที่จัดแสดง 2 ชิ้น คือ

            1. ตัวเสื้อคลุมไหล่มะโย่ง ทำผ้าสีดา ปักเย็บด้วยลูกปัดแก้วเป็นลวดลายต่างๆ ที่ชายผ้าจะร้อยเป็นระย้าด้วยลูกปัดแก้วที่ปลายถ่วงด้วยพู่ไหมพรมสีแดง 

            2. มงกุฎตัวพระมะโย่ง   เป็นมงกุฎมะโย่งยุคที่  2  ที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในหมู่นักแสดงมะโย่ง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการแต่งกายตัวพระ หรือ ตัวเจ้าเมือง

            เครื่องแต่งกายตัวพระมะโย่งนี้ได้รับบริจาคจากนายหามะ   บ้านยือนือแระ  ตำบลจักวะ   อำเภอรามัน จังหวัดยะลา

กริชยาว เป็นกริชที่ใช้ในหมู่เจ้าเมืองมลายูและขุนนาง  กริชเป็นเครื่องประดับยศที่ใช้ถือ ไม่นิยมเหน็บ ส่วนมากจะเป็นกริชที่เจ้าเมืองมลายูพระราชทานให้กับพวกขุนนาง  กริชเล่มนี้เป็นมรดกตกทอดของต้นตระกูลโดซอมิ และได้มอบให้พิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษา  ด้ามกริชแกะจากเขากวาง  ใบกริชอาเนาะลังจือรีตอ ฝักกริชทำจากไม้แก้ว  มีความยาว 2 ศอก

            ปืนคาบชุด  เป็นปืนที่ได้รับอิทธิพลจากชาวโปรตุเกส ที่มาสอนให้กับกองอาสาทหารปืนยุคแรก ๆ ที่ใช้กันในสมัยอยุธยาและแหลมมลายู  ต่อมาได้แพร่หลายมาสู่ชนพื้นเมือง เพื่อเป็นอาวุธป้องกันตัวและใช้ล่าสัตว์ เป็นปืนที่ประดิษฐ์ด้วยไม้ขนุนและหล่อด้วยเหล็กเนื้อดี ไม่ขึ้นสนิม รูปทรงสวยงาม  ขนาดความยาว 4 ศอก  ปืนกระบอกนี้ได้รับบริจาคจาก นายอาแว  คามิ  อายุ 98 ปี อาชีพควานช้าง  บ้านแลแวะ อำเภอทุ่งยางแดง  จังหวัดปัตตานี  ท่านเล่าว่าท่านได้เรียนการหล่อปืนจากครูท่านหนึ่งที่ปัตตานี  เมื่อสมัยหนุ่ม ๆ  และได้ขึ้นทะเบียนปืน และทะเบียนการทำกระสุนด้วย ที่อำเภอทุ่งยางแดง

มีดบาแดะหัวมาการา เป็นอาวุธสั้นและเครื่องรางชนิดหนึ่ง  ที่ใช้กันแพร่หลายในหมู่คนภาคใต้ ใช้เหน็บไว้ที่สะเอว  พกพาติดตัวตลอด และบางครั้งใช้เป็นมืดหมอด้วย  ด้ามมีดบาแดะนี้ประดิษฐ์ขึ้นจากทองเหลือง   เป็นนกมาการา (MAKARA) คล้ายนกหัสดีลิงค์  ของไทย  ใบมีดทำจากเหล็กเนื้อดี ขนาด 1 คืบ 3 นิ้ว

 

 

ชื่อผู้แต่ง:
ประเสริฐ รักษ์วงศ์

รีวิวของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านกือเม็ง

บ้านกือเม็ง ตั้งอยู่ใน อ.รามัน จ.ยะลา เดิมรามันเคยเป็นเมืองที่ผลิตกริชและอาวุธสงครามส่งให้กองทัพปัตตานี รามันหรือหมู่บ้านที่อยู่บริเวณใกล้เคียงมักพบกริชหลายตระกูลของแหลมมลายู ชุมชนจึงมีความคิดเห็นในการทำพิพิธภัณฑ์เรื่องกริชและเรื่องเล่าข้าวของมลายูในพิธีกรรมต่างๆ โดยใช้ชื่อว่า “พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านกือเม็ง”
 
“พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านกือเม็ง” เกิดขึ้นจากของในบ้านและของสะสมของคุณสมาน โดซอมิ และครอบครัว รวมถึงคนในชุมชนที่เห็นคุณค่าและความสำคัญของเครื่องใช้เก่า และโบราณวัตถุที่พบในท้องถิ่น ซึ่งสะท้อนประวัติศาสตร์ของผู้คนในท้องถิ่น การติดต่อค้าขาย เป็นทุนทางสังคมและวัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์เล็กๆในบ้านจึงเป็นศูนย์บูรณาการวัฒนธรรมพื้นบ้านในชุมชน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน และเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ชุมชน และเอกชนในท้องถิ่น จัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้และเผยแพร่วัฒนธรรมวิถีชีวิตชุมชน เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่พึ่งพาภูมิปัญญาท้องถิ่นของตน และนำองค์ความรู้ในชุมชนที่ได้จากปราชญ์ชาวบ้านและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในชุมชน มาวิเคราะห์ สังเคราะห์ และมาบูรณาการให้เกิดการพัฒนา
 
ด้วยความที่คุณสมานสนใจของเก่าของโบราณ และศิลปวัฒนธรรมมลายู ในพิพิธภัณฑ์จึงอยากนำเสนอเรื่องราววิถีชีวิต-วัฒนธรรมของคนมลายูผ่านสิ่งของและศิลปะการละเล่น สิ่งของหลายชิ้นใช้ในพิธีกรรม การแสดง รวมถึงเป็นของใช้ประจำวันของคนสมัยก่อน จึงมีเรื่องราวสะท้อนความสัมพันธ์ของผู้คนในด้านต่างๆ
 
พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านกือเม็งได้จัดแสดงเป็นเรื่องเล่าข้าวของพื้นบ้านมลายูจากประสบการณ์จริง คำบอกเล่าของปู่ย่าตายาย-คนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้าน และหมู่บ้านอื่นๆในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อค้นคว้าหาความรู้เกี่ยวกับวัตถุสิ่งของที่ใช้ในพิธีการบางอย่างทั้งในด้านประวัติความเป็นมา วิถีชีวิตความเป็นอยู่
--------------------------------------
วริสรา แสงอัมพรไชย / สรุป
ข้อมูลจาก :การประชุมเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคใต้ จัดโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เมื่อวันที่ 12 - 13 มีนาคม พ.ศ. 2555  ณ โรงแรมทวินโลตัส จ.นครศรีธรรมราช
ชื่อผู้แต่ง:
-