พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตธนบุรี


ที่อยู่:
ชั้น 3 โรงเรียนส่งเสริมพุทธศาสนาวันอาทิตย์ วัดประยูรวงศาวาส ถ.ประชาธิปก เขตธนบุรี กรุงเทพฯ 10600
โทรศัพท์:
0-2465-5542
วันและเวลาทำการ:
วันพุธ-วันอาทิตย์ ตั้งแต่ 08:00 – 16:00 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
ปีที่ก่อตั้ง:
2548

โดย: -

วันที่: 12 มีนาคม 2555

โดย: -

วันที่: 12 มีนาคม 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

คู่มือท่องเที่ยว พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตธนบุรี

ชื่อผู้แต่ง: กองการท่องเที่ยว สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร | ปีที่พิมพ์: มปป.

ที่มา: กรุงเทพฯ:กองการท่องเที่ยว สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร

แหล่งค้นคว้า: ศมส.

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555


ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตธนบุรี

“ขนมฝรั่งกุฎีจีน” หลายๆ ท่าน คงจะเคยได้ยินชื่อของขนมชนิดนี้ หรือเคยเห็นภาพจากรายการทีวี จากหนังสือ และที่แน่ๆ ในหลายๆ ท่านนั้นก็คงไม่เคยชิมขนมฝรั่งกุฎีจีนที่ว่านี้ ผู้เขียนก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ไม่เคยชิมขนมกุฎีจีนนี้เช่นกัน วันนี้ผู้เขียนจะได้ไปเห็นของจริง และชิมขนมฝรั่งกุฎีจีนกันถึงถิ่น ที่เขตธนบุรี 

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตธนบุรี ตั้งอยู่บนชั้น 3 ของโรงเรียนพุทธศาสนาวัดอาทิตย์ของวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร คุณทิพวรรณ สืบจากทิพย์ อาสาสมัครประจำพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เธอได้เล่าให้เราฟังว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้แบ่งออกเป็น 3 โซน ด้วยกัน โซนแรกจะบอกเล่าเกี่ยวกับเมืองธนบุรี จนเปลี่ยนการปกครอง จากจังหวัดธนบุรีถูกรวมเข้ากับจังหวัดพระนคร เป็น “นครหลวงกรุงเทพธนบุรี” และเปลี่ยนเป็น “กรุงเทพมหานคร” ในปัจจุบัน ซึ่งเขตธนบุรีถือเป็นเขตชั้นในของกรุงเทพหมานคร 

เขตธนบุรีเป็นเขตที่ผสมผสานความแตกต่างและหลากหลายทางวัฒนธรรม ของกลุ่มเชื้อชาติต่างๆ ซึ่งมีทั้ง จีน โปรตุเกส แขก มอญ ลาว นอกจากนี้ยังจัดแสดงเกี่ยวกับศาสนสถาน วัฒนธรรมประเพณีของกลุ่มชนต่างๆ เช่น ศาลเจ้าเกียนอันเกง คริสตจักรที่ 1 สำเหร่ ศูนย์รวมความเคารพศรัทธาของชาวจีน วัดซางตาครู้ส วัดคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิค ของชาวโปรตุเกสมัสยิดบางหลวง (กุฎีขาว) ศาสนสถานของชาวมุสลิม วัดบางไส้ไก่ของชาวไทยเชื้อสายลาว วัดประดิษฐาราม ของชุมชนชาวมอญ

ส่วนประเพณีของกลุ่มชนต่างๆ การเล่นสะบ้า ในประเพณีสงกรานต์ของชาวมอญ และการแสดงธงตะขาบ เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งการขึ้นปีใหม่ โดยการนำไปแขวนที่เสาหงส์ในวันสงกรานต์เช่นกันของชาวมอญ ในส่วนนี้ยังจัดแสดงเครื่องแต่งกายของชาวโปรตุเกส และเครื่องแต่งกายของชาวมุสลิมใช้ประกอบพิธีละหมาดทั้งหญิง และชาย

ในโซนถัดไปจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวเนื่องกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี วีรกษัตริย์ผู้กอบกู้ชาติไทย และสถาปนากรุงธนบุรี ทั้งพระราชประวัติ และพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่าน และการก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

ในโซนสุดท้ายจัดแสดงถึงศิลปะวัฒนธรรม และของดีเขตธนบุรี เมื่อก่อนบริเวณนี้ปลูกต้นพลู จะมีสวนพลูมากมาย คุณทิพวรรณ บอกว่าพันธุ์ที่ดีคือพันธุ์พลูค้างทองหลาง ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้เลื้อย และปลูกบนดินโคลน จึงเกิดภูมิปัญญาคือ “รองเท้ากาบหมาก” ที่ทำจากกาบหมากสามารถเดินบนโคลนโดยไม่จมดิน และยังมีเล็บปลอม เหมือนปลอกนิ้วหัวแม่มือ เพื่อการเก็บใบพลู ใบพลูจะได้ไม่ช้ำ ขายได้ราคาดี

ถัดมาข้างๆ จัดแสดงของดีเขตธรบุรี นั่นก็คือ ขนมฝรั่งกุฎีจีน ซึ่งคุณทิพวรรณบอกว่าจะคล้ายๆ กับขนมไข่ เป็นขนมของชาวโปรตุเกส สามารถเดินไปหาชิมได้ด้านหลังของวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร อันเป็นที่ตั้งของชุมชนกุฎีจีน และแหล่งผลิตขนมกุฎีจีน 

ขนมบดิน เป็นขนมของชาวมุสลิม จะหาทานได้ที่บริเวณบ้านแขก และปลาทูนึ่งวัดขุนจันทร์ ซึ่งเป็นปลาที่สามารถทานได้ทั้งก้าง แต่ปัจจุบันนี้หาไม่ได้แล้ว ถ้าเป็น ของอร่อยตลาดพลู คุณทิพวรรณบอกว่า ต้องเป็นกุยช่าย ขนมเบื้องโบราณ หมี่กรอบจีนหลี ซึ่งยังหาทานได้ที่ย่านการค้าของชาวสวนที่ตลาดพลู

ในส่วนของศิลปวัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์จัดแสดงเรื่องราว “หัวโขนบ้านศิลปไทย” โดยคุณลุงสุข เพไพ และคุณป้าเจริญ กิจราษฎร์ ผู้ประดิษฐ์หัวโขน หัวละคร มาตั้งแต่ พ.ศ.2507 จนได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรมภาคกลาง สาขาศิลปะ การช่างศิลปะ และการช่างฝีมือ “หมูกระดาษ” ป้าจา ของเด็กเล่นซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านในชุมชนวัดประยุรวงศาวาส สืบทอดกันมานานกว่า 50 ปี ซึ่งจะขายดีในช่วงเทศกาลต่างๆ โดยเฉพาะเทศกาลตรุษจีน ชาวจีนจะซื้อเข้าร้านเพื่อความเป็นศิริมงคล เพราะหมูกระดาษของป้าจาจะมีสีแดงทั้งตัว

เขตธนบุรี มีสำนักดนตรีไทย อยู่หลายสำนัก เช่น ตระกูลพาทยโกศล ตระกูลสุนทรวาทิน ตระกูลคงลายทอง มีระบบเสียงเพื่อให้เราได้ทดลองฟังทำนองเพลงที่ทั้ง 2-3 สำนักนี้ได้แต่งไว้ด้วยเช่น เพลงชาติไทย ทำนองไทย ประพันธ์ทำนองโดย จางวางทั่ว พาทยโกศล “เพลงครวญหา” จากบทละครเรื่องเงาะป่า พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประพันธ์ทำนองโดย พระยาเสนาะดุริยางค์ และยังมีเสียงตัวอย่างขลุ่ยแต่ละชนิด เช่นขลุยเพียงออ ขลุยอู้ ฯลฯ จาก “ขลุ่ยบ้านลาว” บรรเลงโดย คุณจรินทร์ กลิ่นบุปผา ซึ่งมีความไพเราะมาก

เมื่อได้ชมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น เขตธนบุรีแล้ว ผู้เขียนได้เดินชมบริเวณโดยรอบวัด เพื่อความเป็นสิริมงคล ผู้เขียนได้ไปกราบ “พระพุทธนาคน้อย” พระพุทธรูปโบราณสำคัญในพระอาราม มีลักษณะงดงามมาก เมื่อเดินออกมาจากโบสถ์จึงได้สังเกตเห็น “รั้วเหล็ก” ที่คุณทิพวรรณ ได้เล่าให้เราฟังว่า สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ) นำเข้าจากประเทศอังกฤษ แล้วทูลเกล้าฯถวาย แด่สมเด็จพระนั่งเกล้าฯ แต่พระองค์ไม่ทรงโปรด เพราะปลายเป็นรูปดาบ รูปขวาน สมเด็จเจ้าพระยาฯ ขอพระราชทานคืน แล้วนำมาล้อมประดับพระอารามที่สร้างขึ้น แล้วถวายเป็นพระอารามหลวงใน รัชกาลที่ 3 แห่งนี้

เดินทะลุด้านหลังของวัดจะพบกับโบสถ์ซางตาครู้ส และซอยชุมชนกุฎีจีน แน่นอนเรากำลังจะไปชิมขนมกุฎีจีน ซึ่งชุมชนนี้อยู่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา บรรยากาศดี ยังได้เห็น สะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ หรือสะพานพุทธฯ ที่เราเรียกกันในปัจจุบัน

เรื่อง/ภาพ : ณัฐพัชร์ ทองคำ

สำรวจ : 1 พฤษภาคม 2551

ชื่อผู้แต่ง:
-