พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งพระเกจิอาจารย์ วัดกระทุ่มเสือปลา


ที่อยู่:
วัดกระทุ่มเสือปลา หมู่ 3 ซอยอ่อนนุช 67 แขวงประเวศ เขตประเวศ กรุงเทพฯ 10250
โทรศัพท์:
0-2328-7776
วันและเวลาทำการ:
เปิดทุกวัน
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งพระเกจิอาจารย์ วัดกระทุ่มเสือปลา

มีแต่คนที่ตายไปแล้วที่จะมีรูปเหมือน คติความเชื่ออันนี้เป็นสิ่งที่มีมาจนถึงปัจจุบัน ขณะเดียวกันก็นึกเสียดายที่ปูชนียบุคคลในอดีตหลายท่าน เราต่างไม่รู้จักหน้าตา เพราะคิดกันว่าการปั้นรูปเหมือนตนเอง ไม่ใช่สิ่งที่เป็นมงคลสำหรับคนที่ยังมีชีวิตอยู่ หุ่นขี้ผึ้งพระเกจิอาจารย์ วัดกระทุ่มเสือปลา เป็นความตั้งใจและความทุ่มเทเพื่อให้คนรุ่นหลังได้รำลึกถึงคุณงามความดีที่พระเกจิอาจารย์เหล่านี้ได้สร้างไว้

การเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้ง สิ่งที่สะดุดตาครั้งแรกคือเรือนไทยไม้สัก ท่ามกลางแมกไม้ ด้านหลังติดกับคลองประเวศบุรีรมย์ ดูแล้วสมฐานะของรูปเหมือนพระเกจิอาจารย์ที่ได้อัญเชิญมาไว้ที่นี่ พิพิธภัณฑ์สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ.2541 จัดแสดงหุ่นขี้ผึ้งแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนด้านหน้าเป็นพระที่เป็นที่เคารพนับถือของคนในท้องถิ่นได้แก่ หลวงปู่ทอง อายานะ วัดราชโยธา เขตประเวศ หลวงพ่อเผือก วัดกิ่งแก้ว สมุทรปราการ หลวงพ่อโอภาสี อาศรมบางมด กรุงธนบุรี อีกส่วนหนึ่งจะเริ่มจากพระพุทธรูปหลวงพ่อโสธร จากนั้นจะเป็นหุ่นขี้ผึ้งพระเกจิอาจารย์ 8 องค์ ซึ่งได้แก่พระเกจิอาจารย์ดังต่อไปนี้

พระราชมุณีสามีรามคุณูปมาจารย์ (หลวงปู่ทวด) วัดช้างให้ จ. ปัตตานี เป็นพระศักดิ์สิทธิ์ที่มีปาฏิหาริย์และอภิญญาแก่กล้า ท่านเป็นพระภิกษุในสมัยอยุธยาในแผ่นดินของสมเด็จพระเอกาทศรถ หลวงปู่ทวดท่านมีสมญานามว่า “หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด” โดยมีเรื่องเล่าว่าตอนที่ท่านเดินทางโดยเรือสำเภาผ่านอ่าวไทยเพื่อเข้ากรุงศรีอยุธยา ได้เกิดคลื่นลมทะเลปั่นป่วน เรือไม่สามารถแล่นฝ่าคลื่นลม ต้องทอดสมออยู่กลางทะเลถึง 7 วัน จนเสบียงอาหารและน้ำหมด บรรดาลูกเรือจึงตั้งข้อสังเกตว่าการเกิดอาเพศครั้งนี้เป็นเพราะท่านที่เป็นภิกษุลงเรือมาด้วย จึงตกลงใจส่งท่าขึ้นเกาะโดยนิมนต์ท่านให้ลงเรือมาด ขณะที่ท่านอยู่ในเรือมาดนั้น ท่านได้ห้อยเท้าซ้ายแช่ลงไปในน้ำทะเล ได้บังเกิดอัศจรรย์ขึ้น เมื่อน้ำทะเลบริเวณนั้น เกิดประกายแวววาวโชติช่วง ท่านจึงบอกให้ลูกเรือตักน้ำขึ้นมาดื่ม เมื่อดื่มน้ำนั้นก็รู้สึกว่าเป็นน้ำจืด จึงช่วยกันตักไว้จนเพียงพอ นายสำเภาเรือจึงนิมนต์ให้ท่านขึ้นเรือสำเภาอีกครั้ง

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆัง กรุงเทพฯ ท่านเป็นคนที่มีอายุถึง 5 รัชกาลคือรัชกาลที่ 1-5 คนส่วนใหญ่จดจำสมเด็จโตได้จากพระคาถาชินบัญชร ที่มาของพระคาถาอยู่ในคราวที่ท่านได้เดินทางไปกำแพงเพชร เพื่อเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ ท่านไปที่วัดเก่าแห่งหนึ่งชื่อวัดเสด็จ มีเจดีย์โบราณบรรจุพระบรมธาตุอยู่บนฝั่งแม่น้ำปิง พบคัมภีร์โบราณผูกหนึ่งเป็นภาษาสิงหลฝังอยู่ในพระเจดีย์นั้น ท่านได้หยิบใส่ย่ามและเก็บไว้ที่กุฏิแดงวัดระฆังฯ จากนั้นท่านได้นำคัมภีร์เล่มนั้นออกมาศึกษา แปลได้ความว่า ปัญจระสูตรอัญเชิญพระบารมีพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์มาปกป้องคุ้มครอง ท่านได้รจนาตัดทอนบางส่วนออก บางคำที่แปลไม่ได้ ท่านก็คงไว้แล้วตั้งชื่อพระคาถาบทนี้ว่า “ชินบัญชร”

หลวงปู่เนียม วัดน้อย บ้านสามหมื่น อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี เป็นชื่อที่ชาวสุพรรณและคนในวงการพระเครื่องรู้จักกันดีในด้านปาฏิหาริย์ต่างๆ หลวงปู่เนียมมีอายุยืนยาวถึง 4 รัชกาล เกิดเมื่อ พ.ศ.2372 ในรัชกาลที่ 3 มีชีวิตคลุกคลีอยู่กับวัด ได้เรียนอักขระขอมและภาษาบาลี และขณะที่ท่านอุปสมบทนอกจากการศึกษาด้านธรรมะยังมีความสนใจในทางวิปัสสนาและทางไสยศาสตร์คาถาอาคมด้วย การถ่ายรูปหลวงปู่เนียมเล่ากันว่าถ่ายไม่ติด น้ำมนต์ของหลวงปู่เนียมว่ากันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ไม่เฉพาะน้ำมนต์ในโอ่งเท่านั้นที่ท่าวัดของท่านก็เป็นน้ำมนต์ ในสมัยนั้นเจ้านายมียศถาบรรดาศักดิ์ก็ไปขออาบน้ำมนต์จากท่าน หลวงปู่เป็นคนที่มีความเมตตาต่อสัตว์เลี้ยง ท่านเลี้ยงแมว สุนัข ไก่ และงูเห่า ดังนั้นในกุฏิของท่านจึงเต็มไปด้วยมูลสัตว์ต่างๆ งูเห่าของท่านมี 2 ตัว ตัวใหญ่ก่อนที่จะหายไปได้มาลาท่านด้วยการแผ่แม่เบี้ยคำนับ 3 ครั้ง ส่วนตัวเล็กหายไปหลังจากท่านมรณภาพไปแล้ว หลวงปู่เนียมมรณภาพเมื่ออายุ 80 ปี โดยมรณภาพในลักษณะเหมือนพระพุทธรูปปางไสยาสน์

พระครูวิหารกิจจานุการ (หลวงพ่อปาน) วัดบางนมโค จ.อยุธยา ท่านได้สร้างพระเครื่องไว้มากมาย เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2463 จนใกล้มรณภาพ พระหลวงพ่อปานมีชื่อเสียงในด้านคงกระพันแคล้วคลาด เมตตามหานิยม มีสัญลักษณ์ประจำตัวที่นิ้วก้อยมือซ้ายเป็นปานแดงตั้งแต่โคนนิ้วถึงปลายนิ้ว หลวงพ่อปานได้เรียนกรรมฐานวิปัสสนาพุทธาคมต่างๆ ในขณะที่อยู่ที่วัดบางปลาหมอ โดยมีหลวงพ่อสุ่นเป็นอาจารย์ นอกจากนี้ยังมีในด้านการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ การรักษาคนที่ถูกคุณไสยฯ ในขณะที่อยู่กรุงเทพฯ ท่านได้เรียนเพิ่มเติมที่วัดสังเวชด้านแพทย์แผนโบราณ ในขณะที่อยู่ที่วัดบางนมโค จ.อยุธยา ได้มีคนมาหาให้รักษาโรคภัยไข้เจ็บ และให้รักษาคนที่ถูกคุณไสยฯ คนที่ได้รับการรักษาต่างไม่ผิดหวังที่ให้หลวงพ่อปานรักษา หลวงพ่อปานมีลักษณะของมหาบุรุษ ผิวพรรณขาวสะอาด เสียงกังวานไพเราะ ใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส ลักษณะรูปกายสมส่วน มีความเมตตาปราณี ไม่ถือชั้นวรรณะ ว่ากันว่าบุคคลที่มีจิตใจชั่วช้ามัวเมา หากได้สนทนากับหลวงพ่อ จะกลับเนื้อกลับตัวเป็นคนดี

พระครูวิมลคุณากร (หลวงปู่ศุข) วัดปากคลองมะขามเฒ่า จ.ชัยนาท เกิดในปีพ.ศ. 2390 ที่บ้านมะขามเฒ่า เมื่อได้อุปสมบทศึกษาพระธรรมวินัยพอสมควร ได้ออกเดินธุดงค์ฝึกวิปัสสนาฯ และศึกษาวิชาอาคมจากสำนักที่มีชื่อเสียง ในช่วงที่มีชีวิตอยู่ ท่านได้พัฒนาท้องถิ่นให้เจริญรุ่งเรือง จากวัดร้างมาเป็นพุทธาวาส ธรรมาวาส และสังฆาวาส เป็นวัดที่สมบูรณ์แบบมาจนถึงปัจจุบัน ท่านได้แนะแนวการประพฤติดีในการอบรมสั่งสอน ให้เห็นคุณและโทษของผลการปฏิบัติตน จนประชาชนที่อยู่บริเวณนั้นส่วนใหญ่ประพฤติดีมีศีลธรรม นอกจากนี้ยังมีคนกล่าวว่าท่านมีวิชาอาคมเวทย์มนต์ สามารถเสกใบไม้ให้เป็นตัวต่อ ตัวแตน และปลุกเสกสิ่งต่างๆ ในเรื่องของอภินิหารของขลัง คงกระพันชาตรีนี้เอง ทำให้กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ได้มอบตัวเป็นศิษย์ ปัจจุบันชาวชัยนาทผู้ที่มีจิตศรัทธาเลื่อมใส ได้ร่วมกันสร้างหุ่นขี้ผึ้งไว้ที่วัดปากคลองมะขามเฒ่า เพื่อได้สักการะบูชา

พระมงคลเทพมุนี (หลวงพ่อสด) วัดปากน้ำภาษีเจริญ กรุงเทพฯ เกิดวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2427 ท่านเป็นผู้เห็นความสำคัญกับการให้การศึกษากับเด็ก ท่านกล่าวว่าเด็กๆ ที่ไร้การศึกษาเป็นคนรกชาติ ต่อไปก็จะกลายเป็นอันธพาล จึงได้ตั้งโรงเรียนราษฎร์ โดยหาทุนค่าครูสอนเอง นักเรียนไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน ทั้งหมดเป็นภาระของวัด ผู้ปกครองนักเรียนเห็นบุญคุณของท่านจึงเกิดความเลื่อมใส นโยบายของหลวงพ่อทำให้คนเกรงใจวัดและเห็นบุญคุณของวัด ต่อมาได้มีการใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษา รัฐบาลได้จัดโรงเรียนสถานศึกษา จากนั้นมารัฐบาลจึงเป็นภาระทางด้านนี้ หลวงพ่อจึงหันมาจัดการศึกษาทางบาลีและทางปฏิบัติธรรม

พระราชพรหมยาน(หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี ท่านเป็นปูชนียบุคคล พร่ำสอนธรรมะและสงเคราะห์เกื้อกูลมหาชน เกิดเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2460 มรณภาพวันที่ 30 พ.ตุลาคม พ.ศ. 2535 ตลอดเวลาการอุปสมบท ได้สร้างโรงพยาบาล โรงเรียน จัดตั้งธนาคารข้าว ออกเยี่ยมเยียนทหารและตำรวจตระเวนชายแดนตามหน่วยต่างๆ เพื่อปลอบขวัญและกำลังใจ และแจกอาหาร ยา อุปกรณ์อำนวยความสะดวกและวัตถุมงคลทั่วประเทศ ทางด้านพระศาสนา ทได้สั่งสอนพุทธบริษัทศิษยานุศิษย์ให้มุ่งพระนิพพานเป็นหลัก โดยให้ประพฤติปฏิบัติกาย วาจา ใจ ในทาน ในศีลและในกรรมฐาน ได้สร้างพระพุทธรูปและถาวรวัตถุในพระพุทธศาสนามากกว่า 30 วัด รวมทั้งฟื้นฟูวัดท่าซุงด้วยเงินกว่า 600 ล้านบาท สร้างพระไตรปิฎก และถวายผ้าไตรแก่วัดต่างๆปีละไม่ต่ำกว่า 200 ไตร

เจ้าคุณพระสุนทรธรรมากร (หลวงปู่คำพันธ์) วัดธาตุมหาชัย จ.นครพนม เกิดประมาณ พ.ศ. 2457 ท่านมีความชำนาญการแสดงพระธรรมเทศนาโวหาร บรรยายธรรม เทศนาธรรมแบบปุจฉาวิสัชนา 2 ธรรมาสน์ จนมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วเขตอีสานเหนือ ชำนาญการเทศนาธรรมทำนองแหล่ภาษาอีสาน มีความสามารถในการประพันธ์กลอนแหล่ทำนองอีสาน เช่น กลอนอัญเชิญพระเวสสันดรเข้าเมือง พระเวสสันดรทรงพบพระประยูรญาติ พระเวสสันดรลาป่า นางมัทรีเดินป่า เป็นต้น ท่านเป็นพระวิปัสสนาอาจารย์ใหญ่ สายพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พระอาจารย์ฝั้น อาจารโร นอกจากนี้ยังมีความชำนาญการด้านการออกแบบก่อสร้างทั้งงานไม้งานปูน โดยเป็นผู้นำในการก่อสร้างกุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ และพระธาตุมหาชัย 

ปัจจุบันวัดกระทุ่มเสือปลามีเจ้าอาวาสคือ พระครูปลัดสุรศักดิ์ วิริยทโร ในการเยี่ยมชม พระรัตนตรัย ขติกโร ได้อธิบายว่าพิพิธภัณฑ์นี้สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงหลวงพ่อฤาษีลิงดำและพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย ซึ่งพระอริยสงฆ์เหล่านี้ได้สร้างคุณงามความดีไว้อย่างมากมาย ทำให้ชนรุ่นหลังได้รู้จัก ได้มองเห็นเป็นรูปธรรมว่าหน้าตาพวกท่านเป็นอย่างนี้ ในอนาคตทางวัดจะทำรายละเอียด ประวัติ และคุณงามความดีที่ท่านได้สร้างไว้ เพราะทุกวันนี้บางคนจะรู้จักท่านเฉพาะแต่ความมีชื่อเสียงในเรื่องของพระเครื่องเท่านั้น 

หุ่นขี้ผึ้งของพระเกจิอาจารย์ที่นี่จะอยู่ในตู้กระจกปิด ตัวอาคารจะเปิดให้ลมภายนอกพัดผ่านเข้ามาได้ เราอาจจะสงสัยว่าถ้าอากาศร้อนหุ่นขี้ผึ้งจะไม่ละลายหรือ ในข้อนี้พระรัตนตรัย ขติกโร ได้ตอบข้อสงสัยว่าหุ่นขี้ผึ้งที่นี่ผสมไฟเบอร์กลาส ถ้าเป็นขี้ผึ้งล้วนจะอยู่แบบนี้ไม่ได้ ต้องรักษาความเย็น ช่างปั้นเป็นช่างจากกรมศิลปากร ใช้เวลาปั้นประมาณ 6 เดือน คนที่มาเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์นี้มาคราเดียวจะได้ไหว้พระเกจิอาจารย์พร้อมกันหลายองค์ สำหรับตัวเรือนส่วนที่เป็นไม้สักทองเป็นของท่านเจ้าอาวาสที่สะสมมา 

หลังจากสักการะหุ่นขี้ผึ้งพระเกจิอาจารย์แล้ว ไม่ควรพลาดขึ้นไปชมพิพิธภัณฑ์พระพุทธรูป 80 ปางที่อยู่ถัดไป แล้วจะพบว่าวัดกระทุ่มเสือปลา วัดโบราณอายุนับสองร้อยปี คือแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญทางพุทธศาสนา อีกทั้งยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร

สาวิตรี ตลับแป้น / ผู้เขียน , กฤษกร ตราชู / ถ่ายภาพ

ข้อมูลจาก : สำรวจภาคสนามวันที่ 23 พฤษภาคม 2551
ชื่อผู้แต่ง:
-