พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตทวีวัฒนา


พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตทวีวัฒนา ตั้งอยู่ภายในโรงเรียนวัดปุรณาวาส จัดแสดงโดยแบ่งเป็น นิทรรศการเรื่องราวประวัติของคลองมหาสวัสดิ์ นิทรรศการแสดงภาพถ่ายการละเล่นในเทศกาลสารทไทย นิทรรศการภาพถ่ายประเพณีทอดกฐินทางเรือ และการแข่งเรือของชาวท้องถิ่นทวีวัฒนา นิทรรศการแสดงวิถีชีวิตชาวนา ซึ่งเป็นอาชีพหลักของชาวทวีวัฒนา และจัดแสดงความสวยงามของเส้นทางมุ่งสู่พุทธมณฑลทั้งสวนสวยดอกไม้เขตทวีวัฒนาฃจำลองเสาหงส์ที่งดงามของถนนอุทยาน เป็นต้น

ที่อยู่:
ชั้นล่าง อาคารเฟื่องฟ้า ร.ร.ปุรณาวาส ถ.เลียงคลองมหาสวัสดิ์ เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ 10170
โทรศัพท์:
0-2441-9362
วันและเวลาทำการ:
เปิดวันพุธ-วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 10:00 – 16:00 น.
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
เว็บไซต์:
ปีที่ก่อตั้ง:
2548

โดย: -

วันที่: 12 มีนาคม 2555

โดย: -

วันที่: 12 มีนาคม 2555

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

มีอะไรใน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตทวีวัฒนา

ชื่อผู้แต่ง: วิชญดา ทองแดง | ปีที่พิมพ์:

ที่มา: วารสารเมืองโบราณ

แหล่งค้นคว้า:

โดย: ศมส.

วันที่: 13 มีนาคม 2555


ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตทวีวัฒนา

เขตทวีวัฒนา สังคมชายขอบของเมืองกรุง ก่อนเข้าพิพิธภัณฑ์ ระหว่างทางผ่านทุ่งนากว้าง สวนผัก วิถีชีวิตชาวนา ชาวสวนในเขตทวีวัฒนา จึงอยากจะเข้าไปด้านในพิพิธภัณฑ์เพื่อรับรู้เรื่องราว ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต ภูมิปัญญาท้องถิ่น ก่อนที่จะออกไปดูของจริงข้างนอก พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตทวีวัฒนา อยู่ในโรงเรียนวัดปุรณาวาส เปิดให้เข้าชมเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ.2548 โดยใช้พื้นที่โรงอาหารเดิม บริเวณชั้นล่างของอาคารเฟื่องฟ้าซึ่งเป็นอาคารเรียนห้าชั้น เป็นพื้นที่จัดแสดง

พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น เขตทวีวัฒนา จัดแสดงในรูปแบบของซุ้มนิทรรศการทั้งหมด 5 ซุ้มด้วยกัน ซุ้มแรก บอกเล่าเรื่องราวของประวัติความเป็นมาของเขตทวีวัฒนา และคลองสำคัญๆ ของเขต คือ คลองทวีวัฒนา และคลองมหาสวัสดิ์

คลองมหาสวัสดิ์ สายน้ำที่หล่อเลี้ยงชาวสวน ชาวนาแถบนี้มาไม่น้อยกว่า 100 ปี มีประวัติอันยาวนาน ในปีพุทธศักราช 2400 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุด คลองและพระราชทานชื่อ “คลองมหาสวัสดิ์” นอกจากนี้เหตุผลสำคัญในการขุดคลองมหาสวัสดิ์ ปรากฏชัดอยู่ใน พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสมณฑลราชบุรี ร.ศ.128 ว่า “เพื่อใช้เป็นเส้นทางหลักในการเสด็จพระราชดำเนินไปพระปฐมเจดีย์และเป็นคลองเปิดที่ให้เป็นนาสำหรับแจกพระเจ้าลูกยาเธอ”

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ข้าวกลายเป็นสินค้าสำคัญของประเทศ การขุดคลองจะทำให้เกิดการขยายพื้นที่ทำนามากขึ้น และเป็นการระบายน้ำเข้าสู่ผืนดิน ดังพระราชดำริว่า “... การขุดคลอง เพื่อจะให้เป็นที่มหาชนทั้งปวงได้ไปมาอาศัย และเป็นทางที่จะให้สินค้าได้บรรทุกไปมาได้สะดวก ซึ่งให้ผลแก่การเรือกสวนไร่นา ซึ่งได้เกิดทวีขึ้นในพระราชอาณาจักร เปนการอุดหนุนการเพาะปลูกในบ้านเมืองให้เจริญวัฒนายิ่งขึ้น ...” 

ด้วยเหตุดังนี้ในบริเวณใกล้เคียงจึงเกิดคลองขุดใหม่ คลองที่ขุดเป็นคลองแรก ได้แก่ คลองทวีวัฒนา และเนื่องจากคลองมหาสวัสดิ์ และคลองภาษีเจริญเริ่มตื้นเขิน เป็นอุปสรรคในการสัญจร จึงแก้ปัญหาโดยการขุดคลองนี้ขึ้นมา และพระราชทานชื่อ “คลองทวีวัฒนา”

ซึ่งในการขุดคลองมหาสวัสดิ์ เมื่อครั้งรัชกาลที่ 4 นั้นมีการสร้างศาลารายริมทางเป็นระยะๆ ทุก 4 กิโลเมตร ต่อหลังหนึ่ง มีจำนวนทั้งสิ้น 7 หลัง และ 2 ใน 7 หลัง เจ้าพระยาธิพากรวงศ์ แม่กองขุดมหาสวัสดิ์ ให้เขียนตำรายารักษาโรคต่าง ใส่แผ่นกระดานติดไว้เป็นการกุศล คนจึงได้เรียกศาลาหลังนั้นว่า “ศาลายา” ส่วนศาลาอีกหลังอยู่คู่กันนั้นเจ้าพระยาธิพากรวงศ์สร้างในการกุศลปลงศพคนของท่าน จึงเรียกว่า “ศาลาทำศพ” แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อให้ฟังดูเป็นมงคลว่า “ศาลาธรรมสพน์” อันหมายถึงศาลาสำหรับฟังธรรม และเป็นชื่อแขวงหนึ่งในเขตทวีวัฒนานี้ด้วย

ซุ้มถัดไปจัดแสดงการเล่นในช่วงเทศกาลสารทไทย และมีการเล่นเพลงเพื่อความสนุกสนาน ซึ่งผู้คนในพื้นที่เขตทวีวัฒนาเรียกว่า “การเล่นเพลงขอทานกระยาสารท” และทางพิพิธภัณฑ์ได้จัดให้มีเสียงเพลงให้เราได้ฟังเป็นตัวอย่างอีกด้วย

ถัดไปทางขวามือ เป็นภาพการแข่งขันเรือหน้าทอดกฐินและประเพณีลอยกระทง ซึ่งสมกับเป็นเมืองเคียงน้ำ ในอดีตชาวทวีวัฒนานิยมทอดกฐินทางเรือ โดยจัดขบวนเรือแห่องค์กฐินไปทอดยังวัดสำคัญๆ ที่อยู่ติดริมคลอง ซึ่งในหน้าทอดกฐินสมัยก่อน ชาวบ้านจะนิยมจัดงานประเพณีแข่งเรือยาวตามคลองสำคัญๆ ปัจจุบันทางเขตทวีวัฒนาจึงได้จัดงานประเพณีนี้ขึ้นมาอีกครั้ง

ในซุ้มถัดไปจัดแสดงเรื่องวิถีชีวิตชาวนาในเขตทวีวัฒนา มีทั้งประเพณี พิธีกรรมที่เกี่ยวกับการทำนา เช่น ประเพณีทำขวัญแม่โพสพหรือทำขวัญข้าว ซึ่งชาวนาเชื่อว่า ต้นข้าว เมล็ดข้าวมีแม่โพสพเป็นผู้ให้ความอุดมสมบูรณ์และปกปักษ์รักษา และยังมีประวัติของพิธีแรกนา พิธีแห่นางแมว พร้อมทั้งเครื่องไม้ เครื่องมือในการทำนาให้เราได้ชม เช่น ระหัดชกมวย, จักร และ เพลา(ส่วนประกอบของระหัด), เครื่องสีฟัด, กระทาลากข้าว,โกก (แอก), คราดและ มีดตัดวัชพืชสมัยอดีต 

มาอีกฝั่งหนึ่งนอกจากจะบอกเราถึงวิถีการทำนาข้าวแล้ว ยังแสดงถึงการทำนาบัว การทำสวน เช่น สวนผัก สวนกล้วยไม้ สวนไม้ดอกไม้ประดับ ปัจจุบันเป็นอุตสาหกรรมที่เด่นและสามารถทำเงินตราให้กับเขตทวีวัฒนาอย่างยิ่ง

ซุ้มถัดไปจัดแสดงสถานที่สำคัญๆ ในเขตทวีวัฒนา อย่างเช่น พุทธสถานอย่างพุทธมณฑล หรือเสากินรี ที่ทางพิพิธภัณฑ์ทำเหมือนของจริงเสียจนคิดว่ายกมาจากถนนอุทยาน (ถนนอักษะ) มาไว้ที่นี่เลยทีเดียว และในบริเวณเดียวกันจัดแสดงภูมิปัญญาชาวบ้านในเขตทวีวัฒนา เช่น การผลิตภัณฑ์เรซิ่น การทำมาลัยดินหอมมะลิ หรือ เรือนไทยจำลองจากดินหอมมะลิ เช่นกัน 

แหล่งท่องเที่ยวที่ทางพิพิธภัณฑ์แนะนำเพิ่มเติม เช่น บ้านพิพิธภัณฑ์ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น เขตทวีวัฒนาแห่งนี้ ถ้าท่านสนใจรื้อฟื้นเรื่องราวสมัยยังเป็นเด็กน้อยอยู่ พิพิธภัณฑ์พระ กำนันชูชาติ สำหรับคนที่ชื่นชอบพระเป็นพิเศษ อุทยานแมวไทยโบราณ ถ้าอยากเห็นแมวไทยตาสองสีมาที่นี่ได้เลย หรือตลาดธนบุรีและสนามหลวง 2 ซึ่งมีทุกสิ่งให้ท่านเลือกสรรจริงๆ ไม่ผิดหวังแน่

มีสิ่งสำคัญอันเป็นประวัติศาสตร์บ้านเมือง และเป็นความภาคภูมิใจของชาวทวีวัฒนาเสียขนาดนี้ ลองมาศึกษาเผื่อไว้เล่าให้รุ่นลูก รุ่นหลานเรา และอาจแถมท้ายด้วยการไปล่องเรือชมสวน ซึ่งถือเป็นการท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่คลองมหาสวัสดิ์ หรือจะช่วยสนับสนุนผลผลิตของชาวนา ชาวสวนในละแวกก็คงจะไม่ผิดกติกาอะไร

เรื่อง/ภาพ : ณัฐพัชร์ ทองคำ
สำรวจ : 23 มกราคม 2551

ชื่อผู้แต่ง:
-