พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านพระธาตุมีชัย บ้านโคกคอน


ที่อยู่:
หมู่ 2 ต.โคกสี อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร 47110
โทรศัพท์:
0-4477-6060
วันและเวลาทำการ:
กรุณาแจ้งล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เก็บค่าเข้าชม
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

รีวิวของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านพระธาตุมีชัย บ้านโคกคอน

บ้านโคกคอน เป็นหมู่บ้านชนบทแห่งหนึ่งทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทย ปัจจุบันอยู่ในเขตการปกครองหมู่ที่ 2 ตำบลโคกสี อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร แม้ว่าชุมชนปัจจุบันจะมีประวัติการตั้งถิ่นฐานย้อนหลังไปไม่เกิน 300 ปีที่ผ่านมา ทว่ามรดกทางวัฒนธรรมโบราณทั้งที่ปรากฏอยู่บนพื้นผิวดิน และที่ทับถมอยู่ใต้ดินแสดงให้เห็นว่า บนพื้นที่หมู่บ้านแห่งนี้มีการอยู่อาศัยของผู้คนมาไม่น้อยกว่า 4,000 ปี
           
ชาวโคกคอนหลายชั่วอายุคนต่างคุ้นเคยเป็นอย่างดีกับสิ่งของเครื่องใช้ที่ทับถมอยู่ใต้ดิน ซึ่งถือเป็นมรดกของบรรพบุรุษของพวกเขา นอกจากนี้ ภายในหมู่บ้านแห่งนี้ยังมี "พระธาตุมีชัย" หรือ"ธาตุโคก-คอน" เป็นโบราณสถานสำคัญอันเป็นที่เคารพสักการะของพวกเขาและชาวหมู่บ้านใกล้เคียง "ตู้สว่าง" "ตู้ทอง" ("ตู้" เป็นคำศัพท์ในภาษาอีสานที่หมายถึงผู้เฒ่า ผู้แก่ ศัพท์ดังกล่าวปรากฏเฉพาะตอนบนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) และชาวโคกคอนอีกหลายๆคน ได้ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ดังกล่าว จึงได้ร่วมกันวางแนวทางที่จะดำเนินการอนุรักษ์และพัฒนาให้ทรัพยากรดังกล่าวทำหน้าที่เป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งท่องเที่ยวสำหรับชาวโคกคอนและผู้มาเยือน โครงการดังกล่าวจึงนำไปสู่การขุดแต่ง "พระธาตุ-มีชัย" และการขุดค้นทางโบราณคดีเพื่อศึกษาลำดับพัฒนาการทางวัฒนธรรมจากอดีตจนถึงปัจจุบันของหมู่บ้านแห่งนี้ โดยการประสานความร่วมมือกับสำนักงานศิลปากรที่ 9 ขอนแก่น อนึ่ง กิจกรรมหลักที่ทำควบคู่กันไปคือการจัดตั้ง "พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านพระธาตุมีชัย" ขึ้น เพื่อเป็นที่รวบรวมจัดแสดงหลักฐานทางวัฒนธรรม ตั้งแต่อดีตจนถึงช่วงเวลาร่วมสมัยของหมู่บ้าน 
อาคารพิพิธภัณฑ์สไตล์"สิมอีสาน"
           
อาคารพิพิธภัณฑ์ประยุกต์รูปแบบของอาคารศาสนสถานแบบสิมอีสาน ("สิม" เป็นคำศัพท์ในภาษาอีสาน หมายถึงโบสถ์หรือพระอุโบสถ)   ลักษณะเป็นอาคารรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส หลังคาทรงปั้นหยา มีประตูทางเข้าสองด้าน ด้านหลักอยู่ทางด้านทิศตะวันตกหันหน้าไปทางพระอุโบสถประจำวัดธาตุโคกคอน ประโยชน์ใช้สอยของอาคารก็เป็นไปในลักษณะผสมผสาน กล่าวคือเป็นทั้งอาคารจัดแสดงนิทรรศการและวัตถุทางวัฒนธรรม ขณะเดียวกันยังทำหน้าที่ป้องกันแดดฝนให้กับ "พระธาตุมีชัย" พื้นที่ภายในจึงประกอบด้วยพระธาตุมีชัย ซึ่งตั้งอยู่ตรงกลาง โดยมีลานหรือทางเดินรอบพระธาตุที่ยกพื้นสูง สำหรับเดินชมพระธาตุและนิทรรศการตามผนังแต่ละด้านโดยรอบ ทางเดินหรือลานดังกล่าวยังสามารถเป็นทางเดินวนรอบพระธาตุในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาตามวาระต่างๆ เช่น วันธรรมสวนะ หรือวันสำคัญทางศาสนาในแต่ละรอบปี 
การจัดแสดง
             นิทรรศการภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงด้วยสื่อต่างๆ ได้แก่ ป้ายนิทรรศการ แบบจำลอง และวัตถุทางวัฒนธรรมทั้งที่เป็นโบราณวัตถุและสิ่งของเครื่องใช้ร่วมสมัย  เนื้อหานิทรรศการประกอบด้วยเนื้อหาหลัก 5 ส่วนคือ 

ส่วนที่ 1 เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ รูปแบบอาคารทั้งในเชิงโครงสร้างและลักษณะทางศิลปะ-สถาปัตยกรรม ภาพรวมเกี่ยวกับที่ตั้งของหมู่บ้าน สภาพภูมิประเทศ สภาพแวดล้อม 

ส่วนที่ 2 เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับภาพรวมงานโบราณคดีของหมู่บ้านโคกคอนในฐานะที่เป็นแหล่งโบราณคดีสำคัญ ประกอบด้วยการขุดแต่งพระธาตุมีชัย การขุดค้นและการศึกษาวิเคราะห์ แปลความหลักฐานและข้อมูลต่างๆ ทั้งที่พบจากการขุดแต่งและการขุดค้น 

ส่วนที่ 3 เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับลำดับพัฒนาการทางวัฒนธรรม ซึ่งจัดลำดับจากระยะแรกเริ่มของการตั้งถิ่นฐานตามหลักฐานทางโบราณคดีตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ สู่สมัยประวัติศาสตร์ในวัฒนธรรมล้านช้าง และวัฒนธรรมร่วมสมัย 
สมัยก่อนประวัติศาสตร์ นำเสนอภาพรวมเรื่องลำดับพัฒนาการทางวัฒนธรรมซึ่งแบ่งเป็นสมัยย่อยต่างๆ แบบแผนพิธีกรรมการฝังศพเพื่อสื่อถึงลำดับพัฒนาการทางวัฒนธรรม และรูปแบบประเพณีเกี่ยวกับความตาย ซึ่งเป็นหลักฐานที่สำคัญและร่วมกลุ่มวัฒนธรรมเดียวกับแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ส่วนสุดท้ายของเนื้อหากล่าวถึงแบบแผนการดำรงชีพและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะสัตว์ป่า 

สมัยประวัติศาสตร์วัฒนธรรมล้านช้าง มีเนื้อหาเกี่ยวกับศาสนสถานและศาสนวัตถุที่พบจากการขุดแต่งพระธาตุมีชัย สื่อแสดงให้เห็นถึงการสร้างสรรค์งานศิลปะภายใต้ความศรัทธาในพุทธศาสนา เช่น ภาชนะดินเผาชนิดเนื้อแกร่งจากแหล่งเตาโบราณลุ่มน้ำสงครามใช้บรรจุพระพุทธรูปเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาและอุทิศส่วนกุศลให้กับญาติผู้ล่วงลับ หรือใช้เป็นภาชนะบรรจุอัฐิผู้ตายเพื่อนำไปฝังไว้ตามสถานที่ต่างๆ 
 
วัฒนธรรมร่วมสมัย เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับชุมชนปัจจุบัน เช่น แบบแผนการตั้งถิ่นฐาน การดำรงชีวิตและเทคโนโลยีพื้นบ้าน ประเพณีพิธีกรรม ของชาวโคกคอนที่มีการยึดถือปฏิบัติกันอยู่ในปัจจุบัน การศึกษา การติดต่อสื่อสารและระบบสาธารณูปโภค เป็นต้น 
 
ส่วนที่ 4 เป็นส่วนสุดท้ายมีเนื้อหาเกี่ยวกับภาพรวมของเส้นทางท่องเที่ยว เชื่อมโยงจากหมู่บ้านโคกคอนไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่างๆทั้งทางธรรมชาติและศิลปวัฒนธรรมที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดสกลนครและใกล้เคียง 
 
พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านพระธาตุมีชัยนับเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นอีกแห่งหนึ่งที่เกิดขึ้นจากความตั้งใจจริงของชาวบ้าน และสะท้อนให้เห็นความเข้มแข็งของชาวชุมชน นับตั้งแต่การระดมความคิด กำลังทรัพย์รวมทั้งร่วมกันลงแรง ผลักดันและประสานความร่วมมือจากองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน จนกระทั่งพิพิธภัณฑ์สำเร็จเป็นรูปเป็นร่าง ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์อยู่ภายใต้การดูแลจากประชาคมหมู่บ้านโคกคอนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโคกสี และเปิดให้เข้าชมอย่างเป็นทางการแล้ว 
 
ข้อมูลจาก: กรกฎ บุญลพ. พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านพระธาตุมีชัย บ้านโคกคอน. จุลสารเพื่อชุมชนพิพิธภัณฑ์ "ก้าวไปด้วยกัน" ปีที่ 1 ฉบับที่ 3 2548.
ชื่อผู้แต่ง:
-