พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านภูไท ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน บ้านดงมะเอก


ที่อยู่:
วัดศรีบุญเรืองใต้ หมู่ 6 บ้านดงมะเอก ต.โพนทอง อ.เรณูนคร จ.นครพนม 48170
โทรศัพท์:
042-579599 (องค์การบริหารส่วนตำบลโพนทอง)
วันและเวลาทำการ:
กรุณาติดต่อล่วงหน้า
ค่าเข้าชม:
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
ปีที่ก่อตั้ง:
2540
ของเด่น:
ผ้าทอโบราณของชาวภูไท เครื่องทองเหลือง เงินโบราณ
จัดการโดย:
ไม่มีข้อมูล

ผังจัดแสดงพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านภูไท...

โดย:

วันที่: 29 กันยายน 2563

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านภูไท ผังจัดแสดง...

โดย:

วันที่: 29 กันยายน 2563

ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล

ไม่มีข้อมูล

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านภูไท ศูนย์การเรียนรู้บ้านดงมะเอก

          เรณูนครเป็นชื่ออำเภอหนึ่งของจังหวัดนครพนม เป็นดินแดนที่มีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่มีความน่าสนใจ เดิมเป็นเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์ภูไท(หรือในทางวิชาการเรียกว่าผู้ไท) ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย เล่าต่อกันมาว่าบรรพบุรุษชาวภูไทเมืองเรณูนครมีภูมิลำเนาอยู่ที่เมืองนาน้อยอ้อยหนู(เมืองเดียนเบียนฟู เวียดนาม)  ต่อมาบ้านเมืองเกิดการอัตคัดอดยาก ไร่นาไม่อุดมสมบูรณ์และมีพวกฮ่อรุกราน ท้าวก่า หัวหน้าชาวภูไทจึงได้อพยพลูกหลานชาวภูไทลงมาทางใต้ ซึ่งยังมีความอุดมสมบูรณ์กว่า เข้ามาอยู่ในเขตปกครองของเจ้าอนุรุธ กษัตริย์หลวงพระบาง และเจ้าอนุรุธได้ให้ชาวภูไทไปอยู่ที่เมืองวัง ซึ่งเป็นเขตปกครองของพวกข่า ชาวภูไทและพวกข่าเมื่ออยู่ด้วยกันก็เกิดการแย่งชิงกันเป็นใหญ่ สุดท้ายพวกข่ายอมแพ้และได้ยอมให้ชาวภูไทเป็นใหญ่ได้ปกครองเมืองวัง

          ต่อมาเจ้าอนุรุธแต่งตั้งให้ท้าวก่าเป็น “พระศรีวรราช” เจ้าเมืองวัง ภายหลังเมื่อชุมชนขยายใหญ่ขึ้นพระยาแก้วลูกชายของท้าวก่า พร้อมด้วยเจ้าเพชรและเจ้าสาย บุตรชายทั้ง ๒ คน ญาติสนิทและบริวาร ได้รวบรวมชาวภูไทส่วนหนึ่งแยกตัวออกไปตั้งบ้านเมืองใหม่ และตั้งชื่อว่า “เมืองเว” มีพระยาแก้วเป็นเจ้าเมืองและขึ้นตรงต่อเมืองวัง เมืองเวเจริญรุ่งเรืองขึ้นอย่างรวดเร็วเนื่องจากชาวภูไทส่วนใหญ่จากเมืองวังที่นิยมนับถือพระยาแก้ว ได้พากันอพยพลูกหลานไปอาศัยอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก จนทำให้เกิดความขัดแย้งกับเมืองวัง เจ้าเพชรและเจ้าสายจึงได้นำชาวเมืองเวและลูกหลานชาวภูไทจากเมืองวัง อพยพข้ามแม่น้ำโขงมาอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขง เพื่อตั้งบ้านแปงเมืองใหม่ และเพื่อความปลอดภัยของชีวิต

          เจ้าเพชรและเจ้าสายได้นำชาวภูไทล่องเรือข้ามแม่น้ำโขงมาขึ้นฝั่งที่บ้านโพธิ์สามต้น (ปัจจุบันคือบ้านพระกลางทุ่ง อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม) แต่เห็นว่าที่ตรงนั้นยังไม่มีความเหมาะสมในการตั้งบ้านเมือง จึงได้อพยพนำชาวภูไทไปตั้งบ้านเมืองอยู่ที่ริมหนองหาร (ปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดสกลนคร) อยู่ได้ประมาณ 6 เดือน ปรากฏว่าชาวเมืองต่างเจ็บไข้ได้ป่วยเสียชีวิตไปหลายคน เจ้าเพชรและเจ้าสายจึงได้อพยพครัวชาวภูไทมาตั้งบ้านเมือง อยู่ทางทิศเหนือองค์พระธาตุพนมซึ่งเป็นดงว่างเปล่า โดยเจ้าเพชรและเจ้าสายได้เรียกให้ควาญช้างนำช้างบักเอก (ช้างงาเดียว) เดินทางนำ เมื่อเดินทางถึงและพิจารณาดูพื้นที่ภูมิประเทศแล้ว อุดมสมบูรณ์ดีนัก จึงตั้งชื่อบ้านเมืองใหม่ว่า “บ้านดงหวายสายบ่อแก” แต่ชาวเมืองมักเรียกสั้นๆ ว่า “บ้านดงหวาย” หรือ “เมืองเว” เมื่อราวปี พ.ศ.2369

          ชาวภูไทบ้านดงหวายเป็นชาวภูไทที่มีนิสัยรักความสงบ ชอบความอิสระ สตรีชอบทำการฝีมือทอผ้า เย็บปักถักร้อย บุรุษชอบทำการค้าขาย โดยเป็นพ่อค้านำสินค้าไปขายยังต่างเมือง ต่างแดน เป็นนายฮ้อยนำฝูงคาราวานควายไปขายยังกรุงเทพมหานคร และบางคณะจะนำฝูงคาราวานควายไปขายถึงเมืองมะละแหม่ง ประเทศพม่า ดังนั้น จึงได้พบเห็นความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมืองอื่นๆเสมอ พร้อมกลับได้แลกเปลี่ยนสินค้าใหม่ๆกลับเข้ามาสู่ หมู่บ้านอีกด้วย ประกอบกับชาวภูไทจากเมืองวัง (อยู่ฝั่งซ้าย) ได้อพยพข้ามแม่น้ำโขงเข้ามาสมทบอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก บ้านดงหวายจึงเขยิบเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ มีความเจริญรุ่งเรืองมากขึ้นเป็นลำดับ

          พ.ศ.2373 พระสุนทรราชวงษา เจ้าเมืองยโสธร ได้มาจัดราชการอยู่ ณ เมืองนครพนม และมีใบบอกขอตั้งบ้านดงหวายเป็น “เมืองเรณูนคร” และเมื่อ พ.ศ.2381 เจ้าเพชร ท้าวบุตร ท้าววอ ได้เดินทางเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เป็นครั้งแรก เพื่อรับพระราชทานน้ำพิพัฒน์สัตยา ต่อมา พ.ศ.2387 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านดงหวาย แขวงเมืองนครพนม เป็น “เมืองเรณูนคร” ขึ้นเมืองนครพนม และพระราชทานสัญญาบัตรแต่งตั้งให้เจ้าสายเป็น “พระแก้วโกมล” เจ้าเมืองเรณูนคร

          เจ้าสายได้ใช้พื้นที่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของตัวเมืองเรณูนคร ซึ่งเป็นดงไม้ใหญ่เป็นที่เลี้ยงช้างสำคัญของเมือง นั่นก็คือ “ช้างบักเอก” ซึ่งเป็นช้างพลายสูงใหญ่แต่มีงาเดียว ชาวภูไทเรณูนครได้เล่าสืบต่อกันมาว่าช้างบักเอกถูกนำมาเลี้ยงที่ป่าดงดังกล่าวจนกระทั่งล้มที่ป่าแห่งนี้ จึงทำให้ชาวภูไทเรณูนครเรียกบริเวณดังกล่าวว่า “ดงบักเอก”

          ภายหลังได้มีชาวภูไทเรณูนครจำนวนหนึ่งได้ย้ายครัวเรือนไปถากถางพื้นที่ป่าดงบักเอก สร้างเป็นชุมชนหมู่บ้านขึ้นมา และตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านดงบักเอก” ตามชื่อภูมินามเดิมของพื้นที่ แต่ทว่าในภายหลังข้าราชการของกระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นคนจากส่วนกลางไม่เข้าใจความหมายของคำว่า “ดงบักเอก” ว่าเกี่ยวข้องกับชื่อของช้าง หากแต่คิดว่า “บักเอก” เป็นชื่อของต้นไม้ผลในสำเนียงท้องถิ่นอย่างบักม่วง บักขาม บักยม ซึ่งเมื่อเขียนเป็นภาษาไทยก็จะเขียนว่า มะม่วง มะขาม มะยม จึงทำให้มีการเขียนชื่อหมู่บ้านดงบักเอกในสารบบของกระทรวงมหาดไทยว่า “บ้านดงมะเอก” ทำให้ความหมายของชื่อบ้านดงบักเอกมีความเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง

          ครูอัมพร ใหญ่สาร  อดีตข้าราชการครูเกษียณที่เป็นชาวบ้านดงมะเอกโดยกำเนิด เล่าว่า เมื่อราวปี พ.ศ. 2527 ตนเห็นคนมารับซื้อของเก่าในหมู่บ้านจำพวก ขันหมาก เครื่องทองเหลือง  จึงนึกเสียดาย จึงไปขอบริจาคข้าวของที่ชาวบ้านจะขายมาเก็บรวบรวมไว้ แล้วทำเรื่องเสนอไปยังนายอำเภอเพื่อจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์บ้านภูไท   ซึ่งนายอำเภอก็ยินดี   เพราะบ้านดงมะเอก ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลโพนทอง อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม  เป็นกลุ่มคนภูไทกลุ่มเดียวกับชาวภูไทเมืองเรณูนครและอยู่ไม่ห่างกันมาก  ทั้งนี้พิพิธภัณฑ์สร้างขึ้นในบริเวณที่สาธารณะตรงข้ามกับวัดศรีบุญเรืองใต้ เป็นอาคารชั้นเดียว  ภายหลังจึงนำมาทำทะเบียนวัตถุและจัดแสดงในตู้ ภายในอาคารศูนย์การเรียนรู้บ้านดงมะเอกอย่างเป็นทางการเมื่อราว พ.ศ. 2540 ซึ่งเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านภูไท”

          ต่อมา ครูอัมพร ใหญ่สาร ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านภูไทมีอายุมากขึ้น ไม่สามารถดูแลพิพิธภัณฑ์ได้ ประกอบกับทางชุมชนบ้านดงมะเอกต้องการใช้พื้นที่ของอาคารพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านภูไทในการทำกิจกรรมอื่นๆ และใช้เป็นที่เก็บสิ่งของเครื่องใช้ซึ่งเป็นของส่วนรวมในชุมชน    จึงได้มีการนำโบราณวัตถุและสิ่งของเครื่องใช้ในตู้จัดแสดงทั้งหมดมาเก็บรักษาไว้ที่วัดศรีบุญเรืองใต้

          ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านภูไทตั้งอยู่ภายในศาลาการเปรียญวัดศรีบุญเรืองใต้ บ้านดงมะเอก หมู่ที่ 6 ตำบลโพนทอง อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม ซึ่งโบราณวัตถุและสิ่งของเครื่องใช้ไม่ได้ถูกนำมาจัดแสดงอย่างเป็นกิจลักษณะ หากแต่เก็บไว้ในลักษณะป้องกันมิให้สูญหายมากกว่าการจัดแสดง โบราณวัตถุและสิ่งของเครื่องใช้ที่สำคัญและมีความน่าสนใจภายในพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านภูไท เช่น เครื่องทองเหลือง เงินโบราณ เครื่องเขิน และผ้าทอโบราณของชาวภูไทซึ่งมีความงดงามและหาชมได้ยาก เป็นต้น

          เนื่องจากว่าปัจจุบันพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านภูไทไม่ได้ทำการเปิดให้เข้าชมเป็นการเฉพาะ การจะเข้าชมโบราณวัตถุและสิ่งของเครื่องใช้ภายในพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านภูไท สำหรับผู้ที่สนใจต้องประสานงานผ่านองค์การบริหารส่วนตำบลโพนทองล่วงหน้าอย่างน้อย 1 สัปดาห์ เพื่อให้ผู้รับผิดชอบได้ทำความสะอาดโบราณวัตถุและสิ่งของเครื่องใช้ และนำมาจัดแสดงเพื่อให้ผู้สนใจได้ชมอย่างใกล้ชิด

 

เอกสารอ้างอิง

ประวัติผู้ไทยเมืองเรณูนคร. ที่ระลึกเนื่องในโอกาสที่พระครูเรณูนครภิรักษ์ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ "พระรัตนวิมล" ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2542.

“ประวัติชาวผู้ไทยเมืองเรณูนคร”. สวัสดีนครพนม. สืบค้นจาก https://www.sawasdeenakhonphanom. com/406 , วันที่ 19 กรกฎาคม 2563.

 

สัมภาษณ์บุคคล

นายชัยวัฒน์ โกพลรัตน์ นักวิชาการท้องถิ่นด้านเรณูนครศึกษา อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม, สัมภาษณ์วันที่ 13 มิถุนายน 2563.

นายอัมพร ใหญ่สาร ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านภูไท บ้านดงมะเอก ตำบลโพนทอง อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม, สัมภาษณ์วันที่ 13 มิถุนายน 2563.

ชื่อผู้แต่ง:
ธีระวัฒน์ แสนคำ