รายชื่อพิพิธภัณฑ์

ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนเขวาสินรินทร์

ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนเขวาสินรินทร์ เดิมใช้ชื่อศูนย์การเรียนรู้สิบธันวาทำมือ แต่เมื่อเข้าร่วมโครงการคลังข้อมูลชุมชน ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร จึงเปลี่ยนชื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชนเขวาสินรินทร์ เพื่อนำเสนอเรื่องราวข้อมูลในชุมชนให้หลากหลายเพิ่มจากเดิมที่นำเสนอเรื่องผ้าไหมทอมืออย่างเดียว ตั้งขึ้นโดยนางคณิศร ชาวนา หัวหน้ากลุ่มผ้าไหมทอมือสิบธันวาทำมือ ที่รวมกลุ่มสมาชิกช่างทอผ้าจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน ที่อยากทำให้เป็นมากกว่าร้านผ้าไหม อยากนำเสนอข้อมูล และจัดสาธิตการทำงานให้ผู้มาเยือนได้มาเรียนรู้กระบวนการผลิตผ้าไหมทอมือ ตลอดจนอยากให้นักเรียนนักศึกษาทั้งในและนอกพื้นที่ได้มาเรียนรู้งานขั้นตอน ประวัติของชุมชน ลักษณะสถานที่จัดแสดง จะแบ่งพื้นที่บ้าน ในห้องที่ใช้จำหน่ายผ้าไหมจัดแสดงผ้าไหมประเภทต่างๆ พื้นที่หน้าบ้านใต้ซุ้มหญ้าคาเป็นพื้นที่จัดแสดงความรู้ และพื้นที่จัดสาธิตขั้นตอนการทำผ้าไหม อุปกรณ์ในการใช้ทำผ้าไหมทอมือ

จ. สุรินทร์

ศูนย์วัฒนธรรมโรงเรียนสรรพวิทยาคม อำเภอแม่สอด

ศูนย์วัฒนธรรมโรงเรียนสรรพวิทยาคม ก่อตั้งโดยรองศาสตราจารย์ศุภพงศ์ ยืนยง ครูสอนวิชาศิลปะโรงเรียนสรรพวิทยาคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นฐานการรวบรวมโบราณวัตถุ ภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวแม่สอดและพื้นที่ใกล้เคียง นำมาจัดแสดงอย่างเป็นระบบและทำการระดมผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญในประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมของท้องถิ่นมาช่วยกันศึกษา วิเคราะห์ และสร้างองค์ความรู้ให้เกิดประโยชน์แก่ท้องถิ่น นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับนักเรียนและผู้สนใจทั่วไปให้เข้ามาศึกษา เรียนรู้ ตามแนวคิดการศึกษาตลอดชีวิต เพื่อพัฒนาทักษะการคิด และกระบวนการเรียนรู้ โดยใช้แหล่งเรียนรู้ และวิชาประวัติศาสตร์นำทาง ภายในจัดแสดงเครื่องถ้วยสังคโลกจากแหล่งเตาต่างๆ ทั้งสุโขทัย ล้านนา และจากต่างประเทศ (จีน) เครื่องมือเครื่องใช้จำพวกเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เอกสารปั๊ปสา และใบลาน ที่จารด้วยอักษรธรรมล้านนา

จ. ตาก

บ้านบานเย็น

บ้านบานเย็นเป็นหมู่เรือนเก่า 3 หลัง ที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 7 โดยเรือนหลังที่เก่าที่สุดสร้างโดยพระยาหิรัญยุทธกิจ (บานเย็น สาโยทภิทูร) บุตรคนหัวปีของจางวางโต (ในจอมพล สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช) เรือนหลังที่มีอายุรองลงมาเป็นของน้องสาวของท่านเจ้าคุณซึ่งสมรสกับขุนวิเศษสากล และเรือนหลังที่มีอายุน้อยที่สุดเป็นของบุตรสาว ซึ่งเรือนหลังนี้มีอายุกว่า 75 ปีแล้วในปัจจุบัน เพื่อรักษามรดกชิ้นสำคัญของชาติไว้ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญ ทายาทในรุ่นที่ 5 ได้แก่ รองศาสตราจารย์ โรจน์ คุณเอนก และนายรัชต์ คุณเอนก จึงได้ร่วมกันบูรณะเรือนโบราณเหล่านั้น และจัดแสดงในลักษณะของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่ยังมีชีวิต

จ. กรุงเทพมหานคร

โฮงซึงหลวง

โฮงซึงหลวง เป็นสถานที่รวบรวมข้อมูลและเป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาดนตรีพื้นบ้านล้านนา และเป็นแหล่งผลิตเครื่องดนตรีล้านนา โดยเฉพาะ “ซึง” ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีประเภทสายที่นิยมเล่นกันแพร่หลายในภาคเหนือ โฮงซึงหลวงริก่อตั้งในปี พ.ศ. 2546 โดยนายจีรศักดิ์ ธนูมาศ ภายในพื้นที่อาศัยของตนเองในตำบลห้วยอ้อ อำเภอลอง จังหวัดแพร่ เนื่องจากเป็นคนชื่นชอบและหลงใหลดนตรีพื้นเมือ ฝึกเล่นดนตรีพื้นเมืองมาตั้งแต่เด็กกับผู้เฒ่าผู้แก่ และรวมกลุ่มคนในชุมชนที่รักเสียงดนตรีตั้งวงดนตรีพื้นเมืองขึ้น ฝึกซ้อม และเป็นแหล่งผลิตเครื่องดนตรีพื้นเมือง โดยเฉพาะซึง ที่ได้รับการยอมรับ เพราะใช้วัตถุดิบคือไม้สักที่ให้เสียงที่หนักแน่นและชัดเจน โฮงซึงหลวงประกอบด้วยอาคารไม้ 3 หลัง หลังแรกใช้เป็นโรงเรียนเล่นดนตรี หลังที่ 2 จัดแสดงเครื่องดนตรีพื้นเมืองต้นแบบ และที่ผลิตขึ้นใหม่ และใช้บรรเลงดนตรี ส่วนหลังสุดท้ายเป็นโรงผลิตเครื่องดนตรีพื้นเมือง ผู้สนใจสามารถมาเรียนดนตรี หรือเรียนรู้การทำเครื่องดนตรี และยังจำหน่ายเครื่องดนตรีพื้นเมือง

จ. แพร่

พิพิธภัณฑ์ชุมชนช่อระกา

พิพิธภัณฑ์ชุมชนช่อระกา ตั้งอยู่ภายในวัดดาวเรือง โดยใช้พื้นที่ด้านบนของศาลาการเปรียญเป็นสถานที่จัดแสดง ที่มาของพิพิธภัณฑ์เริ่มมาจากความตั้งใจและความร่วมมือระหว่างวัด ชาวบ้าน โครงการวัดบันดาลใจ สถาบันอาศรมศิลป์ ที่ต้องการแสดงให้เห็นความสำคัญของวัด ในฐานะพื้นที่สั่งสมเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ อันเป็นจุดเริ่มต้นของรากเหง้าทางวัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่น เป็นแหล่งรวบรวมภูมิปัญญาที่มีความสำคัญทั้งต่อพุทธศาสนาและวิถีชีวิตของผู้คน นำไปสู่การเก็บรวบรวมข้อมูลประวัติศาสตร์ มรดกวัฒนธรรมและองค์ความรู้ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชุน โดยมีศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ให้คำแนะนำเรื่องวิธีการเก็บข้อมูลชุมชน และด้วยจิตอาสาของเหล่านักออกแบบอาสาสมัครนำโดยสตูดิโอไดอะลอก นำไปสู่การจัดทำพิพิธภัณฑ์ และนำเสนอนิทรรศการแรกที่ชื่อว่า "ฮู้บ่ช่อระกา" ผู้ชมจะได้ทำความรู้จักชุมชนช่อระกาผ่านเรื่องเล่ามรดกวัฒนธรรมที่โดดเด่นของชุมชน อาทิ ข้าวและการทำนา อาหาร ภูมิปัญญาการทอผ้า

จ. ชัยภูมิ

ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ

ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2546 มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมสนับสนุนให้มีการประกอบอาชีพผสมผสาน เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านตามโครงการส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และส่งเสริมสนับสนุนด้านการตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ดังกล่าวทั้งในประเทศและต่างประเทศ ภายในมีหอนิทรรศการจำนวน 6 เรื่อง ได้แก่ 1. หอเกียรติยศ จัดแสดงประวัติและผลงานของบุคคลผู้ได้รับการเชิดชูเกียรติจาก SACICT ในฐานะครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม 2.หอศิลปาชีพ จัดแสดงนิทรรศการ “คู่พระบารมี” บอกเล่าเรื่องราวของจุดเริ่มต้นของ “มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” การดำเนินงานและผลงานของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ และการดำเนินงานศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ 3.หอหัตถศิลป์ระหว่างประเทศ จัดแสดงนิทรรศการ “หัตถกรรมที่ใกล้สูญหาย” โดยแบ่งประเภทงานศิลปหัตถกรรมออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ งานเครื่องมุก งานเครื่องไม้ และงานจักสาน 4.หอสุพรรณ-พัสตร์ จัดแสดงนิทรรศการ “เครื่องเงิน-เครื่องทอง และเครื่องแต่งกายในสมัยอยุธยา” 5.หอนวัตศิลป์ พื้นที่จัดแสดงงานศิลปหัตถกรรมที่ SACICT ศึกษา รวบรวม และวิเคราะห์แนวโน้มเพื่อเป็นต้นทางในการพัฒนางานหัตถศิลป์และนวัตศิลป์ในมิติต่างๆ 6.จัดแสดงนิทรรศการ “ยืนเครื่องโขน : ศาสตร์สร้างศิลป์ มรดกแผ่นดินร่วมวัฒนธรรม”นำเสนอเรื่องราวความเป็นมาของการแสดงโขนในประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

จ. พระนครศรีอยุธยา

ขัวศิลปะ

ขัวศิลปะเกิดขึ้นจากการรวมตัวของศิลปินเชียงราย เมื่อปี พ.ศ. 2532 ที่wด้แสดงผลงานศิลปะร่วมกัน ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย จากนั้น ใน พ.ศ. 2546 กลุ่มศิลปินเชียงรายรวมตัวกันแสดงนิทรรศการศิลปะอีกครั้งเพื่อเทิดพระเกียรติในหลวง โดยใช้ชื่อนิทรรศการว่า “สล่าเชียงรายเฉลิมพระเกียรติในหลวง 75 พรรษา” ที่ศูนย์ศิลปหัตถกรรมเชียงราย และในปีถัดมา พ.ศ.2547 ศิลปินรวมตัวกันเรียกร้องการสร้างหอศิลปะร่วมสมัยบนเกาะกลางแม่น้ำกกที่เชียงราย โดยการจัดนิทรรศการศิลปะ “เชียงรายศิลป์เพื่อหอศิลป์” ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงเทพฯ และนับตั้งแต่ พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา กลุ่มศิลปินเชียงรายได้ก่อตั้งเป็นสมาคมศิลปินเชียงรายขึ้น เพื่อดำเนินงานด้านศิลปวัฒนธรรมในจังหวัดเชียงรายอย่างต่อเนื่อง ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2555 อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ มอบเงินทุนตั้งต้น 500,000 บาท สำหรับก่อตั้งกองทุนศิลปินเชียงราย เพื่อสนับสนุนส่งเสริมการทำงานของศิลปินและการศึกษาของนักศึกษาศิลปะในจังหวัดเชียงราย โดยการเลือกตั้งคณะกรรมการขึ้นมาบริหารกองทุน จากการประชุมของคณะกรรมการ มีความประสงค์ให้กองทุนศิลปินเชียงรายมีความงอกงามและยั่งยืน จึงจำเป็นต้องหารายได้ คณะกรรมการจึงมีมติว่าจะทำธุรกิจร่วมกัน โดยใช้ระบบการร่วมทุนในหมู่พี่น้องศิลปินและผู้ที่รักศิลปะทุกท่าน คณะกรรมการได้เลือกทำเลที่ตั้งของอาคารให้เช่าแห่งหนึ่งเพื่อลงทุนทำธุรกิจเพื่อส่วนรวม ตั้งชื่อโครงการว่า “ขัวศิลปะ” ซึ่งขัวในภาษาเหนือ แปลว่า สะพาน “ขัวศิลปะ” คือ สะพานที่จะเชื่อมศิลปะสู่สังคม ขัวศิลปะ ไม่ใช่องค์กรธุรกิจ แต่คือองค์กรการศึกษา ที่ทำธุรกิจเล็กๆ เพื่อจะเลี้ยงดูตัวเอง คือบ้านของศิลปินที่เปิดประตูต้อนรับทุกท่าน ในพื้นที่ของขัวศิลปะ ผู้มาเยือนสามารถเยี่ยมชมนิทรรศการศิลปะซึ่งจัดเป็นประจำในส่วนของแกลลอรี นอกจากนี้ยังมีส่วนของร้านอาหารไว้บริการ

จ. เชียงราย

พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า

“โครงการพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า” เป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 เพื่อแสดงให้เห็นหลักการคิด วิธีการทรงงานและกระบวนการค้นหาคำตอบ ตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่ทรงนำไปแก้ปัญหาหรือพระราชทานแก่พสกนิกรในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักร ตลอดจนเป็นแบบอย่างแก่ผู้สนใจชาวต่างประเทศ และเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านความเข้าใจในความสำคัญและปัญหาของระบบนิเวศ การบริหารจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่า เพื่อให้มนุษย์อยู่ร่วมกับระบบนิเวศธรรมชาติอย่างยั่งยืน ตั้งอยู่ภายในเทคโนธานี คลองห้า เป็นหนึ่งในกลุ่มพิพิธภัณฑ์ของอพวช.

จ. ปทุมธานี

หอวัฒนธรรมไทยญ้อคลองน้ำใส

แต่เดิมพื้นที่ตำบลคลองน้ำใสเป็นที่ตั้งถิ่นฐานของคนไทญ้อ คนไทยญ้อหรือในเชิงวิชาการใช้คำว่าไทญ้อ ในพื้นที่ตำบลน้ำใสอพยพมาจากเวียงจันทร์และท่าอุเทน เข้ามาอยู่ในประเทศกัมพูชา เมื่อมีปัญหาเรื่องดินแดนจึงอพยพมาอยู่ตามแนวชายแดนไทย วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อและรูปแบบการดำรงชีวิต คล้ายกับกลุ่มคนไท-ลาวทั่วไป ต่างกันที่สำเนียงในการออกเสียง พูดภาษาญ้อ ไม่มีภาษาเขียน นับถือศาสนาพุทธแต่ยังมีพิธีกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการไหว้ผี ประเพณีสำคัญคือการแห่หอปราสาทผึ้งในช่วงออกพรรษา หอวัฒนธรรมไทยญ้อคลองน้ำใส ตั้งอยู่ภายในโรงเรียนอพป.คลองน้ำใส อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ริเริ่มโดยพ่อใหญ่สีทา บัวคำศรี ปราชญ์ชุมชนคลองน้ำใส ที่ให้แนวคิดในการสร้างเฮือนไทญ้อ เพื่อรวบรวมข้าวของเครื่องใช้ดั้งเดิม นำเสนอวิถีชีวิตและประเพณีความเชื่อ มีวัตถุประสงค์เพื่อสำหรับเป็นแหล่งเรียนรู้และสืบสานวิถีวัฒนธรรมคนไทญ้อบ้านคลองน้ำใส มีการระดมทุนก่อสร้างอาคารและการบริจาคข้าวของเครื่องใช้จากคนในหมู่บ้านตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2559 โดยบริหารจัดการดูแลโดยโรงเรียนอพป.คลองน้ำใส

จ. สระแก้ว

บ้านนครใน

บ้านนครใน ตั้งอยู่ในเขตเมืองเก่าสงขลา บ้านนครในประกอบด้วยบ้านเก่าทรงจีน 1 หลัง ที่ได้รับการบูรณะแล้ว และอาคารชิโนยูโรเปี้ยน สร้างใหม่อีก 1 หลัง ผู้ก่อตั้งคือคุณกระจ่าง จารุพฤกษ์พันธ์ นักธุรกิจและอดีตสมาชิกวุฒิสภา สงขลา ที่ซื้อบ้านเก่าบนถนนนครใน แล้วนำมาปรับปรุงใหม่เป็นพิพิธภัณฑ์ ตัวอาคารยาวทะลุ 2 ถนนคือนครนอกและนครใน อาคารมีความโดดเด่นเชิงสถาปัตยกรรม ด้านในจัดแสดงเครื่องเรือนเก่า เตียงไม้แบบจีนโบราณ ฯลฯ เนื่องจากคุณกระจ่างเคยได้เห็นความรุ่งเรืองแถบเมืองเก่าสงขลา แต่ในระยะหลังพบว่าบ้านเก่าและตึกแถวหลายหลังถูกปล่อยร้างและบางหลังเริ่มผุพัง เมืองเงียบเหงาเพราะคนย้ายออก จึงติดต่อซื้อตึกเพื่อบูรณะและจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ โดยต้องการกระตุ้นให้คนหันมาให้ความสนใจพัฒนาเมืองสงขลาให้คึกคักและเป็นจุดท่องเที่ยวสำคัญของเมือง

จ. สงขลา

หอจดหมายเหตุสาธารณสุขแห่งชาติ

หอจดหมายเหตุสาธารณสุขแห่งชาติ เดิมชื่อ โครงการหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สาธารณสุขแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข ระยะ 4 ปี (พ.ศ. 2561 – 2564) ริเริ่มมาจากโครงการหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ระบบสุขภาพไทย โดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เพื่อทำหน้าที่รวบรวม จัดเก็บ อนุรักษ์ ให้บริการ และจัดแสดงนิทรรศการจากเอกสารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์สุขภาพไทย ประวัติศาสตร์ทางการแพทย์และการสาธารณสุข เพื่อเป็นแหล่งสนับสนุนการศึกษา ค้นคว้า และวิจัย สำหรับสร้างความรู้ทางประวัติศาสตร์และมิติทางสังคมและวัฒนธรรมสุขภาพ ตลอดจนให้บริการเอกสารที่มีคุณค่าทางด้านนี้แก่สาธารณชน โดยมีสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพเป็นหน่วยงานผู้ดูแลรับผิดชอบโครงการจดหมายเหตุฯ ภายใต้การบริหารงานของสำนักวิชาการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เอกสารสำคัญอาทิ เอกสารสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เอกสารกองสุขศึกษา เอกสารกรมควบคุมโรค เป็นต้น เอกสารส่วนบุคคล เช่น เอกสารนายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว เอกสารนายแพทย์บรรลุ ศิริพานิช เอกสารนายแพทย์นัดดา ศรียาภัย เอกสารนายแพทย์กระแส ชนะวงศ์ เป็นต้น เอกสารภาคประชาสังคม เช่น เอกสารมูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา กลุ่มเพื่อนมหิดล เป็นต้น ตลอดจนหนังสืออ้างอิงด้านการแพทย์และการสาธารณสุข

จ. นนทบุรี

เฮือนเจียงลือ

เฮือนเจียงลือ ก่อตั้งโดย ผศ.วิลักษณ์ ศรีป่าซาง และคุณอัญชลี ศรีป่าซาง (ภรรยา) ภายในมีห้องจัดแสดงเครื่องราง วัตถุมงคล ศาสตราวุธ บอกเล่าถึงความสำคัญและความเชื่อของชาวล้านนาในสมัยก่อน ห้องจัดแสดงผ้าทอ ที่อาจารย์และภรรยาได้รวบรวมผ้าซิ่น ผ้าทอ ในหลายยุคสมัย ที่ทำให้เห็นถึงวิวัฒนาการของผ้าทอล้านนา วัตถุที่จัดแสดงทำให้ผู้ที่มีโอกาสได้เยี่ยมชมรู้สึกถึงคุณค่าทั้งทางด้านภูมิปัญญา ศิลปวัฒนธรรมที่แทรกอยู่ในวัตถุทุกชิ้น และเห็นถึงการจัดการ เชื่อมโยงเรื่องราว ผ่านการบอกเล่าโดยผู้คนและวัตถุ เสมือนเป็นบันทึกเล่มสำคัญของล้านนา

จ. เชียงใหม่