บทความวิชาการ

บทความทั้งหมด 82 บทความ

เยาวราช: คุณค่าทางประวัติศาสตร์ศิลปวัฒนธรรม

22 มีนาคม 2556

หากพูดถึงเยาวราช หลายคนจะนึกถึงภาพบรรยากาศที่คราคร่ำไปด้วยสินค้าและผู้คนมากมายโดยเฉพาะคนไทยเชื้อสายจีน ยิ่งช่วงใกล้เทศกาลสารทจีน หรือตรุษจีน ตลาดเก่าเยาวราชจะเนืองแน่นไปด้วยผู้คนที่มาจับจ่ายใช้สอย เลือกซื้อสินค้าต่างๆ มากมาย ทั้งอาหารสด อาหารแห้ง ผลไม้ รวมไปถึงกระดาษเงิน กระดาษทอง ธูป เทียน เพื่อเตรียมการสำหรับพิธีไหว้บรรพบุรุษ ในยามค่ำคืน ถนนสายเยาวราชยังเต็มไปด้วยกลิ่นคละคลุ้งของอาหารหลากชนิด หลากรสชาติ ที่ตั้งอยู่เรียงรายตลอดแนวของถนนสายนี้ ตั้งแต่ข้าวแกง ก๋วยเตี๋ยว กระเพาะปลา ลูกเกาลัค จนถึงหูฉลาม รังนก ไก๋ตุ๋นยาจีนในภัตตาคารอันหรูหรา ทำให้ถนนสายเยาวราชแห่งนี้มีเสน่ห์ที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยว ให้เข้ามาชื่นชมและดื่มด่ำกับบรรยากาศแบบเดินไป ชิมไปได้เป็นอย่างดี นอกจากถนนสายเยาวราชจะเป็นย่านธุรกิจที่มีเงินไหลเวียนเข้าออกอย่างไม่ขาดสายตลอดทั้งวันแล้ว ในอีกมุมหนึ่งยังถือเป็นชุมชนที่มีคนเชื้อสายจีนอยู่อาศัยมากที่สุด ตั้งแต่การอพยพมาจากโพ้นทะเลตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ ด้วยลักษณะการรวมกลุ่มที่โดดเด่น ต่างไปจากกลุ่มสังคมอื่นในเมือง อีกทั้งการรวมกลุ่มในรูปขององค์กรการค้า และองค์กรทางสังคม โดยผ่านแซ่ ผ่านความเป็นท้องถิ่นเดียวกัน ผ่านสำเนียงพูด ผ่านองค์กรการกุศล ทำให้คำสั่งสอน ความเชื่อ ประเพณี ธรรมเนียม พิธีปฏิบัติถูกถ่ายทอดมายังชนรุ่นหลังรุ่นแล้วรุ่นเล่า วัดจีนและศาลเจ้าจีนจึงถูกสร้างขึ้นเพื่อ เป็นที่พึ่งด้านจิตใจ เป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมทางศาสนา และเป็นสถานที่ที่มีความผูกพันทางสังคม ของชาวจีน โพ้นทะเลที่อพยพเข้ามา ตลอดรวมถึงเป็นองค์กรการกุศลสงเคราะห์ ที่ช่วยเหลือคนยากจนและผู้ประสบภัยต่างๆ ดังเช่น มูลนิธิเทียนฟ้า ซึ่งเป็นมูลนิธิแห่งแรกของประเทศไทย สร้างขึ้นเมื่อ ร.ศ. 227 สามารถดำรงอยู่ได้จากการบริจาคของพ่อค้า นักธุรกิจ รวมทั้งยังเปิดเป็นโรงพยาบาลรักษาผู้ป่วย ทั้งทางแผนจีนและแผนปัจจุบัน อนึ่ง การเกิดขึ้นของศาลเจ้ายังแฝงไปด้วยความเชื่อ ประเพณีและพิธีกรรมต่างๆ มากมายที่ถูกเล่าขานและปฏิบัติต่อมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เช่น การเคารพนับถือเทพเจ้า การกราบไหว้เจ้าที่เจ้าทางที่ปกปักรักษาให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข การกราบไหว้บูชาเทพทั้งหลาย ตลอดจนเครื่องเซ่นไหว้ที่ใช้ในการบูชา แฝงไปด้วยสัญลักษณ์และความหมายมากมาย นอกจากนี้ผลงานทางด้านจิตรกรรมและสถาปัตยกรรมได้สะท้อนพื้นฐานทางความเชื่อ และความเชื่อมโยงสอดคล้องกับตำนานในประวัติศาสตร์ของชาวจีน หากพิจารณาในแง่คุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมของ UNESCO แล้ว อาจกล่าวได้ว่า ชุมชนย่านเยาวราชถือเป็นชุมชนที่มีคุณค่ามากมายในหลายแง่มุม อันได้แก่ คุณค่าทางวัตถุ (Materialistic Value) ที่แฝงไปด้วยสัญลักษณ์และความหมายมากมายผ่านทางวัตถุต่างๆ เช่น รูปปั้นมังกรเป็นตัวแทนของความเป็นชาย โคมไฟสื่อถึงแสงที่ส่องสว่างในการส่งเทพเจ้าขึ้นสวรรค์ คุณค่าทางประวัติศาสตร์ (Historical Value) หลักฐานจากบ้านเรือนที่อยู่อาศัยริมถนนและในตรอกซอกซอยสะท้อนให้เห็นประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐาน และวิถีชีวิตตั้งแต่ครั้งชาวจีนอพยพเข้ามาพร้อมกับเสื่อผืนหมอนใบในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งมีระยะเวลายาวนานนับร้อยปี คุณค่าทางจิตใจและความรู้สึก (Spiritual Value) ซึ่งปรากฏในคำสั่งสอนและการปฏิบัติที่มีสืบทอดกันมายาวนาน ทำให้ชาวจีนมีลักษณะเฉพาะที่โดดเด่น คือ มีความกตัญญู รู้คุณคน ขยัน พากเพียร หนักเอาเบาสู้ ประหยัด มัธยัสถ์ อดออม คุณค่าทางศิลปะ (Artistic Value) และ คุณค่าทางสุนทรียภาพ (Aesthetic Value) ที่ดูเหมือนจะแยกจากกันไม่ออก ถูกถ่ายทอดผ่านช่าง และศิลปินที่บรรจงสร้างงานศิลปะต่างๆ เช่น งานจิตรกรรมฝาผนัง การออกแบบทางสถาปัตยกรรม ที่อยู่บนพื้นฐานของความเชื่อและตำนานทางประวัติศาสตร์ คุณค่าทางวัฒนธรรม (Culture Value) ที่ได้สั่งสมและถ่ายทอดออกมาผ่านธรรมเนียม ปฏิบัติ รวมถึงคติธรรม คำสอน การใช้ชีวิตประจำวันที่ยึดถือกันมาจวบจนทุกวันนี้ เพื่อความเป็นอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข เพื่อลูกหลานได้อยู่รอดปลอดภัย ดังนั้นชุมชนเยาวราช จึงถือได้ว่ามีคุณค่าอย่างยิ่งในด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ สังคม และวัฒนธรรม โดยสะท้อนผ่านทางธรรมเนียมปฏิบัติ ประเพณี พิธีกรรม คำสอน ความเชื่อต่างๆ สถาปัตยกรรม ฯลฯ การเกิดพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตสัมพันธวงศ์ ภายในวัดไตรมิตรวิทยาราม เป็นศูนย์รวมอีกจุดหนึ่งที่แสดงถึงคุณค่าทางวัฒนธรรมภายในชุมชน ดั่งคำที่ว่า "สายสัมพันธ์ไทยจีน ถิ่นการค้าร่วมสมัย ไชน่าทาวน์เมืองไทย แหล่งประวัติศาสตร์และเศรษฐกิจใหญ่รัตนโกสินทร์" จากการพูดคุยกับคุณรณวัฒน์ เอมะสิทธิ์ เจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร คุณปรีดา ปรัตถจริยา และคุณปัญญภัทร เลิศสำราญเริงรมย์ วิทยากรชาวจีนในท้องถิ่น พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นแห่งนี้เป็นเพียงพิพิธภัณฑ์เล็กๆ ด้วยข้อจำกัดทางพื้นที่ และความพร้อมในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ ทำให้ยังคงมีปัญหาอุปสรรคต่างๆ อยู่บ้าง เช่น ด้านงบประมาณบริหารจัดการ กิจกรรมที่ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ ทำให้พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นสามารถถ่ายทอดและจัดแสดงเรื่องราวในอดีตได้เพียงบางส่วน แต่สิ่งที่น่าภาคภูมิใจก็คือชาวจีนในเยาวราชได้มีส่วนร่วมในการถ่ายทอด เรื่องราวในอดีตเพื่อเป็นเนื้อหาของนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์ มิเพียงเท่านั้น คุณค่าทางวัฒนธรรมและความรู้นั้น ยังคงแฝงอยู่ตามตรอกซอกซอย ในที่ต่างๆ ของย่านเยาวราช ตลอดรวมถึงผู้ที่จะสามารถถ่ายทอดความรู้ได้ดีก็คือ ผู้คนที่อยู่ในชุมชนที่สืบทอดความรู้ ความเชื่อ ผ่านการบอกเล่าและการกระทำกันมาจากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง เรื่องที่น่ายินดีสำหรับพิพิธภัณฑ์ก็คือ ชาวจีนเยาวราชมีความตั้งใจที่จะร่วมบริจาคเงินก้อนใหญ่ในการขยาย "พิพิธภัณฑ์เยาวราช" ให้เป็นแหล่งการเรียนรู้เรื่องราวของชาวจีนต่อไปในอนาคต ปัจจุบันแม้เยาวราชจะเป็นถนนที่ทุกคนรู้จักกันดี มีความรุ่งเรืองทางด้านธุรกิจ การค้า และได้ขึ้นชื่อว่าเป็นไชน่าทาวน์เมืองไทย ศิลปวัฒนธรรมของชาวจีนที่เกิดจาก การถ่ายทอดกันมาหลายชั่วอายุคนนั้นทรงคุณค่า แต่ขณะเดียวกันบางสิ่งบางอย่างกำลังจะจางหายไป หรือปรับเปลี่ยนเพื่อให้เข้ากับยุคสมัย การอนุรักษ์ รักษาศิลปะและวัฒนธรรมอันดีงามเพื่อการเรียนรู้ เป็นสิ่งหนึ่งที่จะสร้างคุณค่า ความหมาย และความงาม เพื่อสืบสานให้แก่ชนรุ่นหลังได้ใช้ประโยชน์ต่อไป เอกสารและหนังสืออ้างอิง ต้วนลี่เซิง และบุญยิ่ง ไร่สุขศิริ . (2543). ความเป็นมาของวัดจีนปละศาลเจ้าจีนในประเทศไทย. คณะกรรมการศาสนาเพื่อการพัฒนา : กรุงเทพ ฯ. วรศักดิ์ มหัทธโนบล. (2540). "การรวมกลุ่มของจีนสยาม".ศิลปวัฒนธรรม , ปีที่ 18 เดือนกุมภาพันธ์ หน้า 104 - 109. * กุมารี ลาภอาภรณ์ นักศึกษาปริญญาโท สาขาวัฒนธรรมศึกษา สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล  

นักสะสมกับการสะสม (Collectors and Collecting)

20 มีนาคม 2556

          บทความนี้มุ่งไปยังกิจกรรมการสะสมส่วนบุคคล แม้จะเห็นด้วยกับคำพูดที่ว่า  “การสะสมคือการบริโภค(consumption) นักสะสมมีความสุขตรงที่ได้แสวงหาสิ่งของเพื่อเติมเต็มคอลเล็กชั่นของตนให้สมบูรณ์ แม้ของเหล่านั้นเป็นของฟุ่มเฟือยที่หาประโยชน์อะไรไม่ได้”  แต่ในขณะเดียวกันข้าพเจ้า(ผู้เขียนบทความ) ก็ยังเชื่อด้วยว่า การสะสมอาจเป็นกิจกรรมที่ต่อต้านวัตถุนิยม (anti-materialistic)ได้ด้วยเช่นกัน          Abbas(1988) กับ Appadurai(1986) บอกว่า สำหรับนักสะสมแล้ว การเสาะหาวัตถุเพื่อเข้าสู่คอลเล็กชั่นเป็นการกระทำของการทำให้เกิดการโดดเด่นขึ้น(singularizing) กับเป็นการลดทอนการเป็นสินค้าทั่วไป(decommoditizing)โดยเมื่อวัตถุเข้าสู่คอลเล็กชั่น การเป็นสินค้าที่ซื้อมาขายไปแบบเดิมของมันจะยุติทันที และกลายเป็นของที่โดดเด่นที่ไม่ได้แลกเปลี่ยนอย่างเสรีกับสิ่งของที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจเท่ากันอีกต่อไป มูลค่าของมันได้ไปผูกติดกับคอลเล็กชั่นทั้งหมด ซึ่งคอลเล็กชั่นก็คือ กลุ่มสิ่งของที่นักสะสมสร้างขึ้นมา บ่อยครั้งเป็นการนำวัตถุออกมาจากวงจรเศรษฐกิจเดิมของมัน หรือชุบตัวมันจากของไร้ค่ากลายเป็นของขึ้นหิ้งไป จะเห็นว่าการบูชา (ritual act) วัตถุแบบนี้ ได้แยกเรื่องประโยชน์ใช้สอยของวัตถุที่เป็นเพียงสินค้าที่สร้างขึ้นด้วยเป้าหมายที่ตายตัวออกไป นักสะสมถูกมองว่า เป็นผู้ขี่ม้าขาวและผู้ช่วยชีวิตวัตถุมากกว่า เป็นนักบริโภคที่เห็นแก่ตัวและละโมบ          มุมมองที่หลากหลายว่าด้วยเรื่องนักสะสมในฐานะผู้บริโภคที่เห็นแก่ตัว และนักสะสมในฐานะฮีโร่โรแมนติก ต่างก็มีปรากฏอยู่ในงานวิจัยและบทความเกี่ยวกับการสะสมดังที่จะกล่าวต่อไปจากนี้ในบทความจะทบทวนประเด็นต่างๆ  ดังนี้-       นิยามของการสะสมและความพิเศษของมันที่ทำให้ต่างกับกิจกรรมอื่น ๆ-       สถานภาพของการสะสมในมิติประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เน้นที่จุดกำเนิดและการแพร่หลาย-       ใครคือนักสะสม, การสะสมเกิดขึ้นได้อย่างไร และผลที่ตามมาของการสะสมทั้งในแง่ปัจเจกและสังคม-       ทบทวนงานวิจัยและทฤษฎีเกี่ยวกับการสะสม วีธีวิทยาและแนวคิดต่าง ๆ-       พื้นที่ที่จะต้องการการวิจัยเพิ่มเติม นิยามการสะสม            ถ้าการสะสมเป็นการบริโภค มันก็คือประเภทของการบริโภคที่พิเศษกว่าแบบอื่น ในทางภาษาการบริโภคหมายถึงการใช้ให้หมดไป การตะกลาม หรือการล้างผลาญ แต่ในทางกลับกัน การสะสมก็เกี่ยวกับการเก็บ(keeping)รักษา(preserving)และสะสม(accumulating)หรือแม้แต่การสะสมประสบการณ์ที่จับต้องไม่ได้(เช่น คอลเล็กชั่นรายชื่อประเทศที่เคยไปเที่ยวมาแล้ว, การดูนก หรือจำนวนการเปลี่ยนคู่นอน) มีความรู้สึกของการเก็บไว้ในความทรงจำเข้ามาเกี่ยว สำหรับบางคนมื้ออาหารอาจหมายถึงการได้กินดื่ม ในขณะที่อีกคนมื้ออาหารเป็นประสบการณ์ในเชิงสังคมและรสชาติที่ทำให้เจริญอาหารและติดอยู่ในความทรงจำ ยกตัวอย่างการสะสมไวน์ ไวน์เป็นทั้งของสะสมและการบริโภคด้วย ช่องว่างในตู้ไวน์อาจหมายถึงตัวแทนของวาระสำคัญ, อาหาร และการสังสรรค์กับคนรู้ใจ ดังนั้น คอลเล็กชั่นอาจจะเป็นลำดับเหตุการณ์ต่อเนื่อง ไม่ใช่เพียงวัตถุที่อยู่ในความครอบครองในปัจจุบัน แต่อาจเป็นสิ่งที่เคยอยู่ในการครอบครองด้วยก็ได้            เมื่อมีการสะสมสินค้าอุปโภคบริโภค เราต่างแยกการสะสมให้โดดเด่นออกจากการสะสมประเภทอื่นและกิจกรรมการบริโภคแบบอื่น ในที่นี้การสะสมจึงหมายถึง            “กระบวนการการได้มาและการครอบครองของวัตถุที่เต็มไปด้วยความกระตือรือล้น, การเลือกสรร  และความหลงไหล ที่เคลื่อนย้ายวัตถุออกจากประโยชน์การใช้สอยเดิม และวัตถุนั้นถูกรับรู้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของชุดของวัตถุหรือประสบการณ์ที่ไม่เหมือนกัน”            นิยามนี้แยกการสะสมออกจากการบริโภคธรรมดาทั่วไป ขึ้นกับนักสะสมที่เคลื่อนย้ายวัตถุออกจากการใช้งานเดิมและวางพวกมันอยู่ในชุดที่ตัวเองนิยามไว้ ในขณะที่บางคอลเล็กชั่นเป็นวัตถุที่มีประโยชน์ใช้สอยเช่น ที่ใส่เกลือกับพริกไทย แต่เมื่อของสิ่งนี้เข้าไปสู่คอลเล็กชั่น มันก็ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นเครื่องปรุงรสอีกต่อไป การนิยามยังแยกการสะสมออกจากการรวบรวมหรือการกองระเกะระกะ แต่คอลเล็กชั่นต้องถูก “เลือก” อย่างน้อยอยู่บนฐานของขอบเขตชุดของวัตถุที่จะสร้างขึ้นเป็นคอลเล็กชั่น และการสะสมก็ต่างจากโกดัง(stock) ตรงที่จะไม่เก็บของที่ซ้ำกัน ตั้งอยู่บนกฎที่ว่าไม่เก็บของซ้ำกันสองชิ้น (no two alike)            จากนิยามข้างต้นคงจะช่วยให้แยกแยะได้ว่าของธรรมดาในบ้าน เช่น แผ่นเสียง หนังสือ หรือภาพถ่าย จะถือว่าเป็นการสะสมหรือไม่ ถ้าของเหล่านี้ถูกหยิบฟังได้อย่างเสรี ถูกหยิบมาอ่าน หรือภาพถ่ายที่เก็บไว้เป็นที่ระลึกเตือนความทรงจำ การใช้งานอย่างธรรมดานี้ไม่นับว่ามันคือส่วนหนึ่งของการสะสม แต่ถ้ามันถูกให้ค่าว่ามีการเก็บเป็นหมวดหมู่โดยไม่ว่าเป็นเกณฑ์ทางด้านความงามหรือวิทยาศาสตร์ นั่นแหละถึงจะเรียกว่าเป็นการสะสม(collecting)            นิยามของการสะสมที่จะใช้ในที่นี้อีกประการหนึ่งคือ การแยกออกจากกันระหว่างนักสะสมที่กระตือรือล้นในการแสวงหาวัตถุ กับภัณฑารักษ์ที่ไม่ได้ดิ้นรนในการหาของ ภัณฑารักษ์อาจจะเป็นนักสะสมที่เสาะแสวงหาวัตถุสำหรับคอลเล็กชั่นหนึ่ง แต่เมื่อการค้นหาสิ้นสุดลง การสะสมก็หยุดลงด้วย ในทำนองเดียวกัน ผู้รับมรดกบางคนหรือคนที่ซื้อคอลเล็กชั่นเข้ามาโดยปราศจากการหามาเพิ่ม หรือแทนที่วัตถุชิ้นหนึ่งด้วยวัตถุอีกชิ้น ก็เป็นได้เพียงภัณฑารักษ์ ไม่ใช่นักสะสม แต่นิยามนี้ยังชี้ให้เห็นอีกว่า คอลเล็กชั่นยังคงเป็นคอลเล็กชั่นต่อไปแม้นักสะสมสิ้นสุดการเป็นเจ้าของมันแล้ว ตราบใดที่วัตถุนั้นยังคงถูกแสวงหาอย่างเลือกสรร เพื่อที่จะถูกสร้างให้เป็นส่วนหนึ่งของชุดวัตถุที่ไม่เหมือนกัน คอลเล็กชั่นจึงสามารถอยู่คงทนกว่านักสะสม กล่าวได้ว่าการดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องของคอลเล็กชั่น เป็นสัญลักษณ์ของวัตถุซึ่งไม่มีวันตาย ถือเป้าหมายสูงสุดของนักสะสมหลายคน จุดกำเนิดและการแพร่หลายของการสะสม            เมื่อการสะสมเป็นกิจกรรมการบริโภคอย่างหนึ่ง จึงอาจคาดได้ว่าการสะสมอาจพัฒนาและเฟื่องฟูในยุคที่ลัทธิบริโภคนิยมเฟื่องฟูด้วย มีหลักฐานบางอย่างสนับสนุนสมมติฐานนี้ แต่ในขณะเดียวกันก็พบว่าราชสำนัก และวัด ก็มีคอลเล็กชั่น งานศิลปะ สรรพาวุธ และทรัพย์สินมีค่า อยู่ก่อนหน้านั้นแล้วจากงานวิจัยของ Rigby (1944) ชี้ให้เห็นว่าการสะสมเกิดขึ้นแพร่หลายหลังจากอาณาจักรกรีกถูกรวมเป็นปึกแผ่นโดยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ในศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสตกาล อันเนื่องมาจากการทะลักเข้ามาของสินค้าฟุ่มเฟือยจากตะวันออก โดยเฉพาะจากเปอร์เซีย วัตถุที่สะสมอาทิ ภาพเขียน ประติมากรรม งานเขียนต้นฉบับ อัญมณี เครื่องปั้นดินเผา พรม เครื่องแขวนผนัง และผ้าปัก เมือง Sicyon กลายเป็นศูนย์กลางในการผลิตและขายงานศิลปะ โดยอาศัยพวกดีลเลอร์เป็นผู้จัดหาของแก่พวกเศรษฐีใหม่เมื่อเมือง Pergamum ที่รุ่มรวยด้วยงานศิลปะ ตกอยู่ภายใต้อาณาจักรโรมันเมื่อ 133 ปี ก่อนคริสตกาล ยิ่งทำให้กระตุ้นความสนใจในการสะสมให้แพร่หลาย เกิดความสนใจใหม่ในศิลปะกรีกและเอเชียในกลุ่มเศรษฐีชาวโรมัน โดยเริ่มขึ้นในอาณาจักรโรมันช่วง 27 ปีก่อนคริสตกาล ดังที่ Rigby(1944) บอกไว้ว่า“ทุกวัน ผู้คนสามารถหาของสะสมได้ตลอดเวลา” ของที่ว่านี้รวมถึง งานศิลปะ, หนังสือ, ของเก่า, เหรียญ, รูปปั้น, เครื่องทองเหลือง, เซรามิก, พรม, เครื่องประดับ, อัญมณี, เฟอร์นิเจอร์, เครื่องเงิน, ฟอสซิล, แมลงในอำพัน ฯลฯ Sicyonยังคงเป็นเมืองศูนย์กลางนักท่องเที่ยวที่มักจะมีของติดไม้ติดมือกลับไปบ้านจำพัก เสื้อผ้าของOdysseusและเกราะของ Achillesระหว่างยุคกลางในยุโรป การสะสมเป็นกิมกรรมหลักของโบสถ์, ราชสำนัก และคนรวย เช่น Duke Jean de Berryและตระกูล  Medici อย่างไรก็ตามการขุดค้นสมบัติอาณาจักรโรมันในระหว่างปี ค.ศ. 1450 – 1550 ทำให้เกิดการสะสมเหรียญ, รูปปั้น และวัตถุโบราณอื่น ๆ แต่ยุคการสะสมเฟื่องฟูที่แท้จริงของคนธรรมดาทั่วไป ในยุโรปและจีนและญี่ปุ่น เริ่มในศตวรรษที่ 16 และ 17 ในแต่ละประเทศดังกล่าว การเติบโตของการสะสมสัมพันธ์กับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ถ้าไม่ใช่การค้าในประเทศก็เป็นการค้าต่างประเทศในเอเชียมีความแตกต่างบ้างในชุดของการวัตถุสะสม ของที่นิยม ได้แก่ ชุดน้ำชา, เฟอร์นิเจอร์เครื่องเขิน, ศิลปะการคัดลายมือและหินฝนหมึก, ม้วนภาพวาด, หิน, พิณ, ผ้า, ไม้หายาก, ภาชนะเผาเครื่องหอม, และเครื่องทองเหลืองโบราณ ของสะสมอื่น ๆ อาทิ อัญมณี, เครื่องประดับ, อาวุธ และหนังสือ ซึ่งเหมือนกับพวกยุโรป สำหรับนักสะสมชาวญี่ปุ่นในช่วงยุคเอโดะ(ค.ศ. 1603-1868)ของจากจีนและเกาหลี (ชุดน้ำชา, เครื่องดนตรี, ศิลปะคัดลายมือและกลอน) เป็นของสะสมที่ได้รับความนิยม นักสะสมชาวจีนที่มีชื่อเสียงในยุคกลางราชวงศ์หมิง(1550-1650)คือพวกพ่อค้าเศรษฐีใหม่ ความนิยมที่มากขึ้นแต่งานฝีมือยังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มชนชั้นสูงที่มีความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์กับพวกช่าง ทำให้เกิดการขาดแคลนงานศิลปะของแท้ ของเลียนแบบจึงเกิดขึ้น ว่ากันว่าเป็นธรรมดาที่ 1 ใน 10 ของภาพวาดที่มีทั้งหมดเท่านั้นที่จะเป็นของจริงแรงผลักสำคัญของการสะสมในยุโรปในช่วงเวลาเดียวกันคือ การเข้ามาของสิ่งมีค่าจากสหรัฐฯ และจากการค้ากับเอเชีย ระหว่างศตวรรษที่ 16-17 ชาวยุโรปหลายพันสร้างตู้ Wunderkammernที่ใส่ของสะสมที่มาจากดินแดนอื่น  โดยเป็นของจำพวก ฟันสัตว์ รองเท้า ขลุ่ย กระจก เรือแคน ตู้ Wunderkammernเป็นคอลเล็กชั่นของมหาชนที่เป็นต้นกำเนิดของสวนสัตว์และสวนพฤกษศาสตร์ขึ้น แสดงถึงความหลงใหลของชาวยุโรปต่อความเป็นอื่นที่แตกต่างจากตนเองทั่วทั้งยุโรปและอเมริกา การเติบโตของการสะสมมีแนวโน้มที่เป็นผลมาจากการพัฒนาวัฒนธรรมการบริโภค เช่น การแพร่หลายของการสะสมภาพวาดสีน้ำมัน, งานแกะสลัก, หัวทิวลิป, เปลือกหอย, เหรียญ, ก้อนแร่ และวัตถุอื่น ๆ การสะสมกลายเป็นที่นิยมสำหรับทั้งเด็กและผู้ใหญ่ การสะสมกลายเป็นสิ่งเฉพาะมากขึ้น ไม่เพียงแค่ประเภทของวัตถุสะสม แต่ยังรวมถึงช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์, เพศ, ชนิด, ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ และการแยกประเภทแบบอื่น ๆที่ถูกกำหนดเข้ามา แม้แต่คอลเล็กชั่นของตุ๊กตา หนังสือการ์ตูน กระป๋องเบียร์หากจะบอกว่าการสะสมเป็นเพียงการแสดงออกถึงวัฒนธรรมบริโภคก็คงจะไม่ถูกซะเดียวที เพราะมีหลักฐานว่าการสะสมเกิดขึ้นก่อนยุคประวัติศาสตร์เสียอีก โดยพบการสะสมก้อนกรวดเมื่อ 8000 ปีที่แล้วในถ้ำของฝรั่งเศส นอกจากนี้ก็ยังพบของสะสมอื่น เช่น ฟอสซิล ควอตซ์  หอยทะเล ในถ้ำอื่น  ๆด้วย นอกจากนี้ชุดของวัตถุเหล่านี้สามารถถูกมองได้ว่าเป็นคอลเล็กชั่นของส่วนบุคคลหรือกลุ่ม แนวโน้มที่ของการเกิดการสะสมจึงชัดเจนว่ามีมาก่อนวัฒนธรรมบริโภคนิยม และก็ไม่ได้ปฏิเสธด้วยว่านักสะสมยุคก่อนประวัติศาสตร์มีความรู้สึกถึงการเสาะแสวงหาและการเป็นเจ้าของ ที่จริงแล้ว ความเชื่อที่ว่าเมื่อคนตายแล้วควรถูกฝังไปพร้อมกับสิ่งของของเขาทำให้เห็นว่าการผูกติดของคนกับวัตถุยังคงมีต่อเนื่องไปถึงโลกหลังความตาย  วัตถุสะสมต่าง ๆ จึงอาจจะรับบางสิ่งบางอย่างมาจากต้นกำเนิดของมัน เหมือนกับที่Miller(2001)บอกว่าบ้านเก่าอาจจะมีผีอยู่ด้วยการแพร่หลายของการสะสมส่วนบุคคลส่วนหนึ่งเกิดมาจากการที่คอลเล็กชั่นที่มักจะอยู่ทนกว่าเจ้าของ นอกจากนี้ยังมีเหตุมาจากคอลเล็กชั่นที่ดีในพิพิธภัณฑ์ ก็มาจากคอลเล็กชั่นส่วนบุคคลที่ดีที่สุดด้วย พิพิธภัณฑ์ได้ให้รูปแบบว่าอะไรคือคอลเล็กชั่นที่ดี ซึ่งเป็นการให้ความชอบธรรมต่อการสะสม คอลเล็กชั่นเหล่านี้นอกจากถูก “บูชา” ในพิพิธภัณฑ์ ยังช่วยนิยามความรู้สึกของอัตลักษณ์ท้องถิ่น, ภูมิภาค และชาติด้วย เมื่อการสะสมของส่วนบุคคลเติบโตขึ้น บางครั้งพิพิธภัณฑ์จึงโตขึ้นตามไปด้วย แม้การสะสมจะแพร่หลายและเติบโตขึ้นเรื่อยๆ  แต่งานวิจัยที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการสะสมกับมีจำกัดมาก งานวิจัยที่สำคัญเรื่องการสะสม            งานวิจัยส่วนใหญ่ก่อนหน้านี้เรื่องการสะสมคือ งานเชิงประวัติศาสตร์และเน้นไปที่กิจกรรมการสะสมของวัฒนธรรมชนชั้นสูง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานศิลปะ Rigby(1944) ได้ทบทวนกว้าง ๆ เกี่ยวกับงานวิจัยดังกล่าวและยังอธิบายแรงจูงใจของนักสะสมด้วย และมีงานศึกษาที่น่าสนใจด้านอื่น ๆ ในเชิงประวัติศาสตร์ของนักสะสม(ทั้งชีวประวัติ และอัตชีวประวัติ) เช่น Walter Benjamin, Sigmund Freud, Engelman และ Andy Warhol            มีงานวิจัยจำนวนน้อยที่ตรวจสอบการสะสมในแง่กิจกรรมเชิงเศรษฐกิจ ในขณะที่พ่อค้าคนกลางและผู้ผลิตของสะสมอาจจะมองการสะสมในเชิงเศรษฐกิจ แต่นักสะสมส่วนใหญ่ไม่ใช่ นักสะสมดูเหมือนว่าจะได้ประโยชน์แบบอื่นจากกิจกรรมการสะสมของพวกเขา บางครั้งทฤษฎีและงานวิจัยเกี่ยวกับการสะสมที่เยี่ยมที่สุดคือ การพยายามเข้าใจว่าประโยชน์ที่ว่านั้นคืออะไร คำถามเรื่องแรงผลักดันของนักสะสมที่ถูกพูดถึงมักจะบอกว่า นักสะสมเป็นคนแปลก, หมกหมุ่น, ต่อต้านสังคม หรือบางคนชอบวัตถุมากกว่าคน ดังที่ Jean Baudrillard (1994)บอกว่า ลักษณะของนักสะสมเหมือนทารกและเป็นพวกขาดบุคลิกภาพ ส่วน Muensterberger (1994)  บอกว่า การสะสมกับอำนาจไสยศาสตร์ของสังคมมนุษย์ที่ยังไม่มีการศึกษา เดินคู่ขนานไปด้วยกัน และมีบางคนก็บอกว่า การสะสมเป็นธรรมชาติที่เลี่ยงไม่ได้ซึ่งมาจากมรดกวิวัฒนาการของมนุษย์ ข้อเสนอเหล่านี้บ่อยครั้งมองว่าการสะสมคล้ายคลึงกับพฤติกรรมของเก็บสะสมของสัตว์ แต่จะเห็นว่านิยามของการสะสมที่เราพูดถึงก่อนหน้านี้ ไม่เหมือนการเก็บสะสม(เชิงหวง/ซ่อน)ของสัตว์ ยิ่งกว่านั้น ความโดดเด่นของนักสะสมคือ เขาจะมีความต้องการที่จะสะสม และมีความปรารถนาอันแรงกล้า การสะสมของพวกเขาจึงน่าจะแตกต่างจากพฤติกรรมของสัตว์ นักเขียนในนิตยสารไทม์ของลอนดอน นำจดหมายถึงบรรณาธิการที่พูดถึงเรื่องนี้ว่า            “หมาที่เก็บกระดูกเก่า ซึ่งเกือบจะไม่มีเนื้อติดเอาไว้ ก็เหมือนกับนักสะสมที่เก็บของที่ล้าสมัยแล้วไว้ แสตมป์ที่ใช้แล้วสำหรับคนแล้วก็เหมือนกระดูกที่ไม่มีเนื้อติดของหมา แต่นักสะสมแสตมป์ก้าวไปไกลยิ่งกว่าหมาตรงที่ชอบแสตมป์เก่ามากกว่าใหม่ ในขณะที่หมาไม่ใช่ นักสะสมมีอะไรซับซ้อนมากกว่า เนื่องจากเขามักมีจินตนาการอยู่ก่อนแล้วเกี่ยวกับคอลเล็กชั่นที่สมบูรณ์แบบ แต่ไม่มีหมาที่ไหนจะฝันถึงการได้มาของกระดูกแบบต่าง ๆ ที่มีอยู่ในโลก”            Clifford(1985) บอกว่า เมื่อเราสอนเด็กถึงกฎของการเลือกเฟ้นและระบบการตั้งชื่อ เพื่อแนะแนวทางการสะสมให้พวกเขา ในขณะเดียวกันเราก็กระตุ้นให้เขาเสาะหาและเกิดความต้องการในการเป็นเจ้าของในสิ่งที่สะสมด้วย            แนวคิดอื่น ๆ เกี่ยวกับแรงจูงใจของนักสะสมเป็นเรื่องเชิงจิตวิทยามากขึ้น มีผู้เสนอว่าการสะสมเกิดมาจากความต้องการทางเพศและความหมกหมุ่นของนักสะสมที่ชอบการมอง การได้มา และหลงใหลในวัตถุที่สะสม โดยเป็นรูปแบบหนึ่งของความรู้สึกทางเพศก่อนการร่วมสังวาสและการมีเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้ยังมีคนอธิบายว่าการสะสมเหมือนกับกิจกรรมการแข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตาย เหมือนกับการล่าหรืออยู่ในสมรภูมิ บางคนบอกว่าการสะสมคือโรคหรือภาวะที่ถูกครอบงำอย่างหนึ่ง และบางคนบอกว่านักสะสมพยายามที่จะเติมเต็มสิ่งที่เขารักที่เขารู้สึกว่าขาดหายใจในวัยเด็ก            นักจิตวิทยาการศึกษาได้ศึกษาถึงพฤติกรรมการสะสมของเด็กในระหว่างครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 การศึกษาในปี 1900 พบว่านักเรียนมีคอลเล็กชั่นโดยเฉลี่ยระหว่าง 3-4 อย่าง มีมากสุดในเด็กอายุ 8-11 ปี การสะสมเริ่มลดน้อยลงในปี 1927 ในระหว่างเศรษฐกิจขาลงในทศวรรษที่ 1930 โดยพบกว่าเด็กอายุ 10 ปี มีคอลเล็กชั่น 12.7 อย่าง ซึ่งการสะสมนี้เกิดจากการว่างงานและขาดความหวัง และถูกมองว่าเป็นในเชิงการผลิตมากกว่าการบริโภค บางคนเรียกว่าเป็น “ความบันเทิงที่เอาจริงเอาจัง” (serious leisure)            อย่างไรก็ตามในสังคมบริโภคนิยม ก็มีการบริโภคในแง่มุมของการสะสมเช่นกัน อาทิ การสะสมตุ๊กตา, การ์ด,โปเกม่อน, เครื่องบินจำลอง แม้แต่ศาสนาก็ถูกทำให้เป็นสินค้า เมื่อเด็กอิสราเอลสะสมการ์ดRabbiอย่างไรก็ดีการสะสมก็มีขึ้นได้ในสังคมที่ไม่ใช่เศรษฐกิจแบบตลาด อย่างในโซเวียตและโรมาเนีย การสะสมแสตมป์, ป้ายรูปประธานเหมา และแผนที่ ก็มีให้เห็นทั่วไป            Campbell (1987) บอกว่าการพัฒนาของวัฒนธรรมการบริโภคนำไปสู่การทำให้โรแมนติก ทำให้เกิดความหลงใหล วัตถุในคอลเล็กชั่นที่ไม่มีราคาเป็นเรื่องของเศรษฐกิจโรแมนซ์มากกว่าเศรษฐกิจสินค้าเงินตรา วัตถุกลายเป็นของพิเศษ การสะสมคืออาณาจักรของตำนานที่เกี่ยวกับวัตถุจำพวกที่น่าศรัทธา เชิงพิธีกรรม และมีความศักดิ์สิทธิ์ ด้วยตำนานแบบนี้ บางครั้งนักสะสมมักมองว่าตัวเองเป็นผู้ชุบชีวิตทรัพย์สินที่ใช้การไม่ได้ให้กลับมามีคุณค่า ซึ่งเขามองว่าตนเองต่างกับพ่อค้าคนกลาง ด้วยกิจกรรมการสะสมที่ถูกทำให้โรแมนติกและวัตถุที่ถูกทำให้ศักดิ์สิทธิ์ ทำให้นักสะสมปฏิเสธได้ว่าพวกเขาไม่ได้เป็นพวกวัตถุนิยม            หลังจากจุดสูงสุดของการสะสมในวัยเด็ก เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นการสะสมจะน้อยลง แม้ว่าเด็กไม่ทั้งหมดจะทิ้งคอลเล็กชั่นของตน แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเช่นนั้น กิจกรรมการสะสมจะเกิดอีกครั้งในช่วงวัยกลางคน โดยเฉพาะในผู้ชาย ซึ่งอาจสะท้อนถึงอำนาจทางเศรษฐกิจที่มากกว่าผู้หญิง, การแข่งขัน หรือการอำนาจในการตัดสินใจ  แม้ว่าการสะสมจะถูกมองว่าเป็นแบบฉบับที่มีในผู้หญิง แต่ความแตกต่างในเพศสภาพ(gender)ไม่ค่อยมีอิทธิพลมากต่อการสะสม ร้อยละ41 ของคนอเมริกันที่เป็นนักสะสมเหรียญคือผู้หญิง และเกือบครึ่งหนึ่งของพวกนี้ก็เป็นนักสะสมแสตมป์ด้วย ในอังกฤษนักสะสมหญิงมีพอ ๆ กับชาย แต่นักสะสมหญิงมักจะถูกมองว่าสะสมเพียง “งานฝีมือกระจุกกระจิก” (bibelot) อย่างไรก็ดีชนิดของสะสมของหญิงและชายยังคงแตกต่างกัน ของสะสมผู้ชายเช่น กลไกต่าง ๆ, เครื่องใช้, อาวุธ ส่วนของผู้หญิง อาทิ ของตกแต่ง, ของใช้ในบ้าน, ของสวยงาม การวิพากษ์เกี่ยวกับงานสะสม            ท่ามกลางการวิจารณ์ต่าง ๆ ประเด็นหนึ่งคือ มองว่าคอลเล็กชั่นคือ วัตถุเล่นๆไม่จริงจังของการบริโภค(consumption)มากกว่าจะเป็นวัตถุที่สร้างสรรค์ของงานผลิต (production) การวิพากษ์ทำนองนี้มุ่งตรงไปยังนักสะสมผู้หญิง Saiselin (1984) ตั้งข้อสังเกตว่า ฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 19 ตามแบบฉบับ(stereotype)ผู้ชายถูกมองว่าเป็นนักสะสมที่เอาจริงเอาจัง ในขณะที่ผู้หญิงถูกมองเชิงเหยียดว่าเป็น “เพียงคนซื้อของกระจุกกระจิก” มีงานศึกษาเกี่ยวกับคู่สามีภรรยาของ Belk et. al. (1991)พบว่ามีความแตกต่างอย่างเป็นระบบของคอลเล็กชั่นระหว่างชายและหญิง คอลเล็กชั่นผู้ชายจะถูกมองว่าเป็นของจำพวก ขนาดใหญ่, แข็งแรง, โลกียวิสัย, กลไก, หายาก, เป็นวิทยาศาสตร์, จริงจัง, มีประโยชน์ใช้สอย, เตะตา, และไม่สดใส ในขณะที่ของผู้หญิงจะถูกมองว่าเป็นของที่ เล็ก, อ่อนแอ, อบอุ่น, เป็นธรรมชาติ, น่าทะนุถนอม, ดูเป็นงานศิลปะ, สนุกสนาน, ประดับประดา, สงบเสงี่ยม และสดใส จะเห็นว่าการวิพากษ์เช่นนี้ที่มีอคติในเพศสภาพ ไม่ต่างอะไรไปจากขบวนการทำให้โรแมนติกที่ Campbell(1987) บอกไว้ว่ามันเป็นแรงผลักดันในวัฒนธรรมการบริโภค เราอาจจัดคุณลักษณะของการวิพากษ์แบบนี้ว่า เป็นความเกินพอดีของการทำให้โรแมนติกท่ามกลางนักสะสม            การวิพากษ์แบบอื่นๆ ในการสะสม ได้แก่ การเผยให้เห็นว่าบุคลิกภาพในของหมกหมุ่นของคน ๆ หนึ่ง ซึ่งสูญเสียการควบคุม และเสพติดกับการเสาะแสวงหาและความต้องการเป็นเจ้าของ แม้ว่ามีนักสะสมจำนวนน้อยที่อาจจะเป็นพวกหมกหมุ่น แต่ก็ยังมีคนที่สามารถควบคุมกิจกรรมการสะสมของตนเองได้ ซึ่งตรงจุดนี้เราสามารถเห็นความเชื่อมโยงของรูปแบบที่โรแมนติก(romanticism) กับศิลปินแบบอุดมการณ์แบบโรแมนติก แม้ว่าอาจจะถูกแย้งว่า ศิลปินเกี่ยวข้องกับกิจกรรมการผลิตผลงานมากกว่าการบริโภค แต่ดังที่เคยกล่าวไว้ข้างต้นว่า แท้จริงแล้วมีความเป็นไปได้ที่จะเห็นนักสะสมเกี่ยวข้องกับกิจกรรมการผลิตผลงานที่สร้างสรรค์ได้ด้วยเช่นกัน            ส่วนหนึ่งที่ยุ่งยากเกี่ยวกับการวิพากษ์งานสะสม เนื่องจากมีนักสะสมที่หลากหลาย และมีเหตุผลมากมายในการสะสม งานวิพากษ์หนึ่งที่เด่นคือ Danet and Katriel(1989) พวกเขาแยกประเภทนักสะสมเป็นแบบ A ที่มุ่งมั่นสะสมให้ครบคอลเล็กชั่น และแบบ Bที่เห็นความงามเป็นสำคัญ ไม่จำเป็นต้องเป็นคอลเล็กชั่นสมบูรณ์ก็ได้ ซึ่งมีผู้วิพากษ์นักสะสมแบบ A ว่าอยู่ในพวกหมกหมุ่น ในขณะที่การวิพากษ์ในแบบ B มองว่าเป็นพวกโรแมนติก มูลเหตุ, การใช้เหตุผลตัดสิน และความพอใจในการสะสม            การวิพากษ์โดยตรงในการสะสมส่วนใหญ่ละเลยเรื่องคำถามว่า ทำไมนักสะสมจำนวนมากเลือกสะสมสิ่งของบางอย่าง และเราจะอธิบายกิจกรรมการสะสมนี้อย่างไร วัตถุบางอย่างไม่ได้ตั้งใจที่จะสะสม นักสะสมบางคนสะสมเพราะมีสิ่งเฉพาะตัวที่ไปเชื่อมโยงกับ ชื่อเล่นตัวเอง, มรดกของชาติหรือชาติพันธุ์, อาชีพ, หรือประสบการณ์ แต่บางครั้งการสะสมเริ่มจากการได้ “ของขวัญ” จากเพื่อนหรือครอบครัว ยิ่งไปกว่านั้น การที่เราตะหนักว่าเรามีของชนิดหนึ่งสองหรือสามชิ้น ก็เป็นจุดเริ่มของคอลเล็กชั่น งานศึกษาของ Belk (1995)พบว่าประโยชน์ที่ได้มาจากการสะสมคือ ความรู้สึกถึงการมีอำนาจและการเป็นผู้เชี่ยวชาญ            สำหรับการสะสมแล้ว วัตถุที่สะสมก่อให้เกิดโลกใบเล็กที่ซึ่งนักสะสมตั้งกฎเกณฑ์ของตนเองได้ นอกจากนี้ยังมีความรู้สึกถึงชัยชนะในอาณาจักรที่นิยามไว้แคบ ๆ ของวัตถุที่หายาก ก่อให้เกิดทั้งความเชื่อมั่นในทักษะของตน, การติดตามต่อเนื่อง และความเชี่ยวชาญ และจะเพิ่มความรู้สึกตื่นเต้นไปด้วยเมื่อโชคดีที่มีโอกาสพบวัตถุที่ต้องการในราคาที่ต่อรองได้ เรามักได้ยินเรื่องเล่าเกี่ยวกับการค้นหาของได้โดยบังเอิญอยู่เสมอ งานศึกษาของ Denefer (1980)บอกไว้ว่า ความรู้และความเชี่ยวชาญของนักสะสม เป็นแหล่งที่มาของสถานะภายในกลุ่มเพื่อนนักสะสมด้วยกันเอง บางคนถูกให้ความสำคัญว่ามีคุณูปการต่อวงการประวัติศาสตร์, วิทยาศาสตร์ และศิลปะ(แม้แต่คอลเล็กชั่นวัตถุที่ถูกมองว่าต่ำต้อย เช่นกระป๋องเบียร์ หรือ หุ่นจำลองช้าง) การรวบรวมและจัดประเภทสิ่งของเป็นสิ่งที่สนุกในตัวของมันเอง และก่อให้เกิดความภาคภูมิใจในกลุ่มคนที่สนใจเหมือนกัน การได้สังคมกับเพื่อนนักสะสมก็อาจก็สร้างความเพลิดเพลินทางสังคมและมีความรู้สึกของชุมชนเกิดขึ้นด้วย            คอลเล็กชั่นอาจสะท้อนความโหยหาอดีตของความสนุกและอิสระในวัยเด็ก นักสะสมบางคนพยายามหาความสำราญกับคอลเล็กชั่นที่สูญหายไปนานในวัยเด็ก เพราะนักสะสมวัยผู้ใหญ่มักเป็นอยู่ในช่วงเวลาที่ลูกหลานแยกตัวออกไป พวกเขาจึงมีทั้งช่องว่างที่จะเติมเต็มความเป็นครอบครัวอบอุ่นที่เคยมีก่อนหน้านี้ และมีเงินเหลือเฟือพอที่จะอุทิศให้กับคอลเล็กชั่น แต่ในขณะที่บางครั้งสมาชิกในครอบครัวก็เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมการสะสม และบ่อยครั้งที่สมาชิกในครอบครัวก็เริ่มขุ่นเคืองที่นักสะสมอุทิศเวลา, ความรัก, ความพยายาม และเงิน ให้กับงานสะสม คอลเล็กชั่นจึงกลายเป็นคู่ปรับ หรือ “เมียเก็บ” ของนักสะสม บรรดาสมาชิกในครอบครัวจึงไม่เต็มใจที่จะเก็บคอลเล็กชั่นพวกนี้ไว้เมื่อเจ้าของเสียชีวิต (ดังนั้นความหวังของการไม่มีวันตายของคอลเล็กชั่นที่นักสะสมแสวงหาก็เป็นอันจบสิ้น) ด้วยมูลเหตุนี้นักสะสมบางคนจึงพยายามหาทายาทส่งต่อคอลเล็กชั่นนอกจากคนในครอบครัว            แม้ว่านักสะสมอาจมีมูลเหตุการตัดสินใจสะสมว่า คอลเล็กชั่นของพวกเขาคือ การลงทุนทางเศรษฐกิจแบบหนึ่ง อย่างไรก็ดี ยังมีการอ้างว่าคอลเล็กชั่นของพวกเขาก็คือ บ้านสำคัญหลังการเกษียณ หรือเป็นมรดกสำหรับลูกหลาน เหล่านี้เป็นความพยายามของนักสะสมที่จะสร้างความชอบธรรมในการสะสมของพวกเขาว่าป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีเหตุผลมากกว่าการทำสิ่งที่ประหลาด นอกจากนี้ตลาดงานศิลปะ, การมีคอลเล็กชั่นของพิพิธภัณฑ์ และสื่อมวลชนที่สนใจต่อคอลเล็กชั่นที่โด่งดัง ก็ช่วยสร้างความชอบธรรมแก่การสะสมด้วย            การสะสมบางอย่างยังสร้าง “ความศักดิ์สิทธิ์” ให้ตัวมันเองด้วย และกลายเป็นของที่ “ราคาสูงจนหาค่าไม่ได้” Belk (1995b) ยกตัวอย่างว่า  ฟรอย์(Freud) กล่าวอรุณสวัสดิ์กับวัตถุโบราณของเขา และ Jungเห็นว่าหนังสือในคอลเล็กชั่นของเขามีชีวิตจิตใจเหมือนคน ก่อนหน้านี้ที่เรากล่าวถึงการสะสมที่อยู่บนฐานของความโรแมนติก และการเปรียบเทียบวัตถุนิยมกับการต่อต้านวัตถุนิยม และการอธิบายการสะสมในฐานะกิจกรรมที่ทำให้สินค้าหมดสิ้นความเป็นสินค้า(decommoditization)เป็นการย้ายวัตถุออกจากวงจรการตลาดและบูชามันในคอลเล็กชั่น วัตถุที่สะสมจึงไม่ใช่สิ่งที่แลกเปลี่ยนได้อีกต่อไป เมื่อมันเข้ามาอยู่ในคอลเล็กชั่น มันมักจะกลายเป็นของที่ได้รับการยกเว้นจากการตีค่าในเชิงตัวเงิน เนื่องจากนักสะสมให้ค่ามันในลักษณะมันเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนคอลเล็กชั่น วัตถุสะสมที่เคยมีประโยชน์ในเชิงใช้สอยก็จะไม่ได้เป็นเช่นนั้นอีกต่อไป คุณค่าในการใช้งานของวัตถุถูกจัดการใหม่และเปลี่ยนไปสู่คุณค่าเชิงสัญลักษณ์มากขึ้น การสะสมสามารถถูกมองว่าเป็นเครื่องบูชาที่เชื่อมต่อกับความศักดิ์สิทธิ์ เหมือนกับของขวัญที่ได้จากคนรักก็ทำให้มันเปลี่ยนรูปไปในเชิงพิธีกรรม จากของตลาดทั่วไปกลายเป็นสมบัติส่วนตัว ดังนั้นวัตถุที่อยู่ในคอลเล็กชั่นจึงถูกสร้างบริบทใหม่และเลื่อนไหลไปสู่สถานที่ของการเทิดทูน การเคลื่อนของวัตถุตลาด ๆ ไปสู่ตำแหน่งใหม่ดังกล่าว เป็นทั้งการเชิดชูและปฏิเสธวัฒนธรรมบริโภคไปในขณะเดียวกัน  ทิศทางการวิจัยในอนาคต            การสะสมไม่ว่าจะโดยบุคคลและพิพิธภัณฑ์เป็นงานสมัยใหม่ที่สำคัญในแง่ การรวบรวม, จัดการ และควบคุมกองสมบัติของโลก ไม่ใช่แค่การล่าและเก็บหาของ สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไปจากการสะสมในยุคแรกคือ การที่คอลเล็กชั่นถูกทำให้กลายเป็นสินค้าในตลาดของสะสมหลายแห่ง และการเกิดขึ้นของ “คอลเล็กชั่นสำเร็จรูป” (instant collections) ที่สำหรับขายล็อตใหญ่แก่สาธารณชน ในยุคอาหารสำเร็จรูป,uอินเตอร์เนตพร้อมใช้ และความพอใจสำเร็จรูปที่มีมากขึ้นในทุกวันนี้ ความเชื่อเกี่ยวกับคอลเล็กชั่นสำเร็จรูป ถูกมองว่าไม่ได้เกิดจากความพอใจในการสะสมอีกต่อไป  ไม่มีการเสาะแสวงหาและการตามล่าของหายาก   รวมไปถึงไม่มีการได้ลองใช้ทักษะและโชคในการเสาะหาของ และเกิดความยินดีที่ได้คิดและเห็นคอลเล็กชั่นที่เกิดขึ้น คอลเล็กชั่นสำเร็จรูปจากบริษัทอย่าง Franklin Mint,Danbury Mint, Lenox Collectionsและ Bradford Exchange  อาจจะมีเสน่ห์ต่อพวกภัณฑารักษ์ แต่ถ้าไม่มีการเสาะแสวงหาของอื่นในชุดสะสมจากบริษัทเหล่านี้ การเป็นผู้ซื้อแบบนั้นคงจะไม่เรียกว่านักสะสม อย่างไรก็ตาม กระบวนการทำให้กลายเป็นสินค้า, โลกาภิวัตน์ และการทำให้เป็นธุรกิจของงานสะสม สมควรได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น เช่น ผลกระทบการของประมูลใน eBay  บริษัทที่อำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการสะสมจะเห็นได้ว่าพ่อค้าคนกลางในตลาดของสะสมมีมาตั้งแต่สมัยกรีกและโรมันโบราณ และศิลปินที่มีชื่อเสียงก็มักได้รับการอุปถัมภ์จากนักสะสม แต่ในปัจจุบันเรื่องของพ่อค้าคนกลางหรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการสะสมอาจไม่เพียงแค่เรื่องความรู้และทุนที่จะสร้างการสะสมขึ้น หากแต่เป็นเรื่องของการโปรโมชั่น และแฟชั่นด้วย            นอกจากนี้การเกิดขึ้นของความต้องการในการสะสมสิ่งของ อาจจะต้องดูเพิ่มเติมในเรื่องขอบเขตหรือเส้นแบ่งระหว่างการสะสมและการบริโภค ดูวิธีการสร้างสินค้าธรรมดาให้กลายเป็นของศักดิ์สิทธิ์หรือของควรค่าแก่การสะสมได้อย่างไร  บางทีก็น่าขำ เมื่อ Walter Benjamin(1968) เป็นกังวลเกี่ยวกับงานศิลปะในยุคที่เกิดการทำของเลียนแบบ ในขณะเดียวกันเขากลับบูชากลไกการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่ได้ครั้งละมาก ๆ อย่างไรก็ดี ขั้วตรงกันข้ามที่เห็นได้ชัดนี้ทำให้เห็นความซับซ้อนในความสัมพันธ์ของเรากับเรื่องวัฒนธรรมวัตถุ (material culture)ในสังคม ในแง่การอุทิศตนและความชำนาญเรื่องวัตถุของนักสะสมช่วยสร้างความชอบธรรมให้กับการสะสม แม้ในวรรณกรรม นักสะสมมักถูกมองในแง่ลบว่าเป็นคนสันโดษที่ตระหนี่ก็ตาม  อย่างไรก็ดีถ้าอย่างน้อยการสะสมถูกมองว่าคือการบริโภคอย่างหนึ่ง ธรรมชาติคู่กันของมันก็คือเป็นได้ทั้งวัตถุนิยมหรือตรงกันข้าม และเนื่องจากวัฒนธรรมวัตถุนิยมที่อยู่ในสังคมบริโภคนิยมเป็นพื้นที่ที่ซับซ้อนของการแสดงตัวตน เต็มไปด้วยการย้อนแย้งต่าง ๆ มากมาย ดังนั้นการสะสมอาจถูกมองว่าเป็นการหมกหมุ่นที่ไม่มีสาระ และก็ไม่แน่อีกเหมือนกันว่า มันก็อาจถูกมองว่าเป็นความลึกซึ้งได้เช่นเดียวกัน สรุปความจาก Russell Belk. (2006) “Collectors and Collecting” in Handbook of Material Culture/ edited by Christopher Tilley. London : Sage Publications. โดยปณิตา สระวาสี   รายชื่อหนังสืออ้างอิง(เฉพาะที่ปรากฏในบทความแปล)Abbas, Acbar(1988)‘Walter Benjamin’s collector; the fate of modern experience’, New Literary History,20(autumn): 217-38.Appadurai, Arjun(1986) ‘Introduction: commodities and the politics of value’, in Arjun Appadurai(ed.),The Social Life of Things: Commodities in Cultural Perspective. Cambridge: Cambridge University Press,pp. 3-63.Baudrillard, Jean(1994)‘The system of collecting’, in John Elsner and Roger Cardinal(eds), The Cultures of Collection. Cambridge. MA: Harvard University Press,pp. 7-24.Belk et. al. (1991)‘Collection in a consumer culture’, in Highways and Buyways: Naturalistic Research from the Consumer Behavior Odyssey. Provo, UT: Association for Consumer Research, pp.178-215.Belk, Russell W. (1995a)‘Collecting as luxury consumption: effects on individuals and households’,Journal of Economic Psychology, 16(February): 477-90.Belk, Russell W. (1995b)Collecting in a Consumer Society. London; Routledge.Benjamin, Walter(1968)‘The work of art in the Age of Mechanical Reproduction’, in Hannah Arendt (ed.),trans. Harry Zohn, Illuminations. New York: Harcourt Brace, pp. 291-53.Campbell, Colin (1987) The Romantic Ethic and the Spirit of Modern Consumerism. Oxford: Blackwell.CliffordJames (1985)‘Objects and selves: an after word’, in Goerge W. Stocking,Jr(ed.), Objects and Others: Essays on Museums and Material Culture. Madison, WI: University of Wisconsin Press, pp.236-46.Danet, Brenda and Katriel, Tamar(1989)‘No two alike: the esthetics of collecting’, Play and Culture, 2(3): 253-77.Denefer, Dale (1980)‘rationality and passion in private experience: modern consciousness and the socialworld of old-car collections’, Social Problems, 22(April): 392-412.Miller, Daniel (2001) ‘Possessions’, in Daniel Miller(ed.), Home Possessions. Oxford:Berg, pp. 107-21.Muensterberger, Werner (1994) Collecting: an Unruly Passion: Psychological Perspectives. Princeton,NJ: Princeton University Press.Rigby, Douglas and Rigby, Elizabeth (1944)Lock, Stock and Barrel: the Story of Collecting.Philadelphia, PA: Lippincott.Saiselin, Remy G. (1984) Bricobracomania: The Bourgeois and the Bebelot. New Brunswick, NJ: RutgersUniversity Press.