โลโก้ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรLogo
logo
  • รายชื่อพิพิธภัณฑ์
    • รายชื่อพิพิธภัณฑ์
    • List view
    • Map view
  • Online Exhibits
    • Online Exhibits
    • มหกรรมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคใต้
    • มหกรรมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคกลาง
    • มหกรรมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคเหนือ
  • Research & learning
    • Research & learning
    • พิพิธภัณฑ์วิทยา
    • Research & Report
    • บทความวิชาการ
    • บล็อก
    • อินโฟกราฟฟิก
  • สื่อสิ่งพิมพ์
    • สื่อสิ่งพิมพ์
    • หนังสือ
    • จุลสาร
  • เทศกาล และข่าวสาร
    • เทศกาล และข่าวสาร
    • เทศกาล
    • ข่าวสาร
  • เกี่ยวกับโครงการ
    • เกี่ยวกับโครงการ
    • เกี่ยวกับโครงการ
    • ทีมงาน
    • ติดต่อเรา
    • สถิติพิพิธภัณฑ์
    • สถิติเว็บไซต์
  • กระบี่
  • กรุงเทพมหานคร
  • กาญจนบุรี
  • กาฬสินธุ์
  • กำแพงเพชร
  • ขอนแก่น
  • จันทบุรี
  • ฉะเชิงเทรา
  • ชลบุรี
  • ชัยนาท
  • ชัยภูมิ
  • ชุมพร
  • ตรัง
  • ตราด
  • ตาก
  • นครนายก
  • นครปฐม
  • นครพนม
  • นครราชสีมา
  • นครศรีธรรมราช
  • นครสวรรค์
  • นนทบุรี
  • นราธิวาส
  • น่าน
  • บึงกาฬ
  • บุรีรัมย์
  • ปทุมธานี
  • ประจวบคีรีขันธ์
  • ปราจีนบุรี
  • ปัตตานี
  • พระนครศรีอยุธยา
  • พะเยา
  • พังงา
  • พัทลุง
  • พิจิตร
  • พิษณุโลก
  • ภูเก็ต
  • มหาสารคาม
  • มุกดาหาร
  • ยะลา
  • ยโสธร
  • ระนอง
  • ระยอง
  • ราชบุรี
  • ร้อยเอ็ด
  • ลพบุรี
  • ลำปาง
  • ลำพูน
  • ศรีสะเกษ
  • สกลนคร
  • สงขลา
  • สตูล
  • สมุทรปราการ
  • สมุทรสงคราม
  • สมุทรสาคร
  • สระบุรี
  • สระแก้ว
  • สิงห์บุรี
  • สุพรรณบุรี
  • สุราษฎร์ธานี
  • สุรินทร์
  • สุโขทัย
  • หนองคาย
  • หนองบัวลำภู
  • อำนาจเจริญ
  • อุดรธานี
  • อุตรดิตถ์
  • อุทัยธานี
  • อุบลราชธานี
  • อ่างทอง
  • เชียงราย
  • เชียงใหม่
  • เพชรบุรี
  • เพชรบูรณ์
  • เลย
  • แพร่
  • แม่ฮ่องสอน
  • กฎหมายและราชทัณฑ์
  • การทหาร / สงคราม
  • การสื่อสาร / ไปรษณีย์
  • การแพทย์และสาธารณสุข
  • งานอนุรักษ์สถาปัตยกรรม
  • ชาติพันธ์ุ
  • ธรรมชาติวิทยา
  • บุคคลสำคัญ
  • บ้านประวัติศาสตร์
  • ประวัติศาสตร์
  • ผ้า / สิ่งทอ
  • พระป่า
  • วิถีชีวิตท้องถิ่นและภูมิปัญญา
  • วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
  • ศาสนา ความเชื่อ และพิธีกรรม
  • ศิลปะ / การแสดง
  • อื่น ๆ
  • เครื่องปั้นดินเผา
  • เงินตรา / การเงินธนาคาร
  • โบราณคดี

  • บทความวิชาการ

บทความวิชาการ:

ปณิตา สระวาสี

  • เรียงตามข้อมูลนำเข้าล่าสุด
  • เรียงตามการอ่านมากที่สุด
บทความทั้งหมด 19 บทความ

พิพิธภัณฑ์ลาว: จินตนาการเรื่องชาติและความทรงจำทางประวัติศาตร์

21 มีนาคม 2556

พิพิธภัณฑ์เป็นผลผลิตอันเนื่องมาจากจินตนาการชาตินิยมยุคสมัยใหม่และเป็นสถานที่แสดงความทรงจำของชาติ พิพิธภัณฑ์เกิดขึ้นจากสำนึกของมนุษย์ในโลกยุคสมัยใหม่ที่ตระหนักในความเปลี่ยนแปลงทางสังคม วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ สิ่งที่ยืนยันได้อย่างชัดเจนในสำนึกดังกล่าวคือการรักษาไว้ซึ่ง "มรดก" (heritage) แม้บางครั้งมรดกที่ว่านั้นมีอายุเพียงแค่ไม่กี่สิบปี การพยายามอนุรักษ์มรดกที่มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เป็นดัชนีชี้วัดอย่างดีต่อความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของสังคมและวัฒนธรรมที่ทำให้มนุษย์รู้สึกว่า "มรดก" ของพวกเขานั้นกำลังจะสูญสลายไปในไม่ช้านี้ รัฐเองก็มีจินตนาการเรื่องพิพิธภัณฑ์และให้ความสำคัญในเรื่องของ "มรดก" โดยจินตนาการพิพิธภัณฑ์ของรัฐลาวสมัยใหม่กำเนิดขึ้นในช่วงอยู่ภายใต้อาณานิคมฝรั่งเศส เมื่อสถาบันฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ (The Ecole Francaise d’Extreme Orient) ก่อตั้งขึ้นที่ไซ่ง่อน ในปี ค.ศ. 1898 และได้จัดตั้งคณะกรรมการพิพิธภัณฑ์และสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งอินโดจีนขึ้น (Directorate of Museums and Historical Monuments of Indochina) เพื่อปฏิบัติงานในด้านการอนุรักษ์ปฏิสังขรณ์โบราณสถานต่าง ๆ ทั่วอินโดจีน เมื่อสถาบันฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศเข้ามาตั้งสำนักงานในกรุงเวียงจันทน์ ฝรั่งเศสจึงเริ่มกระบวนการปฏิสังขรณ์สถานที่ศักดิ์สิทธิ์อันได้แก่ธาตุหลวงและโบราณสถานต่าง ๆ ทั่วประเทศลาว ต่อมาสถานที่ดังกล่าวเหล่านั้นถูกผนึกรวมเป็นชุดภาพสัญลักษณ์อาณานิคมฝรั่งเศส เหมือนว่าถ้าเห็นธาตุหลวงต้องนึกถึงลาว หรือเห็นนครวัดต้องนึกถึงกัมพูชา ต่อมาภายหลังชุดภาพสัญลักษณ์เกิดขึ้นทั่วประเทศลาว อาทิ วัดเชียงทองเป็นตัวแทนของหลวงพระบาง ทุ่งไหหินเป็นตัวแทนของเชียงขวาง ธาตุอิงฮังเป็นตัวแทนของสะหวันนะเขต และวัดพูเป็นตัวแทนของจำปาศักดิ์ ธาตุหลวงเป็นตัวแทนของเวียงจันทน์ หรือในบางครั้งใช้ประตูชัยเป็นตัวแทนของเวียงจันทน์ การให้ความหมายของภาพชุด "มรดก" ลาวดังกล่าวยังพบอยู่ในธนบัตรและแสตมป์ ภาพตัวแทนที่ปรากฏในบริบทต่าง ๆ กลายเป็นภาพที่ทรงอำนาจอย่างมากในการสร้างจินตนาการความเป็นชาติลาว ความเกี่ยวข้องของคนลาวเองในพิพิธภัณฑ์วิทยาเกิดขึ้นก็ เมื่อล่วงเข้าทศวรรษที่ 1930 เมื่อเจ้าสุวันนะพูมา (เจ้าสุวันนะพูมาเป็นโอรสองค์ที่สามของมหาอุปราชบุนคง(วังหน้าของกษัตริย์ ลาว) อดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศลาว สมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง-ผู้แปล) สำเร็จการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์จากประเทศฝรั่งเศส และได้เข้ามารับผิดชอบงานปฏิสังขรณ์หอพระแก้วในปี ค.ศ. 1936 โดยมีเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสเป็นผู้ช่วย เจ้าสุวันนะพูมาได้เขียนไว้ในรายงานการปฏิสังขรณ์หอพระแก้วว่า "คนลาวแม้จะไม่ได้มั่งมีอะไรแต่เต็มใจที่จะทำบุญและบริจาคเงินเพื่อซ่อมแซม ศาสนสถานที่สำคัญและเก่าแก่ของประเทศของพวกเขา" 30 ปีให้หลังมีงานเขียนเกี่ยวกับประวัติการบูรณะหอพระแก้ว แต่กลับไม่มีการกล่าวถึงการช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสแต่อย่างใด "หอพระแก้วได้รับการปฏิสังขรณ์โดยคนลาวเอง และไม่ใช่เป็นความภาคภูมิเพียงเล็กน้อยสำหรับฉัน(เจ้าสุวันนะพูมา-ผู้แปล) ต่อเกียรติภูมิของหอพระแก้วที่เป็นจุดศูนย์รวมใจของเพื่อนรวมชาติ แต่การบูรณะหอพระแก้วถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างชาติลาว" (ปัจจุบันหอพระแก้วเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงศิลปวัตถุและโบราณวัตถุต่าง ๆ เช่น พระพุทธรูป กลองสำริด -ผู้แปล) ชัดเจนอยู่แล้วว่าการเลือกเน้นย้ำและตีความเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์สมัย อาณานิคมเสียใหม่เกิดขึ้นเป็นปกติในกลุ่มลัทธิหลังอาณานิคม แม้กระทั่งหลังปี ค.ศ. 1975 ภายใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์ลาวหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของธาตุ หลวงที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1985 ก็ไม่กล่าวถึงงานปฏิสังขรณ์ที่ทำโดยรัฐบาลราชอาณาจักรลาว ผลงานที่ระบอบเก่าเคยทำก็ถูกขับออกไปจากประวัติศาสตร์ของรัฐบาลในระบอบใหม่ในปี ค.ศ.1980 พิพิธภัณฑ์การปฏิวัติลาว(Lao Museum of the Revolution) ก่อตั้งขึ้นภายในอาคารสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียลบนถนนสามแสนไท ในกรุงเวียงจันทน์ ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ทำงานของเจ้าสุวันนะพูมา พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เล่าเรื่องการต่อสู้ปฏิวัติของพรรคประชาชนปฏิวัติลาว และเส้นทางการก้าวขึ้นสู่อำนาจของพรรค รวมถึงการสร้างประเทศใหม่ตามแนวทางสังคมนิยม เมื่อนโยบายจินตนาการใหม่ประกาศใช้ในปี ค.ศ. 1986 ทำให้สภาพสังคมและเศรษฐกิจของลาวผ่อนคลายจากแนวทางสังคมนิยมมากขึ้น การเล่าเรื่องและจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์จึงผันแปรไปตามความเปลี่ยนแปลงของสังคมด้วยเช่นกัน "ห้องเลนิน" ที่เคยได้รับเงินสนับสนุนจากสหภาพโซเวียตถูกปิดลง การเล่าเรื่องความสัมพันธ์กับประเทศร่วมอุดมการณ์ทางการเมืองเดียวกันมีน้อยลง นิทรรศการแสดงความขัดแย้งทางพรมแดนไทย-ลาวที่เกิดขึ้นในปลายทศวรรษที่ 1980 เริ่มลดน้อยลง(กรณีบ้านร่มเกล้าและสามหมู่บ้าน-ผู้แปล) คนลาวจำนวนไม่มากนักที่จะเข้าไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าคนดูส่วนหนึ่งคือเด็กนักเรียนและสมาชิกพรรคประชาชนปฏิวัติลาวรุ่นเยาว์ที่ถูกเกณฑ์มาชม กลุ่มผู้ชมที่ดูจะกระตือรือล้นในการเข้าชมดูเหมือนจะเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย แม้เพียงแค่แม่น้ำโขงกั้น ในสายตาของคนไทยประเทศลาวคือความเป็นอื่น คนไทยต้องการสัมผัสกับคอมมิวนิสต์จริง ๆ หลังจากที่เคยได้ยินแต่การโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับภัยคอมมิวนิสต์ แม้คนไทยจะเห็นว่าวัดวาอารามและโบราณสถานต่าง ๆ ของลาวคล้ายคลึงกับไทยก็ตาม แต่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ประสบความสำเร็จในการทำให้คนไทยเห็นว่าพัฒนาการชาติลาวและการประสานรวมความเป็นชาติลาวแตกต่างจากไทยอย่างไร ในปี ค.ศ. 1997 พิพิธภัณฑ์การปฏิวัติลาวได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "หอพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ" (Lao National Museum)ในปี ค.ศ. 1994 พิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ลาวก่อตั้งขึ้น โดยใช้ชื่อว่า "สวนวัฒนธรรมบรรดาเผ่าแห่งชาติ" ตั้งอยู่ชานกรุงเวียงจันทน์ เพื่อให้เป็นสถานที่ดำรงรักษา ส่งเสริม และเผยแพร่วัฒนธรรม ประเพณี ศิลปหัตถกรรม ของกลุ่มชาติพันธุ์ในลาว อย่างไรก็ดีเมื่อพิพิธภัณฑ์นี้เปิด มันกลับกลายเป็นสถานที่ปิกนิกและพักผ่อนหย่อนใจของชาวลาวและนักท่องเที่ยวชาวไทยไป ด้านหนึ่งทำเป็นสวนสัตว์ ส่วนพื้นที่ที่เหลือได้จำลองบ้านบรรดาชนเผ่าในลาวมาให้ชมได้แก่ "บ้านลาวสูง" "บ้านลาวเทิง" และ "บ้านลาวลุ่ม" แต่ทั้งที่อ้างตั้งแต่แรกก่อสร้างว่า "วัสดุต่าง ๆ ที่ใช้ก่อสร้างในสวนแห่งนี้จะสะท้อนคุณค่าทางศิลปะ ทักษะ และเทคนิค" ของบรรดากลุ่มชาติพันธุ์ แต่ในความเป็นจริงปรากฏว่าบ้านลาวสูงและลาวเทิงกลับมีส่วนที่สร้างด้วยคอนกรีต มีแต่เพียงบ้านของลาวลุ่มเท่านั้นที่ดูจะใกล้เคียงกับความเป็นจริง การจัดแสดงบ้านของกลุ่มชาติพันธุ์จึงเป็นเพียงสัญลักษณ์ที่ลาวต้องการบอกให้รู้ว่าประเทศลาวมีกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลายเท่านั้น นัยหนึ่งที่สวนแห่งนี้จัดให้มีสวนสัตว์ ศูนย์แสดงรูปจำลองไดโนเสาร์ (เป็นการอ้างถึงว่ามีการขุดพบซากกระดูกไดโนเสาร์ในแขวงสะหวันนะเขต) และบ้านของกลุ่มชาติพันธุ์เอาไว้ในบริเวณเดียวกัน จึงคล้ายกับเป็นสิ่งยืนยันอคติในส่วนลึกที่มองว่ากลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้เป็นพวกที่ดำรงชีวิตแบบดั้งเดิม (primitive) และล้าหลัง (backward)กล่าวได้ว่าโครงการพิพิธภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดในลาวเกิด ขึ้นในปี ค.ศ. 1995 เมื่อยูเนสโก (UNESCO) ประกาศให้หลวงพระบางเป็นเมืองมรดกโลก สถาปัตยกรรมทั้งวัดวาอาราม ที่อยู่อาศัย รวมถึงวิถีชีวิตวัฒนธรรมชาวเมืองได้รับการอนุรักษ์ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแถลงข่าวและวัฒนธรรมของลาวได้ กล่าวถึงบทบาทของเจ้ามหาชีวิตสีสะหว่างวงว่าเป็นผู้มีส่วนในการปฏิสังขรณ์ โบราณสถานในหลวงพระบางหลังจากถูกทำลายในศตวรรษที่ 19 (จากศึกฮ่อ-ผู้แปล) แม้เป็นการกล่าวถึงอย่างรวบรัด แต่แสดงให้เห็นว่าบทบาทของกษัตริย์กลายเป็นปัญหาสำคัญข้อหนึ่งของรัฐบาลลาว ในระบอบใหม่ว่าจะมีวิธีการอย่างไรในการเลือกตีความหรือกีดกันบทบาทของ กษัตริย์เมื่อต้องเล่าเรื่องเมืองหลวงพระบางแปลและเรียบเรียงจาก Evans, Grant. 1998. "Statue and Museums." in The Politics of Ritual and Remembrance Laos since 1975. Chiang Mai: Silkworm Books, pp. 114-128.

เรื่องเล่า ประสบการณ์ และเสียงของผู้หญิงในพิพิธภัณฑ์ไทย

08 สิงหาคม 2562

          เมื่อสองสามปีที่แล้วในงานสัมมนาทางวิชาการด้านพิพิธภัณฑ์ของมิวเซียมสยาม คุณฆัสรา ขมะวรรณ มุกดาวิจิตร ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) นำเสนอเรื่อง “เสียงของผู้ชนะ: เล่าเรื่องชาติจากมุมของผู้หญิงเวียดนาม” [1] เธอเล่าถึงวีรกรรมหรือวีรสตรีผู้กอบกู้ชาติ ที่เป็นเพียงผู้หญิงธรรมดา แต่พวกเธอมีส่วนในขบวนการกอบกู้เอกราชและสร้างชาติ และกลายมาเป็นเรื่องเล่าในพิพิธภัณฑ์อย่างภาคภูมิ ซึ่งจุดประกายให้ผู้เขียนกลับมาย้อนคิดถึงเรื่อง “ผู้หญิง” ในพิพิธภัณฑ์ของไทย           คำถามที่เกิดขึ้นคือ พิพิธภัณฑ์ในไทยเปิดพื้นที่สำหรับเรื่องเล่าและเรื่องราวของผู้หญิงมากน้อยแค่ไหน ผู้หญิงแบบไหนที่ถูกเล่าในพิพิธภัณฑ์ พวกเธอถูกนำเสนอในบริบทใด การตีความ สร้างความหมาย เพื่อสื่อสารกับสาธารณะเป็นอย่างไร ข้อเขียนนี้เป็นมุมมองของผู้เขียนต่อพิพิธภัณฑ์ไทยที่ว่าด้วยเรื่องผู้หญิง ผ่านประสบการณ์การเยี่ยมชม การสัมภาษณ์ การทบทวนจากหนังสือ งานเขียน และเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง โดยผู้เขียนจะเริ่มจากการมองภาพรวม ทบทวนให้เห็นความหลากหลายของพิพิธภัณฑ์ที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับผู้หญิง จากนั้นเลือกกรณีพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับผู้หญิง 3 แห่ง เพื่อฉายภาพเชิงลึกให้เห็นเรื่องเล่า เสียง และประสบการณ์ของผู้หญิง ว่าพวกเธอต้องการสนทนาอะไรกับสังคม อันได้แก่ พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า กรุงเทพฯ พิพิธภัณฑ์ผ้าป้าดา จังหวัดเชียงใหม่ และพิพิธภัณฑ์เอ็มพาวเวอร์ จังหวัดนนทบุรี เงื่อนไขสำคัญที่เลือกพิพิธภัณฑ์สามแห่งดังกล่าวมีอย่างน้อยสองประการ ประการแรกคือพิพิธภัณฑ์ทั้งสามแห่งแสดงถึงความหลากหลายของเรื่องราวและเรื่องเล่าเกี่ยวกับผู้หญิงในพิพิธภัณฑ์ และประการที่สองคือเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ผู้เขียนไปเยี่ยมชมและได้สัมภาษณ์เจ้าของหรือภัณฑารักษ์ที่มีส่วนในการจัดทำพิพิธภัณฑ์ ผู้หญิงในพิพิธภัณฑ์ไทย: ภาพจากการสำรวจเบื้องแรก           จากฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร แสดงตัวเลขให้เห็นว่าไทยเป็นประเทศที่มีพิพิธภัณฑ์จำนวนมากอย่างที่หลายคนคาดไม่ถึง คือ 1,470 แห่ง(ณ มกราคม 2561) (ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2547) มีทั้งพิพิธภัณฑ์ที่ดำเนินการโดยรัฐหรือราชการ และพิพิธภัณฑ์ที่ทำโดยชาวบ้าน สัดส่วนเกือบครึ่งต่อครึ่ง เนื้อหาที่นำเสนอก็หลากหลายมาก ส่วนใหญ่กว่าครึ่งว่าด้วยเรื่องวิถีชีวิตท้องถิ่น ภูมิปัญญาดั้งเดิมของบรรพบุรุษ นอกนั้นเป็นเรื่องราวประวัติศาสตร์ท้องถิ่น โบราณคดี ฯลฯ           ในเบื้องแรกผู้เขียนลองเจาะจงไปดูพิพิธภัณฑ์ที่นำเสนอเกี่ยวกับผู้หญิง ทั้งจากฐานข้อมูลของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรและการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ของผู้เขียนเอง เห็นว่าแม้จำนวนพิพิธภัณฑ์ไทยที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับผู้หญิงมีไม่มากนัก แต่หากจะมองทะลุไปถึงหัวข้อ(theme)ของการเล่าเรื่อง พบว่า “พื้นที่ผู้หญิง” ที่ได้รับการนำเสนอมีความน่าสนใจและค่อนข้างหลากหลาย อาทิ วีรกรรม งานสาธารณะประโยชน์ ครอบครัว ผลงาน การหาเลี้ยงชีพ รวมถึงอารมณ์ความรู้สึก           “วีรสตรี” ในตำนานและประวัติศาสตร์นิพนธ์ที่อยู่ในแวดวงชนชั้นปกครอง ส่วนใหญ่เป็นชื่อที่คนทั่วไปคุ้นเคยเช่น ท้าวสุรนารี ท้าวเทพกษัตรีย์และท้าวศรีสุนทร พระนางจามเทวี วีรกรรมของกลุ่มสตรีดังกล่าวผู้เขียนพบว่ามักได้รับการบอกเล่าในพิพิธภัณฑ์เมือง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในต่างจังหวัด ที่มีส่วนจัดแสดงย่อยว่าด้วยเรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่น นำเสนอวีรกรรมระดับชาติ หากแต่เป็นความภาคภูมิใจของถิ่นกำเนิด เช่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง จังหวัดภูเก็ต จัดแสดงเรื่องราวของท้าวเทพกษัตรีย์และท้าวศรีสุนทร พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมานำเสนอเรื่องของท้าวสุรนารี          ขณะเดียวกันก็เริ่มเห็นสตรีในประวัติศาสตร์ที่มิใช่ชนชั้นนำในพิพิธภัณฑ์บ้างแล้ว คือ พิพิธภัณฑ์บ้านฮอลันดา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่หยิบยกเรื่อง “นางสุด” หญิงมอญที่ได้สามีเป็นชาวฮอลันดาและมีบทบาททางการค้าและสายสัมพันธ์กับต่างชาติ มาเป็นหนึ่งในเรื่องเล่าของพิพิธภัณฑ์ ด้วยเหตุว่าพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวเลือกใช้เอกสารจากเนเธอร์แลนด์เพื่อต้องการอธิบายสังคม วิถีชีวิต การค้าผ่านผู้คนธรรมดา นางสุดจึงเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างสถานีการค้าฮอลันดากับราชสำนักมากกว่าที่จะเสนอความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐ ราชวงศ์ต่อราชวงศ์ (ธีรวัต ณ ป้อมเพชร, 2559, pp. 255-256)          “พระราชกรณียกิจ” ของเจ้านายเพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกร ประเด็นนี้มักได้รับการบอกเล่าอยู่ในกลุ่มพิพิธภัณฑ์บุคคลสำคัญที่เป็นชนชั้นปกครอง อาทิ ชีวประวัติและพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าเกี่ยวกับงานสาธารณสุข ในพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี จังหวัดชลบุรี หรือการพัฒนาฐานะและคุณภาพชีวิตราษฎรไทยผ่านการส่งเสริมงานทอผ้าและศิลปาชีพรวมถึงความงดงามในฉลองพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ในพิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ กรุงเทพฯ พิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์ จังหวัดเชียงใหม่ บอกเล่าประวัติชีวิตเจ้าดารารัศมี ผู้มีบทบาทสำคัญในการรวมล้านนาเข้ากับสยาม พิพิธภัณฑ์วังสวนบ้านแก้ว จังหวัดจันทบุรี ที่ว่าด้วยเรื่องการส่งเสริมอาชีพของพสกนิกรในจันทบรีและชีวิตบั้นปลายที่เรียบง่ายในวังสวนแก้วจันทบุรีของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี  การค้นหาที่มาของบ้านเกิดของสมเด็จย่าและพระราชกรณียกิจของพระองค์ ในอุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี กรุงเทพฯ และหอพระราชประวัติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จังหวัดเชียงราย          อย่างไรก็ดีกลุ่มพิพิธภัณฑ์บุคคลสำคัญที่เล่าเรื่องงานสาธารณะประโยชน์ของเจ้านายฝ่ายใน ยังมีบางพิพิธภัณฑ์ที่มิได้เล่าเรื่องประวัติชีวิต วีรกรรมหรือพระราชกรณียกิจที่เรามักรู้อยู่แล้ว แต่เปิดมุมมองเกี่ยวกับบทบาทของผู้หญิงในครอบครัว ที่เป็น “ลมใต้ปีก” คอยสนับสนุนหน้าที่การงานของสามีและลูก ซึ่งที่ไม่ว่าจะสูงศักดิ์หรือสามัญต่างก็มีแง่มุมดังกล่าวที่ไม่ต่างกัน ซึ่งผู้เขียนจะอธิบายรายละเอียดเรื่องนี้ในส่วนต่อไป ในกรณีของพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า กรุงเทพฯกลุ่มช่างทอ ที่ทำงานร่วมกับพิพิธภัณฑ์ผ้าป้าดา จ.เชียงใหม่ (ภาพโดยศิวพงษ์ วงศ์คูณ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร)           “กิจกรรมเพศภาวะหญิง” เช่น งานทอผ้า งานตัดเย็บเสื้อผ้า หรือเย็บปักถักร้อย อาหารงานครัว เป็นอีกหัวข้อของพิพิธภัณฑ์ที่พบว่ามักจะเล่าเกี่ยวกับผลงานของผู้หญิง อาทิ สปัน แกลเลอรี่ กรุงเทพฯ ที่จัดแสดงผลงานตัดเย็บเสื้อผ้าของสปัน เธียรประสิทธิ์ เจ้าของห้องเสื้อที่มีชื่อเสียงในอดีต พิพิธภัณฑ์จักรเย็บผ้า คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ วิทยาเขตพระนครใต้ ที่มีส่วนจัดแสดงเกี่ยวกับจักรเย็บผ้ากับสตรี พิพิธภัณฑ์กลุ่มผ้าและสิ่งทอต่างๆ ที่จัดแสดงอุปกรณ์ทอผ้า เทคนิคการทอ และผลงานของช่างทอที่เกือบทั้งหมดเป็นผู้หญิง เช่น พิพิธภัณฑ์ผ้าป้าดา จังหวัดเชียงใหม่ พิพิธภัณฑ์ผ้าทอล้านนาเชียงแสน จังหวัดเชียงราย พิพิธภัณฑ์โกมลผ้าโบราณ จังหวัดแพร่ สาธร พิพิธภัณฑ์ผ้าทองคำ จังหวัดสุโขทัย พิพิธภัณฑ์ผ้าทอไทครั่ง บ้านเนินขาม จังหวัดชัยนาท มุมจัดแสดงครัวไฟของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี ที่นำเสนอเสียงแม่กำลังสอนลูกสาวทำแกงส้ม เป็นต้น          นอกจากนี้ยังเห็นประเด็นเกี่ยวกับ “อาชีพ” ของผู้หญิง หนึ่งในนั้นคืออาชีพหมอตำแย ภายในหอประวัติศาสตร์สุขภาพ จังหวัดนนทบุรี เป็นเรื่องเล็กๆของ“ยายเนียมและยายสวาด” หมอตำแยกับภูมิปัญญาทำคลอดที่กำลังสาบสูญ  นำเสนอเรื่องราวและจดจำสิ่งที่พวกเธอได้ทำหรือทิ้งไว้เป็นมรดกวัฒนธรรมของสังคม            น่าสนใจว่าเรื่อง “ความรักหรืออารมณ์ความรู้สึก” ของผู้หญิง มีนำเสนอในมุมจัดแสดงเล็กๆ ในพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่สองที่อำเภอขุนยวม การเล่าเรื่องสงครามโลกครั้งที่สองของอนุสรณ์สถานมิตรภาพ ไทย-ญี่ปุ่น จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งไม่ได้เพียงแต่นำเสนอภาพสงคราม สถานการณ์การสู้รบระหว่างรัฐหรือกองทัพ หากให้ภาพของคนเล็กคนน้อยท่ามกลางเหตุการณ์ใหญ่ทางประวัติศาสตร์ โดยมีมุมที่สื่อถึงมิตรภาพและความผูกพันในฐานะเพื่อนมนุษย์  ให้ความสำคัญต่อ “อารมณ์และความรู้สึก” ของทั้งทหารญี่ปุ่นและชาวบ้าน โดยเฉพาะผ่านการนำเสนอ “ความรัก”ของแม่อุ๊ยแก้ว จันทสีมา หญิงสาวชาวขุนยวมกับทหารญี่ปุ่นที่เป็น “รักระหว่างรบ” ในเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่สอง           ผู้เขียนขอเลือกพิพิธภัณฑ์สามแห่งเป็นตัวแทนได้แก่ 1.พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า กรุงเทพฯ 2.พิพิธภัณฑ์ผ้าป้าดา จังหวัดเชียงใหม่ และ3.พิพิธภัณฑ์เอ็มพาวเวอร์ จังหวัดนนทบุรี เพื่ออธิบายในแง่ลึกเกี่ยวกับการนำเสนอเรื่องราวของผู้หญิงที่แตกต่างกัน ผ่านเรื่องเล่า เสียง และประสบการณ์ของพวกเธอ ผ่านพื้นที่ของพิพิธภัณฑ์และกระบวนการจัดการของภัณฑารักษ์หรือเจ้าของพิพิธภัณฑ์ 1. พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า: เรื่องเล่าของผู้หญิงที่อุทิศตนเพื่อผู้อื่น           สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ถือได้ว่าเป็นผู้หญิงในแวดวงชนชั้นสูงคนหนึ่งท่ามกลางไม่กี่พระองค์ที่มีเรื่องราวบอกเล่าเป็นการเฉพาะในพิพิธภัณฑ์อย่างน้อย 2 แห่ง คือ พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวีฯ ภายในโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา จ.ชลบุรี โดยอนุรักษ์ตึกพระพันวัสสา ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2474 ด้วยทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ของสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เพื่อใช้เป็นตึกอำนวยการและตรวจโรค เป็นตึก 2 ชั้น สถาปัตยกรรมแบบยุโรปประยุกต์ อีกแห่งหนึ่งคือ พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ภายในวังสระปทุม อาคารจัดแสดงสำคัญคือพระตำหนักใหญ่ ที่เป็นพระตำหนักที่ประทับของสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ตั้งแต่ พ.ศ. 2459 ตราบจนเสด็จสวรรคตใน พ.ศ. 2498          ที่มาของกำเนิดและความสำคัญของการมีพิพิธภัณฑ์ทั้งสองแห่งอยู่ในบริบทสำคัญสองประการ ประการแรกคือเป็นพิพิธภัณฑ์ของหน่วยงานที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีส่วนในการริเริ่มก่อตั้ง สภากาชาดในกรณีพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวีฯ และมูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าที่พระองค์ทรงเป็นประธานในกรณีวังสระปทุม เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นพระราชปนัดดาของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า การเล่าเรื่องในพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าจึงมีเกร็ดเกี่ยวกับครอบครัวที่คนทั่วไปอาจไม่เคยรู้มาก่อนหรือไม่ได้ปรากฏในประวัติศาสตร์นิพนธ์ทั่วไป ประการที่สองลักษณะของพิพิธภัณฑ์ทั้งสองเป็นอาคารประวัติศาสตร์ โดยปกติพิพิธภัณฑ์อาคาร/บ้านประวัติศาสตร์มักมีพลังในการถ่ายทอดและสร้างความเชื่อมโยงระหว่างผู้ชมกับการนำเสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์  เพราะตัวอาคารประวัติศาสตร์เองเป็นสัญลักษณ์ของเหตุการณ์หรือช่วงเวลาสำคัญในอดีต  สามารถเชื่อมโยงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ที่มีความสำคัญทางสังคมและการเมือง จึงง่ายที่จะสร้างจินตนาการของผู้ชมผ่านพื้นที่จริงที่เคยเป็นที่อยู่อาศัยหรือใช้งานจริง  และเหมาะที่จะเล่าชีวประวัติและ “การทำงาน” ที่เชื่อมโยงโดยตรงกับพื้นที่จริงที่เป็นอาคารจัดแสดง          พิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับเจ้านายฝ่ายใน ที่นำเสนอพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระราชีนี พระบรมราชเทวี พระบรมวงศานุวงศ์ ล้วนแล้วแต่มีแกนหลักการเล่าเรื่องที่ไม่แตกต่างกัน คือเป็นการเฉลิมพระเกียรติ แสดงให้เห็นพระราชจริยวัตร และแสดงพระราชกรณียกิจที่เป็นประโยชน์ต่อพสกนิกร กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือภาพแทนของสตรีชนชั้นสูงดังกล่าวไม่ได้เล่าเรื่องเพียงแค่ประวัติ แต่มักมาพร้อมกับ “การทำงาน” เสมอ การทำงานในที่นี้ส่วนใหญ่เป็นเรื่องสังคมสงเคราะห์ เช่น ด้านการแพทย์และสาธารณสุข มีการสมทบทุนก่อตั้งโรงพยาบาล กิจการสภากาชาด การสนับสนุนการศึกษาผ่านการก่อตั้งโรงเรียน พระราชทานทุนการศึกษาแก่นักเรียน  การทำนุบำรุงพุทธศาสนา หรือกิจกรรมเพศภาวะหญิง เช่น การส่งเสริมงานฝีมือ งานเย็บปักถักร้อย เช่น ทอผ้า  และเชื่อมโยงกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตพสกนิกร           พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี จังหวัดชลบุรี เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในการจัดแสดง “การทำงาน” ของพระองค์ท่านอย่างตรงๆ พิพิธภัณฑ์อุทิศพื้นที่อาคารที่เคยเป็นตึกอำนวยการและตรวจโรคของโรงพยาบาลมาก่อนในการนำเสนอเรื่องราวของผู้ให้กำเนิดโรงพยาบาล  แบ่งการจัดแสดงออกเป็น 4 ส่วน ส่วนแรกจัดแสดงเกี่ยวกับพระราชประวัติตั้งแต่ทรงพระเยาว์ จนกระทั่งได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระอัครมเหสีในรัชกาลที่ 5  ดำรงพระชนม์ชีพยืนยาวถึง 6 รัชกาล ตั้งแต่รัชกาลที่ 4 จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ที่เป็นพระราชนัดดา ส่วนที่สองจัดแสดงเรื่องราวพระมหากรุณาธิคุณ ที่เป็นเรื่องด้านการแพทย์ เล่าถึงการสละทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ในการก่อสร้างโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา  เพื่อรักษาประชาชนในถิ่นทุรกันดาร ซึ่งเชื่อมโยงโดยตรงกับอาคารที่จัดแสดงที่ทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการก่อสร้าง งานสังคมสงเคราะห์ที่ได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ เสื้อผ้า อาหารและยารักษาโรคแก่ประชาชนในยามที่บ้านเมืองและประชาชนมีความเดือดร้อน มีการจัดแสดงโมเดลจำลองสถานการณ์งานสังคมสงเคราะห์ของพระองค์ งานสภากาชาดไทย ทรงริเริ่มจัดตั้งสภาอุณาโลมแดงแห่งชาติสยาม หรือ สภากาชาดไทยในปัจจุบัน ส่วนที่สามจัดแสดงเครื่องเรือนของพระองค์ในพระตำหนักที่ประทับ และส่วนสุดท้ายว่าด้วยเรื่องประวัติและพัฒนาการของโรงพยาบาล          ในขณะที่แกนการเล่าเรื่องในพระตำหนักใหญ่ของพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า กรุงเทพฯแตกต่างออกไป คือเป็นการผสมผสานระหว่าง “การทำงาน” และ “ครอบครัว” เพราะนี่คือ “บ้าน” ของพระองค์ท่าน วิธีเล่าเรื่องคือการไล่ลำดับตามห้องในพระตำหนัก และตามช่วงชีวิตของ “ลูกชาย” คือ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศ อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก   การเล่าเรื่องแบ่งเป็น 3 ช่วงเวลา สัมพันธ์กับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ชาติไทย (ตามคำอธิบายในเอกสารของพิพิธภัณฑ์)          ช่วงที่ 1 ช่วงเวลาที่สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงสั่งซื้อเครื่องเรือนจากต่างประเทศ เพื่อเตรียมการรับสมเด็จพระมหิตลาธิเบศ อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ภายหลังที่ทรงสำเร็จวิชาการทหารเรือจากประเทศเยอรมนี และเสด็จฯกลับประเทศไทยใน พ.ศ. 2457 (ประภาพรรณ ชื่นแขก, 2555) มีห้องรับแขก และห้องพิธี เป็นห้องตัวแทนที่นำเสนอเหตุการ์สำคัญอาทิ งานพระราชพิธีอภิเษกสมรสระหว่างสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์กับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ครั้งยังทรงเป็นนางสาวสังวาลย์ ตะละภัฎ รัชกาลที่ 6 เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานน้ำสังข์ ณ พระตำหนักใหญ่ และงานพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ(ม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากร) เมื่อปี พ.ศ.2493 รวมถึงงานวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า(มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า, 2551, หน้า 65-68)          ช่วงที่ 2 ช่วงที่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศ อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงสำเร็จการศึกษาด้านการสาธารณสุขจากประเทศสหรัฐอเมริกา และเสด็จกลับประเทศไทยพร้อมกับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ใน พ.ศ. 2466 การจัดแสดงในช่วงนี้ได้แก่ ห้องบรรทมสมเด็จพระราชบิดา(ห้องเทา) และห้องทรงพระอักษร (ประภาพรรณ ชื่นแขก, 2555) ซึ่งจัดแสดงสิ่งของต่างๆ ที่แสดงถึงการทรงงานของสมเด็จพระราชบิดา เช่น หนังสือเกี่ยวกับวิชาแพทย์ สาธารณสุข กิจการทหารเรือ ทั้งภาษาอังกฤษ เยอรมัน และไทย อุปกรณ์วิทยาศาสตร์และการแพทย์ และพระรูปพระราชธิดาเมื่อครั้งทรงพระเยาว์ เป็นต้น(มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า, 2551, หน้า 70-71)          ช่วงที่ 3 ช่วงที่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศ อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงสำเร็จการศึกษาด้านการแพทย์จากสหรัฐอเมริกา และเสด็จกลับประเทศไทยพร้อมกับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และพระราชโอรสธิดา 3 พระองค์ ครอบครัวมหิดลประทับที่พระตำหนักใหม่ที่สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงสร้างประทาน ส่วนสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าประทับที่ตำหนักใหญ่ การจัดแสดงในช่วงนี้ได้แก่ ห้องทรงพระสำราญ ห้องทรงนมัสการ ห้องบรรทม และส่วนที่ประทับส่วนพระองค์ของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าบริเวณระเบียงชั้น 2 หน้าห้องบรรทม (ประภาพรรณ ชื่นแขก, 2555, pp. 10-11) ในหนังสือประกอบพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์เขียนอธิบายถึงความสำคัญไว้ว่า “ที่ประทับแห่งนี้(เฉลียงพระตำหนักชั้นบน-ผู้เขียน) มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ชาติไทยอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีซึ่งเป็นพระราชกรณียกิจสำคัญสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าคือ พระราชพิธีราชาภิเษกสมรสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ...”(มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า, 2551, หน้า 77)          การนำชมและเอกสารประกอบการเยี่ยมชมของพิพิธภัณฑ์ ให้ความสำคัญกับการเล่าเรื่องเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตที่มิได้หรูหราฟุ่มเฟือย การเลือกใช้เครื่องเรือนคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยเช่น ระหว่างสั่งเครื่องเรือนจากฝรั่งเศสได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 พระองค์ประสงค์ที่จะประหยัดค่าใช้จ่าย ทรงพยายามยกเลิกการสั่งเครื่องเรือนดังกล่าวหรือปรับเปลี่ยนการประดับตกแต่งเป็นแบบไม้ล้วนไม่ปิดทองเป็นต้น    ทรงอบรมพระราชนัดดาให้รู้จักประยุกต์สร้างสรรค์ข้าวของที่มีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่โปรดให้ซื้อของฟุ่มเฟือยราคาแพง ภาพถ่ายพระพระราชโอรสและพระราชนัดดา ของเล่น ข้าวของเครื่องใช้ที่จัดแสดง ล้วนแสดงความผูกพันใกล้ชิดกับพระราชโอรสและพระราชนัดดา           อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ การจัดแสดงในพื้นที่ห้องทรงพระสำราญ ที่แสดงโต๊ะทรงพระอักษร พระรูป เอกสารและสิ่งของที่สื่อถึงพระราชกรณียกิจต่อสาธารณชน เช่น กิจการด้านสภากาชาด ความสนพระราชหฤทัยเหตุการณ์บ้านเมืองและต่างประเทศ หรือเรียกว่าการมีบุคลิกภาพของการมี “ความรู้” และ “ความทันสมัย”ของพระองค์ สื่อผ่านส่วนจัดแสดงโต๊ะวางหนังสือ วารสาร หนังสือพิมพ์ต่างประเทศที่พระองค์ท่านเคยทรง ได้แก่ The Queen, Country Life และ The National Geographic Magazine   สำหรับผู้เขียนห้องทรงพระสำราญคือพื้นที่ส่วนตัว แต่กลับเลือกนำเสนอเรื่องทางการคือ “การทำงาน” ของพระองค์ท่านเป็นสำคัญในพื้นที่ดังกล่าว ขณะที่ห้องทรงอักษรหรือห้องทำงานกลับจัดแสดงเรื่องการทรงงานของพระราชโอรส คล้ายกำลังจะบอกว่า “งาน” ที่แม้จะเกี่ยวกับบ้านเมืองหรืออาจเรียกว่าเป็นงานในพื้นที่สาธารณะ แต่เมื่อผู้หญิงทำ งานนั้นจะถูกทำให้ “เบา” ลงไปในทันที จึงง่ายที่จะผลักไปสู่พื้นที่ส่วนตัว           กล่าวโดยสรุป การเล่าเรื่องชีวประวัติและพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่านในพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเล่าแบบเป็นทางการแบบพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวีฯ แต่เป็นการเล่าที่ซ้อนอยู่ภายใต้สองพื้นที่ พื้นที่แรกคือ ซ้อนอยู่ภายใต้ประวัติชีวิตของ “ลูกชาย” คือ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศ อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก สะท้อนอุดมคติในฐานะการเป็นแม่ที่เลี้ยงดูและเอาใจใส่พระราชโอรสอย่างดี รวมถึงความผูกพันที่มีต่อพระราชโอรสและพระราชนัดดา และพื้นที่ที่สองคือ การเล่าเรื่องการทำงาน(ที่บ้าน)ที่เป็นเรื่องทางการและสาธารณะ ซ้อนลงไปในพื้นที่ส่วนตัว อย่างไรก็ดีการนำเสนอสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าผ่านการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ทั้งสองแห่งฉายภาพการเป็น “ผู้หญิง” ที่สละตัวตนเพื่ออุทิศให้แก่ทั้งสมาชิกในครอบครัวและคนอื่น และสำคัญคือพิพิธภัณฑ์ช่วยเปิดพื้นที่สนทนาถึง “ข้างหลัง” ของความสำเร็จในการเมืองการปกครองของผู้ชายที่ผู้หญิงมีส่วนสำคัญอยู่ด้วย ซึ่งไม่ค่อยปรากฏมากนักในงานเขียนประวัติศาสตร์ หรือพื้นที่สาธารณะอื่นๆชั้นบนพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (ภาพโดยพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) 2. พิพิธภัณฑ์ผ้าป้าดา: ประสบการณ์ของผู้หญิงบนผืนผ้า           “พิพิธภัณฑ์ผ้าป้าดา” หรือบางคนเรียกขานว่า “บ้านไร่ไผ่งาม” เพราะอุโมงค์ทิวไผ่สีเขียวสดทอดตัวยาวกว่าครึ่งกิโลเมตร ตลอดสองฝั่งระยะทางจากถนนใหญ่เข้าสู่พิพิธภัณฑ์  สถานที่แห่งการอนุรักษ์ สืบทอด และพัฒนาภูมิปัญญาการทอผ้า และที่รำลึกและเชิดชูชีวิตและผลงาน ของ “ป้าดา” หรือนางแสงดา บันสิทธิ์ ศิลปินช่างทอผ้า เพชรน้ำเอกของวงการทอผ้าของล้านนา ที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางทั้งในหมู่คนไทยและชาวต่างประเทศ             “ป้าดา” (พ.ศ. 2462- 2536) เกิดและเติบโตที่บ้านห้วยม่วง ต.สบเตี๊ยะ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ สมรสกับร้อยตรีมาลัย บันสิทธิ์ มีบุตรสาวเพียงคนเดียว คือ นางเสาวนีย์ บันสิทธิ์   ในสมัยก่อนผู้หญิงกับการทอผ้าเพื่อใช้เองเป็นเรื่องปกติในสังคมเกษตรกรรม   ป้าดาปั่นฝ้ายเป็นตั้งแต่อายุเพียง 7-8 ขวบ และเริ่มทอเมื่ออายุราว 12 ขวบ โดยได้รับการฝึกฝนและถ่ายทอดโดยแม่อุ้ยเลี่ยม  ป้าดาเริ่มทอผ้าอย่างจริงจังราวปี พ.ศ. 2503 หลังจากที่สามีเสียชีวิต  โดยชักชวนเพื่อนบ้านมารวมกลุ่มทอผ้าใต้ถุนบ้านของป้าดา เริ่มจากกี่ 4 หลัง จนขยายเป็น 30 หลังในเวลาต่อมา(อำนวย จั่นเงิน, 2545, หน้า 34-37)           ชื่อเสียงของผ้าฝ้ายทอมือของบ้านไร่ไผ่งาม เริ่มเป็นที่รู้จักและโด่งดังทั้งในประเทศและต่างประเทศ จากความงดงามของผืนผ้าที่สะท้อนความนึกคิด ฝีมือ และพลังสร้างสรรค์ของป้าดา คุณสมบัติที่โดดเด่นของป้าดาและผ้าทอของบ้านไร่ไผ่งามที่ไม่เหมือนใคร คือ การใช้ฝ้ายพันธุ์พื้นเมือง  ย้อมด้วยสีธรรมชาติที่ได้จากพันธุ์ไม้พื้นเมืองหลากชนิดที่ป้าดาทดลองและคิดค้น การออกแบบลวดลายการทอเฉพาะตัวจากประสบการณ์และธรรมชาติรอบตัว ทำให้คุณภาพ สีสัน และลายผ้างดงามมีเอกลักษณ์ชัดเจน           หลังจากที่ป้าดาเสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ. 2536 คุณเสาวนีย์ บันสิทธิ์ บุตรสาวคนเดียวของป้าดา และคุณเนาวรัตน์ หลานสาว ได้สานต่องานอันเป็นที่รักของแม่และยาย คือการทอผ้า และก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ผ้าป้าดาขึ้น  โดยใช้เรือนไม้โบราณซึ่งเป็นบ้านที่ป้าดาอาศัยมาตั้งแต่ย้ายกลับมาจากเมืองเชียงใหม่ ทำเป็นพิพิธภัณฑ์ พร้อมทั้งก่อตั้งมูลนิธิแสงดา บันสิทธิ์ ในช่วงเวลาเดียวกัน           พิพิธภัณฑ์ไม่ได้จัดแสดงเพียงลวดลายผ้าว่ามีกี่แบบกี่ประเภท แต่สะท้อนงานทอผ้า ลวดลายผ้า เสมือนเป็นจดหมายเหตุของครอบครัว ที่หลอมรวมความทรงจำระหว่างคนในครอบครัวและป้าดาเข้าด้วยกัน เป็นความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่เกี่ยวพันกับผู้หญิง แสดงให้เห็นการเชื่อมโยงความเป็นบ้าน ครอบครัว  แม่ ยาย ทวด ผสานกับงานศิลปะ รวมถึงการนำเสนอเรื่องธุรกิจในแง่การส่งเสริมอาชีพและรายได้ให้กับผู้หญิงในหมู่บ้านที่ป้าดาและครอบครัวจ้างมาทอผ้าหรือรับซื้อวัตถุดิบต่างๆ             ชั้นบนของตัวบ้าน ยังคงรักษาพื้นที่ใช้สอยแบบเดิมของบ้านเอาไว้ เช่น ห้องครัว ห้องนอน ฝาผนังแขวนภาพถ่ายป้าดา และครอบครัว ในช่วงวัยต่างๆ  รวมถึงผลงานที่ลงตามหนังสือและสื่อต่างๆ ทำให้ผู้ชมร่วมจินตนาการถึงวิถีการดำเนินชีวิตของป้าดาที่เรียบง่าย เป็นชีวิตที่ผูกพันกับการทอผ้ามาเกือบทั้งชีวิต ในขณะที่โถงกลางบ้านจัดเป็นส่วนจัดแสดงที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการทอผ้า  มีตัวอย่างลายผ้าหลากหลายไม่ซ้ำกันที่ป้าดาได้แรงบันดาลใจจากธรรมชาติรอบตัว การนำชมและสื่อประชาสัมพันธ์ล้วนขับเน้นความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ของป้าดา  ที่ลองผิดลองถูกกับการย้อมเส้นฝ้ายด้วยสีธรรมชาติจากชิ้นส่วนต่างๆ ของพรรณไม้           ส่วนใต้ถุนบ้านยังคงไว้ซึ่งบรรยากาศและหน้าที่เดิม คือเป็นสถานที่สนับสนุนการทอผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติของบรรดาช่างทอผ้าของบ้านไร่ไผ่งาม ที่เป็นแม่อุ๊ย คุณป้า คุณน้า ที่มีฝีมือในการย้อมและทอผ้า ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านใกล้เคียง เวียนกันมาทอผ้า หากว่างเว้นจากการทำสวนไร่นา                    อาณาบริเวณของบ้านไร่ไผ่งาม ร่มรื่นไปด้วยพันธุ์ไม้ที่ป้าปลูกไว้สำหรับใช้ย้อมด้วย เช่น คำเงาะ มะตูม และยังมีโรงไม้ที่ปลูกสร้างอย่างง่ายๆ เพื่อจัดแสดงอุปกรณ์และกรรมวิธีการย้อมสีธรรมชาติ ตัวอย่างเมล็ด เปลือกไม้ หรือใบไม้สำหรับย้อม เช่น ฝาง  คราม  คำเงาะ มะเกลือ เพกา  มีบ่อหมักสีธรรมชาติ  มีฉางเก็บข้าวขนาดใหญ่ที่ใช้เก็บฝ้าย  มีโรงเก็บเปลือกไม้ เมล็ด ฝัก และส่วนต่างๆ ของพันธุ์ไม้นานาชนิดสำหรับย้อม สมัยที่ป้าดายังมีชีวิต เมื่อมีแขกมาเยี่ยมเยือนป้าดาจะนำชมการย้อมและทอ และอธิบายให้ความรู้เรื่องการทอผ้าและขั้นตอนต่างๆ ด้วยตนเอง  นอกจากนี้ยังมีอาคารหลังเล็กที่เป็นส่วนจำหน่ายผ้าฝ้ายทอมือ หนังสือ ของที่ระลึก สำหรับผู้สนใจ           ความเป็น “ผู้หญิงพิเศษ” ของป้าแสงดาได้รับการบอกเล่าของถ่ายทอดผ่านทั้งหนังสือที่วางขายในพิพิธภัณฑ์และแผ่นพับประชาสัมพันธ์ รวมถึงคำพูดของหลานสาวคนเดียวของป้าดา ขณะนำชมพิพิธภัณฑ์           “ความรักที่ป้ามีต่อพืชพันธุ์นั้นมากล้น และบอกได้ด้วยว่ามันงามอย่างไร น้ำหมอกน้ำเหมยที่จับดอกฝ้ายตุ่น คุณลองนึก ฝ้ายชนิดเป็นปุยขาวกับผ้าฝ้ายตุ่นสีน้ำตาลอ่อนๆ หายาก เวลาจับหยดน้ำเล็กๆ จะพราวสวย...ทุกอย่างเอาไปจากธรรมชาติรอบตัว ตรงนี้แหละที่คนทั่วไปไม่เห็น” (อำนวย จั่นเงิน บก., 2536, หน้า 34-35)           “ป้าได้พบว่าผ้าที่ย้อมมะเกลือแล้วย้อมสีอื่นทับ สีจะติดดี แล้วป้าก็ยังได้สังเกตว่า น้ำยางกล้วยเปื้อนผ้าแล้วซักไม่ออก จึงลองใช้ใบตองเผาไฟทำน้ำด่างขี้เถ้า ผสมกับมะเกลือย้อมเป็นสีรองพื้น ปรากฏว่าสีติดดี และซักแล้วสีไม่ตก ไม่ซีด...” (อำนวย จั่นเงิน บก., 2536, หน้า 81)           “เวลาคุณยายขายผ้าคุณยายบอกลูกค้าว่าผ้าคุณยายมีหมื่นสีหมื่นลาย เราโกรธว่าคุณยายทำไมโกหก หมื่นสีหมื่นลายเป็นไปได้อย่างไร เราไม่ยอม ไปเอาผ้าที่มีสีเยอะที่สุด นับกันเลยกับคุณยาย คุณยายอมยิ้ม คุณยายยกผ้าผืนที่พี่เอามาให้ ยายบอกว่าหนูเอาไปใช้ หนูดูนะทุกครั้งที่ซักจะมีสีใหม่ผุดขึ้นมาเรื่อยๆ หนูเด็กแต่คลิกอ่ะ พี่น้ำตาซึม คุณยายฉันเป็นผู้หญิงพิเศษจริงๆ  แล้วทุกครั้งที่เราซัก ก็จะมีสีใหม่ผุดขึ้นมา ไม่ต้องพูดเยอะ แต่เราเก็ตเลย...ทุกคนมาอยู่ห้องนี้จะรู้สึกได้ถึงคุณยาย ถึงความพิเศษของงานที่คุณยายทำ มันเกินกว่าผู้หญิงชาวบ้านธรรมดาๆ ทำ พี่ว่าคุณยายเป็นผู้หญิงที่วาดรูปบนผืนผ้า เราเคยคุยกับเขาอย่างนั้น คุณยายก็ยิ้ม อ้าวเหรอ...ผ้าของคุณยายมีวิญญาณของคุณยาย มีความรู้สึก มีความสุข ความรักของคุณยายในการออกแบบผ้า ทุกคนเห็นรู้สึกได้เลย ไม่ใช่ผ้าผืนธรรมดาเพราะมันผ่านความคิดการกรองของคุณยาย” (เนาวรัตน์ บันสิทธิ์, 2559)           จะเห็นได้ว่าภาพของป้าแสงดาทั้งในพิพิธภัณฑ์และในสื่อต่างๆ คือศิลปิน การทอผ้าและผลงานของป้าแสงดาไม่ได้ถูกมองว่าเป็นเพียงงานฝีมือ(craft) แต่ถูกมองว่าเป็นงานศิลปะ(art) งานทอผ้าที่เคยถือเป็นงานเชิงประเพณีของผู้หญิง ถูกยกฐานะเป็นการแสวงหาความรู้ มีการคิดวิเคราะห์และสร้างความหมาย เป็นความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์การฝึกฝนด้วยตนเอง ผ่านคำอธิบายที่ปรากฏในสื่อนิทรรศการ หนังสือที่จัดพิมพ์โดยพิพิธภัณฑ์และมูลนิธิที่เขียนถึงป้าแสงดา และตลอดจนหลานสาวผู้ใกล้ชิด           ความเป็นศิลปินที่แสดงออกผ่านทักษะการทอผ้าและการออกแบบลวดลายและเทคนิควิธีที่ไม่เหมือนใคร ล้วนต่างฉายออกมาให้ผู้คนได้ประจักษ์ ผ่านการยกย่องเชิดชูป้าแสงดาทั้งการให้รางวัลศิลปินแห่งชาติ และพื้นที่พิพิธภัณฑ์ที่ทายาทก่อตั้งหลังจากที่เธอเสียชีวิตแล้วเพียง 1 ปี และการสนับสนุนของเหล่านักวิชาการสายวัฒนธรรมและการศึกษา สะท้อนการไม่ได้ “เพิกเฉย” ของสังคมต่อประสบการณ์ของผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่ง ที่ได้บรรลุถึงความหวังและความปรารถนา ได้ทอผ้า ได้สร้างสรรค์งานอันเป็นที่รัก ได้สร้างฐานะทางเศรษฐกิจ พร้อมๆ กับยังดำรงบทบาทของความเป็นแม่ เป็นเมีย เป็นยายของคนในครอบครัวโถงนอกชานชั้นบนของตัวบ้าน ปัจจุบันจัดแสดงภาพถ่ายป้าดา วัตถุดิบ และอุปกรณ์ในการทอผ้า (ภาพโดยศิวพงษ์ วงศ์คูณ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร) 3. พิพิธภัณฑ์เอ็มพาวเวอร์: เสียงของผู้หญิงบริการในสงครามแห่งศีลธรรม           โสเภณีและการค้าประเวณีมักมีภาพลักษณ์หรือถูกให้ความหมายว่าเป็นสิ่งชั่วร้ายผิดศีลธรรมของสังคม เชื่อว่าหญิงที่ค้าประเวณีเป็น “คนแปดเปื้อน” ที่ต้องได้รับการช่วยเหลือปลดปล่อย เป็น “เหยื่อ” หรือผู้ถูกกระทำ เป็นความเบี่ยงเบน เป็นความตกต่ำของผู้หญิง (ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์, 2546, หน้า 17)  แม้จะถูกสังคมตราว่าผิดศีลธรรม แต่ในความเป็นจริงการค้าประเวณีเพิ่งจะถือว่าผิดกฎหมายเมื่อไม่นานมานี้ ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการออกพระราชบัญญัติสัญจรโรค ร.ศ.127 เพื่อต้องการป้องกันและควบคุมการแพร่กามโรค มีการจดทะเบียนสำนักโสเภณี ทำทะเบียนรายชื่อโสเภณี มีการแขวนโคมเขียวหน้าที่ประกอบการ พระราชบัญญัติดังกล่าวถือได้ว่าเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมโสเภณีฉบับแรกของไทยและเป็นจุดเริ่มต้นของการค้าประเวณีแบบถูกกฎหมายเป็นครั้งแรก  จนเมื่อปี พ.ศ. 2503 รัฐบาลไทยได้ยกเลิกพระราชบัญญัติสัญจรโรค ร.ศ.127 ดังกล่าว และประกาศใช้พระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2503 ขึ้นแทน ระบุโทษถึงขั้นปรับ จำคุก และบังคับฝึกอาชีพอื่น เหตุมาจากการปฏิบัติตามประกาศของสหประชาชาติในเรื่องการกำจัดการค้าประเวณี ปัจจุบันพรบ.นี้ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว และมีกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องนำมาใช้แทน (ปฐม ทรัพย์เจริญ, 2549, หน้า 123-124 และน้อย อภิสุข และลิซ แคมเมอรูน, 2557) ในปัจจุบันโสเภณีจึงถูกประณามจากสังคมทั้งด้านศีลธรรม และด้านเป็นอาชีพที่ผิดกฎหมายที่รัฐพิจารณาว่าต้องกำจัดให้หมดไปจากสังคมไทย           “ปัญหานี้เป็นปัญหาของสังคม เพราะฉะนั้นต้องแก้ด้วยสังคม ไม่ใช่แก้ด้วยทัศนคติผิดศีลธรรมอย่างเดียว ไม่ใช่เรื่องศีลธรรม แล้วก็แก้ไม่ได้ด้วยกฎหมาย ต้องแก้ด้วยความเท่าเทียมกันของมนุษย์เท่านั้นเอง” (จันทวิภา, 2559)           น้อย เจริญสุข เป็นผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์เอ็มพาวเวอร์และมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานเพื่อส่งเสริมโอกาสด้านต่างๆ ให้กับผู้หญิงที่ทำงานในสถานบริการในประเทศ เธอมองว่าหญิงบริการมิใช่คนที่ชั่วร้ายผิดศีลธรรม  แต่เธอมีทัศนะว่าความขั่วร้ายที่ควรกำจัดคือ การกดขี่เอารัดเอาเปรียบหรือการแสวงหาผลประโยชน์ในร่างกายของผู้หญิงมากกว่า ไม่ใช่ตัวการค้าประเวณี  เธอสนับสนุนแนวคิดการทำให้การค้าประเวณีให้เป็นสิ่งถูกกฎหมาย มองหญิงบริการในฐานะอาชีพสุจริตอาชีพหนึ่งในสังคม เป็น “พนักงานบริการ” (sex worker) ไม่ใช่ “โสเภณี”(prostitute)           เอ็มพาวเวอร์ (Empower) ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2528 ช่วงเวลาเดียวกับที่เพลง One Night in Bangkok กำลังฮิต ตลอดการทำงานกว่าสามสิบปี เอ็มพาวเวอร์เป็นทั้งสถานที่พบปะสังสรรค์ของพนักงานบริการ เป็นโรงเรียนกศน.สอนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ เป็นเวทีสะท้อนเสียงและมุมมองจากพนักงานบริการ เป็นองค์กรตัวแทนประสานความร่วมมือกับองค์ภาครัฐและเอกชนที่ทำงานในประเด็นปัญหาใกล้เคียงกัน  เป็นสำนักพิมพ์ที่ผลิตสื่อเผยแพร่มุมมองเกี่ยวกับธุรกิจบริการทางเพศ และในปี พ.ศ. 2559 ได้เปิดพิพิธภัณฑ์เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับสังคมในนามพิพิธภัณฑ์เอ็มพาวเวอร์ (น้อย อภิสุข และลิซ แคมเมอรูน, 2557, pp. XII-XIII)           การทำงานของมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ตลอดหลายสิบปี กลายเป็นที่สนใจของกลุ่มคนและองค์กรทั้งในและนอกประเทศ เป็นที่อบรม ฝึกงาน ดูงานของนักศึกษาด้านสังคมศาสตร์ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงโรงเรียนนายร้อยตำรวจ แพทย์ ข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข มูลนิธิรู้สึกว่าคนหน้าใหม่เหล่านี้เป็นกลุ่มเป้าหมายใหม่ที่เข้ามาใช้บริการและแสวงหาความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับพนักงานบริการจากมูลนิธิมากขึ้น จากเดิมที่มีเพียงพนักงานบริการที่เป็นเป้าหมายแรกเริ่ม ด้วยเหตุนี้จึงนำไปสู่การก่อตั้ง “นี่คือเรา พิพิธภัณฑ์เอ็มพาวเวอร์” ขึ้น เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 แต่เปิดอย่างเป็นทางการในเดือนสิงหาคม ปี พ.ศ.  2559 (จันทวิภา อภิสุข, 2559)           พื้นที่จัดแสดงของพิพิธภัณฑ์อยู่บนชั้น 3 ของมูลนิธิ แบ่งการจัดแสดงออกเป็น 2 เรื่องใหญ่ คือ ประวัติศาสตร์การค้าประเวณีในประเทศไทย และกิจกรรมของมูลนิธิ โดยกำหนดไว้บนแนวคิดพื้นฐานที่มองว่าหญิงบริการหรือพนักงานบริการคือ “อาชีพ” หนึ่งที่ควรได้รับสิทธิและโอกาสทางสังคมที่เท่าเทียมเช่นเดียวกับอาชีพอื่นๆ ดังที่ระหว่างการนำชมส่วนจัดแสดงถุงยางอนามัย จันทวิภา เปรียบเทียบความเป็นอาชีพที่ไม่ต่างกับอาชีพอื่น           “ถุงยางอนามัยควรจะเป็นอุปกรณ์ในการทำงาน เหมือนกับช่าง ช่างทั้งหลายเวลาไปทำงาน เขาก็จะมีค้อน มีคีม มีไขควงมีอะไรอยู่ในนี้ แล้วเขาก็จะถือไป ของเราก็มีเหมือนกันเป็นอุปกรณ์การทำงาน”            “No more Sewing Machine พอกันทีจักรเย็บผ้า!” เอ็มพาวเวอร์ได้รับบริจาคจักรเย็บผ้าจำนวนมากในยุคที่คนมองว่างานเย็บผ้าเป็นทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับฝึกอาชีพหญิงบริการ  จักรเย็บผ้าหลังหนึ่งจึงถูกเก็บไว้เป็นระลึกและนำมาจัดแสดงตรงทางเข้า เรียกว่าเป็นการโหมโรงที่สั่นคลอนทัศนคติของคนส่วนใหญ่เกี่ยวกับหญิงบริการ  สื่อให้เห็นมุมมองของสังคมที่มักมองผู้หญิงแบบเหมารวมว่า ผู้หญิง=งานเย็บปักถักร้อย ในระยะแรกจักรเย็บผ้าถูกนำมาเป็นเครื่องมือฝึกอาชีพให้กับผู้กระทำผิดตาม พรบ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ที่ถูกจับมารับโทษในสถานสงเคราะห์ โดยรัฐหวังว่าโครงการการฝึกอาชีพเย็บผ้าจะทำให้หญิงบริการมีอาชีพใหม่แทนการขายบริการทางเพศ ในขณะที่การทำงานของมูลนิธิต่างออกไปคือทุกคนสามารถเข้ามาเรียนหนังสือ ฝึกอาชีพได้ สามารถเข้าออกได้อิสระ ดังทัศนะของจันทวิภาที่ว่า           "โครงการต่างๆ ที่นั่นมันก็เหมือนกับว่า เป็นโครงการสำหรับคนทำผิดเท่านั้นและเป็นโครงการที่มาแทนความผิดทางกฎหมาย ถ้าเกิดไม่ได้รับความผิดไม่ได้ถูกขัง ก็จะไม่ได้รับโครงการแบบนี้ เพราะฉะนั้นคนก็รู้สึกว่าได้อยู่ในโครงการนี้ได้เพราะทำความผิด ไม่ใช่ว่าได้เพราะจะทำให้ชีวิตดีขึ้น ก็เลยต่างกันตรงนี้นิดเดียว”(จันทวิภา อภิสุข, 2559)           ส่วนจัดแสดงที่ว่าด้วยเรื่องประวัติศาสตร์การค้าประเวณี นำเสนอให้เห็นว่าธุรกิจการค้าประเวณีในไทยมีมาตั้งแต่อดีต รูปแบบวิวัฒน์ไปตามสภาพสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป เริ่มด้วยการย้อนไปถึงปี พ.ศ. 2223 สมัยอยุธยาที่มีบันทึกว่ามีการออกใบอนุญาตให้ข้าราชการเปิดซ่องโสเภณีในนามของรัฐ ในช่วงอยุธยาตอนนั้น มีหญิงทำงานในนี้ถึง 600 คน ลูกค้ามีทั้งคหบดีไทย ชาวต่างชาติ กะลาสีเรือ นักเดินทางและพ่อค้า การค้าประเวณีในไทยขยายตัวมากขึ้นพร้อมๆ กับการเติบโตของชุมชนคนจีน ในปี พ.ศ. 2393 ธุรกิจการค้าประเวณีย่านบางกอกมีศูนย์กลางอยู่ที่ย่านคนจีน “ตรอกสำเพ็ง”  ในปี พ.ศ.2432 เฉพาะตรอกสำเพ็งมีโรงโสเภณี 71 โรง โรงฝิ่น 245 โรง โรงพนัน 128 โรง เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง มีทหารกองทัพสัมพันธมิตรเข้าประจำการในกรุงเทพฯ ชาวตะวันตกกลายเป็นลูกค้าใหม่ และธุรกิจนี้ค่อยๆ ขยายตัวมากขึ้นโดยเฉพาะในยุคสงครามเย็นที่มีการตั้งฐานทัพสหรัฐอเมริกาในไทย พัทยากลายเป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญของบรรดาจีไอ ลูกค้ารายใหญ่คนสำคัญที่ว่ากันว่าทำรายได้เข้าประเทศไทยหลายร้อยล้านบาทต่อปี (มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์, 2559, หน้า 11-25)           พิพิธภัณฑ์ยังได้จำลองลักษณะสถานบริการรูปแบบต่างๆ มาให้ผู้ชมที่ไม่เคยเข้าได้สัมผัสบรรยากาศอย่างใกล้ชิด อาทิ บาร์อะโกโก้ มีที่มาจากนวนิยายชื่อ วิสกี้กาลอร์(Whiskey Galore) เกี่ยวกับเรือสินค้าที่มีเหล้าวิสกี้อยู่บนเรือ ต่อมานวนิยายเรื่องนี้ถูกนำมาทำเป็นภาพยนตร์ เมื่อถูกฉายในฝรั่งเศสได้เปลี่ยนชื่อเป็น Whiskey A Gogo ซึ่ง  a gogo หรือ au gogo ในภาษาฝรั่งเศสแปลว่า Galore คือมากมายเหลือเฟือ  จริงๆ ข้อดีของเสาอะโกโก้คือ เป็นการเซฟคนเต้นไม่ให้ตกเวที ขณะที่เต้นโคโยตี้อาจจะตกเวทีก็เป็นได้  ผู้ชมจะขึ้นไปโหนเสาอะโกโก้ก็ได้ไม่มีใครห้าม แต่ครั้งหนึ่งเมื่อปี 2547 ที่เชียงใหม่เจ้าหน้าที่ได้รื้อเสาอะโกโก้ออกจากบาร์ ด้วยเหตุผลว่าเสาอะโกโก้ทำให้ดูไม่สุภาพและไม่เหมาะสมกับเมืองเชียงใหม่ที่เป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมของดินแดนล้านนา           พื้นที่อีกครึ่งหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ว่าด้วยเรื่องกิจกรรมรณรงค์ต่างๆ ของเอ็มพาวเวอร์ หนึ่งในนั้นคือ “บาร์แคนดู-บาร์ยุติธรรมเราทำเองได้”   สื่อสารผ่านงานศิลปะดินปั้นชิ้นเล็กๆ เรียกว่า mini-bar series ของ “เล็ก” สมาชิกหนึ่งของเอ็มพาวเวอร์ที่ต้องการสร้างบาร์ในฝันของตนเองจึงทำงานศิลปะนี้ถ่ายทอดลักษณะบาร์ที่ตัวเองอย่างจะทำ ส่วนจัดแสดงนี้สะท้อนถึงความรักและจิตใจที่อ่อนโยนของมนุษย์ปุถุชนคนหนึ่งผ่านงานศิลปะ แม้เธอจะทำอาชีพที่สังคมไม่ยอมรับแต่มีผลงานศิลปะที่สะท้อนประสบการณ์และตัวตนอย่างชัดเจน และในที่สุดบาร์ในฝันก็เกิดขึ้นได้จริง บาร์แคนดูตั้งอยู่ที่เชียงใหม่ เป็นบาร์ที่พนักงานลงหุ้นกันเองและบริหารงานกันเอง พนักงานมีเวลาหยุดพักระหว่างการทำงาน มีห้องพักผ่อน ไม่มีการเก็บหัวคิวพนักงาน ไม่มีบังคับดื่ม บังคับออฟ ฯลฯ ตอนกลางวันบาร์นี้เป็นศูนย์เอ็มพาวเวอร์เชียงใหม่ด้วย           สื่อและวิธีคิดเกี่ยวกับการจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์เอ็มพาวเวอร์ ใช้วิธีการอุปมาอุปไมยเข้ามาอธิบายหลักคิดและการทำงานของมูลนิธิ  หนึ่งในนั้นคือส่วนจัดแสดงที่เป็นเวทีมวยด้านหนึ่งมีตัวการ์ตูนที่ชื่อฮันนี่-บีกำลังต่อสู้กับสิ่งต่างๆ เช่น การล่อซื้อ  พรบ.การค้ามนุษย์  ตราบาป  ฯลฯ และข้อเขียนว่า “Learning by Doing”  อุปมาอุปไมยว่ามวยไทยเป็นศิลปะการป้องกันตัว ผู้ที่เป็นนักมวยต้องมีความกล้าหาญ ได้รับการฝึกฝนและออกอาวุธอย่างถูกวิธีและถูกเวลา การเป็นพนักงานบริการก็เช่นกัน ต้องเรียนรู้ว่าเมื่อไรจะรุกเมื่อไรจะถอย จะลดการถูกเอาเปรียบได้อย่างไร รวมถึงการหลีกเลี่ยงความรุนแรงจากการปฏิบัติหน้าที่ของผู้รักษากฎหมายอย่างไร           ในช่วงที่โรคเอดส์กำลังระบาดและสังคมไทยขาดความรู้ที่แท้จริงเกี่ยวกับโรคเอดส์ ทำให้คนตื่นตระหนักและรังเกียจหญิงบริการซึ่งถูกตีตราว่าเป็นผู้แพร่เชื้อ เอ็มพาวเวอร์จึงพยายามรณรงค์เรื่องนี้อย่างหนักจนถึงทุกวันนี้ ด้วยหลักคิดที่ว่า “อาชีพไม่ใช่สาเหตุของการแพร่เชื้อ แต่ร่วมเพศที่ไม่ปลอดภัย แพร่เชื้อได้” มุมหนึ่งของห้องนิทรรศการจัดแสดงหุ่นอาชีพต่างๆ ที่ล้วนต้องพกถุงยางอนามัย เพื่อการร่วมเพศอย่างปลอดภัยไม่ว่าคุณจะเป็นใครหรือทำอาชีพอะไร เป็นการเตือนสติตัวเอง           กิจกรรมที่ดูจะเป็นที่รู้จักและประสบความสำเร็จคือ “โครงการแรงงานไร้พรมแดน” หรือรู้จักกันดีในนาม “การเดินทางของคำจิ่ง” ที่เริ่มจากการพบว่าเริ่มมีผู้หญิงข้ามแดนเข้ามาสู่ธุรกิจค้ามนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ  การเดินทางของคำจิ่งเป็นโครงการศิลปะเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวชีวิต ความคิด ความฝัน ของผู้คนที่อพยพจากต่างถิ่นมาอยู่แถวชายแดนประเทศไทย โดยใช้ชื่อคำจิ่งเรียกแทนแรงงานผู้อพยพ โดยให้บรรดาแรงงานข้ามแดนสร้างหุ่นตุ๊กตาปั้นกระดาษหรือเปเปอร์มาเช่เป็นรูปครึ่งตัวคนเพื่อแทนตัวเอง ดั้งนั้นหุ่นกว่า 250 ตัวหน้าตาจะไม่เหมือนกันเลย จากนั้นจึงพาหุ่นคำจิ่งเดินทางไปสถานที่ต่างๆ ทั้งไทยและต่างประเทศที่เป็นความฝันของคนปั้นตุ๊กตา มีการบันทึกภาพถ่ายไว้ทุกที่ๆ คำจิ่งเดินทางไป การเดินทางของคำจิ่งได้รับรางวัล “อิสรภาพแห่งการสร้างสรรค์” ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ. 2552           ตุ๊กตาคำจิ่งที่หลงเหลือจากการทำโครงการถูกนำมาจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์ พร้อมกับข้าวของเครื่องใช้ของ “คำจิ่ง” เมื่อครั้งตอนที่อพยพเข้าประเทศไทย เช่น ปิ่นโตสนามที่พวกเธอใส่ข้าวมากินระหว่างรอนแรมเป็นเวลากว่า 3 วันกว่าจะถึงเมืองไทย  ผ้าห่ม  กระบอกน้ำ           จันทวิภา อภิสุข เคยให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ครั้งหนึ่งว่า “มีคนบอกว่ากลุ่มทำเหมือนสนับสนุนให้มีอาชีพโสเภณี  ถ้าคิดสั้นๆ ก็อาจเหมือนใช่ แต่ถ้ารู้จักมองยาวๆ สักหน่อยก็จะเห็นว่า การช่วยคนๆ หนึ่งให้รู้จักต่อสู้กับชีวิตอย่างมั่นใจยิ่งขึ้น เสียเปรียบน้อยลง ถูกขูดรีดน้อยลงก็เป็นการดีไม่ใช่หรือ...” (น้อย อภิสุข และลิซ แคมเมอรูน, 2557, หน้า 7)           ท่ามกลางปรากฏการณ์ที่มีความสลับซับซ้อนของการค้าประเวณี พิพิธภัณฑ์เอ็มพาวเวอร์กลายเป็นพื้นที่หนึ่งที่ผู้หญิงบริการยังสามารถส่งเสียง บอกเล่าความเป็นมนุษย์ที่มีอารมณ์ ความรู้สึก มีเหตุมีผล ให้สังคมได้รับรู้และเข้าใจสถานภาพการทำงานของพวกเธอ แม้ว่าจะตกอยู่ในเงื่อนไขที่เป็นรองและเป็นความที่ไม่เท่าเทียมระหว่างเธอ สถานบริการ หรือลูกค้าก็ตาม ส่วนหนึ่งของการจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์เอ็มพาวเวอร์ (ภาพโดย ศิวพงษ์ วงศ์คูณ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร)ส่งท้าย: พิพิธภัณฑ์กับพื้นที่สนทนากับสังคม          ผู้เขียนเห็นว่า แม้พิพิธภัณฑ์ผู้หญิงในไทยจะมีไม่มากนัก แต่น่ายินดีที่เห็นพิพิธภัณฑ์เปิดพื้นที่สนทนาเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของผู้หญิงค่อนข้างหลากหลาย ไม่ว่าเธอจะเป็นใครทำอาชีพใด แม้พิพิธภัณฑ์ในหน่วยงานภาครัฐหรือเชิงสถาบันที่เล่าเรื่องผู้หญิงมักเป็นเรื่องผู้หญิงชนชั้นสูง เรื่องราวที่จัดแสดงผูกโยงกับประวัติศาสตร์ชาตินิยม การเมืองเรื่องของชนชั้นนำ สถาบันกษัตริย์  “เรื่องเล่า” ของหญิงชนชั้นนำจะเป็นเรื่องการทำงานในแง่สังคมสงเคราะห์ และกิจกรรมเชิงประเพณีของผู้หญิง แต่อย่างน้อยพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เป็นพิพิธภัณฑ์หนึ่งที่ได้เปิดพื้นที่ให้เห็นแง่มุมของผู้หญิงที่มีบทบาทไม่ต่างกัน ไม่ว่าเธอจะสูงศักดิ์หรือสามัญ คือบทบาทของครอบครัว ความเป็นแม่ ความเป็นย่า ที่หล่อหลอม สนับสนุน และอยู่เบื้องหลังการทำงานและความสำเร็จของ “ผู้ชาย” คือพระราชโอรส พระราชนัดดา เป็นความเสียสละของเจ้านายฝ่ายหญิงที่แทบไม่ปรากฏในงานเขียนประวัติศาสตร์ไทย ตำราเรียน หรือในพื้นที่อื่นๆ           พิพิธภัณฑ์ผ้าป้าดา จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่เล่าถึงประวัติชีวิตและประสบการณ์ของนางแสงดา บันสิทธิ์ “ความเป็นผู้หญิงเก่ง” ของผู้หญิงสามัญ ที่ไม่ใช่เก่งหรือเชี่ยวชาญที่ทำกิจกรรมแบบที่ผู้ชายทำ แต่เก่งในกิจกรรมของเพศภาวะผู้หญิง คือการทอผ้า อาจเรียกได้ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกๆ ที่เปิดพื้นที่สำหรับ “ประสบการณ์” ของหญิงชาวบ้าน ที่แสดงให้เห็นถึงความรักและการอุทิศตนในงาน ความผูกพันในครอบครัว และความเรียบงามในการดำเนินชีวิต คู่ขนานไปกับการทำงานเชิงประเพณีของผู้หญิงแต่ได้รับการยกระดับว่าเป็นงานศิลปะระดับสูง           “เสียง” ของผู้หญิงบริการที่ได้รับการนำเสนอในพิพิธภัณฑ์เอ็มพาวเวอร์ เปิดโอกาสแก่ผู้หญิงที่มีภาพลักษณ์ในด้านลบและแทบจะไม่มีที่ยืนในสังคม ให้บอกเล่าชีวิต ประสบการณ์ ความฝัน และโลกของผู้หญิงบริการจากมุมของพวกเธอ เสียงดังกล่าวกระตุกให้ผู้ชมย้อนกลับไปทบทวนทัศนคติของตัวเองต่อผู้หญิงบริการ ถือได้ว่าเป็นการเปิดพื้นที่สนทนากับสังคมอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อถกเถียงกับบรรทัดฐานทางเพศ แบบแผนการเจริญพันธุ์และเพศสัมพันธ์ ความฉ้อฉลของระบบกฎหมาย หรือพูดอีกอย่างว่าพิพิธภัณฑ์เป็นเครื่องมือที่คนเล็กคนน้อยใช้ในการส่งเสียง เสริมกำลัง ต่อสู้กับอคติและความไม่เท่าเทียมในสังคม           เรื่องเล่าเกี่ยวกับผู้หญิงในพิพิธภัณฑ์ไทยทั้งสามกรณีที่ยกมา ทำให้เห็นบริบทใหม่ที่น่าสนใจของพิพิธภัณฑ์ไทยอย่างน้อยสามประการ ประการแรก การเปลี่ยนแปลงแนวคิดการทำพิพิธภัณฑ์ เกิดกระแสพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น และพิพิธภัณฑ์แนวใหม่ในระยะสามสิบปีที่ผ่านมา ที่ไม่ได้เน้นโบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่เป็นของชิ้นเอก ที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ชาติ แต่ขยายความหมายกว้างขวางครอบคลุมไปถึงการใช้ชีวิต เหตุการณ์หรือความทรงจำในชีวิตประจำวันที่อาจไม่ได้ยิ่งใหญ่หรืองดงาม สิ่งที่จัดแสดงไม่จำเป็นต้องเป็นวัตถุศิลปะชิ้นเอก แต่อาจเป็นเรื่องราวหรือวัฒนธรรมของสามัญชนคนทั่วไป (ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล, 2557, หน้า 8-9)   ผู้คนภาคภูมิที่จะเล่าประวัติศาสตร์ท้องถิ่นตนเองที่แตกต่างหรือไม่มีในเรื่องเล่าของรัฐ กล้านำเสนอวัฒนธรรม ประเพณี ข้าวของ ที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะของตัวเอง ทำให้เราได้มีโอกาสรับรู้เรื่องของป้าแสงดา แม่อุ๊ยแก้ว หรือยายเนียมกับยายสวาด และคาดว่าจะมีเรื่องของผู้หญิงอีกไม่น้อยที่เป็นคนเล็กคนน้อย ไม่ได้เป็นเลิศในด้านใด หากแต่มีคุณค่าหรือคุณลักษณะเฉพาะตัวบางอย่างที่ควรค่าแก่การบันทึก เรียนรู้ และจดจำ           ประการที่สอง การตีความและเล่าเรื่องด้วยวัตถุหรือหลักฐานใหม่ๆ เปิดให้พิพิธภัณฑ์สนทนากับสังคมในหลากแง่มุมมากขึ้น เช่น การเลือกใช้เอกสารจากเนเธอร์แลนด์เพื่ออธิบายสังคม วิถีชีวิต การค้า ผ่านผู้คนธรรมดามากกว่าเสนอความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐ นำไปสู่การเล่าเรื่องผ่าน “นางสุด” หญิงมอญ ของพิพิธภัณฑ์บ้านฮอลันดา  หรือการตีความและนำเสนอความเป็นครอบครัวและเบื้องหลังความสำเร็จของผู้ชายในครอบครัวของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ซึ่งเรามักไม่ค่อยได้พบในประวัติศาสตร์นิพนธ์หรือในพิพิธภัณฑ์ที่เล่าเรื่องบุคคลสำคัญในราชวงศ์ที่เคยมีมา           ประการที่สาม การนำเสนอเหตุการณ์ร่วมสมัย เรื่องราวด้านมืดของมนุษย์ในพื้นที่พิพิธภัณฑ์ เป็นการพลิกกลับขนบบางอย่างของพิพิธภัณฑ์ที่เป็นความรับรู้โดยทั่วไป ว่าเป็นพื้นที่ของการนำเสนอเรื่องราวที่งดงาม ศิลปวิทยาการของมนุษยชาติ การรำลึกนึกถึงและยกย่องบุคคลสำคัญบุคคลในความทรงจำ การนำเสนอเรื่องราวของผู้หญิงบริการของพิพิธภัณฑ์เอ็มพาวเวอร์ เป็นตัวอย่างเพียงไม่กี่แห่งของพิพิธภัณฑ์ไทยที่หลุดจากกรอบความคิดของการทำพิพิธภัณฑ์แบบเดิมๆ ที่เราพบเห็นโดยทั่วไป           สุดท้ายนอกเหนือการสดุดีคุณงามความดี ความรู้ และประสบการณ์ของผู้หญิงในเรื่อง “การบ้าน” แล้ว หากพิพิธภัณฑ์ไทยจะเขยิบไปสู่การเล่าเรื่อง การรับฟังประสบการณ์ และบทบาทของผู้หญิงในมิติอื่นๆ โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมทาง “การเมือง” ซึ่งแทบไม่ปรากฏในพื้นที่พิพิธภัณฑ์ไทย ดังที่มีอยู่ในพิพิธภัณฑ์ผู้หญิงในประเทศเวียดนาม น่าจะเป็นการเพิ่มพื้นที่สนทนาเรื่องบทบาทของผู้หญิงให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น บรรณานุกรม จันทวิภา อภิสุข, 2559. พิพิธภัณฑ์เอ็มพาวเวอร์ [บทสัมภาษณ์] (28 มิถุนายน 2559). ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์, 2546. ผู้หญิงกับความรู้ในจักรวาลของผู้ชาย: ความหมาย การมองเห็นโลก และระบอบอำนาจความจริง. ใน: ส. สิทธิรักษ์, บ.ก. ผู้หญิงกับความรู้ 1 (ภาค 2). กรุงเทพฯ: โครงการสตรีและเยาวชนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, หน้า 1-22. ธีรวัต ณ ป้อมเพชร, 2559. ห้องเรียนประวัติศาสตร์ในงานพิพิธภัณฑ์. ใน: อ. ชูศรี, บ.ก. พิ(ศ)พิธภัณฑ์ บทความเลือกสรรจากการประชุมวิชาการ MUSEUM REFOCUSED. กรุงเทพฯ: สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ, หน้า 253-256. น้อย อภิสุข และลิซ แคมเมอรูน, 2557. Reading Between Lines: empower in the press, since 1985 ระหว่างบรรทัด: เอ็มพาวเวอร์ในหน้า นสพ. ตั้งแต่ 2528. 1st บ.ก. นนทบุรี: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเอ็มพาวเวอร์. เนาวรัตน์ บันสิทธิ์, 2559. พิพิธภัณฑ์ผ้าป้าดา [บทสัมภาษณ์] (21 ธันวาคม 2559). ปฐม ทรัพย์เจริญ, 2549. โสเภณี(Prostitution): แนวความคิดที่แตกต่าง. วารสารรามคำแหงฉบับมนุษยศาสตร์, มกราคม-มิถุนายน, 1(26), หน้า 121-137. ประภาพรรณ ชื่นแขก, 2555. การศึกษารูปแบบกืจกรรมทางการศึกษาของพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า,กรุงเทพฯ: วิทยานิพนธ์สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรวัฒนธรรม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร. ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล และคณะ, 2549. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ โครงการวิจัยและพัฒนาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น: ระยะที่ 2 ปีที่ 1 วิจัยและพัฒนาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น : กรณีศึกษา,กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล, 2557. คำให้การของคนทำพิพิธภัณฑ์. ใน: ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ, บ.ก. คนทำพิพิธภัณฑ์. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, หน้า 6-23. มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า, 2551. เนื่องในวโรกาส สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินไปในการเปิดพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า. มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์, 2559. นี่คือเรา พิพิธภัณฑ์ งานบริการทางเพศ ในสังคมไทย. นนทบุรี: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเอ็มพาวเวอร์. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2547. ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย. [ออนไลน์] Available at: http://www.sac.or.th/databases/museumdatabase/index.php [เข้าถึง1 พฤษภาคม 2560]. อำนวย จั่นเงิน บก., 2536. แสงดา บันสิทธิ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศศิลป์(การทอผ้า). กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ. อำนวย จั่นเงิน, 2545. แสงดา บันสิทธิ์ เพชรน้ำเอกของวงการทอผ้าแห่งล้านนาไทย. กรุงเทพฯ: มูลนิธิแสงดา บันสิทธิ์ และนางเสาวนีย์ บันสิทธิ์.   [1] สามารถชมวิดีโอย้อนหลังการบรรยายเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ผู้หญิงในเวียดนามได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=9RcsZFnLa4Qหมายเหตุ: บทความนี้ตีพิมพ์ในหนังสือ รุ้งตะวัน อ่วมอินทร์, 2562, 25 ปี ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) รวมบทความจากสนาม. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.

ความพัวพัน: ประวัติศาสตร์อาณานิคม ศิลปะ และวัตถุชาติพันธุ์ ตัวอย่างจากพิพิธภัณฑ์ในเยอรมนี*

11 เมษายน 2562

*แปลและเรียบเรียงจาก Iris Edenheiser, 2017, ‘Entanglements: colonial history, arts, and “ethnographic object”- examples from German Museums. In Zvjezdana Antos, Annette B. Fromm, Viv Golding (eds), Museum and Innovations. Newcastle-Upon Tyne: Cambridge Scholars Publishing.  โดย ปณิตา สระวาสี นักวิชาการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)--------------------เหมือนกันหรือแตกต่าง? การพัฒนาล่าสุดของพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์ในเยอรมนี                 ในช่วง 10 ปีหลังนี้ พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์หลายแห่งในประเทศที่พูดภาษาเยอรมันมีการออกแบบการจัดแสดงใหม่และเปิดให้บริการอีกครั้ง ที่กำลังจะเปิดตัวในไม่ช้านี้และถูกพูดถึงมากที่สุดคือ Humboldt Forum  โครงการด้านวัฒนธรรมที่ใหญ่ที่สุดและได้รับงบประมาณสนับสนุนมากที่สุดจากรัฐบาลเยอรมนี  พิพิธภัณฑ์แห่งนี้วางไว้ว่าจะเปิดตัวในปี ค.ศ. 2019 เป็นการนำคอลเล็กชั่นของ Ethnologisches Museum หนึ่งพิพิธภัณฑ์ที่มีคอลเล็กชั่นทางชาติพันธุ์จากทั่วโลกมากที่สุด มาจัดแสดงกลางเมืองเบอร์ลิน โดยแผนงานของโครงการ จะมีซีรี่ย์ของกลุ่มนิทรรศการชั่วคราวเชิงทดลอง  หลายอันจัดแสดงในเชิงศิลปะที่ได้รับการสร้างสรรรค์ขึ้นเพื่อจะทดลองรูปแบบใหม่ของการนำเสนอวัตถุชาติพันธุ์  อย่างไรก็ดีในส่วนนิทรรศการถาวรจะยังคงนำเสนอวัฒนธรรมที่แบ่งตามภูมิภาคของคอลเล็กชั่นที่มี หลักการคล้ายๆ กันนี้ถูกใช้ต่อมาโดยพิพิธภัณฑ์ Grassi Museum fur Volkerkunde zu Leipzig ที่เพิ่งเปิดบริการส่วนห้องจัดแสดงวัฒนธรรมในภูมิภาคต่างๆ ใหม่อีกครั้ง ระหว่างปี ค.ศ. 2006-2009             แนวโน้มในภาพรวมของการจัดแสดง ที่มีลักษณะการเชิญศิลปินและนักออกแบบมาทำงานกับคอลเล็กชั่นชาติพันธุ์ เป็นหลักการที่นำโดย Clementine Deliss ผู้อำนวยการคนก่อนของพิพิธภัณฑ์ Frankfurter Weltkulturen ผู้ซึ่งเสนอมุมมองที่ท้าทายของ “พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์” (ethnographic museum) ที่เป็นการวางกรอบใหม่ในฐานะ “พิพิธภัณฑ์หลังชาติพันธุ์” (post-ethnographic museum)  นอกจากนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์ Rautenstrauch-Joest-Musuem-Kulturen der Welt ในเมืองโคโลญจน์ ที่เปิดตัวนิทรรศการถาวรใหม่ ประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้นในปี ค.ศ. 2010 และได้ชื่อว่าว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ยุโรปแห่งปีใน ปี ค.ศ. 2012  สำหรับการจัดแสดงในนิทรรศการถาวร พิพิธภัณฑ์ได้ดำเนินตามแนวทางการทำนิทรรศการของตนเองตั้งแต่ทศวรรษ 1980   โดยมุ่งเน้นการจัดแสดงแบบธีมมากกว่าการแบ่งตามภูมิภาค เช่น “พิธีกรรม” “พื้นที่อยู่อาศัย” “ศาสนา” “ความตายและชีวิตหลังความตาย” ซึ่งนำเสนอด้วยการเน้นวัตถุจัดแสดงที่ดึงดูดสายตาผู้ชมอย่างทรงพลัง  การจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ Rautenstrauch-Joest-Museum-Kulturen der Welt ที่มาภาพ: www.museenkoeln.de/rautenstrauch-joest-museum             ในสวิตเซอร์แลนด์  พิพิธภัณฑ์ Museum der Kulturen Basel  ทำให้เกิดการถกเถียงในวงกว้างเมื่อพิพิธภัณฑ์เปิดตัวอีกครั้งในปี ค.ศ. 2011  โดยใช้แนวคิดมานุษยวิทยาร่วมสมัยเช่น เรื่อง “ผู้กระทำการ” (agency)  “ความรู้” (knowledge) และ “การสร้างความหมาย” (enactment) เป็นตัวร้อยเรียงนิทรรศการ และทำให้วัตถุแลดูพิเศษภายใต้การจัดแสดงในกล่องสี่เหลี่ยมสีขาว  เป็นการสร้างสรรค์ที่คล้ายคลึงกันอย่างมากในแบบที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะนิยมกระทำกัน ส่วนการจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ Volkerkundemuseum der Universitat  Zurich ที่ทำการบูรณะใหม่ในปี ค.ศ. 2004 ได้หันกลับไปสู่รากเดิม คือการวิเคราะห์ชาติพันธุ์จากวัฒนธรรมวัตถุ และเน้นไปที่ทักษะการผลิตและการใช้งานวัตถุ             การพัฒนาล่าสุดดังกล่าวนำไปสู่ความสนใจใหม่ต่อคอลเล็กชั่นวัตถุชาติพันธุ์ในความรับรู้เชิงสาธารณะของคนเยอรมัน ขอบเขตของบทความนี้จะไม่ได้สำรวจสถานภาพของแนวทางพัฒนาที่หลากหลายทั้งหมดเกี่ยวกับนิทรรศการที่ว่าด้วยเรื่องวัตถุชาติพันธุ์ แต่จะเน้นไปที่สองนิทรรศการที่เป็นโครงการโดยตรงของผู้เขียน นิทรรศการแรกจัดแสดงไปแล้ว ส่วนอีกนิทรรศการกำลังจะมีขึ้นในอนาคต ซึ่งจะแสดงให้เห็นสองธีมหลักของข้อถกเถียงในปัจจุบัน และยังแสดงถึงเป้าหมายสำคัญของการประชุม International Committee for Museums of Ethnography ปี ค.ศ. 2014  โดยในส่วนแรกจะแสดงตัวอย่าง World Cultures Collections ของพิพิธภัณฑ์ Reiss-Engelhorn-Museen ที่เมือง Mannheim ผู้เขียนมีข้อโต้เถียงเรื่องความเป็นประวัติศาสตร์ของคอลเล็กชั่นวัตถุชาติพันธุ์ โดยเฉพาะเรื่องประวัติศาสตร์อาณานิคม ปัจจุบันไม่มีพิพิธภัณฑ์ใดที่อธิบายข้างต้นที่หันความสนใจในประวัติศาสตร์ที่มีปัญหาของคอลเล็กชั่นวัตถุชาติพันธุ์ในการจัดแสดงนิทรรศการถาวรของตนเองยกเว้นพิพิธภัณฑ์ Weltkulturen Museum ที่แฟรงค์เฟิร์ต  คือส่วนใหญ่นิทรรศการพิเศษเหล่านั้นมักที่ให้สุ้มเสียงศิลปินมากกว่าการตีความคอลเล็กชั่นในทางประวัติศาสตร์ที่อยู่บนพื้นฐานเชิงวิชาการ  ในส่วนที่สองผู้เขียนจะพลิกกลับแนวโน้มที่มักเชิญชวนศิลปะและศิลปินเข้ามาสู่พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์ โดยจะทำให้เห็นมานุษยวิทยาและการอภิปรายทางการเมืองในผลงานศิลปะและนิทรรศการศิลปะ ความเป็นประวัติศาสตร์ของคอลเล็กชั่นวัตถุชาติพันธุ์             คอลเล็กชั่นวัตถุชาติพันธุ์ที่เกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์อาณานิคม กลายมาเป็นประเด็นที่ถูกเน้นย้ำกันมากเมื่อไม่นานมานี้ในแวดวงวิชาการและการรับรู้สาธารณะของประวัติศาสตร์อาณานิคมเยอรมนี ในเชิงวิชาการและสังคมโดยรวมให้ความสำคัญกับระบอบนาซีและสงครามโลกครั้งที่สอง ทั้งสองเรื่องครอบงำวาทกรรมประวัติศาสตร์เยอรมันเป็นอย่างมาก เยอรมนีเรียกได้ว่าเป็นมหาอำนาจอาณานิคมในยุคหลังๆแล้ว และปัจจุบันได้หยิบยกประวัติศาสตร์อาณานิคมขึ้นมาพิจารณากันใหม่  มีการดีเบตสาธารณะเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์ โดยเฉพาะตั้งแต่การวางแผนโครงการHumboldt-Forum โดยมีจุดยืนสำคัญที่เป็นแนวโพสต์โคโลเนียล/ถอดรื้อโคโลเนียลในเชิงวิพากษ์ ตั้งคำถามถึงความชอบธรรมของการได้มาและการเมืองในการสร้างภาพตัวแทนในบริบทอาณานิคมระหว่างช่วงเวลาการก่อรูปพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์และหลังจากนั้น การวิพากษ์เหล่านี้ถูกพูดในวงกว้างโดยคนวงการต่างๆ แต่เกือบจะยังไม่มีมาจากคนในวงการพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์  ยกเว้นพิพิธภัณฑ์ Weltkulturen Museum ในแฟรงเฟิร์ต             การโต้เถียงในประเด็นนี้ได้เริ่มขึ้นแล้วกับ World Cultures Collection ที่พิพิธภัณฑ์ Reiss-Engelhorn-Museen (REM) เมือง Mannheim ที่กำลังอยู่ในช่วงวางแผนนำคอลเล็กชั่นชาติพันธุ์กลับมาสู่การรับรู้สาธารณะผ่านการจัดแสดงชุดใหม่หลังจากที่ปิดตัวไปเกือบสิบปี ในกระบวนการดังกล่าว เป้าประสงค์หลักเป็นการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์คอลเล็กชั่นอย่างถี่ถ้วน โดยการเน้นเรื่องเล่าที่เกี่ยวพันกับอาณานิคมในตัววัตถุและจดหมายหมายเหตุที่เกี่ยวข้อง กรอบคิดใหม่นี้วางบนพื้นฐานการวิจัยเชิงประวัติศาสตร์มากกว่าการวิจัยหรือปฏิบัติการเชิงศิลปะ ที่นิยมประยุกต์ใช้ในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ก่อนหน้านี้  ที่ในบางกรณีคนที่บุกเบิกแนวคิดนั้นมาใช้ มองราวกับว่าศิลปะในตัวมันเองไม่มีอคติ เข้าใจ “วัตถุทางชาติพันธุ์” ว่าเป็นสิทธิพิเศษมากกว่าเรื่องเความชอบธรรม             วัตถุและภาพถ่าย รวมถึงจดหมายเหตุของ World Cultures Collection ที่พิพิธภัณฑ์ Reiss-Engelhorn-Museen (REM) พัวพันกับอาณานิคมในหลากหลายระดับ คอลเล็กชั่นพูดถึงผู้กระทำการระดับเมือง Mannheim และเมืองรอบๆ ซึ่งเกี่ยวพันในทางการเมืองและการค้าอาณานิคมระดับโลก เช่น Theodor Bumiller ผู้แทนของกองกำลัง Kaiserliche Schutztruppe อาณานิคมเยอรมัน-แอฟริกาตะวันออก และยังเป็นผู้มีชื่อเสียงระดับท้องถิ่นใน Mannheim เขาเขียนบันทึกราชการประจำวันเกี่ยวกับกองทัพในอาณานิคมเยอรมัน-แอฟริกาตะวันออก ปัจจุบันอยู่ในจดหมายเหตุของ World Cultures Collection ที่ REM พร้อมกับภาพถ่ายจำนวนหนึ่งของ Bumiller ในช่วงที่เขาบังคับการในอาณานิคม นอกจากนี้เขายังนำวัตถุจำนวนมหาศาลจากแอฟริกาตะวันออกกลับมา ซึ่งต่อมาเขาและภรรยาได้บริจาคให้กับพิพิธภัณฑ์ วัตถุชิ้นหนึ่งคืองาช้างสีขาวใหญ่ยักษ์ที่ยังไม่ได้แกะสลัก ที่สามารถอธิบายอีกแง่มุมของระบอบอาณานิคมนั่นคือ เรื่องของผู้กระทำการที่เป็นชนพื้นเมืองในอาณานิคมและกลยุทธ์ต่างๆ ของพวกเขาที่จะดีลกับอำนาจยุโรปและบรรดาตัวแทน  งาช้างดังกล่าวเป็นของขวัญที่ Bumiller ได้รับจากมือของ Tippu Tip พ่อค้าซื้อขายทาสและงาช้างที่สร้างตัวเองจากการค้าผูกขาดทั่วแอฟริกาตะวันออก เมื่อเกิดสงครามอาณานิคมและเกิดความระส่ำระสายในสถาบันทางสังคมและอำนาจของแอฟริกาตะวันออก เขาก้าวขึ้นสู่อำนาจทางการเมืองในช่วงสุญญากาศ และกลายเป็นผู้มีอิทธิพลสูงที่สุดและร่ำรวยที่สุดในสังคมอาณานิคมแอฟริกาตะวันอก ของขวัญชิ้นล้ำค่า เช่นงาช้าง สื่อถึงความมั่งคั่งและอำนาจ ในเวลาเดียวกันทำให้เข้าใจถึงการกระชับมิตรของผลประโยชน์ของผู้ให้ในความสัมพันธ์ทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมืองในอนาคตของเขา Tippu Tip พ่อค้าทาสและงาช้างผู้ร่ำรวยและทรงอิทธิพลในอาณานิคมเยอรมัน-แอฟริกาตะวันออก ที่มาภาพ: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Tippu_Tip_1889.jpg             คอลเล็กชั่นยังประกอบด้วยวัตถุที่หลากหลายจากคณะผู้เดินทางของ Franz และ Pauline Thorbecke ที่เมือง Bamender Grassfields ในแคเมรูน ซึ่งเป็นอาณานิคมเยอรมัน-แอฟริกาตะวันตก ในปี ค.ศ. 1912-13 รวมถึงคอลเล็กชั่นภาพสีน้ำของ Pauline Thorbecke ที่เป็นภาพกษัตริย์ Njoya แห่งอาณาจักร Bamum และพระมารดา Niapundunke ท่ามกลางสมาชิกสภาขุนนาง และยังมีวัตถุอีกราว 1,300 ขิ้น เช่น หน้ากากหมวกเหล็กจากคลังสมบัติของกษัตริย์  กษัตริย์ Njoya ใช้นโยบายที่เอาอกเอาใจเจ้าอาณานิคมเยอรมัน โดยการยอมรับอำนาจของเจ้าอาณานิคมและยอมรับกฎทางการค้าใหม่ เขาหวังว่าจะสร้างความสัมพันธ์อย่างสันติ ที่จะไม่ทำให้โลกศาสนา การเมือง และสังคมของอาณาจักร Bamum ถูกรบกวน จากการบุกรุกของเจ้าอาณานิคม             เหตุการณ์ต่อต้านเจ้าอาณานิคมในนามิเบีย อดีตอาณานิคมเยอรมัน-แอฟริกาตะวันตกเฉียงใต้ ที่รู้จักกันในนาม Herero and Nama uprising นำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์สองกลุ่มชาติพันธุ์ มีผู้ล้มตายเป็นพันคน  คอลเล็กชั่นของ REM เก็บรักษาลายมือของ Samuel Maharero และจดหมายของ Jacob Morenga ผู้นำของเผ่า Herero และ Nama ระหว่างการลุกฮือต่อต้านเจ้าอาณานิคม และวัตถุทางวัฒนธรรมของชาว Herero ซึ่งได้มาจากทหารเยอรมันที่ตั้งกองทัพระหว่างการทำสงครามในปี ค.ศ. 1904 และ 1908             นอกจากนี้การบอกเล่าเรื่องราวของอาณานิคมเยอรมัน คอลเล็กชั่นและนิทรรศการเผยให้เห็นการพัวพันของเจ้าอาณานิคมเยอรมันและเครือข่ายต่างๆ ที่นอกเหนือจากเขตแดนของประเทศตนเองเช่น การเกี่ยวข้องในการปราบปรามกบฎนักมวยในเมืองจีนระหว่างปี ค.ศ. 1899 และ 1901 ซึ่งเหตุการณ์นี้ถูกบอกเล่าด้วยวัตถุที่มาจากพระราชวังต้องห้ามในปักกิ่งและที่อื่นๆ             ท้ายสุด  กระบวนวิธีในการสะท้อนย้อนตนเองของคอลเล็กชั่นและนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์ REM เมือง Mannheim ก็สามารถเริ่มขึ้นได้ ยกตัวอย่างเช่น การค้นคว้าบันทึกข้อมูลของนิทรรศการเกี่ยวกับอาณานิคมในปี ค.ศ. 1937 เพื่ออธิบายให้เห็นวิธีการที่นิทรรศการสนับสนุนเป้าหมายของการล่าอาณานิคมอย่างไร โดยวิธี “การขุดค้นคอลเล็กชั่น” และการย้อนหาเรื่องราวของสถานการณ์ในอาณานิคมซึ่งผูกติดกับวัตถุต่างๆ ชีวประวัติ และความเป็นประวัติศาสตร์ของคอลเล็กชั่นวัตถุชาติพันธุ์ที่สำคัญ  วัตถุจึงมิได้ใช้เป็นเพียงภาพแทนของชาวยุโรปที่เหนือกว่า หรือมีความเป็นวัฒนธรรมที่มีขอบเขตชัดเจนตายตัวและแช่แข็งอยู่ในกาลเวลาอีกต่อไป ความเป็นมานุษยวิทยาของนิทรรศการศิลปะ                 ในปี ค.ศ. 2010 คอลเล็กชั่น Staatliche Ethnographische Sammlungen Sachsena (SES, คอลเล็กชั่นชาติพันธุ์ของเมืองแซกโซนี) กลายเป็นส่วนหนึ่งของ Staatliche Kunstsammlungen Dresden (SKD) ด้วยวัตถุประสงค์ที่ต้องการสร้างการทำงานกัอย่างในกล้ชิดระหว่างศิลปะและคอลเล็กชั่นวัตถุชาติพันธุ์ สิ่งหลักที่เป็นผลมาจากการรวมตัวกันดังกล่าวคือ โครงการความร่วมมือกับพิพิธภัณฑ์วาติกันในการทำ “พิพิธภัณฑ์อินเดียน” ของ Ferdinand Pettrich(1798-1872) ศิลปินประติมากรที่กำเนิดในเมืองเดรสเดน ผลงานประติมากรรมของเขาได้รับอิทธิพลนีโอคลาสสิก  ช่วงทศวรรษ 1830  Pettrich อาศัยและทำงานในวอชิงตันดีซีและฟิลาเดลเฟีย เขาผลิตงานปูนปั้นชนพื้นเมืองอเมริกันผู้ซึ่งเป็นตัวแทนเพื่อไปต่อรองสนธิสัญญาเรื่องที่ดินและสันติภาพ พิพิธภัณฑ์วาติกันเป็นเจ้าของผลงานเหล่านี้ โดยจัดแสดงที่ Albertinum ในเมืองเดรสเดน ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่เก็บรักษาผลงานศิลปะโมเดิร์นและร่วมสมัยและคอลเล็กชั่นรูปปั้นที่มีชื่อเสียง    โดยทำนิทรรศการชื่อ “Tecumseh, Keokuk, Black Hawk: Portrayals of Native American in Times of Treaties and Removal”  จะเห็นได้ว่าการตั้งชื่อลักษณะนี้ ไม่ใคร่จะเกี่ยวกับศิลปะหรือตัวศิลปินแต่อย่างใด             ประติมากรรมชนพื้นเมืองอเมริกันของ Pettrich ถูกตีความว่าได้รับอิทธิพลจากศิลปะสกุลนีโอคลาสสิก เป็นกลาง และแปลกตาในฉบับศิลปะยุคอาณาจักรโรมัน ภัณฑารักษ์ต้องการแสดงถึงบริบททางการเมืองระหว่างที่ Pettrich สร้างผลงานและนำเอาเสียงชนพื้นเมืองอเมริกันในตอนนั้นออกมาให้เห็น  โดยในปี ค.ศ. 1830 กฎหมายการโยกย้ายชนพื้นถิ่นอเมริกันเพิ่งผ่านสภาคองเกรส ตัดสินว่าชนพื้นเมืองที่อาศัยในฝั่งตะวันออกของแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ไม่ใช่เป็นส่วนหนึ่งของชาติสหรัฐอเมริกา ทำให้พวกเขาต้องย้ายถิ่นไปอีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำ นิทรรศการ Cherokee Trail of Tears เป็นผลพวงมาจากการบังคับย้ายถิ่นครั้งนั้นซึ่งส่งผลต่อการใช้ชีวิตของชนพื้นเมือง ผลงานศิลปะในตัวมันเองไม่ได้ส่งผ่านหรือแสดงถึงบริบททางการเมือง ดังนั้นวิธีการที่เราเอามาใช้จัดแสดงคือการให้ผู้ชมเข้าใจบริบทในการสร้างงาน             ทางเข้านิทรรศการนำเสนอตัวบทกฎหมายการโยกย้ายชนพื้นถิ่นอเมริกัน จัดแสดงติดกันต่อจากภาพวาดลายเส้นของ Pettrich ที่วาดชนพื้นเมืองกำลังต่อสู้กับปิศาจแห่งท้องทะเล ทั้งนี้มีมุมมองสองอย่างที่นำเสนอไปพร้อมกันในผลงานศิลปะนี้  คือมองศิลปะในแง่ความเก่าแก่และแปลกตา และความเป็นจริงทางการเมืองไปพร้อมกัน   ส่วนต่อมาเป็นผลงานประติมากรรมที่นำเสนอในโถงนิทรรศการหลัก เน้นรูปแบบความงาม  ผู้ชมสามารถรับรู้ได้ถึงความงดงาม ความแปลกตาต่อชิ้นงาน ขณะที่ฝาผนังโดยรอบจะโค้ดคำพูดของชนพื้นเมืองที่ปรากฏในงานของ Pettrich รวมถึงคำพูดนักการเมืองอเมริกัน-ยุโรปและบรรดาศิลปินด้วย คล้ายกับเป็นแนวนำเรื่องเพื่อให้เห็นบริบทการเมือง ทำให้เห็นวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงและสถานการณ์ที่ถูกคุกคามของชนพื้นเมืองในตอนนั้นอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น นอกจากนี้ป้ายคำอธิบายผลงานรายชิ้นจะสนทนากับข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่เป็นแบบปั้น โดยแทบจะไม่ได้พูดเรื่องประวัติศาสตร์ศิลปะเลย             การจัดแสดงในส่วนการดำเนินชีวิตของ Pettrich เป็นรูปปั้นครึ่งตัวเขา หนึ่งในวัตถุส่วนบุคคลที่มีชื่อเสียง บ่งบอกความเป็นชนชั้นกลางไปจนถึงระดับบน แสดงถึงสถานภาพในสังคมและความสำเร็จในชีวิตของเขา คู่ขนานไปความหมายดังกล่าวเป็นการจัดแสดงวัฒนธรรมและศิลปะของชนพื้นเมือง เราเลือกวัตถุจากช่วงเวลาเดียวกันจากชนพื้นเมืองเฉพาะกลุ่มที่สื่อความหมายไปในทางเดียวกัน คือเรื่องของการประสบความสำเร็จในชีวิต เช่น สถานภาพทางสังคม, อำนาจ, และชื่อเสียงในสังคมของชนพื้นเมือง  นำเสนอวัตถุที่ตกทอดในครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่น เช่นเดียวกันกับรูปปั้นครึ่งตัวในบริบทสังคมยุโรปที่มักเป็นมรดกในครอบครัว วัตถุพื้นเมืองในนิทรรศการดังกล่าวยังรวมถึงเสื้อคลุมที่ทำจากหนังควายที่บ่งบอกถึงความสำเร็จของเจ้าของและสร้อยคอที่ทำจากอุ้งตีนหมี             ผลงานชิ้นเอกของนิทรรศการนี้คือ งานประติมากรรมที่ชื่อ “Dying Tecumseh”  Shawnee Tecumseh เป็นทั้งผู้นำทางการเมือง นักรบ นักคิด ผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดในประวัติศาสตร์ชนพื้นเมืองอเมริกัน-ยุโรป เขาพยายามจะรวมกลุ่มพันธมิตรชนพื้นเมืองเพื่อต่อต้านรัฐบาลสหรัฐอเมริกาด้วยวิธีการสู้รบ เขาตายในสงครามบริติช-อเมริกันเมื่อปี ค.ศ. 1813  Pettrich ปั้นเขาในฐานะวีรบุรุษที่ต่อสู้อย่างกล้าหาญแต่ประสบความพ่ายแพ้ในที่สุด  ทั้งนี้การหลอมรวมความเป็นชนพื้นเมืองร่วมสมัยและการให้มุมมองที่ไม่สิ้นหวังของเขาถูกนำเสนอไปพร้อมๆ กันผ่านการนำเสนอหนังเรื่อง “Tecumseh’s Vision”  ซึ่งฉายในห้องแยกต่างหากออกไป ในหนังเล่าถึง Shawnee และนักคิดชนพื้นเมืองอเมริกันคนอื่นๆ ที่กล่าวถึงความหมายของ Tecumseh ที่มีต่ออัตลักษณ์ชนพื้นเมืองอเมริกันในปัจจุบัน             Black Hawk เป็นหัวหน้าอีกชนเผ่าหนึ่งที่ Pettrich ปั้นขึ้น ความทรงจำในชีวิตของเขาถูกเล่าและให้ล่ามบันทึกตามคำพูดของเขา ซึ่งทุกวันนี้บันทึกดังกล่าวถือเป็นอัตชีวประวัติชิ้นแรกของชนพื้นเมืองอเมริกัน คล้ายกับการจัดแสดงของ Tecumseh คือมีการติดตั้งห้องสี่เหลี่ยมดำที่เปิดเสียงของผู้ที่อ่านบันทึกของ Black Hawk ขณะที่เขาเดินทางจากฝั่งตะวันออกไปยังวอชิงตัน ซึ่งเป็นบริบทสำคัญของชิ้นงานนี้ของ Pettrich ผลงาน Dying Tecumseh ที่มาของภาพ: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Ferdinand_Pettrich_-_The_Dying_Tecumseh_-_Smithsonian.jpg             ท้ายสุดคือการนำเสนอผลงานร่วมสมัยชื่อ “Ghost in the machine” เป็นรูปปั้นเทพีอาเธนาของไมรอนที่ถูกผูกติดอยู่กับตู้เย็น โดยศิลปินชื่อ Jimmie Durham ซึ่งตั้งแสดงอยู่บริเวณทางออกนิทรรศการ หากภาพตัวแทนของชนพื้นเมืองโดยผลงานของ Pettrich ได้รับอิทธิพลนีโอคลาสสิกที่หยังรากลึกในประวัติศาสตร์ศิลปะยุโรป ผลงานของ Durham ก็ได้นำเอาพื้นฐานรากศิลปะของยุโรปดังกล่าวมาบิดอย่างเย้ยหยัน             ตลอดข้อเขียนข้างต้น ผู้เขียนมองความพัวพันในสองลักษณะ คือ ทั้ง “วัตถุชาติพันธุ์” และผลงานศิลปะ พัวพันอย่างลึกซึ้งในประวัติศาสตร์อาณานิคมกระแสหลักและประวัติส่วนบุคคล ซึ่งสามารถนำเสนอความเป็นประวัติศาสตร์ของคอลเล็กชั่นชาติพันธุ์และมานุษยวิทยาในศิลปะในการจัดแสดงนั้น แต่สิ่งที่เป็นความพัวพันระหว่างกระบวนการวิจัยและการจัดแสดงวัตถุเหล่านี้เป็นมุมมองเชิงหลักวิชาต่างๆ ที่ต้องมองวัตถุด้วยการตั้งคำถาม  ทั้งนี้ด้วยการทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงานจากหลายสาขาวิชา เราสามารถแสดงให้เห็นความต่าง ทั้งจากมุมผู้สร้างสรรค์ผลงานและจากผู้ใช้งาน.

พิพิธภัณฑ์วิทยากำมะลอ โดย Michael M. Ames

22 มีนาคม 2556

แนวคิดของพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่ อาทิ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิพิธภัณฑ์เมือง และความหมายของพิพิธภัณฑ์ที่ไอคอม (ICOM)นิยาม มีอิทธิพลอย่างมากต่อประเทศแถบตะวันตกในเรื่องการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรม แนวคิดดังกล่าวมีนัยยะสองประการ ประการแรกคือมองว่าคอลเล็กชั่นเป็นสิ่งสำคัญในเรื่องมรดกวัฒนธรรม ดังนั้นประชาชนจะต้องให้ความสนใจต่องานพิพิธภัณฑ์ ประการที่สอง งานพิพิธภัณฑ์เป็นสิ่งดีงามที่ทุกชุมชนควรยอมรับและปรารถนาจะได้มา บทความนี้พยายามจะแสดงให้เห็นว่า เมื่อฐานคิดสองประการดังกล่าวถูกนำไปใช้กับชุมชนท้องถิ่น จะก่อให้เกิดทัศนคติและผลที่ตามมาภายหลังอย่างไร และสนใจว่าอะไรที่ได้รับพิจารณาว่าเป็นมรดกอันทรงคุณค่า และอะไรคือบทบาทที่เหมาะสมของพิพิธภัณฑ์ โดยทั่วไปแล้วผู้ชมกลุ่มหลักของพิพิธภัณฑ์คือ คนชนชั้นกลางและชนชั้นสูง คำถามต่อมาคือ แล้วกลุ่มคนที่พิพิธภัณฑ์ไม่เคยสนใจมาก่อน พิพิธภัณฑ์ควรจะให้อะไรบ้างหรือไม่แก่คนในสังคมที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ คนชายชอบ พิพิธภัณฑ์กระแสหลักจะช่วยพัฒนาวัฒนธรรมคนกลุ่มน้อย คนยากจน หรือคนที่ถูกเลือกปฏิบัติได้อย่างไร? หลายคนกล่าวว่านักพิพิธภัณฑ์วิทยาเป็นเรื่องของคอลเล็กชั่นมากกว่าชุมชน ดังนั้นการที่จะเข้าไปช่วยพัฒนาให้ชุมชนสนใจงานวัฒนธรรมด้วยตนเองนั้น จำเป็นต้องมีฐานคิดและความชำนาญอีกอย่างหนึ่ง แม้ด้วยเจตนารมณ์อันดีของผู้เชี่ยวชาญด้านพิพิธภัณฑ์ ที่รับเอาแนวคิดของพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวมาใช้ อาจทำให้การทำงานกับชุมชนมีแนวโน้มที่จะปลอมแปลงข้อเท็จจริงของชุมชนด้วยการผลิตสร้างความคิดที่ว่า ชุมชนต้องพึ่งพาบริการจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ยิ่งผู้คนถูกกระตุ้นให้พึ่งพาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางมากเท่าใด พวกเขาก็จะยิ่งพัฒนาความคิดริเริ่มของตนเองได้น้อยลงเท่านั้น ดังนั้นการนำแนวคิดพิพิธภัณฑ์มาใช้กับชุมชนท้องถิ่นโดยปราศจากการปรึกษาหารือกันอย่างเหมาะสม อาจก่อให้เกิดภาวะพิพิธภัณฑ์วิทยากำมะลอได้ จากนี้ต่อไปบทความนี้จะพิจารณาถึงรูปแบบที่ผิดปกติของการสร้างภาพตัวแทนด้วยตนเอง (self- representation) ในบทความได้นำเสนอตัวอย่าง โครงการ Clemente Humanities Programme ของ Earl Shorris นักวิจัยด้านมนุษยศาสตร์ โครงการดังกล่าวเป็นการให้การศึกษาด้านมนุษยศาสตร์แก่ผู้ยากจนในเมือง โดยมีแรงบันดาลใจมาจากการที่เขาได้สัมภาษณ์ผู้หญิงคนหนึ่งที่เคยติดคุกและติดเชื้อเอชไอวี ทำให้เขาสะดุดคิดกับคำตอบของผู้หญิงคนนี้ที่พูดถึงโอกาสการเข้าถึงทรัพยากรและระดับชั้นทางสังคมมีผลต่อความยากจน การจะขจัดความยากจนได้ จะต้องสอนให้คนเหล่านั้นมีความรู้เกี่ยวกับหลักประพฤติสำหรับการใช้ชีวิตในเมือง (moral life of downtown) และวิธีหนึ่งที่จะให้ความรู้คือ พาไปชมการแสดงละคร พิพิธภัณฑ์ คอนเสิร์ต ฟังบรรยายทางวิชาการ ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการคิดตรึกตรอง เกิดบทสนทนา และการอภิปรายอย่างมีเหตุผล จากเรื่องราวดังกล่าว ทำให้ Shorris เริ่มโครงการ Clemente Humanities Programme ขึ้นในปี 1995 โดยสอนวิชาด้านมนุษยศาสตร์แก่เด็กวัยรุ่นผู้ยากไร้ในนิวยอร์ก 30 คน หลักการของโครงการดังกล่าวสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กว้างขวางรวมถึงงานพิพิธภัณฑ์ ที่ปรารถนาจะทำงานกับคนกลุ่มน้อย ผู้อ่อนแอ ผู้เสียเปรียบหรือไม่มีเสียงในสังคม เพราะการทำให้เกิดความตระหนักรู้เชิงวิพากษ์หรือกระบวนการสร้างมโนสำนึก (conscientization) เป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้ผู้ด้อยโอกาสสามารถมีพื้นที่ในประวัติศาสตร์ของพวกเขาเอง และแสดงตัวตนต่อผู้ที่มาครอบงำหรือกดบังคับ เอารัดเอาเปรียบ หรือมาครอบครองสิ่งที่เป็นภาพตัวแทนทางวัฒนธรรมของพวกเขา การมีโอกาสได้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ การแสดงโอเปร่า และงานศิลปะ เป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์การสร้างมโนสำนึก การมีจิตสำนึกและการสร้างภาพแทนของตนเอง สามารถเพิ่มอำนาจให้คนแสดงตัวตนในฐานะเป็นผู้กระทำ(agents) ต่อสู้เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับตนเอง ผลจากโครงการ Clemente Humanities Programme กลายเป็นตัวแบบก่อให้เกิดโครงการอื่น ๆ ตามมา ได้แก่ โครงการทดลอง Humanities 2 โครงการ ในเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา โครงการแรกเกิดในมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย ที่เปิดที่ให้คนที่ไม่ได้เรียนระดับมหาวิทยาลัยสามารถเข้าเรียนวิชาเรียนมนุษยศาสตร์เบื้องต้น 101 วิชานี้เปิดโอกาสให้คนที่มีรายได้น้อยหลายร้อยคนได้เรียนรู้ผลงานระดับคลาสสิกในสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ แม้วิชาดังกล่าวจะประสบความสำเร็จในแง่จำนวนผู้ลงทะเบียนเรียน แต่มันกลับมีผลเพียงเล็กน้อยต่อปัญหาทางสังคมโดยรวมของชุมชน อาทิ ความยากจน การติดยาเสพติด การไร้ที่อยู่ เป้าหมายโครงการที่ต้องการก่อให้เกิด การตระหนักรู้ด้วยตนเองและการสร้างภาพแทนด้วยตนเองจึงยังอยู่ห่างไกลมาก มหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบียตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ดั้งเดิมของชาว Musqueam คนพื้นเมืองของแคนาดา มหาวิทยาลัยจึงพยายามสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับคนพื้นเมืองนี้ขึ้น ก่อให้เกิดอีกหนึ่งโครงการ ซึ่งเป็นการเปิดวิชา Musqueam เบื้องต้น 101 ที่เปิดกว้างให้ทุกคนที่สนใจเข้าเรียน โดยเรียนกันที่ชุมชน Musqueam และมีชาว Musqueam เป็นผู้ประสานงานร่วมกับทางมหาวิทยาลัยด้วย ภายใต้หลักสูตรดังกล่าวทำให้ชาว Musqueam สนใจในประวัติศาสตร์ของพวกเขาเองมากเสียยิ่งกว่าการเรียนวิชาด้านสังคมศาสตร์ทั่วไป เพราะพวกเขามีเรื่องราวประวัติศาสตร์ของตนเองที่จะเล่ามากมาย นักวิชาการที่เป็นชนพื้นเมืองจากทั้งในและนอกมหาวิทยาลัยต่างสละเวลาให้กับการทำวิจัยเกี่ยวกับชุมชน มีการสัมมนานำเสนอผลงานวิจัย และเปิดงานด้วยการให้ลิ้มรสอาหารพื้นเมือง เมื่อเวลาผ่านไปหลายปี มีผู้เข้าเรียนมีความกล้ามากขึ้นเรื่อย ๆ ที่จะพูดถึงประวัติส่วนตัวและประวัติครอบครัวของพวกเขาว่ามีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ทางสังคมและการเมืองอย่างไร สภาปกครองท้องถิ่นและสมาชิกในชุมชนต่างให้การสนับสนุนโครงการนี้อย่างเต็มกำลัง วิชาMusqueam เบื้องต้น 101 ก่อให้เกิดกิจกรรมต่าง ๆ ในชุมชนตามมามากมาย อาทิ โครงการฝึกการเขียนอย่างสร้างสรรค์ งานเทศกาลปลูกฝังความเป็นผู้นำแก่เยาวชนพื้นเมือง เป็นต้น อย่างไรก็ดีกล่าวได้ว่าวิชา Musqueam เบื้องต้น 101 ประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับวิชามนุษยศาสตร์เบื้องต้น 101 แต่วิชาดังกล่าวส่งผลกระทบที่เป็นรูปธรรมเพียงเล็กน้อยต่อสวัสดิการโดยรวมของชุมชน ดังนั้นจะเห็นถึงขีดจำกัดของหลักสูตรที่ให้ความรู้ด้านวัฒนธรรมว่า การได้มาซึ่งทุนทางวัฒนธรรมโดยผ่านการร่ำเรียนจากตำรา อาจเป็นสิ่งจำเป็นต่อการสร้างความตระหนักรู้เชิงวิพากษ์และการสร้างภาพแทนตนเอง แต่ยังไม่เพียงพอ และการตระหนักรู้อย่างเดียวก็ไม่พอที่จะทำให้คนมีอิสรภาพ มีความเชื่อมั่นในตนเอง มีความสุขุม แต่ปฏิบัติการทางการเมืองในสังคมเท่านั้นที่สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ มิใช่แค่การศึกษาเชิงวิพากษ์ในห้องเรียน Shorris ผู้ริเริ่มโครงการ Humanities Programme บอกว่าจริง ๆ แล้วจุดประสงค์หลักของโครงการนี้ไม่ได้อยู่ที่การชี้นำประชาชน หากอยู่ที่การให้อำนาจแก่พวกเขา พวกเขาจะใช้อำนาจอย่างไร ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของพวกเขา ซึ่งฐานคิดในลักษณะนี้เกิดขึ้นน้อยมากในงานพิพิธภัณฑ์ เขายังบอกอีกว่าคนชายขอบเหล่านี้ถูกห้อมล้อมด้วย "แรงกดดัน" (surround of force) เช่น การโดนกีดกัน ความยากจน ความหิวโหย อาชญากรรม นโยบายรัฐ ฯลฯ คนเหล่านี้มีโอกาสจำกัดมากที่จะได้เข้าไปเรียนรู้การมีส่วนร่วมทางการเมือง และยากที่จะมีหนทางในการเอาชนะแรงกดดันรอบตัวเหล่านี้ Jane และ Conaty ได้บอกไว้ว่า บทบาทของพิพิธภัณฑ์ที่มีต่อสังคม คือ การเข้าไปมีส่วนช่วยในการคลี่คลายสถานการณ์การถูกเอารัดเอาเปรียบและจัดการกับแรงกดดันที่แวดล้อมของคนชายขอบเหล่านั้น ทั้งนี้มิได้หมายความว่าละทิ้งหน้าที่พิพิธภัณฑ์ที่เคยมีมา ซึ่งในบทความได้เสนอ 2 ตัวแบบ ให้พิพิธภัณฑ์พิจารณาเพื่อนำไปใช้ด้วยวิธีการทำงานแบบมีส่วนร่วมระหว่างพิพิธภัณฑ์กับชุมชน ตัวแบบแรกเป็นการทำงานร่วมกันอย่างเสมอภาพ และการให้ความเคารพต่อความรู้พื้นถิ่น ตัวแบบที่สองเป็นความสัมพันธ์กันลักษณะผู้เชี่ยวชาญเฉพาะกับลูกค้า (professional-client relationship) ลูกค้าก็คือชุมชน ที่อาจขอให้ผู้เชี่ยวชาญมาช่วยวางแผนออกแบบและจัดทำนิทรรศการ งานสำคัญอันดับแรกสำหรับการที่พิพิธภัณฑ์จะทำงานร่วมกับชุมชนคือ จะต้องพยายามให้ชุมชนเรียนรู้ถึงองค์ประกอบต่าง ๆ ในเมืองที่เกี่ยวข้องกับพวกเขาทั้งเรื่อง การกีดกันทางเชื้อชาติ การเลือกปฏิบัติ และสภาวะการเป็นคนกลุ่มน้อยในสังคม ส่วนงานที่ต้องทำควบคู่กันไปคือ การเสนอความช่วยเหลือให้แก่ชุมชนในการพัฒนาสิ่งที่ชุมชนระบุเองว่ามีความสำคัญต่อพวกเขา ท้ายที่สุดแล้วไม่ได้หมายความว่าให้นักพิพิธภัณฑ์วิทยาเลิกปฏิบัติสิ่งที่เคยทำกันมา ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการคอลเล็กชัน การตีความวัตถุ แต่ต้องการเรียกร้องให้บรรดานักพิพิธภัณฑ์วิทยาหยุดฟังเสียงของคนที่เราปรารถนาจะให้ความช่วยเหลือแก่เขา นี่อาจจะช่วยเปิดมุมมองให้แก่แนวคิดของพิพิธภัณฑ์ตะวันตกแบบดั้งเดิมได้ สรุปความจากบทความพิพิธภัณฑ์วิทยากำมะลอ โดย Michael M. Ames ในการประชุมเรื่อง พิพิธภัณฑ์กับชุมชน: มุมมองเปรียบเทียบข้ามพรมแดนวัฒนธรรม ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร กรุงเทพฯ วันที่ 28-29 กันยายน 2548.

พิพิธภัณฑ์เซ็กซ์ในจีน

25 มีนาคม 2556

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับเพศ อาทิเรื่องเพศที่ปรากฏอยู่บนสิ่งของเครื่องใช้ไม่ว่าจะเป็นพัด เครื่องสัมฤทธิ์ และเซรามิกที่วิจิตรงดงาม นอกจากนี้ยังมีลึงค์ที่แกะสลักบนแท่งหินและหยก สถานที่แห่งนี้แสดงเรื่องเพศวิถีที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 6 ,000 ปี ของประเทศที่ได้ชื่อว่ามีประชากรมากที่สุดในโลก หลิว ต้าหลิน อายุ 71 ปี ผู้ก่อตั้งและภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมทางเพศของจีน บอกว่าเขาต้องการนำเสนอ วัฒนธรรมที่เก่าแก่ของประเทศเกี่ยวกับเพศให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา ในห้วงเวลาที่จีนอยู่ภายใต้การปกครองแบบคอมมิวนิสต์ที่เข้มงวด หลังจากที่หลิวได้ต่อสู้เป็นแรมปีเพื่อให้พิพิธภัณฑ์เอกชนของเขาอยู่รอด หลิวจำต้องเก็บคอลเล็กชั่นของเขาทั้งหมด กว่า 3,700 ชิ้น ทั้งตุ๊กตาอีโรติก รูปภาพ และของกระจุกระจิกต่าง ๆ และย้ายตัวเองออกไปนอกเมือง หลิว เป็นนักสังคมวิทยาที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง และเกษียณอายุจากการเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้ เขากล่าวว่า สิ่งที่เขาทำไปทั้งหมดนี้ไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเลย "กว่า 15 ปีที่ผ่านมา เรามีผู้เข้าชมกว่า 100,000 คน ไม่เคยมีผู้ชมคนใดบอกว่ามันเลวร้าย ไม่มีใครเลยจริง ๆ พวกเขาเห็นว่ามันน่าภาคภูมิใจและยอมรับมัน แต่เจ้าหน้าที่รัฐบางคนกลัวว่าเรื่องเพศเป็นสิ่งอันตราย" หลิวให้สัมภาษณ์ในพิพิธภัณฑ์ของเขา ที่ตั้งอยู่ห่างไกลแหล่งท่องเที่ยวและช๊อปปิ้งนอกเมืองเซี่ยงไฮ้ แม้เซี่ยงไฮ้จะขึ้นชื่อลือชาว่าเป็นเมืองแห่งแสงสีและชีวิตกลางคืน เรื่องโป้เปลือยออนไลน์ สามารถเข้าถึงได้โดยไม่ยากเย็นอะไร แต่จินตนาการเรื่องการมีพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับเซ็กซ์กลับดูเป็นสิ่งแปลกปลอม หรือช็อคระบบคุณค่าของที่นี่ ทั้ง ๆ ที่เรื่องเซ็กซ์เห็นได้ทั่วไปในเมืองนี้ เช่น แผ่นป้ายโฆษณาของเสื้อผ้ายี่ห้อดังบนถนนนานจิง เป็นภาพวัยรุ่นสองคนใส่เสื้อผ้าโชว์เนื้อหนังมังสาและทำกริยาสวมกอดที่ดูเร่าร้อน หรือร้านเซ็กซ์ช๊อปที่เรียงรายไปด้วยผลิตภัณฑ์อย่างว่าบนถนนชานสี กล่าวได้ว่าเพียงแค่เดินบนถนนก็สามารถเรียนรู้เรื่องเซ็กซ์ได้แล้ว และเมื่อฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมาสถานีโทรทัศน์ในเซี่ยงไฮ้ก็ยังออกอากาศภาพยนตร์ซี่รี่ส์ที่เลียนแบบ "เซ็กซ์และเดอะซิตี้" ซี่รี่ส์ยอดฮิตของอเมริกา ธุรกิจการค้าบริการทางเพศในจีนรุ่งเรืองอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ในแถบเอเชีย การที่พวกผู้ชายมองหาร้านตัดผมเพียงเพื่อต้องการจะตัดผมจริง ๆ เพียงอย่างเดียว มากกว่าจะสนใจเรื่องการให้บริการเรื่องอย่างอื่นควบคู่กันไปด้วยคงเป็นเรื่องที่หาได้ยากไปซะแล้ว ปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร รวมถึงการตั้งครรภ์โดยไม่ได้ตั้งใจ จึงเพิ่มขึ้นตามมาเช่นเดียวกัน เพศวิถี : ทั้งรักทั้งชัง แม้การรณรงค์ต่อต้านเกี่ยวกับสิ่งพิมพ์ หรือการพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องเพศ เกิดขึ้นมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว ปัจจุบันเรื่องเพศวิถีในจีนยังมีความเห็นที่ขัดแย้งกันอย่างกว้างขวางในเรื่องนี้ เดือนที่ผ่านมานิทรรศการ "วัฒนธรรมทางเพศ" จัดขึ้นครั้งแรกที่ปักกิ่งถูกสั่งปิดหลังจากเปิดการแสดงได้เพียงวันเดียว เจ้าหน้าที่รัฐบอกให้ผู้จัดคือ หม่า เซี่ยวเหนี่ยน (Ma Xiaonian) ซึ่งเป็นนักบำบัดทางเพศ(sexual therapist) ให้นำวัตถุที่แสดงออกในเรื่องเพศอย่างโจ่งแจ้ง ออกไปจากนิทรรศการและห้ามไม่ให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้าชม เจ้าหน้าที่รัฐให้เหตุผลในเชิงความปลอดภัย โดยบอกว่าอาจเกิดสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยง หากผู้เข้าชมมีจำนวนมาก แต่สื่อของรัฐได้อ้างคำพูดของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานการวางแผนครอบครัวของรัฐบาลที่บอกว่า เจ้าหน้าที่ระดับสูงเกรงว่าผู้ชมบางคนอาจจะ "เข้าใจผิด" ต่อการจัดการแสดงแบบนั้น "ในจีน เซ็กซ์ยังคงถูกมองว่าเป็นเรื่องลามกสกปรก" นี่เป็นข้อเขียนในเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์พีเพิ่ลเดลี่ส์ หนังสือพิมพ์ของรัฐบาลคอมมิวนิสต์จีน สำหรับหลิว การเคลื่อนไหวของเขาครั้งนี้เป็นครั้งที่สองแล้ว เขาเคยตั้งพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับเพศขึ้นในปี 1999 บริเวณย่านการค้าสำคัญบนนถนนนานจิง ซึ่งถือเป็นตลาดระดับบนในเซี่ยงไฮ้ แต่เขาต้องย้ายออกไปในสองปีต่อมา เมื่อเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นห้ามไม่ให้เขาใช้สัญลักษณ์เกี่ยวกับเรื่อง "เพศ" "พวกเขาบอกว่าสัญลักษณ์ที่ปรากฏเกี่ยวกับเพศมันน่าเกลียด" หลิวกล่าว ปัจจุบันในสถานที่แห่งใหม่ที่อยู่ห่างไกลออกไปนอกเมือง หลิวสามารถใช้สัญลักษณ์เกี่ยวกับเพศได้ โดยเขานำคำว่า "ซิ่ง" (xing) ที่หมายถึง "เซ็กซ์" ในภาษาจีนมาใช้ โดยความหมายของคำนี้ลึกซึ้งมาก ซิ่งหมายความถึงการประสานกันระหว่าง "หัวใจ" และ "ชีวิต" เข้าไว้ด้วยกัน อย่างไรก็ดี ในที่ใหม่มีผู้เข้าชมเพียงไม่กี่สิบคนเท่านั้นในแต่ละวัน ในขณะที่หลิวต้องจ่ายค่าเช่าเดือนละกว่า 4,000 เหรียญสหรัฐฯ นอกจากนี้หลิวยังบอกอีกว่า เจ้าหน้าที่รัฐนอกจากจะไม่ช่วยเหลือแล้ว ยังขัดขวางไม่ให้พิพิธภัณฑ์ของเขาได้รับการรับรองให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกด้วย เจ้าหน้าที่ของเมืองได้ปฏิเสธคำขอของหลิว โดยให้เหตุผลว่าพิพิธภัณฑ์นี้เป็นเรื่องของ "ปัจเจกบุคคล" ก้าวใหม่ที่สดใส? หลิวใช้ชีวิตกว่า 20 ปี ในกองทัพจีน และอีก 12 ปี ในฐานะคนงานในโรงงาน ก่อนที่จะกลายเป็น นักสะสมและนักวิจัยเรื่องเพศ เขากล่าวว่าเขามองไปถึงการเริ่มต้นใหม่ที่สดใสเมื่อพิพิธภัณฑ์ของเขาจะเปิดตัวอีกครั้งในเดือนเมษายนนี้ในเมืองถงลี่(Tongli) เมืองที่มีแม่น้ำลำคลองและทิวทัศน์ที่งดงาม ห่างจากเซี่ยงไฮ้ไปทางตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 60 ไมล์ รัฐบาลท้องถิ่นได้ให้พื้นที่จัดแสดงแก่เขาในอาคารเก่าอายุกว่าร้อยปีที่ประกอบไปด้วย ลานโล่งเพื่อการจัดแสดงอีกด้วย ซึ่งต้องใช้เงินหลายพันเหรียญสหรัฐฯในการบูรณะ "ผมจะไม่ต้องอยู่อย่างลำบากอีกต่อไป จากนี้ไปจะต้องเป็นการปลดเปลื้องที่ยิ่งใหญ่" หลิวกล่าว "ผมจะสามารถแสดงคอลเล็กชั่นทั้งหมดของผมได้ และยังมีสวนที่จะ ใช้เป็นพื้นที่แสดงปฏิมากรรมต่าง ๆ ด้วย" หลิวบอกว่าทางเมืองคาดหวังให้พิพิธภัณฑ์เป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยว แต่เจ้าหน้าที่เมืองถงลี่ ดูจะอึดอัด เมื่อพูดถึงเรื่องนี้ "พิพิธภัณฑ์ก็คือพิพิธภัณฑ์ ทิวทัศน์ที่งดงามก็คือทิวทัศน์ที่งดวาม" เลขาธิการนายกเทศมนตรีที่บอกเพียงว่าแซ่ลี่ กล่าวว่า "เมืองถงลี่ไม่ต้องการให้พิพิธภัณฑ์เซ็กซ์เป็นสถานที่ดึงดูด นักท่องเที่ยวให้มาเมืองถงลี่อย่างแน่นอน" แปลและเรียบเรียง และภาพถ่าย จาก "6,000 Years of Sex at Chinese Museum" ใน http://msnbc.msn.com/id/3717283/

การก่อตัวของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นไทย ในบริบทของนโยบายรัฐ

24 มิถุนายน 2556

การพิจารณาถึงประวัติการก่อตัวพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในประเทศไทย พยายามที่จะสื่อให้เห็นถึงเงื่อนไข และบริบทบางประการที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการก่อเกิดพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่มีอยู่ด้วยกันหลายรูปลักษณ์ ซึ่งไม่อาจที่จะแบ่งช่วงเวลาได้อย่างชัดเจน เนื่องจากมีการเหลื่อมซ้อนในเรื่องของเวลาอยู่มาก แต่ก็พยายามที่จะลำดับภาพให้เห็นหลักเขตเด่น ๆ ในเชิงโครงสร้างว่า ในห้วงเวลาประมาณหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมานั้น “นโยบายของรัฐ” ผ่านหน่วยงานราชการและกลไกทางการต่าง ๆ ได้ให้ความสนใจแก่การเก็บรวบรวมวัตถุสิ่งของในท้องถิ่น และสนับสนุนให้เกิดพื้นที่ทางวัฒนธรรมใหม่ ๆ อย่างเช่น พิพิธภัณฑ์ ศูนย์วัฒนธรรม ศูนย์การเรียนรู้ ขึ้นตามหัวเมืองต่าง ๆ ในภูมิภาค และในระดับชุมชนในท้องถิ่นอย่างไร  วัตถุประสงค์ของการนำเสนอก็เพื่อให้เป็นภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ระดับมหภาค ซึ่งจะเชื่อมต่อกับรายละเอียดเฉพาะกรณีที่จะนำเสนอในส่วนต่อไป   การก่อตัวของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในระยะเริ่มแรก: พิพิธภัณฑสถานในวังและวัด เป็นการยากที่จะระบุอย่างชัดเจนว่าพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในไทยเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อใด หากเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในความหมายที่เกี่ยวพันกับมิติของพื้นที่ ซึ่งหมายถึงพิพิธภัณฑ์ที่ตั้งอยู่นอกเขตกรุงเทพฯ แล้ว มีประวัติย้อนไปในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยหัวเมืองมณฑลอยุธยาได้มีความเคลื่อนไหวในเรื่องพิพิธภัณฑสถานกล่าวคือ พระยาโบราณราชธานินทร์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลอยุธยา ผู้ซึ่งได้รับแนวคิดในเรื่องการสะสมอนุรักษ์สมบัติทางศิลปวัฒนธรรมของชาติให้คงไว้ในแผ่นดินมิให้สูญสลายหายไป จากสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพซึ่งดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในสมัยนั้น พระยาโบราณราชธานินทร์เป็นผู้หนึ่งที่สนใจด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี และเป็นผู้ที่ได้รวบรวมเก็บรักษาศิลปวัตถุและโบราณวัตถุในพื้นที่ไว้เป็นจำนวนมาก และจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานขึ้นมา ณ พระราชวังจันทรเกษม เรียกว่า “โบราณพิพิธภัณฑ” เมื่อปี พ.ศ. 2445 28 ปี หลังก่อตั้ง “มิวเซียม” ณ ศาลาสหทัยสมาคม ต่อมาเมื่อวันที่ 23กุมภาพันธ์ 2447 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเสด็จทอดพระเนตร และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ย้ายสิ่งของมาจากโรงม้าพระที่นั่งไปจัดแสดงที่พลับพลาจตุรมุข และสร้างระเบียงตามแนวกำแพงด้านทิศเหนือและตะวันออก สำหรับจัดตั้งศิลาจารึกและประติมากรรมศิลาตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ชื่อว่า “อยุธยาพิพิธภัณฑ”[1] พิพิธภัณฑสถานประจำท้องถิ่นที่เกิดขึ้นแห่งแรกนี้ กลายเป็นแบบอย่างของการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ให้กับสมุหเทศาภิบาลอื่น ๆ ในเวลาต่อมา[2] การรับรู้ความหมายและแนวคิดของพิพิธภัณฑ์ในยุคนั้น จึงเป็นเรื่องของการเก็บรวบรวมโบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่เป็น “ของมีค่าและของแปลก” เพื่อนำมาจัดแสดง การจะก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ได้ต้องมี “ของ” ก่อน ซึ่งแหล่งที่มีของมีค่าหรือโบราณวัตถุมากที่สุดในท้องถิ่นก็คือวัด เพราะวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชนมาแต่อดีต พุทธศาสนิกชนไทยมักจะบริจาคของให้วัด วัดจึงเป็นที่รวมของศิลปวัตถุและโบราณวัตถุในท้องถิ่น สิ่งของเครื่องใช้ ศิลปหัตถกรรมท้องถิ่น สมุหเทศาภิบาลจึงไปหาวัดสำคัญที่มีการเก็บสะสมของมีค่าไว้แล้วสนับสนุนให้จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ อาทิ วัดพระปฐมเจดีย์ วัดพระธาตุหริภุญไชย เป็นต้น[3] นอกจากนี้เป็นได้มากว่าการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ในหัวเมืองต่าง ๆ อีกนัยหนึ่งเป็นเครื่องมือสนับสนุนความพยายามของผู้ปกครองไทย ที่ต้องการแสดงถึงการเป็นชาติที่มีอารยะในยุคที่กำลังเผชิญหน้ากับลัทธิจักรวรรดินิยม เมื่อส่วนกลางส่งต่อแนวคิดและวิธีการจัดการพิพิธภัณฑ์ผ่านผู้ปกครองในท้องถิ่นเข้ามายังวัดสำคัญ ๆ ที่มีของมีค่าสะสม การก่อตัวและแพร่กระจายของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในไทยในระยะแรกจึงเกิดขึ้นในวัด และได้แพร่ขยายต่อไปทั่วประเทศ อาทิ พระปฐมเจดีย์พิพิธภัณฑสถาน จังหวัดนครปฐม (พ.ศ. 2454)[4] พิพิธภัณฑสถานวัดพระธาตุหริภุญไชย จังหวัดลำพูน (พ.ศ. 2470)[5] พิพิธภัณฑสถานวัดมหาธาตุวรวิหาร จังหวัดเพชรบุรี (พ.ศ. 2472)[6] พิพิธภัณฑ์วัดพระบรมธาตุไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี (พ.ศ. 2478)[7]  ศรีธรรมราชพิพิธภัณฑสถาน จังหวัดนครศรีธรรมราช (พ.ศ. 2480)[8] พิพิธภัณฑ์วัดพระพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก (พ.ศ. 2480)[9] พิพิธภัณฑ์วัดโบสถ์ จังหวัดสิงห์บุรี (พ.ศ. 2482)[10] พิพิธภัณฑ์วัดมัชฌิมาวาส จังหวัดสงขลา (พ.ศ. 2483)[11] พิพิธภัณฑ์วัดสุทธจินดา จังหวัดนครราชสีมา (พ.ศ. 2497)[12] เป็นต้น ซึ่งพิพิธภัณฑ์วัดเหล่านี้ ต่อมาได้ถูกประกาศเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2504 ตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา ด้วยเหตุผลต่าง ๆ ด้านสังคมวัฒนธรรมและเงื่อนไขทางการเมือง ซึ่งซับซ้อนเกินกว่าที่จะบรรยายในที่นี้ ทำให้เกิดนโยบายพัฒนาจากหน่วยงานของรัฐหลายหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดพิพิธภัณฑ์ หรือศูนย์วัฒนธรรมขึ้นในท้องถิ่น นโยบายการพัฒนาวัดของกรมศาสนาก็เป็นนโยบายหนึ่ง โดยการประกาศใช้ปี พ.ศ.2507 และปรับปรุงร่างโครงการอีกครั้งในปี พ.ศ. 2513 ความหมายของการพัฒนาวัดคือ การปรับปรุงสภาพวัดและการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของวัด เพื่อสนับสนุนให้วัดมีความเจริญรุ่งเรืองและเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชน เกณฑ์การจัดวัดเข้าสู่ทำเนียบ “วัดพัฒนาตัวอย่าง” การพัฒนาด้านศาสนวัตถุเป็นหนึ่งในหน้าที่ของวัดที่ต้องทำ พันธกิจหนึ่งก็คือ การพัฒนาเขตสาธารณสงเคราะห์ ซึ่งเป็นบริเวณที่วัดกันไว้เพื่อสงเคราะห์แก่ประชาชน  การสร้างแหล่งเรียนรู้ของชุมชนนอกเหนือจากโรงเรียนพระปริยัติธรรมและห้องสมุดแล้ว พิพิธภัณฑ์ก็อยู่ในขอบข่ายงานนี้[13] จากนั้นในปี พ.ศ. 2525 กรมการศาสนาได้ประกาศโครงการพัฒนาวัดให้เป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมของท้องถิ่น โดยให้เริ่มเปิดดำเนินการภูมิภาคละหนึ่งแห่ง จำนวน 4 แห่งทั่วประเทศ ศูนย์ฯ แห่งแรกคือ ที่วัดมหาชัย จังหวัดมหาสารคาม[14] ชื่อว่า “ศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” ซึ่งวัดมหาชัยก็มีความพร้อมอยู่ในระดับหนึ่งอยู่แล้ว เนื่องจากเจ้าอาวาสได้เก็บรวบรวมโบราณวัตถุและตั้งเป็นศูนย์วัฒนธรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ก่อนแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ.2513[15]   พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในสถานศึกษา ราวต้นทศวรรษที่ 2520 เกิดปรากฏการณ์การเกิดขึ้นของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นระลอกใหม่ นั่นคือ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในสถาบันการศึกษา สืบเนื่องมาจากนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) โดยหลังจากที่ได้มีการจัดตั้งสวช. ตามพระราชบัญญัติสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2522 แล้ว ได้จัดให้มีการก่อตั้ง “ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาวัฒนธรรม” ขึ้นในสถานศึกษาทั่วประเทศ เพื่อให้การปฏิบัติงานด้านการอนุรักษ์ส่งเสริมเผยแพร่และพัฒนาวัฒนธรรมของชาติดำเนินไปได้อย่างกว้างขวางและมีประสิทธิภาพ โดยให้พิจารณาจัดตั้งขึ้นในสถาบันที่มีความพร้อมโดยเฉพาะควรเป็นสถาบันการศึกษา และมีบุคลากรพร้อมที่จะปฏิบัติงานได้[16] ต่อมาในปี 2524 ได้มีการยกเลิกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาวัฒนธรรม พ.ศ. 2523 และประกาศใช้ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยศูนย์วัฒนธรรม พ.ศ. 2524 แทน เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2524 ซึ่งตามระเบียบนี้มีผลให้ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาวัฒนธรรมเปลี่ยนชื่อเป็น “ศูนย์วัฒนธรรม” และเพื่อให้ทราบว่าศูนย์วัฒนธรรมนั้น ๆ ตั้งอยู่ที่ใด การเขียนชื่อศูนย์วัฒนธรรม จึงใช้คำว่า ศูนย์วัฒนธรรมขึ้นต้น ตามด้วยจังหวัดหรืออำเภอ แล้วตามด้วยชื่อสถานศึกษาที่จัดตั้งเป็นศูนย์ฯ นั้น ๆ เช่น ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดกาญจนบุรี วิทยาลัยครูกาญจนบุรี เป็นต้น[17] ที่มาของการใช้คำว่า “ศูนย์วัฒนธรรม” เนื่องมาจากสวช.พยายามจะนิยามความหมายและหน้าที่ของศูนย์วัฒนธรรมให้แตกต่างจากความหมายพิพิธภัณฑ์ และสภาพของพิพิธภัณฑ์ที่เป็นอยู่ในตอนนั้นที่เป็นสถานที่หรือเป็นคลังสะสมวัตถุสิ่งของ ละเลยการเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของประชาชน มุ่งรับใช้นักวิชาการมากกว่าคนทั่วไปที่ไม่ได้มีความรู้ลึกซึ้ง โดยศูนย์วัฒนธรรมนอกจากจะจัดแสดงของ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นของจริงแต่อาจจะจำลองมา ทำให้ไม่ต้องผูกพันกับการมีคลังสะสมของและงานอนุรักษ์ และยังมีกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสารที่ทางศูนย์วัฒนธรรมต้องการจะสื่อ[18] ในปี พ.ศ.2531 ได้มีการประกาศใช้ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยศูนย์วัฒนธรรม พ.ศ. 2531 ซึ่งประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 20กันยายน พ.ศ. 2531 โดยมีการจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมอำเภอขึ้นด้วยในอำเภอต่าง ๆ ที่มีความพร้อมและเหมาะสม[19] ส่วนใหญ่จัดตั้งที่โรงเรียนมัธยมประจำอำเภอ เพื่อทำหน้าที่ทางด้านวิชาการในการเก็บข้อมูล วิจัย ศึกษา พัฒนา ส่งเสริมและเผยแพร่วัฒนธรรมของท้องถิ่นต่าง ๆ ในอำเภอ[20] ศูนย์วัฒนธรรมมีหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยศูนย์วัฒนธรรม พ.ศ. 2531 ดังนี้ 1)  ศึกษา ค้นคว้า วิจัย และรวบรวมข้อมูลวัฒนธรรม 2)  อนุรักษ์ ส่งเสริม พัฒนา และเผยแพร่วัฒนธรรม 3)  ฝึกอบรมและสนับสนุนการฝึกอบรมวิทยากรและบุคลากรวัฒนธรรม 4)  จัดนิทรรศการด้านวัฒนธรรมและหรือจัดดำเนินการหอวัฒนธรรม 5)  ประสานงานและสนับสนุนการดำเนินงานวัฒนธรรมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่นทั้งภาครัฐและเอกชน 6)  หน้าที่อื่น ๆ ที่ได้รับมอบหมายจาก สวช. คณะอนุกรรมการวัฒนธรรมจังหวัด หรือคณะกรรมการวัฒนธรรมอำเภอแล้วแต่กรณี[21] แม้ว่าสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติจะพยายามส่งเสริมและพัฒนาศูนย์วัฒนธรรมมาโดยตลอด โดยมีการปรับปรุงแก้ไขระเบียบว่าด้วยศูนย์วัฒนธรรมหลายครั้ง และมีการจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ขณะนี้มี 77 ศูนย์ครบทุกจังหวัด[22] แต่ศูนย์วัฒนธรรมกลับไม่สามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ ด้วยเงื่อนไขหลายประการ ศูนย์วัฒนธรรมกลายเป็น “งานฝาก” ของสถาบันการศึกษา บุคลากรที่จะมารับผิดชอบโดยตรงไม่มี มีงบประมาณสนับสนุนน้อยมาก[23] สถานที่ที่จะจัดเป็นศูนย์วัฒนธรรมต้องอาศัยห้องเรียน ซึ่งบางแห่งมีปัญหาเนื่องจากจำนวนห้องเรียนไม่เพียงพอต่อการเรียนการสอนอยู่ก่อนแล้ว รวมถึงโครงสร้างของระบบราชการที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการบริหารจัดการ[24] แม้ตอนก่อตั้งเริ่มแรก ศูนย์วัฒนธรรมพยายามจะนิยามความหมายของตนให้แตกต่างไปจากพิพิธภัณฑสถานของรัฐที่เป็นเสมือนคลังสะสมของ เป็นพิพิธภัณฑ์ที่หยุดนิ่ง ไม่มีชีวิต มีคนไปใช้บริการค่อนข้างน้อย แต่กาลต่อมาปรากฏว่าศูนย์วัฒนธรรมไม่สามารถพัฒนาตัวเองได้อย่างเต็มที่เพื่อให้สามารถทำหน้าที่ตามวัตถุประสงค์ที่วางเอาไว้   พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น : ปฏิกิริยาต่อกระแสโลกาภิวัตน์ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเริ่มได้รับการกล่าวถึงขึ้นมาอีกครั้งในช่วงกลางปี พ.ศ. 2530 โดยความเคลื่อนไหวงานด้านพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในครั้งนี้ไม่ได้มาจากกลไกภาครัฐ แต่เป็นกลไกนอกภาครัฐคือ ชาวบ้านและนักวิชาการ ปัญญาชนชั้นนำ กลุ่มของอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม และมูลนิธิประไพ วิริยะพันธุ์ ซึ่งเข้าไปมีส่วนกระตุ้นและช่วยเหลือชาวบ้านในการตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น เพื่อให้คนในท้องถิ่นได้รู้จักตนเอง โดยมีแนวคิดว่าพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นมิใช่เรื่องของอาคารสถานที่และบรรดาโบราณวัตถุแต่เพียงอย่างเดียวใด หากจะต้องสัมพันธ์กับเนื้อหาทั้งในด้านประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์สังคม และชีวิตวัฒนธรรมของผู้คนที่อยู่ตามชุมชนต่าง ๆ ในพื้นที่หรือท้องถิ่นเดียวกัน ทั้งนี้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์สังคมและชีวิตวัฒนธรรมของผู้คนในท้องถิ่นจะเป็นตัวตั้งหรือเป็นสิ่งกำหนดว่า จะนำโบราณวัตถุชนิดใดมาแสดง ทิศทางและหัวข้อในการแสดง และเป็นสิ่งที่แสดงลักษณะเฉพาะที่มักเรียกกันว่า “เอกลักษณ์ท้องถิ่น” ซึ่งสิ่งนี้จะนำไปสู่การแลเห็นความหลากหลายทางวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อม เมื่อมีการนำเอาเนื้อหาของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นแต่ละแห่งมาเปรียบเทียบกัน[25] โดยเนื้อหาจะเน้นองค์รวม คือมองเห็นชุมชนเชื่อมโยงกันหลาย ๆ ส่วน กลายมาเป็นท้องถิ่น ซึ่งท้องถิ่นคืออาณาบริเวณแห่งหนึ่งที่มีมนุษย์ พืช สัตว์ ดำรงชีวิตอยู่ร่วมกัน ทำให้มนุษย์ต้องปรับตัวเองกับสภาพแวดล้อมเพื่อมีชีวิตอยู่ร่วมกัน กระบวนการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมดังกล่าว ทำให้เกิดรูปแบบทางวัฒนธรรมแตกต่างไปจากท้องถิ่นอื่นที่มีสภาพแวดล้อมธรรมชาติแตกต่างกันออกไป ซึ่งผู้ที่จะเข้าใจรูปแบบวัฒนธรรมดังกล่าวได้อย่างถูกต้องและลุ่มลึก คงไม่มีใครดีไปกว่าคนในท้องถิ่นนั้น การดำเนินการจัดพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในรูปแบบนี้ จึงยึดความต้องการจากคนในท้องถิ่นมาก่อน และการได้มาซึ่งเนื้อหาในเรื่องที่จะแสดงนั้นนับเป็นการเรียนรู้ร่วมกัน ระหว่างชาวบ้านและนักวิชาการ ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้มองวัฒนธรรมอย่างหยุดนิ่งว่าจะต้องอนุรักษ์ แต่มองในลักษณะเป็นการเคลื่อนไหว พิพิธภัณฑ์จะต้องเล่าเรื่องอดีต ปัจจุบัน และสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงในอนาคตด้วย เพื่อให้เห็นพัฒนาการของชุมชนในท้องถิ่นนั้น ๆ ว่ามีความเป็นมาอย่างไร มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร และในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร[26] แนวคิดดังกล่าวเป็นการหวนหาความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการตอบโต้ต่อกระแสโลกาภิวัตน์ ที่พยายามเปลี่ยนให้โลกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในทุก ๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม  พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นจึงเป็นการเปิดพื้นที่ใหม่ให้กับท้องถิ่นในการสร้างความมีตัวตนของตนเองขึ้นผ่านพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น  ซึ่งก็ได้รับการตอบสนองจากชาวบ้านและนักวิชาการในท้องถิ่น ที่ต้องการแสดงอัตลักษณ์ของตนเอง ที่แตกต่างไปจากภาพของประวัติศาสตร์วัฒนธรรมท้องถิ่นฉบับทางการที่ผลิตมาจากศูนย์กลาง ตัวอย่างของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นตามแนวคิดนี้ ได้แก่ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง จังหวัดราชบุรี ที่ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2535 โดยการสนับสนุนของมหาวิทยาลัยศิลปากร[27] เป็นตัวอย่างแรก ๆ ของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นตามแนวคิดดังกล่าว และกลายเป็นแบบอย่างการดำเนินงานของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นตามแนวคิดนี้ที่เกิดขึ้นตามมา อาทิ พิพิธภัณฑ์วัดจันเสน จังหวัดนครสวรรค์ (พ.ศ. 2538)[28] พิพิธภัณฑ์บ้านเขายี่สาร จังหวัดสมุทรสงคราม (พ.ศ. 2539)[29] พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นบ้านหนองขาว จังหวัดกาญจนบุรี (อยู่ในระหว่างดำเนินการ) เป็นต้น เป็นที่น่าสังเกตว่าพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่เกิดขึ้นเวลานี้ยังไม่พ้นที่จะเกิดขึ้นจากพระสงฆ์และวัด ในขณะที่สังคมมักเชื่อกันว่าวัดได้ถูกลดทอดบทบาทจากการเป็นศูนย์กลางในการสร้าง แลกเปลี่ยน และพัฒนาชีวิตทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นมากว่าศตวรรษแล้ว ในขณะเดียวกันการจัดประชุมสัมมนาเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นของหน่วยงานต่าง ๆ ก็มีส่วนทำให้บรรยากาศของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเริ่มมีความคึกคักมากขึ้น อาทิ งานสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในประเทศไทย” จัดโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (พ.ศ. 2539) “สัมมนาเชิงปฏิบัติการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น” จัดโดยมูลนิธิประไพ วิริยะพันธุ์ (พ.ศ. 2539) “สัมมนาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในเขตภาคเหนือตอนบน” จัดโดยมูลนิธิประไพ วิริยะพันธุ์ (พ.ศ. 2540) “สัมมนาพิพิธภัณฑ์ไทยในศตวรรษใหม่” จัดโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรร่วมกับสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล (พ.ศ. 2544) เป็นต้น การสัมมนาดังกล่าวก่อให้เกิดบรรยากาศที่จะกระตุ้นให้นักวิชาการทั้งในส่วนกลาง นักวิชาการท้องถิ่น สถาบันการศึกษา รวมถึงชุมชน มีความตื่นตัวและสนใจงานด้านพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นมากขึ้น   อำนาจของท้องถิ่นในการจัดการพิพิธภัณฑ์ พลังของภาคประชาชนเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญต่องานพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นมากขึ้น เมื่อสังคมไทยมีการปฏิรูปกฎหมายครั้งสำคัญที่ยอมรับสิทธิของชุมชนมากขึ้น ทั้งพระราชบัญญัติสภาตำบล และองค์การบริหารส่วนตำบลที่ประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2537 สาระสำคัญคือการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น โดยหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่นข้อหนึ่งระบุไว้คือ บำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น และรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2540 ตามมาตรา 46 ที่ให้สิทธิแก่ท้องถิ่นในการจัดการอนุรักษ์และฟื้นฟูจารีตประเพณีท้องถิ่นด้วยตนเอง บริบทที่เปลี่ยนไปนี้เปิดช่องทางให้กับการสร้างแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมในรูปของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นได้สะดวกขึ้น พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกลายเป็นองค์กรที่ต้องเกิดขึ้นตามเงื่อนไขและบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปรไป ความอยากมีพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นรวมทั้งสำนึกร่วมของชุมชนที่อยากเป็นตัวของตัวเองนั้นมีมากจนกลายเป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่งในสังคมไทย ณ ปัจจุบัน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นหลายแห่งเกิดขึ้นจากการได้รับงบสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนตำบล ทั้งนี้การให้งบประมาณสนับสนุนโครงการกิจกรรมต่าง ๆ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีงบประมาณหมวดที่เรียกว่าเงินอุดหนุน โดยการตั้งงบประมาณหมวดเงินอุดหนุนนี้ ไม่ได้มีการกำหนดวงเงินเอาไว้ แต่คำนึงถึงฐานะการคลังขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่น และโครงการกิจกรรมดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายประจำปี[30] พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่ได้รับเงินสนับสนุนจากเทศบาลตำบล เช่น ศูนย์อนุรักษ์มรดกท้องถิ่นกะทู้ จังหวัดภูเก็ต ได้รับงบประมาณอุดหนุนการดำเนินงานจากเทศบาลตำบลกะทู้ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านละงู จังหวัดสตูล ได้รับเงินสนับสนุนการก่อสร้างอาคารจัดแสดงจากเทศบาลตำบลกำแพง อำเภอละงู พิพิธภัณฑ์พธำมะรงค์ จังหวัดสงขลา ที่ดำเนินงานและบริหารจัดการโดยเทศบาลนครสงขลา[31] ในขณะเดียวกันพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นบางแห่งที่เกิดขึ้นจากการสนับสนุนขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่น นอกจากจะการสร้างให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของคนในท้องถิ่นแล้ว ยังคำนึงถึงผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวตามกระแสส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นกระแสหลักของสังคมไทยในเวลานี้ อาทิเช่น พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านละงู ชั้นล่างของอาคารทำเป็นศูนย์บริการท่องเที่ยวเทศบาลตำบลกำแพง  พิพิธภัณฑ์พธำมะรงค์เป็นศูนย์บริการข้อมูลการท่องเที่ยวของจังหวัดสงขลา เหตุผลหนึ่งที่อธิบายได้คือ หน้าที่ข้อหนึ่งในบทบัญญัติตามกฎหมายของเทศบาลนคร คือการส่งเสริมกิจการการท่องเที่ยว พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นจึงถูกผนวกรวมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของแผนส่งเสริมการท่องเที่ยวของเทศบาล หน้าที่อีกประการหนึ่งขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลข้อหนึ่งคือ ส่งเสริมการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ทำให้อบต.เข้าไปผูกพันกับงานด้านสร้างแหล่งเรียนรู้ให้กับชุมชนด้วย นั่นคือการจัดให้มีศูนย์การเรียนรู้ชุมชน (ศรช.) ตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปการศึกษา พ.ศ. 2542  “ศรช.” ถือเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นอีกลักษณะหนึ่ง โดยมี อบต.เป็นผู้กำกับดูแล และมีศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนเป็นผู้สนับสนุนส่งเสริม วัตถุประสงค์หลักคือเพื่อเป็นศูนย์กลางจัดการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับประชาชนในชุมชน เป็นสถานที่เสริมสร้างโอกาสการเรียนรู้ ถ่ายทอด และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ วิทยาการ ตลอดจนภูมิปัญญาของชุมชน นอกจากนี้ยังมีกลไกใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของภาครัฐและนอกภาครัฐ เข้ามาเป็นเฟืองจักรที่สำคัญในการขับเคลื่อนการสร้างแหล่งเรียนรู้ในรูปของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นให้แพร่กระจายลงสู่ท้องถิ่น อาทิ โครงการปฏิบัติการชุมชนและเมืองน่าอยู่ ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2545 อันเป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) มูลนิธิชุมชนไท สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายองค์กรชุมชนเมือง โดยเมืองน่าอยู่นั้นจะต้องมีลักษณะเป็นองค์รวมที่หลากหลาย ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และกายภาพ[32]  ซึ่งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นก็ถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งของ “เมืองน่าอยู่” พิพิธภัณฑ์ที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการนี้ อาทิ พิพิธภัณฑ์วัดเกตุการาม จังหวัดเชียงใหม่ พิพิธภัณฑ์ชุมชน อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นต้น[33] นอกจากนี้สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) ซึ่งเคยมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการสร้างแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมในท้องถิ่น ได้มีแนวนโนบายเกี่ยวกับการส่งเสริมการสร้างแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมออกมา ซึ่งก็สอดรับกับนโยบายในการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นของรัฐ โดยส่วนไทยนิทัศน์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้จัดตั้ง “หอวัฒนธรรมนิทัศน์” ขึ้นในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ ในปี พ.ศ. 2537 เพื่อสนองตอบนโยบายการกระจายอำนาจการบริหารงานวัฒนธรรม การขยายเครือข่ายการดำเนินงานวัฒนธรรมให้แพร่หลาย[34] โดยสวช. พยายามให้ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ดังนโยบายที่ว่า “…มีแนวนโยบายในการสนับสนุนส่งเสริมการดำเนินงานวัฒนธรรมในรูปแบบต่างๆ รวมไปถึงการส่งเสริมสนับสนุนให้มีการจัดตั้งหอวัฒนธรรมนิทัศน์ในส่วนภูมิภาค ซึ่งต้องเกิดจากการรวมตัวของประชาชนที่เป็นเจ้าของท้องถิ่นนั้นๆ และให้ท้องถิ่นได้รับผิดชอบการศึกษา การจัดตั้งและบริหารงานต่าง ๆ ด้วยตนเอง เพื่อเป็นแหล่งกลางในการเรียนรู้วิถีชีวิตและภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างเป็นรูปธรรม….”[35] สวช.พยายามสร้างให้หอวัฒนธรรมนิทัศน์ เป็นศูนย์กลางในการศึกษา ค้นคว้า รวบรวมและถ่ายทอดวิถีชีวิตของคนในชุมชนท้องถิ่น โดยการสร้างความมั่นใจให้คนในชุมชนท้องถิ่นนั้น ๆ ให้รวมตัวกันทำการศึกษาค้นคว้า เก็บข้อมูล และนำเสนอเรื่องราววิถีชีวิตของตน ซึ่งจะก่อให้เกิดการเรียนรู้ เกิดความเข้าใจในการดำเนินชีวิตของท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น[36] พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในรูปแบบของหอวัฒนธรรมนิทัศน์ จึงเป็น “แหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต” อันสอดคล้องกับนโยบายการปฏิรูปการศึกษา ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตราที่ 25 ที่รัฐต้องส่งเสริมการดำเนินงานและการจัดตั้งแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตทุกรูปแบบ ได้แก่ ห้องสมุดประชาชน พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ สวนสัตว์ สวนสาธารณะ สวนพฤกษศาสตร์ อุทยาน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศูนย์การกีฬา และนันทนาการ แหล่งข้อมูลและแหล่งเรียนรู้อย่างพอเพียงและมีประสิทธิภาพ[37] ข้อมูล ณ ปี พ.ศ. 2544 เครือข่ายหอวัฒนธรรมนิทัศน์ทั่วประเทศมีทั้งสิ้น 44 แห่ง มีทั้งที่จัดตั้งขึ้นใหม่ เช่น หอวัฒนธรรมนิทัศน์วัดศรีโคมคำ จังหวัดพะเยา หอวัฒนธรรมนิทัศน์เฉลิมพระเกียรติกาญจนาภิเษก จังหวัดเชียงราย หอวัฒนธรรมนิทัศน์ลุ่มน้ำโขง จังหวัดนครพนม เป็นต้น บางแห่งเป็นศูนย์วัฒนธรรมจังหวัด หรือเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นอยู่แล้ว แต่เมื่อมาเข้าร่วมโครงการอบรมผู้บริหารหอไทยนิทัศน์ จึงถือเป็นเครือข่ายหอวัฒนธรรมนิทัศน์ด้วย เช่น ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดตราด โรงเรียนสตรีประเสริฐศิลป์ ศูนย์วัฒนธรรมโรงเรียนบางพลีราษฎร์บำรุง จังหวัดสมุทรปราการ พิพิธภัณฑ์วัดคลองท่อม จังหวัดกระบี่ หอวัฒนธรรมบ้านละไม เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดฝั่งคลอง (ไทยพวน) จังหวัดนครนายก เป็นต้น[38] ศูนย์บูรณาการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชม เป็นอีกโครงการของสวช. ที่เชื่อมโยงกับงานพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น โครงการดังกล่าวออกมาในปี พ.ศ. 2546 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม สนับสนุน การสืบค้น การถ่ายทอด การเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและการนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนด้วยวัฒนธรรม โดยการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเป็นองค์ประกอบหนึ่งในหกส่วนของศูนย์บูรณาการวัฒนธรรมสายใยชุมชนนี้ สวช.ได้ตั้งเป้าไว้ว่าหลังจากที่ตั้งศูนย์บูรณาการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนครบทุกจังหวัดแล้ว จะเตรียมขยายศูนย์ให้ครบทุกอำเภอ ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มจัดตั้งแล้ว 5 ศูนย์ ใน 5 อำเภอของจังหวัดนครปฐม สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ลพบุรี และเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2548 เตรียมขยายไปทุกตำบล[39] ซึ่งถ้าเป็นไปตามแผนงานที่สวช.ตั้งไว้ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่กำลังจะเกิดขึ้นมาเป็นจำนวนมากนี้จะกลายเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของสังคมไทย   [1] กรมศิลปากร กองพิพิธภัณฑ์สถาน, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2532), หน้า 132. [2] สมลักษณ์  เจริญพจน์, “พัฒนาการพิพิธภัณฑสถานตามแนวพระราชดำริ”, ใน พระมหากษัตริย์ไทยกับการพิพิธภัณฑ์, (กรุงเทพฯ: บริษัทกราฟิคฟอร์แมท(ประเทศไทย) จำกัด, 2539), หน้า 58. [3] กรมศิลปากร กองพิพิธภัณฑ์สถาน, เรื่องเดิม, หน้า 147,174. [4] เรื่องเดียวกัน, หน้า 147. [5] เรื่องเดียวกัน, หน้า 174. [6] สมลักษณ์  เจริญพจน์, เรื่องเดิม, หน้า 78. [7] กรมศิลปากร กองพิพิธภัณฑ์สถาน, เรื่องเดิม, หน้า 209. [8] พระสุทธิสารสุธี ศรีสงคราม, วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช, (มปพ.มปป.). [9] สมลักษณ์  เจริญพจน์, เรื่องเดิม, หน้า 85. [10] กรมศิลปากร กองพิพิธภัณฑ์สถาน, เรื่องเดิม, หน้า 138. [11] กรมศิลปากร, ประวัติวัดมัชฌิมาวาสและนำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มัชฌิมาวาส(ภัทรศีลสังวร), (เอกสารประกอบเนื่องในโอกาสสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงศพ พระเทพวิสุทธิคุณ(เลี่ยม อลีนเถร) และพระราชศีลสังวร(ช่วง อตฺถเวที) อดีตเจ้าอาวาสวัดมัชฌิมาวาส วันที่ 28 สิงหาคม 2525). [12] กรมศิลปากร กองพิพิธภัณฑ์สถาน, เรื่องเดิม, หน้า 195. [13] กรมการศาสนา กองพุทธศาสนสถาน, วัดพัฒนา ’26, ( กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์การศาสนา, 2526), หน้า 191–192. [14] กรมการศาสนา กองพุทธศาสนสถาน, เรื่องเดียวกัน, หน้า 40–41. [15] ข้อมูลจากการประชุมเครือข่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) จัดโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร  ระหว่างวันที่ 27–28ธันวาคม 2546 ณ จังหวัดมหาสารคาม. [16] ดำรง ทองสม, “ศูนย์วัฒนธรรม”, ใน สู่โฉมหน้าใหม่ของวัฒนธรรมกับการพัฒนา, (กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ, 2532), หน้า 91–92. [17] เรื่องเดียวกัน, หน้า 91. [18] หน่วยศึกษานิเทศก์ กรมการฝึกหัดครู, รายงานผลการสัมมนาเรื่อง ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมในฐานะพิพิธภัณฑ์เมือง, (หอประชุมศูนย์ศิลปวัฒนธรรมอีสานใต้ สถาบันราชภัฏบุรีรัมย์ วันที่ 18–20 สิงหาคม 2536), หน้า 15–17. [19] ดำรง  ทองสม, เรื่องเดิม, หน้า 92. [20] พยุงศักดิ์  จันทรสุรินทร์, วิสัยทัศน์การดำเนินงานวัฒนธรรม, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภา, 2539), หน้า 27. [21] ดำรง  ทองสม, เรื่องเดิม, หน้า 92. [22] พยุงศักดิ์  จันทรสุรินทร์, เรื่องเดิม, หน้า 26. [23] หน่วยศึกษานิเทศก์ กรมการฝึกหัดครู, เรื่องเดิม, หน้า 12–13. [24] ข้อมูลจากการประชุมเครือข่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น (ภาคใต้) จัดโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ระหว่างวันที่ 7-8 กุมภาพันธุ์ 2547 ณ จังหวัดนครศรีธรรมราช. [25] ศรีศักร  วัลลิโภดม, “พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น: กระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน”, ใน เอกสารประกอบการสัมมนา พิพิธภัณฑ์ไทยในศตวรรษใหม่, (กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2544), หน้า 2. [26] ศรีศักร  วัลลิโภดม. เอกสารรายงานการสัมมนาเชิงปฏิบัติการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น. (วันที่ 7-9 กันยายน 2539  จัดโดยมูลนิธิประไพ วิริยะพันธุ์, 2539), หน้า 4. [27] มหาวิทยาลัยศิลปากร, พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถเจริญพระชนมพรรษา 5 รอบ, (กรุงเทพฯ:มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2535). [28] ข้อมูลจากการสัมมนาเนื่องในวาระขึ้นรอบปีที่ 5 พิพิธภัณฑ์จันเสน เรื่อง ความรู้และความเข้าใจใหม่จากการดำเนินงานพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ณ ศาลาประชาชนวัดจันเสน อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ วันที่ 28 ตุลาคม 2543 ณ ศาลาประชาชนวัดจันเสน อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์. [29] ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน), สังคมและวัฒนธรรมชุมชนคนยี่สาร, (กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2545), หน้า 45. [30] ว.สุวรรณ (นามแฝง), ไขปัญหาอบต, (ก

จากงานชิ้นเอกสู่วัตถุจัดแสดง: ของศักดิ์สิทธิ์และของสามัญในพิพิธภัณฑ์

22 มีนาคม 2556

พิพิธภัณฑ์มีหลากหลายประเภท อาทิ พิพิธภัณฑ์ศิลปะ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ทั้งที่เป็นพิพิธภัณฑ์ระดับชาติ ภูมิภาค หรือกระทั่งในสถานศึกษา พิพิธภัณฑ์แต่ละแห่งต่างมีแนวทางความต้องการของตนเอง รวมถึงการเลือกวัตถุที่จะนำมาจัดแสดง นโยบายต่าง ๆ ดังกล่าวเป็นตัวกำหนดแนวทางการพัฒนาของพิพิธภัณฑ์นั้น ๆ อย่างไรก็ดีอาจยังมีคำถามตามมาอีกว่า "ทำไมต้องเป็นวัตถุชิ้นนั้น ทำไมไม่เลือกวัตถุชิ้นนี้ ? ทำไมต้องเก็บรักษาวัตถุต่าง ๆ ไว้ในพิพิธภัณฑ์ด้วย ? แล้วในการจัดนิทรรศการ ไม่ว่าจะเป็นนิทรรศการขนาดเล็กหรือใหญ่ ทำไมเราไม่จัดแสดงวัตถุตามบริบทและวัตถุประสงค์การใช้งานดั้งเดิมของวัตถุ ? พิพิธภัณฑ์ควรจะส่งคืนคอลเล็กชั่นที่เป็นของศักดิ์สิทธิ์ให้กับชุมชนพื้นถิ่นเดิมหรือเปล่า ? หรือในทางตรงกันข้าม พิพิธภัณฑ์ไม่ควรปรับเปลี่ยนความหมายของของศักดิ์สิทธิ์ให้กลายเป็นวัตถุชิ้นหนึ่งสำหรับการจัดแสดงใช่รึเปล่า ? ระหว่างการจัดแสดงนิทรรศการ "งานชิ้นเอก สมบัติล้ำค่า และของบรรดามี…" ( Masterpieces, Treasures and What Else… ) ณ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติวิทยาเมืองลียง (ฝรั่งเศส) ผู้เขียนได้สัมภาษณ์คนที่อยู่ในวงการพิพิธภัณฑ์ ต่อประเด็นในนิทรรศการดังกล่าว Krzysztof Pomain ผู้อำนวยการสถาบัน Ecole des Hautes Etudes en Sciences Sociales in Paris มีความเห็นว่า "เราเก็บรักษาวัตถุในพิพิธภัณฑ์ด้วยเหตุผลเดียวกับการที่เราฝังศพ ในระยะยาวเราสามารถไปเคารพหลุมศพ เป็นการเก็บรักษาสมบัติไว้กับวัด…มนุษย์เรามักจะแบ่งแยกทุกสิ่ง ตัวอย่างที่ชอบพูดกันบ่อย ๆ คือ สิ่งที่มองเห็น และมองไม่เห็น" แต่เมื่อเราพูดถึงพิพิธภัณฑ์ ความคิดเกี่ยวกับงานชิ้นเอก(masterpiece) กับความศักดิ์สิทธิ์(sacred)ไม่เคยแยกจากกัน Pomain ชี้เห็นให้เห็นว่า การแบ่งหรือจัดระดับชั้นของวัตถุในพิพิธภัณฑ์นั้นมีพัฒนาการ คือเริ่มจากของชิ้นเอก (หายาก, พิเศษ, ไม่ธรรมดา, น่าดู) เคลื่อนไปสู่ของธรรมดาที่พบเห็นได้ทั่วไป ปัจจุบันไม่มีของชิ้นใดที่จะไม่สามารถจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ได้ Jacques Hainard ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์เจนีวา เสริมทับว่า "วัตถุใด ๆ ก็ตามสามารถแสดงในพิพิธภัณฑ์ได้ ตราบเท่าที่มันเป็นสิ่งของที่เกี่ยวข้องในเรื่องที่จัดแสดง" วัตถุไม่ได้ดำรงอยู่อย่างโดดเดี่ยว หากแต่มันถูกเลือก ถูกตีความ ถูกจัดแสดง ถูกจ้องมองและให้ความหมาย โดยบุคคลแต่ละคนและด้วยเหตุผลบางอย่าง Shaje’a Tshiluila ประธานสภาการพิพิธภัณฑ์ระหว่างประเทศแห่งแอฟริกา(AFRICOM) เล่าถึงความคับข้องใจของเธอต่อพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยาหลายแห่ง ที่ลดทอนความเป็นสังคมแอฟริกันให้เป็นเพียงแค่ของแปลกที่หาดูยาก และเธอยังบอกว่าประวัติศาสตร์ในยุคอาณานิคมยังคงมีผลต่อความคิดของคนในทุกวันนี้ "แอฟริกาถูกนำเสนอในฐานะที่เป็นของแปลก เรายังสัมผัสได้ถึงนัยของการดูถูกที่ยังคงหลงเหลืออยู่จากยุคประวัติศาสตร์การค้าทาส" นอกเหนือไปจากการตระหนักถึงกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นดังกล่าว ก่อนการส่งผ่านความคิดของตัวเองสู่สาธารณะ ภัณฑารักษ์ควรกระทำการด้วยการเคารพ เพราะในหลาย ๆ สังคมมีความซับซ้อนและมีพลวัตสิ่งที่ถูกตีความใหม่ที่ปรากฏในพื้นที่หน้าฉากของนิทรรศการ อาจจนำมาซึ่งมายุ่งยากได้ มีภัณฑารักษ์มากมายที่มีความคิดสร้างสรรค์ บ่อยครั้งนำเสนอนิทรรศการที่สร้างความประหลาดใจให้ผู้ชม Girolamo Rammunni อาจารย์จากมหาวิทยาลัยลียง กล่าวว่า "วัตถุต่าง ๆ เหล่านั้นเผยให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ทั้งพัฒนาการขององค์ความรู้ คุณค่าทางสังคมวัฒนธรรม และความสามารถของมนุษย์ ที่ก่อให้เกิดสิ่งประดิษฐ์อันเกิดจากจินตนาการ การค้นพบและนำเสนอแง่มุมต่าง ๆ เหล่านี้เป็นหนทางแรกที่จะทำให้เราเห็นถึงกลวิธีในการสร้างสรรค์วัตถุ หลังจากนั้นเราจะประหลาดใจที่พบว่าของเหล่านั้นทำขึ้นมาได้อย่าง ‘ไม่มีที่ติ’ " ผลงานของศิลปิน ช่างฝีมือ หรือนักประดิษฐ์เป็นของที่มีเสน่ห์ เป็นแรงบันดาลใจต่อการสร้างสรรค์งานชิ้นอื่นต่อมา เราจะทึ่งเมื่อได้เห็นความงดงามที่ปรากฏอยู่ในกระบวนการทำ ความสร้างสรรค์ ความเรียบง่าย และการผสมผสานที่ลงตัว Bernard Ceysson อดีตผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใน Saint-Etienne สะท้อนว่า ความคิดในการสร้างความแตกต่างกัน ระหว่างงานชิ้นเอกจากโรงงานอุตสาหกรรม กับงานชิ้นเอกจากช่างฝีมือนั้นเกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 18 Jean-Hubert Martin ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ Kunst Palace กล่าวเสริมว่า "ตัวผมเองพบว่าของที่ดูโดดเด่น…เป็นวัตถุทางมานุษยวิทยา(anthropological item)ในช่วงเวลาประวัติศาสตร์หนึ่ง ในเวลาต่อมาของชิ้นเดียวกันนี้ถูกมองว่าเป็นศิลปะวัตถุ (work of art) ดังนั้นในศตวรรษที่ 20 การมองวัตถุต่าง ๆ ด้วยแว่นของความงามจึงกลายเป็นปรากฎการณ์ธรรมดา…" ข้อถกเถียงเรื่องเกณฑ์ในการแบ่งแยกว่า ทำไมของชิ้นหนึ่งดีกว่า หรือมีความหมายมากกว่าของชิ้นอื่นนั้น ยืนอยู่บนพื้นฐานของการเปรียบเทียบ "ยิ่งพื้นที่ของการสำรวจยิ่งกว้างใหญ่ เราก็ยิ่งพบวัตถุมากขึ้น ยิ่งได้เห็น ประเมิน เลือก และเปรียบเทียบได้มากขึ้น" สำหรับเรื่องคุณค่าของศิลปะวัตถุนั้น เมื่อมันเข้าสู่ระบบตลาด มีการผลิตคราวละมาก ๆ และถูกทำให้เป็นของสามัญ "การผลิตของคราวละมาก ๆ มีผลกระทบตามสูตรสำเร็จที่มักคิดกัน คือ ลดคุณค่าของวัตถุให้เป็นเพียงของประดับ และทำลายแนวคิดเรื่องงานชิ้นเอก(masterpiece) ไปด้วย อย่างไรก็ดี ไม่ได้หมายว่ามันทำลายตัวงานชิ้นเอกนั้นใช่หรือไม่?" ของบางอย่างไม่ได้ถูกลดคุณค่าไปสู่แค่มิติประโยชน์ใช้สอยหรือความงาม เนื่องจากของสิ่งนั้นเป็นเรื่องของสัญลักษณ์ มีการให้ความหมาย Denis Cerclet อาจารย์จากคณะมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยลียง II ให้ทัศนะว่า "ของศักดิ์สิทธิ์(sacred objects) ต่างจากของสามัญ (profane objects) ตรงที่มันเรื่องของคนหมู่มาก มากกว่าเป็นของส่วนบุคคล…ของศักดิ์สิทธิ์ยังถูกให้ค่าว่าเป็นทรัพย์สมบัติด้วย เนื่องจากมันถูกเก็บรักษาไว้ มีเพียงผู้ได้รับอนุญาตไม่กี่คนเท่านั้นที่จะได้เห็นหรือได้ใช้โดยไม่นำมาซึ่งภัยพิบัติ สิ่งดังกล่าวเป็นแบบแผนของมวลมนุษย์ที่ต้องเคารพและธำรงไว้" ในแง่นี้ บ่อยครั้งพิพิธภัณฑ์มีความยุ่งยากในการสื่อสารและส่งผ่านความคิดเกี่ยวกับเครื่องรางหรือวัตถุจำพวกข้ามยุคข้ามสมัย การตีความของเรา(พิพิธภัณฑ์-ผู้แปล)ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ บ่อยครั้งเจือด้วยอารมณ์ความรู้สึก ความทรงจำของเราก็มีหลากหลายแง่มุม ทั้งความทรงจำที่โหยหาอดีต(วันวานที่ดีงาม) ความทรงจำที่ต้องมี (พิพิธภัณฑ์เข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้) และความทรงจำที่ถูกกดทับไว้ (เรื่องที่เราไม่กล้าพูด) พิพิธภัณฑ์ค่อย ๆ เข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้นในประเด็นเหล่านี้ เราพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่าพิพิธภัณฑ์ทำงานเกี่ยวข้องกับเรื่องของอดีตและมรดกทางวัฒนธรรม แต่พิพิธภัณฑ์ก็ยังเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องราวของปัจจุบันและอนาคตด้วย โดยดึงเอาข้อถกเถียงในปัจจุบันออกมา ดังที่ Jean Guibal ภัณฑารักษ์แห่งศูนย์อนุรักษ์มรดก Is?re region of France กล่าวว่า "ดังนั้นพิพิธภัณฑ์มีบทบาทในฐานะเป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมที่แท้จริง เป็นที่ ๆ ข้อถกเถียง คำถาม และการเผชิญหน้าเกิดขึ้นได้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในสังคมใดก็ตามที่กำลังค้นหาวิถีทางและความต้องการของตน ซึ่งต้องตั้งคำถามต่อตัวเองอีกมากมาย" "ทำไมฉันคิดแบบนี้ ทำไมฉันบอกแบบนี้ ในสถานการณ์เช่นนั้น ?" เป็นคำถามที่เกิดขึ้น แล้วทำให้พิพิธภัณฑ์และวัตถุต่าง ๆ มีความหมาย ในที่สุด หลังฉากของวัตถุที่จัดแสดง เกี่ยวข้องทั้งผู้ชายและผู้หญิง มีปัจเจกบุคคลมากมาย ทั้งที่เข้ามาเรียนรู้ พยายามทำความเข้าใจ อธิบายและเชื่อมโยงตนเองต่อสิ่งที่จัดแสดง ใครคือคนที่พิพิธภัณฑ์กำลังพูดถึง และใครที่พิพิธภัณฑ์ต้องการส่งสารนั้นไปถึง? เรากำลังปกปักรักษาอะไรและทำไม ? ดังนั้นข้อถกเถียงอมตะ เรื่องพิพิธภัณฑ์ - วัด และ พิพิธภัณฑ์ - เวทีถกเถียง บางทีอาจไม่ต้องเถียงกันอีกต่อไปแล้ว (โอ้ ไม่?) จากจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์พิพิธภัณฑ์ ถ้าพิพิธภัณฑ์เป็นสถานที่ที่สามารถพบเห็นสิ่งของที่ประหลาด มาจากแดนไกล และแปลกตาแล้ว จะเห็นว่าความคิดนี้เริ่มเปลี่ยนไป ในทุกวันนี้ความน่าสนใจมุ่งไปยังการตีความใหม่ในความจริงชุดเดียวกัน แม้แต่เรื่องในชีวิตประจำวันของทุกคน และจะดีกว่าหรือเปล่าที่ความแปลกตา(exotic)น่าจะเป็นสิ่งที่อยู่ข้างในตัวเรา? และจะดีกว่าไหมที่จะตั้งคำถามว่าต่อสิ่งรอบตัวว่า สิ่งเหล่านั้นมีอะไรผิดปกติรึเปล่า? ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราเห็นพิพิธภัณฑ์จำนวนมาก เกิดขึ้นในนามของชุมชนหรือคนในกลุ่มวัฒนธรรมเฉพาะ ภัณฑารักษ์ไม่ต้องพูดคนเดียวอีกต่อไปแล้ว บางโอกาสเขา/เธอ เปิดเวทีให้เกิดการอภิปรายขึ้น สิ่งของได้เปลี่ยนผ่านสู่มิติใหม่และถ่ายทอดความหมายใหม่ ความหมายของวัตถุไม่ได้มีความหมายเดียว แล้วแต่ว่ามันจะถูกสวมลงในวาทกรรมใด ในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติเมืองลียง แผนกจัดทำนิทรรศการได้ชวนเยาวชนมาแสดงความเห็นเรื่องความรับรู้ของพวกเขาที่มีต่อคนกลุ่มอื่น หลายเดือนที่พวกเขาทำงานร่วมกันตามกรอบแนวคิดที่วางไว้ โดยมีเจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์ให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิค ผลที่ได้จากการทดลองนี้ถูกทำเป็นนิทรรศการเปิดให้สาธารณะเข้าชม คงไม่ใช่เรื่องที่จะตั้งคำถามว่า สิ่งที่ทำนี้เป็นแนวทางการทำงานพิพิธภัณฑ์แบบใหม่หรือเปล่า หากแต่สิ่งที่น่าสนใจคือพิพิธภัณฑ์เปิดโอกาสให้คนอื่นได้แสดงตัวตนและความคิดของตนเองบนพื้นฐานแนวคิดเรื่องความเป็นอื่น นอกจากนี้ มันไม่ยุติธรรมและไม่ควรสำหรับพิพิธภัณฑ์ ที่จะเป็นแค่เวทีถกเถียงหรือพูดได้แค่วาทกรรมเกี่ยวกับความเป็นอื่น พิพิธภัณฑ์ควรพูดว่า "เรามีสิทธิที่จะพูด(บนพื้นฐานของความนอบน้อม เคารพ ฯลฯ) และด้วยความเคารพ เราเข้าใจว่าความเชื่อเกี่ยวกับงานชิ้นเอกและทรัพย์สมบัตินั้น ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ด้วยวาทกรรมเดียว และเราเข้าใจว่าความศักดิ์สิทธิ์ทำให้วัตถุมีความหมายเชิงสัญญะร่วมกัน ความศักดิ์สิทธิ์ทำให้วัตถุนั้นเป็นของที่พิเศษ(ด้วยหน้าที่ คุณค่าในด้านความงาม และหายากฯลฯ) และความศักดิ์สิทธิ์ยังอธิบายชุมชน และผู้คนไม่ว่าหญิง หรือ ชาย อาจกล่าวได้ว่า พิพิธภัณฑ์มีบทบาทสำคัญในการอธิบายเพื่อให้เกิดความกระจ่าง หากแต่ยังตั้งคำถามต่อสิ่งต่าง ๆ พร้อมกับให้ความมั่นใจแก่เราด้วยว่า ยังมีสถานที่หนึ่งในสังคม ที่ซึ่งอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของมนุษยชาติถูกวางไว้บนภาระกิจสำคัญของสถานที่แห่งนี้ แปลและเรียบเรียงจาก Michel Cote. ‘From Masterpiece to Artefact: the Sacred and the Profane in Museum.’ Museum International. Vol.55 no. 2, 2003; pp 32-37. โดย ปณิตา สระวาสี ภาพประกอบจาก UNESCO , Museum of Natural history of Lyon, Erdeni Zuu Museum(Mongolia) และ Vietnam Museum of Ethnology ประวัติผู้เขียน - Michel Cote มีพื้นฐานการศึกษาด้านวรรณกรรม ศึกษาศาสตร์ และบริหารธุรกิจ เขามีประสบการณ์การทำงานหลายปีเกี่ยวกับด้านวัฒนธรรม โดยเป็นทั้งที่ปรึกษาและผู้บริหาร ตำแหน่งก่อนหน้านี้ได้แก่ ผู้อำนวยการโครงการต่าง ๆ ของกระทรวงวัฒนธรรม ของรัฐควิเบก ผู้อำนวยการฝ่ายนิทรรศการพิพิธภัณฑ์อารยธรรมในควิเบก และปัจจุบันดำรงตแหน่งผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติวิทยา เมืองลียง

บาหลี: พิพิธภัณฑ์มีชีวิต

22 มีนาคม 2556

ฮุตแมน (Houtman) ไม่ใช่ชาวยุโรปคนแรกที่เข้ามาติดต่อกับชาวบาหลี แต่บันทึกของเขาที่เกี่ยวกับบาหลีในปี ค.ศ. 1597 ทิ้งไว้ซึ่งความทรงจำที่ติดแน่นในสำนึกเกี่ยวกับบาหลีของชาวตะวันตก ในบันทึกได้เล่าเรื่องเกี่ยวกับลูกเรือสองคนของฮุตแมนที่ละทิ้งภาระกิจไป เนื่องจากไม่อาจต้านทานเสน่ห์ของสาวบาหลีได้ แต่เหตุผลที่แท้จริงก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดนัก ในบันทึกนั้นบรรยายถึงสภาพลูกเรือของฮุตแมนที่อ่อนล้าจากการใช้ชีวิตที่ยาก ลำบากในชวาและประสบความล้มเหลวในการเจรจาการค้าในชวา เมื่อได้มาพักฟื้นที่บาหลีก่อนจะเดินทางยาวไกลกลับบ้าน ภาพของบาหลีจึงมีแต่ด้านที่สวยงาม ภาพ "บาหลีน้อยอันเป็นที่รัก" จึงแพร่กระจายออกไป   งานเขียนของฮุตแมนชิ้นนี้มีอิทธิพลต่องานเขียนอื่น ๆ ต่อมา เช่นงานของจาร์คอบีน แซมมวล เพอร์แชส (Jacobean Samuel Purchas) เพอร์แชสใช้บันทึกการเดินทางของฮุตแมนและนักเดินเรือชาวดัตช์คนอื่น ๆ ในการเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับบาหลีโดยมีจุดมุ่งหมายในด้านการค้าเป็นหลัก เขาจึงมีอิสระที่จะเขียนเน้นถึงความน่าตื่นตาตื่นใจของบาหลี เมื่อเขาอธิบายถึงกษัตริย์บาหลีและบริวาร การนับถือศาสนาฮินดูของชาวเกาะ และประเพณีการเผาแม่ม่ายบนกองฟืน   บาหลีไม่เพียงแค่ถูกเขียนบรรยายว่าเป็นเกาะที่มีเสน่ห์ แต่ยังถูกแสดงผ่านสื่อทางภาพด้วย เช่น หนังสือของฮุตแมนที่ตีพิมพ์ในปี 1598 ประกอบไปด้วยภาพทาสแบกเสลี่ยงขุนนาง ภาพกษัตริย์ภายใต้เศวตฉัตรที่ประทับบนเกวียน และภาพหญิงพื้นเมืองกับนักดนตรีในพิธีศพของสามี ภาพทั้งสามในหนังสือของฮุตแมนนี้แพร่หลายมากและถูกใช้ประกอบในหนังสือเล่ม อื่น ๆ ที่เกี่ยวกับบาหลี   ภาพลักษณ์ดั้งเดิมที่มีต่อบาหลีของพวกยุโรปส่วนใหญ่จะเป็นภาพแบบ ฉบับ(stereotype)ในแบบวัฒนธรรมอินเดีย ดังนั้นการบรรยายถึงขนบประเพณีของพิธีสะตี(การเผ่าแม่ม่าย)ในบาหลี บันทึกจึงมักอ้างว่าคล้ายกับที่อินเดีย ในศตวรรษที่ 16 - 17 แม้บาหลีจะเป็นที่รู้จักของชาวยุโรปแล้ว แต่บันทึกของบริษัทดัตช์อีสต์อินเดียไม่ได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับราชประเพณี บาหลีเลย ดัตช์ทำสัญญากับผู้ปกครองบาหลีในเรื่องการค้าทาส และมีการตั้งสถานีการค้าบนเกาะด้วย แต่ความสัมพันธ์ระหว่างดัตช์กับชาวบาหลีไม่สู้จะดีนัก ชาวบาหลีรู้สึกว่าตนเองถูกคุกคามอิสรภาพ   ประเพณีฮินดูของบาหลีเช่น การเผาแม่ม่าย เป็นสิ่งที่ดึงดูดใจอย่างต่อเนื่องกับชาวยุโรป และยังเป็นแนวคิดสำคัญที่แพร่หลายจนกระทั่งถึงต้นศตวรรษที่ 20 ภาพประกอบเกี่ยวกับพิธีสะตีในบาหลีในบันทึกของชาวยุโรปใช้ภาพจากอินเดีย โดยที่ข้อเขียนที่บรรยายถึงพิธีกลับแตกต่างและไม่ได้ไปด้วยกันกับภาพ ตัวอย่างแรก ๆ ของงานเขียนในลักษณะนี้เช่น Jan Oosterwijk ที่อธิบายพิธีกรรมเผาตัวเองของราชินีบาหลีและการสังเวยชีวิตของทาสผู้หญิง อีก 22 คน ในปี 1633 ตามด้วยพิธีกรรมที่ข้าทาสผู้ซึ่งสวมชุดขาวเตรียมตัวสำหรับการถูกประหารด้วย กริช ผู้เขียนกล่าวถึงแต่ในแง่ที่เปรอะเปื้อนไปด้วยเลือดของพิธีกรรม และบรรยายถึงความกล้าหาญของหญิงสาวที่เชือดตัวเองด้วยกริช พิธีกรรมนี้ยิ่งเพิ่มความน่าตื่นตาตื่นใจของบาหลีมากยิ่งขึ้นไปอีก   นอกจากนี้ยังเป็นที่เลื่องลือกันว่าชาวบาหลีเป็นพวกดุร้ายป่าเถื่อน ภาพลักษณ์ของบาหลีในฐานะดินแดนแห่งความป่าเถื่อนเกิดขึ้นจากจดหมายและรายงาน ของพ่อค้าชาวดัตช์ Jan Troet พ่อค้าดัตช์ที่มีชื่อเสียงในแถบนี้เป็นผู้มีอิทธิพลต่อความคิดนี้ เขาร้องเรียนกับบริษัทดัตช์อีสต์อินเดียเกี่ยวกับทาสชาวบาหลีที่ไม่เชื่อฟัง ในจดหมายปี 1661 Troet อธิบายถึงการที่พวกทาสบาหลีก่อการจลาจลและยึดเรือของเขา จากนั้นปี 1665 บริษัทได้รับข้อร้องทุกข์ต่าง ๆ เรื่องทาสบาหลี มีการห้ามค้าทาสชาวบาหลีแต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ   สงครามนโปเลียนฟื้นความสนใจใหม่อีกครั้งต่อบาหลีของชาวยุโรป เริ่มจากอังกฤษ และดัตช์ในเวลาต่อมา บาหลีดึงดูดความสนใจอังกฤษเพราะยุทธศาสตร์ที่ตั้งที่อยู่ติดกับชวา และอังกฤษต้องการสานสัมพันธ์กับบาหลี และต้องการศึกษาอย่างจริงจังเกี่ยวกับอารยธรรมเก่าแก่ของบาหลี สงครามในยุโรปขณะนั้นที่ฝรั่งเศสเข้ายึดเนเธอร์แลนด์ แล้วอังกฤษได้อำนาจปกครองเหนือเกาะชวาแทนรัฐบาลดัตช์ที่ถูกขับออกมาในกรุง ลอนดอน ตั้งแต่ปี 1811-1816 เซอร์ธอมัส แสตมฟอร์ด แรฟเฟิลส์ (Sir Thomas Stamford Raffles) ที่ต่อมาเป็นผู้ก่อรากสร้างฐานเกาะสิงคโปร์และปกครองหมู่เกาะที่อยู่ในการ ครอบครองของดัตช์ในฐานะตัวแทนข้าหลวงใหญ่ในปัตตาเวีย แรฟเฟิลส์เน้นสร้างความสัมพันธ์กับผู้ปกครองบาหลี และมองว่าเกาะบาหลีเป็นกุญแจสำคัญในแผนการของเขา ที่ต้องการลบล้างอำนาจดัตช์เหนือหมู่เกาะอินดีส์   การเข้ามาปกครองหมู่เกาะอินดีส์ของแรฟเฟิลส์ เป็นเสมือนผลผลิตของยุคแสงสว่างทางความคิดในยุโรป(Europe Enlightenment) และเป็นการนำทฤษฎีต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ แรฟเฟิลส์มองคนพื้นเมืองในฐานะผู้ประกอบการค้าที่มีประสิทธิภาพ ไม่ใช่ "พวกคนพื้นเมืองที่ขี้เกียจ" ไม่เหมือนกับที่คนดัตช์และอังกฤษในมลายามอง นักคิดที่มีอิทธิพลต่อแรฟเฟิลส์คือ อดัม สมิธ (Adam Smith/ 1723-1790) และ ฌอง ฌากส์ รุสโซ่ (Jean-Jacques Rousseau/ 1712-1778) แรฟเฟิลส์ให้ความสำคัญต่อแรงงานชาวนาในชวา มีการเปลี่ยนรูปแบบการเก็บภาษี และการให้เช่าที่ดิน   เขาพบว่าวัฒนธรรมบาหลีเต็มไปด้วยวัตถุดิบมากมายสำหรับนำทฤษฎีต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์การเมือง เขาพอใจที่พบว่าชาวบาหลีไม่ใช่พวกเซื่องซึมแบบคนชวา และเขาสรรเสริญความเป็นลูกผู้ชาย และประทับใจความเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนของบาหลี ในฐานะผู้ที่สมาทานแนวคิดของรุสโซ่ แรฟเฟิลส์ยังมองชาวบาหลีในฐานะเป็น"ความป่าเถื่อนที่ดีงาม" (noble savages) เขารู้สึกว่าผู้ปกครองของบาหลีไม่ได้กดขี่เหมือนกับที่ชวา สำหรับเขาแล้ว ชนพื้นเมืองบาหลีไม่เพียงไม่ได้ถูกกดขี่ แต่ยังไม่ได้เป็นคนเกียจคร้านด้วย ชาวบาหลีแสดงให้เห็นถึงศักยภาพที่มีมากกว่าเพื่อนบ้านในเรื่องของอารยธรรม และความพร้อมในการพัฒนา   มุมมองของแรฟเฟิลส์คล้ายกับนักคิดด้านตะวันออกศึกษาหลายคน บาหลีถูกมองว่าเป็น"จุดเริ่มต้นของอารยธรรมโบราณของชาวพื้นเมืองชวา" แม้แรฟเฟิลส์จะเน้นย้ำถึงภาพลักษณ์ของการเผาแม่ม่าย แต่เขาก็ปฏิเสธว่าพิธีดังกล่าวไม่ใช่หัวใจสำคัญที่เป็นสัญลักษณ์ที่มีคุณค่า ของบาหลี บาหลีแสดงถึงความรุ่งโรจน์ของอารายธรรมที่มีมายาวนานอย่างต่อเนื่องอย่างที่ ชวาไม่มี บาหลีเป็นพิพิธภัณฑ์ของมรดกอารยธรรมฮินดูที่รุ่งโรจน์ แรฟเฟิลส์เห็นว่าอารยธรรมโบราณที่สั่งสมของบาหลีกับศักยภาพในการพัฒนาให้ เป็นสมัยใหม่จะเดินคู่กันไปได้ด้วยดี   มุมมองด้านบวกของแรฟเฟิลส์ต่อบาหลีไม่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางนัก หลังจากที่ดัตช์เข้าไปมีอำนาจปกครองอีกครั้งเหนือชวา ภาพลักษณ์เก่าของบาหลีที่เป็นดินแดนป่าเถื่อนถูกปลุกขึ้นอีกครั้งในงานของH.A. Van der Broek ข้าราชการที่ถูกส่งมาในฐานะทูตของเกาะ Van der Broek มีทัศนะในด้านลบต่อบาหลี อาจเพราะกษัตริย์บาหลีขัดขวางและเพิกเฉยต่อข้อเสนอทางการเมืองของเขา เขาดำเนินการสร้างภาพแบบฉบับเก่า ๆ ขึ้นมา แม้ว่างานเขียนของเขามีแรงจูงใจจากทางการเมืองก็ตาม แต่ก็น่าสนใจตรงที่เนื้อหาที่เขาเขียนเต็มไปด้วยข้อมูลด้านชาติพันธุ์ Van der Broek เห็นว่าทางเดียวที่บาหลีจะพัฒนาได้คืออยู่ใต้การปกครองของดัตช์   ภาพลักษณ์ด้านลบของบาหลียังถูกตอกย้ำจากการที่ชาวบาหลียึดมั่นในศาสนาฮินดูและ ไม่ยอมรับ "ความปรารถนาดี" ของหมอสอนศาสนา นำมาซึ่งความไม่พอใจมาสู่พวกหมอสอนศาสนา นอกจากนี้งานของJ.H. Moor บรรณาธิการ Malacca Observer and Singapore Chronocle ที่มีบทล้อเลียนและดูถูกชาวเกาะ โดยมีทัศนะว่าชาวบาหลีผิดที่ไม่ให้ความเคารพคนยุโรป โดยมองว่าที่ยุโรปเข้าไปแทรกแซงบาหลีก็เพื่อจะสอนมารยาทให้ชนพื้นเมือง และทำให้พวกเขาว่านอนสอนง่ายตามความต้องการของบรรดาหมอสอนศาสนาและพ่อค้า   อังกฤษเริ่มมีบทบาทการค้ากับบาหลีมากขึ้นในทศวรรษที่ 1820 และ 1830 นำมาซึ่งความกลัวของดัตช์ต่อการขยายอิทธิพลมาสู่บาหลีของจักรวรรดินิยม อังกฤษ ความทุกข์ร้อนของดัตช์ยิ่งทวีขึ้นอีกเมื่อพ่อค้ายุโรปที่ประสบความสำเร็จที่ สุดในการค้ากับบาหลีคือ ชาวเดนมาร์ก นาม Mads Johansen Lange(1806-1856) ดัตช์จึงต้องการพิชิตเกาะบาหลีให้เบ็ดเสร็จ ภาพลักษณ์การชวนทะเลาะของผู้ปกครองบาหลีจึงถูกขยายมากขึ้น สงครามเพื่อพิชิตบาหลีของดัตช์เริ่มขึ้นในปี 1846 แต่ก็ยังไม่สำเร็จ รายงานของดัตช์มักจะเขียนให้ผู้ปกครองชาวพื้นเมืองเป็นพวกป่าเถื่อนและหลอก หลวง และเขียนถึงอุปนิสัยของชาวบาหลีที่ชอบทะเลาะอาละวาด สงครามครั้งสุดท้ายสิ้นสุดลงในปี 1906-8 เมื่อราชสำนักและชาวบาหลีต่อสู้แบบยอมตาย ซึ่งเรียกวีรกรรมที่กล้าหาญนี้ว่า "ปูปูตัน" (puputan)   ในวีรกรรมปูปูตันนั้นบรรดาคนในราชสำนักจะสวมเครื่องแต่งกายเต็มยศ แล้วเดินอย่างอาจหาญเข้าไปเผชิญหน้ากับศัตรูแบบยอมตายมากกว่ามีชีวิตอยู่แบบ ไร้ศักดิ์ศรี กัปตัน W.Cool ผู้เห็นเหตุการณ์ ได้บรรยายถึงสถานการณ์ที่น่าสะพรึงกลัว และยังให้ภาพที่เป็นจริงของการโต้ตอบของดัตช์   "พวกนี้เป็นสมาชิกของราชวงศ์ที่เหลือพร้อมด้วยข้าราชบริพาร ผู้ชาย ผู้หญิง และเด็ก พวกเขาพร้อมจะตายและเดินแถวในชุดที่สง่างามประดับด้วยเพชรนิลจินดา ในมือถือกริชและหอกด้วยท่าเตรียมพร้อม พวกเขาเตรียมตัวด้วยความแข็งแกร่งพร้อมเผชิญหน้ากับทหารของเรา นี่คือปูปูตันที่เลื่องชื่อ! ทหารของเราไม่ได้รับการระคายเคืองสักนิด ฝ่ายตรงข้ามถูกฆ่าตายดั่งใบไม้ร่วง มีเล็ดลอดเพียงไม่กี่คนที่สามารถเข้าประชิดดาบปลายปืนเราได้ แต่พวกนั้นก็ไม่ได้ถูกยิง พวกเราจัดการพวกนั้นด้วยสองมือของเรา"   ปูปูตันมีความหมายว่า "อวสาน" เป็นสัญลักษณ์ประเพณีของการสิ้นสุดลงของอาณาจักร เชื่อกันว่าวิญญาณจะไปสู่สุขคติผ่านการตายในสนามรบ ดั้งนั้นจำเป็นสำหรับชนชั้นปกครองที่ต้องตายอย่างสมเกียรติ ดัตช์เผชิญหน้ากับปูปูตันในการทำสงครามกับบาหลีและตกตะลึงต่อพิธีการฆ่าตัว ตายแบบนี้ ในสายตาของดัตช์ปูปูตันถูกผนวกเข้าไปเป็นหนึ่งในภาพลักษณ์ความล้าหลังป่า เถื่อนของบาหลี อันประกอบไปด้วยเรื่องการค้าทาส การเผาแม่ม่าย และอุทิศชีวิตในสนามรบ   ปูปูตันเกิดขึ้นเป็นครั้งที่สองในเมือง Klungkung ในปี 1908 แทนที่จะยอมรับอำนาจต่างชาติ ราชวงศ์บาหลีเลือกที่จะตายอย่างมีเกียรติผ่านปูปูตัน อย่างไรก็ดีการที่ดัตช์พยายามแสดงให้ว่าการเข้าครอบครองบาหลีเป็นเรื่องของ ศีลธรรมของผู้มีอารยธรรมสูงส่งมาปลดปล่อยความล้าหลัง การพลีชีพของชาวบาหลีจึงกลายเป็นปัญหาระหว่างประเทศ ดัตช์อ้างว่าไม่คาดคิดมาก่อนว่าชาวบาหลีจะตอบโต้ด้วยวิธีการฆ่าตัวตายแบบ นั้น และไม่เคยรู้มาก่อนเกี่ยวกับปูปูตัน ดังนั้นเพื่อที่จะชดเชยการนองเลือดครั้งนั้น และแสดงถึงภาพลักษณ์ที่น่าสรรเสริญของเจ้าอาณานิคม ดัตช์จึงสนับสนุนแนวคิด "พิพิธภัณฑ์มีชีวิต" (Living Museum) ในบาหลีขึ้น ภาพลักษณ์ใหม่นี้มีพื้นฐานอยู่บนการอนุรักษ์วัฒนธรรมของบาหลีและส่งเสริม เกาะให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว   นักวิชาการยุโรปด้านตะวันออกศึกษา มีทัศนะมานานแล้วว่า บาหลีเป็นเสมือนพิพิธภัณฑ์ของวัฒนธรรมชวาฮินดู มุมมองที่ว่านี้มีอิทธิพลต่อภาพลักษณ์ในอนาคตของบาหลี ผู้ปกครองชาวดัตช์อาจไม่มีภาพที่ถูกต้องของสิ่งที่เรียกว่าความเป็นบาหลีที่ แท้จริง แต่อย่างน้อยพวกดัตช์มีแนวคิดบางอย่างที่จะบอกว่าความเป็นบาหลีควรจะเป็น อย่างไร ในสายตาของดัตช์ศาสนาฮินดูเป็นรากฐานสำคัญของสังคมบาหลี รวมถึงเป็นรากฐานของการประสานรวมวัฒนธรรมและศิลปะของบาหลี   มรดกอันล้ำค่าเหล่านี้กลายเป็นเครื่องป้องกันการถูกรุกไล่ของโลกสมัยใหม่และได้ รับการบูรณะรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ให้อยู่ในสภาพดั้งเดิม บาหลีอวดโฉมต่อชาวโลกด้วยความชื่นชม ในต้นทศวรรษที่ 1930 ดัตช์พยายามที่จะสร้างภาพลักษณ์ให้กับบาหลี โดยมีนโยบายวัฒนธรรมที่รู้จักกันในนามว่ากระบวนการสร้างความเป็น บาหลี(Balinization) ไม่เพียงแต่วัฒนธรรมบาหลีจะถูกรักษาไว้สำหรับนักท่องเที่ยวได้ชื่นชม ชาวบาหลียังถูกสอนโดยเจ้าอาณานิคมดัตช์ถึงวิธีการที่จะเป็นชาวบาหลีที่แท้ จริง! กล่าวได้ว่าพิพิธภัณฑ์มีชีวิตแห่งนี้เกิดขึ้นจากกระบวนการสร้างความเป็น บาหลีของเจ้าอาณานิคมนั่นเอง   แปลและเรียบเรียงจาก Hitchcock, Michael and Norris, Lucy. 1995. "Bali: The Living Museum." in Bali the Imaginary Museum. Kuala Lumpur: Oxford University Press, pp. 11-24.  

นโยบายวัฒนธรรมและการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ในไต้หวัน

30 ตุลาคม 2557

 จุดเริ่มต้นของงานพิพิธภัณฑ์ในไต้หวันมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 100 ปี ตั้งแต่ช่วงเวลาที่เกาะไต้หวันตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของญี่ปุ่น(ค.ศ.1895-1945) 50 ปี ของการอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น มีพิพิธภัณฑ์เกิดขึ้น 18 แห่ง แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ หนึ่ง อาคารจัดแสดงสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ สอง เป็นศูนย์กลางการศึกษาหรือศูนย์สุขภาพ(health reference centre) และอื่น ๆ อาทิ พิพิธภัณฑ์ตามส่วนภูมิภาค พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา สวนสัตว์ สวนพฤกษศาสตร์ หอดูดาว รัฐบาลภายใต้อาณานิคมของญี่ปุ่นพยายามส่งผ่านความคิดไปสู่คนไต้หวันไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง และกายภาพของชีวิตความเป็นอยู่ วิธีหนึ่งก็คือผ่านพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ เหล่านี้ อาทิ พิพิธภัณฑ์จวนข้าหลวงแห่งไต้หวัน(Taiwan Governor’s Mansion Museum) (ปัจจุบันคือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไต้หวัน) สังกัดสำนักงานอาณานิคม กระทรวงมหาดไทย เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงวิธีการของจักรวรรดิญี่ปุ่นในการตักตวงทรัพยากรทางธรรมชาติของอาณานิคม จากมุมมองด้านนโยบายวัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นเครื่องมือนำเสนอสังคมและประเพณีของไต้หวัน ต่อนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น และเป็นการเผยแพร่ความคิดชาตินิยมจักรวรรดิญี่ปุ่นต่อประชาชนของ "ดินแดนจักรวรรดินิยมใหม่" กล่าวได้ว่าที่นี่เป็นแบบฉบับของ "พิพิธภัณฑ์อาณานิคม" ในไต้หวัน ปี 1945 หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ไต้หวันกลับสู่การปกครองภายใต้สาธารณรัฐประชาชนจีน ในปี 1949 เมื่อรัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋งพ่ายแพ้ในสงครามกลางเมืองและลี้ภัยมายังไต้หวัน พรรคก๊กมินตั๋งยังคงวุ่นวายในการจัดการเรื่องสถานการณ์ทางการเมือง จึงไม่มีนโยบายวัฒนธรรมอะไรที่เป็นรูปธรรม อย่างไรก็ดีมีพิพิธภัณฑ์จำนวน 10 แห่งได้รับการจัดตั้งขึ้นภายในช่วงเวลานี้ มี 3 พิพิธภัณฑ์อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ ได้แก่ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งชาติ ศูนย์การศึกษาวิทยาศาสตร์แห่งชาติไต้หวัน และศูนย์การศึกษาศิลปะแห่งชาติไต้หวัน แม้พิพิธภัณฑ์เหล่านี้มีขนาดไม่ใหญ่โตนัก แต่ตั้งอยู่ในทำเลที่ดี เข้าถึงง่าย และมีบทบาทสำคัญในการให้ความรู้แก่ประชาชนตั้งแต่ตอนนั้น และสามารถพูดได้ว่าเป็นตัวแทนผลงานของงานพิพิธภัณฑ์ไต้หวันในช่วงเวลานั้น ตั้งแต่ปี 1965 - 1979 ภายใต้นโยบายเศรษฐกิจที่เน้นการส่งออก งานวัฒนธรรมของไต้หวันยังคงไม่มีอะไรโดดเด่นมากนัก สาระสำคัญหลักในนโยบายวัฒนธรรมของไต้วันในช่วงเวลานั้นเรียกว่า "ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการวัฒนธรรมจีน" สนับสนุนโดยรัฐบาลท่านเจียงไคเช็ค ประธานาธิบดีของสาธารณรัฐจีน(ไต้หวัน) และรั้งตำแหน่งหัวหน้า "คณะกรรมการพื้นฟูศิลปวิทยาการวัฒนธรรมจีน" ด้วย และในเวลาเดียวกันนั้นคือในปี 1966-76 สาธารณรัฐประชาชนจีนเกิด "การปฏิวัติวัฒนธรรม" นำโดยเหมาเจ๋อตุง รัฐบาลไต้หวันจึงพยายามอ้างว่าตนเป็นผู้สืบทอดวัฒนธรรมจีนอย่างแท้จริง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระราชวังหลวง สัญลักษณ์ของมรดกวัฒนธรรมจีน ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 1965 เพื่อเก็บสมบัติที่นำมาจากพระราชวังหลวงของจีนระหว่างการลี้ภัยทางการเมืองออกมา ที่นี่มีวัตถุกว่า 600,000 ชิ้น และได้รับการจัดลำดับให้ติด 1 ใน 5 ของพิพิธภัณฑ์สำคัญของโลก ถ้าไม่นับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระราชวังหลวงแล้ว ขนาดของพิพิธภัณฑ์ทั้ง 10 แห่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ไม่ได้มีความโดดเด่นอะไรเลย และจำนวนของพิพิธภัณฑ์บนเกาะรวมแล้วยังน้อยกว่า 50 แห่ง ในปี 1987 รัฐบาลก๊กมินตั๋งยกเลิกกฎอัยการศึกที่ประกาศใช้มากว่า 38 ปี ด้วยการผ่อนคลายของข้อบังคับทางการเมืองและเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงขาขึ้น ทศวรรษที่ 1980 จึงเป็นจุดผกผันสำคัญของงานพิพิธภัณฑ์ไต้หวัน ภายใต้สังกัดของกระทรวงศึกษาธิการ บรรดาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาแห่งชาติ, พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์แห่งชาติ, พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์การทะเลแห่งชาติ, และพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางทะเลแห่งชาติ) ได้รับการพัฒนาภายใต้นโยบายการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ที่กำลังเฟื่องฟู ท่ามกลางพิพิธภัณฑ์เหล่านี้ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาถือเป็นพิพิธภัณฑ์ที่พรั่งพร้อมไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก และเนื้อหาการจัดแสดง จนสามารถเรียกได้ว่าเป็นผลงานชิ้นสำคัญของช่วงเวลานี้ และในช่วงเวลานี้เอง องค์กรส่งเสริมกิจกรรมด้านวัฒนธรรมในไต้หวันได้รับการเลื่อนชั้นไปสู่ระดับชาติ โดยแยกออกจากกระทรวงศึกษาธิการ ในปี 1981 คณะกรรมาธิการกิจกรรมวัฒนธรรม((Council for Cultural Affairs-CCA) จัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในฐานะหน่วยงานหนึ่งของรัฐบาลกลาง(เทียบเท่ากระทรวงวัฒนธรรม-ผู้แปล) ภายใต้การทำงานของหน่วยงานนี้ ก่อให้เกิดการสร้างศูนย์วัฒนธรรมในหลายอำเภอ และหลายเมือง สะท้อนความสนใจของรัฐบาลกลางที่มีต่อวัฒนธรรมท้องถิ่น พิพิธภัณฑ์เซรามิกอิงเก๋อ (Yingge) แห่งเมืองไทเป เป็นพิพิธภัณฑ์นำร่องที่มีห้องแสดงหัตถกรรมศิลปะท้องถิ่น ตั้งแต่ปี 1981-1990 มีพิพิธภัณฑ์ใหม่เกิดขึ้นกว่า 50 แห่ง และจำนวนพิพิธภัณฑ์ทั้งหมดบนเกาะเพิ่มขึ้นราว 90 แห่ง ตั้งแต่ปี 1990-2000 จำนวนพิพิธภัณฑ์บนเกาะไต้หวันเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 90 แห่ง เป็น 400 แห่ง อาจจะไม่ถูกนักที่จะสรุปว่า การเติบโตที่สูงมากขนาดนี้เป็นสิ่งที่ผิดปกติ แต่ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่เรียกได้ว่าเกิดปรากฏการณ์ใหม่คือ การเกิดขึ้นของพิพิธภัณฑ์ตามภูมิภาค อันเป็นผลมาจากนโยบายต่าง ๆ ของคณะกรรมาธิการกิจการวัฒนธรรม (Council for Cultural Affairs) อาทิ "การก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานสำหรับชุมชน" (Communities Infrastructure Establishment) "การก่อตั้งพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมท้องถิ่น" (Construction of Local Cultural Museums) นโยบายเปล่านี้ขยายจากเมืองไปสู่ชนบทและเขตชุมชนเล็ก ๆ เป็นความพยายามนำเสนอสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละเมือง, การนำเสนอความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์, การจัดการทรัพย์สินทางวัฒนธรรม, และการฟื้นตัวใหม่ของอุตสาหกรรมท้องถิ่น พิพิธภัณฑ์ที่เกิดขึ้นจากศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่นและเน้นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นหรืออุตสาหกรรมท้องถิ่น ค่อย ๆ กลายเป็นกระแสหลัก เป็นการประกาศถึงการขึ้นมาของ "ยุคแห่งภูมิภาค" ในการพัฒนาของพิพิธภัณฑ์ไต้หวัน นอกจากนี้ พิพิธภัณฑ์เอกชนยังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พิพิธภัณฑ์หลายแห่งได้รับการสนับสนุนจากองค์กรภาคเอกชน เช่น พิพิธภัณฑ์ชวงเย (Shung Ye) ของชาวฟอร์มูซาน(Formusan) พิพิธภัณฑ์ไชเมื่อย (Chi Mei) พิพิธภัณฑ์ฮอนชี (Hone Shee) และShu Huo Memorial Paper แสดงถึงความก้าวหน้าและศักยภาพอันมหาศาลของพิพิธภัณฑ์ที่ดำเนินงานโดยเอกชน ทั้งในเรื่องของขนาดองค์กร เทคนิคการบริหารจัดการ ในปลายทศวรรษ 1990 การแปลงพิพิธภัณฑ์ให้ไปอยู่ภายใต้การบริหารของเอกชนเริ่มเข้ามามีบทบาทในวงการพิพิธภัณฑ์ไต้หวัน แม้ว่าการเติบโตของพิพิธภัณฑ์เอกชนจะโดดเด่นอย่างมากในไม่กี่ปีมานี้ แต่พิพิธภัณฑ์ที่ก่อตั้งโดยรัฐบาลกลางและท้องถิ่นยังคงมีจำนวนถึง 2 ใน 3 ของพิพิธภัณฑ์ทั้งหมดในไต้หวัน เนื่องจากแรงกดดันในเรื่องค่าใช้จ่ายทั้งบุคคลและการดำเนินงาน ประกอบกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของไต้หวันยังคงอยู่ในภาพที่ยังไม่ค่อยดีนักในช่วงเวลาดังกล่าว งานบริหารงานทั่วไปโดยจ้างบริษัทภายนอกเข้ามาบริหาร (contracting-out) จึงได้รับความนิยมในวงการพิพิธภัณฑ์ของไต้หวัน เริ่มด้วย Taipei’s 228 Memorial Hall จากนั้นพิพิธภัณฑ์การขนส่งสำหรับเด็กแห่งไทเป และพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยไทเป ก็ดำเนินรอยตามอย่างรวดเร็ว ส่วนพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ เช่นพิพิธภัณฑ์แห่งชาติทางทะเล และพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำเป็นที่แรกที่ประสบความสำเร็จในการนำวิธีการ จ้างบริษัทภายนอกเข้ามาบริหารในส่วนของการบริการทั่วไปแก่ผู้เข้าชมและการนำ ชม ในขณะที่กลุ่มพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติทั้งหมดกำลังเตรียมที่จะนำวิธี การนี้มาใช้ การเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยมีมาก่อนในระบบการบริหารจัดการของ พิพิธภัณฑ์ในไต้หวัน ที่เกิดขึ้นครั้งแรกในรอบ 100 ปี เจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์หลายแห่งรู้สึกถึงวิกฤตที่กำลังมาเยือน เหมือนกับคำสุภาษิตจีนที่ว่า "เมื่อลมพัดผ่านหอสูงไป ทำให้เกิดพายุใหญ่ในหุบเขา" กล่าวโดยสรุป นโยบายวัฒนธรรมในไต้หวันพัฒนาอยู่บนพื้นฐานของเงื่อนไขที่ต่างกันของสถานการณ์ทางการเมืองและสังคม ได้แก่ ช่วงตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของญี่ปุ่น, ภายใต้การปกครองของรัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋ง พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า และแนวคิดเรื่องประชาธิปไตยร่วมสมัยและกลยุธทธด้านการตลาดนำ พิพิธภัณฑ์สะท้อนนโยบายวัฒนธรรมในช่วงเวลาต่าง ๆ เริ่มจากยุคอาณานิคมของญี่ปุ่น ตามด้วยการสืบทอดทางวัฒนธรรมจีนเป็นใหญ่ มาสู่การชูวัฒนธรรมท้องถิ่นไต้หวัน และเดินเข้าสู่สังคมบริโภคนิยม ดังนั้นแนวคิดหลักของพิพิธภัณฑ์กว่า 100 ปีที่ผ่านมา พัฒนาจากวัฒนธรรม "การถอดรื้อความเป็นญี่ปุ่น" (de-Japanizing) "การถอดรื้อความเป็นจีน" (de-Chinaizing) ไปสู่ "การทำให้เป็นไต้หวัน" (Taiwanizing) และ "ความคิดเรื่องการตลาดที่มุ่งการบริโภค" แนวทางพิพิธภัณฑ์วิทยายังคงพัฒนาจากสิ่งที่เรียกว่า พิพิธภัณฑ์วิทยาวิชาชีพ (expert museology) ที่เน้นในเรื่องการอนุรักษ์ ไปสู่ พิพิธภัณฑ์วิทยามหาชน(popular museology) ที่ให้ความสำคัญกับวิถีชาวบ้าน(folklore) นอกจากนี้ในเทคโนโลยีข่าวสารและรูปแบบของสื่อใหม่ ๆ ที่พลวัตสูงมากยังคงเข้าไปสนับสนุนการดำเนินงานของพิพิธภัณฑ์ มีพิพิธภัณฑ์เสมือนจริงมากมายเกิดขึ้นในเวบไซต์ เนื่องจากอินเตอร์เนตได้รับความนิยม พิพิธภัณฑ์ไต้หวันจึงกำลังก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงเพื่อการพัฒนาทีละน้อยไปสู่พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นและชุมชน พิพิธภัณฑ์มหาชน และพิพิธภัณฑ์เสมือนจริง แปลและเรียบเรียงจาก Yui-tan Chang. "Cultural Policies and Museum Development in Taiwan." Museum International. No. 232 (Vol. 58, No.4 2006): 64-68. หาอ่านข้อมูลเพิ่มเติมต่อได้ใน http://www.ntm.gov.tw/ http://english.cca.gov.tw/mp.asp http://www.nmh.gov.tw/nmh_web/english_version/index.cfm   ประวัติผู้เขียน - อุยตานชาง (Yui-tan Chang) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งคณบดีคณะอักษรศาสตร์และพิพิธภัณฑ์ศึกษา เป็นอาจารย์และประธานสถาบันบัณฑิตวิทยาลัยสาขาพิพิธภัณฑ์วิทยา และผู้อำนวยการศูนย์การแลกเปลี่ยนศิลปะนานาชาติที่มหาวิทยาลัยศิลปะแห่งชาติไทหนาน ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตจากภาควิชาพิพิธภัณฑ์ศึกษา มหาวิทยาลัย Leicester(สหราชอาณาจักร) ในปี 1993 ในระหว่างปี 1996-2001 เป็นผู้ช่วยภัณฑารักษ์ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติวิทยาศาสตร์ธรรมชาติแห่งเมืองไทชุง เคยสอนที่สถาบันบัณฑิตวิทยาลัย สาขาพิพิธภัณฑ์วิทยา และยังมีส่วนร่วมวางแผนโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์หนาน-ยวง (Nan-Young) ในเมืองอี้หลาน และพิพิธภัณฑ์แผ่นดินไหว 921 รวมถึงอนุสรณ์สถานในเมืองอู่ฟง  

นักสะสมกับการสะสม (Collectors and Collecting)

20 มีนาคม 2556

          บทความนี้มุ่งไปยังกิจกรรมการสะสมส่วนบุคคล แม้จะเห็นด้วยกับคำพูดที่ว่า  “การสะสมคือการบริโภค(consumption) นักสะสมมีความสุขตรงที่ได้แสวงหาสิ่งของเพื่อเติมเต็มคอลเล็กชั่นของตนให้สมบูรณ์ แม้ของเหล่านั้นเป็นของฟุ่มเฟือยที่หาประโยชน์อะไรไม่ได้”  แต่ในขณะเดียวกันข้าพเจ้า(ผู้เขียนบทความ) ก็ยังเชื่อด้วยว่า การสะสมอาจเป็นกิจกรรมที่ต่อต้านวัตถุนิยม (anti-materialistic)ได้ด้วยเช่นกัน          Abbas(1988) กับ Appadurai(1986) บอกว่า สำหรับนักสะสมแล้ว การเสาะหาวัตถุเพื่อเข้าสู่คอลเล็กชั่นเป็นการกระทำของการทำให้เกิดการโดดเด่นขึ้น(singularizing) กับเป็นการลดทอนการเป็นสินค้าทั่วไป(decommoditizing)โดยเมื่อวัตถุเข้าสู่คอลเล็กชั่น การเป็นสินค้าที่ซื้อมาขายไปแบบเดิมของมันจะยุติทันที และกลายเป็นของที่โดดเด่นที่ไม่ได้แลกเปลี่ยนอย่างเสรีกับสิ่งของที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจเท่ากันอีกต่อไป มูลค่าของมันได้ไปผูกติดกับคอลเล็กชั่นทั้งหมด ซึ่งคอลเล็กชั่นก็คือ กลุ่มสิ่งของที่นักสะสมสร้างขึ้นมา บ่อยครั้งเป็นการนำวัตถุออกมาจากวงจรเศรษฐกิจเดิมของมัน หรือชุบตัวมันจากของไร้ค่ากลายเป็นของขึ้นหิ้งไป จะเห็นว่าการบูชา (ritual act) วัตถุแบบนี้ ได้แยกเรื่องประโยชน์ใช้สอยของวัตถุที่เป็นเพียงสินค้าที่สร้างขึ้นด้วยเป้าหมายที่ตายตัวออกไป นักสะสมถูกมองว่า เป็นผู้ขี่ม้าขาวและผู้ช่วยชีวิตวัตถุมากกว่า เป็นนักบริโภคที่เห็นแก่ตัวและละโมบ          มุมมองที่หลากหลายว่าด้วยเรื่องนักสะสมในฐานะผู้บริโภคที่เห็นแก่ตัว และนักสะสมในฐานะฮีโร่โรแมนติก ต่างก็มีปรากฏอยู่ในงานวิจัยและบทความเกี่ยวกับการสะสมดังที่จะกล่าวต่อไปจากนี้ในบทความจะทบทวนประเด็นต่างๆ  ดังนี้-       นิยามของการสะสมและความพิเศษของมันที่ทำให้ต่างกับกิจกรรมอื่น ๆ-       สถานภาพของการสะสมในมิติประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เน้นที่จุดกำเนิดและการแพร่หลาย-       ใครคือนักสะสม, การสะสมเกิดขึ้นได้อย่างไร และผลที่ตามมาของการสะสมทั้งในแง่ปัจเจกและสังคม-       ทบทวนงานวิจัยและทฤษฎีเกี่ยวกับการสะสม วีธีวิทยาและแนวคิดต่าง ๆ-       พื้นที่ที่จะต้องการการวิจัยเพิ่มเติม นิยามการสะสม            ถ้าการสะสมเป็นการบริโภค มันก็คือประเภทของการบริโภคที่พิเศษกว่าแบบอื่น ในทางภาษาการบริโภคหมายถึงการใช้ให้หมดไป การตะกลาม หรือการล้างผลาญ แต่ในทางกลับกัน การสะสมก็เกี่ยวกับการเก็บ(keeping)รักษา(preserving)และสะสม(accumulating)หรือแม้แต่การสะสมประสบการณ์ที่จับต้องไม่ได้(เช่น คอลเล็กชั่นรายชื่อประเทศที่เคยไปเที่ยวมาแล้ว, การดูนก หรือจำนวนการเปลี่ยนคู่นอน) มีความรู้สึกของการเก็บไว้ในความทรงจำเข้ามาเกี่ยว สำหรับบางคนมื้ออาหารอาจหมายถึงการได้กินดื่ม ในขณะที่อีกคนมื้ออาหารเป็นประสบการณ์ในเชิงสังคมและรสชาติที่ทำให้เจริญอาหารและติดอยู่ในความทรงจำ ยกตัวอย่างการสะสมไวน์ ไวน์เป็นทั้งของสะสมและการบริโภคด้วย ช่องว่างในตู้ไวน์อาจหมายถึงตัวแทนของวาระสำคัญ, อาหาร และการสังสรรค์กับคนรู้ใจ ดังนั้น คอลเล็กชั่นอาจจะเป็นลำดับเหตุการณ์ต่อเนื่อง ไม่ใช่เพียงวัตถุที่อยู่ในความครอบครองในปัจจุบัน แต่อาจเป็นสิ่งที่เคยอยู่ในการครอบครองด้วยก็ได้            เมื่อมีการสะสมสินค้าอุปโภคบริโภค เราต่างแยกการสะสมให้โดดเด่นออกจากการสะสมประเภทอื่นและกิจกรรมการบริโภคแบบอื่น ในที่นี้การสะสมจึงหมายถึง            “กระบวนการการได้มาและการครอบครองของวัตถุที่เต็มไปด้วยความกระตือรือล้น, การเลือกสรร  และความหลงไหล ที่เคลื่อนย้ายวัตถุออกจากประโยชน์การใช้สอยเดิม และวัตถุนั้นถูกรับรู้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของชุดของวัตถุหรือประสบการณ์ที่ไม่เหมือนกัน”            นิยามนี้แยกการสะสมออกจากการบริโภคธรรมดาทั่วไป ขึ้นกับนักสะสมที่เคลื่อนย้ายวัตถุออกจากการใช้งานเดิมและวางพวกมันอยู่ในชุดที่ตัวเองนิยามไว้ ในขณะที่บางคอลเล็กชั่นเป็นวัตถุที่มีประโยชน์ใช้สอยเช่น ที่ใส่เกลือกับพริกไทย แต่เมื่อของสิ่งนี้เข้าไปสู่คอลเล็กชั่น มันก็ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นเครื่องปรุงรสอีกต่อไป การนิยามยังแยกการสะสมออกจากการรวบรวมหรือการกองระเกะระกะ แต่คอลเล็กชั่นต้องถูก “เลือก” อย่างน้อยอยู่บนฐานของขอบเขตชุดของวัตถุที่จะสร้างขึ้นเป็นคอลเล็กชั่น และการสะสมก็ต่างจากโกดัง(stock) ตรงที่จะไม่เก็บของที่ซ้ำกัน ตั้งอยู่บนกฎที่ว่าไม่เก็บของซ้ำกันสองชิ้น (no two alike)            จากนิยามข้างต้นคงจะช่วยให้แยกแยะได้ว่าของธรรมดาในบ้าน เช่น แผ่นเสียง หนังสือ หรือภาพถ่าย จะถือว่าเป็นการสะสมหรือไม่ ถ้าของเหล่านี้ถูกหยิบฟังได้อย่างเสรี ถูกหยิบมาอ่าน หรือภาพถ่ายที่เก็บไว้เป็นที่ระลึกเตือนความทรงจำ การใช้งานอย่างธรรมดานี้ไม่นับว่ามันคือส่วนหนึ่งของการสะสม แต่ถ้ามันถูกให้ค่าว่ามีการเก็บเป็นหมวดหมู่โดยไม่ว่าเป็นเกณฑ์ทางด้านความงามหรือวิทยาศาสตร์ นั่นแหละถึงจะเรียกว่าเป็นการสะสม(collecting)            นิยามของการสะสมที่จะใช้ในที่นี้อีกประการหนึ่งคือ การแยกออกจากกันระหว่างนักสะสมที่กระตือรือล้นในการแสวงหาวัตถุ กับภัณฑารักษ์ที่ไม่ได้ดิ้นรนในการหาของ ภัณฑารักษ์อาจจะเป็นนักสะสมที่เสาะแสวงหาวัตถุสำหรับคอลเล็กชั่นหนึ่ง แต่เมื่อการค้นหาสิ้นสุดลง การสะสมก็หยุดลงด้วย ในทำนองเดียวกัน ผู้รับมรดกบางคนหรือคนที่ซื้อคอลเล็กชั่นเข้ามาโดยปราศจากการหามาเพิ่ม หรือแทนที่วัตถุชิ้นหนึ่งด้วยวัตถุอีกชิ้น ก็เป็นได้เพียงภัณฑารักษ์ ไม่ใช่นักสะสม แต่นิยามนี้ยังชี้ให้เห็นอีกว่า คอลเล็กชั่นยังคงเป็นคอลเล็กชั่นต่อไปแม้นักสะสมสิ้นสุดการเป็นเจ้าของมันแล้ว ตราบใดที่วัตถุนั้นยังคงถูกแสวงหาอย่างเลือกสรร เพื่อที่จะถูกสร้างให้เป็นส่วนหนึ่งของชุดวัตถุที่ไม่เหมือนกัน คอลเล็กชั่นจึงสามารถอยู่คงทนกว่านักสะสม กล่าวได้ว่าการดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องของคอลเล็กชั่น เป็นสัญลักษณ์ของวัตถุซึ่งไม่มีวันตาย ถือเป้าหมายสูงสุดของนักสะสมหลายคน จุดกำเนิดและการแพร่หลายของการสะสม            เมื่อการสะสมเป็นกิจกรรมการบริโภคอย่างหนึ่ง จึงอาจคาดได้ว่าการสะสมอาจพัฒนาและเฟื่องฟูในยุคที่ลัทธิบริโภคนิยมเฟื่องฟูด้วย มีหลักฐานบางอย่างสนับสนุนสมมติฐานนี้ แต่ในขณะเดียวกันก็พบว่าราชสำนัก และวัด ก็มีคอลเล็กชั่น งานศิลปะ สรรพาวุธ และทรัพย์สินมีค่า อยู่ก่อนหน้านั้นแล้วจากงานวิจัยของ Rigby (1944) ชี้ให้เห็นว่าการสะสมเกิดขึ้นแพร่หลายหลังจากอาณาจักรกรีกถูกรวมเป็นปึกแผ่นโดยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ในศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสตกาล อันเนื่องมาจากการทะลักเข้ามาของสินค้าฟุ่มเฟือยจากตะวันออก โดยเฉพาะจากเปอร์เซีย วัตถุที่สะสมอาทิ ภาพเขียน ประติมากรรม งานเขียนต้นฉบับ อัญมณี เครื่องปั้นดินเผา พรม เครื่องแขวนผนัง และผ้าปัก เมือง Sicyon กลายเป็นศูนย์กลางในการผลิตและขายงานศิลปะ โดยอาศัยพวกดีลเลอร์เป็นผู้จัดหาของแก่พวกเศรษฐีใหม่เมื่อเมือง Pergamum ที่รุ่มรวยด้วยงานศิลปะ ตกอยู่ภายใต้อาณาจักรโรมันเมื่อ 133 ปี ก่อนคริสตกาล ยิ่งทำให้กระตุ้นความสนใจในการสะสมให้แพร่หลาย เกิดความสนใจใหม่ในศิลปะกรีกและเอเชียในกลุ่มเศรษฐีชาวโรมัน โดยเริ่มขึ้นในอาณาจักรโรมันช่วง 27 ปีก่อนคริสตกาล ดังที่ Rigby(1944) บอกไว้ว่า“ทุกวัน ผู้คนสามารถหาของสะสมได้ตลอดเวลา” ของที่ว่านี้รวมถึง งานศิลปะ, หนังสือ, ของเก่า, เหรียญ, รูปปั้น, เครื่องทองเหลือง, เซรามิก, พรม, เครื่องประดับ, อัญมณี, เฟอร์นิเจอร์, เครื่องเงิน, ฟอสซิล, แมลงในอำพัน ฯลฯ Sicyonยังคงเป็นเมืองศูนย์กลางนักท่องเที่ยวที่มักจะมีของติดไม้ติดมือกลับไปบ้านจำพัก เสื้อผ้าของOdysseusและเกราะของ Achillesระหว่างยุคกลางในยุโรป การสะสมเป็นกิมกรรมหลักของโบสถ์, ราชสำนัก และคนรวย เช่น Duke Jean de Berryและตระกูล  Medici อย่างไรก็ตามการขุดค้นสมบัติอาณาจักรโรมันในระหว่างปี ค.ศ. 1450 – 1550 ทำให้เกิดการสะสมเหรียญ, รูปปั้น และวัตถุโบราณอื่น ๆ แต่ยุคการสะสมเฟื่องฟูที่แท้จริงของคนธรรมดาทั่วไป ในยุโรปและจีนและญี่ปุ่น เริ่มในศตวรรษที่ 16 และ 17 ในแต่ละประเทศดังกล่าว การเติบโตของการสะสมสัมพันธ์กับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ถ้าไม่ใช่การค้าในประเทศก็เป็นการค้าต่างประเทศในเอเชียมีความแตกต่างบ้างในชุดของการวัตถุสะสม ของที่นิยม ได้แก่ ชุดน้ำชา, เฟอร์นิเจอร์เครื่องเขิน, ศิลปะการคัดลายมือและหินฝนหมึก, ม้วนภาพวาด, หิน, พิณ, ผ้า, ไม้หายาก, ภาชนะเผาเครื่องหอม, และเครื่องทองเหลืองโบราณ ของสะสมอื่น ๆ อาทิ อัญมณี, เครื่องประดับ, อาวุธ และหนังสือ ซึ่งเหมือนกับพวกยุโรป สำหรับนักสะสมชาวญี่ปุ่นในช่วงยุคเอโดะ(ค.ศ. 1603-1868)ของจากจีนและเกาหลี (ชุดน้ำชา, เครื่องดนตรี, ศิลปะคัดลายมือและกลอน) เป็นของสะสมที่ได้รับความนิยม นักสะสมชาวจีนที่มีชื่อเสียงในยุคกลางราชวงศ์หมิง(1550-1650)คือพวกพ่อค้าเศรษฐีใหม่ ความนิยมที่มากขึ้นแต่งานฝีมือยังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มชนชั้นสูงที่มีความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์กับพวกช่าง ทำให้เกิดการขาดแคลนงานศิลปะของแท้ ของเลียนแบบจึงเกิดขึ้น ว่ากันว่าเป็นธรรมดาที่ 1 ใน 10 ของภาพวาดที่มีทั้งหมดเท่านั้นที่จะเป็นของจริงแรงผลักสำคัญของการสะสมในยุโรปในช่วงเวลาเดียวกันคือ การเข้ามาของสิ่งมีค่าจากสหรัฐฯ และจากการค้ากับเอเชีย ระหว่างศตวรรษที่ 16-17 ชาวยุโรปหลายพันสร้างตู้ Wunderkammernที่ใส่ของสะสมที่มาจากดินแดนอื่น  โดยเป็นของจำพวก ฟันสัตว์ รองเท้า ขลุ่ย กระจก เรือแคน ตู้ Wunderkammernเป็นคอลเล็กชั่นของมหาชนที่เป็นต้นกำเนิดของสวนสัตว์และสวนพฤกษศาสตร์ขึ้น แสดงถึงความหลงใหลของชาวยุโรปต่อความเป็นอื่นที่แตกต่างจากตนเองทั่วทั้งยุโรปและอเมริกา การเติบโตของการสะสมมีแนวโน้มที่เป็นผลมาจากการพัฒนาวัฒนธรรมการบริโภค เช่น การแพร่หลายของการสะสมภาพวาดสีน้ำมัน, งานแกะสลัก, หัวทิวลิป, เปลือกหอย, เหรียญ, ก้อนแร่ และวัตถุอื่น ๆ การสะสมกลายเป็นที่นิยมสำหรับทั้งเด็กและผู้ใหญ่ การสะสมกลายเป็นสิ่งเฉพาะมากขึ้น ไม่เพียงแค่ประเภทของวัตถุสะสม แต่ยังรวมถึงช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์, เพศ, ชนิด, ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ และการแยกประเภทแบบอื่น ๆที่ถูกกำหนดเข้ามา แม้แต่คอลเล็กชั่นของตุ๊กตา หนังสือการ์ตูน กระป๋องเบียร์หากจะบอกว่าการสะสมเป็นเพียงการแสดงออกถึงวัฒนธรรมบริโภคก็คงจะไม่ถูกซะเดียวที เพราะมีหลักฐานว่าการสะสมเกิดขึ้นก่อนยุคประวัติศาสตร์เสียอีก โดยพบการสะสมก้อนกรวดเมื่อ 8000 ปีที่แล้วในถ้ำของฝรั่งเศส นอกจากนี้ก็ยังพบของสะสมอื่น เช่น ฟอสซิล ควอตซ์  หอยทะเล ในถ้ำอื่น  ๆด้วย นอกจากนี้ชุดของวัตถุเหล่านี้สามารถถูกมองได้ว่าเป็นคอลเล็กชั่นของส่วนบุคคลหรือกลุ่ม แนวโน้มที่ของการเกิดการสะสมจึงชัดเจนว่ามีมาก่อนวัฒนธรรมบริโภคนิยม และก็ไม่ได้ปฏิเสธด้วยว่านักสะสมยุคก่อนประวัติศาสตร์มีความรู้สึกถึงการเสาะแสวงหาและการเป็นเจ้าของ ที่จริงแล้ว ความเชื่อที่ว่าเมื่อคนตายแล้วควรถูกฝังไปพร้อมกับสิ่งของของเขาทำให้เห็นว่าการผูกติดของคนกับวัตถุยังคงมีต่อเนื่องไปถึงโลกหลังความตาย  วัตถุสะสมต่าง ๆ จึงอาจจะรับบางสิ่งบางอย่างมาจากต้นกำเนิดของมัน เหมือนกับที่Miller(2001)บอกว่าบ้านเก่าอาจจะมีผีอยู่ด้วยการแพร่หลายของการสะสมส่วนบุคคลส่วนหนึ่งเกิดมาจากการที่คอลเล็กชั่นที่มักจะอยู่ทนกว่าเจ้าของ นอกจากนี้ยังมีเหตุมาจากคอลเล็กชั่นที่ดีในพิพิธภัณฑ์ ก็มาจากคอลเล็กชั่นส่วนบุคคลที่ดีที่สุดด้วย พิพิธภัณฑ์ได้ให้รูปแบบว่าอะไรคือคอลเล็กชั่นที่ดี ซึ่งเป็นการให้ความชอบธรรมต่อการสะสม คอลเล็กชั่นเหล่านี้นอกจากถูก “บูชา” ในพิพิธภัณฑ์ ยังช่วยนิยามความรู้สึกของอัตลักษณ์ท้องถิ่น, ภูมิภาค และชาติด้วย เมื่อการสะสมของส่วนบุคคลเติบโตขึ้น บางครั้งพิพิธภัณฑ์จึงโตขึ้นตามไปด้วย แม้การสะสมจะแพร่หลายและเติบโตขึ้นเรื่อยๆ  แต่งานวิจัยที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการสะสมกับมีจำกัดมาก งานวิจัยที่สำคัญเรื่องการสะสม            งานวิจัยส่วนใหญ่ก่อนหน้านี้เรื่องการสะสมคือ งานเชิงประวัติศาสตร์และเน้นไปที่กิจกรรมการสะสมของวัฒนธรรมชนชั้นสูง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานศิลปะ Rigby(1944) ได้ทบทวนกว้าง ๆ เกี่ยวกับงานวิจัยดังกล่าวและยังอธิบายแรงจูงใจของนักสะสมด้วย และมีงานศึกษาที่น่าสนใจด้านอื่น ๆ ในเชิงประวัติศาสตร์ของนักสะสม(ทั้งชีวประวัติ และอัตชีวประวัติ) เช่น Walter Benjamin, Sigmund Freud, Engelman และ Andy Warhol            มีงานวิจัยจำนวนน้อยที่ตรวจสอบการสะสมในแง่กิจกรรมเชิงเศรษฐกิจ ในขณะที่พ่อค้าคนกลางและผู้ผลิตของสะสมอาจจะมองการสะสมในเชิงเศรษฐกิจ แต่นักสะสมส่วนใหญ่ไม่ใช่ นักสะสมดูเหมือนว่าจะได้ประโยชน์แบบอื่นจากกิจกรรมการสะสมของพวกเขา บางครั้งทฤษฎีและงานวิจัยเกี่ยวกับการสะสมที่เยี่ยมที่สุดคือ การพยายามเข้าใจว่าประโยชน์ที่ว่านั้นคืออะไร คำถามเรื่องแรงผลักดันของนักสะสมที่ถูกพูดถึงมักจะบอกว่า นักสะสมเป็นคนแปลก, หมกหมุ่น, ต่อต้านสังคม หรือบางคนชอบวัตถุมากกว่าคน ดังที่ Jean Baudrillard (1994)บอกว่า ลักษณะของนักสะสมเหมือนทารกและเป็นพวกขาดบุคลิกภาพ ส่วน Muensterberger (1994)  บอกว่า การสะสมกับอำนาจไสยศาสตร์ของสังคมมนุษย์ที่ยังไม่มีการศึกษา เดินคู่ขนานไปด้วยกัน และมีบางคนก็บอกว่า การสะสมเป็นธรรมชาติที่เลี่ยงไม่ได้ซึ่งมาจากมรดกวิวัฒนาการของมนุษย์ ข้อเสนอเหล่านี้บ่อยครั้งมองว่าการสะสมคล้ายคลึงกับพฤติกรรมของเก็บสะสมของสัตว์ แต่จะเห็นว่านิยามของการสะสมที่เราพูดถึงก่อนหน้านี้ ไม่เหมือนการเก็บสะสม(เชิงหวง/ซ่อน)ของสัตว์ ยิ่งกว่านั้น ความโดดเด่นของนักสะสมคือ เขาจะมีความต้องการที่จะสะสม และมีความปรารถนาอันแรงกล้า การสะสมของพวกเขาจึงน่าจะแตกต่างจากพฤติกรรมของสัตว์ นักเขียนในนิตยสารไทม์ของลอนดอน นำจดหมายถึงบรรณาธิการที่พูดถึงเรื่องนี้ว่า            “หมาที่เก็บกระดูกเก่า ซึ่งเกือบจะไม่มีเนื้อติดเอาไว้ ก็เหมือนกับนักสะสมที่เก็บของที่ล้าสมัยแล้วไว้ แสตมป์ที่ใช้แล้วสำหรับคนแล้วก็เหมือนกระดูกที่ไม่มีเนื้อติดของหมา แต่นักสะสมแสตมป์ก้าวไปไกลยิ่งกว่าหมาตรงที่ชอบแสตมป์เก่ามากกว่าใหม่ ในขณะที่หมาไม่ใช่ นักสะสมมีอะไรซับซ้อนมากกว่า เนื่องจากเขามักมีจินตนาการอยู่ก่อนแล้วเกี่ยวกับคอลเล็กชั่นที่สมบูรณ์แบบ แต่ไม่มีหมาที่ไหนจะฝันถึงการได้มาของกระดูกแบบต่าง ๆ ที่มีอยู่ในโลก”            Clifford(1985) บอกว่า เมื่อเราสอนเด็กถึงกฎของการเลือกเฟ้นและระบบการตั้งชื่อ เพื่อแนะแนวทางการสะสมให้พวกเขา ในขณะเดียวกันเราก็กระตุ้นให้เขาเสาะหาและเกิดความต้องการในการเป็นเจ้าของในสิ่งที่สะสมด้วย            แนวคิดอื่น ๆ เกี่ยวกับแรงจูงใจของนักสะสมเป็นเรื่องเชิงจิตวิทยามากขึ้น มีผู้เสนอว่าการสะสมเกิดมาจากความต้องการทางเพศและความหมกหมุ่นของนักสะสมที่ชอบการมอง การได้มา และหลงใหลในวัตถุที่สะสม โดยเป็นรูปแบบหนึ่งของความรู้สึกทางเพศก่อนการร่วมสังวาสและการมีเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้ยังมีคนอธิบายว่าการสะสมเหมือนกับกิจกรรมการแข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตาย เหมือนกับการล่าหรืออยู่ในสมรภูมิ บางคนบอกว่าการสะสมคือโรคหรือภาวะที่ถูกครอบงำอย่างหนึ่ง และบางคนบอกว่านักสะสมพยายามที่จะเติมเต็มสิ่งที่เขารักที่เขารู้สึกว่าขาดหายใจในวัยเด็ก            นักจิตวิทยาการศึกษาได้ศึกษาถึงพฤติกรรมการสะสมของเด็กในระหว่างครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 การศึกษาในปี 1900 พบว่านักเรียนมีคอลเล็กชั่นโดยเฉลี่ยระหว่าง 3-4 อย่าง มีมากสุดในเด็กอายุ 8-11 ปี การสะสมเริ่มลดน้อยลงในปี 1927 ในระหว่างเศรษฐกิจขาลงในทศวรรษที่ 1930 โดยพบกว่าเด็กอายุ 10 ปี มีคอลเล็กชั่น 12.7 อย่าง ซึ่งการสะสมนี้เกิดจากการว่างงานและขาดความหวัง และถูกมองว่าเป็นในเชิงการผลิตมากกว่าการบริโภค บางคนเรียกว่าเป็น “ความบันเทิงที่เอาจริงเอาจัง” (serious leisure)            อย่างไรก็ตามในสังคมบริโภคนิยม ก็มีการบริโภคในแง่มุมของการสะสมเช่นกัน อาทิ การสะสมตุ๊กตา, การ์ด,โปเกม่อน, เครื่องบินจำลอง แม้แต่ศาสนาก็ถูกทำให้เป็นสินค้า เมื่อเด็กอิสราเอลสะสมการ์ดRabbiอย่างไรก็ดีการสะสมก็มีขึ้นได้ในสังคมที่ไม่ใช่เศรษฐกิจแบบตลาด อย่างในโซเวียตและโรมาเนีย การสะสมแสตมป์, ป้ายรูปประธานเหมา และแผนที่ ก็มีให้เห็นทั่วไป            Campbell (1987) บอกว่าการพัฒนาของวัฒนธรรมการบริโภคนำไปสู่การทำให้โรแมนติก ทำให้เกิดความหลงใหล วัตถุในคอลเล็กชั่นที่ไม่มีราคาเป็นเรื่องของเศรษฐกิจโรแมนซ์มากกว่าเศรษฐกิจสินค้าเงินตรา วัตถุกลายเป็นของพิเศษ การสะสมคืออาณาจักรของตำนานที่เกี่ยวกับวัตถุจำพวกที่น่าศรัทธา เชิงพิธีกรรม และมีความศักดิ์สิทธิ์ ด้วยตำนานแบบนี้ บางครั้งนักสะสมมักมองว่าตัวเองเป็นผู้ชุบชีวิตทรัพย์สินที่ใช้การไม่ได้ให้กลับมามีคุณค่า ซึ่งเขามองว่าตนเองต่างกับพ่อค้าคนกลาง ด้วยกิจกรรมการสะสมที่ถูกทำให้โรแมนติกและวัตถุที่ถูกทำให้ศักดิ์สิทธิ์ ทำให้นักสะสมปฏิเสธได้ว่าพวกเขาไม่ได้เป็นพวกวัตถุนิยม            หลังจากจุดสูงสุดของการสะสมในวัยเด็ก เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นการสะสมจะน้อยลง แม้ว่าเด็กไม่ทั้งหมดจะทิ้งคอลเล็กชั่นของตน แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเช่นนั้น กิจกรรมการสะสมจะเกิดอีกครั้งในช่วงวัยกลางคน โดยเฉพาะในผู้ชาย ซึ่งอาจสะท้อนถึงอำนาจทางเศรษฐกิจที่มากกว่าผู้หญิง, การแข่งขัน หรือการอำนาจในการตัดสินใจ  แม้ว่าการสะสมจะถูกมองว่าเป็นแบบฉบับที่มีในผู้หญิง แต่ความแตกต่างในเพศสภาพ(gender)ไม่ค่อยมีอิทธิพลมากต่อการสะสม ร้อยละ41 ของคนอเมริกันที่เป็นนักสะสมเหรียญคือผู้หญิง และเกือบครึ่งหนึ่งของพวกนี้ก็เป็นนักสะสมแสตมป์ด้วย ในอังกฤษนักสะสมหญิงมีพอ ๆ กับชาย แต่นักสะสมหญิงมักจะถูกมองว่าสะสมเพียง “งานฝีมือกระจุกกระจิก” (bibelot) อย่างไรก็ดีชนิดของสะสมของหญิงและชายยังคงแตกต่างกัน ของสะสมผู้ชายเช่น กลไกต่าง ๆ, เครื่องใช้, อาวุธ ส่วนของผู้หญิง อาทิ ของตกแต่ง, ของใช้ในบ้าน, ของสวยงาม การวิพากษ์เกี่ยวกับงานสะสม            ท่ามกลางการวิจารณ์ต่าง ๆ ประเด็นหนึ่งคือ มองว่าคอลเล็กชั่นคือ วัตถุเล่นๆไม่จริงจังของการบริโภค(consumption)มากกว่าจะเป็นวัตถุที่สร้างสรรค์ของงานผลิต (production) การวิพากษ์ทำนองนี้มุ่งตรงไปยังนักสะสมผู้หญิง Saiselin (1984) ตั้งข้อสังเกตว่า ฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 19 ตามแบบฉบับ(stereotype)ผู้ชายถูกมองว่าเป็นนักสะสมที่เอาจริงเอาจัง ในขณะที่ผู้หญิงถูกมองเชิงเหยียดว่าเป็น “เพียงคนซื้อของกระจุกกระจิก” มีงานศึกษาเกี่ยวกับคู่สามีภรรยาของ Belk et. al. (1991)พบว่ามีความแตกต่างอย่างเป็นระบบของคอลเล็กชั่นระหว่างชายและหญิง คอลเล็กชั่นผู้ชายจะถูกมองว่าเป็นของจำพวก ขนาดใหญ่, แข็งแรง, โลกียวิสัย, กลไก, หายาก, เป็นวิทยาศาสตร์, จริงจัง, มีประโยชน์ใช้สอย, เตะตา, และไม่สดใส ในขณะที่ของผู้หญิงจะถูกมองว่าเป็นของที่ เล็ก, อ่อนแอ, อบอุ่น, เป็นธรรมชาติ, น่าทะนุถนอม, ดูเป็นงานศิลปะ, สนุกสนาน, ประดับประดา, สงบเสงี่ยม และสดใส จะเห็นว่าการวิพากษ์เช่นนี้ที่มีอคติในเพศสภาพ ไม่ต่างอะไรไปจากขบวนการทำให้โรแมนติกที่ Campbell(1987) บอกไว้ว่ามันเป็นแรงผลักดันในวัฒนธรรมการบริโภค เราอาจจัดคุณลักษณะของการวิพากษ์แบบนี้ว่า เป็นความเกินพอดีของการทำให้โรแมนติกท่ามกลางนักสะสม            การวิพากษ์แบบอื่นๆ ในการสะสม ได้แก่ การเผยให้เห็นว่าบุคลิกภาพในของหมกหมุ่นของคน ๆ หนึ่ง ซึ่งสูญเสียการควบคุม และเสพติดกับการเสาะแสวงหาและความต้องการเป็นเจ้าของ แม้ว่ามีนักสะสมจำนวนน้อยที่อาจจะเป็นพวกหมกหมุ่น แต่ก็ยังมีคนที่สามารถควบคุมกิจกรรมการสะสมของตนเองได้ ซึ่งตรงจุดนี้เราสามารถเห็นความเชื่อมโยงของรูปแบบที่โรแมนติก(romanticism) กับศิลปินแบบอุดมการณ์แบบโรแมนติก แม้ว่าอาจจะถูกแย้งว่า ศิลปินเกี่ยวข้องกับกิจกรรมการผลิตผลงานมากกว่าการบริโภค แต่ดังที่เคยกล่าวไว้ข้างต้นว่า แท้จริงแล้วมีความเป็นไปได้ที่จะเห็นนักสะสมเกี่ยวข้องกับกิจกรรมการผลิตผลงานที่สร้างสรรค์ได้ด้วยเช่นกัน            ส่วนหนึ่งที่ยุ่งยากเกี่ยวกับการวิพากษ์งานสะสม เนื่องจากมีนักสะสมที่หลากหลาย และมีเหตุผลมากมายในการสะสม งานวิพากษ์หนึ่งที่เด่นคือ Danet and Katriel(1989) พวกเขาแยกประเภทนักสะสมเป็นแบบ A ที่มุ่งมั่นสะสมให้ครบคอลเล็กชั่น และแบบ Bที่เห็นความงามเป็นสำคัญ ไม่จำเป็นต้องเป็นคอลเล็กชั่นสมบูรณ์ก็ได้ ซึ่งมีผู้วิพากษ์นักสะสมแบบ A ว่าอยู่ในพวกหมกหมุ่น ในขณะที่การวิพากษ์ในแบบ B มองว่าเป็นพวกโรแมนติก มูลเหตุ, การใช้เหตุผลตัดสิน และความพอใจในการสะสม            การวิพากษ์โดยตรงในการสะสมส่วนใหญ่ละเลยเรื่องคำถามว่า ทำไมนักสะสมจำนวนมากเลือกสะสมสิ่งของบางอย่าง และเราจะอธิบายกิจกรรมการสะสมนี้อย่างไร วัตถุบางอย่างไม่ได้ตั้งใจที่จะสะสม นักสะสมบางคนสะสมเพราะมีสิ่งเฉพาะตัวที่ไปเชื่อมโยงกับ ชื่อเล่นตัวเอง, มรดกของชาติหรือชาติพันธุ์, อาชีพ, หรือประสบการณ์ แต่บางครั้งการสะสมเริ่มจากการได้ “ของขวัญ” จากเพื่อนหรือครอบครัว ยิ่งไปกว่านั้น การที่เราตะหนักว่าเรามีของชนิดหนึ่งสองหรือสามชิ้น ก็เป็นจุดเริ่มของคอลเล็กชั่น งานศึกษาของ Belk (1995)พบว่าประโยชน์ที่ได้มาจากการสะสมคือ ความรู้สึกถึงการมีอำนาจและการเป็นผู้เชี่ยวชาญ            สำหรับการสะสมแล้ว วัตถุที่สะสมก่อให้เกิดโลกใบเล็กที่ซึ่งนักสะสมตั้งกฎเกณฑ์ของตนเองได้ นอกจากนี้ยังมีความรู้สึกถึงชัยชนะในอาณาจักรที่นิยามไว้แคบ ๆ ของวัตถุที่หายาก ก่อให้เกิดทั้งความเชื่อมั่นในทักษะของตน, การติดตามต่อเนื่อง และความเชี่ยวชาญ และจะเพิ่มความรู้สึกตื่นเต้นไปด้วยเมื่อโชคดีที่มีโอกาสพบวัตถุที่ต้องการในราคาที่ต่อรองได้ เรามักได้ยินเรื่องเล่าเกี่ยวกับการค้นหาของได้โดยบังเอิญอยู่เสมอ งานศึกษาของ Denefer (1980)บอกไว้ว่า ความรู้และความเชี่ยวชาญของนักสะสม เป็นแหล่งที่มาของสถานะภายในกลุ่มเพื่อนนักสะสมด้วยกันเอง บางคนถูกให้ความสำคัญว่ามีคุณูปการต่อวงการประวัติศาสตร์, วิทยาศาสตร์ และศิลปะ(แม้แต่คอลเล็กชั่นวัตถุที่ถูกมองว่าต่ำต้อย เช่นกระป๋องเบียร์ หรือ หุ่นจำลองช้าง) การรวบรวมและจัดประเภทสิ่งของเป็นสิ่งที่สนุกในตัวของมันเอง และก่อให้เกิดความภาคภูมิใจในกลุ่มคนที่สนใจเหมือนกัน การได้สังคมกับเพื่อนนักสะสมก็อาจก็สร้างความเพลิดเพลินทางสังคมและมีความรู้สึกของชุมชนเกิดขึ้นด้วย            คอลเล็กชั่นอาจสะท้อนความโหยหาอดีตของความสนุกและอิสระในวัยเด็ก นักสะสมบางคนพยายามหาความสำราญกับคอลเล็กชั่นที่สูญหายไปนานในวัยเด็ก เพราะนักสะสมวัยผู้ใหญ่มักเป็นอยู่ในช่วงเวลาที่ลูกหลานแยกตัวออกไป พวกเขาจึงมีทั้งช่องว่างที่จะเติมเต็มความเป็นครอบครัวอบอุ่นที่เคยมีก่อนหน้านี้ และมีเงินเหลือเฟือพอที่จะอุทิศให้กับคอลเล็กชั่น แต่ในขณะที่บางครั้งสมาชิกในครอบครัวก็เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมการสะสม และบ่อยครั้งที่สมาชิกในครอบครัวก็เริ่มขุ่นเคืองที่นักสะสมอุทิศเวลา, ความรัก, ความพยายาม และเงิน ให้กับงานสะสม คอลเล็กชั่นจึงกลายเป็นคู่ปรับ หรือ “เมียเก็บ” ของนักสะสม บรรดาสมาชิกในครอบครัวจึงไม่เต็มใจที่จะเก็บคอลเล็กชั่นพวกนี้ไว้เมื่อเจ้าของเสียชีวิต (ดังนั้นความหวังของการไม่มีวันตายของคอลเล็กชั่นที่นักสะสมแสวงหาก็เป็นอันจบสิ้น) ด้วยมูลเหตุนี้นักสะสมบางคนจึงพยายามหาทายาทส่งต่อคอลเล็กชั่นนอกจากคนในครอบครัว            แม้ว่านักสะสมอาจมีมูลเหตุการตัดสินใจสะสมว่า คอลเล็กชั่นของพวกเขาคือ การลงทุนทางเศรษฐกิจแบบหนึ่ง อย่างไรก็ดี ยังมีการอ้างว่าคอลเล็กชั่นของพวกเขาก็คือ บ้านสำคัญหลังการเกษียณ หรือเป็นมรดกสำหรับลูกหลาน เหล่านี้เป็นความพยายามของนักสะสมที่จะสร้างความชอบธรรมในการสะสมของพวกเขาว่าป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีเหตุผลมากกว่าการทำสิ่งที่ประหลาด นอกจากนี้ตลาดงานศิลปะ, การมีคอลเล็กชั่นของพิพิธภัณฑ์ และสื่อมวลชนที่สนใจต่อคอลเล็กชั่นที่โด่งดัง ก็ช่วยสร้างความชอบธรรมแก่การสะสมด้วย            การสะสมบางอย่างยังสร้าง “ความศักดิ์สิทธิ์” ให้ตัวมันเองด้วย และกลายเป็นของที่ “ราคาสูงจนหาค่าไม่ได้” Belk (1995b) ยกตัวอย่างว่า  ฟรอย์(Freud) กล่าวอรุณสวัสดิ์กับวัตถุโบราณของเขา และ Jungเห็นว่าหนังสือในคอลเล็กชั่นของเขามีชีวิตจิตใจเหมือนคน ก่อนหน้านี้ที่เรากล่าวถึงการสะสมที่อยู่บนฐานของความโรแมนติก และการเปรียบเทียบวัตถุนิยมกับการต่อต้านวัตถุนิยม และการอธิบายการสะสมในฐานะกิจกรรมที่ทำให้สินค้าหมดสิ้นความเป็นสินค้า(decommoditization)เป็นการย้ายวัตถุออกจากวงจรการตลาดและบูชามันในคอลเล็กชั่น วัตถุที่สะสมจึงไม่ใช่สิ่งที่แลกเปลี่ยนได้อีกต่อไป เมื่อมันเข้ามาอยู่ในคอลเล็กชั่น มันมักจะกลายเป็นของที่ได้รับการยกเว้นจากการตีค่าในเชิงตัวเงิน เนื่องจากนักสะสมให้ค่ามันในลักษณะมันเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนคอลเล็กชั่น วัตถุสะสมที่เคยมีประโยชน์ในเชิงใช้สอยก็จะไม่ได้เป็นเช่นนั้นอีกต่อไป คุณค่าในการใช้งานของวัตถุถูกจัดการใหม่และเปลี่ยนไปสู่คุณค่าเชิงสัญลักษณ์มากขึ้น การสะสมสามารถถูกมองว่าเป็นเครื่องบูชาที่เชื่อมต่อกับความศักดิ์สิทธิ์ เหมือนกับของขวัญที่ได้จากคนรักก็ทำให้มันเปลี่ยนรูปไปในเชิงพิธีกรรม จากของตลาดทั่วไปกลายเป็นสมบัติส่วนตัว ดังนั้นวัตถุที่อยู่ในคอลเล็กชั่นจึงถูกสร้างบริบทใหม่และเลื่อนไหลไปสู่สถานที่ของการเทิดทูน การเคลื่อนของวัตถุตลาด ๆ ไปสู่ตำแหน่งใหม่ดังกล่าว เป็นทั้งการเชิดชูและปฏิเสธวัฒนธรรมบริโภคไปในขณะเดียวกัน  ทิศทางการวิจัยในอนาคต            การสะสมไม่ว่าจะโดยบุคคลและพิพิธภัณฑ์เป็นงานสมัยใหม่ที่สำคัญในแง่ การรวบรวม, จัดการ และควบคุมกองสมบัติของโลก ไม่ใช่แค่การล่าและเก็บหาของ สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไปจากการสะสมในยุคแรกคือ การที่คอลเล็กชั่นถูกทำให้กลายเป็นสินค้าในตลาดของสะสมหลายแห่ง และการเกิดขึ้นของ “คอลเล็กชั่นสำเร็จรูป” (instant collections) ที่สำหรับขายล็อตใหญ่แก่สาธารณชน ในยุคอาหารสำเร็จรูป,uอินเตอร์เนตพร้อมใช้ และความพอใจสำเร็จรูปที่มีมากขึ้นในทุกวันนี้ ความเชื่อเกี่ยวกับคอลเล็กชั่นสำเร็จรูป ถูกมองว่าไม่ได้เกิดจากความพอใจในการสะสมอีกต่อไป  ไม่มีการเสาะแสวงหาและการตามล่าของหายาก   รวมไปถึงไม่มีการได้ลองใช้ทักษะและโชคในการเสาะหาของ และเกิดความยินดีที่ได้คิดและเห็นคอลเล็กชั่นที่เกิดขึ้น คอลเล็กชั่นสำเร็จรูปจากบริษัทอย่าง Franklin Mint,Danbury Mint, Lenox Collectionsและ Bradford Exchange  อาจจะมีเสน่ห์ต่อพวกภัณฑารักษ์ แต่ถ้าไม่มีการเสาะแสวงหาของอื่นในชุดสะสมจากบริษัทเหล่านี้ การเป็นผู้ซื้อแบบนั้นคงจะไม่เรียกว่านักสะสม อย่างไรก็ตาม กระบวนการทำให้กลายเป็นสินค้า, โลกาภิวัตน์ และการทำให้เป็นธุรกิจของงานสะสม สมควรได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น เช่น ผลกระทบการของประมูลใน eBay  บริษัทที่อำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการสะสมจะเห็นได้ว่าพ่อค้าคนกลางในตลาดของสะสมมีมาตั้งแต่สมัยกรีกและโรมันโบราณ และศิลปินที่มีชื่อเสียงก็มักได้รับการอุปถัมภ์จากนักสะสม แต่ในปัจจุบันเรื่องของพ่อค้าคนกลางหรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการสะสมอาจไม่เพียงแค่เรื่องความรู้และทุนที่จะสร้างการสะสมขึ้น หากแต่เป็นเรื่องของการโปรโมชั่น และแฟชั่นด้วย            นอกจากนี้การเกิดขึ้นของความต้องการในการสะสมสิ่งของ อาจจะต้องดูเพิ่มเติมในเรื่องขอบเขตหรือเส้นแบ่งระหว่างการสะสมและการบริโภค ดูวิธีการสร้างสินค้าธรรมดาให้กลายเป็นของศักดิ์สิทธิ์หรือของควรค่าแก่การสะสมได้อย่างไร  บางทีก็น่าขำ เมื่อ Walter Benjamin(1968) เป็นกังวลเกี่ยวกับงานศิลปะในยุคที่เกิดการทำของเลียนแบบ ในขณะเดียวกันเขากลับบูชากลไกการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่ได้ครั้งละมาก ๆ อย่างไรก็ดี ขั้วตรงกันข้ามที่เห็นได้ชัดนี้ทำให้เห็นความซับซ้อนในความสัมพันธ์ของเรากับเรื่องวัฒนธรรมวัตถุ (material culture)ในสังคม ในแง่การอุทิศตนและความชำนาญเรื่องวัตถุของนักสะสมช่วยสร้างความชอบธรรมให้กับการสะสม แม้ในวรรณกรรม นักสะสมมักถูกมองในแง่ลบว่าเป็นคนสันโดษที่ตระหนี่ก็ตาม  อย่างไรก็ดีถ้าอย่างน้อยการสะสมถูกมองว่าคือการบริโภคอย่างหนึ่ง ธรรมชาติคู่กันของมันก็คือเป็นได้ทั้งวัตถุนิยมหรือตรงกันข้าม และเนื่องจากวัฒนธรรมวัตถุนิยมที่อยู่ในสังคมบริโภคนิยมเป็นพื้นที่ที่ซับซ้อนของการแสดงตัวตน เต็มไปด้วยการย้อนแย้งต่าง ๆ มากมาย ดังนั้นการสะสมอาจถูกมองว่าเป็นการหมกหมุ่นที่ไม่มีสาระ และก็ไม่แน่อีกเหมือนกันว่า มันก็อาจถูกมองว่าเป็นความลึกซึ้งได้เช่นเดียวกัน สรุปความจาก Russell Belk. (2006) “Collectors and Collecting” in Handbook of Material Culture/ edited by Christopher Tilley. London : Sage Publications. โดยปณิตา สระวาสี   รายชื่อหนังสืออ้างอิง(เฉพาะที่ปรากฏในบทความแปล)Abbas, Acbar(1988)‘Walter Benjamin’s collector; the fate of modern experience’, New Literary History,20(autumn): 217-38.Appadurai, Arjun(1986) ‘Introduction: commodities and the politics of value’, in Arjun Appadurai(ed.),The Social Life of Things: Commodities in Cultural Perspective. Cambridge: Cambridge University Press,pp. 3-63.Baudrillard, Jean(1994)‘The system of collecting’, in John Elsner and Roger Cardinal(eds), The Cultures of Collection. Cambridge. MA: Harvard University Press,pp. 7-24.Belk et. al. (1991)‘Collection in a consumer culture’, in Highways and Buyways: Naturalistic Research from the Consumer Behavior Odyssey. Provo, UT: Association for Consumer Research, pp.178-215.Belk, Russell W. (1995a)‘Collecting as luxury consumption: effects on individuals and households’,Journal of Economic Psychology, 16(February): 477-90.Belk, Russell W. (1995b)Collecting in a Consumer Society. London; Routledge.Benjamin, Walter(1968)‘The work of art in the Age of Mechanical Reproduction’, in Hannah Arendt (ed.),trans. Harry Zohn, Illuminations. New York: Harcourt Brace, pp. 291-53.Campbell, Colin (1987) The Romantic Ethic and the Spirit of Modern Consumerism. Oxford: Blackwell.CliffordJames (1985)‘Objects and selves: an after word’, in Goerge W. Stocking,Jr(ed.), Objects and Others: Essays on Museums and Material Culture. Madison, WI: University of Wisconsin Press, pp.236-46.Danet, Brenda and Katriel, Tamar(1989)‘No two alike: the esthetics of collecting’, Play and Culture, 2(3): 253-77.Denefer, Dale (1980)‘rationality and passion in private experience: modern consciousness and the socialworld of old-car collections’, Social Problems, 22(April): 392-412.Miller, Daniel (2001) ‘Possessions’, in Daniel Miller(ed.), Home Possessions. Oxford:Berg, pp. 107-21.Muensterberger, Werner (1994) Collecting: an Unruly Passion: Psychological Perspectives. Princeton,NJ: Princeton University Press.Rigby, Douglas and Rigby, Elizabeth (1944)Lock, Stock and Barrel: the Story of Collecting.Philadelphia, PA: Lippincott.Saiselin, Remy G. (1984) Bricobracomania: The Bourgeois and the Bebelot. New Brunswick, NJ: RutgersUniversity Press.

  • «
  • 1
  • 2
  • »
20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร 10170
ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงวัฒนธรรม
2021 © ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
www.sac.or.th

วันจันทร์-ศุกร์ : 08.00-17.00 น.

TELEPHONE
0-2880-9429
E-MAIL
webmaster@sac.or.th
FAX
0-2880-9332

Content Manager

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล

ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล
นักวิชาการ

ช่องทางการรับฟังความคิดเห็น
Application : Smart SAC
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  • รายชื่อพิพิธภัณฑ์
  • Online Exhibits
  • Research & learning
  • สื่อสิ่งพิมพ์
  • เทศกาล และข่าวสาร
  • ศมส.
  • เพิ่มพิพิธภัณฑ์ใหม่
เกี่ยวกับเว็บไซต์
  • เกี่ยวกับโครงการ
  • ทีมงาน
  • ติดต่อเรา
  • สถิติพิพิธภัณฑ์
  • สถิติเว็บไซต์
ช่วยเหลือ
  • กฎ กติกา และมารยาท
  • คำถามที่พบบ่อย
  • แนะนำและแจ้งปัญหา
เกี่ยวกับโครงการ
  • เกี่ยวกับโครงการ
  • ทีมงาน
  • ติดต่อเรา
  • สถิติพิพิธภัณฑ์
  • สถิติเว็บไซต์