นโยบายวัฒนธรรมและการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ในไต้หวัน

 จุดเริ่มต้นของงานพิพิธภัณฑ์ในไต้หวันมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 100 ปี ตั้งแต่ช่วงเวลาที่เกาะไต้หวันตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของญี่ปุ่น(ค.ศ.1895-1945) 50 ปี ของการอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น มีพิพิธภัณฑ์เกิดขึ้น 18 แห่ง แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ หนึ่ง อาคารจัดแสดงสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ สอง เป็นศูนย์กลางการศึกษาหรือศูนย์สุขภาพ(health reference centre) และอื่น ๆ อาทิ พิพิธภัณฑ์ตามส่วนภูมิภาค พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา สวนสัตว์ สวนพฤกษศาสตร์ หอดูดาว

รัฐบาลภายใต้อาณานิคมของญี่ปุ่นพยายามส่งผ่านความคิดไปสู่คนไต้หวันไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง และกายภาพของชีวิตความเป็นอยู่ วิธีหนึ่งก็คือผ่านพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ เหล่านี้ อาทิ พิพิธภัณฑ์จวนข้าหลวงแห่งไต้หวัน(Taiwan Governor’s Mansion Museum) (ปัจจุบันคือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไต้หวัน) สังกัดสำนักงานอาณานิคม กระทรวงมหาดไทย เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงวิธีการของจักรวรรดิญี่ปุ่นในการตักตวงทรัพยากรทางธรรมชาติของอาณานิคม จากมุมมองด้านนโยบายวัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นเครื่องมือนำเสนอสังคมและประเพณีของไต้หวัน ต่อนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น และเป็นการเผยแพร่ความคิดชาตินิยมจักรวรรดิญี่ปุ่นต่อประชาชนของ "ดินแดนจักรวรรดินิยมใหม่" กล่าวได้ว่าที่นี่เป็นแบบฉบับของ "พิพิธภัณฑ์อาณานิคม" ในไต้หวัน



ปี 1945 หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ไต้หวันกลับสู่การปกครองภายใต้สาธารณรัฐประชาชนจีน ในปี 1949 เมื่อรัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋งพ่ายแพ้ในสงครามกลางเมืองและลี้ภัยมายังไต้หวัน พรรคก๊กมินตั๋งยังคงวุ่นวายในการจัดการเรื่องสถานการณ์ทางการเมือง จึงไม่มีนโยบายวัฒนธรรมอะไรที่เป็นรูปธรรม อย่างไรก็ดีมีพิพิธภัณฑ์จำนวน 10 แห่งได้รับการจัดตั้งขึ้นภายในช่วงเวลานี้ มี 3 พิพิธภัณฑ์อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ ได้แก่ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งชาติ ศูนย์การศึกษาวิทยาศาสตร์แห่งชาติไต้หวัน และศูนย์การศึกษาศิลปะแห่งชาติไต้หวัน แม้พิพิธภัณฑ์เหล่านี้มีขนาดไม่ใหญ่โตนัก แต่ตั้งอยู่ในทำเลที่ดี เข้าถึงง่าย และมีบทบาทสำคัญในการให้ความรู้แก่ประชาชนตั้งแต่ตอนนั้น และสามารถพูดได้ว่าเป็นตัวแทนผลงานของงานพิพิธภัณฑ์ไต้หวันในช่วงเวลานั้น

ตั้งแต่ปี 1965 - 1979 ภายใต้นโยบายเศรษฐกิจที่เน้นการส่งออก งานวัฒนธรรมของไต้หวันยังคงไม่มีอะไรโดดเด่นมากนัก สาระสำคัญหลักในนโยบายวัฒนธรรมของไต้วันในช่วงเวลานั้นเรียกว่า "ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการวัฒนธรรมจีน" สนับสนุนโดยรัฐบาลท่านเจียงไคเช็ค ประธานาธิบดีของสาธารณรัฐจีน(ไต้หวัน) และรั้งตำแหน่งหัวหน้า "คณะกรรมการพื้นฟูศิลปวิทยาการวัฒนธรรมจีน" ด้วย และในเวลาเดียวกันนั้นคือในปี 1966-76 สาธารณรัฐประชาชนจีนเกิด "การปฏิวัติวัฒนธรรม" นำโดยเหมาเจ๋อตุง รัฐบาลไต้หวันจึงพยายามอ้างว่าตนเป็นผู้สืบทอดวัฒนธรรมจีนอย่างแท้จริง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระราชวังหลวง สัญลักษณ์ของมรดกวัฒนธรรมจีน ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 1965 เพื่อเก็บสมบัติที่นำมาจากพระราชวังหลวงของจีนระหว่างการลี้ภัยทางการเมืองออกมา ที่นี่มีวัตถุกว่า 600,000 ชิ้น และได้รับการจัดลำดับให้ติด 1 ใน 5 ของพิพิธภัณฑ์สำคัญของโลก ถ้าไม่นับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระราชวังหลวงแล้ว ขนาดของพิพิธภัณฑ์ทั้ง 10 แห่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ไม่ได้มีความโดดเด่นอะไรเลย และจำนวนของพิพิธภัณฑ์บนเกาะรวมแล้วยังน้อยกว่า 50 แห่ง



ในปี 1987 รัฐบาลก๊กมินตั๋งยกเลิกกฎอัยการศึกที่ประกาศใช้มากว่า 38 ปี ด้วยการผ่อนคลายของข้อบังคับทางการเมืองและเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงขาขึ้น ทศวรรษที่ 1980 จึงเป็นจุดผกผันสำคัญของงานพิพิธภัณฑ์ไต้หวัน ภายใต้สังกัดของกระทรวงศึกษาธิการ บรรดาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาแห่งชาติ, พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์แห่งชาติ, พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์การทะเลแห่งชาติ, และพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางทะเลแห่งชาติ) ได้รับการพัฒนาภายใต้นโยบายการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ที่กำลังเฟื่องฟู ท่ามกลางพิพิธภัณฑ์เหล่านี้ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาถือเป็นพิพิธภัณฑ์ที่พรั่งพร้อมไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก และเนื้อหาการจัดแสดง จนสามารถเรียกได้ว่าเป็นผลงานชิ้นสำคัญของช่วงเวลานี้

และในช่วงเวลานี้เอง องค์กรส่งเสริมกิจกรรมด้านวัฒนธรรมในไต้หวันได้รับการเลื่อนชั้นไปสู่ระดับชาติ โดยแยกออกจากกระทรวงศึกษาธิการ ในปี 1981 คณะกรรมาธิการกิจกรรมวัฒนธรรม((Council for Cultural Affairs-CCA) จัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในฐานะหน่วยงานหนึ่งของรัฐบาลกลาง(เทียบเท่ากระทรวงวัฒนธรรม-ผู้แปล) ภายใต้การทำงานของหน่วยงานนี้ ก่อให้เกิดการสร้างศูนย์วัฒนธรรมในหลายอำเภอ และหลายเมือง สะท้อนความสนใจของรัฐบาลกลางที่มีต่อวัฒนธรรมท้องถิ่น พิพิธภัณฑ์เซรามิกอิงเก๋อ (Yingge) แห่งเมืองไทเป เป็นพิพิธภัณฑ์นำร่องที่มีห้องแสดงหัตถกรรมศิลปะท้องถิ่น ตั้งแต่ปี 1981-1990 มีพิพิธภัณฑ์ใหม่เกิดขึ้นกว่า 50 แห่ง และจำนวนพิพิธภัณฑ์ทั้งหมดบนเกาะเพิ่มขึ้นราว 90 แห่ง



ตั้งแต่ปี 1990-2000 จำนวนพิพิธภัณฑ์บนเกาะไต้หวันเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 90 แห่ง เป็น 400 แห่ง อาจจะไม่ถูกนักที่จะสรุปว่า การเติบโตที่สูงมากขนาดนี้เป็นสิ่งที่ผิดปกติ แต่ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่เรียกได้ว่าเกิดปรากฏการณ์ใหม่คือ การเกิดขึ้นของพิพิธภัณฑ์ตามภูมิภาค อันเป็นผลมาจากนโยบายต่าง ๆ ของคณะกรรมาธิการกิจการวัฒนธรรม (Council for Cultural Affairs) อาทิ "การก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานสำหรับชุมชน" (Communities Infrastructure Establishment) "การก่อตั้งพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมท้องถิ่น" (Construction of Local Cultural Museums) นโยบายเปล่านี้ขยายจากเมืองไปสู่ชนบทและเขตชุมชนเล็ก ๆ เป็นความพยายามนำเสนอสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละเมือง, การนำเสนอความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์, การจัดการทรัพย์สินทางวัฒนธรรม, และการฟื้นตัวใหม่ของอุตสาหกรรมท้องถิ่น พิพิธภัณฑ์ที่เกิดขึ้นจากศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่นและเน้นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นหรืออุตสาหกรรมท้องถิ่น ค่อย ๆ กลายเป็นกระแสหลัก เป็นการประกาศถึงการขึ้นมาของ "ยุคแห่งภูมิภาค" ในการพัฒนาของพิพิธภัณฑ์ไต้หวัน นอกจากนี้ พิพิธภัณฑ์เอกชนยังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พิพิธภัณฑ์หลายแห่งได้รับการสนับสนุนจากองค์กรภาคเอกชน เช่น พิพิธภัณฑ์ชวงเย (Shung Ye) ของชาวฟอร์มูซาน(Formusan) พิพิธภัณฑ์ไชเมื่อย (Chi Mei) พิพิธภัณฑ์ฮอนชี (Hone Shee) และShu Huo Memorial Paper แสดงถึงความก้าวหน้าและศักยภาพอันมหาศาลของพิพิธภัณฑ์ที่ดำเนินงานโดยเอกชน ทั้งในเรื่องของขนาดองค์กร เทคนิคการบริหารจัดการ

ในปลายทศวรรษ 1990 การแปลงพิพิธภัณฑ์ให้ไปอยู่ภายใต้การบริหารของเอกชนเริ่มเข้ามามีบทบาทในวงการพิพิธภัณฑ์ไต้หวัน แม้ว่าการเติบโตของพิพิธภัณฑ์เอกชนจะโดดเด่นอย่างมากในไม่กี่ปีมานี้ แต่พิพิธภัณฑ์ที่ก่อตั้งโดยรัฐบาลกลางและท้องถิ่นยังคงมีจำนวนถึง 2 ใน 3 ของพิพิธภัณฑ์ทั้งหมดในไต้หวัน เนื่องจากแรงกดดันในเรื่องค่าใช้จ่ายทั้งบุคคลและการดำเนินงาน ประกอบกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของไต้หวันยังคงอยู่ในภาพที่ยังไม่ค่อยดีนักในช่วงเวลาดังกล่าว งานบริหารงานทั่วไปโดยจ้างบริษัทภายนอกเข้ามาบริหาร (contracting-out) จึงได้รับความนิยมในวงการพิพิธภัณฑ์ของไต้หวัน เริ่มด้วย Taipei’s 228 Memorial Hall จากนั้นพิพิธภัณฑ์การขนส่งสำหรับเด็กแห่งไทเป และพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยไทเป ก็ดำเนินรอยตามอย่างรวดเร็ว ส่วนพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ เช่นพิพิธภัณฑ์แห่งชาติทางทะเล และพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำเป็นที่แรกที่ประสบความสำเร็จในการนำวิธีการ จ้างบริษัทภายนอกเข้ามาบริหารในส่วนของการบริการทั่วไปแก่ผู้เข้าชมและการนำ ชม ในขณะที่กลุ่มพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติทั้งหมดกำลังเตรียมที่จะนำวิธี การนี้มาใช้ การเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยมีมาก่อนในระบบการบริหารจัดการของ พิพิธภัณฑ์ในไต้หวัน ที่เกิดขึ้นครั้งแรกในรอบ 100 ปี เจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์หลายแห่งรู้สึกถึงวิกฤตที่กำลังมาเยือน เหมือนกับคำสุภาษิตจีนที่ว่า "เมื่อลมพัดผ่านหอสูงไป ทำให้เกิดพายุใหญ่ในหุบเขา"

กล่าวโดยสรุป นโยบายวัฒนธรรมในไต้หวันพัฒนาอยู่บนพื้นฐานของเงื่อนไขที่ต่างกันของสถานการณ์ทางการเมืองและสังคม ได้แก่ ช่วงตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของญี่ปุ่น, ภายใต้การปกครองของรัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋ง พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า และแนวคิดเรื่องประชาธิปไตยร่วมสมัยและกลยุธทธด้านการตลาดนำ พิพิธภัณฑ์สะท้อนนโยบายวัฒนธรรมในช่วงเวลาต่าง ๆ เริ่มจากยุคอาณานิคมของญี่ปุ่น ตามด้วยการสืบทอดทางวัฒนธรรมจีนเป็นใหญ่ มาสู่การชูวัฒนธรรมท้องถิ่นไต้หวัน และเดินเข้าสู่สังคมบริโภคนิยม ดังนั้นแนวคิดหลักของพิพิธภัณฑ์กว่า 100 ปีที่ผ่านมา พัฒนาจากวัฒนธรรม "การถอดรื้อความเป็นญี่ปุ่น" (de-Japanizing) "การถอดรื้อความเป็นจีน" (de-Chinaizing) ไปสู่ "การทำให้เป็นไต้หวัน" (Taiwanizing) และ "ความคิดเรื่องการตลาดที่มุ่งการบริโภค" แนวทางพิพิธภัณฑ์วิทยายังคงพัฒนาจากสิ่งที่เรียกว่า พิพิธภัณฑ์วิทยาวิชาชีพ (expert museology) ที่เน้นในเรื่องการอนุรักษ์ ไปสู่ พิพิธภัณฑ์วิทยามหาชน(popular museology) ที่ให้ความสำคัญกับวิถีชาวบ้าน(folklore) นอกจากนี้ในเทคโนโลยีข่าวสารและรูปแบบของสื่อใหม่ ๆ ที่พลวัตสูงมากยังคงเข้าไปสนับสนุนการดำเนินงานของพิพิธภัณฑ์ มีพิพิธภัณฑ์เสมือนจริงมากมายเกิดขึ้นในเวบไซต์ เนื่องจากอินเตอร์เนตได้รับความนิยม พิพิธภัณฑ์ไต้หวันจึงกำลังก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงเพื่อการพัฒนาทีละน้อยไปสู่พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นและชุมชน พิพิธภัณฑ์มหาชน และพิพิธภัณฑ์เสมือนจริง

แปลและเรียบเรียงจาก Yui-tan Chang. "Cultural Policies and Museum Development in Taiwan." Museum International. No. 232 (Vol. 58, No.4 2006): 64-68.

หาอ่านข้อมูลเพิ่มเติมต่อได้ใน
http://www.ntm.gov.tw/
http://english.cca.gov.tw/mp.asp
http://www.nmh.gov.tw/nmh_web/english_version/index.cfm
 
ประวัติผู้เขียน - อุยตานชาง (Yui-tan Chang) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งคณบดีคณะอักษรศาสตร์และพิพิธภัณฑ์ศึกษา เป็นอาจารย์และประธานสถาบันบัณฑิตวิทยาลัยสาขาพิพิธภัณฑ์วิทยา และผู้อำนวยการศูนย์การแลกเปลี่ยนศิลปะนานาชาติที่มหาวิทยาลัยศิลปะแห่งชาติไทหนาน ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตจากภาควิชาพิพิธภัณฑ์ศึกษา มหาวิทยาลัย Leicester(สหราชอาณาจักร) ในปี 1993 ในระหว่างปี 1996-2001 เป็นผู้ช่วยภัณฑารักษ์ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติวิทยาศาสตร์ธรรมชาติแห่งเมืองไทชุง เคยสอนที่สถาบันบัณฑิตวิทยาลัย สาขาพิพิธภัณฑ์วิทยา และยังมีส่วนร่วมวางแผนโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์หนาน-ยวง (Nan-Young) ในเมืองอี้หลาน และพิพิธภัณฑ์แผ่นดินไหว 921 รวมถึงอนุสรณ์สถานในเมืองอู่ฟง
 
วันที่เผยแพร่ครั้งแรก: 29 ธันวาคม 2554
วันที่แก้ไข: 30 ตุลาคม 2557