โพสต์เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2567 เวลา 10:47:16
บทความโดย : ทีมงาน
เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน ที่หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร (วังท่าพระ) เขตพระนคร กรุงเทพฯ เนื่องในโอกาสครบรอบ 70 ปี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดเวทีแถลงข่าว ‘ค้นความหลากหลาย ไท-ไทย’ เพื่อสร้างความเข้าใจถึงความหลากหลายทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรม ซึ่งก่อร่างมาเป็นประเทศไทย ตลอดจนลดอคติทางวัฒนธรรม อันเป็นสาเหตุของปัญหาความขัดแย้งหลายประการในสังคมไทย
บรรยากาศเวลา 10.00 น. มีการเสวนา ‘ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ภาษา และชาติพันธุ์ของผู้คนในดินแดนไทย’ ซึ่งเป็นการเปิดผลการวิจัยล่าสุด ได้แก่ การค้นพบหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับพันธุกรรมศาสตร์ทางโบราณคดี สอดคล้องสัมพันธ์กับการศึกษาวิจัยอื่นๆ ที่ดำเนินการโดยสาขาวิชาต่างๆ ของคณะฯ ซึ่งช่วยตอบคำถามทางประวัติศาสตร์ความเป็นมาของผู้คนบนดินแดนไทย สะท้อนว่า ไทยเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ และ วัฒนธรรมเป็นอย่างมาก มีการอยู่ร่วมกันของผู้คนที่แตกต่าง ซึ่งหลอมรวมทางวิถีชีวิตมาร่วมกันอย่างยาวนาน
โดยนำเสนอมุมมองทั้ง 4 ด้านดังนี้ ด้านโบราณคดีโดย ศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช และอาจารย์ ดร.นฤพล หวังธงชัยเจริญ จากภาควิชาโบราณคดี, ด้านภาษาและจารึก โดย ผศ.ดร.กังวล คัชชิมา ภาควิชาภาษาตะวันออก, ด้านมานุษยวิทยา โดย ผศ.ดร.ดำรงพล อินทร์จันทร์ ภาควิชามานุษยวิทยา, ด้าน ประวัติศาสตร์ศิลปะ โดย รศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ ดำเนินรายการโดย น.ส.วรรณศิริ ศิริวรรณ ผู้ประกาศข่าวสำนักข่าวไทย (อสมท.) อดีตศิษย์เก่า
ในตอนหนึ่ง ผศ.ดร.กังวลกล่าวว่า ในเรื่องเกี่ยวกับตัวอักษรและจารึก ได้สนับสนุนผลการวิจัยของ ศ.ดร.รัศมี ในช่วงยุคก่อนประวัติศาสตร์ คือช่วงก่อนที่จะมีตัวอักษรใช้ ส่วนช่วงประวัติศาสตร์ เมื่อมีตัวอักษรใช้ในการบันทึก
ทฤษฎีที่ว่ากันต่อมา คือเรารับตัวอักษรมาใช้ช่วงประมาณปี 1,000 อักษรแบบ ‘ปัลลวะ’ หลังศึกษา มีข้อมูลประกอบมากขึ้น พบว่ามีตัวอักษรที่เก่าไปกว่านั้นคือมากกว่า 1,000 ปี ภาษาที่เราพบสมัยแรกๆ มีการหยิบยืมตัวอักษรจากอินเดียมา ซึ่งต้องพัฒนาหลายร้อยปี จึงจะเขียนภาษาของตัวเองได้ ภาษาแรกๆ ที่รับมา นอกจากสันสกฤตแล้ว ยังมีมอญโบราณ และเขมรโบราณ ซึ่งยังไม่ได้มีแค่นั้น
จากงานวิจัยที่ อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน เป็นสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เราไม่สามารถสืบย้อนการใช้ภาษาไปจนถึงยุคก่อนประวัติศาสตร์ได้ เพราะจำกัดอยู่เท่าที่มีหลักฐาน การศึกษาด้านโบราณคดีหรือจารึกจะต้องมีหลักฐาน แม้จะมีการกล่าวอ้างว่า ตัวอักษรแบบกระเบื้องจาน สามารถย้อนได้ไปถึง 6,000-8,000 ปี แต่ว่ามันไม่มีหลักฐานที่ชี้ว่าจะมีความสัมพันธ์กับภาษาในปัจจุบันได้
“การที่คณะโบราณคดีบอกว่าจารึกแบบนี้อ่านแล้วแปลแบบนี้ แน่ใจได้อย่างไรว่าอ่านถูก ไปเข้าทรงมาหรือ จริงๆ แล้วพิสูจน์ง่ายมาก ของที่ขุดค้นพบใหม่ มันถูกทับถมหลายร้อยพันปี ถ้าเราไปค้นพบตัวอักษรหรือจารึก แล้วมันสอดคล้องกับสิ่งที่เราได้เรียนได้สอนในปัจจุบัน เท่ากับว่า มันถูกต้องแล้ว แต่ถ้าขุดไปเจอตัวอักษรประหลาดๆ อ่านไม่ได้ นั่นแสดงว่าที่เราสอนนั้นผิด
หลายสิบปีที่ผ่านมา มีการขุดค้นพบหลักฐาน ใหม่ๆ และสอดคล้องกับหลักฐานที่เราแปลได้ แสดงว่ามันค่อนข้างถูกต้อง 99%”
“ผมว่าตัว ‘จารึก’ จะบอกความรู้สึกนึกคิด ที่เขาคิดในขณะนั้นได้ดีที่สุด จารึกที่ถูกเขียนไว้บ่งบอกว่าเรื่องนั้นๆ เขากำลังคิดอะไร เช่น เราเจอกรุพระ ที่เขียนว่า ‘ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค’ ตอนแรกไม่เข้าใจว่าเขียนเพื่ออะไร แล้วเราไปเห็นว่าเขาเอาไปฝังรวมกลุ่มกัน เราก็ตีความว่ามันอาจจะเป็นการสืบทอดศาสนาหรือเปล่า ตีความจากเนื้อหาที่เขาเขียนด้วยส่วนหนึ่ง”
“เขารู้สึก คิด และมีความตั้งใจเกี่ยวกับโลกหน้า เขียนเพื่อการบุญตามความเชื่อตามศาสนา ที่ว่าพุทธศาสนาจะมีอายุ 5,000 ปี เขาอาจจะเขียน เพื่อให้คนรุ่นหลัง พบว่า บริเวณนี้เคยมีพุทธศาสนาปรากฏอยู่ ที่ชัดเจนมากคือเรื่องโลกนี้-โลกหน้า ภาษาสันสกฤตในจารึกโบราณ สมมติเขาทำบุญถวายสิ่งนี้ เขาจะเขียนบอกเล่าว่าเขาเป็นใคร ไม่ได้เขียนว่าทำบุญด้วยสิ่งนี้ 1 ชิ้น เขาจะเล่าเลยว่า ตั้งแต่ต้นวงศ์เป็นใคร ครองเมืองเรื่อยมา เหมือนอย่างปราสาทสด๊กก๊อกธม ก็เล่าว่าใหญ่มาจากไหน เล่าย้อนไป 250 ปี”
ผศ.ดร.กังวลกล่าวต่อว่า ในขณะเดียวกัน คนที่อยู่ร่วมสมัย ‘ทวารวดี’ เวลาเขียน เขียนแต่คาถา ส่วนตัวสันนิษฐานว่ากลัวพุทธศาสนาจะหายไปหรือไม่ ไม่ได้เขียนถึงกษัตริย์แม้แต่พระองค์เดียว จนกระทั่งปัจจุบันเราจึงเขียนถึงประวัติศาสตร์ทวารวดีไม่ได้เลย
“ข้อจำกัดก็มี คือเข้าไม่ได้เขียนทุกสิ่งทุกอย่างไว้ ฉะนั้น ข้อความที่เขียนบอกเล่าเรื่องราว มันจะบอกทุกโจทย์ที่เราศึกษาได้ ศิลปะแบบนี้ปรากฏช่วงไหน ความคิดเหล่านี้ได้จากศิลาจารึกเป็นส่วนมาก”
ผศ.ดร.กังวลกล่าวด้วยว่า ค่อนข้างชัดว่า คนเมื่อ 1,000-2000 ปีที่แล้ว คิดถึงเรื่องความตายชัดเจน ปรากฏในคำสาปแช่งที่ว่า ขอให้มันผู้นั้นตกนรก แล้วบอกชื่อขุมนรกด้วย ความเชื่อสะท้อนออกมา ‘ถ้าเกิดมันผู้นี้ เอาของ…ไปใช้ ก็ขอให้มันตกนรก ถ้าช่วยดูแลทะนุบำรุง ขอให้ขึ้นสวรรค์’
“มันมีคำสาปแช่งด้วยว่า ‘ขอให้ตกนรก ตราบเท่าที่พระจันทร์และพระอาทิตย์ยังมีอยู่’ ที่น่าสนใจ ที่ปราสาทตาเมือนธม มันมีคำสาปแช่งไว้ว่า ‘ขอให้ตกนรกตราบเท่าที่พระศิวะยังมี 3 ตา พระนารายณ์ยังมี 4 มือและพระพรหมยังมี 4 หน้า’
แต่มีจารึกอีก 2 หลักที่ไม่แน่ใจว่าสัมพันธ์กันอย่างไรอันหนึ่งที่กัมพูชา และที่พม่า พูดคำสาปแช่งเหมือนกัน คือ ‘ขอให้มันพร้อมกับเผ่าพงศ์ จงตกนรก พอหมดกรรม ขอให้ไปเป็นหนอนในกองขี้หมา'” ผศ.ดร.กังวลเผย
ผศ.ดร.กังวลกล่าวว่า สำหรับคนรุ่นหลัง ก่อนอื่นเราต้องถามตัวเองว่า เมื่อเรียน เข้าใจแล้วว่ากว่าจะมาเป็นเรา ต่อไปจะเป็นอย่างไร คนไทยมาจากไหน เราถามเยอะแล้ว แต่คนไทยจะไปไหน ? เรื่องเกี่ยวกับศิลาจารึก กว่าจะมาเป็น ก. ไก่ ในปัจจุบันเป็นมาอย่างไร บางครั้งตัวหลักฐานที่จะพบใหม่เริ่มน้อยลงๆ แต่สิ่งที่เราสนใจตอนนี้ คือ ที่ผ่านมาเราดูรอบด้านหรือยัง ลองวิเคราะห์จากหลักฐานเก่าที่มี
“เอาง่ายๆ จารึกวัดพระงาม ที่ จ.นครปฐม มีคำว่า ‘โจตะกา’ ของทวาย แปลว่า นกคุ่ม ผมตื่นเต้น คนเมื่อ 1,400 ปีที่แล้ว เขาปล่อยนกปล่อยปลา แต่หลังจากที่มีการเผยแพร่ไปแล้ว เมื่อมานั่งคิดใหม่ เป็นไปได้หรือไม่ว่า มันเลือนหายไปนิดเดียว ถ้าไม่มีสระโอ แต่เป็นสระเอ ‘เจตะกา’ ความหมายเปลี่ยนเลย มันแปลว่า ข้ารับใช้ หรือทาส
ดังนั้น เป็นความรับผิดชอบของคนที่จะศึกษา รุ่นใหม่ๆ เดิมที่เคยเชื่ออย่างนั้น เพราะมันมีหลักฐานแค่นั้น เราจึงต้องใช้หลายแนวคิด” ผศ.ดร.กังวลกล่าว
ในช่วงท้าย ผศ.ดร.กังวลกล่าวเสริมถึงความรู้เรื่อง การสืบทอดทางฝ่ายผู้หญิง ซึ่งในตัวจารึกเอง เวลาจะ ‘ถวายข้าทาส’ มักจะบอกว่าเป็นลูกของนางอะไร ไม่ได้บอกชื่อผู้ชาย เราเห็นถึงความเข้มแข็งของการสืบทอดทางฝ่ายผู้หญิงในจารึก กระทั่งในหมู่พราหมณ์
“การอ้างสิทธิ์สืบทอดราชสมบัติ นอกจากจะอ้างฝ่ายพ่อแล้ว เขาจะต้องอ้างฝ่ายแม่ด้วย เช่นในอดีต รุ่นทวดของแม่เคยเป็นน้องของกษัตริย์องค์นี้ แล้วก็ไล่สายมาจนถึงสิทธิที่เขาจะได้ขึ้นครองราชย์ หรืออย่างเรื่องในปราสาทสด๊กก๊อกธม คนที่จะทำพิธีกรรมได้ ต้องเป็นผู้ชาย ต้องบวชเป็นพราหมณ์ แต่วิธีการสืบทอดถ้าเชื่อแบบพราหมณ์ ใครก็ตามที่ไม่มีลูกชาย จะต้องตกนรก
แต่พอมาเป็นบ้านเรา คนที่สืบทอด ต้องเป็นลูกชายของพี่สาวหรือน้องสาวเท่านั้น วิธีสืบทอดไม่เหมือนกับทางอินเดีย วิธีการของบ้านเรา มีการสืบทอดทางฝ่ายหญิงเป็นใหญ่ ซึ่งเข้าไปมีอิทธิพล แม้กระทั่งในแง่รัฐศาสนา” ผศ.ดร.กังวลกล่าว
ข่าวและภาพจาก มติชนออนไลน์
https://www.matichon.co.th/education/religious-cultural/news_4895608
ผู้เขียน :
คำสำคัญ : จารึกถวายทาส กังวล คัชชิมา จารึกเขมรโบราณ