ข่าวจารึก

The Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
  • images

สำนักศิลปากรที่ ๔ ลพบุรี ทำการเคลื่อนย้ายจารึกบ้านดงคล้อ ๑ และจารึกบ้านดงคล้อ ๒ ไปเก็บรักษาที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์

สำนักศิลปากรที่ ๔ ลพบุรี ทำการเคลื่อนย้ายจารึกบ้านดงคล้อ ๑ และจารึกบ้านดงคล้อ ๒ ไปเก็บรักษาที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์

QR-code edit Share on Facebook
เวลาที่โพส

โพสต์เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 เวลา 09:14:40

บทความโดย : ทีมงาน

วันศุกร์ที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๖๖ นายปริวรรษ เจียมจิตต์ นักโบราณคดีปฏิบัติการ กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๔ ลพบุรี ร่วมกับเจ้าหน้าที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ดำเนินการเคลื่อนย้ายจารึกบ้านดงคล้อ ๑, จารึกบ้านดงคล้อ ๒ และโกลนหินทราย จำนวน ๒ ชิ้น นำมาเก็บรักษาและอนุรักษ์เบื้องต้นไว้ที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ 



จารึกบ้านดงคล้อ ๑ และจารึกบ้านดงคล้อ ๒ ถูกค้นพบเมื่อ ๑๓ ปีมาแล้ว ตามรายงานกล่าวว่า 
ในวันศุกร์ที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๓ สำนักศิลปากรที่ ๔ ลพบุรี ได้รับการแจ้งขอให้ตรวจสอบการค้นพบศิลาจารึกที่บ้านดงคล้อ หมู่ที่ ๖ ตำบลวังกวาง อำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ คณะสำรวจจากกลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๔ ลพบุรี และอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ประกอบด้วย นางสาวภัคพดี อยู่คงดี นักโบราณคดีชำนาญการพิเศษ นายเจตน์กมล วงษ์ท้าว นักโบราณคดีชำนาญการ นายธวัชชัย ชั้นไพศาลศิลป์ นักโบราณคดีปฏิบัติการ และคณะ  จึงได้เดินทางไปตรวจสอบกรณีดังกล่าว พบว่าบริเวณที่พบจารึกมีสภาพภูมิประเทศเป็นเนินสูง ๆ ต่ำ ๆ ของภูเขาสูง ในเทือกเขาเพชรบูรณ์อันเป็นเขตรอยต่อกับจังหวัดเลย พบศิลาจารึกที่ต่อมาเรียกว่า “จารึกบ้านดงคล้อ ๑” ตั้งอยู่ในเพิงที่ชาวบ้านทำไว้เป็นการชั่วคราว และคณะสำรวจทำการตรวจสอบพื้นที่เพิ่มเติมพบศิลาจารึกอีกหลักหนึ่ง “จารึกบ้านดงคล้อ ๒” วางนอนอยู่ในป่าบริเวณใกล้เคียง ต่อมาจารึกทั้ง ๒ หลักนี้ได้ถูกเคลื่อนย้ายมาเก็บรักษา และจัดแสดงไว้ที่อาคารชั้นล่างของฐานพระพุทธรัตนศรีกยมุนีวิสุทธิมงคลประชาสามัคคี หน้าที่ว่าการอำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์



การศึกษาอ่านแปลของคณะผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านภาษาโบราณ  กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ พบว่าศิลาจารึกทั้ง ๒ หลัก มีลักษณะเป็นแท่งหินทรายสีแดงรูปใบเสมาหรือทรงกลีบบัว รายละเอียดของจารึกบ้านดงคล้อ ๑ ขนาดกว้าง ๕๓ เซนติเมตร สูง ๑๔๖ เซนติเมตร หนา ๑๕ เซนติเมตร มีตัวอักษรเพียงด้านเดียว จำนวน ๘ บรรทัด ด้วยอักษรหลังปัลลวะ ภาษาสันสกฤต-มอญโบราณ (พุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕) คำอ่านแปล “ศรีมาโสชาคยการติง (ชื่อคน) ผู้รักษาทรัพย์อันมีค่าตลอดเวลาที่มีพระจันทร์ส่องสว่าง ในการที่พระเจ้าแผ่นดินได้บริจาคทรัพย์อันมีค่าแก่สามัญทั่วไป คนหูหนวกซึ่งเร่ร่อนไปในที่ต่าง ๆ บุญนี้ผู้อาวุโสกระทำด้วยความรัก ในบริเวณเสมาเจดีย์ เพื่อให้อยู่ร่วมกันด้วยความสวัสดี .....” 



จารึกบ้านดงคล้อ ๒  ขนาดกว้าง ๕๓ เซนติเมตร สูง ๑๔๖ เซนติเมตร หนา ๑๕ เซนติเมตร มีตัวอักษรด้านเดียว เดิมมีหลายบรรทัดแต่ที่เห็นรูปอักษรมีจำนวน ๓ บรรทัด เป็นอักษรหลังปัลลวะ ภาษาบาลี-มอญโบราณ (พุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕)  คำอ่านแปล “ ผลแห่งบุญนี้ (อุทิศให้แก่) ลูกที่จากไป ... _________ บุญ ...”  

นอกจากจารึกสองหลักที่กล่าวมาแล้วในพื้นที่บริเวณจุดเดียวกันยังพบจารึกเพิ่มเติมอีก ๓ หลัก แต่สูญหายไป ๑ หลัก ปัจจุบันเหลือเพียง ๒ หลัก คือ จารึกบ้านดงคล้อ ๓ อักษรหลังปัลลวะ ภาษาบาลี-มอญโบราณ (พุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕) และจารึกบ้านดงคล้อ ๔ อักษรหลังปัลลวะ ภาษาบาลี-มอญโบราณ (พุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕) การพบหลักฐานศิลาจารึกจำนวนมากในเขตบ้านดงคล้อและข้อความที่ปรากฏในจารึก แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของพื้นที่ซึ่งอาจเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่มีการปักหลักหินเพื่อแสดงเขตสำหรับเคารพบูชา ทำหน้าที่คล้ายสถูปเจดีย์  หรือพื้นที่บริเวณนี้อาจตั้งอยู่ในเส้นทางโบราณที่ใช้ติดต่อกันระหว่างชุมชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับชุมชนในเขตลุ่มน้ำป่าสัก ในช่วงสมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕)

ภาพและข่าวจาก Facebook กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 4 ลพบุรี 
https://www.facebook.com/profile.php?id=61553887600995
 

ผู้เขียน :

คำสำคัญ : จารึกบ้านดงคล้อ จารึกจังหวัดเพชรบูรณ์ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จารึกอักษรหลังปัลลวะ