กลายเป็นประเด็นฮือฮาในโลกออนไลน์ที่มียอดแชร์ยอดไลค์นับพัน สำหรับข่าวสารที่ถูกระบุว่าเป็นการ ‘ค้นพบ’ ครั้งสำคัญหลังสูญหายนานเกือบ 4 ทศวรรษ นั่นคือ ‘จารึกประตูท่าแพ’ หรือ ‘จารึกเสาอินทขีล’ ประตูท่าแพจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งสุดท้ายไม่ได้ถูกหมกเม็ดไว้ที่ไหน หากแต่ยังอยู่ ณ ‘ประตูท่าแพ’ นั่นเอง
ความคืบหน้าการพบจารึกดังกล่าว ถูกเปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจของ ‘สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่’ กรมศิลปากร โดยเริ่มต้นด้วยการบอกเล่าที่มาว่า ‘สังคมให้ความสนใจตามหา’ จารึกดังกล่าว โดยมีกลุ่มนักวิชาการบางส่วนให้ข้อมูลว่า จารึกที่ว่านี้เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่
ร้อนถึง สำนักศิลปากรเชียงใหม่ ต้องออกมาไขข้อสงสัยให้กระจ่างชัด
เนื้อหาตอนหนึ่งระบุความว่า
‘เพื่อทำให้ประเด็นข้อสงสัยดังกล่าวกระจ่างชัดมากยิ่งขึ้น สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ จึงได้ประสานข้อมูลกับภาคส่วนต่างๆ จนทำให้เริ่มพบเบาะแสของจารึกประตูท่าแพ ซึ่งไม่มีผู้ใดพบเห็นเลย ตลอดระยะเวลาเกือบ 4 ทศวรรษ
เพื่อไขปริศนาดังกล่าว 1 พฤศจิกายน 2566 สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ นำโดย นายเทอดศักดิ์ เย็นจุระ ผู้อำนวยการกลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน พร้อมด้วย ผู้แทนเทศบาลนครเชียงใหม่ ผู้แทนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผู้แทนคณะวิจิตรศิลป์ ผู้แทนคลังข้อมูลจารึกล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนักวิชาการท้องถิ่น ร่วมกันเปิดประตูห้องที่ซ่อนอยู่ภายในโครงสร้างประตูท่าแพปัจจุบัน ซึ่งไม่ได้เปิดมาตลอดระยะเวลาหลายสิบปี และเข้าไปทำการสำรวจภายในจนพบว่า จารึกประตูท่าแพ หรือ ‘จารึกเสาอินทขีลประตูท่าแพ ยังคงปักยืนตระหง่าน ซ่อนตัวอยู่ภายในโครงสร้างประตูท่าแพ จนกระทั่งปัจจุบัน นำมาซึ่งความปิติของทีมผู้ร่วมค้นหาทุกท่าน’
สำนักศิลปากรเชียงใหม่ ระบุถึงความสำคัญของจารึกดังกล่าวไว้ว่า จารึกประตูท่าแพ เป็นหนึ่งในจารึกหลักสำคัญที่ฝังอยู่ร่วมกับประตูเมืองมาตั้งแต่อดีต ต่อมาราวช่วงปี พ.ศ.2529-2530 จารึกหลักนี้ถูกเคลื่อนย้ายในช่วงระยะเวลาที่มีการปรับปรุงประตูท่าแพให้เป็นแลนด์มาร์กของเมืองเชียงใหม่ หลังจากนั้นก็ไม่มีผู้ใดพบเห็นจารึกประตูท่าแพตลอดระยะเวลาเกือบ 40 ปี จนกระทั่งมีการตามหาจนพบในวันนี้’
สำหรับรายละเอียดในประเด็นคำอ่านจารึก จากการศึกษาของ ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร ผู้ล่วงลับ พบว่า เป็นจารึกอักษรธรรมล้านนา ตารางบรรจุตัวเลขและวงดวงชะตา ข้อความอักษรเมื่อถูกกลับให้ถูกทิศทางแล้ว ถอดความตามส่วนดังนี้ ข้างบนมีข้อความว่า ‘อินทขีล มังค (ล) โสตถิ’ ข้างซ้ายมีข้อความว่า ‘อินทขีล สิทธิเชยย’ ข้างขวามีข้อความว่า ‘อิน….’ และข้างล่างมีข้อความว่า ‘อินทขีล โสตถิ มังคล’ โดยคำสำคัญที่ปรากฏในจารึกหลักดังกล่าวว่า ‘อินทขีล’ เป็นภาษาบาลี แปลว่า เสาเขื่อน เสาหลักเมือง หรือธรณีประตู จึงสรุปนัยสำคัญได้ว่า จารึกหลักนี้มีความสำคัญในฐานะเสาประตูเมือง
นอกจากข้อความข้างต้นแล้ว จารึกประตูท่าแพยังมีความพิเศษตรงที่ เทคนิคการทำจารึก ซึ่งแต่เดิมจารึกด้านที่ 1 ไม่มีผู้ใดสามารถอ่านได้ตลอดระยะเวลาหลายสิบปี จนกระทั่งในช่วง พ.ศ.2529 อ.เรณู วิชาศิลป์ แห่งวิทยาลัยครูเชียงใหม่ (ขณะนั้น) ได้ค้นพบและเสนอว่าเป็นจารึกตัวหนังสือกลับ คล้ายดังเป็นเงาในกระจก จึงสามารถอ่านจารึกประตูท่าแพได้
ในตอนท้าย สำนักศิลปากรเชียงใหม่ขอบคุณผู้มีส่วนร่วมในการติดตาม
อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อมูลข้างต้นเผยแพร่ออกไป นอกเหนือจากความคิดเห็นส่วนใหญ่ที่เข้าไปร่วมยินดี ยังมีคอมเมนต์บางส่วนตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดเกือบ 40 ปีจึงไม่มีใครรู้ว่าจารึกประตูท่าแพอยู่ที่ไหน ?
ไม่เพียงเท่านั้น หากพิจารณาจากโพสต์ของสำนักศิลปากรเชียงใหม่ ก็ดูจะมีเงื่อนปม ที่ชวนค้นต่อถึงเบื้องลึกเบื้องหลัง
‘มติชนออนไลน์’ สืบค้นถึงที่มาที่ไปของโพสต์ที่ดูผิดแผกไปจาก ‘สไตล์’ กรมศิลป์ที่คุ้นเคย ได้ความว่า เหตุดังกล่าวเกิดจากการถูกตั้งคำถามว่าจารึกประตูท่าแพอยู่ที่ไหน ดังเช่นถ้อยแถลงช่วงต้นของโพสต์ดังกล่าวซึ่งระบุถึงการที่มีนักวิชาการบางส่วนให้ข้อมูลว่า จารึกประตูท่าแพ ได้รับเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่
แต่ข้อมูลนอกเหนือจากที่ปรากฏในโพสต์ของสำนักศิลปากรเชียงใหม่ คือการที่กรมศิลปากร โดยเฉพาะ ‘พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่’ ตกเป็นจำเลยในทำนองว่า ทำโบราณวัตถุสูญหายหรือไม่ ? ดังปรากฏในโพสต์ระบายความอัดอั้นตันใจของคนในวงการที่เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊ก มีเนื้อหาโดยสรุปว่า ที่ผ่านมา มีผู้ระบุว่า จารึกประตูท่าแพถูกมอบให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ เมื่อมีคณะวิจัยมาตามหา กลับไม่พบ
ในห้องจัดแสดงไม่มี แม้แต่ใน ‘คลัง’ ก็ไม่เจอ ค้นแล้วค้นอีก ก็ไม่มีแม้แต่เงา
กระทั่งกลายเป็นว่า ‘มีผู้มอบให้ แล้ว (กรมศิลป์/พิพิธภัณฑ์ฯ) ทำหาย’
นำไปสู่การ ‘พิสูจน์’ ว่า จารึกดังกล่าวอยู่ ณ แห่งหนตำบลใดกันแน่ ก่อนพบจารึกประตูท่าแพ ณ ประตูท่าแพ ซึ่งก็ไม่น่ายากเย็นเกินคาดเดา เพราะเมื่อย้อนสืบจาก ‘ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย’ ที่จัดทำโดย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ซึ่งมี ‘สำเนาจารึก’ ประตูท่าแพ พร้อมคำอ่าน-ปริวรรต แสดงบนเว็บไซต์ ก็ระบุชัดเจนว่า จารึกดังกล่าวอยู่ที่ประตูท่าแพ เชียงใหม่
‘มติชนออนไลน์’ ยกหูสอบถามไปยัง ดร.ตรงใจ หุตางกูร นักวิชาการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร หัวหน้าโครงการดังกล่าวในขณะนั้น ได้ข้อมูลว่า โครงการฐานข้อมูลจารึกฯ เริ่มต้นราว พ.ศ.2545 ในยุคที่ ดร.ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ
ส่วนข้อมูลต่างๆ ของจารึกประตูท่าแพ มีการดำเนินการขึ้นฐานข้อมูลโดย นวพรรณ ภัทรมูล นักวิชาการในโครงการ เมื่อ พ.ศ.2557 โดยอ้างอิงจากหนังสือและเอกสารต่างๆ ที่ตีพิมพ์ในช่วง พ.ศ.2551
สำหรับตัวสำเนาจารึกหลักนี้ ทำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.เรณู วิชาศิลป์ เมื่อ พ.ศ.2529 ดังที่สำนักศิลปากรเชียงใหม่โพสต์ให้ข้อมูลไว้ โดยเป็นสมบัติของภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
ครั้นเมื่อพิสูจน์พบแล้วว่า จารึกหลักนี้ยังอยู่ที่ประตูท่าแพ รองศาสตราจารย์ ดร.เรณู ผู้เชี่ยวชาญจารึกล้านนาและภาษา ‘ตระกูลไท’ อันดับต้นๆ ของประเทศ ก็โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ย้อนเล่าถึงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2529 หรือเมื่อ 33 ปีก่อน
ความตอนหนึ่งว่า
‘16 ก.พ.2529 ได้รับมอบหมายจากท่านอาจารย์ ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ให้ไปทำสำเนาจารึกที่ประตูท่าแพขณะที่กำแพงเก่าถูกทุบทิ้งไปแล้ว คนงานกำลังนั่งร้านก่อกำแพงใหม่ครอบ ขณะนั้นได้ทำหลายสำเนาเพื่อส่งให้อาจารย์
ลอกสำเนามาอ่าน แรกๆ ก็อ่านไม่ออกหรอก มารู้ว่าตัวอักษรกลับ ก็ตอนวางผึ่งแดดเอาด้านในออก และยกส่องกับแดดแล้วอ่านได้ โชคดีที่บังเอิญ ทำเอาขนลุกด้วยความตื่นเต้น’
นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์เรณูยังเผยผ่านโพสต์เดียวกันถึงการ ‘ไม่เห็น’ จารึกหลักนี้อีกในช่วงเกือบ 30 ปีต่อมา
ความตอนหนึ่งว่า
‘….หลังจากนั้นทางจังหวัดมายกไปไว้ที่หน่วยศิลปากร อีกเกือบ 30 ปีต่อมา ลูกศิษย์ชวนไปเยี่ยมจารึกหลักนี้ที่หน่วยก็ไม่เห็น ตามไปที่ประตูกำแพงก็หาคนเปิดกุญแจไม่ได้ ดีใจที่ได้รู้ว่าเขายังอยู่ดีมีสุขที่เดิม’
ทั้งนี้ กรณีโบราณวัตถุไม่ปรากฏตามพิกัดที่ถูกระบุไว้ในทะเบียนของกรมศิลปากร เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทั้งที่ปรากฏและไม่ปรากฏเป็นข่าว อย่างไรก็ตาม กรณีของจารึกประตูท่าแพ ดูเหมือนจะแตกต่างออกไป
เมื่อสังคมตั้งคำถาม กรมศิลป์พิสูจน์ทราบ ก็นับว่าต้องกดไลค์ เป็นอันสิ้นสุดสถานะ ‘จำเลย’ เมื่อ 1 พฤศจิกายน พุทธศาสนายุกาล 2566
ข่าวจาก มติชนออนไลน์ วันที่ 2 พฤศจิกายน 2566
Link ข่าว https://www.matichon.co.th/entertainment/arts-culture/news_4263964
ผู้เขียน :
คำสำคัญ :
จารึกประตูท่าแพ
จารึกจังหวัดเชียงใหม่