ข่าวจารึก

The Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
  • images

ขุดพบระฆังโบราณอายุกว่า 600 ปี ในเมาะตะมะ บันทึกข้อมูลศักราชยุคอาณาจักรมอญ

ขุดพบระฆังโบราณอายุกว่า 600 ปี ในเมาะตะมะ บันทึกข้อมูลศักราชยุคอาณาจักรมอญ

QR-code edit Share on Facebook
เวลาที่โพส

โพสต์เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2565 เวลา 16:39:35

บทความโดย : ทีมงาน

MGR Online - ขุดพบระฆังโบราณที่คาดว่าถูกหล่อขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 14 ที่เมาะตะมะ เมืองหลวงของหงสาวดียุคที่อาณาจักรมอญยังไม่ตกเป็นของพม่า บันทึกข้อมูลสำคัญทางประวัติศาสตร์ถึงการนับศักราชที่สัมพันธ์กันของ 2 ชนชาติ



วันที่ 8 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา สำนักข่าว Paung Daily รายงานว่า ได้มีการขุดพบระฆังโบราณซึ่งคาดว่าถูกหล่อขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 14 ระหว่างซ่อมแซมฐานเจดีย์ไจก์พยินกู่ เจดีย์เก่าแก่บนเทือกเขาในเมืองเมาะตะมะ อำเภอปอง จังหวัดสะเทิม รัฐมอญ

ระฆังใบนี้ถูกขุดพบในตอนเช้า เป็นระฆังสูง 7 นิ้ว ขนาดเส้นรอบวง 11 นิ้ว และเส้นผ่าศูนย์กลางบริเวณปากระฆังยาว 7 นิ้ว



จุดสำคัญของระฆังคือ มีการจารึกเนื้อหาโดยใช้ตัวอักษรมอญโบราณไว้บนตัวระฆัง ระบุชื่อบุคคลและศักราชที่มีการถวายระฆัง โดยตัวเลขศักราชที่ใช้เป็นจุลศักราช ซึ่งเป็นศักราชประจำชาติที่ชาวพม่าใช้มาตั้งแต่สมัยเป็นราชอาณาจักรจนถึงทุกวันนี้ สะท้อนถึงความต่อเนื่องสัมพันธ์กันในการนับศักราชระหว่างชนชาติมอญกับพม่า

ผู้เชี่ยวชาญภาษามอญโบราณได้อ่านคำจารึกซึ่งเป็นประเด็นสำคัญบนตัวระฆังได้ว่า “ศักราช 703 สังฆาวุฒะ มหาเถ่ร์ ฉายา มหาเถ่ร์ธรรมราชากุนะ เป็นผู้สร้างถวายระฆังใบนี้”



ปัจจุบัน ในพม่ามีการนับศักราช 3 แบบ แบบแรกคือปีราชการหรือศักราชพม่า ซึ่งใช้เป็นจุลศักราช โดยจุลศักราชที่ 1 ตรงกับพุทธศักราช 1181 และคริสต์ศักราช 638 ดังนั้น ศักราช 703 ที่ระบุไว้บนตัวระฆัง จึงตรงกับพุทธศักราช 1884 และคริสต์ศักราช 1341 ซึ่งอาณาจักรมอญยังไม่ตกเป็นของพม่า

แบบที่ 2 คือปีศาสนา ซึ่งใช้พุทธศักราช แต่ชาวพม่าเริ่มนับพุทธศักราชที่ 1 ตั้งแต่วันแรกที่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน ต่างจากไทยที่เริ่มนับพุทธศักราชที่ 1 หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานไปแล้ว 1 ปี ดังนั้นพุทธศักราชที่ใช้อยู่ในพม่าปัจจุบัน จึงเร็วกว่าพุทธศักราชในประเทศไทย 1 ปี

แบบที่ 3 คือคริสต์ศักราช ถูกนำมาใช้หลังพม่าตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ และยังถูกใช้ต่อเนื่องมาถึงทุกวันนี้ เมื่อกล่าวถึงปีหรือเหตุการณ์ต่างๆ โดยรวม

เมืองเมาะตะมะตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน ทางตอนใต้ของอำเภอปอง เอกสารเก่าของไทยเคยเรียกที่นี่ว่าเมืองพัน เมาะตะมะเคยเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรหงสาวดี ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 13-14 ซึ่งยังคงเป็นราชอาณาจักรของชาวมอญ ก่อนที่พระเจ้าตะเบงชเวตี้ และพระเจ้าบุเรงนอง จากอาณาจักรตองอู ซึ่งเป็นชาวพม่าจะเข้ามายึดครองได้เมื่อ พ.ศ.2081 หรือคริสต์ศตวรรษที่ 16 จากนั้นหงสาวดี และอาณาจักรมอญจึงถูกปกครองโดยพม่ามาจนถึงปัจจุบัน

ในยุคที่กรุงหงสาวดีตกเป็นของพม่า เมืองเมาะตะมะมีบทบาทสำคัญในฐานะเป็นจุดรวมพล เพื่อเตรียมทัพจัดขบวนของกองทัพพม่า ก่อนจะข้ามแม่น้ำสาละวิน เพื่อนำกำลังมาตีกรุงศรีอยุธยาผ่านทางด่านเจดีย์สามองค์




ตัวอักษรมอญโบราณ เป็นต้นกำเนิดของตัวอักษรในภาษาที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายในดินแดนสุวรรณภูมินับแต่อดีตมาจนปัจจุบัน เช่น ตัวอักษรพม่า ตัวอักษรไทใหญ่ ตัวอักษรธรรมล้านนา ตัวอักษรขืนหรือไตธรรม และตัวอักษรลาวธรรม.

Link ข่าว https://mgronline.com/indochina/detail/9650000097470

 

ผู้เขียน :

คำสำคัญ : ระฆังโบราณ ระฆังโบราณ เมาะตะมะ ระฆังโบราณมีจารึก จารึกบนระฆังโบราณ จารึกอาณาจักรมอญโบราณ