โพสต์เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2564 เวลา 10:40:19
บทความโดย : ทีมงาน
วันที่ 20 เม.ย. นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า กรมศิลปากร ค้นพบจารึกอักษรโบราณใหม่ จำนวน 2 หลัก โดยจารึกหลักแรกพบจากการดำเนินการขุดแต่งโบราณสถาน วัดเขาพระบาทใหญ่ ซึ่งเป็นโบราณสถานที่ตั้งอยู่บนยอดเขาพระบาทใหญ่ นอกกำแพงเมืองสุโขทัย ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ โดยพบจารึกหินชนวนลักษณะเป็นแผ่นใบเสมา สภาพสมบูรณ์ มีขนาดสูง 31 เซนติเมตร กว้าง 30 เซนติเมตร และหนา 5 เซนติเมตร ส่วนหลักที่ 2 พบจากการสำรวจโบราณสถานวัดหนองป่าพง ซึ่งเป็นโบราณสถานที่ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองสุโขทัยทางด้านทิศตะวันตก ลักษณะของจารึกเป็นหินชนวนแผ่นสี่เหลี่ยมผืนผ้า สภาพชำรุด มีขนาดกว้าง 20 เซนติเมตร ยาว 37 เซนติเมตร หนา 4.5 เซนติเมตร มีการจารึกเพียงด้านเดียว ลักษณะเป็นวงกลมล้อมรอบดอกไม้แปดกลีบ
นายประทีป กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ กรมศิลปากรให้ความสำคัญกับการอ่านเอกสารและจารึกโบราณประเภทต่างๆ ซึ่งผู้อ่านจะต้องมีความพร้อมทางด้านความรู้เกี่ยวกับ เรื่อง ประเภทของจารึกโบราณ ประเภทของรูปลักษณ์อักษร เนื้อหาในเรื่องต่างๆ และคําศัพท์ที่ปรากฏในจารึก นอกจากนี้ ยังจําเป็นต้องใช้ประสบการณ์ในการทํางานที่เชี่ยวชาญอย่างมากจึงได้มอบหมายให้ น.ส.พิมพ์พรรณ ไพบูลย์หวังเจริญ นักอักษรศาสตร์ทรงคุณวุฒิ (ภาษา เอกสาร และหนังสือ) พร้อมด้วย นายเทิม มีเต็ม ผู้เชี่ยวชาญด้านอักษรโบราณ และคณะจากกลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร เข้าสำรวจเก็บข้อมูล เพื่อเก็บหลักฐานโดยละเอียดและนำผลที่ได้มาเปรียบเทียบอ้างอิงกับยุคสมัยของจารึกดังกล่าว จากนั้น จะทำการอนุรักษ์ตามหลักการและถอดอักษรจารึก เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการศึกษาเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการต่างๆ โดยเฉพาะด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี อักษรศาสตร์ และพิพิธภัณฑ์ต่อไป
ที่มา : ไทยโพสต์ 20 เมษายน 2564
ผู้เขียน :
คำสำคัญ : ข่าวการพบจารึก จารึกหลักใหม่ จารึกเขาพระบาทใหญ่ จารึกวัดหนองป่าพง โบราณสถานวัดหนองป่าพง โบราณสถานวัดเขาพระบาทใหญ่ สุโขทัย