ข่าวจารึก

The Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
  • images

ประเพณีบวงสรวง 'เจ้าพ่อศรีเทพ'ค้นพบหลักฐานใหม่ทางโบราณคดี

ประเพณีบวงสรวง 'เจ้าพ่อศรีเทพ'ค้นพบหลักฐานใหม่ทางโบราณคดี

QR-code edit Share on Facebook
เวลาที่โพส

โพสต์เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2560 เวลา 12:11:24

บทความโดย : ทีมงาน

        "อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ" เป็นโบราณสถานสำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดเพชรบูรณ์ มีพื้นที่ครอบคลุมโบราณสถานในเมืองเก่าศรีเทพ ศรีเทพเป็นเมืองโบราณที่อยู่ในท้องที่อำเภอศรีเทพ เดิมมีชื่อว่า "เมืองอภัยสาลี" ถูกค้นพบเมื่อสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จไปตรวจราชการมณฑลเพชรบูรณ์ และได้ทรงเรียกเมืองนี้เสียใหม่ว่า "เมืองศรีเทพ" เมื่อปี พ.ศ.2447-2448
 
          เมืองโบราณศรีเทพนี้มีลักษณะเป็นเมืองซ้อนเมืองขนาดใหญ่ ที่ตั้งของเมืองอยู่ในชุมทาง ที่สามารถติดต่อกับภาคอื่นๆ ได้สะดวก ดังนั้น จึงได้รับอิทธิพลทางศิลปวัฒนธรรมจากอาณาจักรข้างเคียงมาผสมผสาน เช่น ศิลปะทวารวดี ศิลปะขอม เป็นต้น เมืองศรีเทพสร้างขึ้นในยุคของขอมเรืองอำนาจ ซึ่งคาดว่ามีอายุไม่ต่ำกว่า 1000 ปี โดย ดูจากหลักฐานทางสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม และวัฒนธรรมที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและมีความเจริญสูงสุดทางด้านสถาปัตย กรรมและศิลปกรรม สันนิษฐานว่าเจริญอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11 ถึงพุทธศตวรรษที่ 16
 
         เมืองศรีเทพอยู่ห่างจากตัวเมืองเพชรบูรณ์ประมาณ 107 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณสองพันไร่เศษ มีกำแพงเมืองที่ก่อด้วยดินล้อมรอบและมีคูเมืองนอกกำแพง มีประตูเมืองทั้งสี่ทิศ ภายในเมืองมีปรางค์สมัยลพบุรีอยู่สององค์ เรียกว่า ปรางค์องค์พี่และปรางค์องค์น้อง ทางทิศเหนือนอกกำแพงเมืองออกไปมีสระน้ำสองแห่ง ชื่อสระแก้วกำแพงเมืองออกไปมีสระน้ำสองแห่ง ชื่อสระแก้วและสระขวัญ ในสมัยก่อนเมืองศรีเทพต้องส่งส่วยน้ำจากสระทั้งสองนี้ เพื่อนำไปใช้ทำน้ำพิพัฒน์สัตยา เพราะถือว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์
 
        ส่วนการสำรวจทางโบราณคดี กรมศิลปากรได้ดำเนินการ สำรวจ ขุดค้น ศึกษาและพัฒนาบรรดาโบราณสถานและโบราณวัตถุในเมืองศรีเทพตั้งแต่ปี พ.ศ.2521 โดยทำการบูรณะและบำรุงรักษาสิ่งก่อสร้างให้มั่นคงถาวร จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมโบราณสถานยอดเยี่ยมอีกแห่งหนึ่งของเมืองไทย
 
        ทุกๆ ปี จังหวัดเพชรบูรณ์พร้อมด้วยส่วนราชการต่างๆ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชน จัดประเพณีบวงสรวงเจ้าพ่อศรีเทพ ซึ่งเป็นงานประเพณีสำคัญที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ณ บริเวณศาลเจ้าพ่อศรีเทพ 
 
        งานประเพณีดังกล่าวจัดขึ้นตามคติความเชื่อของประชาชน เป็นงานบวงสรวงต่อเทพยดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองผู้ปกปักรักษา ดลบันดาลโชคลาภ อำนวยความร่มเย็น คุ้มครองปัดเป่าภัยพิบัติแก่ผู้เลื่อมใสศรัทธาที่มาบนบาน ขอพรจนประสบผลสำเร็จและสมปรารถนาอย่างอัศจรรย์ จึงประกอบพิธีบวงสรวงจัดเครื่องสังเวยบูชาเจ้าพ่อศรีเทพและบริวารเพื่อแสดงความเคารพเลื่อมใสศรัทธาเจ้าพ่อศรีเทพ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเจ้าเมือง นักรบผู้ทรงพละกำลังและอำนาจแห่งเมืองโบราณศรีเทพ
 
        การจัดงานบวงสรวงเจ้าพ่อศรีเทพปีนี้เริ่มต้นในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ มีกิจกรรมเฉลิมฉลองออกร้านและการจัดมหรสพทางด้านวัฒนธรรม ได้แก่ การจำหน่ายสินค้าราคาถูก การแสดงสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ การออกร้านของกิ่งกาชาดอำเภอศรีเทพและส่วนราชการ ในภาคค่ำมีการแสดงโขนกรมศิลปากร ชุดรามราชจักรี ประกอบด้วยตอนปราบนนทก สีดาหาย ถวายพล และยกรบ สำหรับวันรุ่งขึ้น มีขบวนแห่ธิดาเจ้าพ่อศรีเทพและข้าวต้มมัดใหญ่ซึ่งมีการตกแต่งริ้วขบวนอย่างงดงาม
 
        พิธีบวงสรวงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พราหมณ์อ่านโองการ พนักงานลั่นฆ้องประโคมสังข์ กลอง แตร อัญเชิญดวงวิญญาณเจ้าพ่อศรีเทพและทวยเทพยดามารับเครื่องเซ่นสังเวย โปรยข้าวตอกดอกไม้ ปักธูปถวายข้าวต้มมัดใหญ่และมอบรางวัลแก่ผู้ชนะการประกวดคนดีศรีเทพ ธิดาเจ้าพ่อศรีเทพ ขบวนแห่เจ้าพ่อศรีเทพ และการประกวดขนมจีนน้ำยา
 
        ทั้งนี้ กรมศิลปากรได้ค้นพบหลักฐานใหม่ทางโบราณคดีที่ค้นพบบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ นั่นก็คือ "เทวรูปพระนารายณ์" ซึ่งเป็นโบราณวัตถุชิ้นล่าสุดที่ค้นพบบริเวณคูเมืองด้านทิศตะวันตก ทำด้วยหินทราย ลักษณะประติมากรรมมีเฉพาะช่วงพระวรกาย ส่วนพระเศียรและตั้งแต่พระพาหุทั้งสองข้างรวมไปถึงส่วนล่างตั้งแต่ใต้พระชานุทั้งสองข้างหักหายไป
 
        ชิ้นประติมากรรมมีลวดลายสลักเป็นผ้าคาดลวดลายสลักเป็นผ้าคาดเอวและชายผ้านุ่งอย่างชัดเจน ขนาดความสูงประมาณ 80 เซนติเมตร กว้าง 30 เซนติเมตร หนา 20 เซนติเมตร จัดเป็น "ศิลปะแบบเทวรูปรุ่นเก่า" ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับเทวรูปที่พบในเมืองศรีเทพเองและในเขตพื้นที่อื่น เช่น เขตจังหวัดนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ปราจีนบุรี รวมไปถึงแหล่งโบราณคดีบริเวณปากแม่น้ำโขง ประเทศเวียดนาม ซึ่งเคยสุราษฎร์ธานี ปราจีนบุรี รวมไปถึงแหล่งโบราณคดีบริเวณปากแม่น้ำโขง ประเทศเวียดนาม ซึ่งเคยเป็นเมืองท่าของอาณาจักรฟูนัน จัดอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 ร่วมสมัยกับวัฒนธรรมทวารวดีและวัฒนธรรมเขมรสมัยพนมดา
 
        นอกจากนี้ ยังมีการขุดลอกสระแก้ว สระน้ำศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งพบหลักฐานทางโบราณคดีหลายอย่างที่บ่งบอกถึงความสำคัญของสระแก้วในสมัยโบราณ เป็นสระขนาดใหญ่รูปสี่เหลี่ยมด้านเท่า แต่ละด้านยาวประมาณ 150 เมตร ลึก 10 เมตร จากการขุดลอกพบทางลงสระเป็นบันไดศิลาแลงลดหลั่นกันลงไป และยังพบจารึกตัวอักษรปัลวะ ภาษาสันสกฤต อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 ซึ่งกำลังดำเนินการอ่านและแปลโดยผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาโบราณ รวมถึงโบราณวัตถุอีกหลายประเภท เช่น เศษภาชนะดินเผา เบี้ยดินเผา เครื่องถ้วยเขมร กระดูกช้าง หินบด โกลนหิน เป็นต้น
 
        จากหลักฐานในเบื้องต้น สระแก้วอาจมีอายุถึง 1300 ปี มาแล้ว ซึ่งตรงกับสมัยทวารวดี ช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 จากการกำหนดอายุเบื้องต้นจากจารึกอักษรปัลวะที่พบนั่นเอง

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2556 

ผู้เขียน :

คำสำคัญ : จารึก พบใหม่ เพชรบูรณ์ อักษรปัลลวะ เจ้าพ่อศรีเทพ