ข่าวจารึก

The Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
  • images

พบศิลาจารึกลายแทงสถูปพระเจ้าอุทุมพร

พบศิลาจารึกลายแทงสถูปพระเจ้าอุทุมพร

QR-code edit Share on Facebook
เวลาที่โพส

โพสต์เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2560 เวลา 12:21:54

บทความโดย : ทีมงาน

จากกรณีที่นายสด แดงเอียด ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีและอดีตอธิบดีกรมการศาสนา (ศน.) ได้เปิดเผยบันทึกส่วนตัวเมื่อปี 2530 ครั้งเดินทางไปค้นหาหลักฐานเกี่ยวกับสถูปบรรจุพระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4(สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร) หรือขุนหลวงหาวัด กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาและได้พบพระอินตาคา เจ้าอาวาสวัดข่ามีนเว เมืองสะกาย สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ นำไปสู่การค้นพบหลักศิลาจารึก ซึ่งบ่งบอกว่ามีเจ้านายไทยในสมณะพระภิกษุมรณภาพมีการจัดพิธีปลงพระศพใหญ่โตและนำพระบรมอัฐิมาบรรจุที่เจดีย์ของวัดข่ามีนเวนั้น


 
               ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 มีนาคม นายเอนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้พบหลักฐานสำเนาหลักศิลาจารึก ภาษามอญโบราณของนายสัญชัย หมายมั่น อดีตหัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ซึ่งเป็นคณะทำงานที่ร่วมเดินทางไปกับนายสดเมื่อปี 2530 ซึ่งเก็บรักษาไว้ ณ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ในประเทศไทย ขณะนี้สั่งให้คณะทำงานเร่งการตรวจสอบเอกสารและให้ผู้เชี่ยวชาญแปลออกเนื้อหาของศิลาจารึกดังกล่าวออกมา คาดว่าภายใน 1 สัปดาห์น่าจะแปลเสร็จเรียบร้อย หากเนื้อความระบุว่ามีเจ้านายไทยในสมณะพระภิกษุ มรณภาพและนำพระบรมอัฐิมาบรรจุที่เจดีย์วัดข่ามินเวจริง ก็จะประสานกรมโบราณคดี พิพิธภัณฑ์และหอสมุด กระทรวงวัฒนธรรม เมียนมาร์ เพื่อส่งชุดคณะทำงานไปศึกษารายละเอียดร่วมกันอีกครั้งพร้อมหารือถึงแนวทางศึกษาต่อไป
 
               นายเอนก กล่าวต่อว่า กรณีที่หลายฝ่ายถามว่ามีแนวคิดประสานไปยังสมาคมจิตพรรณและทางการเมียนมาร์ เพื่อให้ชะลอการขุดค้นสถูปของพระเจ้าอุทุมพรนั้น กรมศิลปากรคงไม่ห้ามในเรื่องดังกล่าว เพราะเป็นเรื่องที่สมาคมดำเนินการร่วมกับเทศบาลมัณฑะเลย์ เพียงแต่ต้องการเปิดเผยข้อมูลทางวิชาการให้สังคมเลือกว่าข้อมูลตรงไหนน่าเชื่อถือ ตรงไหนที่ต้องศึกษาต่อ ไม่กำหนดหรือห้ามไม่ให้ใครเชื่อหรือไม่เชื่อ เพราะทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นเป็นความเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งในส่วนของข้อมูลที่กรมศิลปากรเปิดเผยได้นำข้อมูลที่ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีต่างๆ มาสรุปประเด็นเพื่อให้เห็นว่าวิธีการศึกษาจะด่วนสรุปไม่ได้ ต้องมีข้อมูลหลักฐานยืนยันทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์เพราะเรื่องดังกล่าว มีความเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ต้องมีเอกสารสนับสนุน ส่วนกรณีจะขอเจาะเจดีย์วัดข่ามีนเวนั้น หากข้อมูลคำแปลระบุว่ากรณีดังกล่าวจริงก็จะมีการหารือกับคณะดำเนินงานอีกครั้ง
 
               ด้านนายวิจิตร ชินาลัย สถาปนิกอำนวยการ โครงการอนุรักษ์โบราณสถานและอุทยานประวัติศาสตร์เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานมหาเถระพระเจ้าอุทุมพร ทำการในนามสมาคมจิตพรรณ กล่าวว่า การพิสูจน์ว่าสถูปที่คณะขุดค้นพบนั้น เป็นพระบรมอัฐิของพระเจ้าอุทุมพรจริงหรือไม่นั้น ทางวิทยาศาสตร์ต้องทำต่อไป แต่โครงการนี้เป็นอนุสรณ์สถานที่เกี่ยวโยงกับพระองค์ท่าน ทางผู้เชี่ยวชาญและรัฐบาลพม่าต่างเชื่อแล้วว่าที่นี่เป็นสถูปบรรจุพระบรมอัฐิ ในเมื่อเขาเชื่อและอนุญาตให้เราทำอนุสรณ์สถาน ตนไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ไปมากมายกว่านี้ เพราะวัตถุประสงค์ที่แท้จริงนั้นต้องการสร้างอนุสรณ์สถานให้ท่านอยู่แล้ว หลักฐานที่เพิ่มเติมก็จะจัดแถลงข่าวโครงการอนุสรณ์สถานมหาเถระพระเจ้าอุทุมพร และเปิดตัวสมาคมมิตรภาพไทย-พม่า จิตพรรณ ในวันที่ 14 มี.ค. ส่วนวันที่ 15 มี.ค. เวลา 09.00 น. จะมีพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและพิธีสถาปนาพระพุทธเจดีย์องค์ประธานตามประเพณีพม่า โดยจะมีการบรรจุพระพุทธรูปองค์ประธาน 1 องค์ และพระพุทธเจ้า 28 พระองค์ รวมทั้งหมด 29 พระองค์ ตรงกับจำนวนพรรษาขณะที่พระเจ้าอุทุมพรประทับอยู่ที่พม่า และจะถวายเพล บังสุกุล และถวายไทยทาน พิธีทั้งหมดจะเชิญผู้เชี่ยวชาญจากพม่ามาร่วม นอกจากนี้ จะอนุญาตให้คนไทยที่มาร่วมงานบรรจุพระพุทธรูปของตัวเองใส่ลงไปในกรุเจดีย์และปิด เพื่อเป็นการสืบพระศาสนา และเพื่อเป็นนิมิตหมายในการเริ่มการก่อสร้างโครงการนี้ และในวันที่ 13 พ.ค. ซึ่งเป็นวันวิสาขบูชาของไทย จะอัญเชิญพระบรมอัฐิกลับไปบรรจุในเจดีย์องค์ที่ 3 ซึ่งจะมีพิธีใหญ่มาก เพราะเป็นการอัญเชิญพระบรมอัฐิของพระมหากษัตริย์กลับมาบรรจุไว้ที่เดิม
 
               นายวิจิตร กล่าวต่อว่า ในพิธีสถาปนานี้ ตนเชิญผู้ใหญ่จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ นายกสมาคมสถาปนิกสยาม เอกอัครราชทูตไทยประจำเมืองย่างกุ้ง คณะกรรมการฝ่ายไทย และผู้เชี่ยวชาญก็จะมาร่วมด้วย ในวันนั้นจะเปิดเผยหลักฐานที่ขุดค้นพบ อาทิ กระเบื้องหลังคาบริเวณฐานพระวิหาร เพราะพม่าสมัยอมรปุระไม่เคยใช้กระเบื้องหลังคา แต่จะใช้ไม้ใหญ่ๆ ขัดกันไปมา คลุมด้วยวัสดุกันฝน แต่กระเบื้องหลังคาเป็นสมัยอยุธยาที่นิยมใช้กัน เป็นต้น
 
               “โครงการนี้เป็นการอนุรักษ์กึ่งปฏิสังขรณ์ เราไม่ทำขึ้นมาใหม่ เพราะประเทศพม่ามีระเบียบในการอนุรักษ์ เมื่อมาทำงานนอกประเทศบางสิ่งบางอย่างก็ต้องทำตามรัฐบาลพม่า เมื่อผมเสนอแบบมา ทางพม่าก็บอกว่าทำไมไม่เสนอแบบยอดเจดีย์องค์ประธานมาด้วย ผมก็บอกว่าเสนอไว้ 2 แบบ แต่จะให้ทางรัฐบาลพม่าและไทยมาหารือกันอีกครั้งว่าจะใช้รูปแบบใด โดยเจดีย์ทรงโกศจะต้องบูรณะและฉาบปูนให้เรียบร้อย ส่วนฐานเจดีย์ก็เช่นกันจะต้องเสริมอิฐเข้าไป โดยอาศัยรูปแบบเดิม ส่วนเจดีย์องค์ที่ 3 ที่ค้นพบพระบรมอัฐิด้านล่างจะทำเป็นอิฐ ด้านบนจะบรรจุพระบรมอัฐิและฉาบปูนให้เรียบร้อย เมื่อเสร็จแล้วก็จะเป็นโบราณสถานทั้งหมด 15 รายการ”สถาปนิกอำนวยการ กล่าว
 
ที่มา : คมชัดลึกออนไลน์  7  มีนาคม 2557

ผู้เขียน :

คำสำคัญ :