ครั้งเริ่มแรกเมื่อดินแดนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รับภาษาสันสกฤตมาใช้นั้น รูปแบบของการรับ คือ การจดจํา และคัดลอกจากต้นแบบ มิได้รับมาทั้งระบบ หรือมีผู้ใดมาสอนไวยากรณ์อย่างครบถ้วน ก่อนที่จะสามารถนํามาประยุกต์ใช้และดัดแปลงให้สามารถถ่ายทอดเรื่องราวที่ตนต้องการได้ จารึกภาษาสันสกฤตบางหลักที่มีรูปแบบอักษรที่เก่ามาก คือจารึกด้วยอักษรปัลลวะ – หลังปัลลวะ ที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 11 – 15 จึงมิได้มีเลขระบุศักราชให้ชัดเจน ทั้งนี้เนื่องจากครั้งนั้นยังไม่มีตัวเลขใช้ หรือยังมีตัวเลขใช้ไม่ครบทุกตัว นักปราชญ์ราชครูจึงได้ใช้ภูมิความรู้อันล้ําลึก กําหนดศัพท์สัญลักษณ์ที่ใช้แทนเลขศักราชขึ้นใช้ โดยอาศัยการตีความ ความหมายของศัพท์ และสร้างศัพท์บอกศักราชด้วยการสมาส – สนธิ อย่างวิจิตรบรรจง [1]
โดยชุดข้อมูล (Dataset) ชุดนี้ได้คัดเลือกข้อมูลจารึกที่อยู่ในฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทยที่มีใช้ศัพท์สัญลักษณ์ ตัวอย่างเช่น
จารึกเขารัง
จารึกเขารัง ด้านที่ 1 บรรทัดที่ 1 ข้อความว่า “จนฺทฺรรเสนฺทฺริไยะ”[2] อ.ชะเอม แก้วคล้าย ได้ตีความคำศัพท์ แยกได้เป็น จนฺทฺร คือ พระจันทร์ แทนเลข 1 + รส คือ รสทั้ง 6 ได้แก่ เผ็ด เปรี้ยว หวาน เค็ม ขม หอม แทนเลข 6 + อินฺทฺริย คือ อายตน ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น และกาย แทนเลข 5 จึงได้เลขของปีมหาศักราช การเรียงจากเลขจะเรียงจากหลังมาข้างหน้า ในที่นี้คือ มหาศักราช 561 ตรงกับพุทธศักราช 1182
จารึกศรีจนาศะ
จารึกศรีจานาศะ ด้านที่ 1 บรรทัดที่ 15 ข้อความว่า “นเวนฺทฺริไยศฺวรฺยฺย”[3] อ.ชะเอม แก้วคล้าย ได้ตีความคำศัพท์ แยกได้เป็น นว แทนเลข 9 + อินฺทฺริย คือ อายตน ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น และกาย แทนเลข 5 + อีศฺวรฺยฺย คือ อีศฺวร คือ ความเป็นใหญ่ อํานาจของมนุษย์ผู้ประเสริฐ มี 8 อย่าง คือ อณิมัน, ลาฆิมัน, มหิมัน, ปราปติ, ปรากามยะ, วศิตวะ, อีศิตวะ และกามวสายิตว แทนเลข 8 จึงได้เลขของปีมหาศักราช การเรียงจากเลขจะเรียงจากหลังมาข้างหน้า ในที่นี้คือ มหาศักราช 859 ตรงกับ พุทธศักราช 1480
----------------
อ้างอิง
[1] นวพรรณ ภัทรมูล, ศัพท์สัญลักษณ์ ที่ใช้แทนเลขศักราช ในจารึกภาษาสันสกฤต, https://db.sac.or.th/inscriptions/articles/detail/9799
[2] จารึกเขารัง, https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/52
[3] จารึกศรีจานาศะ, https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/313