อายุ-จารึก พ.ศ. 1182, อายุ-จารึกพุทธศตวรรษที่ 12, ยุคสมัย-จารึกสมัยเจนละ, ยุคสมัย-จารึกสมัยเจนละ-พระเจ้าภววรมันที่ 2, วัตถุ-จารึกบนหิน, วัตถุ-จารึกบนหินทราย, วัตถุ-จารึกบนหินทรายหยาบ, ลักษณะ-จารึกบนใบเสมา, ที่อยู่ปัจจุบัน-จารึกในกลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก หอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร, เรื่อง-ความเป็นอยู่และประเพณี, เรื่อง-พิธีกรรมทางศาสนา, เรื่อง-พิธีกรรมทางศาสนา-กัลปนา, เรื่อง-การบริจาคและการทำบุญ, เรื่อง-การบริจาคและการทำบุญ-ถวายข้าพระ, เรื่อง-การบริจาคและการทำบุญ-ถวายที่ดิน, เรื่อง-การบริจาคและการทำบุญ-ถวายไทยธรรม,
โพสต์เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2550 13:59:58 ( อัพเดทเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2567 16:09:50 )
ชื่อจารึก |
จารึกเขารัง |
ชื่อจารึกแบบอื่นๆ |
Khãu Rãng (K. 505), หลักที่ 119 ศิลาจารึกขอมในประเทศไทย, ปจ. 1, จารึกหลักที่ 119, K. 505 |
อักษรที่มีในจารึก |
ปัลลวะ |
ศักราช |
พุทธศักราช 1182 |
ภาษา |
สันสกฤต, เขมร |
ด้าน/บรรทัด |
จำนวนด้าน 1 ด้าน มี 31 บรรทัด |
วัตถุจารึก |
หินทรายเนื้อหยาบ |
ลักษณะวัตถุ |
รูปใบเสมา |
ขนาดวัตถุ |
กว้าง 26 ซม. สูง 152 ซม. หนา 11.5 ซม. |
บัญชี/ทะเบียนวัตถุ |
1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “ปจ. 1” |
ปีที่พบจารึก |
พุทธศักราช 2496 |
สถานที่พบ |
หมู่ 11 บ้านเขารัง ตำบลผ่านศึก อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว |
ผู้พบ |
ไม่ปรากฏหลักฐาน |
ปัจจุบันอยู่ที่ |
กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก หอสมุดแห่งชาติ แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร (บันทึกข้อมูลวันที่ 13/5/2563) |
พิมพ์เผยแพร่ |
1) Inscriptions du Cambodge vol. V (Hanoi : Imprimerie d'extrême-orient, 1953), 23-24. |
ประวัติ |
ศิลาจารึกเขารังนี้ ได้ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ Inscriptions du Cambodge vol. V โดยในคราวนั้น ศ. ยอร์ช เซเดส์ ได้อธิบายถึงกลุ่มจารึกที่พบบนภูเขา 3 ลูก ในเขตอำเภออรัญประเทศ จังหวัดปราจีนบุรี จารึกจำนวน 3 หลัก ที่ได้จากเขาแต่ละลูกนี้ ท่านได้กำหนดเลขทะเบียนไว้ดังนี้คือ จารึกเขารัง (K. 505) จารึกเขาน้อย (K. 506) และ จารึกเขาชมพู (K. 507) แต่อย่างไรก็ตาม ศ. ยอร์ช เซเดส์ ได้อ่านและแปลเพียงจารึกเขารังเท่านั้น ส่วนจารึกเขาน้อย ท่านได้อ่านคำจารึกไว้บางส่วน ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2533 นายชะเอม แก้วคล้าย และนายบุญเลิศ เสนานนท์ ได้อ่านและแปลจารึกเขาน้อยนี้ ตีพิมพ์ในหนังสือ ปราสาทเขาน้อย จังหวัดปราจีนบุรี ของกรมศิลปากร ส่วนจารึกเขาชมพูนั้น ศ. ยอร์ช เซเดส์ ได้กล่าวว่าอ่านแทบไม่ออก รู้แต่เพียงว่าเป็นภาษาสันสกฤต 28 บรรทัดเท่านั้น และยังไม่ได้รับการแปลมาจนถึงบัดนี้ ต่อมาใน ปี พ.ศ. 2513 ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงแปลคำอธิบายของ ศ. ยอร์ช เซเดส์ จากหนังสือ Inscriptions du Cambodge vol. V ตีพิมพ์ลงในหนังสือ ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 4 โดยมี นายฉ่ำ ทองคำวรรณ เป็นผู้ตรวจแก้คำอ่านและคำแปลอีกครั้ง ซึ่งในหนังสือ ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 4 นี้ ได้จัดให้จารึกเขารังเป็นจารึกหลักหนึ่งที่อยู่ใน “กลุ่มศิลาจารึกในภูเขาแถบบริเวณอำเภออรัญประเทศ จังหวัดปราจีนบุรี” ซึ่งประกอบด้วยจารึก 3 หลักด้วยกัน คือ จารึกเขารัง จารึกเขาน้อย และจารึกเขาชมพู ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น สำหรับการตั้งชื่อจารึกที่พบที่เขารังนั้น ในหนังสือ ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 4 ใช้ชื่อว่า “หลักที่ 119 ศิลาจารึกขอมในประเทศไทย” แต่เนื่องจากศิลาจารึกหลักนี้พบในบริเวณเขารัง อำเภออรัญประเทศ จังหวัดปราจีนบุรี (ปัจจุบันคือ จังหวัดสระแก้ว) นักอ่านจารึกทั้งหลายจึงนิยมเรียกชื่อจารึกนี้ว่า “ศิลาจารึกเขารัง” และจากการตีพิมพ์ครั้งล่าสุดในหนังสือ จารึกในประเทศไทย เล่ม 1 พ.ศ. 2529 ได้ใช้ชื่อว่า “จารึกเขารัง” |
เนื้อหาโดยสังเขป |
ในปี พ.ศ. 1182 ขุนนางผู้หนึ่งซึ่งดำรงตำแหน่งสินาหฺวฺคนก่อน ได้ถวายทาส สวนใกล้วิหาร ผู้รักษาสวน เครื่องไทยทาน ที่นา และ กระบือ แด่พระวิหาร โดยมอบให้บุรุษหนึ่งนามว่า วา กฺโทกฺ เป็นผู้ดูแลรักษา ต่อมาผู้ดำรงตำแหน่งสินาหฺวฺคนปัจจุบันได้ถวายทาส สวนใกล้วิหาร แด่พระวิหาร ตามที่ผู้ดำรงตำแหน่งสินาหฺวฺพึงกระทำ |
ผู้สร้าง |
ขุนนางผู้หนึ่ง ตำแหน่งสินาหฺวฺ |
การกำหนดอายุ |
กำหนดอายุตามปีมหาศักราชที่ระบุในจารึก ซึ่งตรงกับ พ.ศ. 1182 เป็นจารึกอักษรปัลลวะในประเทศไทยหนึ่งใน 2 หลัก ที่ปรากฏปีมหาศักราชอยู่ในจารึก จารึกอักษรปัลลวะหลักแรกคือ จารึกเขาน้อย ปรากฏปีมหาศักราช 559 ตรงกับ พ.ศ. 1180 ส่วนหลักที่ 2 คือจารึกเขารังนี้เอง ซึ่งปรากฏปีมหาศักราช 561 ซึ่งตรงกับ พ.ศ. 1182 อักษรปัลลวะเป็นอักษรแบบแรกที่ปรากฏใช้ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 11-12 ศิลาจารึกเขารังจึงเป็นหลักฐานศึกษารูปแบบอักษรทั้งในยุคสมัยเดียวกันและในยุคต่อมา ฉะนั้น รูปอักษรในจารึกใดก็ตามที่มีลักษณะรูปสัณฐานของเส้นอักษรเหมือนรูปอักษรในศิลาจารึกเขารัง ควรจัดไว้เป็นรูปอักษรแบบปัลลวะ |
ข้อมูลอ้างอิง |
เรียบเรียงข้อมูลโดย : ตรงใจ หุตางกูร, โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศมส., 2547, จาก : |
ภาพประกอบ |
1) ภาพสำเนาจารึกจาก : ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2545 (เลขทะเบียน CD; INS-TH-02, ไฟล์; PJ_001) |