ภาพปริศนาธรรมจากสมุดภาพวัดพระรูป ภาพที่ 29 นี้เป็นภาพวงกลมวงใหญ่ซึ่งมีวงกลมวงเล็กซ้อนอยู่ข้างในอีกวง ข้างในวงกลมแต่ละวงมีรูปคนและข้อความอธิบายกำกับ
วงกลมวงเล็ก (ใน) แบ่งเป็น 4 ห้อง ในห้องทั้ง 4 ที่อยู่ในวงกลมวงเล็กนั้น มีรูปชาย 4 คน ไม่สวมเสื้อ นุ่งโจงกระเบนยาวถึงครึ่งแข้ง โดยคนที่ 1 (นับจากด้านซ้าย-บน เวียนตามเข็มนาฬิกา) นุ่งโจงกระเบนสีม่วง คนที่ 2 นุ่งโจงกระเบนสีกรมท่า คนที่ 3 นุ่งโจงกระเบนสีพีชอ่อนไล่สี คนที่ 4 นุ่งโจงกระเบนสีดำลายริ้วแดง-ขาว ทั้ง 4 คนอยู่ในท่วงท่าแหวกว่ายหกคะเมนตีลังกาไม่ซ้ำกัน
และในช่องระหว่างวงกลมวงใหญ่ (นอก) และวงกลมวงเล็ก (ใน) ก็เช่นเดียวกัน มีรูปชาย 6 คน ไม่สวมเสื้อ นุ่งโจงกระเบนยาวถึงครึ่งแข้ง คนที่ 1 (นับจากกลาง-บนสุด เวียนตามเข็มนาฬิกา) นุ่งโจงกระเบนสีแดงลายจุดขาว คนที่ 2 นุ่งโจงกระเบนสีแดงอมส้ม คนที่ 3 นุ่งโจงกระเบนสีดำลายดอกดวงขาว-แดง คนที่ 4 นุ่งโจงกระเบนสีเขียวตองอ่อน คนที่ 5 นุ่งโจงกระเบนสีเนื้อลายดอกดวงสีขาว คนที่ 6 นุ่งโจงกระเบนสีส้ม ทุกคนอยู่ในท่วงท่าอาการเหมือนแหวกว่ายอยู่ในห้วงน้ำ
ในหนังสือ สมุดข่อย[2] ได้อธิบายภาพปริศนาธรรมภาพนี้ไว้ว่า
“อวิชชาโลกยสังสารจักรภพ เวียนไปมามิรู้แล้ว... ดังนั้นแล กามโอฆะ ภวโอฆะ ทิฐิโอฆะ อวิชชาโอฆะ ราคะโลภะกง (กง คือ วงล้อ) ชาติ ชรา มรณะ เป็นกง”
คำอ่าน
อวิชฺชาโลกยสํสารจักฺรภพฺพ เวียฺนไปมามิรู้แล้วฺอฺยู่ฑังฺนั้นแล กามโอฆภวโอฆทิฏฺฐิโอฆอวิชฺชา โอฆราคโลภกงฺ
ชาติเปนฺกงฺ ชราเปนฺกงฺ มรณเปนฺกงฺ ชาติเปนฺกงฺ ชราเปนฺกงฺ มรณเปนฺกงฺ
ราค โลภ โทส โมห
คำปริวรรต
อวิชชาโลกยสังสารจักรภพ เวียนไปมามิรู้แล้วอยู่ดังนั้นแล กามโอฆะ ภวโอฆะ ทิฏฺฐิโอฆะ อวิชฺชาโอฆะราคโลภะ กง
ชาติเป็นกง ชราเป็นกง มรณเป็นกง ชาติเป็นกง ชราเป็นกง มรณเป็นกง
ราคะ โลภะ โทสะ โมหะ
คำอธิบายเพิ่มเติม
ข้อความในภาพนี้กล่าวถึง อวิชชาโลกยสังสารจักรภพ ซึ่งก็คือ อวิชชาหรือความไม่รู้อันใดเป็นความไม่รู้ในทุกข์ เป็นความไม่รู้ในเหตุให้เกิดทุกข์ เป็นความไม่รู้ในความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นความไม่รู้ในทางปฏิบัติให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ที่เวียนไปมาไม่จบสิ้น หมายรวมถึงกิเลสอันเป็นดุจกระแสห้วงน้ำที่ท่วมทับพัดพาสัตว์ให้พลัดตกลงไปในความพินาศ อันได้แก่ ความใคร่ในกาม ความใคร่ในภพ มิจฉาทิฏฐิ และความไม่รู้ในอริยสัจ 4 คือไม่รู้อดีตไม่รู้อนาคต ไม่รู้ทั้งอดีตและอนาคต ฯลฯ พร้อมทั้งไม่รู้หลักแห่งปัจจยาการหรือสภาวะอันเป็นดุจกระแสน้ำท่วมใจสัตว์[3]
ผู้เขียน : นวพรรณ ภัทรมูล
คำสำคัญ : ปริศนาธรรม สมุดภาพ วัดพระรูป สมุดไทยขาว