Blog

The Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
  • images

ภัยในสังสารวัฏ

ภัยในสังสารวัฏ

QR-code edit Share on Facebook
เวลาที่โพส
โพสต์เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2567 เวลา 11:21:31
บทความโดย : ทีมงาน

              ภาพปริศนาธรรมจากสมุดภาพวัดพระรูป ภาพที่ 25 นี้แบ่งเป็น 2 ท่อน คือท่อนบนและท่อนล่าง ท่อนบนประกอบไปด้วยภาพชาย 2 คน และร่างคน 1 ร่าง (ร่างเปลือยไม่บ่งบอกเพศ) ชายคนทางซ้ายผิวขาว ผมสั้นเกรียนสีดำสนิท ไม่สวมเสื้อ สวมเครื่องประดับเป็นริ้วเส้นสามเส้นที่คอ นุ่งโจงกระเบนยาวเลยเข่าสีแดงลายประสีขาว ยืนยกมือทั้งสองสูงระดับศอกเหมือนกำลังอธิบายความ ชายคนทางขวา ผิวเหลือง ผมสีดำยาว ไม่สวมเสื้อแต่มีผ้าคลุมไหล่สีแดง นุ่งโจงกระเบนปล่อยชายยาวสีแดงยาวเลยเข่าลายตารางสลับสีขาวและดำ ยืนและยกมือข้างหนึ่งชี้ไปที่ร่างที่นอนอยู่ตรงกลางภาพ ร่างนั้นเปลือยเปล่า ไม่ทราบเพศ ผิวเหลือง ศีรษะโล้น เมื่อพิจารณาจากข้อความที่จารไว้มีการกล่าวถึงการเกิด การตาย จึงคาดว่าร่างนี้อาจจะเป็นร่างเด็กทารก แต่แปลกตรงที่สัดส่วนความยาวของร่างกลับเหมือนผู้ใหญ่ย่อส่วน  ซึ่งการคาดเดานี้ก็อาจใช่หรือไม่ไช่ก็ได้ขึ้นอยู่กับผู้สนใจจะตีความ
               ท่อนล่างของภาพก็เป็นเรื่องราวที่ต่อเนื่องกัน กล่าวคือ ในภาพประกอบไปด้วยชาย 3 คน และร่าง (ศพ) 1 ร่าง ชายคนทางซ้ายผมสั้นสีดำสนิท ผิวเหลือง ยืนยกมือทั้งสองสูงระดับศอกเหมือนกำลังอธิบายความซึ้นเป็นลักษณาการเหมือนกันชายคนทางซ้ายท่อนบนของภาพ แต่ที่ปลายนิ้วของมือทั้งสองข้างมีการระบายเส้นสีส้มจนดูเหมือนมีเปลวเพลิงอยู่ที่มือ น่าจะตรงกับข้อความที่จารไว้ตอนต้นว่า “ไฟลุกอยู่ในมือคือราคชาติแล” ประกอบกับข้อความที่ระบุไว้ข้างบนศีรษะว่า “ไฟราคชาติ” เส้นสีส้มที่ปลายนิ้วจึงน่าจะใช้แทนเปลวไฟนั้น ชายคนนี้ไม่สวมเสื้อและนุ่งโจงกระเบนยาวเลยเข่าสีแดงลายตารางสีดำ ถัดมาเป็นร่างเปลือยของชายคนหนึ่ง ผิวคล้ำเข้ม นอนตะแคงเหยียดยาวลักษณะเหมือนเป็นซากศพที่เน่าแล้ว แต่กลับลืมตาโต ที่อยู่ทางปลายเท้าของซากศพเป็นภาพชายชราผมสั้นสีน้ำตาล ผิวสีขาวซีด สวมกางเกงสีเนื้อจาง ๆ สั้นเหนือเข่า ยืนตัวงอ มือข้างหนึ่งชี้ไปที่ซากศพ และถัดมา ชายคนทางขวาสุดของภาพท่อนล่างซึ่งมีรูปร่างและท่าทางเหมือนกับชายคนทางขวาของภาพท่อนบนเช่นกัน ชายคนนี้ผมสีดำยาว ไม่สวมเสื้อแต่มีผ้าคลุมไหล่สีกรมท่า นุ่งโจงกระเบนปล่อยชายยาวสีแดงยาวเลยเข่าลายตารางสีดำ ยืนและยกมือข้างหนึ่งชี้ไปที่ซากศพเช่นเดียวกันกับชายชรา
              

ภาพปริศนาธรรม ภาพที่ 25


คำอ่านตามรูปอักษร[1]

ในหนังสือ สมุดข่อย[2] ได้อธิบายภาพปริศนาธรรมภาพนี้ไว้ว่า
ไฟลุกอยู่ในมือนั้นคือราคชาติแล อุทัยยภัยยญาณ โยคาวจรเจ้าพิจารณาเห็นภัยในสังสารว่า ภพเพลิง หน่ายเพลิง กลัวนักหนาแลใคร่จะพ้นจากนักหนาแล
โยคาวจรเจ้าพิจารณาสมถวิปัสสนา เห็นชาติ ชรา มรณะในสังขาร ก็แลดูนิพพานเนือง ๆ”

คำอ่าน
ไฟลุกอฺยู่ในมฺือนั้นคฺือราคชาติแล
อุทยฺยภยฺยญาณ โยคาวจรเจ้าพิจฺจารณาเหนฺ
ภายฺในสงฺสารวาภพฺพเพฺลีงฺหฺนายเพฺลีงกฺลัวนักฺหฺนา
แลจะใคร่พ้นฺจากฺนักฺหฺนาแล
ไฟราคชาติ คนฺแก่ชรา โยคาวจร
โยคาวจรเจ้า พิจฺจารณาสมถวิปสฺสนา เหนฺชาติชรา
มรณในสงฺสาร ก็แลดูนิพฺพานเนฺือง ๆ

คำปริวรรต
ไฟลุกอยู่ในมือนั้นคือราคชาติแล
อุทัยยภัยยญาณ โยคาวจรเจ้าพิจารณาเห็น
ภายในสงสารว่าภพเพลิงหน่ายเหลิงกลัวนักหนา
แลจะใคร่พ้นจากนักหนาแล
ไฟราคชาติ คนแก่ชรา โยคาวจร
โยคาวจรเจ้า พิจารณาสมถวิปัสนา เห็นชาติชรา
มรณในสงสาร ก็แลดูนิพพานเนือง ๆ

คำอธิบายเพิ่มเติม
ข้อความในภาพนี้กล่าวถึง ภัยในสงสาร หรือ ภัยในสังสารวัฏ โดยรวม ๆ ก็จะหมายถึงการพิจารณาของโยคาวจร ซึ่งก็คือ ภิกษุ มีความหมายหนึ่งว่าเป็น “ผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร มีรูปวิเคราะห์ คือ วฏฺฏสํสาเร ภยํ อิกฺขตีติ ภิกฺขุ กล่าวคือ พระภิกษุเป็นผู้เห็นทุกข์โทษภัยของการเวียนว่ายตายเกิด มีความแก่ ความเจ็บ ความตาย การพลัดพรากจากของรัก หรือประสบสิ่งอันไม่เป็นที่รัก เป็นต้น” [3]
โยคาวจรพิจารณาเห็นว่าไฟที่อยู่ในมือนั้นเปรียบเสมือน ราคชาติ หรือ การเกิดของราคะ ที่ลุกโชนเผาไหม้จนยากจะหลุดพ้น และเมื่อโยคาวจรพิจารณาด้วยสมถวิปัสสนาก็จะเห็นว่า การเกิด แก่ ตายก็เป็นสังสารวัฏนั่นแล

 
หมายเหตุ

เกี่ยวกับสมุดภาพวัดพระรูป จังหวัดเพชรบุรี เล่มที่ 2
สมุดภาพปริศนาธรรมของวัดพระรูปเล่มนี้ เป็นสมุดไทยขาว อักษรขอม เขียนด้วยหมึกสีดำ ข้อความเป็นภาษาบาลีและภาษาไทย  ขนาด ยาว 41.4 เซนติเมตร กว้าง 14.8 เซนติเมตร หนา 4.7 เซนติเมตร ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่วัดพระรูป อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี
สมุดภาพเล่มนี้มีจำนวน 76 หน้า เขียนเป็นภาพปริศนาธรรมจำนวน 38 ภาพ โดยภาพ 1 ภาพเขียนบนหน้า 2 หน้า   ในการเขียนไม่ลงสีพื้น ภาพจึงมีความสวยงามเรียบง่ายแบบฝีมือช่างพื้นบ้าน ไม่มีการระบุชื่อผู้เขียน จึงไม่ทราบรายละเอียดของผู้เขียนและอายุของสมุดภาพเล่มนี้ แม้จะพบว่าลักษณะกลวิธีการเขียนหลายอย่างมีลักษณะคล้ายภาพจิตรกรรมสมัยอยุธยา เช่น นิยมใช้สีสดสว่าง รูปแบบการเขียนภาพคลื่นกระแสน้ำมีความคล้ายคลึงกับที่พบในสมุดภาพฉบับวัดลาด จังหวัดเพชรบุรี เล่มที่ 1 และสมุดภาพฉบับวัดสุวรรณภูมิ จังหวัดสุพรรณบุรี เล่มที่ 1 อีกทั้งในส่วนของภาษาก็มีภาษาเก่าปะปนอยู่มาก เช่น คำว่า สลุด (หมายถึง หล่ม) มีเมียเยียชู้ สเภา (หมายถึง สำเภา) เป็นต้น แต่ท่านผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของภาษาโบราณก็ยังเห็นว่าทั้งเทคนิคการเขียนภาพและความเก่าของภาษาดังกล่าวมานั้นยังมิใช่หลักฐานที่จะมีน้ำหนักพอที่จะกำหนดสมัยของสมุดภาพเล่มนี้ได้
 
[1] อ่านโดยผู้เขียน - นวพรรณ ภัทรมูล, ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
[2] บุญเตือน ศรีวรพจน์ และประสิทธิ์ แสงหับ, สมุดข่อย (กรุงเทพฯ : โครงการสืบสานมรดกวัฒนธรรมไทย, 2542), 275.
[3] https://www.kalyanamitra.org/th/uniboon_detail.php?page=4519

ผู้เขียน : นวพรรณ ภัทรมูล

คำสำคัญ : ปริศนาธรรม สมุดภาพ วัดพระรูป สมุดไทยขาว