ภาพปริศนาธรรมจากสมุดภาพวัดพระรูป ภาพที่ 24 นี้แบ่งเป็น 2 ท่อน คือท่อนบนและท่อนล่าง ท่อนบนประกอบไปด้วยภาพชาย 4 คน คนทางซ้ายสุดยืนคนเดียว ฝั่งขวายืนด้วยกัน 3 คน คนทางซ้ายมีอักษรกำกับกับข้าง ๆ ว่า ‘โยคาวจร’ ยืนชี้นิ้วไปยังกลุ่มชายด้านขวาของภาพ ส่วนกลุ่มชายทั้ง 3 คนด้านขวานั้นถือมีดดาบกวัดแกว่งราวกับจะเข้าไปทำร้ายโยควจรนั้น มีอักษรกำกับด้านข้างของแต่ละคนว่า ‘โลภภัย’ ‘โทสภัย’ และ ‘โมหภัย’ สำหรับรูปพรรณสัณฐานของชายทั้ง 4 ในภาพก็จะมีความคล้ายคลึงกัน คือไม่สวมเสื้อ และนุ่งผ้าลาย ที่แตกต่างกันคือชายที่เป็นโยคาวจรนั้นสวมกระบังหน้าสีแดง สวมเครื่องประดับเป็นริ้วเส้นที่แผงอก ต้นแขน และข้อมือ ส่วนชาย 3 คนที่ถือดาบนั้นไม่มีเครื่องประดับ แผงอกและท่อนแขนเปล่าเปลือย มีใบหน้าดูดุดันด้วยเรียวหนวดที่เหนือริมฝีปาก
ท่อนล่างของภาพก็เป็นเรื่องราวที่ต่อเนื่องกัน ทางซ้ายมีภาพร่างคนเปลือยกายผิวขาวซีด พุงป่องเล็กน้อย ลักษณะน่าจะเป็นศพเพราะมีอักษรกำกับข้าง ๆ ว่า ‘นี้คนตาย’ ส่วนทางขวาของภาพมีชายคนหนึ่ง ผมสีดำยาว ไม่สวมเสื้อ คลุมไหล่ด้วยผ้าสีเหลือง นุ่งผ้าสีแดง ยืนชี้นิ้วไปที่ศพ มีอักษรกำกับกับข้าง ๆ ตัวว่า ‘โยคาวจร’
ภาพปริศนาธรรม ภาพที่ 24
คำอ่านตามรูปอักษร[1]
ในหนังสือ สมุดข่อย[2] ได้อธิบายภาพปริศนาธรรมภาพนี้ไว้ว่า
“โยคาวจรพิจารณาเห็นภยญาณ เห็นภัยในสังสารคือ โลภะ โทสะ โมหะ ไล่ฆ่า ไล่ฟันกันเอง
โยคาวจร พิจารณากันตญาณ เห็นภัยในสังสาร แลดูนิพพานอยู่เนือง ๆ นั้นแล”
คำอ่าน
โยคาวจร
โยคาวจร พิจฺจรณาถึงฺภยฺยญาณ เหนฺไภยฺในสงฺสาร
คือฺโลภ โทส โมห ไล่ข้า ไล่ฟันฺ กันฺเองฺ
โลภภยฺย โทสภยฺย โมหภยฺย
โยคาวจร พิจฺจารณากนฺตญาณเหนฺภยฺยในสงฺสารก็แลฑูนิพพาน อฺยู่เนฺืองฺๆ นั้นฺแล
โยคาวจร
นี้คนฺตายฺ
คำอ่าน
โยคาวจร
โยคาวจร พิจารณาเห็นภยญาณ เห็นภัยในสงสาร
คือ โลภะ โทสะ โมหะ ไล่ฆ่า ไล่ฟันกันเอง
โลภภัย โทสภัย โมหภัย
โยคาวจร พิจารณากันตญาณ เห็นภัยในสงสาร ก็แลดูนิพพานอยู่เนือง ๆ นั้นแล
โยคาวจร
คำอธิบายเพิ่มเติม
ข้อความในภาพนี้ท่อนแรกมีการกล่าวถึง “ภยญาณ” หรือ “ภยตูปัฏฐานญาณ” คือ ปัญญาที่กำหนดพิจารณาเห็นรูปนามว่าเป็นของน่ากลัว ซึ่งเมื่อพิจารณาเห็นความแตกสลายอันมีทั่วไปแก่ทุกสิ่งทุกอย่างเช่นนี้แล้ว คิดได้ว่าสังขารทั้งปวงก็ปรากฏเป็นของน่ากลัว เพราะล้วนแต่จะต้องแตกสลายไปทั้งสิ้นเป็นสำคัญ[3] ส่วนข้อความในภาพนี้ท่อนหลังมีการกล่าวถึง “กันตญาณ” หรือ “กตญาณ” คือ ญาณที่หยั่งรู้ว่าได้ทำกิจที่ควรทำได้เสร็จสิ้นแล้ว โดยทุกข์ได้กำหนดรู้แล้ว เหตุแห่งทุกข์ได้ละแล้ว ความดับทุกข์ได้ประจักษ์แจ้งแล้ว และทางแห่งความดับทุกข์ได้ปฏิบัติแล้ว[4]
ผู้เขียน : นวพรรณ ภัทรมูล
คำสำคัญ : ปริศนาธรรม สมุดภาพ วัดพระรูป สมุดไทยขาว