ภาพปริศนาธรรมจากสมุดภาพวัดพระรูป ภาพที่ 23 นี้แบ่งเป็น 2 ท่อน บนและล่าง ท่อนบนด้านซ้ายมีราชสีห์สีแดงประกอบด้วยลวดลายเป็นวง ๆ สวยงามที่ลำตัว กำลังยืนมองไปที่กลางภาพ (บน) ที่มีภาพร่างคนเปลีอยกายผิวขาวซีด พุงป่องเล็กน้อย ลักษณาการน่าจะเป็นศพหรือคนที่ตายไปแล้ว ส่วนทางขวาของภาพ (บน) มีชายคนหนึ่งผิวสีเหลือง ผมสีดำยาว สวมกระบังหน้าสีแดง ไม่สวมเสื้อ ที่แผงอก ต้นแขน และข้อมือสวมเครื่องประดับเป็นริ้วเส้น นุ่งโจงกระเบนยาวลายดอกเหลี่ยม ๆ สีแดง-ดำ-ขาว ชายผ้าลายริ้วสีดำ-ขาว กำลังยืนมองไปที่ศพ เอามือทาบอกเป็นเหมือนตกใจ
ท่อนล่างด้านซ้ายเป็นภาพศาลาหรือเรือนขนาดเล็ก บนหลังคาเป็นภาพเส้นริ้ว ๆ สีแดงเหมือนเปลวเพลิง 3 เปลว ด้านขวาของภาพ (ล่าง) มีชายผู้หนึ่ง ผมดำยาว ผิวขาว สวมเครื่องประดับเป็นริ้วเส้นที่แผงอก ต้นแขน และข้อมือ ไม่สวมเสื้อ นุ่งโจงกระเบนยาวลายสีดำ ขาว และแดง ชายผู้นี้ยืนชี้มือไปยังศาลาเพลิงนั้น
ภาพปริศนาธรรม ภาพที่ 23
ในหนังสือ สมุดข่อย[2] ได้อธิบายภาพปริศนาธรรมภาพนี้ไว้ว่า
“โยคาวจรพิจารณาถึงนิพพิทาญาณ ก็หน่ายในท้องแม่ โยคาวจรกลัวอคคีราคะคือราชสีห์ เข้าท้องแม่ฉิบหาย ดุจดังราคตัณหาแล
โยคาวจร พิจจารณาถึงนิพพิทาญาณ เห็นโทษแห่งเรือนไฟ คืออาตมาภาวนี้”
คำอ่าน
โยคาวจร พิจฺจารณาถึงฺนิพฺพิทาญาณก็หฺน่ายฺในโทงฺแม่ โยคาวจร
กฺลัวอคฺคีราค คือฺราชสีห เข้าโทงฺแม่ฉิบฺหายฺ ฑุจฺจ
ราคตณฺหาแล
โยคาวจร พิจฺจารณาถึงฺนิพฺพิทาญาณเหนฺโทษฺแห่งฺ
เรือฺนไฟ คือฺอาตฺมาภาวนี้แล
โยคาวจร
คำปริวรรต
โยคาวจร พิจารณาถึงนิพพิทาญาณ ก็หน่ายในท้องแม่ โยคาวจร
กลัวอัคคีราคะ คือราชสีห์ เข้าท้องแม่ฉิบหาย ดุจ
ราคะตัณหาแล
โยคาวจร พิจารณาถึงนิพพิทาญาณเห็นโทษแห่ง
เรือนไฟ คืออาตมาภาวนี้แล
โยคาวจร
คำอธิบายเพิ่มเติม
ข้อความในภาพนี้มีการกล่าวถึง “นิพพิทาญาณ” เป็นสำคัญ นิพพิทาญาณ คือ ญาณที่พิจารณารูปนามโดยอาการเบื่อหน่าย เหมือนโยคาวจรที่พิจารณาเห็นสังขารทั้งปวงเต็มไปด้วยโทษอย่างในภาพปริศนาธรรมนี้น่าจะแทนด้วยภาพของซากศพ จิตก็จะเกิดความเบื่อหน่าย ไม่อยากได้รูปได้นามไม่อยากกลับมาเกิดอีก ไม่รักใคร่อาลัยอาวรณ์ในโลกสันนิวาสนี้อีกต่อไป อุปมาได้เหมือนสิ่งเหล่านี้ คือ
- เหมือนนกที่ถูกจับมาขังไว้ในกรงอันสวยงามมีค่า นกนั้นก็ไม่ปราถนาอยู่ มุ่งหน้าหาหนทางหนีออก
- เหมือนพระยาหงส์ทองยินดีอยู่ในสระทั้ง ๗ เชิงเขาจิตรกูฏ ไม่ยินดีในหลุมน้ำโสโครกใกล้บ้านคนจัณฑาล
- เหมือนพระยาราชสีห์ ไม่ยินดีให้ถูกจับขังไว้ในกรงทองคำ ยินดีแต่การอยู่ในป่าหิมพานต์กว้าง
- เหมือนพระยาช้างตระกูลฉัททันต์ ไม่ยินดีอยู่กลางเมือง ยินดีอยู่แต่ในป่าหิมพานต์ใกล้สระน้ำ[3]
ผู้เขียน : นวพรรณ ภัทรมูล
คำสำคัญ : ปริศนาธรรม สมุดภาพ วัดพระรูป สมุดไทยขาว