Blog

The Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
  • images

ปฏิสังขารญาณ

ปฏิสังขารญาณ

QR-code edit Share on Facebook
เวลาที่โพส
โพสต์เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2567 เวลา 15:39:53
บทความโดย : ทีมงาน

               ภาพปริศนาธรรมจากสมุดภาพวัดพระรูป ภาพที่ 22 นี้เป็นภาพของยักษ์ 1 ตน และชาย 1 คน ยักษ์นั้นอยู่ทางฝั่งซ้ายของภาพ มีร่างกายใหญ่โต สีกายน้ำเงินสด ดวงตากลมเล็ก ริมฝีปากสีแดงสด ฟันและเขี้ยวสีขาว สวมกระบังหน้าสีเหลืองทองประดับด้วยพลอยสีชมพูสลับน้ำเงิน ในภาพปรากฏเพียงท่อนบนคือตั้งแต่ศีรษะถึงข้อศอก ลักษณาการของยักษ์คือนอนคว่ำไปกับพื้น ส่วนศีรษะและคอตั้งขึ้น อ้าปากกว้างคาบวัตถุทรงกลมสีเหลืองไว้ โดยมีข้อศอกทั้งสองและฝ่ามือที่ค้ำประคองวัตถุกลมนั้น
               ด้านขวาของภาพ ชายผู้หนึ่งยืนมองยักษ์ สองแขนเหยียดตรงไปด้านล่าง แบมือทั้งสองข้าง เขามีผิวกายสีขาวอมชมพู ผมยาวสีดำ มีเครื่องประดับเป็นวงครอบบริเวณหน้าผากสีแดง-ส้ม ที่แผงคอ แขน และข้อมือสวมเครื่องประดับเป็นริ้วเส้น ไม่สวมเสื้อ นุ่งโจงกระเบนยาวลายสีแดง-ชายผ้าสีน้ำเงิน

ภาพปริศนาธรรม ภาพที่ 22
 
 

คำอ่านตามรูปอักษร[1]

ในหนังสือ สมุดข่อย[2] ได้อธิบายภาพปริศนาธรรมภาพนี้ไว้ว่า
๏ โยคาวจรเจ้า พิจารณาถึงปฏิสังขารญาณ มีอุบายใคร่จะพ้นจากตัณหา ดุจดังพระจันทร์จะใคร่พ้นจากปากราหูอสุรินทานี้แล

คำอ่านตามรูปอักษร
๏ โยคาวจรเจ้า พิจฺจารณาเถึงฺปฏิสงฺขารญาณ มีอุบายฺจไคฺร่พ้นฺจากฺตณฺหา ฑุจฺจฑังฺพฺรจนฺทฺรจไคฺร่พ้นฺจากฺปากราหูอสุรินฺทฺรนี้แล

คำอธิบายเพิ่มเติม
               ข้อความในภาพนี้มีการกล่าวถึง “ปฏิสังขารญาณ” เป็นสำคัญ ปฏิสังขาญาณ เป็นญาณที่ 10 แห่งโสฬสญาณ เป็นญาณที่ 7 แห่งวิปัสสนาญาณ 9 และอยู่ในปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ซึ่งเป็นวิสุทธิมัคคลำดับที่ 6 แห่งวิสุทธิ 7 เป็นญาณที่ หาอุบายให้พ้น จากรูปนาม หาทางหนีให้พ้นจากสังขาร
               เมื่อปรารถนาจะพ้นจากสังขารนั้น รูปนามก็พยายามเจริญภาวนาโดยไม่ยั้งหยุด ด้วยการเพ่งไตรลักษณ์ เพ่งความเกิดดับของรูปนาม ก็จะเกิดปัญญาแจ้งขึ้นมาเองว่า จะต้องหาอุบายอย่างใดอย่างหนึ่ง และดำเนินการตามอุบายนั้น จึงจะพ้นได้ ปัญญานี่แหละเรียกว่า ปฏิสังขาญาณ
               ปฏิสังขา มาจากคำว่า ปฏิสังขรณ์ แปลว่า การซ่อมแซม การตกแต่ง คือตกแต่งซ่อมแซมความปรารถนาที่จะพ้นจากสังขารรูปนามนั้นให้สมบูรณ์ จนเป็นผลขึ้นมา ถึงกระนั้นในขณะนี้ก็ยังมองไม่เห็นอุบายที่จะทำให้พ้นจากรูปนามนั้นได้ แต่ก็ไม่วายที่จะไตร่ตรองมองหาอุบายอยู่ [3] จากในภาพ ชายผู้นั้น ซึ่งก็คือโยคาวจร ได้ยืนมองไปที่ยักษ์ตนนั้นซึ่งระบุไว้ในข้อความจารว่าเป็นราหูอสุรินอย่างพินิจพิจารณาและมิรู้ว่าจะทำเช่นไรดี

 
หมายเหตุ

เกี่ยวกับสมุดภาพวัดพระรูป จังหวัดเพชรบุรี เล่มที่ 2
               สมุดภาพปริศนาธรรมของวัดพระรูปเล่มนี้ เป็นสมุดไทยขาว อักษรขอม เขียนด้วยหมึกสีดำ ข้อความเป็นภาษาบาลีและภาษาไทย  ขนาด ยาว 41.4 เซนติเมตร กว้าง 14.8 เซนติเมตร หนา 4.7 เซนติเมตร ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่วัดพระรูป อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี
               สมุดภาพเล่มนี้มีจำนวน 76 หน้า เขียนเป็นภาพปริศนาธรรมจำนวน 38 ภาพ โดยภาพ 1 ภาพเขียนบนหน้า 2 หน้า   ในการเขียนไม่ลงสีพื้น ภาพจึงมีความสวยงามเรียบง่ายแบบฝีมือช่างพื้นบ้าน ไม่มีการระบุชื่อผู้เขียน จึงไม่ทราบรายละเอียดของผู้เขียนและอายุของสมุดภาพเล่มนี้ แม้จะพบว่าลักษณะกลวิธีการเขียนหลายอย่างมีลักษณะคล้ายภาพจิตรกรรมสมัยอยุธยา เช่น นิยมใช้สีสดสว่าง รูปแบบการเขียนภาพคลื่นกระแสน้ำมีความคล้ายคลึงกับที่พบในสมุดภาพฉบับวัดลาด จังหวัดเพชรบุรี เล่มที่ 1 และสมุดภาพฉบับวัดสุวรรณภูมิ จังหวัดสุพรรณบุรี เล่มที่ 1 อีกทั้งในส่วนของภาษาก็มีภาษาเก่าปะปนอยู่มาก เช่น คำว่า สลุด (หมายถึง หล่ม) มีเมียเยียชู้ สเภา (หมายถึง สำเภา) เป็นต้น แต่ท่านผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของภาษาโบราณก็ยังเห็นว่าทั้งเทคนิคการเขียนภาพและความเก่าของภาษาดังกล่าวมานั้นยังมิใช่หลักฐานที่จะมีน้ำหนักพอที่จะกำหนดสมัยของสมุดภาพเล่มนี้ได้
 
 
[1] อ่านโดยผู้เขียน - นวพรรณ ภัทรมูล, ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
[2] บุญเตือน ศรีวรพจน์ และประสิทธิ์ แสงหับ, สมุดข่อย (กรุงเทพฯ : โครงการสืบสานมรดกวัฒนธรรมไทย, 2542), 273.
[3] http://abhidhamonline.org/aphi/p9/093.htm

ผู้เขียน : นวพรรณ ภัทรมูล

คำสำคัญ : ปริศนาธรรม สมุดภาพ วัดพระรูป สมุดไทยขาว