Blog

The Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
  • images

สังขารุเปกขาญาณ

สังขารุเปกขาญาณ

QR-code edit Share on Facebook
เวลาที่โพส
โพสต์เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 เวลา 11:18:53
บทความโดย : ทีมงาน

              ภาพปริศนาธรรมจากสมุดภาพวัดพระรูป ภาพที่ 21 นี้เป็นภาพคน 3 คน ชาย 2 หญิง 1 ด้านซ้ายมือชายผิวสีชมพูอ่อน ผมสั้นหยักศกสีดำ ไม่สวมเสื้อ นุ่งโจงกระเบนยาวลายสีส้ม-เหลือง-ขาว-ดำ กำลังยืนโอบกอดหญิงสาวผิวขาวเหลือง ผมสั้นสีดำทรงมหาดไทย ไม่สวมเสื้อ นุ่งผ้าถุงยาวสีเขียว หญิงสาวชี้มือไปที่ชายอีกคนหนึ่งที่ยืนอยู่ด้านขวา ชายคนนั้นผิวขาวเหลือง ผมยาว เกล้าผม มีเครื่องประดับเป็นวงครอบบริเวณหน้าผากขาว-แดง ปลายด้านบนหยักแหลมเป็นแฉก ๆ ผ้าถุงยาวมีลวดลายสีแดง-ส้ม-ดำ-เขียว เขายืนหันหน้ามองไปทางหญิงชายที่ยืนโอบกอดกันด้านซ้ายนั้น ยกมือข้างหนึ่งทาบไปที่อกหรือบริเวณหัวใจของตน
                             

ภาพปริศนาธรรม ภาพที่ 21


คำอ่านตามรูปอักษร[1]

ในหนังสือ สมุดข่อย[2] ได้อธิบายภาพปริศนาธรรมภาพนี้ไว้ว่า
๏ โยคาวจรเจ้า พิจารณาถึงสังขารุเปกขาญาณ มีเมียเยียชู้ จึงมิได้รักมิได้ชังกว่านั้นเลย ชื่ออุเบกขาญาณ

คำอ่านตามรูปอักษร
๏ โยคาวจรเจ้า พิจฺจารณาถึงฺxขxสงฺขารูเปกฺขาญาณ มีเมียฺเยียฺชู้จึงฺมิได้รักฺมิได้ชังฺกฺว่านั้นฺเลยฺชื่อฺอุเบกฺขาญาณ

คำอธิบายเพิ่มเติม
ข้อความในภาพนี้มีการกล่าวถึง “สังขารุเปกขาญาณ” เป็นสำคัญ ปัญญาที่พิจารณาหาทางแล้ววางเฉยความเกิดขึ้น ความเป็นไป นิมิต กรรมเครื่องประมวลมา ปฏิสนธิ คติ ความบังเกิด อุบัติ ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ ความโศก ความรำพัน ความคับแค้นใจ เพื่อต้องการได้โสดาปัตติมรรค[3] จากในภาพ ชายผู้เห็นภรรยาของตนมีชู้ต่อหน้าแต่เมื่อพิจารณาด้วยแนวทางของสังขารุเปกขาญาณแล้วยังให้เกิดการวางเฉย ไม่รักไม่ชัง


 
หมายเหตุ

เกี่ยวกับสมุดภาพวัดพระรูป จังหวัดเพชรบุรี เล่มที่ 2
สมุดภาพปริศนาธรรมของวัดพระรูปเล่มนี้ เป็นสมุดไทยขาว อักษรขอม เขียนด้วยหมึกสีดำ ข้อความเป็นภาษาบาลีและภาษาไทย  ขนาด ยาว 41.4 เซนติเมตร กว้าง 14.8 เซนติเมตร หนา 4.7 เซนติเมตร ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่วัดพระรูป อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี
สมุดภาพเล่มนี้มีจำนวน 76 หน้า เขียนเป็นภาพปริศนาธรรมจำนวน 38 ภาพ โดยภาพ 1 ภาพเขียนบนหน้า 2 หน้า   ในการเขียนไม่ลงสีพื้น ภาพจึงมีความสวยงามเรียบง่ายแบบฝีมือช่างพื้นบ้าน ไม่มีการระบุชื่อผู้เขียน จึงไม่ทราบรายละเอียดของผู้เขียนและอายุของสมุดภาพเล่มนี้ แม้จะพบว่าลักษณะกลวิธีการเขียนหลายอย่างมีลักษณะคล้ายภาพจิตรกรรมสมัยอยุธยา เช่น นิยมใช้สีสดสว่าง รูปแบบการเขียนภาพคลื่นกระแสน้ำมีความคล้ายคลึงกับที่พบในสมุดภาพฉบับวัดลาด จังหวัดเพชรบุรี เล่มที่ 1 และสมุดภาพฉบับวัดสุวรรณภูมิ จังหวัดสุพรรณบุรี เล่มที่ 1 อีกทั้งในส่วนของภาษาก็มีภาษาเก่าปะปนอยู่มาก เช่น คำว่า สลุด (หมายถึง หล่ม) มีเมียเยียชู้ สเภา (หมายถึง สำเภา) เป็นต้น แต่ท่านผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของภาษาโบราณก็ยังเห็นว่าทั้งเทคนิคการเขียนภาพและความเก่าของภาษาดังกล่าวมานั้นยังมิใช่หลักฐานที่จะมีน้ำหนักพอที่จะกำหนดสมัยของสมุดภาพเล่มนี้ได้
 
[1] อ่านโดยผู้เขียน - นวพรรณ ภัทรมูล, ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
[2] บุญเตือน ศรีวรพจน์ และประสิทธิ์ แสงหับ, สมุดข่อย (กรุงเทพฯ : โครงการสืบสานมรดกวัฒนธรรมไทย, 2542), 273.
[3] https://uttayarndham.org/node/6513

ผู้เขียน : นวพรรณ ภัทรมูล

คำสำคัญ : ปริศนาธรรม สมุดภาพ วัดพระรูป สมุดไทยขาว