Blog

The Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
  • images

ปฏิสังขารญาณและมุญจิตุกามยตาญาณ

ปฏิสังขารญาณและมุญจิตุกามยตาญาณ

QR-code edit Share on Facebook
เวลาที่โพส
โพสต์เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2567 เวลา 15:21:13
บทความโดย : ทีมงาน

               ภาพปริศนาธรรมจากสมุดภาพวัดพระรูป ภาพที่ 20 นี้แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนบนและส่วนล่าง ภาพบนประกอบด้วยชาย 1 คน และกวาง 1 ตัว ชายผู้นั้นผิวกายขาว ผมยาวสีดำ เกล้าผมเป็นมวยสูงด้านบน มีเครื่องประดับเป็นวงครอบบริเวณหน้าผาก ปลายด้านบนหยักแหลมเป็นแฉก ๆ สีแดง ไม่สวมเสื้อ สวมผ้านุ่งยาวมีลวดลายประกอบด้วยสีแดง-ขาว-ส้ม มีเครื่องประดับสีทองที่คอ ต้นแขน และข้อมือ ยืนเหลียวหลังมองไปทางกวางสีเนื้อที่ติดแร้วอยู่ ด้วยสีหน้าเศร้าสลด ดวงตาหลุบต่ำ

ภาพล่างประกอบด้วยชาย 3 คน ชายคนด้านซ้ายผิวกายขาว ผมยาวสีดำ เกล้าผมเป็นมวยสูงแหลม มีเครื่องประดับเป็นวงครอบบริเวณหน้าผาก ปลายด้านบนหยักแหลมเป็นแฉก ๆ สีแดง ไม่สวมเสื้อ สวมผ้านุ่งยาวมีลวดลายประกอบด้วยสีแดง-ขาว-ดำ-ส้ม มีเครื่องประดับสีส้ม-แดงที่คอ สีทองที่ต้นแขนและข้อมือ ยืนหันหน้ามองและชี้มือไปทางชายคนกลางที่กำลังก้มตัวจับสุ่มดักปลา ชายคนกลางนี้ผิวขาว ผมสั้นหยักศกสีดำ ไม่สวมเสื้อ สวมผ้านุ่งสั้นแค่เข่ามีลวดลายประกอบด้วยสีดำ-ขาว-แดง สวมเครื่องประดับแบบเรียบ ๆ ที่ต้นแขนและข้อมือ แขนข้างหนึ่งมีงูพันอยู่ ส่วนชายคนด้านขวาผิวเหลือง ผมยาวสีขาว เกล้าผมเป็นมวยสูง มีเครื่องประดับเป็นวงครอบบริเวณหน้าผากสีแดง ปลายด้านบนหยักแหลมเป็นแฉก ๆ สีขาว ไม่สวมเสื้อ สวมผ้านุ่งยาวมีลวดลายประกอบด้วยสีดำ-แดง-ขาว-ฟ้า มีเครื่องประดับสีส้ม-แดงที่คอ สีทองที่ต้นแขนและข้อมือ ยืนหันหน้าไปอีกทางไม่มองชายคนกลาง ลักษณาการคล้ายเดินหนี


ภาพปริศนาธรรม ภาพที่ 20


คำอ่านตามรูปอักษร[1]

ในหนังสือ สมุดข่อย[2] ได้อธิบายภาพปริศนาธรรมภาพนี้ไว้ว่า
โยคาวจร พิจารณาเห็นปฏิสังขารญาณนั้น กระทำอุบายใคร่จะพ้นจากสังสารทุกข์ ดุจดังเนื้อติดแร้วนั้น แลจะใคร่พ้นจากแร้วมีฉันใดไส้ อันว่าโยคาวจรจะใคร่พ้นจากทุกข์ในสังสารดุจดังเนื้อติดแร้วนั้นแล   
โยคาวจร พิจารณาถึงมุญจิตุกามยตาญาณ คือเห็นบุรุษสุ่มปลาแลได้งู กลัวคือได้แก่อาตมาภาวะยินดีว่าปลา ครั้นได้อาตมาภาวะก็ฉิบหาย ดุจบุรุษสุ่มปลาฉะนั้น

คำอ่าน
โยคาวจร พิจฺจารณาเหนฺปฏิสงฺขารญาณนั้น กฺทำอุบายจไคฺร่พ้นฺจากฺสงฺสารทุกฺข ฑุจฺจเนื้อฺติดฺแร้วฺนั้น
แลจไคฺร่พ้นฺจากฺแร้วฺแลมีฉันฺใฑไส่ อันฺว่าโยคาวจร
จไคฺร่พ้นฺจากทุกฺขในสงฺสาร ฑุจฺจฑังฺเนื้อฺติดฺแร้วฺนั้นแล
โยคาวจร พิจฺจรณา ถึงฺมุญฺจิตุกามฺยตาญาณ คือฺเหนฺบุรุศ
สุ่มปฺลา แลไฑ้งูกฺลัว คือฺไฑ้ แก่อาตฺมาภาว
ยินฺฑีว่าปฺลา ครั้นไฑ้อาตฺมาภาว ก็ฉิบฺหายฺฑุจฺจบุรุศสุ่มปฺลา
นั้นแล โยคาวจร
มหาบุรุศ คือฺพฺระจบอกฺ  ว่างูบฺมิให้สุ่มแล

คำปริวรรต
โยคาวจร พิจารณาเห็นปฏิสังขารญาณนั้น กระทำอุบายจะใคร่พ้นจากสังสารทุกข์ ดุจดังเนื้อติดแร้วนั้น แลจะใคร่พ้นจากแร้วแลมีฉันใดไซร้ อันว่าโยคาวจรจะใคร่พ้นจากทุกข์ในสังสารดุจดังเนื้อติดแร้วนั้นแล
โยคาวจร พิจารณาถึงมุญจิตุกามยตาญาณ คือเห็นบุรุษสุ่มปลาแลได้งู กลัวคือได้แก่อาตมาภาวะยินดีว่าปลา ครั้นได้อาตมาภาวะก็ฉิบหาย ดุจบุรุษสุ่มปลานั้นแล
โยคาวจร มหาบุรุษ คือพระจะบอก ว่างูบ่มิให้สุ่มแล”

คำอธิบายเพิ่มเติม
ข้อความในภาพนี้มีการกล่าวถึง ปฏิสังขารญาณ หรือ ปฏิสังขาญาณ กับ มุญจิตุกามยตาญาณ หรือ มุญจิตุกัมยตาญาณ
ปฏิสังขารญาณ คือ ญาณพิจารณาเห็นนามรูปโดยขะมักเขม้น[3] ในญาณนี้จะหาทางว่าทำอย่างไรถึงจะหลุดพ้นไปได้ จึงพิจารณาหาทางออกจากทุกข์ เหมือนกวางที่ติดแร้วอยู่ ยังไม่อาจหลุดพ้น ส่วน มุญจิตุกามยตาญาณ ที่อยู่ในภาพล่างนั้น คือ ญาณอันคำนึงด้วยใคร่จะพ้นไปเสีย, ความหยั่งรู้ที่ทำให้ต้องการจะพ้นไปเสีย คือ ต้องการจะพ้นไปเสียจากสังขารที่เบื่อหน่ายแล้ว เป็นญาณที่มีความปราถนาใคร่จะพ้นจากนามรูป[4] โดยที่ได้พิจารณาเห็นนามรูปเป็นของน่ากลัว มีทุกข์ มีโทษต่าง ๆ จิตก็เกิดความเบื่อหน่าย อยากออก อยากหนี อยากหลุด อยากพ้น จากสังขารธรรม อยากพ้นจากสังสารวัฏ ในภาพน่าจะตรงกับชายคนขวาที่เดินหนีใคร่จะพ้นไปเสียจากสิ่งที่น่ากลัว

 
หมายเหตุ

เกี่ยวกับสมุดภาพวัดพระรูป จังหวัดเพชรบุรี เล่มที่ 2
สมุดภาพปริศนาธรรมของวัดพระรูปเล่มนี้ เป็นสมุดไทยขาว อักษรขอม เขียนด้วยหมึกสีดำ ข้อความเป็นภาษาบาลีและภาษาไทย  ขนาด ยาว 41.4 เซนติเมตร กว้าง 14.8 เซนติเมตร หนา 4.7 เซนติเมตร ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่วัดพระรูป อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี
สมุดภาพเล่มนี้มีจำนวน 76 หน้า เขียนเป็นภาพปริศนาธรรมจำนวน 38 ภาพ โดยภาพ 1 ภาพเขียนบนหน้า 2 หน้า   ในการเขียนไม่ลงสีพื้น ภาพจึงมีความสวยงามเรียบง่ายแบบฝีมือช่างพื้นบ้าน ไม่มีการระบุชื่อผู้เขียน จึงไม่ทราบรายละเอียดของผู้เขียนและอายุของสมุดภาพเล่มนี้ แม้จะพบว่าลักษณะกลวิธีการเขียนหลายอย่างมีลักษณะคล้ายภาพจิตรกรรมสมัยอยุธยา เช่น นิยมใช้สีสดสว่าง รูปแบบการเขียนภาพคลื่นกระแสน้ำมีความคล้ายคลึงกับที่พบในสมุดภาพฉบับวัดลาด จังหวัดเพชรบุรี เล่มที่ 1 และสมุดภาพฉบับวัดสุวรรณภูมิ จังหวัดสุพรรณบุรี เล่มที่ 1 อีกทั้งในส่วนของภาษาก็มีภาษาเก่าปะปนอยู่มาก เช่น คำว่า สลุด (หมายถึง หล่ม) มีเมียเยียชู้ สเภา (หมายถึง สำเภา) เป็นต้น แต่ท่านผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของภาษาโบราณก็ยังเห็นว่าทั้งเทคนิคการเขียนภาพและความเก่าของภาษาดังกล่าวมานั้นยังมิใช่หลักฐานที่จะมีน้ำหนักพอที่จะกำหนดสมัยของสมุดภาพเล่มนี้ได้
 
[1] อ่านโดยผู้เขียน - นวพรรณ ภัทรมูล, ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
[2] บุญเตือน ศรีวรพจน์ และประสิทธิ์ แสงหับ, สมุดข่อย (กรุงเทพฯ : โครงการสืบสานมรดกวัฒนธรรมไทย, 2542), 271.
[3] https://kalyanamitra.org/th/article_detail.php?i=23220
[4] https://kalyanamitra.org/th/article_detail.php?i=23097

ผู้เขียน : นวพรรณ ภัทรมูล

คำสำคัญ : ปริศนาธรรม สมุดภาพ วัดพระรูป สมุดไทยขาว