Blog

The Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
  • images

อนุโลมญาณ

อนุโลมญาณ

QR-code edit Share on Facebook
เวลาที่โพส
โพสต์เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 08:59:39
บทความโดย : ทีมงาน

               ภาพปริศนาธรรมจากสมุดภาพวัดพระรูป ภาพที่ 18 นี้เป็นภาพกลุ่มบุคคลบนเรือสำเภา ชายที่อยู่หัวเรือไม่สวมเสื้อ สวมแต่โจงกระเบน ที่ศีรษะมีเครื่องสวมเป็นหยัก ๆ  คล้ายมงกุฎ มีเครื่องประดับที่คอ ต้นแขน และข้อมือ ยืนยกมือชี้ไปยังหน้าผาสีแดงเพลิงที่ด้านหน้าของลำเรือ (ด้านซ้ายของภาพ) เบื้องบนมีพานทอง  1 ใบ และมีลูกกลม ๆ สีเหลืองทอง 3 ลูกอยู่บนพาน ที่กลางลำเรือมีหญิงและชายรวม 5 คน ชายคนหนึ่งยืนอยู่หน้า ไม่สวมเสื้อ สวมแต่โจงกระเบน ยืนยกมือพนมไหว้สูงเหนือศีรษะ ชายและหญิงอีก 4 คนที่ยืนอยู่ด้านหลังแต่งกายแบบตะวันตก ชายสวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว หญิงสวมชุดกระโปรงยาว ที่ท้ายเรือเป็นที่นั่งสูงมีหลังคา ข้างในมีชายผู้หนึ่งนั่งอยู่ ผมสีอ่อน สวมเสื้อแขนยาว คอปิด
               กลางลำเรือมีเสาสูง 3 ต้น เสาต้นหนึ่งมีนกตัวใหญ่ 1 ตัว เกาะอยู่บนหัวเสา ด้านหลังของลำเรือ (ด้านขวาของภาพ) มีหน้าผาหินสีน้ำเงิน เบื้องบนมีเปลวเพลิงสีแดงกำลังลุกไหม้            



ภาพปริศนาธรรม ภาพที่ 18



คำอ่านตามรูปอักษร[1]

ในหนังสือ สมุดข่อย[2] ได้อธิบายภาพปริศนาธรรมภาพนี้ไว้ว่า
มหานิพพาน    สเภาคืออาตมภาวะ    นกคืออนุโลมญาณ    ภูเขาไฟคือสังสาร   
๏ โยคาวจร     พิจารณาถึงอนุโลมญาณ    ดุจดังนกสมุทรกากี    คือนายสำเภานั้นแล
คำอ่าน
มหานิพฺพาน    สเภาคฺืออาตฺมภาวะ    นกคฺืออนุเลามญาณ    ภูเขาไฟคฺือสงฺสาร   
๏ โยคาวจร พิจฺจารณาถึงฺอนุเลามญาณ   ฑุจฺจฑังฺนกฺสฺมุทกากี  คฺือนายฺสมฺเภานั้นแล

คำปริวรรต
มหานิพพาน สำเภาคืออาตมภาวะ นกคืออนุโลมญาณ ภูเขาไฟคือสงสาร
โยคาวจรพิจารณาถึงอนุโลมญาณดุจดังนกสมุทรกากีคือนายสำเภานั้นแล

คำอธิบายเพิ่มเติม
ข้อความในภาพนี้มีการกล่าวถึง “อนุโลมญาณ” เป็นสำคัญ อนุโลมญาณ เป็นญาณที่ 12 แห่งโสฬสญาณ เป็นญาณที่ 9 คือ ญาณสุดท้ายแห่งวิปัสสนาญาณ 9 และเป็นญาณสุดท้ายของปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ อันเป็นลำดับที่ 6 แห่งวิสุทธิ 7[3]  โดยเปรียบเทียบเรือสำเภาคืออาตมภาวะ และนกคืออนุโลมญาณ และภูเขาที่มีเปลวไฟนั้นคือสังสารวัฏ


 
หมายเหตุ

เกี่ยวกับสมุดภาพวัดพระรูป จังหวัดเพชรบุรี เล่มที่ 2
สมุดภาพปริศนาธรรมของวัดพระรูปเล่มนี้ เป็นสมุดไทยขาว อักษรขอม เขียนด้วยหมึกสีดำ ข้อความเป็นภาษาบาลีและภาษาไทย  ขนาด ยาว 41.4 เซนติเมตร กว้าง 14.8 เซนติเมตร หนา 4.7 เซนติเมตร ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่วัดพระรูป อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี
สมุดภาพเล่มนี้มีจำนวน 76 หน้า เขียนเป็นภาพปริศนาธรรมจำนวน 38 ภาพ โดยภาพ 1 ภาพเขียนบนหน้า 2 หน้า   ในการเขียนไม่ลงสีพื้น ภาพจึงมีความสวยงามเรียบง่ายแบบฝีมือช่างพื้นบ้าน ไม่มีการระบุชื่อผู้เขียน จึงไม่ทราบรายละเอียดของผู้เขียนและอายุของสมุดภาพเล่มนี้ แม้จะพบว่าลักษณะกลวิธีการเขียนหลายอย่างมีลักษณะคล้ายภาพจิตรกรรมสมัยอยุธยา เช่น นิยมใช้สีสดสว่าง รูปแบบการเขียนภาพคลื่นกระแสน้ำมีความคล้ายคลึงกับที่พบในสมุดภาพฉบับวัดลาด จังหวัดเพชรบุรี เล่มที่ 1 และสมุดภาพฉบับวัดสุวรรณภูมิ จังหวัดสุพรรณบุรี เล่มที่ 1 อีกทั้งในส่วนของภาษาก็มีภาษาเก่าปะปนอยู่มาก เช่น คำว่า สลุด (หมายถึง หล่ม) มีเมียเยียชู้ สเภา (หมายถึง สำเภา) เป็นต้น แต่ท่านผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของภาษาโบราณก็ยังเห็นว่าทั้งเทคนิคการเขียนภาพและความเก่าของภาษาดังกล่าวมานั้นยังมิใช่หลักฐานที่จะมีน้ำหนักพอที่จะกำหนดสมัยของสมุดภาพเล่มนี้ได้
 
[1] อ่านโดยผู้เขียน - นวพรรณ ภัทรมูล, ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
[2] บุญเตือน ศรีวรพจน์ และประสิทธิ์ แสงหับ, สมุดข่อย (กรุงเทพฯ : โครงการสืบสานมรดกวัฒนธรรมไทย, 2542), 271.
[3] http://abhidhamonline.org/aphi/p9/095.htm

ผู้เขียน : นวพรรณ ภัทรมูล

คำสำคัญ : ปริศนาธรรม สมุดภาพ วัดพระรูป สมุดไทยขาว