Blog

The Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
  • images

โคตรภูญาณ

โคตรภูญาณ

QR-code edit Share on Facebook
เวลาที่โพส
โพสต์เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2566 เวลา 09:30:21
บทความโดย : ทีมงาน

               ภาพปริศนาธรรมจากสมุดภาพวัดพระรูป ภาพที่ 17 นี้เป็นภาพชายผู้หนึ่งไม่สวมเสื้อ สวมแต่โจงกระเบน มีเครื่องสวมศีรษะเป็นหยัก ๆ  คล้ายมงกุฎ ประกอบกับเครื่องประดับที่คอ แขน และข้อมือ ชายผู้นี้นั่งขัดตะหมาดบนธรรมาสน์ทรงเตี้ย ชื้มือข้างหนึ่งไปยังบุษบกสีทองแกะสลัก ภายในบุษบกประดิษฐานพานทอง  1 ใบ และมีลูกกลม ๆ สีเหลืองทอง 3 ลูกอยู่บนพาน เมื่อพิจารณาจากคำอธิบายประกอบภาพแล้ว เข้าใจว่า ลูกกลม ๆ ที่อยู่บนพานนี้น่าจะเป็นสัญลักษณ์แทน “นิพพาน” ซึ่งมี 3 ระดับคือ ตทังคนิพพาน วิกขัมภนนิพพาน และสมุทเฉทนิพพาน (หรือ ปรินิพพาน)          

ภาพปริศนาธรรม ภาพที่ 17



คำอ่านตามรูปอักษร
[1]


ในหนังสือ สมุดข่อย[2] ได้อธิบายภาพปริศนาธรรมภาพนี้ไว้ว่า
โยคาวจร พิจารณาโคตรภูญาณ หน่วงเอานิพพานเป็นอารมณ์ จะใคร่เข้าสู่อริยโคตรแล
คำอ่าน
โยคาวจร พิจฺจารณาโคตฺรภุญาณหฺนฺ่วฺงเอานิพฺพานเปนฺอารมณไคฺร่เข้าสู่อริยโคตฺร+
                                                                                                                              แล

คำปริวรรต
โยคาวจร พิจารณาโคตรภูญาณ หน่วงเอานิพพานเป็นอารมณ์ จะใคร่เข้าสู่อริยโคตร+
                                                                                                                                แล


คำอธิบายเพิ่มเติม
ข้อความในภาพนี้มีการกล่าวถึง “โคตรภูญาณ” เป็นสำคัญ พระเทพวิสุทธิมุนี วิ. ผู้อำนวยการสถาบันวิปัสนาธุระ ได้บรรยายเกี่ยวกับ โคตรภูญาณ ไว้ในบทความเรื่อง โสฬสญาณ (ญาณ 16) อย่างละเอียด และผู้เขียนพิจารณาแล้วเห็นว่าคำบรรยายของพระอาจารย์มีความสอดคล้องกับข้อความในภาพ จึงได้ขอยกคำบรรยายนั้นมาประกอบเนื้อหาให้เห็นชัดเจนขึ้นดังนี้ “โคตรภูญาณ : เป็นญาณที่ข้ามเขตปุถุชนเข้าสู่อริยชน เป็นด่านที่สลัดอารมณ์โลกิยะ เสนอแนะนิพพานให้เป็นอารมณ์ของจิตในเวลาปฏิบัติจริง อนุโลมญาณกับโคตรภูญาณจะเกิดขึ้นต่อเนื่องกันในขณะจิตดวงเดียวกัน โดยอนุโลมญาณจะเกิดขึ้นก่อนโคตรภูญาณสองถึงสามครั้ง เพื่อทำตัวให้เข้มแข็ง ที่สามารถไล่ความมืดคือโมหะออกไป ในญาณนี้ผู้ปฏิบัติยังคงกำหนดรูปนามต่อไปเมื่อโคตรญาณเกิดขึ้น จิตของผู้ปฏิบัติจะมีนิพพานเป็นอารมณ์ ข้ามโคตรปุถุชน บรรลุถึงอริยชน โดยไม่หวนกลับมาอีก”[3]


 
หมายเหตุ

เกี่ยวกับสมุดภาพวัดพระรูป จังหวัดเพชรบุรี เล่มที่ 2
สมุดภาพปริศนาธรรมของวัดพระรูปเล่มนี้ เป็นสมุดไทยขาว อักษรขอม เขียนด้วยหมึกสีดำ ข้อความเป็นภาษาบาลีและภาษาไทย  ขนาด ยาว 41.4 เซนติเมตร กว้าง 14.8 เซนติเมตร หนา 4.7 เซนติเมตร ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่วัดพระรูป อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี
สมุดภาพเล่มนี้มีจำนวน 76 หน้า เขียนเป็นภาพปริศนาธรรมจำนวน 38 ภาพ โดยภาพ 1 ภาพเขียนบนหน้า 2 หน้า   ในการเขียนไม่ลงสีพื้น ภาพจึงมีความสวยงามเรียบง่ายแบบฝีมือช่างพื้นบ้าน ไม่มีการระบุชื่อผู้เขียน จึงไม่ทราบรายละเอียดของผู้เขียนและอายุของสมุดภาพเล่มนี้ แม้จะพบว่าลักษณะกลวิธีการเขียนหลายอย่างมีลักษณะคล้ายภาพจิตรกรรมสมัยอยุธยา เช่น นิยมใช้สีสดสว่าง รูปแบบการเขียนภาพคลื่นกระแสน้ำมีความคล้ายคลึงกับที่พบในสมุดภาพฉบับวัดลาด จังหวัดเพชรบุรี เล่มที่ 1 และสมุดภาพฉบับวัดสุวรรณภูมิ จังหวัดสุพรรณบุรี เล่มที่ 1 อีกทั้งในส่วนของภาษาก็มีภาษาเก่าปะปนอยู่มาก เช่น คำว่า สลุด (หมายถึง หล่ม) มีเมียเยียชู้ สเภา (หมายถึง สำเภา) เป็นต้น แต่ท่านผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของภาษาโบราณก็ยังเห็นว่าทั้งเทคนิคการเขียนภาพและความเก่าของภาษาดังกล่าวมานั้นยังมิใช่หลักฐานที่จะมีน้ำหนักพอที่จะกำหนดสมัยของสมุดภาพเล่มนี้ได้
 
 
[1] อ่านโดยผู้เขียน - นวพรรณ ภัทรมูล, ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
[2] บุญเตือน ศรีวรพจน์ และประสิทธิ์ แสงหับ, สมุดข่อย (กรุงเทพฯ : โครงการสืบสานมรดกวัฒนธรรมไทย, 2542), 271.
[3] chrome-extension://efaidnbmnnnibpcajpcglclefindmkaj/https://plan-vipassana.mcu.ac.th/wp-content/uploads/2021/07/โสฬสญาณ-16และววิสุทธิ7.pdf

ผู้เขียน : นวพรรณ ภัทรมูล

คำสำคัญ : ปริศนาธรรม สมุดภาพ วัดพระรูป สมุดไทยขาว