Blog

The Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
  • images

สกิทาคามัคคญาณ

สกิทาคามัคคญาณ

QR-code edit Share on Facebook
เวลาที่โพส
โพสต์เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 เวลา 15:19:52
บทความโดย : ทีมงาน

               ภาพปริศนาธรรมจากสมุดภาพวัดพระรูป ภาพที่ 15 นี้ กลางภาพมีพระสงฆ์นั่งขัดสมาธิอยู่บนอาสนะ 1 รูป ที่อาสนะมีลวดลายคล้ายใบหน้าสัตว์ในวรรณคดี ที่พื้นดินตั้งแต่ใต้อาสนะไปจนถึงด้านหลังมีลวดลายคล้ายรอยแหวกของแผ่นดินเป็นทางยาว รอบ ๆ บริเวณที่พระองค์เจ้านั่งอยู่นั้นมีต้นไม้ดอกไม้สวยงามทั้งซ้ายและขวา


ภาพปริศนาธรรม ภาพที่ 15


คำอ่านตามรูปอักษร[1]

ในหนังสือ สมุดข่อย[2] ได้อธิบายภาพปริศนาธรรมภาพนี้ไว้ว่า
โยคาวจร พิจารณาถึงสกิทาคามัคคญาณ ระงับโทโส มานะ อุทัจจะ มิให้กล้าในอาตมาภาวะนี้ สัมมาทิฐิศีลบริบูรณ์แล
คำอ่าน
๏ โยคาวจร พิจฺจารณาถึงฺสกิทาคามคฺคญาณระงับฺ โทโส มานะ อุ(x)ทฺธจฺจ มิให้กล้าในอาตฺมาภาวนี้
สมฺมาทิฏฺฐิสีลปริปูรณแล

คำปริวรรต
โยคาวจร พิจารณาถึงสกิทาคามัคคญาณ ระงับโทโส มานะ อุธัจจะ มิให้กล้าในอาตมาภาวะนี้ สัมมาทิฐิศีลบริบูรณ์แล
คำอธิบายเพิ่มเติม
ปริศนาธรรมภาพนี้ กล่าวถึง สกิทาคามัคคญาณ ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับปริศนาธรรมภาพที่ 11[3] เรื่อง พระอริยบุคคล 4 ขั้น โดยในที่นี้จะเกี่ยวข้องกับพระอริยบุคคล ลำดับที่ 3 คือ พระสกิทาคามี ซึ่งเป็นพระอริยบุคคลผู้ละสังโยชน์ (กิเลสที่ผูกมัดสัตว์) ได้ 3 อย่าง ได้แก่ 1) สักกายทิฏฐิ (ความเห็นว่าร่างกายเป็นของตน) 2) วิจิกิจฉา (ความสงสัยว่าพระรัตนตรัยดีจริงหรือ) 3) ศีลพตปรามาส (การเชื่อพิธีกรรมทางไสยศาสตร์) 4) กามราคะ (ความติดใจในกามารมณ์) 5) ปฏิฆะ (ความขัดเคืองใจ) พระสกิทาคามี และจิตคลายจากราคะ โทสะ และโมหะมากขึ้น[4]  

หมายเหตุ
เกี่ยวกับสมุดภาพวัดพระรูป จังหวัดเพชรบุรี เล่มที่ 2
สมุดภาพปริศนาธรรมของวัดพระรูปเล่มนี้ เป็นสมุดไทยขาว อักษรขอม เขียนด้วยหมึกสีดำ ข้อความเป็นภาษาบาลีและภาษาไทย  ขนาด ยาว 41.4 เซนติเมตร กว้าง 14.8 เซนติเมตร หนา 4.7 เซนติเมตร ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่วัดพระรูป อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี
สมุดภาพเล่มนี้มีจำนวน 76 หน้า เขียนเป็นภาพปริศนาธรรมจำนวน 38 ภาพ โดยภาพ 1 ภาพเขียนบนหน้า 2 หน้า   ในการเขียนไม่ลงสีพื้น ภาพจึงมีความสวยงามเรียบง่ายแบบฝีมือช่างพื้นบ้าน ไม่มีการระบุชื่อผู้เขียน จึงไม่ทราบรายละเอียดของผู้เขียนและอายุของสมุดภาพเล่มนี้ แม้จะพบว่าลักษณะกลวิธีการเขียนหลายอย่างมีลักษณะคล้ายภาพจิตรกรรมสมัยอยุธยา เช่น นิยมใช้สีสดสว่าง รูปแบบการเขียนภาพคลื่นกระแสน้ำมีความคล้ายคลึงกับที่พบในสมุดภาพฉบับวัดลาด จังหวัดเพชรบุรี เล่มที่ 1 และสมุดภาพฉบับวัดสุวรรณภูมิ จังหวัดสุพรรณบุรี เล่มที่ 1 อีกทั้งในส่วนของภาษาก็มีภาษาเก่าปะปนอยู่มาก เช่น คำว่า สลุด (หมายถึง หล่ม) มีเมียเยียชู้ สเภา (หมายถึง สำเภา) เป็นต้น แต่ท่านผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของภาษาโบราณก็ยังเห็นว่าทั้งเทคนิคการเขียนภาพและความเก่าของภาษาดังกล่าวมานั้นยังมิใช่หลักฐานที่จะมีน้ำหนักพอที่จะกำหนดสมัยของสมุดภาพเล่มนี้ได้
 

 
[1] อ่านโดยผู้เขียน - นวพรรณ ภัทรมูล, ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
[2] บุญเตือน ศรีวรพจน์ และประสิทธิ์ แสงหับ, สมุดข่อย (กรุงเทพฯ : โครงการสืบสานมรดกวัฒนธรรมไทย, 2542), 270.
[3] https://db.sac.or.th/inscriptions/blog/detail/27133
[4] คำอธิบายเกี่ยวกับ “พระอริยบุคคล 4 ขั้น” เรียบเรียงโดยใช้ข้อมูลจาก :
สมบัติ จำปาเงิน. (2515). อริยบุคคล. ใน เปลื้อง ณ นคร (บ.ก.). ความรู้สารพัดชื่อ ด้านภาษา วัฒนธรรมไทย และ สังคมศึกษา. (น. 54-55). พระนคร : โอเดียนสโตร์.

ผู้เขียน : นวพรรณ ภัทรมูล

คำสำคัญ : ปริศนาธรรม สมุดภาพ วัดพระรูป สมุดไทยขาว