ภาพปริศนาธรรมจากสมุดภาพวัดพระรูป ภาพที่ 12 นี้ประกอบไปด้วยภาพวงกลม 2 วง วงใหญ่กับวงเล็ก วงกลมวงใหญ่อยู่ด้านซ้าย ภายในแบ่งเป็น 4 ช่องเท่า ๆ กัน ในแต่ละช่องมีชาย 1 คน รวม 4 ช่องเท่ากับชาย 4 คน อยู่ในวงกลมด้วยอาการเหมือนหกคะเมนตีลังกา ชายทั้ง 4 มีลักษณะหน้าตาและการแต่งกายคล้าย ๆ กัน คือ ผมสั้น นุ่งโจงกระเบน และไม่สวมเสื้อ ที่ต่างกันคือสีผิว มีทั้งผิวเข้ม ผิวขาว ผิวเหลือง ส่วนในวงกลมวงเล็กที่อยู่ด้านขวา-ล่าง มีรูปปลา 4 ตัวกำลังว่ายน้ำอยู่ เป็นปลาสีเข้ม 2 ตัว และปลาสีอ่อน 2 ตัว
ภาพปริศนาธรรม ภาพที่ 12

คำอ่านตามรูปอักษร

ในหนังสือ สมุดข่อย ได้อธิบายภาพปริศนาธรรมภาพนี้ไว้ว่า
“วงกลม หมายถึง วัฏฏสงสาร คน 4 คน ในวงกลม ได้แก่ ราคะ โลภะ โทสะ และโมหะ
ปลา หมายถึง กิเลส ว่ายวนเวียนอยู่ด้วยกุศลกรรมและอกุศลกรรม”
คำอ่าน
(ข้อความเหนือวงกลมเล็ก ขวา-ล่าง)
บ. 1 ปฺลาหฺวายอฺยู่คือฺกิเลศเข้าสู่
บ. 2 กุสลกมฺมอกุสลกมฺม
(ข้อความในวงกลมใหญ่ กำกับรูปบุคคลทั้ง 4 เวียนขวา)
ราค
โลโภ
โทโส
โมโห
คำปริวรรต
(ข้อความเหนือวงกลมเล็ก ขวา-ล่าง)
บ. 1 ปลาว่ายอยู่คือกิเลสเข้าสู่
บ. 2 กุศลกรรมอกุศลกรรม
(ข้อความในวงกลมใหญ่ กำกับรูปบุคคลทั้ง 4 เวียนขวา)
ราคะ
โลภะ
โทสะ
โมหะ
ภาพและเนื้อหาในหน้านี้เป็นปริศนาธรรมดังคำอธิบายในหนังสือ สมุดข่อย เปรียบคนที่เวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสาร ต่างประกอบด้วยกิเลสคือ ราคะ โลภะ โทสะ และโมหะ เช่นเดียวกับปลาซึ่งก็คือกิเลสที่เวียนว่ายอยู่ในกรรมและอกุศลกรรม
หมายเหตุ
เกี่ยวกับสมุดภาพวัดพระรูป จังหวัดเพชรบุรี เล่มที่ 2
สมุดภาพปริศนาธรรมของวัดพระรูปเล่มนี้ เป็นสมุดไทยขาว อักษรขอม เขียนด้วยหมึกสีดำ ข้อความเป็นภาษาบาลีและภาษาไทย ขนาด ยาว 41.4 เซนติเมตร กว้าง 14.8 เซนติเมตร หนา 4.7 เซนติเมตร ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่วัดพระรูป อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี
สมุดภาพเล่มนี้มีจำนวน 76 หน้า เขียนเป็นภาพปริศนาธรรมจำนวน 38 ภาพ โดยภาพ 1 ภาพเขียนบนหน้า 2 หน้า ในการเขียนไม่ลงสีพื้น ภาพจึงมีความสวยงามเรียบง่ายแบบฝีมือช่างพื้นบ้าน ไม่มีการระบุชื่อผู้เขียน จึงไม่ทราบรายละเอียดของผู้เขียนและอายุของสมุดภาพเล่มนี้ แม้จะพบว่าลักษณะกลวิธีการเขียนหลายอย่างมีลักษณะคล้ายภาพจิตรกรรมสมัยอยุธยา เช่น นิยมใช้สีสดสว่าง รูปแบบการเขียนภาพคลื่นกระแสน้ำมีความคล้ายคลึงกับที่พบในสมุดภาพฉบับวัดลาด จังหวัดเพชรบุรี เล่มที่ 1 และสมุดภาพฉบับวัดสุวรรณภูมิ จังหวัดสุพรรณบุรี เล่มที่ 1 อีกทั้งในส่วนของภาษาก็มีภาษาเก่าปะปนอยู่มาก เช่น คำว่า สลุด (หมายถึง หล่ม) มีเมียเยียชู้ สเภา (หมายถึง สำเภา) เป็นต้น แต่ท่านผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของภาษาโบราณก็ยังเห็นว่าทั้งเทคนิคการเขียนภาพและความเก่าของภาษาดังกล่าวมานั้นยังมิใช่หลักฐานที่จะมีน้ำหนักพอที่จะกำหนดสมัยของสมุดภาพเล่มนี้ได้
อ่านโดยผู้เขียน - นวพรรณ ภัทรมูล, ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
บุญเตือน ศรีวรพจน์ และประสิทธิ์ แสงหับ, สมุดข่อย (กรุงเทพฯ : โครงการสืบสานมรดกวัฒนธรรมไทย, 2542), 268.
บุญเตือน ศรีวรพจน์ และประสิทธิ์ แสงหับ, สมุดข่อย (กรุงเทพฯ : โครงการสืบสานมรดกวัฒนธรรมไทย, 2542), 268.
ผู้เขียน : นวพรรณ ภัทรมูล
คำสำคัญ :
ปริศนาธรรม
สมุดภาพ
วัดพระรูป
สมุดไทยขาว