Blog

The Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
  • images

ภัยในสังสาร

ภัยในสังสาร

QR-code edit Share on Facebook
เวลาที่โพส
โพสต์เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2566 เวลา 11:04:26
บทความโดย : ทีมงาน

              ภาพปริศนาธรรมจากสมุดภาพวัดพระรูป ภาพที่ 10 นี้ประกอบไปด้วยคน 2 คน พระยาครุฑ และงู 1 ตัว ภาพคนทางซ้าย-บนเป็นชาย ผิวเหลือง สวมเครื่องครอบศีรษะเป็นหยัก ๆ คล้ายมงกุฎ ยืนโบกมือข้างหนึ่งให้พระยาครุฑและงู ซึ่งก็คือพระยานาคราชที่อยู่ในปากพระยาครุฑ ส่วนชายอีกคนนั่งอยู่ด้านขวา-ล่าง ผิวขาว แต่งกายธรรมดาไม่มีเครื่องครอบศีรษะ ยกมือขึ้นข้างหนึ่งเหมือนหยิบอะไรสักอย่างขึ้นมา         

ภาพปริศนาธรรม ภาพที่ 10


คำอ่านตามรูปอักษร[1]

ในหนังสือ สมุดข่อย[2] ได้อธิบายภาพปริศนาธรรมภาพนี้ไว้ว่า
นาคราชอยู่ในปากครุฑ โยคาวจรเห็นภัยในสังสาร และกลัวภัยประดุจดังพระยานาคราชอันอยู่ในปากครุฑ แลใคร่พ้นจากปากครุฑแลมีฉันใด โยคาวจรใคร่พ้นจากสังสารประดุจดังนั้นแล

คำอ่าน
(ข้อความด้านซ้าย-ล่าง 5 บรรทัด)
บ. 1        โยคาวจรพิจฺจารณาเหนฺภยฺยในสงฺงสาร
บ. 2        แลกฺลัว ปฺรฑฺุจฺจฑังฺพฺรยานาคราชอันฺอฺยู่ปากฺ
บ. 3        พฺรยาคฺรุทฺธ แลจไคฺร่พ้นฺจากฺปากฺคฺรุทฺธแลมี
บ. 4        ฉนฺใฑ โยคาวจรจไคฺร่พ้นฺจากฺสงฺสาร ปฺร
บ. 5        ฑุจฺจฑังฺนั้นฺแล

(ข้อความกำกับภาพด้านซ้าย-บน)
โยคาวจร

(ข้อความกำกับภาพตรงกลาง)
นาคราชอฺยู่ในปากฺคฺรุทฺธ

(ข้อความกำกับภาพด้านขวา-ล่าง)
โลกป่าไม้

คำปริวรรต
(ข้อความด้านซ้าย-ล่าง 5 บรรทัด)
บ. 1        โยคาวจรพิจารณา[3]เห็นภัยในสังสาร
บ. 2        แลกลัว ประดุจดังพระยานาคราชอันอยู่ปาก
บ. 3        พระยาครุฑ แลจะ[4]ใคร่พ้นจากปากครุฑแลมี
บ. 4        ฉันใด โยคาวจรจะ[5]ใคร่พ้นจากสังสารประ
บ. 5        ดุจดังนั้นแล

(ข้อความกำกับภาพด้านซ้าย-บน)
โยคาวจร[6]

(ข้อความกำกับภาพตรงกลาง)
นาคราชอยู่ในปากครุฑ

(ข้อความกำกับภาพด้านขวา-ล่าง)
โลกป่าไม้[7]

ภาพและเนื้อหาของปริศนาธรรมภาพนี้ ประกอบด้วยคนและสัตว์ที่ใช้เป็นบุคลาธิษฐานแทนการอธิบายถึงภัยในสังสารวัฏที่เปรียบเหมือนพระยานาคในปากครุฑ พระยานาคอยากหลุดออกจากปากครุฑฉันใดโยคาวจร[8]ก็อยากจะพ้นจากสังสารวัฏฉันนั้น


 
หมายเหตุ

เกี่ยวกับสมุดภาพวัดพระรูป จังหวัดเพชรบุรี เล่มที่ 2
             สมุดภาพปริศนาธรรมของวัดพระรูปเล่มนี้ เป็นสมุดไทยขาว อักษรขอม เขียนด้วยหมึกสีดำ ข้อความเป็นภาษาบาลีและภาษาไทย  ขนาด ยาว 41.4 เซนติเมตร กว้าง 14.8 เซนติเมตร หนา 4.7 เซนติเมตร ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่วัดพระรูป อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี
             สมุดภาพเล่มนี้มีจำนวน 76 หน้า เขียนเป็นภาพปริศนาธรรมจำนวน 38 ภาพ โดยภาพ 1 ภาพเขียนบนหน้า 2 หน้า   ในการเขียนไม่ลงสีพื้น ภาพจึงมีความสวยงามเรียบง่ายแบบฝีมือช่างพื้นบ้าน ไม่มีการระบุชื่อผู้เขียน จึงไม่ทราบรายละเอียดของผู้เขียนและอายุของสมุดภาพเล่มนี้ แม้จะพบว่าลักษณะกลวิธีการเขียนหลายอย่างมีลักษณะคล้ายภาพจิตรกรรมสมัยอยุธยา เช่น นิยมใช้สีสดสว่าง รูปแบบการเขียนภาพคลื่นกระแสน้ำมีความคล้ายคลึงกับที่พบในสมุดภาพฉบับวัดลาด จังหวัดเพชรบุรี เล่มที่ 1 และสมุดภาพฉบับวัดสุวรรณภูมิ จังหวัดสุพรรณบุรี เล่มที่ 1 อีกทั้งในส่วนของภาษาก็มีภาษาเก่าปะปนอยู่มาก เช่น คำว่า สลุด (หมายถึง หล่ม) มีเมียเยียชู้ สเภา (หมายถึง สำเภา) เป็นต้น แต่ท่านผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของภาษาโบราณก็ยังเห็นว่าทั้งเทคนิคการเขียนภาพและความเก่าของภาษาดังกล่าวมานั้นยังมิใช่หลักฐานที่จะมีน้ำหนักพอที่จะกำหนดสมัยของสมุดภาพเล่มนี้ได้
 
[1] อ่านโดยผู้เขียน - นวพรรณ ภัทรมูล, ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
[2] บุญเตือน ศรีวรพจน์ และประสิทธิ์ แสงหับ, สมุดข่อย (กรุงเทพฯ : โครงการสืบสานมรดกวัฒนธรรมไทย, 2542), 267.
[3] คำนี้ในหนังสือ สมุดข่อย ไม่มี แต่ผู้อ่านพิจารณาแล้วเห็นว่าในสมุดไทยขาวเขียน พิจฺจารณาชัดเจน จึงปริวรรตเป็น “พิจารณา”
[4] คำนี้ในหนังสือ สมุดข่อย ไม่มี แต่ผู้อ่านพิจารณาแล้วเห็นว่าในสมุดไทยขาวเขียน ชัดเจน จึงปริวรรตเป็น “จะ”
[5] คำนี้ในหนังสือ สมุดข่อย ไม่มี แต่ผู้อ่านพิจารณาแล้วเห็นว่าในสมุดไทยขาวเขียน ชัดเจน จึงปริวรรตเป็น “จะ”
[6] คำนี้ในหนังสือ สมุดข่อย ไม่มี แต่ผู้อ่านพิจารณาแล้วเห็นว่าในสมุดไทยขาวเขียน โยคาวจรชัดเจน
[7] คำนี้ในหนังสือ สมุดข่อย ไม่มี แต่ผู้อ่านพิจารณาแล้วเห็นว่าในสมุดไทยขาวเขียน โลกป่าไม้ชัดเจน
[8] โยคาวจร คือ ผู้มีความเพียร ผู้เจริญภาวนา ในที่นี้หมายถึง พระภิกษุ

ผู้เขียน : นวพรรณ ภัทรมูล

คำสำคัญ : ปริศนาธรรม สมุดภาพ วัดพระรูป สมุดไทยขาว