Blog

The Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
  • images

นาคบาศพรหมวิหาร

นาคบาศพรหมวิหาร

QR-code edit Share on Facebook
เวลาที่โพส
โพสต์เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2566 เวลา 10:25:53
บทความโดย : ทีมงาน

              ภาพปริศนาธรรมจากสมุดภาพวัดพระรูป ภาพที่ 7 นี้เป็นภาพวงกลมซ้อนกัน 4 วง มีงู 8 ตัวนอนทับเส้นวงกลมนั้น งูทุกตัวนอนอยู่ในอิริยาบถเหมือนเชือกผูกตัวเองด้วยการเอาส่วนหางลอดออกมาจากส่วนกลางของลำตัวที่ขดทำวงไว้ ในวงขดของงูมีคำเขียนไว้ 3 คำ คือ คาม นคร จักรวาล ด้านล่างของวงกลมที่งูตัวล่างสุดมีเส้นโยงและมีข้อความอธิบายที่ด้านนอกวงกลม

ภาพปริศนาธรรม ภาพที่ 7

คำอ่านตามรูปอักษร[1]

ในหนังสือ สมุดข่อย[2] ได้อธิบายภาพปริศนาธรรมภาพนี้ไว้ว่า
“โยคีผู้ฉลาด ใช้ฌานเป็นนาค เกี่ยวสัตว์โลกา เกี่ยวทั้งแปดทิศ ด้วยฤทธิ์อัปปนา บ่ายหน้าเข้ามา ต่อตัวโยคี ละตัวแลสิบเอ็ดที ต้องโยคีเป็นโกลาหล ฝูงผีฝูงคนแตกกันบูชา เอาใจผูกเอาคามกับนครเข้าด้วยกันเป็นทีหนึ่ง ผูกเอานครกับจักรวาฬเข้าด้วยกันทีหนึ่ง

คำอ่าน
(3 บรรทัดด้านบน)
บ. 1        ๏ โยคีผู้ฉลาดใชฌาณฺเปนฺนาคเกฺิยวสัตฺวโลกา เกฺิยวทั้งฺแปตฺทิสฑฺ้วฺยริทฺธอปฺปนา ปายฺหฺน้าเขามาต่อฺฑฺ้วฺยตัวฺโยคี พ่นฺ
บ. 2        พิศฺมโอกมาลตัวฺแลสิปเอตฺที ตฺ้องโยคีเปนฺโกลาหนฺ ผูงผีผูงคนฺแตกฺกันฺปูชา ชื่อฺนาคปาตฺพฺรหฺมวิหาร เอาใจ
บ. 3        ผูกเอาคามกับฺนครเข้าฑฺ้วฺยกันฺที่หฺนึ่ง ผูกเอานครกับฺจักฺกวาฬเข้าฑฺ้วฺยกันฺที่หฺนึ่ง

(ข้อความในวงกลมวงเล็กสุดตรงกลางภาพ)
โยคี

(ข้อความในวงขดของงูทั้ง 8 ตัว เรียงจากด้านในไปยังด้านนอก-เหมือนกันทุกตัว)
คาม นคร จักฺกวาฬ

(ข้อความที่อยู่นอกวงกลมด้านล่างของภาพ ใช้อธิบายเส้นโยงความสัมพันธ์ของข้อความในวงขดของงู เป็นข้อความเดียวกัน เขียน 2 บรรทัด)
2 อันฺอปฺปนาหฺนึ่ง

คำปริวรรต
(3 บรรทัดด้านบน)
บ. 1        ๏ โยคีผู้ฉลาด ใช้ฌานเป็นนาค เกี่ยวสัตว์โลกา เกี่ยวทั้งแปดทิศ ด้วยฤทธิ์อัปปนา บ่ายหน้าเข้ามา ต่อด้วย[3]ตัวโยคี พ่น
บ. 2        พิษออกมา ละตัวแลสิบเอ็ดที ต้องโยคีเป็นโกลาหล ฝูงผีฝูงคนแตกกันบูชา ชื่อนาคบาศพรหมวิหาร เอาใจ
บ. 3        ผูกเอาคามกับนครเข้าด้วยกัน[4]ที่หนึ่ง ผูกเอานครกับจักรวาลเข้าด้วยกันทีหนึ่ง

(กลางวงกลมวงเล็กสุด)
โยคี

(ข้อความในวงขดของงูทั้ง 8 ตัว เรียงจากด้านในไปยังด้านนอก-เหมือนกันทุกตัว)
คาม นคร จักวาล

(ข้อความที่อยู่นอกวงกลมด้านล่างของภาพ ใช้อธิบายเส้นโยงความสัมพันธ์ของข้อความในวงขดของงู เป็นข้อความเดียวกัน เขียน 2 บรรทัด)
2 อันอัปปนาหนึ่ง
 

ข้อความในปริศนาธรรมหน้านี้ประกอบไปด้านกระบวนการเจริญฌานปฏิบัติกรรมฐาน ในที่นี้จะเน้นถึง อัปปนาสมาธิ ซึ่งก็คือ สมาธิที่ไม่หวั่นไหว หมายถึงสมาธิระดับฌานสมาบัติ ปฐมฌานขึ้นไป[5] ในภาพนี้จะกล่าวถึงการใช้ฌานเป็นนาค (งู) ลักษณะคือใช้นาคเกี่ยวสัตว์โลกทั้งแปดทิศ เอาจิตผูกคาม (หมู่บ้าน) กับนครเข้าด้วยกันทอดหนึ่ง แล้วไปผูกเอานครกับจักรวาลอีกทอดหนึ่ง
 
หมายเหตุ

เกี่ยวกับสมุดภาพวัดพระรูป จังหวัดเพชรบุรี เล่มที่ 2
             สมุดภาพปริศนาธรรมของวัดพระรูปเล่มนี้ เป็นสมุดไทยขาว อักษรขอม เขียนด้วยหมึกสีดำ ข้อความเป็นภาษาบาลีและภาษาไทย  ขนาด ยาว 41.4 เซนติเมตร กว้าง 14.8 เซนติเมตร หนา 4.7 เซนติเมตร ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่วัดพระรูป อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี
             สมุดภาพเล่มนี้มีจำนวน 76 หน้า เขียนเป็นภาพปริศนาธรรมจำนวน 38 ภาพ โดยภาพ 1 ภาพเขียนบนหน้า 2 หน้า   ในการเขียนไม่ลงสีพื้น ภาพจึงมีความสวยงามเรียบง่ายแบบฝีมือช่างพื้นบ้าน ไม่มีการระบุชื่อผู้เขียน จึงไม่ทราบรายละเอียดของผู้เขียนและอายุของสมุดภาพเล่มนี้ แม้จะพบว่าลักษณะกลวิธีการเขียนหลายอย่างมีลักษณะคล้ายภาพจิตรกรรมสมัยอยุธยา เช่น นิยมใช้สีสดสว่าง รูปแบบการเขียนภาพคลื่นกระแสน้ำมีความคล้ายคลึงกับที่พบในสมุดภาพฉบับวัดลาด จังหวัดเพชรบุรี เล่มที่ 1 และสมุดภาพฉบับวัดสุวรรณภูมิ จังหวัดสุพรรณบุรี เล่มที่ 1 อีกทั้งในส่วนของภาษาก็มีภาษาเก่าปะปนอยู่มาก เช่น คำว่า สลุด (หมายถึง หล่ม) มีเมียเยียชู้ สเภา (หมายถึง สำเภา) เป็นต้น แต่ท่านผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของภาษาโบราณก็ยังเห็นว่าทั้งเทคนิคการเขียนภาพและความเก่าของภาษาดังกล่าวมานั้นยังมิใช่หลักฐานที่จะมีน้ำหนักพอที่จะกำหนดสมัยของสมุดภาพเล่มนี้ได้
 
[1] อ่านโดยผู้เขียน - นวพรรณ ภัทรมูล, ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
[2] บุญเตือน ศรีวรพจน์ และประสิทธิ์ แสงหับ, สมุดข่อย (กรุงเทพฯ : โครงการสืบสานมรดกวัฒนธรรมไทย, 2542), 266.
[3] คำนี้ในหนังสือ สมุดข่อย ไม่มี แต่ผู้อ่านพิจารณาแล้วเห็นว่าในสมุดไทยขาวเขียน ฑฺ้วฺยชัดเจน จึงอ่านและปริวรรตเป็น “ด้วย”
[4] ตรงนี้ในหนังสือ สมุดข่อย มีคำว่า “เป็น” แต่ผู้อ่านพิจารณาแล้วเห็นว่าในสมุดไทยขาวไม่มีคำนี้

ผู้เขียน : นวพรรณ ภัทรมูล

คำสำคัญ : ปริศนาธรรม สมุดภาพ วัดพระรูป สมุดไทยขาว