ภาพปริศนาธรรมจากสมุดภาพวัดพระรูป ภาพที่ 6 นี้เป็นภาพวงกลมซึ่งภายในมีกลีบดอกบัวซ้อนกัน 2 ชั้น วงกลมวงนอกซึ่งภายในมีกลีบบัวกลีบใหญ่ จะมีตัวเลขกำกับที่กลีบเป็นคู่ ๆ เหมือนและตรงกันกับตัวเลขที่กลีบดอกบัวในวงกลมวงเล็ก ด้านบนของภาพมีคำอธิบายเกี่ยวกับการเจริญฌานหรือปฏิบัติสมาธิกรรมฐานด้วยกระบวนการจำเพาะตามที่ปรากฏในภาพ
ภาพปริศนาธรรม ภาพที่ 6

คำอ่านตามรูปอักษร

ในหนังสือ สมุดข่อย ได้อธิบายภาพปริศนาธรรมภาพนี้ไว้ว่า
“โยคีชมฌาน แก้วก่อห้องจักรวาฬ ให้รูปดอกบัว นั่งกลางฝักอ่อน คามเป็นเกสร นครเป็นกลีบกลาง ริมขอบจักรวาฬเป็นขอบนอกที่สุด ผุดขึ้นในสมุดคือโลกสัณฐาน โยคีผู้มีฌาน นั่งชมฌานในห้องดอกบัว ชมรสอัปปนาชื่อปทุมชาติพรหมวิหาร นิมิตจักรวาฬเป็นรูปดอกบัวด้วยเดชอัปปนา”
คำอ่าน
(4 บรรทัดด้านบน)
บ. 1 ๏ โยคีชมฺฌานฺแกวฺกโห้งฺจักฺกวาฬให้รูปฑฺอกบัวฺ นั่งฺกฺลางผักฺโอ่นฺคามเปนฺเกษรนครเปนฺกฺลีบกฺลางริมฺโขบฺจักฺกวาฬเปนฺโขปฺโนกฺ
บ. 2 ที่สุต ผุตขึ้นฺในสมุทฺธคือฺโลกฺยสณฺฐาน โยคีผู้มีญาณนั่งฺชมฺฌานฺในโห้งฺฑฺอกบัวฺชมฺรสอปฺปนา ชื่อฺปทุม
บ. 3 ชาติพฺรหฺมวิหารนิมิตฺรจกฺกวาฬ เปนฺ
บ. 4 รูปฑฺอกบัวฺฑฺ้วยฺเฑชะอัปฺปนา
(ที่ขอบนอกของวงกลม-ด้านบน)
ปุรฏฺฐิมาย
(ตัวเลขที่ขอบนอกของวงกลม)
(ในกลีบดอกบัวด้านบน เยื้องซ้าย)
จกฺกวาฬ
(ในกลีบดอกบัวด้านล่าง เยื้องซ้าย)
นคร
(ที่เกสรบัว)
คาม
(ตัวเลขที่กลีบของดอกบัว 8 กลีบ เลขเดียวกันทั้งกลีบนอก-กลีบใน คู่กัน บน-ล่าง)
ปลายกลีบ
2 11 4 13 6 15 8 17
กลางกลีบ
10 3 12 5 14 9 16 1
คำปริวรรต
(4 บรรทัดด้านบน)
บ. 1 ๏ โยคีชมฌาน แก้วก่อห้องจักรวาล ให้รูปดอกบัว นั่งกลางฝักอ่อน คามเป็นเกสร นครเป็นกลีบกลาง ริมขอบจักรวาล เป็นขอบนอก
บ. 2 ที่สุด ผุดขึ้นในสมุด คือโลกสัณฐาน โยคีผู้มีญาณ นั่งชมฌานในห้องดอกบัว ชมรสอัปปนาชื่อปทุม-
บ. 3 ชาติพรหมวิหาร นิมิตจักรวาฬ เป็น
บ. 4 รูปดอกบัว ด้วยเดชอัปปนา
(ที่ขอบนอกของวงกลม-ด้านบน)
ปุรัฏฐิมายะ
(ในกลีบดอกบัวด้านบน เยื้องซ้าย)
จักรวาล
(ในกลีบดอกบัวด้านล่าง เยื้องซ้าย)
นคร
(ที่เกสรบัว)
คาม
ข้อความในปริศนาธรรมหน้านี้ประกอบไปด้านกระบวนการเจริญฌานปฏิบัติกรรมฐาน ในที่นี้จะเน้นถึง อัปปนาสมาธิ ซึ่งก็คือ สมาธิที่ไม่หวั่นไหว หมายถึงสมาธิระดับฌานสมาบัติ ปฐมฌานขึ้นไป ในภาพนี้จะกล่าวถึงการนั่งชมฌานในห้องดอกบัว โดยเปรียบจักรวาลเหมือนเป็นเช่นดอกบัว
หมายเหตุ
เกี่ยวกับสมุดภาพวัดพระรูป จังหวัดเพชรบุรี เล่มที่ 2
สมุดภาพปริศนาธรรมของวัดพระรูปเล่มนี้ เป็นสมุดไทยขาว อักษรขอม เขียนด้วยหมึกสีดำ ข้อความเป็นภาษาบาลีและภาษาไทย ขนาด ยาว 41.4 เซนติเมตร กว้าง 14.8 เซนติเมตร หนา 4.7 เซนติเมตร ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่วัดพระรูป อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี
สมุดภาพเล่มนี้มีจำนวน 76 หน้า เขียนเป็นภาพปริศนาธรรมจำนวน 38 ภาพ โดยภาพ 1 ภาพเขียนบนหน้า 2 หน้า ในการเขียนไม่ลงสีพื้น ภาพจึงมีความสวยงามเรียบง่ายแบบฝีมือช่างพื้นบ้าน ไม่มีการระบุชื่อผู้เขียน จึงไม่ทราบรายละเอียดของผู้เขียนและอายุของสมุดภาพเล่มนี้ แม้จะพบว่าลักษณะกลวิธีการเขียนหลายอย่างมีลักษณะคล้ายภาพจิตรกรรมสมัยอยุธยา เช่น นิยมใช้สีสดสว่าง รูปแบบการเขียนภาพคลื่นกระแสน้ำมีความคล้ายคลึงกับที่พบในสมุดภาพฉบับวัดลาด จังหวัดเพชรบุรี เล่มที่ 1 และสมุดภาพฉบับวัดสุวรรณภูมิ จังหวัดสุพรรณบุรี เล่มที่ 1 อีกทั้งในส่วนของภาษาก็มีภาษาเก่าปะปนอยู่มาก เช่น คำว่า สลุด (หมายถึง หล่ม) มีเมียเยียชู้ สเภา (หมายถึง สำเภา) เป็นต้น แต่ท่านผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของภาษาโบราณก็ยังเห็นว่าทั้งเทคนิคการเขียนภาพและความเก่าของภาษาดังกล่าวมานั้นยังมิใช่หลักฐานที่จะมีน้ำหนักพอที่จะกำหนดสมัยของสมุดภาพเล่มนี้ได้
อ่านโดยผู้เขียน - นวพรรณ ภัทรมูล, ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
บุญเตือน ศรีวรพจน์ และประสิทธิ์ แสงหับ, สมุดข่อย (กรุงเทพฯ : โครงการสืบสานมรดกวัฒนธรรมไทย, 2542), 265.
คำนี้ในหนังสือ สมุดข่อย ใช้ว่า “ฌาน” แต่ผู้อ่านพิจารณาแล้วเห็นว่าในสมุดไทยขาวเขียน “ญาณ” ชัดเจน จึงได้ปริวรรตเป็น “ญาณ”
ผู้เขียน : นวพรรณ ภัทรมูล
คำสำคัญ :
ปริศนาธรรม
สมุดภาพ
วัดพระรูป
สมุดไทยขาว