Blog

The Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
  • images

ตัณหากับธาตุทั้ง 4

ตัณหากับธาตุทั้ง 4

QR-code edit Share on Facebook
เวลาที่โพส
โพสต์เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2566 เวลา 15:23:29
บทความโดย : ทีมงาน

              ภาพปริศนาธรรมจากสมุดภาพวัดพระรูป ภาพที่ 3 นี้ประกอบไปด้วยภาพชาย 5 คน ลักษณาการเหมือนลอยอยู่บนอากาศ ชายคนที่อยู่ตรงกลางร่างใหญ่กว่าเพื่อน สวมเครื่องประดับศีรษะที่มียอดแหลมคล้ายมงกุฎหรือชฎา ไม่สวมเสื้อ แต่มีเครื่องประดับที่คอ กรองคอ และแขนทั้งสอง นุ่งผ้าโจงกระเบนมีลวดลายสวยงาม ชายผ้าส่วนที่เรียกว่าห้อยหน้าหรือชายไหวมีลำตัวของสิงห์ 2 ตัวโผล่ออกมาตัวละครึ่ง เหมือนเป็นพาหนะ
              ส่วนชายทั้ง  4 ที่ลอยอยู่ด้านข้างนั้น ทำท่าเหมือนกันคือยกมือไหว้คนตรงกลาง ด้านซ้ายนอกเป็นชายผมสีขาว ผิวเข้ม ด้านซ้ายในเป็นชายผิวชาว ผมสีดำ ด้านขวานอกเป็นชายผิวสีอ่อน ผมสีขาว และด้านซ้ายในเป็นชายผิวเข้ม ผมสีดำ ทั้ง 4 คนผมยาว มัดเป็นจุกสูงกลางศีรษะ ไม่สวมเสื้อ และนุ่งโจงกระเบนเหมือน ๆ กัน

ภาพปริศนาธรรม ภาพที่ 3


คำอ่านตามรูปอักษร[1]


ในหนังสือ สมุดข่อย[2] ได้อธิบายภาพปริศนาธรรมภาพนี้ไว้ว่า
“พระยาตัณหา (กลาง) มีธาตุทั้ง 4 คือ อาโปธาตุ ปฐวีธาตุ วาโยธาตุ และเตโชธาตุ เป็นบริวาร”

คำอ่าน-ปริวรรต และอธิบายเพิ่มเติม

อาโป คือ อาโปธาตุ หมายถึงธาตุน้ำ
ปฐวี คือ  ปฐวีธาตุ หมายถึง ธาตุดิน
วาโย คือ วาโยธาตุ หมายถึง ธาตุลม
เตโช คือ เตโชธาตุ หมายถึง ธาตุไฟ
พฺรยาตณฺหา   คือ   พระยาตัณหา
                                 
“พระยาตัณหา” ในที่นี้ไม่น่าจะหมายถึงคน แต่เป็นบุคลาธิษฐานแทนสิ่งที่เรียกว่า ตัณหา ซึ่งในทางธรรมกล่าวถึง ตัณหา ไว้ว่า คือ ความอยาก ความใคร่ ความพอใจ ในรูป เสียง กลิ่น เป็นต้น ส่วน ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ หรือเราเรียกกันง่าย ๆ ว่า  ดิน น้ำ ไฟ ลม นั้นเป็นองค์ประกอบของ มหาภูต 4 รูปใหญ่ หรือ มหาภูตรูป 4 ซึ่งก็คือ ธาตุ 4 ที่เราเคยได้ยินกัน สำหรับปริศนาธรรมข้อนี้ ตัณหาและธาตุทั้ง 4 มาเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันอย่างไรก็ชวนให้ขบคิดอยู่


 
หมายเหตุ

เกี่ยวกับสมุดภาพวัดพระรูป จังหวัดเพชรบุรี เล่มที่ 2
             สมุดภาพปริศนาธรรมของวัดพระรูปเล่มนี้ เป็นสมุดไทยขาว อักษรขอม เขียนด้วยหมึกสีดำ ข้อความเป็นภาษาบาลีและภาษาไทย  ขนาด ยาว 41.4 เซนติเมตร กว้าง 14.8 เซนติเมตร หนา 4.7 เซนติเมตร ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่วัดพระรูป อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี
             สมุดภาพเล่มนี้มีจำนวน 76 หน้า เขียนเป็นภาพปริศนาธรรมจำนวน 38 ภาพ โดยภาพ 1 ภาพเขียนบนหน้า 2 หน้า   ในการเขียนไม่ลงสีพื้น ภาพจึงมีความสวยงามเรียบง่ายแบบฝีมือช่างพื้นบ้าน ไม่มีการระบุชื่อผู้เขียน จึงไม่ทราบรายละเอียดของผู้เขียนและอายุของสมุดภาพเล่มนี้ แม้จะพบว่าลักษณะกลวิธีการเขียนหลายอย่างมีลักษณะคล้ายภาพจิตรกรรมสมัยอยุธยา เช่น นิยมใช้สีสดสว่าง รูปแบบการเขียนภาพคลื่นกระแสน้ำมีความคล้ายคลึงกับที่พบในสมุดภาพฉบับวัดลาด จังหวัดเพชรบุรี เล่มที่ 1 และสมุดภาพฉบับวัดสุวรรณภูมิ จังหวัดสุพรรณบุรี เล่มที่ 1 อีกทั้งในส่วนของภาษาก็มีภาษาเก่าปะปนอยู่มาก เช่น คำว่า สลุด (หมายถึง หล่ม) มีเมียเยียชู้ สเภา (หมายถึง สำเภา) เป็นต้น แต่ท่านผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของภาษาโบราณก็ยังเห็นว่าทั้งเทคนิคการเขียนภาพและความเก่าของภาษาดังกล่าวมานั้นยังมิใช่หลักฐานที่จะมีน้ำหนักพอที่จะกำหนดสมัยของสมุดภาพเล่มนี้ได้
 
[1] อ่านโดยผู้เขียน - นวพรรณ ภัทรมูล, ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
[2] บุญเตือน ศรีวรพจน์ และประสิทธิ์ แสงหับ, สมุดข่อย (กรุงเทพฯ : โครงการสืบสานมรดกวัฒนธรรมไทย, 2542), 264.

ผู้เขียน : นวพรรณ ภัทรมูล

คำสำคัญ : ปริศนาธรรม สมุดภาพ วัดพระรูป สมุดไทยขาว