Blog

The Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
  • images

ทุกพาย

ทุกพาย

QR-code edit Share on Facebook
เวลาที่โพส
โพสต์เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2560 เวลา 19:12:40
บทความโดย : ทีมงาน

        พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 พิมพ์ครั้งที่ 6 (2537: 402) กล่าวถึง ทุกพาย ว่า ว. ทุกแห่ง ฉะนั้น พาย น่าจะมีความหมายว่า แห่ง แต่เมื่อเปิดไปที่ พาย ในหน้า 594 กลับไม่มีความหมายของคำว่า แห่ง เรารู้จักกันว่า พาย เป็นเครื่องมือสำหรับพุ้ยน้ำให้เรือเดิน หรือเรียกไม้ที่ทำคล้ายพายใช้กวนขนม อรุณรัตน์ วิเชียรเขียวและคณะ พจนานุกรมภาษาถิ่น ภาคเหนือ (2539:549) ระบุว่า พาย ภาย, ฝ่าย, ด้าน, เบื้อง เข้าใจว่าคงได้คำนี้มาจากศิลาจารึกวัดศรีชุม ที่พบในอุโมงค์วัดศรีชุม อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย ด้านที่ 1 บรรทัดที่ 36 ที่กล่าวว่า “เมือใต้เมือเหนือคลาไป (เที่ยวไป) ทุกแห่งทุกพาย ต่างคนต่างเมือบ้านเมือเมืองดังเก่า...” (จารึกสุโขทัย (2526: 64) และในจารึกวัดพระยืน ด้านที่ 1 บรรทัดที่ 30-31 ที่กล่าวว่า “อันอยู่พายกุมกาม (แถบอำเภอสารภี) เชียงใหม่พู้นก็ดี...” (จารึกสุโขทัย (2526: 97) จะเห็นได้ว่า ทุกพาย หรือ พาย ที่ปรากฏในจารึกสมัยสุโขทัยก็ดี หรือที่ปรากฏในภาษาไทยพายัพก็ดีนั้น ก็คือ ภาย ที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน
        ฉะนั้นจึงน่าที่ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 พิมพ์ครั้งที่ 6 (2537: 402)น่าจะระบุไว้ว่า ทุกพาย (โบ) ว.ทุกแห่ง เช่น “เมือใต้เมือเหนือคลาไป (เที่ยวไป) ทุกแห่งทุกพาย ต่างคนต่างเมือบ้านเมือเมืองดังเก่า...” (จารึกสุโขทัย (2526: 64)ปัจจุบันใช้ว่า ภาย การที่ไม่อธิบายให้ชัดเจนจะทำให้เกิดปัญหาได้ภายหลัง
 
๏ ขุดคำ ~ ค้นความ โดย :
อุดม วโรตม์สิกขดิตถ์ ใน มองภาษาไทยในแง่มุมของภาษาศาสตร์ (กรุงเทพฯ: ทฤษฎี, 2545) หน้า 181-182.

ผู้เขียน :

คำสำคัญ :