Blog

The Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
  • images

จารึกตำรายา ณ ศาลาฤๅษี วัดบวรฯ ตอนที่ 2

จารึกตำรายา ณ ศาลาฤๅษี วัดบวรฯ ตอนที่ 2

QR-code edit Share on Facebook
เวลาที่โพส
โพสต์เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2560 เวลา 11:58:42
บทความโดย : ทีมงาน

จารึกตำรายาวัดบวรนิเวศวิหารทั้ง 5 แผ่น ดังกล่าวมาแล้วในตอนที่ 1 นั้น เมื่อเทียบกับจารึกตำรายาวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามซึ่งมีจำนวนถึง 341 แผ่น (เฉพาะจารึกตำรายา) แล้ว เป็นที่น่าเสียดายยิ่งหากจะอนุมานว่าเดิมจารึกตำรายาของวัดบวรนิเวศวิหารนี้คงไม่ได้มีเพียง 5 แผ่นตามที่ปรากฏอย่างแน่นอน
 
เนื้อหาในจารึกตำรายาวัดบวรนิเวศวิหาร
จารึกพบเพียง 5 แผ่น เมื่อเทียบกับจารึกตำรายาวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามซึ่งมีจำนวนถึง 341 แผ่น (เฉพาะจารึกตำรายา) แล้ว เป็นที่น่าเสียดายยิ่งหากจะอนุมานว่าเดิมจารึกตำรายาของวัดบวรนิเวศวิหารนี้คงไม่ได้มีเพียง 5 แผ่นตามที่ปรากฏอย่างแน่นอน
ในจารึกทั้ง 5 แผ่น ส่วนต้นของจารึกจะกล่าวถึงที่มาหรืออาการของโรค ตามด้วยตำรับยาและวิธีการรักษา ดังจะยกมาพอสังเขป

แผ่นที่ 1 (ว่าด้วยลักษณะสิสิรฤดู) คนไข้จะมีอาการตัวบวม หูมีน้ำหนองกลิ่นเหม็นเน่า อาจมีตุ่มฝีขึ้น ทำให้คัน แสบร้อน รักษาได้โดยเอา ลูกกะดอม กะเทียม ไพล ว่านน้ำ เทียนเยาวพาณี ตุมกาเครือ ว่านร่อนทอง และสังกรณีจำนวนเท่าๆ กัน บดละเอียดละลายกับน้ำขิงรับประทานแก้อาเจียน หรือละลายน้ำจันทน์แดงแก้ร้อน อีกขนานหนึ่งคือเอาสมอไทย สมอพิเภก มะขามป้อม รากชะพลู เจตมูลเพลิง สะค้าน รากราชพฤกษ์ รากมะกรูดจำนวนเท่าๆ กันต้มรับประทานแก้ไข้ละลายเสมหะ เป็นต้น

แผ่นที่ 2 (ว่าด้วยลักษณะไข้วิปริตปฐมเหตุ คำรบ 2 ไข้สังวาลย์พระอินทร์) คนไข้จะมีตุ่ม (จำพวกเริม) ผุดขึ้นมาเป็นเม็ดๆ สีเขียว ขึ้นเป็นแถวๆ สะพายเป็นแล่งที่ไหล่ ขึ้นได้ทั้งข้างซ้ายและขวาของร่างกาย อาการคล้ายกับไข้ออกดำออกแดง รักษาได้โดยเอาจันทน์แดง จันทน์ขาว จันทน์คันนา เนระพูสี ปู่เจ้าปุงกุย ปู่เจ้าลอยท่า ปู่เจ้าปุงแก สุรามะริด ตับเต่า กระถิน ดอกบัว ง้วนหมูหลวง นาคลดาวัลย์ ทั้งหมดนี้จำนวนเท่าๆ กัน บดละเอียดละลายกับน้ำดอกไม้รับประทาน อีกขนานคือเอาจันทน์ทั้ง 2 รากธงชัย รากสีหวด รากปู่เจ้าลอยท่า พญารากดำ พญารากขาว หญ้ารากเดียว รากกะทุงลาย รากง้วนหมูหลวง ฉัตรพระอินทร์ กระถิน ดอกบัว พญาพระสุเมรุ และตุมกาจำนวนเท่าๆ กันบดละเอียดละลายกับน้ำซาวข้าว เป็นต้น

แผ่นที่ 3 (ว่าด้วยลักษณะอุทรโรคคือมานโลหิตอันบังเกิดเพื่อโลหิตจาง คำรบ 4) คนไข้จะมีอาการเมื่อยมือ เมื่อยเท้า เมื่อยสันหลัง วิงเวียน ตามัว จุกเสียด แน่นอก และท้องขึ้น เมื่อนวดแล้วจะหาย พอบ่ายก็จะเป็นขึ้นมาอีก ท้องก็จะใหญ่ขึ้น เมื่อกินยาก็จะลด แต่หากยานั้นไม่ถูกกับโรค ท้องก็จะใหญ่ขึ้นมาอีกแถมมีอาการเท้าบวมร่วมด้วย รักษาได้โดยเอาดินประสิวขาว สารส้ม ปูนขาว ฝุ่นจีน จำนวนเท่าๆ กันบดทำเป็นแท่งละลายกับน้ำมะกรูดหรือน้ำส้มซ่า รับประทานแก้บวมได้ หรืออีกขนานหนึ่งคือ เอาปูนขาว 1 ส่วน สารส้ม 2 ส่วน ฝุ่นจีน 3 ส่วน ดินประสิวขาว 4 ส่วน ขิงแห้ง 5 ส่วน ดีปลี 6 ส่วน มหาหิงคุ์ 8 ส่วน บดทำเป็นแท่งไว้ แก้บวมได้เช่นกัน

แผ่นที่ 4 (ว่าด้วยลักษณะกุฏฐโรคอันบังเกิดแต่กองวาโยธาตุ) กุฏฐโรค, กุฏฐัง คือ โรคเรื้อนชนิดหนึ่งซึ่งทําให้อวัยวะเช่นมือและเท้ากุดเหี้ยนไป เมื่อเกิดอาการนั้นเนื้อจะแข็งเป็นข้อ ขอดเป็นเมล็ดเท่าผลพุทรา บางทีก็เท่าลูกมะกรูดหรือลูกมะนาว เนื้อนั้นจะชาจนหยิกไม่เจ็บ เมื่อแตกจะเป็นขุม เปื่อยเหม็นเน่า กัดกินไปถึงกระดูกจนผุและด้วนไป รักษาค่อนข้างยาก ยาขนานหนึ่งที่จะใช้รักษาได้นั้นได้แก่ ใช้บัลลังก์ศิลา 2 ส่วน ดินปะสิวขาว 3 ส่วน มหาหิงคุ์ กำมะถันเหลือง หรดาลทอง โหราเท้าสุนัข ปรอดสุทธิ สิ่งละ 4 ส่วน บดละเอียดด้วยน้ำใบพลูแก่ กวน 7 วันแล้วตากแดด ใส่ขวดปิดให้แน่น พอกดินเพ็ตใส่ในหม้อทรายตั้งบนไฟให้สุกดีแล้วเอาออกมาตั้งไว้ให้เย็น แล้วกวนด้วยน้ำนมกระบือให้เข้ากัน ปั้นเท่าเมล็ดพริกไทยใส่ตลับไว้ให้รับประทานวันละเม็ด เป็นต้น 

แผ่นที่ 5 (ว่าด้วยลักษณะสันนิบาตกะตัดศีรษะด้วน) โรคนี้เกิดที่ตับ ตับจะใหญ่จนคับซี่โครง มีไข้ ท้องขึ้น คลื่นไส้ รักษาได้โดยเอาพริกล่อน ดีปลี สิ่งละส่วน ชะมดเชียง พิมเสน ลิ้นทะเล ดีจระเข้ สิ่งละ 2 ส่วน ชะเอมเทศ อบเชยเทศ กฤษณาสิ่งละ 4 ส่วน ตำจนละเอียดเป็นผงใช้สำหรับนัตถุ์ยาแก้ไข้ อีกขนานคือ เอารากคางเครือ รากมะกอกเผือก รากหญ้านาง ปู่เจ้าลอยท่า รากสีหวดน้อย รากคุกทั้ง 2 รากคางทั้ง 2 นอแรด งาช้าง จำนวนเท่าๆ กันบดละเอียดทำเป็นแท่งไว้ละลายกับน้ำท่ารับประทาน
 
สภาพปัจจุบัน ... บทส่งท้าย
จารึกตำรายาวัดบวรนิเวศวิหารทั้ง 5 แผ่นที่ยังเหลืออยู่นี้ นับว่ามีสภาพที่สมบูรณ์มาก แม้จะมีส่วนลบเลือนไปบ้าง แต่ก็ยังพออ่านได้ไม่ยากนัก ประกอบกับเนื้อหาเกือบทั้งหมดนั้นใกล้เคียงกับเนื้อหาของจารึกตำรายาวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามดังกล่าวมาแล้วข้างต้น แม้อักษรบางตัวจะลบเลือนไปก็ยังสามารถจะนำมาเทียบเคียงกันและแปลความได้อย่างไม่คลาดเคลื่อน
ศาลาฤาษีด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ (ข้างศาลาการเปรียญ) แห่งวัดบวรนิเวศวิหารนี้ ปัจจุบันไม่ได้เปิดให้เข้าชมทั่วไป เนื่องจากได้ถูกใช้เป็นห้องเก็บวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนาด้วย หากต้องการชมจารึกตำรายานี้เป็นการเฉพาะ จะต้องทำหนังสือเพื่อขออนุญาตเข้าชมอย่างเป็นทางการ     
 
 ---------------------------------------------
เรียบเรียงข้อมูลจาก
“ศาลาฤาษี,” ใน วัดบวรนิเวศวิหาร (พระนคร : มหามงกุฎราชวิทยาลัย, 2546), 152.
สมเด็จพระญาณสังวร, “หอพระไตรปิฎกและการเปรียญ,”  ใน นำเที่ยววัดบวรนิเวศวิหาร (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2536), 17-18.
สำนักราชเลขาธิการ, บรรณาธิการ “ศาลาฤาษี,” ใน ศิลปกรรมวัดบวรนิเวศวิหาร = Buddhist art of Wat Bovoranives Vihara(กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, 2546), 104.

ผู้เขียน : นวพรรณ ภัทรมูล

คำสำคัญ : จารึกตำรายาวัดบวรนิเวศวิหาร วัดบวรนิเวศวิหาร ตำรายา จารึก