Blog

The Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
  • images

จารึกตำรายา ณ ศาลาฤๅษี วัดบวรฯ ตอนที่ 1

จารึกตำรายา ณ ศาลาฤๅษี วัดบวรฯ ตอนที่ 1

QR-code edit Share on Facebook
เวลาที่โพส
โพสต์เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2560 เวลา 11:24:32
บทความโดย : ทีมงาน

ในท่ามกลางหมู่อาคารของวัดบวรนิเวศวิหาร ที่ตั้งอยู่ริมถนนบวรนิเวศและถนนพระสุเมรุ ในท้องที่แขวงวัดบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร นั้น มีศาลาฤๅษี 4 หลัง ตั้งอยู่ที่ 4 มุมพระเจดีย์ มุมละ 1 หลัง  ศาลาฤๅษีทั้ง 4 หลังนี้พระสงฆ์ในวัดร่วมใจกันสร้างขึ้นด้วยปัจจัยมูลที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงพระประชวรคราวจะเสด็จสวรรคต รูปละ 20 บาท


ศาลาฤาษีนี้จะสร้างเพื่อการใดไม่ทราบได้ แต่หากใครเคยเข้าไปจะพบว่าที่ผนังในศาลาฤๅษีด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ (ข้างศาลาการเปรียญ) นั้น ทำช่องบรรจุรูปฤๅษีดัดตนและประดับด้วยศิลาจารึกตำรายา ปัจจุบันพบว่ายังมีจารึกตำรายาเหลืออยู่จำนวน 5 แผ่น และรูปฤๅษีดัดตน (ชำรุด เหลือเฉพาะฐาน)  จำนวน 1 องค์

จารึกที่ผนึกอยู่ในช่องที่ผนังในศาลาฤๅษีด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ (ข้างศาลาการเปรียญ) นั้น เป็นจารึกสร้างด้วยศิลาทรงห้าเหลี่ยม จารด้วยอักษรและภาษาไทยสมัยรัตนโกสินทร์ เนื้อหาว่าด้วยโรคและการรักษาด้วยตำรับยาแผนไทย เทียบอายุได้ใกล้เคียงกับจารึกตำรายาวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามเนื่องจากสร้างในรัชสมัยเดียวกันคือรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว(ร. 3) ประกอบกับเนื้อหาจารึกและตำรับยาทั้ง 5 แผ่นนี้มีความคล้ายคลึงกับ ‘จารึกตำรายาวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม’ มาก สันนิษฐานว่าน่าจะคัดลอกมาจากแหล่งข้อมูลเดียวกัน แม้จะมีความแตกต่างบ้างเล็กน้อยในส่วนของการสะกดคำ ชื่อเรียกสมุนไพร และชื่อเรียกเครื่องยาอื่นๆ

จารึกตำรายาวัดบวรนิเวศวิหารทั้ง 5 แผ่นนี้ประกอบไปด้วย
(1) จารึกตำรายาวัดบวรนิเวศวิหาร แผ่นที่ 1 (ว่าด้วยลักษณะสิสิรฤดู)     
(2) จารึกตำรายาวัดบวรนิเวศวิหาร แผ่นที่ 2 (ว่าด้วยลักษณะไข้วิปริตปฐมเหตุ คำรบ 2 ไข้สังวาลย์พระอินทร์)
(3) จารึกตำรายาวัดบวรนิเวศวิหาร แผ่นที่ 3 (ว่าด้วยลักษณะอุทรโรคคือมานโลหิตอันบังเกิดเพื่อโลหิตจาง คำรบ 4)
(4) จารึกตำรายาวัดบวรนิเวศวิหาร แผ่นที่ 4 (ว่าด้วยลักษณะกุฏฐโรคอันบังเกิดแต่กองวาโยธาตุ)
(5) จารึกตำรายาวัดบวรนิเวศวิหาร แผ่นที่ 5 (ว่าด้วยลักษณะสันนิบาตกะตัดศีรษะด้วน)
 
ส่วนของเนื้อหาจารึกจากจารึกตำรายาวัดบวรนิเวศวิหารนั้น จะได้กล่าวถึงในตอนต่อไป
  
---------------------------------------------
เรียบเรียงข้อมูลจาก
“ศาลาฤาษี,” ใน วัดบวรนิเวศวิหาร (พระนคร : มหามงกุฎราชวิทยาลัย, 2546), 152.
สมเด็จพระญาณสังวร, “หอพระไตรปิฎกและการเปรียญ,”  ใน นำเที่ยววัดบวรนิเวศวิหาร (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2536), 17-18.
สำนักราชเลขาธิการ, บรรณาธิการ “ศาลาฤาษี,” ใน ศิลปกรรมวัดบวรนิเวศวิหาร = Buddhist art of Wat Bovoranives Vihara(กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, 2546), 104.

ผู้เขียน : นวพรรณ ภัทรมูล

คำสำคัญ : จารึกตำรายาวัดบวรนิเวศวิหาร วัดบวรนิเวศวิหาร ตำรายา จารึก