"อนึ่ง บุคคลอันประหารศีรษะมนุษย์แลสัตว์เดียรัจฉานถึงแก่ความตายก็ดี บุคคลอันเผาสัตว์ทั้งเป็นก็ดี เอาไฟสุมปล่องแลโพรงให้สัตว์อันอยู่ในปล่องในโพรงตายก็ดี บุคคลอันลักล้วงฉ้อกระบัดเอาซึ่งของแห่งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แลกรรมอันกล่าวมา ทำเองก็ดีใช้ผู้อื่นให้กระทำก็ดี ก็ย่อมไปตกในมหาโรรุวนรก ทนทุกข์เวทนาจมอยู่ในดอกบัวเหล็กอันรุ่งโรจน์เป็นเปลวเพลิง มีประมาณนานได้ 8,000 ปี ในมหาโรรุวนรกแต่ละวันๆ นับได้ 230 โกฏิ กับ 4 ล้านปีในมนุษย์โลก”
ภาพจาก : จิตรกรรมฝาผนังวัดราชสิทธาราม (กรุงเทพ : เมืองโบราณ, 2557)
ในไตรภูมิกถา เรียก ‘มหาโรรุวนรก’ว่า นรกแห่งเสียงหวีดร้องอย่างหนัก มีลักษณะเพิ่มเติมจากนรกขุมที่แล้วตรงที่ดอกบัวกลีบเหล็กใหญ่ไฟลุกแดงนั้นไม่ได้อยู่แค่กลางขุมนรก แต่มีอยู่ทั่วไป กลีบบัวนั้นเป็นกรด ตรงไหนที่ว่าไม่มีดอกบัวงอก ตรงนั้นจะมีอาวุธลุกเป็นไฟ เช่น แหลน หลาว หอก เป็นต้น งอกขึ้นมาแทน บัวนั้นจะไม่งับสัตว์นรกไว้จนแน่นนักเพื่อให้สัตว์นรกสามารถดิ้นไปถูกอาวุธที่งอกขึ้นได้ เมื่อดิ้นจนตกถึงพื้นแล้วจะมีสุนัขร้ายเข้ามากัดทึ้งจนเหลือแต่กระดูก แล้วจะกลับมาสมบูรณ์อีกครั้งเพื่อรับโทษใหม่จนกว่าจะหมดโทษเหมือนในนรกที่แล้วๆ มา สัตว์นรกขุมนี้ต้องรับโทษเป็นเวลาเจ็ดหมื่นสามพันล้านเจ็ดแสนสองหมื่นแปดพันล้านล้านปีมนุษย์ หรือแปดพันปีนรก
อกุศลกรรม หรือ บาป ที่ทำให้ไปตกในนรกขุมนี้ คือ เมื่อครั้งเป็นมนุษย์ได้ฆ่ามนุษย์และสัตว์, เผาสัตว์ทั้งเป็น, ลักเครื่องสักการบูชา, ตลอดจนขโมยทรัพย์สมบัติของพ่อแม่ ครูอาจารย์ หรือภิกษุสามเณร นักบวชต่างๆ ทั้งทำเองก็ดี หรือให้ผู้อื่นทำให้ก็ดี บุคคลอันลักล้วงฉ้อกระบัดเอาซึ่งของแห่งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แลกรรมอันกล่าวมา ทำเองก็ดีใช้ผู้อื่นให้กระทำก็ดี บาปกรรมเหล่านี้เป็นต้น ส่งผลให้เขาต้องไปตกนรกในมหาโรรุวนรก
จบตอนที่ 5
ผู้เขียน : นวพรรณ ภัทรมูล
คำสำคัญ : จารึกเรื่องนิรยกถา จารึกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามฯ จารึกวัดโพธิ์ นรกในจารึก